ReadyPlanet.com


แจ้งข่าว "ศิริพงษ์ จันทน์หอม" เสียชีวิต


นายพงษ์พิพัฒน์ (ศิริพงษ์) จันทน์หอม
ที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
เสียชีวิตด้วยอาการไตวาย เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.
วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2553  ณ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฯ

ตั้งศพบำเพ็ญกุศล
ณ ศาลา 11 วัดชลประทานรังสฤษฎ์
อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

กำหนดรดน้ำศพ
วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2553 เวลา 17.00 น.

กำหนดฌาปกิจ
วันพุธที่ 1 ธันวาคม 2553

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2553
สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม

ศิริพงษ์ จันทน์หอม เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม  2486
เจ้าของผลงานหนังสือแนวปรัชญาชีวิต-ธรรมชาติชีวิต  จำนวน 5 เล่ม
ได้แก่ เพื่อนชีวิต, ธรรมชาติชีวิต, พอดีของชีวิต, ดีพอต่อทุกสิ่ง  และธรรมดาชีวิต
ได้รับการตีพิมพ์จำหน่ายพร้อมกันเป็นชื่อชุด “คุณค่าชีวิต”

ศิริพงษ์ จันทน์หอม
เป็นนักเขียนที่ได้รับสมญานามว่า "นักเขียน ร้อยนามปากกา"
นามปากกาที่พอจะเปิดเผยได้และยังใช้อยู่อย่างต่อเนื่องตลอดมา
คือ "แผน  ราชดำเนิน" และ  "พลอยไพลิน"



ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2010-11-28 15:14:17


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2132455)

วันนี้สมาชิกสมาคมนักกลอนส่วนหนึ่งได้ไปร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของศิริพงษ์ จันทน์หอม ที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย โดยได้ไปร่วมพิธีรดน้ำศพ นำหรีดไปเคารพศพ ประกอบด้วย ยุทธ     โตอดิเทพย์ นายกสมาคมฯ ทองแถม นาถจำนง อุปนายกฯ บุญครอง คันธฐากูร  อำพล สุวรรณธาดา      ธัญญา ธัญญามาศ สมศักดิ์ ศรีเอี่ยมกูล และชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 เวลา 19.00 น. (หนึ่งทุ่มตรง) สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ ขอเชิญสมาชิกสมาคมนักกลอนฯร่วมงานได้ตามวัน เวลา ที่กำหนด

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย วันที่ตอบ 2010-11-28 22:32:43


ความคิดเห็นที่ 2 (2132483)

ร่วมไว้อาลัยคุณศิริพงษ์ จันทน์หอม และระลึกถึงด้วยบทกลอนผลงานของคุณศิริพงษ์ที่กลายเป็นเพลงอมตะ

หยดน้ำเจ้าพระยา
                                                                                                                       คำร้อง ศิริพงษ์ จันทน์หอม
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
(ญ.)  จากหยดน้ำหยดน้อยหลายร้อยหยด
รวมกันหมดเป็นมหาชลาศัย
    จากปิง วัง ยม น่าน ผ่านมาไกล
         แล้วรวมไหลกันเข้าเป็นเจ้าพระยา
           (ช.) เหมือนสายเลือดรวมไหลไทยทั้งชาติ
 รวมน้ำใจใสสะอาดศาสนา
รวมภักดีสูงส่งองค์ราชา
     รวมศรัทธาในเสน่ห์ประเพณี
(ญ.) เจ้าพระยาเรื่อยไหลไม่รู้สร่าง
       ไหลแผ่กว้างคว้างไปในทุกที่
         โอบถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงชีวี
        รวมฤดีไทยผองเกี่ยวคล้องกัน
           (ช.)  จากหยดน้ำหยดน้อยหลายร้อยหยด
   จึงปรากฏเป็นมหานทีขวัญ
        ขอความรักเรารวมร่วมผูกพัน
              นานเท่าวันเจ้าพระยาไหลบ่านอง
       (ช.) เจ้าพระยาเรื่อยไหลไม่รู้สร่าง
          ไหลแผ่กว้างคว้างไปในทุกที่
            โอบถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงชีวี
           รวมฤดีไทยผองเกี่ยวคล้องกัน
   (พร้อม) จากหยดน้ำหยดน้อยหลายร้อยหยด
 จึงปรากฏเป็นมหานทีขวัญ
     ขอความรักเรารวมร่วมผูกพัน
           นานเท่าวันเจ้าพระยาไหลบ่านอง
ผู้แสดงความคิดเห็น นักกลอน วันที่ตอบ 2010-11-29 05:13:00


ความคิดเห็นที่ 3 (2132553)

 

บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์ จากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในชมรมพระจันทร์เสี้ยวยุคก่อตั้ง ศิริพงษ์ จันทน์หอม ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าข่าว คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ, เส้นทางเศรษฐกิจ, เมืองไทยวันนี้, สยามโพสต์, ไทยแลนด์ไทม์, วัฏจักรการเมืองและรายวัน ผ่านงานผู้จัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงเป็นกรรมการตัดสินรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลตุ๊กตาทอง, เมขลา และโทรทัศน์ทองคำ ในด้านงานเขียน มีผลงานเรื่องสั้นมาแล้วกว่า 100 เรื่อง บทกวีกว่า 1,000 ชิ้น และงานเขียนอีกหลากหลายแนวจำนวนมาก
ด้วยความเป็นเด็กที่รักการอ่าน จึงเป็นแรงผลักดันให้มีใจรักในงานเขียนไปด้วย
       ผมเริ่มเขียนหนังสือเพราะมีแรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือ ในยุคก่อนไม่มีหนังไม่มีละครให้เราดู ทีวีก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาที่จะหาความสุขพักผ่อนอยู่กับตัวเองก็คือการอ่านหนังสือ ประกอบกับพ่อผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็เลยชอบตามไปด้วย ส่วนใหญ่หนังสือที่อ่านจะเป็นหนังสือพิมพ์และหนังสือตำรวจที่ได้รับมา ในสมัยก่อนมีหนังสือตำรวจออกมาเป็นแมกาซีนที่ดีมากทีเดียว มีความหลากหลาย พูดตรง ๆ ว่าปัจจุบันนี้ที่ชอบเขียนในแนวสืบสวนสอบสวน ก็คงเป็นเพราะมีคุณพ่อเป็นตำรวจและใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับพ่อ พ่อไปเข้าเวรก็จะตามไปด้วย จึงมีโอกาสได้พบเห็นการทำงานของตำรวจมามาก และนำมาใช้ในงานเขียนได้
พอได้อ่านมาก ๆ ก็จะมีความรู้สึกอยากเขียน
       ผมเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เริ่มแรกเขียนบทกวีส่งเข้าประกวดตอนที่อายุประมาณ 15 ปี ได้รางวัลที่ 2 ได้เงินมา 50 บาท ช่วงที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ผมก็เขียนกลอนส่ง จะได้ลงตามไทยรัฐ สยามรัฐ อยู่เรื่อย ๆ
       พูดถึงการทำงานเขียนผมเกิดจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็เลยได้รับข้อมูลจากข่าวที่ทำ ในการที่ได้ออกไปทำข่าวทำให้เราได้วัตถุดิบหลายด้าน ได้รู้จักผู้คนในสังคม ทั้งด้านกีฬา การเมือง เราจึงสามารถเขียนงานได้หลากหลาย
มีการยึดใครเป็นแบบอย่างหรือศึกษาและชื่นชอบงานของนักเขียนท่านใดเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่าในการเขียนงานที่หลากหลายแบบนี้
       ชีวิตเราเป็นคนยากจนอยู่ในชนบท จึงชอบชีวิตที่ต่อสู้ งานของสด กูรมะโรหิต จึงอยู่ในหัวใจตั้งแต่เริ่มแรก แต่พอเริ่มเป็นหนุ่มขึ้นก็เริ่มชื่นชอบ รงค์ วงษ์สวรรค์ เพราะว่ามีสำนวนที่ท้าทาย และที่จะลืมเสียไม่ได้เลยสำหรับนักเขียนในดวงใจอีกคนหนึ่งก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจพูดได้ว่าที่ผมมาอยู่ตรงนี้ได้เพราะเกิดมาจากคน 3 คน คนแรกที่ทำให้ผมเกิดคือ ธนู ปิยะรัตน์ หรือที่ใช้นามปากกา แทน ทฤษฏี บก.แสนสุข เป็นคนที่เปิดโอกาสให้ผม แต่คนที่ทำให้ผมโต คือ รงค์ วงษ์สวรรค์ และคนที่ทำให้ผมเพียบพร้อมทุกอย่างก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นอกจากนั้นก็ยังมีนักเขียนอีกหลายท่านที่มีความชื่นชอบในผลงานอย่าง อุชเชนี, วิลาศ มณีวัตร, ศรีรัตน์ สถาปนวัตร
เขียนงานมามากมายแบบนี้ระบุได้ไหมว่าถนัดและชอบเขียนงานประเภทใดมากที่สุด
       ถ้าพูดถึง ณ วันนี้ แนวธรรมชาติชีวิตคงจะเป็นแนวที่ถนัดและชอบที่สุดนั่งตรงไหนก็สามารถเขียนได้ อาจ เพราะว่าเราตกผลึกแล้ว ขอยืมสำนวนคุณสกุล บุณยทัต มาใช้ แต่ถ้าถามว่าเขียนเรื่องอะไรแล้วสบายใจมากกว่าระหว่างเรื่องสั้นกับเรื่องยาว ผมว่าเรื่องยาวสนุกกว่าเพราะถ้าสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่าตัวละครเขาเล่นกับเราได้ เขามีชีวิต สั่งให้เราทำได้ เหมือนเขามีจิตวิญญาณและจะจูงมือกันมา ทำให้เกิดจินตนาการโต้ตอบกับตัวละครเหล่านี้ จนรู้สึกสนุกกับงานเขียนมากขึ้น
มองแวดวงงานเขียนในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
       พูดถึงแวดวงคนเขียน เราพัฒนาไปมากโดยเฉพาะประเภทเรื่องสั้น พัฒนาไปไกลจนกระทั่งบางครั้งจับต้องไม่ได้ จับไม่ถูกว่าไปทางไหน จนบางเรื่องแทบจะไม่เป็นเรื่องสั้นแล้ว คือออกไปนอกทฤษฏี ผมเรียนการประพันธ์มาก่อนพอเอาทฤษฏีมาจับมันก็หลุดไปแล้ว เช่นมีการนำบทความ บทกวี มาใส่เข้าในเรื่องสั้นหรือนวนิยาย อย่างที่มีนักเขียนหลายท่านในปัจจุบันทำกัน มันเป็นสิ่งที่ดีถ้าเราไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ แต่บางคนอาจจะยังไม่คุ้นเท่านั้น ก็ต้องถือว่าเป็นวิวัฒนาการ จริง ๆ แล้วผมมีความเชื่อว่า เมื่อไหร่ที่คุณตกผลึก คุณก็จะรู้ว่าถนนทุกสายมันจะมาที่สนามหลวงเหมือนกัน ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตาม
ทุกวันนี้คุณศิริพงษ์ ยังเขียนหนังสืออยู่ตลอดเวลา
       เร็ว ๆ นี้เพิ่งหันกลับไปทำงานข่าวอีกครั้ง และก็ยังเขียนหนังสืออยู่ตลอด งานตรงนี้เรานั่งเขียนของเราอยู่คนเดียว ทำไปได้เรื่อย ๆ จนผมมีความคิดว่า การทำงานก็คือการพักผ่อน การได้เขียนเรื่องในแนวธรรมชาติชีวิต ผมไม่อยากพูดว่าปรัชญานะ เพราะคงยังไม่ถึงตรงนั้น การเขียนในแนวธรรมชาติชีวิตมีความสุขเหมือนกับการพักผ่อน แต่ถ้าพูดถึงการพักผ่อนที่ชอบที่สุดก็คือชอบมองเวลาไปไหนมาไหนก็จะชอบมองชีวิตของผู้คน วัตถุสิ่งของที่ผ่านสายตาเราไป นั่นเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง
ถ้าอยากเขียนหนังสือเก่ง ๆ บ้าง
       ต้องถามตัวเองก่อนว่ารักการอ่านไหม ถ้าคุณรักการอ่านคุณจะรู้จักถ้อยคำ ประโยค รู้ตัวอักษร รู้จักเลือกใช้คำให้เป็นให้ถูก ถ้าเรารู้จักคำแล้วเราก็จะเขียนหนังสือได้สละสลวยขึ้น วิธีการที่จะเขียนหนังสือให้ดีที่สุด คือพวกผมมักจะเริ่มต้นมาจากบทกวี เราเป็นนักกลอนมาก่อนจะเห็นได้เลยว่าคนที่เขียนกวีมาก่อน พอมาเขียนนวนิยายเขียนเรื่องสั้นจะมีความสละสลวยความละเมียดละไมของภาษาดีกว่าทั่วไป บทกวีจะสอนให้คุณรู้จักการใช้คำให้กระชับรัดกุมขึ้น จากนั้นคุณต้องถามตัวเองต่อว่าคุณมีจินตนาการไหม คนที่จะเป็นนักเขียนได้จะต้องมีจินตนาการที่ละเอียดและแม่นยำ ต้องมีจินตนาการที่มีรูปทรงมากกว่าคนอื่น และสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือประสบการณ์นั่นแหละ

ผู้แสดงความคิดเห็น ข้อมูลจากเว็บไซต์ประพันธ์สาส์น วันที่ตอบ 2010-11-29 11:15:57


ความคิดเห็นที่ 4 (2132562)

 

              รอยนอน

เอนร่างนิ่มอ่อนละมุนหนุนอกนี้
ซบตรงที่หัวใจซึ่งไหวหวั่น
ฟังเสียงเพลงจากกมลของคนธรรพ์
ปิดเนตรฝันแนบนิทร์สนิทใน

สัมผัสเกศคนดีที่ดำขลับ
แนบประทับผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
เฝ้าพิศหน้านวลผ่องงามยองใย
จูบปากอิ่มพริ้มละไมแกล้งให้นอน

ดาวก็เคลื่อนเดือนคล้อยลอยลับฟ้า
เมื่อหนาวตาเคยจูบตาวานอย่าอ้อน
เมื่อแก้มแก้วผ่องขาวผะผ่าวร้อน
เคยจูบถอนร้อนร้าวทุกคราวครวญ

โอ้ว่าแววตาเศร้าของเจ้าเอ๋ย
แต่ก่อนเคยสบชิดไยคิดด่วน
โอ้ว่าหยาดน้ำตานองหน้านวล
จะไปชวนใครเช็ดเกล็ดน้ำตา

เสียดายจุมพิตหวามในความหลับ
จะนานนับเดือนปีที่ห่วงหา
เห็นแต่รอยเธอนอนอ่อนระอา
กี่เวลาจะย้อนที่นอนเดิม

ศิริพงษ์จันทน์หอม
ผู้แสดงความคิดเห็น ระลึกถึงศิริพงษ์ จันทน์หอม วันที่ตอบ 2010-11-29 11:37:08


ความคิดเห็นที่ 5 (2132967)

เพลง...หยดน้ำเจ้าพระยา

 

เพลงนี้มาจากบทกลอนประกวด ในงาน "ลอยลำไปกับเรือเพลง" ในช่วงประมาณปี ๒๕๑๐-๒๕๑๕
งานลอยลำไปกับเรือเพลง เป็นการจัดกิจกรรมปีละหนึ่งครั้ง ของบรรดาชาวนักกลอนในยุคนั้น

โต้โผใหญ่คือ "พี่สน" สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์
จัดนักกลอนและผู้สนใจทางด้านกาพย์กลอน ล่องเรือไปบนแม่น้ำเจ้าพระยา ทัศนาจรกับเรือใหญ่ขนาดสองชั้น
มีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับบทกลอน เช่นแต่งกลอน โต้กลอนสด

ในคราวหนึ่งมีการจัดแต่งกลอนประกวดในงาน หัวข้อ "หยดน้ำเจ้าพระยา"
ผลงานกลอนประกวดที่ชนะเลิศ เป็นของหนุ่มน้อยในขณะนั้น ชื่อ ศิริพงษ์ จันทน์หอม
ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็น กรรมการตัดสินชี้ขาดในวันนั้นด้วย ท่านชื่นชอบบทกลอนสำนวนนี้มาก จึงได้นำบทกลอนความยาว ๔ บทนี้ไปใส่ทำนองในจังหวะควิกวอลซ์ และได้กลายมาเป็นเพลงคู่ ที่ครูเอื้อขับร้องเอง คู่กับ วรนุช อารีย์

เพลงหยดน้ำเจ้าพระยา แม้จะไม่ใช่เพลงที่ดังระเบิดเถิดเทิง แต่ก็ถือว่าเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งของวงสุนทราภรณ์

มาถึงยุคคาราโอเกะเฟื่องฟู... วันหนึ่งคณะนักกลอนกลุ่มหนึ่ง เสร็จจากการจัดกิจกรรมร้อยกรองในต่างจังหวัด เราได้เข้าไปทานอาหารกันในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในร้านนั้นมีคาราโอเกะไว้ต้อนรับผู้ไปใช้บริการด้วย...
ผมกดรีโมตค้นหาเพลงหยดน้ำเจ้าพระยา
"
จะมีรื้อเพลงนี้...?" พี่ศิริพงษ์ ผู้แต่งคำร้องเพลงนี้เอ่ยถาม
"
มีครับพี่...ผมเคยเจอเพลงนี้ในคอมพ์ที่คาราโอเกะในกรุงเทพ" ผมตอบพี่ศิริพงษ์
"
เออมีจริงด้วย..." พี่ศิริพงษ์อุทานแล้วยิ้ม
ผมส่งไมโครโฟนให้พี่ศิริพงษ์ "ร้องให้พวกเราฟังหน่อยครับพี่ เพลงของพี่เอง"
"
เห่ย...ร้องไม่ได้ลืมไปแล้ว" พี่ศิริพงษ์ปฏิเสธ แต่ก็รับไมค์ไปถือไว้

เมื่อเพลงขึ้น พี่เราก็ร้องเพลงนี้ได้จนจบ.....

 

(บทความเรื่องเพลง "หยดน้ำเจ้าพระยา" ผมเขียนไว้ในเว็บแม่ไม้เพลงไทยนานแล้ว ในนามปากกา "ดาวเรือง")

 

ขอดวงวิญญาณของพี่ศิริพงษ์ จันทน์หอม จงสถิตยังสถานทิพย์กวีด้วยเทอญ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สุพจน์ ชีรานนท์ วันที่ตอบ 2010-11-30 14:15:33


ความคิดเห็นที่ 6 (2133000)

ขอแก้ไข...บทกลอนความยาว ๔ บท....

เป็น...ความยาว ๖ บท....

ผู้แสดงความคิดเห็น สุุพจน์ วันที่ตอบ 2010-11-30 16:03:13


ความคิดเห็นที่ 7 (2133005)

ขอร่วมไว้อาลัย

และแสดงความเสียใจต่อการจากไปของท่านด้วยครับ

ขอดวงวิญญาณท่านจงสู่สุคติ นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น "กอนกูย" วันที่ตอบ 2010-11-30 16:29:56


ความคิดเห็นที่ 8 (2133010)

ขออนุญาตร่วมไว้อาลัยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น นายทิวา วันที่ตอบ 2010-11-30 16:58:00


ความคิดเห็นที่ 9 (2133167)

ร่วมไว้อาลัยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ศาลายา วันที่ตอบ 2010-12-01 09:18:05


ความคิดเห็นที่ 10 (2133447)

 

ร่วมไว้อาลัยด้วยความระลึกถึง ครับ

เพิ่งกลับจากส่งเพื่อน ๆ ที่ไปร่วมงานฌาปนกิจศพ มาด้วยกัน

                 พี่ศิริพงษ์  จันทน์หอม (พี่เนาว์ เรียกว่า ศิริพงษ์  จอมหัน) เพิ่งสนิทสนมกับผมมายังไม่ถึง ๒๐ ปี แต่ก็ถูกอัธยาศัยกันอยู่ เมื่อ ๑๒ ปีก่อน วันนั้น วันที่ ๑๐ ธ.ค. ๔๑ วันนักกลอน หลังจากการเลือกตั้ง นายกสมาคมนักกลอนฯ ได้ พ.อ.พิเศษ หญิง  อุษณีย์  เกษมสันต์ เป็นนายกเรียบร้อยแล้ว พี่ศิริพงษ์ กับผมไปนั่งดื่มเบียร์กันสองคนที่ร้านของ พี่ประดิษฐ์  เรืองสุข  แถว ๆ ซอยสวนอ้อย หน้าโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ยุคนั้น วันนักกลอน เราจัดกันที่ สมาคมนักหนังสือพิมพ์  ของมูลนิธิ อิสรา  อมันตกุล ตรงข้ามโรงพยาบาลนั้น

                 "สมศักดิ์  แกก็เป็นนายกสมาคมนักกลอนได้นี่หว่า"

                 พี่ศิริพงษ์  มองหน้าผมแล้วก็พูดขึ้นมาลอย ๆ ผมตอบว่า อีกหลายปีครับพี่

                 ผ่านไป ๔ ปี วันนักกลอน  ๑๐ ธ.ค. ๔๕ (๘ ปีที่แล้ว) หลังจากที่ผมเป็น อุปนายกมา ๔ ปีนั้น ผมเป็นแม่งานจัดงาน วันนักกลอน มาโดยตลอด เรายึดหัวหาดที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นที่จัดงาน จนสมาชิกจำได้ว่าเป็นประเพณี  แม้แต่ทางโรงแรมเองก็จะเว้นห้องไว้ให้โดยไม่ต้องจอง

                  วันนั้นผมได้รับเลือกตั้งเป็น นายกสมาคมนักกลอนฯ พี่แกก็มาลงคะแนนให้ผม แต่พี่แกมาเป็นคนหลังจากคนสุดท้าย แปลว่าพี่แกเป็นคนแรกที่หมดสิทธิ์ในการลงคะแนน ทุึกคนในห้องประชุมเห็นกันทั้งนั้น แต่ไม่น่าเชื่อ

                  "ปาฏิหาริย์" มีจริง  ผมได้เป็นนายกวันนั้นก็เพราะพี่ศิริพงษ์ นั่้นเอง ขออนุญาตเอ่ยชื่อ คุณประมวล  ดารดาษ  ซึ่งเป็นคนเห็นปรากฎการณ์นั้น มาเล่าให้ผมฟังภายหลังพร้อมกับอาจารย์เสมอ  กลิ่นหอม และพี่บุึญชู  คชสาร (ศ.  ชลาลัย) จึงทำให้ผมสนิทกันกับพี่เค้ามากขึ้น มาจนถึงโอกาสสุดท้าย กินข้าวด้วยกัน (ปากเป็ดทอด) เพราะพี่เค้า หยุดเหล้าหยุดเบียร์ทั้งหมดแล้ว นัดกันไว้ว่าก่อนปีใหม่จะไปนั่งคุยกันอีก แต่ก็ไม่ทันได้ถึงปีใหม่...

 

ขอให้พี่มีความสุข  อยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นกวีนะครับ

                  ด้วยความรักและอาลัย

จาก น้องคนที่พี่บอกว่า อ่านกลอนของมันแล้วนึกว่ามันรูปหล่อ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สมศักดิ์ ศรีเอี่ยมกูล นักกลอนครับ (somsak-poet-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-12-02 01:37:20



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.