ReadyPlanet.com


เว็จมรรค





เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับการวิจัยแล้วว่าเป็น
หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน ก็เกิดข้อกังขาขึ้น สอง ประเด็นคือ

๑.เล่นเพื่อน
๒.การสำเร็จความใคร่ทางเว็จมรรค

สำหรับประเด็นแรก
เล่นเพื่อน ข้าพเจ้า คลายความสงสัยแล้วจึงไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้ สำหรับประเด็นที่ ๒ คือ ประเด็น การสำเร็จความใคร่ทางเว็จมรรค ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวถึงไว้ ความว่า

"ระบบฮาเร็มหรือสาวสวรรค์กำนัลในราชสำนักและในบ้านผู้ดีเป็นระบบที่แพร่หลายทั่วไป การที่ถูกกักขังจนผิดธรรมชาติทำให้การเล่นเพื่อน (Homosexuality) ในหมู่ราชสำนัก และฮาเร็มของสำนักขุนนางระบาดทั่วไป ชีวิตทางกามารมณ์ของเจ้าขุนมูลนายเพิ่มความวิตถารขึ้นเป็นลำดับ เป็นต้นว่าการสำเร็จความใคร่ทางเว็จมรรค"

จากข้อความข้างบน ทั้งกรณี เล่นเพื่อน และกรณี การสำเร็จความใคร่ทางเว็จมรรค จิตร ภูมิศักดิ์ มิได้ลงลึกในรายละเอียด เหมือนจงใจจะให้ผู้อ่านไปค้นคว้าต่อยอดทางความคิด ?

ข้าพเจ้าจึงได้ลองสืบค้น เกี่ยวกับเรื่อง การสำเร็จความใคร่ทางเว็จมรรค ดู ก็พบว่ามีการกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง อำนาจอยู่หนใด ชีวประวัติเหมือนนวนิยายของนักปกครอง ๗ ท่าน ในหน้า ๑๓๐-๑๓๑ ผู้เขียนคือ จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา เนื้อหาในหนังสือ ตอนหนึ่ง ได้กล่าวไว้ ความว่า

"งานอีกด้านหนึ่ง ที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำ คืองาน ศาลรับสั่ง กรมพระราชวังบวรฯ ยังเป็นอธิบดีศาลอยู่ กรมหมื่นเจษฎาฯ ก็เสด็จมาร่วมประชุมมิได้ขาด ครั้นกรมพระราชวังบวรฯ สิ้นแล้ว กรมหมื่นเจษฎาฯ รับตำแหน่งบังคับการกรมพระตำรวจ เป็นอธิบดีศาลรับสั่ง ทรงพิจารณาไต่สวนข้อความราษฎร ให้แล้วไปด้วยยุติธรรมโดยเร็ว เป็นที่ชื่นชมนิยมยินดีของปวงประชาราษฎรทั้งปวง ต่างคนมีจิตรสวามิภักดิ์ ต่อพระองค์เป็นอันมาก ทั้งเป็นที่เบาพระราชหฤทัยในพระบรมชนกนาถ โดยที่ได้ทรงงานทางด้านศาลมาโดยตลอด การประศาสน์ความยุติธรรมจึงมีอยู่ในพระราชหฤทัยเป็นประจำ แม้มีกรณีทางการเมืองเกี่ยวแก่ความมั่นคงปลอดภัยของราชบัลลังก์ การลงโทษผู้กระทำผิดก็ใช้วิธีทางศาล มีการไต่สวน สืบพยาน กรมขุนกษัตริยานุชิต เมื่อต้นรัชกาลที่ ๒ หรือ คดีกรมหลวงรักษรณเรศ ในรัชกาลที่ ๓ สำหรับคดีหลัง จำเลยต้องหาว่า สะสมกำลังพลไว้เป็นกบฏประพฤติผิดศีลธรรม ละทิ้งคู่ครองไปสมสู่ทางเมถุนกับพวกละครซึ่งเป็นผู้ชาย จำเลยได้ต่อสู้ว่า ในข้อหาหลังความประพฤติของจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางราชการ ไม่เห็นจะเป็นผิดอย่างไร ส่วนเรื่องสะสมกำลังพลทำจริง แต่หาได้มุ่งหมายประทุษร้ายต่อในหลวงปัจจุบันไม่ ตระเตรียมไว้เมื่อท่านสิ้นแล้ว จะไม่ยอมเป็นข้าผู้อื่น การตอบโต้ดังกล่าวของจำเลยชี้ให้เห็นได้ว่าได้ใช้วิธีทางศาลให้จำเลยได้ต่อสู้ตามสมควร"

ตามทรรศนะของข้าพเจ้าการ ไม่เป็นข้าผู้อื่น อาจตีความได้ว่า จะไม่รับใช้ เจ้าผู้ครองรัฐ พระองค์ใหม่ ฟังดูคล้ายกับว่าจะ กระด้างกระเดื่อง จนถึงขั้นจะเป็น เจ้าผู้ครองรัฐเสียเอง ก็เป็นได้ อ่านถึงประโยคนี้ทำให้นึกถึง ประวัติของ พระยา นรรัตนราชมานิต (ธัมมวิตักโก ภิกขุ) แห่งวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ ทรงสวรรคต พระยานรรัตนราชมานิต ไม่ขอเป็นข้าผู้อื่นจึง ได้ลาออกจากราชการ แล้วบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษา ณ วัดเทพศิรินทราวาส

อนึ่ง คดีกรมหลวงรักษรณเรศ ถูกตั้งข้อหา ละทิ้งคู่ครองไปสมสู่ทางเมถุนกับพวกละครซึ่งเป็นผู้ชาย ก็คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเกิดความ กระจ่างแจ้งถึง ข้อเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ว่า

"ระบบฮาเร็มหรือสาวสวรรค์กำนัลในราชสำนักและในบ้านผู้ดีเป็นระบบที่แพร่หลายทั่วไป การที่ถูกกักขังจนผิดธรรมชาติทำให้การเล่นเพื่อน (Homosexuality) ในหมู่ราชสำนัก และฮาเร็มของสำนักขุนนางระบาดทั่วไป ชีวิตทางกามารมณ์ของเจ้าขุนมูลนายเพิ่มความวิตถารขึ้นเป็นลำดับ เป็นต้นว่าการสำเร็จความใคร่ทางเว็จมรรค"

ไม่มากก็น้อย เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


บรรณานุกรม


จิตร ภูมิศักดิ์.โฉมหน้าศักดินาไทย.--พิมพ์ครั้งที่ ๙.--นนทบุรี : ศรีปัญญา,๒๕๔๙.๒๔๐ หน้า

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา, อำนาจอยู่หนใด ชีวประวัติเหมือนนวนิยายของนักปกครอง ๗ ท่าน.--พิมพ์ครั้งที่ ๑.--กรุงเทพฯ : พัฒนา, ๒๕๓๓.

 http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao&month=21-09-2007&group=6&gblog=57



ผู้ตั้งกระทู้ กวินทรากร :: วันที่ลงประกาศ 2007-09-22 13:14:51


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937924)
ในหนังสือเรื่อง วินัยมุข เล่ม ๑ บทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นแบบเรียนนักธรรมตรี หน้าที่ ๒๘-๒๙ ได้ยกสิกขาบท แห่งพระไตรปิฏก ในสมัยพุทธกาล ซึ่งได้กล่าวพาดพิงถึง การสำเร็จความใคร่ทางเว็จมรรค ไว้ความว่า

เมถุนธรรมนั้น เพ่งบทว่า โดยที่สุดแม้ในดิรัจฉานตัวเมีย น่า จะเข้าใจว่า ในสิกขาบทพูดถึงเมถุนธรรมสามัญ ที่เป็นการของชายกับหญิง แต่ในคัมภีร์วิภังค์แสดงว่า กิริยาที่เสพในทวารเบาก็ดี ในทวารหนักก็ดี ในปากก็ดี ของมนุษย์ผู้เป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตามเป็นพันทางก็ตาม ของสัตว์จำพวกที่เรียกว่าอมนุษย์ ต่างโดยเป็นยักษ์เป็นเปรต มีประเภทเช่นเดียวกัน และของสัตว์ที่จัดเป็นดิรัจฉาน เป็น ตัวเมียก็ตาม เป็นตัวผู้ก็ตาม เป็นพันทางก็ตาม ชื่อว่า เสพเมถุนภิกษุเสพเมถุนในทวารเช่นนั้น แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ไม่สำเร็จกิจแต่องค์กำเนิดได้เข้าไปสักเล็กน้อย ที่ท่านกล่าวว่า ชั่วเมล็ดงาหนึ่งองค์กำเนิดก็ดี ทวารก็ดี จะมีอะไรสวม มีอะไรพัน มีอะไรลาดก็ตาม ไม่มีก็ตาม มนุษย์ อมนุษย์ และดิรัจฉานที่เสพนั้น ยังเป็นอยู่ก็ตาม ตายแล้วก็ตาม แต่ซากยังบริบูรณ์ หรือแหว่งวิ่นไปบ้าง แต่ยังเป็นวัตถุจะให้สำเร็จกิจในทางนี้ ต้องอาบัติปาราชิก. ถ้าภิกษุถูกข่มขืนแต่ยินดี คือรับสัมผัส ในขณะที่องค์กำเนิดเข้าไปก็ดี เข้าไปถึงที่แล้วก็ดี หยุดอยู่ก็ดี ถอนออกก็ดี แม้ขณะใดขณะหนึ่ง ต้องอาบัติปาราชิกเหมือนกัน. ภิกษุยอมให้บุรุษอื่นเสพเมถุน ในทวารหนักของตนก็ดี ถูกข่มขืน หรือถูกลักหลับและตื่นรู้ตัวขึ้น แต่ยินดีก็ดี ต้องอาบัติปาราชิกเหมือนกัน. ในวินีตวัตถุแห่งสิกขาบทนี้แสดงว่าภิกษุผู้มีหลังอ่อนปรารถนาจะเสพเมถุน ก้มลงอมองค์กำเนิดของตนเองก็ดี มีองค์กำเนิดยาวสอดเข้าไปในทวารหนักของตนก็ดี ย่อมต้องอาบัติปาราชกเหมือนกัน. ความที่ว่าไว้นี้ แม้ไม่น่าจะมีได้ แต่ก็ยัง เป็นทางสันนิษฐานว่า ภิกษุสั่งให้ผู้อื่นพยายามทำเช่นนั้นแก่ตน ย่อม เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


บรรณานุกรม


กรมพระยาวชิรญาณวโรรส,สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. วินัยมุข เล่ม ๑. --พิมพ์ครั้งที่ ๔๑.--กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑
ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2007-09-23 21:02:59


ความคิดเห็นที่ 2 (937925)

อนึ่ง การที่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้กล่าวไว้ว่า "ชีวิตทางกามารมณ์ของเจ้าขุนมูลนายเพิ่มความวิตถารขึ้นเป็นลำดับ" ในทรรศนะของข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการ เพ่งโทษคนไทยในยุคนั้นเกินไป เพราะคนชาติอื่นในยุคก่อนหน้านั้น ก็มี กามวิตถาร-กามพิสดาร/ ไม่ย่งห่ยอนไปกว่ากัน สำหรับ คดีกรมหลวงรักษรณเรศ คงไม่พ้นโทษ กุดหัวริบราชบาตร สำหรับเรื่อง ริบราชบาตร จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อรรถาธิบายไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันหน้า ๑๗๓-๑๗๕ ความว่า


พัทธยา คือการริบเอาสมบัติทรัพย์สินของเอกชนเข้าเป็นของกษัตริย์ในสมัยพระนารายณ์ ลาลูแบร์เล่าไว้ว่าริบเอาส่วนแบ่งจากทรัพย์สินมรดกของผู้ตายซึ่งรัฐบาลศักดินาเห็นว่ามีอยู่เกินศักดิ์ของทายาท ทรัพย์สินพวกนี้เรียกว่า ต้องพัทธยา พัทยธยา นั้นตามตัวแปลว่า การฆ่าการประหารทรัพย์สินพัทธยาจึงมิได้หมายถึงแต่เพียงทรัพย์สินมรดกที่มีมากเกินศักดิ์ของผู้รับทายาทเท่านั้นหากหมายถึงทรัพย์สินทั้งปวงที่รัฐบาลศักดนาริบมาจากผู้ต้องโทษประหาร ถ้าเราเปิดดูกฎหมายเก่าๆ สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาล ๕ ขึ้นไปจะพบโทษ ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาตร มีแทบทุกมาตรา พวกที่ถูกฟันคอริบเรือนนี้ คือผู้ต้องพัทธยาเมื่อตัวเองคอหลุดจากบ่าแล้วบ้านช่องเรือกสวนไร่นาก็ต้องถูกริบเข้าเป็น ของพัทธยา โอนเข้ามาเป็นของหลวงทั้งสิ้น ลักษณะนี้เป็นลักษณะโจรปล้นทรัพย์โดยตรง แต่ทว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์ที่ใช้กฏหมายของตนเองเพื่อเป็นเครื่องมือรักษาความเที่ยงธรรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โทษฟันคอริบเรือน หรือ ริบราชบาตร จึงเป็นโทษที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป เฉพาะในกฎหมายอาญาหลวงแล้ว ดูเหมือนกับจะทุกมาตราและในบางมาตราก็วางโทษเอาไว้น่าขำ เช่น มาตราหนึ่ง ผู้ใดใจโลภนักมักทำใจใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์กระทำให้ล้นพ้นล้ำเหลือ บรรดาศักดิ์อันท่านให้แก่ตน และมิจำพระราชนิยมพระเจ้าอยู่หัว (คือไม่ระวังว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงชอบอย่างไหน) และถ้อยคำมิควรเจรจาเอามาเจรจาเข้าในราชาศัพท์ (คือใช้ราชาศัพท์ผิดเอาคำไพร่มาปน) และสิ่งของมิควรประดับเอามาทำเครื่องประดับตน (ตีเสมอเจ้า!) ท่านว่าผู้นั้นทะนงองอาจท่านให้ลงโทษ ๘ สถาน สถานหนึ่งให้ฟันคอริบเรือน ๑ สถานหนึ่งให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก ๑ สถานหนึ่งให้ริบราชบาตรแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ๑ (ข้าพเจ้าเสริม งานตัดหญ้าให้ช้างกินถือเป็นงานชั้นต่ำสำหรับนักโทษ) สถานหนึ่งให้ไหม (ปรับ) จตูรคูณแล้วเอาตัวออกจากราชการ ๑ สถานหนึ่งให้ไหมทวีคูณ ๑ สถานหนึ่งให้ทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ๒๕ ที ใส่ตรุไว้ ๑ สถานหนึ่งให้(จอง)จำไว้แล้วถอดเสียเป็นไร่ ๑ สถานหนึ่งให้ภาคทัณฑ์ไว้ ๑ รวม ๘ ฯ (อาญาหลวง พ.ศ. ๑๘๙๕,รัชกาลที่ ๑ ชำระมาตรา ๑) นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การยกทัพไปตีปล้นสะดมแย่งชิงเอาทรัพย์สินของศัตรูมาก็ดี กวาดต้อนผู้ค้นทรัพย์สมบัติประชาชนมาก็ดี เหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ พัทธยา คือ ของได้เปล่า ฆ่าฟันคอประหารชีวิตทั้งสิ้น ตัวอย่างของผู้ต้องพัทธยา คือ โทษฟันคอริบเรือนและลูกเมียก็คือ ขุนไกรพลพ่าย พ่อของขุนแผนในวรรณคดีอิงเรื่องจริงของเรา ครั้งนั้นขุนไกรฯ ต้องออกไปเป็นแม่กองต้อนควายเข้าโขลงหลวง ควายตื่นขวิดครน ขุนไกรฯ เห็นว่าชีวิตคนสำคัญกว่าควาย จึงสกัดใช้หอก แทงควายตายลงหลายตัว ควายเลยตื่นหนีเข้าป่าไปสิ้น ข้างสมเด็จพระพันวัสสาทรงกร้วเสียดายควายมากกว่าคน เลยพาโลสั่งพวกข้าหลวงว่า

เหวยเหวยเร่งเร็วเพชรฆาต ฟันหัวให้ขาดไม่เลี้ยงได้
เสียบใส่ขาหยั่งขึ้นถ่างไว้ ริบสมบัติข้าไทอย่าได้ช้า


เมื่อโดนเข้าไม้นี้ ขุนไกรฯ ก็คอหลุดจากบ่าลูกเมียเดือดร้อนกระจองอแง นางทองประศรีเมียขุนไกรฯ นอกจากจะเสียผัวรักแล้ว "ยังจะถูกเขาริบเอาฉิบหาย" อีกทอดหนึ่ง นึ่คือ ธรรมะของศักดินา และนี่ก็คือ พัทธยาของศักดินา


พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับออนไลน์ได้ให้คำจำกัดความ คำว่า พัทยา ไว้ว่า

พัทธยา
๑ น. จํานวนที่หักหรือริบเอาไว้เป็นภาคหลวง. พัทธยา
๒ น. เรียกลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออก เฉียงเหนือในต้นฤดูฝนว่า ลมพัทธยา.

ว่าด้วยเรื่อง ริบราชบาตร มีการกล่าวไว้ใน โคลงทวาทศมาศ ซึ่ง เจือ สตะเวทิน ผู้เขียนหนังสือ ประวัติวรรณคดี หน้า ๑๖๙ ได้ยกโคลง ทวาทศมาส พาดพิงเกี่ยวกับ การริบราชบาตรไว้ความว่า

เพรงเราเคยพรากเนื้อ.............นกไกล
ริบราชเอาของขงง.................ค่งงไว้
มาทนนปลิดสายใจ................จยรจาก  รยมนา
มานิรารสให้.......................ห่างไกล  
 
*ริบราชเอาเขาขัง คั่งไว้

 

 


บรรณานุกรม

เจือ สตะเวทิน.ประวัติวรรณคดี. กรุงเทพมหานคร : กองตำรากรมวิชาการ,๒๔๙๕.

ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2007-09-24 21:30:09


ความคิดเห็นที่ 3 (937926)

โคลงทวาทศมาศบทนี้ ถอดความได้ว่า

แต่ก่อนพี่คงเคยพรากชีวิตกวาง และพรากชีวิตนก ให้ตายจากคู่ครองของมัน
เคยริบราชบาตร เอาคนมาขัง คับคั่ง คั่งค้าง ไว้เป็นจำนวนมาก
บาปกรรมเหล่านี้เลยส่งผลให้ แม่สายใจของพี่ ต้องจากเจียร จากจร ไกลจาก เรียม=กู
บาปกรรมเหล่านี้เลยส่งผลให้พี่ต้องมา นิรารส รัก และห่างไกลกัน

ทว่าผู้ที่จะริบราชบาตรผู้อื่นได้ จะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน/ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งก็ตรงกับ ในโคลงท้ายบท ที่
บอกชื่อผู้แต่ง โคลงทวาทศมาศว่าคือ พระเยาวราช ผู้ซึ่งย่อมที่จะ ริบราชบาตรผู้อื่นได้ โคลงนั้นมีเนื้อความว่า

" กานท์กลอนนี้ตั้งอาทิ.........กวี  หนึ่งนา
เยาวราชสามนต์ไตร............แผ่นหล้า
ขุนพรหมมนตรี ศรี..............กระวีราช
สารประเสริฐฤๅช้า..............ช่วยแกล้งเกลากลอน "


ถอดความได้ว่า

" กานต์กลอนเรื่องนี้ ตั้งต้นแต่ง โดยกวี  กลุ่มหนึ่งอาทิเช่น  พระเยาวราช
ผู้เป็นท้าวสามนตราช/พระยามหานคร (Vassals) ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
มีขุนพรหมมนตรี  ขุนศรีกระวีราช  และขุนสารประเสิรฐ
คอยช่วยกัน เกลากลอนให้ดีขึ้น "

โปรดสังสังเกตุว่าโบราณราชกวี ในสมัยนั้นมักเรียก คำประพันธ์ทุกชนิด ว่ากลอน  ในหนังสือชื่อ รวมบทความ
 หน้า ๓๕๑ อัศนี พลจันทร  (นายผี)  ได้ให้คำจำกัดความ คำว่ากลอน  ไว้ความว่า

กลอน แแปลว่า สิ่งอันหลุดแล่นไปได้ เหตุนี้เราจึงเรียกเครื่องบนอย่างหนึ่งว่ากลอน เรียกลูกสลัก (ส์เสลาะห์) ประตู หน้าต่าง เป็นต้น
ว่ากลอน เรียก ศร ที่ยิงจากคันธนูว่ากลอน (พระแกว่งดาบด้วยกลอน สลักสลับ เตงตาย ย่อยยับรนับรนาดเนืองนอง-อนิรุทธคำฉันท์)
โดยที่เครื่องยิงเป็นอาวุธในภาษาไทยเรียกว่าปืน เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกศรหรือสิ่งที่คล้ายกันว่าลูกปืน ซึ่งอาจจะมีลักษณะอย่างใดก็ได้
ลูกกลมๆ อย่างกระสุนก็เป็น ลูกปืน ซึ่งก็คือ ลูกกลอน ยาเม็ดกลมๆ ที่โดยมากเปฌนยาผงปั้นด้วยน้ำผึ้งสำหรับกลืนกิน ถือกันว่าเป็นยา
อายุวัฒนะก็เรียกว่า ยาลูกกลอน เพราะสิ่งทั้งหมด หลุดแล่นออกไปได้ คำกลอน ก็คือ คำประพันธ์ที่เสียงแล่นจากที่หนึ่งไปกระทบ
ยังเสียงอีกที่หนึ่ง ซึ่งก็คือการสัมผัส ส่วนโคลงเป็นคำประพันธ์ประเภทที่เสียงแกว่งโดยนไปมาสูงๆ ต่ำๆ เวลาอ่านแต่เดิม
มิได้ออกเสียงลากยาวๆยานคางอย่างที่นักเรียนอ่านในทุกวันนี้ หากแต่อ่านเสียงผ่อนเสียงเน้นสูงๆต่ำๆ เป็นจังหวะ ความไพเราะเกิด


ทว่า

เพรงเราเคยพรากเนื้อ.............นกไกล
ริบราชเอาของขงง.................ค่งงไว้
มาทนนปลิดสายใจ................จยรจาก  รยมนา
มานิรารสให้.......................ห่างไกล

โคลงทวาทศมาศ  บาทที่ว่า "เพรงเราเคยพรากเนื้อนกไกล คู่ฤา"  ทำให้ข้าพเจ้า นึกถึง ฤษีวาลมีกิ
วาลมีกิ แปลว่า จอมปลวก เป็น ฉายาที่ใช้เรียกฤษีตนนี้ เพราะฤษีตนนี้ บำเพ็ญตบะ
ไม่ขยับเขยื้อนกาย จนปลวกสร้างจอมปลวกขึ้นคลุมร่าง ฤษี ตนนี้จึงได้ได้ฉายา ว่า วาลมีกิ=จอมปลวก

พระวาลมีกิ พรหมฤษี ไปสู่สำนักพระนารถพรหมฤษี สนทนาไต่ถามถึง
บุคคลสำคัญในโลกว่า ใครเป็นผู้แกล้วกล้า ฤษีนารถได้เล่าประวัติของ
พระรามโดยตลอด ครั้นเดินทางกลับ ฤษีวาลมีกิเห็นนายพรานยิงนกกระเรียน
ซึ่งกำลังรื่นเริงอยู่กับคู่ของตน  ฤษีวาลมีกิ เกิดสลดใจสมเพช จึงกล่าวคำสาปแช่ง
พรานนั้นว่า

มา นิษาท ปรติษฐ ตวัม
อคม ศาวตี สมา
ยต เกราญจมิถุนาท เอกัม
อวธึ กามโมหิตัม

(นิษาท พรานเอย เจ้าอย่าได้ถึงความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปีเพราะได้
พรากคู่นกกระเรียนซึ่งหลงเพลินในกาม)

เมื่อเดินทางต่อมา ฤษีวาลมีกิจึงหวนระลึกในเหตุการณ์ ก็เสียใจ ด้วยมิใช่กิจของตน
ท้าวมหาพรหม จึงโปรดปรากฎกายให้ฤษีวาลมีกิ เห็น ตรัสปลอบใจว่า
แท้จริงคำสาปนั้นเป็นความหมาย ในทางสรรเสริญพระนารายณ์เจ้า
เมื่อครั้งทรงปราบยักษ์

มา นิษาท ปรติษฐ ตวัม
อคม ศาวตี สมา
ยต เกราญจมิถุนาท เอกัม
อวธึ กามโมหิตัม

(ข้าแต่พระผู้เป็นที่พระทับแห่งพระลักษมี พระองค์ได้ถึงซึ่งความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปี
 เพราะได้พรากคู่ยักษ์สองตนซึ่งหลงเพลินในกาม)

ทั้งนี้เพราะศัพท์

 การาญจ = ยักษ์,นกกระเรียน
นิษาท=พราน,พระรามผู้ถือธนู (พระนารายณ์ ปางเมื่อ อวตาร เป็นพระราม = รามาวตาร)

ฤษีวาลมีกิ สบายใจขึ้น ครั้นพิเคราะห์ถึงประโยค

มา นิษาท ปรติษฐ ตวัม
อคม ศาวตี สมา
ยต เกราญจมิถุนาท เอกัม
อวธึ กามโมหิตัม

 นั้นไพเราะเพราะพริ้ง  จึงตั้งชื่อคำประพันธ์นี้ ว่า โศลก เพราะเกิดจากความโศก ของฤษีวาลมีกิ นั่นเอง
ต่อมา อรรถกถาจารย์ ถือว่าโศลกนี้ เป็น ฉันท์บทแรก ในโลก 

ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร.ฉันทศาสตร์ไทย.--พิมพ์ครั้งที่ ๑.--กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ ๑๙๙๙, ๒๕๔๑.

อัศนี พลจันทร.รวมบทความนายผี : อัศนี พลจันทร.--พิมพ์ครั้งที่ ๑.--กรุงเทพฯ : สามัญชน, ๒๕๔๑

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-09-27 10:28:47


ความคิดเห็นที่ 4 (2107872)

wallets for men chanel wallet woman carries around in her handbag louis vuitton authentic designer bag on your arm. louis vuitton fake travel handbags.

ผู้แสดงความคิดเห็น martin (greenle-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:41:29



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.