ReadyPlanet.com


เปิดตลาดนัดกวี


เปิดตลาดนัดกวี

พรชัย จันทโสก : รายงาน jantasok@yahoo.com

---------------------------------

ขณะที่หลายคนกำลังรอลุ้นด้วยใจระทึกว่าผลงานกวีนิพนธ์เล่มใดจะเป็นหนึ่งในจำนวนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รางวัลซีไรต์ หรือ "รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2550" นั้น

อีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนังสือกวีนิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ออกมาด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเข้าชิงรางวัลซีไรต์โดยเฉพาะหรือพิมพ์ออกมาช่วง เทศกาลซีไรต์ เป็นหลัก และส่วนใหญ่พิมพ์กันเองเพียงไม่กี่เล่มและมากกว่าครึ่งไม่ได้วางขายทั่วไป จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พิมพ์ออกมาก่อนช่วงฤดูกาลซีไรต์

ทั้งหมดทั้งมวลคือภาวการณ์ของกวีที่เป็นอยู่

ลองมาฟังทรรศนะของนักกวีในฐานะผู้รังสรรค์ถ้อยคำให้โลดแล่นบนหน้ากระดาษ ว่าพวกเขามองปรากฏการณ์ปัญหาของกวีนิพนธ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้อย่างไร

เริ่มต้นที่นักกวีมือรางวัล วรภ วรภา เจ้าของรวมบทกวีนิพนธ์ชุดล่าสุด "ในสวนเทศกาล" มองข้อดีของฤดูกาลซีไรต์ว่า "ผมมองเป็นสองส่วน คือ ปรากฏการณ์รวมเล่ม และปรากฏการณ์เขียนกวี ในส่วนของคนทำงานกวีมีอยู่เยอะ ทำไม่ได้หยุด ในช่วงไม่ใช่ซีไรต์เขาก็ยังทำมาตลอด ยังส่งผลงานลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ จะเห็นว่ากวีรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ แต่เรื่องการรวมเล่มมันก็จำเป็น อย่างรวมบทกวีชุด "หมอกฝัน ม่านฟ้า ห่าฝน" ที่ได้รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดยังขายไม่ได้ถึงพันเล่ม

กวีนิพนธ์ที่พิมพ์ออกมาช่วงฤดูกาลซีไรต์ทั้งๆ ที่เขียนเป็นประจำ แต่ก็ต้องมาพิมพ์ช่วงกระแสซีไรต์และพิมพ์เองด้วย เพราะกระแสซีไรต์ช่วยให้คนสนใจกวีขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยที่สุดขอให้ได้ค่าพิมพ์กลับคืนมาก็ยังดี อีกกลุ่มหนึ่งที่พิมพ์อย่างตั้งอกตั้งใจ คือพิมพ์ออกมาสองพันสามพันเล่มก็ว่ากันไป อีกกลุ่มหนึ่งพิมพ์มาเพื่อแทงหวยซีไรต์ พยายามจะไม่เจ็บตัวมากที่สุด พิมพ์เอง ลงทุนเอง บางคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ต้องเสี่ยงกับตรงนั้น บางคนพร้อมจะขาดทุน บางคนต้องการรวมเล่มไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าช่วงอายุหนึ่งเขามีผลงานกวีนิพนธ์ที่อาจจะพิมพ์สัก 500-600 เล่มเท่านั้น

ปรากฏการณ์ตรงนี้ต้องคิดเป็นรายๆ ไป ต้องมองเจตนาด้วย บางคนไม่ได้มีเจตนาว่าอยากได้ซีไรต์ บางคนเจตนาเพื่อล่าหวยซีไรต์ มองว่าถ้าปฏิเสธรางวัลซีไรต์โดยสิ้นเชิงเลยก็ไม่ได้ ถ้าส่งก็ต้องมีความหวังอยู่บ้าง อาจจะมีคนเจตนาพิมพ์ไม่กี่เล่มเพื่อหวังล่าซีไรต์โดยเฉพาะ แต่คนที่เขียนกวีอย่างจริงจังเรื่อยๆ ถึงไม่ใช่ฤดูกาลซีไรต์ก็ยังเขียน อย่างน้อยกระแสซีไรต์ก็พอจะให้ทำให้ยอดขายเอาตัวรอดได้บ้าง แต่จะได้หรือไม่เป็นเรื่องเฉพาะคน แต่ละคนที่ส่งเชื่อว่าต่างคนต่างมีความหวัง"

แต่หลังจากช่วงฤดูกาลซีไรต์ผ่านพ้นไปกวีนิพนธ์ก็จะกลับมาสู่ความเงียบเหงาซบเซาเหมือนเดิม

"จริงๆ ต้องมีองค์กรหลายองค์กรสอดประสานกัน หนึ่ง องค์กรของการพิมพ์ต้องกล้าพิมพ์ ต้องใจถึง แต่ความเป็นจริงไม่มี พอไม่มี เลยกลายเป็นความเงียบไปโดยปริยาย พิมพ์เองก็ไม่มีตังค์ ถ้าเป็นมิติแง่ของการสนับสนุนเรื่องการอ่าน จะเห็นว่าหลายๆ กลุ่มพยายามส่งเสริมเรื่องการอ่าน โรงเรียนได้รับการตอบสนองเพิ่มขึ้นมา เท่าที่ได้ไปตามค่ายวรรณกรรมต่างๆ ครูตอบสนองเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ถ้ามีกิจกรรมอย่างนี้บ่อยๆ จะเป็นการขยายพื้นที่กลุ่มคนอ่านออกไปเรื่อยๆ ทีนี้เป็นเรื่องขององค์กรว่าจะมาส่งเสริมเรื่องการตลาดอย่างไร ต้องช่วยกันหลายฝ่าย

แง่ของการเกิดขึ้นของกวีรุ่นใหม่ก็ยังมีเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในบล็อกหรือเวบบอร์ดต่างๆ ถ้านับว่าเป็นกวีก็มีเยอะแยะมากมาย แต่ว่าเขายังไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์ เท่าที่ได้เข้าไปอ่าน หลายคนเขียนดี มองว่าพอเขาไม่ได้ตีพิมพ์ตามหน้านิตยสาร นี่เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เขาก็พึงพอใจ ได้มีสังคม ได้แสดงผ่านบล็อกของเขา ต่างกับสมัยก่อนที่ไม่มีหนทางอื่น นอกจากต้องตีพิมพ์อย่างเดียว" วรภ วรภา กล่าว

โอกาสแจ้งเกิดของนักกวีหน้าใหม่ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร กวีเมืองเหนือมองว่า "ผมคิดว่าการพิมพ์รวมเล่มเองเป็นทางออกของคนรุ่นใหม่เพราะว่าสำนักพิมพ์ไม่ค่อยสนใจพิมพ์กวีเนื่องจากว่าขายยาก ไม่มีใครกล้าลงทุน ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้เกิด ทางออกของพวกเขาคือทำหนังสือเอง พิมพ์ประมาณ 50-100 เล่ม คล้ายกับหนังสือทำมือ ทุกวันนี้หนังสือบทกวีนิพนธ์ออกมาน้อยเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการตลาด เรื่องยอดขาย สำนักพิมพ์ต้องผลิตน้อย ผลิตสำหรับส่งประกวดเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อจะขาย ถือเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่ทำให้ตัวเองมีผลงานส่งเข้าประกวด ซึ่งมีทั้งข้อดีทั้งข้อเสีย

แต่เป็นทางเลือกหนึ่งของกวีรุ่นใหม่ อย่างน้อยเขายังทำงานอยู่ แม้ว่าเรื่องการตลาดจะไม่เอื้อ บางคนเขาไม่สนใจรางวัลเลย ยกตัวอย่าง "ประกาย ปรัชญา" แต่เขายังทำงานอยู่ อีกอย่างระบบรางวัลของบ้านเรามันเสียอย่างหนึ่งคือต้องส่งผลงานเท่านั้นถึงจะได้รางวัล จริงๆ มีหลายเล่มดีๆ ที่เจ้าของไม่ได้ส่ง กรรมการน่าจะมีสิทธิไปหยิบมาพิจารณาได้ นักเขียนกวีบ้านเราเองก็มีไม่ถึงร้อยคน สมมติว่าถ้ายกเลิกกติกาเปิดช่องให้กรรมการมีสิทธิไปพิจารณาผลงานที่ไม่ส่งได้ แต่มันมีปัญหาเรื่องไปละเมิดสิทธิตามมาอีก วงวรรณกรรมน่าจะให้สิทธิกรรมการได้"

สถานการณ์ของกวีนิพนธ์ที่ขายไม่ได้หรือมีจำนวนคนอ่านน้อย

"ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับตัวกวีเองว่ากวีหน่อมแหน้มหรือเปล่า หรือเขียนเรื่องไร้สาระหรือเปล่า ตลาดแคบอยู่แล้ว สำนักพิมพ์ไม่สนใจพิมพ์ เป็นเรื่องลำบาก เมื่อพึ่งระบบการตลาดไม่ได้ก็ต้องพิมพ์เอง ทำหนังสือทำมืออย่างที่เคยทำ ถือเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งของกวีรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาสจะเข้าไปสู่ระบบใหญ่ จริงๆ ผมค่อนข้างเห็นใจสำนักพิมพ์เหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องกำไร แต่นักกวีต้องไม่ยอมจำนนกับระบบตลาด ทำเท่าที่กำลังจะทำได้ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครเขียน นักกวีต้องเขียนงานขึ้นมาก่อน แม้ตลาดจะไม่เอื้อก็ตาม ไม่ต้องไปกังวลมาก นักกวีต้องทำงานอย่างหนักต่อไป

ถ้าถามถึงภาพรวมของกวีรุ่นใหม่ถือว่าค่อนข้างมีเนื้อหาหลากหลาย ทั้งเรื่องของปัจเจกหรืออารมณ์ภายในตัวเอง หรือเรื่องส่วนตัว ห่างออกมาก็จะเป็นเรื่องธรรมชาติ ปัญหาสังคม คือ ลงลึกถึงปัญหาสังคมว่าเป็นอย่างไร คิดว่าเป็นแนวทางของแต่ละคน เมื่อก่อนอาจจะเขียนเรื่องของตัวเองบ้าง คุยอยู่กับตัวเองบ้าง ปัจจุบันบทกวีของผมจะออกไปเป็นเรื่องสังคมหรือคุยกับสังคมมากขึ้น ผมเลือกที่จะสะท้อนปัญหาสังคมอย่างรวมบทกวีชุด "นกสันติภาพ" ที่นำเสนอปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" เขากล่าว

ด้านหนุ่มกวีหน้ารามฯ ศิริวร แก้วกาญจน์ มองปรากฏการณ์ "เทศกาลซีไรต์" ประเภทกวีนิพนธ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกันทุกสามปีว่า

"ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าเทศกาลหรือฤดูกาลคือห้วงเวลาพิเศษ อย่างห้วงเวลาปีใหม่ ห้วงการเลือกตั้ง งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรือแม้แต่วาระ 10 ปี ฮ่องกงเป็นอิสรภาพจากอังกฤษ นั่นก็เป็นห้วงเวลาพิเศษ เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์อย่างว่าแง่หนึ่งนับเป็นเรื่องดี อย่างน้อยมันก็มีแง่ดีของมันอยู่ แต่ถามว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือเปล่านั้นก็ว่ากันไปอีกกรณีหนึ่ง

ถามว่าทำไมบทกวีนิพนธ์หลายเล่มถึงไม่สามารถหาได้ในร้านหนังสือ บทกวีอาภัพอับโชคอยู่แล้วในแง่การปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน แต่นั่นไม่ใช่ต้นตอของปัญหา ต้นตอจริงๆ คือกวีนิพนธ์แทบไม่มีพื้นที่แสดงตัวตนของมันจริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ในรูปหนังสือเล่มของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ พูดง่ายๆ ว่ามันขายยาก หากเทียบกับสินค้าตัวอื่นๆ ในสายตาของทุนนิยม สินค้าที่ไม่ทำกำไร หรือทำกำไรน้อย สินค้านั้นแทบไม่มีมูลค่าความหมายในสายตาทุนนิยม ที่ผมพูดไม่ได้ต้องการบอกว่าบทกวีเป็นสินค้าไม่ได้ งานเขียนรูปแบบใดก็แล้วแต่เมื่อปรากฏในรูปหนังสือเล่มแล้ว แง่หนึ่งมันก็คือสินค้า ต่างกันเพียงว่า งานเขียนไม่ใช่สินค้าทั่วๆ ไป แต่มันเป็นสินค้าทางปัญญาชนิดหนึ่ง"

เขากล่าวต่อว่า "อีกแง่หนึ่ง สื่อเองก็มีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ เพราะมีบทกวีจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อร่วมเทศกาลนี้โดยเฉพาะ อย่างน้อยหนังสือของผมหลายเล่มก็ไม่ได้พิมพ์ตามฤดูกาลนี้ โดยเฉพาะ "เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก" พิมพ์มากว่าสองปีแล้ว แต่สื่อก็ไม่สนใจไยดี แม้กระทั่งสื่อสายวรรณกรรมเองก็ตาม หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ในร้านหนังสือ คือสื่อเองก็เหมือนคนตาบอด พอเจอแสงสีจากเทศกาลทีหนึ่ง สื่อก็ลืมตาครั้งหนึ่ง นี่คือวัฒนธรรมการเสพ การผลิตที่ไม่เข้าท่า

ผมเชื่อว่านั่นไม่ใช่การสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่ดี คือ การสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่ดีมันทำให้วุฒิทางปัญญาเข้มแข็งขึ้น เพื่อที่จะทำให้ประเทศเรารอดพ้นจากอวิชชาหรือหายนะ ถามว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เมื่อทุกคนมองว่ามีปัญหา ทำไมไม่ลงมาหาคำตอบร่วมกันว่าเพราะอะไร จะร่วมปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่ด้านที่ดีขึ้นได้อย่างไร ทุกหน่วยควรร่วมมือกัน ผู้เขียน ผู้ผลิต คนอ่าน ร้านหนังสือ รวมทั้งสายส่งก็ด้วย ต้องช่วยกัน"

แม้จะบอกว่าคนอ่านกวีน้อย แต่นักเขียนกวีรุ่นใหม่ก็ยังเกิดขึ้นได้

"มันน่าจะเป็นปรากฏการณ์ปกติ ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ คนเขียนกวีก็ยังมีอยู่ เหมือนดอกไม้ดอกหญ้า ใครไม่เพาะปลูกมันก็จะยังงอกงามของมันอยู่ แม้ในร่องรอยแตกของซีเมนต์ ต้นไม้ต้นหญ้าก็พยายามจะแทรกตัวขึ้นมามีชีวิต ประเด็นมีอยู่ว่าคนเขียนกวีต้องใช้พลังหนักหน่วงกว่าคนทำงานเขียนประเภทอื่น หมายถึงหนักในแง่ที่ว่าในขณะที่คุณทำงานเสร็จพร้อมกัน เมื่อเดินไปหาสำนักพิมพ์ แน่นอนบทกวีจะเป็นตัวเลือกท้ายสุด

การพิมพ์งานเองมันเป็นทางออกหนึ่ง ในเมื่อคุณเป็นกลุ่มคนตัวเล็กๆ ไม่สามารถทำอะไรได้กับโครงสร้างที่มีปัญหาโดยลำพัง เมื่องานคุณไม่มีพื้นที่ให้แสดง คุณต้องไปถากถางพื้นที่ให้ตัวเอง อีกอย่างหนึ่ง นอกจากวัฒนธรรมการอ่านหรือรวมทั้งการผลิตที่ไม่ค่อยเข้าท่าแล้ว ส่วนหนึ่งตัวกวีเองก็ไม่ค่อยเข้าท่าด้วย บางทีตัวงานยังไม่พร้อมที่จะไปถากถางพื้นตรงนั้น แต่ก็พยายามให้มันออกไปแสดงตัว มันมีส่วนสร้างปัญหาเหมือนกัน คือมันมีทั้งด้านมืดด้านสว่าง"

รมณา โรชา ครูกวีผู้ปลุกปั้นกลุ่มเด็กนักเรียนให้สนใจเขียนและอ่านกวี และเจ้าของผลงานชุด "อาผู้หญิงทั้งสาม" กล่าวถึงนักกวีเลือดใหม่ว่า

"กลุ่มวรรณกรรมของเราจะมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเขียนในโรงเรียน สนับสนุนและกระตุ้นให้โรงเรียนอ่านหนังสือมากขึ้น มองว่ากวีเลือดใหม่ไม่เงียบ เพียงแต่ว่าหนังสือขายไม่ได้เท่านั้นเอง เนื่องจากว่าคนซื้อหนังสือหรือวัฒนธรรมการอ่านไม่เข้มแข็ง ในขณะที่คนอื่นมองว่ากวีตกต่ำ ผมมองว่าไม่ใช่ความตกต่ำ น่าจะอยู่ที่การเป็นไปของผู้คน ผมเชื่อว่าระยะหลังคนอ่านหนังสือมากขึ้น ที่น่าสนใจคือวัยรุ่นและเยาวชนสนใจมากขึ้น บทกวีจริงๆ อยู่กับชีวิต อยู่กับความรู้สึก เพียงแต่ว่าไม่ได้อยู่ในคนส่วนใหญ่ คนอ่านยังนิยมยังสนใจอยู่

การออกมาบอกว่า "บทกวีนิพนธ์ตายแล้ว" เป็นภาวะที่เรากำลังหวาดกลัวกันมากกว่า บางคนที่อ่านหนังสือเขาไม่มีเวลาไปเดินหาหนังสือเพราะต้องทำงาน อย่างผมพิมพ์เอง 2,000 เล่ม จะใช้วิธีขายตรง ผมรู้สึกว่าเป็นแฟชั่นมากกว่าที่ว่ากวีนิพนธ์ตกต่ำ คนยังมีความคิดดีงามและบทกวียังคงอยู่ ผมพิมพ์งานเขียนของนักเรียนชุด "ดอกไม้และแสงตะวัน" เพื่อส่งเสริมการอ่านการเขียน หนังสือขายไป 3 พันกว่าเล่ม แสดงว่าเด็กเขาทำได้และทำได้ดีด้วย"

เขายังมองปรากฏการณ์เทศกาลซีไรต์ด้วยว่า "ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา มันเป็นความหลากหลายของกลุ่มคนเหมือนกัน ถือเป็นเรื่องสุนทรียภาพของชีวิต ไม่ได้มองว่าเครียด เอาจริงเอาจังมากนัก การพัฒนาคุณภาพการอ่านจริงๆ ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวและที่โรงเรียน สองสามปีมานี้มีการรณรงค์เรื่องการอ่านและปรับปรุงเรื่องการเรียนการสอนมากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสในการก้าวข้ามที่ดี

บทกวีเป็นภาวะด้านจิตวิญญาณของผู้เขียนกวี ว่าด้วยความรู้สึก การทำงานด้วยใจ ว่าด้วยโลกของกวี เขียนถึงสิ่งที่ได้พบได้เห็น คิดอย่างไร เห็นอย่างไร เขียนออกมาตามทางของเขา กวีเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจะรับรู้ร่วมกันได้ ไม่ว่าหนังสือจะได้รางวัลซีไรต์หรือไม่ แต่คุณค่าและความดีงามยังเป็นสิ่งที่ทุกคนจะเข้าถึงได้"

ปิดท้ายด้วยเสียงสะท้อนจากกวีหนุ่มเลือดใหม่จากอีสาน โกสินทร์ ขาวงาม วิพากษ์ถึงโอกาสแจ้งเกิดของกวีหน้าใหม่ว่า

"กวีทุกวันนี้ถูกบีบพื้นที่จนแทบไม่เหลือทิศทางไว้หายใจ การเกิดของกวีรุ่นใหม่ถือว่าค่อนข้างยาก เพราะว่ามันเป็นการทำงานของคนยาก บางครั้งมันผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด จะเหลือไม่กี่คนที่ทนอยู่กับมันได้จริงๆ ถ้าให้มองปรากฏการณ์ฤดูกาลซีไรต์ คงต้องถามบรรณาธิการเพราะว่าความจริงบรรณาธิการที่เข้าใจบทกวีหรือพิมพ์บทกวีด้วยใจจริงยังหลงเหลืออยู่บ้าง แต่เหลือน้อย ส่วนใหญ่จะค่อนข้างฉาบฉวย ถ้าบรรณาธิการที่ค่อนข้างเข้าใจความเป็นอยู่ของกวี เขาจะจุนเจือกำลังใจกำลังทรัพย์ให้บ้าง ถือเป็นการต่อลมหายใจกวี

แต่ถ้าเป็นบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์ที่มองบทกวีเป็นเรื่องฉาบฉวยก็จะพิมพ์หนังสือตามเทศกาล อยากให้บรรณาธิการพิมพ์กวีจริงๆ โดยไม่ยึดติดเทศกาล อยากได้บรรณาธิการที่จริงใจ แต่แง่หนึ่งก็เป็นความปรารถนาดีที่เขาอยากพิมพ์งานของเรา เพราะบรรณาธิการก็อาจจะมีความลำบากใจของเขาอยู่บ้าง ถ้าบรรณาธิการได้เห็นการทำงานของกวี เห็นการต่อสู้ เห็นการยืนหยัด เขาก็เข้ามาช่วย ถึงบังเอิญจะเข้ามาช่วงซีไรต์ที่ทำให้ถูกมองว่าพิมพ์เพื่อซีไรต์หรือเปล่าซึ่งมันมีรายละเอียดของมันอยู่

อย่างเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทยที่พิมพ์งานเล่มแรกของผมเรื่อง "หมู่บ้านในแสงเงา" ถ้ามองผิวเผินคนจะมองว่าพิมพ์เพื่อส่งเข้าซีไรต์ แต่ถ้าดูรายละเอียดลงไปจะเห็นว่าเขาได้พยายามหาทุนเพื่อจะมาช่วยพิมพ์งานของเราให้ปรากฏกายในสายตาสาธารณะ อีกอย่างผมคิดว่าไม่รู้จะกระแหนะกระแหนกวีไปทำไมว่าพิมพ์เพื่อซีไรต์ วิถีของงานเมื่อมีโอกาสแสดงตัวตนต่อหน้าสาธารณะมันก็ดีมิใช่หรือ ส่วนใหญ่จะมีแต่คนใช้สายตาดูถูกสงสารกวี แต่กลับไม่มีใครลุกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของบทกวีจริงๆ"

เขาเน้นย้ำอีกว่า "คนที่ใช้ชีวิตเขียนบทกวีจริงๆ มันก็มีอยู่ ค่าตอบแทนก็เป็นการให้กำลังใจ เป็นการต่อลมหายใจกวี อย่าบั่นทอนกำลังใจคนอยากเข้ามาทำงานกวีเลย บางคนเขียนบทกวีอย่างเดียว ไม่ได้มีงานประจำ ผมไม่อยากให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ แม้แต่เรื่องบทกวีราคาไม่กี่ร้อย นิตยสารบางเล่มยังไม่จ่ายค่าตีพิมพ์ เราไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย เมื่อมันเป็นสิทธิที่เขาควรจะได้รับ ถึงแม้ว่าค่าบทกวีไม่กี่ร้อย แต่บางครั้งก็สำคัญมากเหมือนกัน กวีไม่ใช่คนเข้าใจอะไรยาก"

กวีนิพนธ์จะรุ่งโรจน์หรือตกต่ำคงขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาล้วนแต่บ่นกันไปบ่นกันมา ที่สุดก็วกกลับมาสู่ปัญหาเดิมๆ 0



ผู้ตั้งกระทู้ จากจุดประกายวรรณกรรม 1 ก.ค 50 :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-02 03:17:34


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937373)
คนทำงานกวีทุกวันนี้ก็มีก๊ก มีเหล่า มีกลุ่ม มีพวก  ดังนั้งงานจึงไม่ค่อยมีมาก คนอ่านก็อ่านน้อย  ตลอดจนเลือกอ่านงานสายใครสายมัน
ผู้แสดงความคิดเห็น 12 วันที่ตอบ 2007-07-02 05:21:25


ความคิดเห็นที่ 2 (937374)
ผมคิดว่า บางครั้งกลุ่มคนอ่านอาจจะไม่หลากหลายนะครับ อย่างเช่นเพื่อนของผม ไม่มีใครสนใจกวีนิพนธ์เลยครับ เขารู้ว่า บทกวีนั้น เท่ห์ มีความพิเศษ แต่เขาก็ไม่เคยคิดที่จะอ่าน ผมว่า หากไม่ปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กหรือเยาวชนรักการอ่านแล้ว ก็คงจะยากที่จะต่อลมหายใจให้แก่กวีนิพนธ์ครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น แดนไกล ไลบีเรีย วันที่ตอบ 2007-07-02 21:50:23


ความคิดเห็นที่ 3 (937375)

เห็นด้วยครับ

คนเขียนกวี คนอ่านกวี

มีบ้างสายใครสายมัน

ใครไม่ใช่ก๊วนตัวเอง

แน่นอนว่าถูกถีบตกไปไกลๆ

อย่าได้เข้ามาข้องแวะกันเลยล่ะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น กวีใหญ่โว้ย วันที่ตอบ 2007-07-03 07:40:34


ความคิดเห็นที่ 4 (1974049)

กวีเป็นจิตวิญญาณชั้นสูง

ยุคสมัยปัจจุบันมันตกต่ำ

คนสนใจน้อย

ยกเว้นพวกหัวอนุรักษ์

ผู้แสดงความคิดเห็น มอง วันที่ตอบ 2009-08-15 10:22:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.