ReadyPlanet.com


บทวิจารณ์หนังสือกวีนิพนธ์ "รูปฉายลายชีพ" โดย อาจารย์สกุล บุญยทัต


Original image of 51Ic5c85.gif

๏ รูปฉายลายชีพ ๏
“ภาพจำลองของอารมณ์ระงมเร้า...ยังจ้องเงาจำแลงที่แฝงจอ”
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สกุล  บุณยทัต


                    “ชีวิตของเราทุกคนล้วนมีภาพแห่งตน  เป็นภาพเคลื่อนไหวปรากฏอยู่ในจอภาพแห่งความเป็นไป...กำหนดบทบาทเป็นเช่นสีลาสาระแห่งการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปรและไม่หยุดนิ่ง...หลายคนอาจเปรียบชีวิตจริงในโลกสมัยใหม่ ณ วันนี้กับโครงสร้างของความเป็นภาพยนตร์  โลดแล่นไปในองค์ประกอบและบรรยากาศที่เป็นทั้งมายาคติและเจตนารมณ์ของความเป็นจริง...ชีวิตแต่ละชีวิตมักมีมิติแสดงแห่งความเป็นตัวตนผูกพันอยู่กับใจและกายอยู่เสมอ  เป็นเบื้องลึกของความทุกข์สุข...และเป็นสามัญธรรมดาของการกระทำ
                     ประเด็นตรงส่วนนี้นับเป็นแบบเรียน  ที่ฉายภาพให้เราทุกคนได้เห็นถึงข้อตระหนักในการทบซ้อนซึ่งซ่อนเงื่อนซ่อนปมของชีวิตว่า...ได้ส่งอิทธิพลต่อวิถีของการดำรงอยู่ของเรามากน้อยเพียงใด...หากใครสักคนจะเฝ้าสังเกต  เราย่อมจะค้นพบความหมายแห่งความเป็นชีวิตว่าเราต่างเล่นบทบาทของตัวเอง  เพื่อให้กลายเป็นรูปรอยแห่งคุณค่าของชีวิต  ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเราก็ต่างตกอยู่ในห้วงมายาแห่งตนและคนอื่น...จนไม่สามารถสลัดหลุด...เหล่านี้จึงนำมาซึ่งบริบทอันจริงแท้แห่งความมีความเป็นในฐานะมนุษย์ที่ไม่อาจคลี่คลายปมเงื่อนของตัวเองได้โดยง่าย  ณ สุดท้ายก็จะเหลืออยู่เพียงความทรงจำที่ตั้งหน้าตั้งตาเดินไปสู่ความลบเลือนเพียงเท่านั้น”
                    ผมคิดถึงประเด็นสาระที่กล่าวมาเบื้องต้นหลังจากได้อ่านรวมบทกวีเล่มใหม่ของ ‘โชคชัย  บัณฑิต’ ในบรรยายกาศที่ผมรู้สึกถึงความสงบเงียบในใจ...บทกวีจำนวน 56 บทในนาม “รูปฉายลายชีพ” ค่อยๆเปลี่ยนเฟรมด้วยภาพต่อในการตัดต่ออย่างช้าๆผ่านจากบทหนึ่งไปสู่บทหนึ่งซึ่งพยายามแสดงภาพสะท้อนในแง่มุมแห่งความเป็นชีวิตด้วยบทตอนง่ายๆผ่านนิยามความหมายแห่งสถานการณ์  ผ่านประจุความคิดของตัวบุคคลผ่านฉากที่ปลูกสร้างเรื่องราวต่างๆนานาให้ได้จับต้องและผ่านความเป็นตัวตนหลายๆตัวตนตามที่ได้กระทำบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาด้วยสำนึกทั้งที่ดีงามและผิดบาป...นัยทั้งหมดนี้อาจถูกเปรียบเทียบให้เป็น ‘รสชาติ’ แห่งความเป็นหนังเรื่องหนึ่ง  ที่มีองค์รวมแห่งความหมายของชีวิตเป็นตัวขับเคลื่อน...สั่นไหวการรับรู้ในรู้สึกด้วยรูปลักษณ์และรวงลายต่างๆที่ถูกตกแต่งขึ้นด้วยลีลาที่อิงอยู่กับความเป็นศิลปะ  โดยการเน้นย้ำที่จะสื่อให้เห็นบทบาทเนื้อหาตรงส่วนนี้  ด้วยกระบวนการเขียนและการจัดวางองค์ประกอบของเนื้องาน...ให้สื่อสารความเป็น ‘บทกวี’ ทั้งด้วยเนื้อความที่วางอยู่ในกรอบเกณฑ์เฉพาะของรูปแบบที่จินตนาการและสร้างสรรค์ขึ้นด้วยมุ่งหวังถึงผลลัพธ์ที่จะมีต่อชีวิต  จิตใจ  และอารมณ์  ในรอบด้านเหมือนภาวการณ์แสดงออกในโลกเฉพาะของภาพยนตร์ที่สามารถกำหนดแบบให้ผู้สัมผัสหรือมุ่งหวังที่จะเสพเนื้องานได้บรรลุถึงเป้าหมายทาง
                                                                                                                                                             2
                                                                                                                                                      อารมณ์อย่างฉับพลัน...อันเป็นปรากฏการณ์ของความสะกิดใจและกินใจที่จะซึมซับและอยู่ต่อเนื่องไปในความทรงจำแห่งหัวใจของใครทุกๆคนไปโดยตลอด...
                                                         “หนังชีวิตให้ชีวิตลิขิตหนัง
                                                           ทำนบใจไหลหลั่งข้ามฝั่งเศร้า
                                                           ภาพจำลองของอารมณ์ระงมเร้า
                                                           ยังจ้องเงาจำแลงที่แฝงจอ”
ในส่วนของบุคคล... ‘โชคชัย’ ได้นำเสนอภาพแสดงผ่านชีวิตของมนุษย์ในหลายลักษณะ...พวกเขาหรือเธอต่างตกอยู่ในวงจรของโลกที่ดำเนินไปโดยไม่หวนคือกลับ...บทบาทของบชีวิตในแต่ละบทบาทเกิดขึ้นกับใจและกายในความเป็นตัวตนของคนๆหนึ่งได้อย่างไร  นั่นคือปริศนาอันซ่อนเร้น...แม้อาจจะมองเห็นที่มาที่ไป  มองเห็นถึงเหตุและผลที่รองรับถึงความเป็นไปได้  แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบที่สามารถตอบคำถามแห่งปริศนาในความเป็นตำนานของใครๆหรืออาการอย่างหนึ่งอย่างใดได้...มันจึงมีสภาพเป็นเพียงนัยเล่าขานที่ถือเป็นบทตอนแห่งการทดสอบบาปเคราะห์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน...เป็นผลรวมของชีวิตที่จับต้องได้ยากยิ่ง
                                                         “ครองใจในร่างหญิงบ้า
                                                           ตามหาสิ่งร้างห่างหาย
                                                           สิงอยู่กลางทรวงกลวงกลาย
                                                           ตายทั้งยังมีชีวัน
                                                                  กระเซอะกระเซิงเริงทุกข์
                                                                  อิ่มสุขดั่งสู่สวรรค์
                                                                  กายอยู่ในกูณฑ์ไฟกัลป์
                                                                  ใจอยู่ในขั้นดาวดึงส์
                                                                   -----------------------------
                                                           ครองใจในร่างหญิงบ้า
                                                           คือศาลเพียงตาถ้าหมาย
                                                           เพียงศาลเพียงตายังไม่ตาย
                                                           ครองกายไหว้กราบภาพรัก”
บทกวี ‘นัยตำนาน’ บทนี้ถือเป็นภาพแสดงของตัวละครที่มักจะแสดงบทบาทของเธอและพวกเธอผ่านสายตาแห่งการมองเห็นของคนเรา...ครั้งแล้วครั้งเล่า...เราอาจทั้งเห็นอยู่ตำตาและเต็มตา  แต่กลับไม่รู้สึกร่วมกับภาพแสดงดังกล่าวนี้...หรือนี่คือภาพแสดงที่จำเจหรือไร้ค่าจนเกินไป?...หรือนี่คือภาพแสดงของความสูญสิ้น  ในโลกแห่งจิตวิญญาณที่แตกดับ...บนเวทีแห่งนัยสำนึกที่ทำได้เพียงการปล่อยผ่าน... ‘ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป...ผ่านตาแล้วก็ผ่านไป’...เป็นหนังชีวิตสั้นๆเพียงเรื่องหนึ่งที่แทบไม่มีใคร
                                                                                                                                                          3

มองเห็น...แต่ด้วยสายตาของความเป็นกวี... ‘โชคชัย’ ได้ฉายภาพเรื่องเศร้าอันเป็นดั่งตำนานแห่งความน่าเห็นอกเห็นใจนี้...ด้วยสีสันที่หม่นมืดแต่ก็ร้อนแรงทางเจตจำนง  ที่จะขับเน้นให้ภาพแสดงดังกล่าวนี้ได้มีโอกาสเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีความหมายทางปรากฏการณ์ต่อการรับรู้ในทางมโนธรรมกันบ้าง
                    ปรากฏการณ์ภายนอกและปรากฏการณ์ภายในดูเหมือนว่าจะถูก ‘โชคชัย’ นำมาใช้ประสานกันเป็นตัวขับเคลื่อน...รูปฉายแห่งภาพแสดงในการขุดค้นลงไปในภาวะของการเปรียบเทียบ...ที่มักจะซ่อนลึกอยู่ข้างใน...โดยเฉพาะความมืดมนและอับตันแห่งโชคชะตาที่มนุษย์ส่วนหนึ่งไม่สามารถจะใช้หัวใจหยั่งรู้ถึงการเอื้อมมือเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้...ชีวิตของมนุษย์มักเป็นเช่นนี้...จิตใจของมนุษย์ก็มักจะถูกตอกตรึงให้ต้องพินิจพิเคราะห์ถึงภาพแสดงจริงแห่งชีวิตตรงส่วนนี้
                                                  “...พ่อแม่อยู่ไหนเป็นใจหรือเปล่า
                                                   ชีวิตแสนเศร้าหรือเจ้าสุขี
                                                   สองข้างทางเท้าอาจเศร้าเหลือดี
                                                   หนึ่งใจไหวถี่หรือนี่ชีวิต...
                                            ขนมถุงน้อยอร่อยดีไหม
                                            ฉีกซองส่งให้พร้อมไมตรีจิต
                                            เธอคือขอทานหมายการอุทิศ
                                            ขนมถุงนิดเธอคิดแบ่งทาน
                                                   แม้คือผู้ขอใช่รอเพียงรับ
                                                   แต่ในมุมอับเธอกลับอีกด้าน
                                                   เป็นผู้แบ่งให้ด้วยใจเจือจาน
                                                  ขณะเดินผ่านเผยทานผ่านพบ”
ความจริงในด้านกลับที่เป็นบทสะท้อนแห่งสาระมุมมองตรงส่วนนี้...มีมิติของการใคร่ครวญถึงความเป็นชีวิตเราไม่สามารถคาดเดาหรือให้ข้อสรุปจิตใจของมนุษย์ได้โดยทันทีหรอก...เหมือนกับบทตอนของหนังเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้อกับชีวิตใดชีวิตหนึ่ง...ก็อาจจะมีจุดพลิกผันให้คนดูได้ประจักษ์        และรับรู้ทั้งด้วยคุณด้วยโทษ...ด้วยดีหรือด้วยชั่วแปลกแตกต่างกันไป  แต่ด้วยทัศนคิตในเชิงกวีของ ‘โชคชัย’ ที่สื่อสะท้อนถึงการมองโลกในแง่งาม...ทำให้ภาพฉายของเขาในความเป็นบทกวีในแต่ละบทเป็นเหมือนหนังแห่งความจรรโลงใจ  มีอุดมคติที่วาดหวังว่า...คนทุกคนสมควรมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสอดประสานและเข้าใจในกันและกัน  ซึ่งภาวะตรงนี้คือสถานะแห่งการเป็นกวีที่อบอุ่นในจิตใจของ ‘โชคชัย’ ที่สัมผัสได้อย่างต่อเนื่องเสมอมา...
                                                  “จิตใจไหววาบอิ่มภาพพบพาน
                                                    แม้เพียงเดินผ่านผลทานสะท้อน”

                                                                                                                                                         4

ในอีกด้านหนึ่งของความเป็นโลก...ภาพแสดงแห่งโลกียวิสัยก็ปรากฏให้เป็นเป็นฉากหลังของความลวงหลอกบนพื้นฐานแห่งแรงปรารถนาอันเป็นมายาคติของศรัทธา...ภาพฉายตรงส่วนนี้คือลีลาชีวิต  ที่กระจัดกระจายอยู่ท่ามกลางห่ากระแสของมายาคติภายใต้เงื่อนไขของการลุ่มหลง... ‘โชคชัย’ มองประเด็นที่เสียดแทงนี้ด้วยนัยแห่งการเสียดแทงเช่นเดียวกัน...มันคือภาพแสดงของการเหยียดเย้ยที่สลับซับซ้อนอยู่กับกิเลสอันหมุนวนอย่างไม่หยุดยั้งของมนุษย์...บทกวี ‘โพธิสัตว์’ อาจถูกมองเป็นหนังต้องห้ามแห่งการเปรียบเทียบความในสังคมหน้าไหว้หลังหลอกอย่างสังคมของเราในปัจจุบัน  สังคมที่มีผู้กล้าแสดงถึงความเป็นผู้รู้ผ่านนัยแห่งความมัวเมาแห่งจิตใจของมนุษย์ในรูปรอยของสินค้าที่ต้องขึ้นตรงอยู่กับความเป็นศรัทธาโดยแท้
                                                 ‘โพธิสัตว์อุบัติแล้วเป็นแก้วเกศ
                                                  ทิพเนตรเวทย์มนตร์หรือพ่นเป่า
                                                  หนึ่งถึงสิบทิพโสตทรงโปรดเรา
                                                  ใช่การเดาเอาอดีตมาพิศดู
                                                  ทุกทุกงวดตรวจสอบจนรอบด้าน
                                                   เห็นหลักการผ่านผลซ่อนตนอยู่
                                                  ยิ่งสำรวจตรวจสอบยิ่งรอบรู้
                                                  ต้องเผยแพร่แก่ทุกผู้ใช่ดูดาย
                                                  ----------------------------------
                                                  โพธิสัตว์อุบัติแล้วเหนือแก้วเสก
                                                  หยิบตัวเลขล่วงหน้าเอามาสื่อ
                                                  ไม่อยากรวยลำพังเขายั้งมือ
                                                  ไขสูตรหวยรวยอื้อเชิญซื้อแทง”
ภาพแสดงของค่านิยมแห่งสังคม...ได้ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นบทบาทหลากหลายให้ผู้อ่านในฐานะ ‘ผู้ชม’ หนังเรื่องนี้ให้ได้ติดตามด้วยความตั้งมั่นใน “สติของเวลา” มีภาพแสดงหลายๆภาพที่เป็นเงื่อนงำทั้งทางประวัติศาสตร์และความเชื่อ...สถานการณ์และความคิดหลายๆอย่างซ้อนทับกันด้วยรอยอำพรางของความหวาดระแวงที่ไม่รู้จบ  กลายเป็นความขัดแย้งที่ต่อเนื่องทางสังคม...กลายเป็นความไม่รู้ที่ไร้คำตอบอันน่าเชื่อถือ...บทกวี ‘ฟาฏอตี’ อันหมายถึง ‘ปัตตานี’ ได้ฉายภาพตรงนี้ไว้ให้ได้ใคร่ครวญ...
                                                  ‘ปลดอาวุธระแวงให้แจ้งจิต
                                                   สนามเพลาะความคิดเคยเขลาขุด
                                                   ลาดตระเวนหัวใจดับไฟยุทธ
                                                   ไม่สิ้นสุดศรัทธาฟาฏอนี
                                                                                                                                                            5

                                                   ฟาฏอนีวันนี้แม้น่าห่วง
                                                    แต่อย่าลวงหัวใจให้พ่ายหนี
                                                    รักจะเขียนความงามด้วยความดี
                                                    ฟาฏอนี – ฟ้าที่นี่มีเสียงนก”
...มองเห็นนัยแห่งการประชดประชันโลกสมัยใหม่และสังคมแห่งการดำรงอยู่ที่เต็มไปด้วยภาพแสดงในบทบาทของความขัดแย้งในแบบอย่างของจักรวาลซ้อนในจักรวาล...ที่ภาษาสื่อสารระหว่างกันคือตัวแทนแห่งความแปลกแยกอันเปล่าดาย...หนังในบทตอนของบทกวี... ‘นิพพานออนไลน์’ มุ่งชี้ให้ทุกคนได้เห็นโลกอันวิปริตที่สามารถโน้มนำตนเองให้ขึ้นสู่บรมสุขแห่งนิพพาน...ที่พาตัวตนให้หลุดพ้น ‘หลุดโลก’ ออกไปจากวัฒนธรรมสำนึกอันดีงามดั้งเดิมได้...ภาวะตรงส่วนนี้มันหมายถึงอะไรกันแน่...หรือนี่คือการเล่นแร่แปรธาตุที่ไม่รู้ตัวของเจตจำนง
                                                 “จากธาตุ  แปรธาตุ  เป็นภาพถ่าย
                                                  เก็บประจุ  มากระจาย  เป็นไฟจ้า
                                                  จากเมมโมรี่ชุบชีวา
                                                  เกิดดับตรงหน้าคว้าอาคม
                                                  ส่งต่อ  เซฟไฟล์  หลายก็อปปี้
                                                  เกิดมี  หนีหาย  สลายล่ม
                                                  กู้ไฟล์  เซฟไฟล์  กลางสายลม
                                                  คลิกชมเชื่อมร้อยพลังงาน
                                                  ปราชญ์บอกชีวิตอนิจจัง
                                                  ปวงอาตมาประดังเป็นสังขาร
                                                  เคลื่อนไหวความว่างอยู่ตั้งนาน
                                                  ก่อนลุกจากร้านเกมส์ออนไลน์”
สำนึกต่อสังคมในหลายบทบาท  ถูกสื่อสารออกมาบทแล้วบทเล่า...เป็นช่วงตอนของศาสนา  การเมือง  และความเป็นปัจเจก...ในความเป็นกวี... ‘โชคชัย’ ให้ความสนใจในเชิงเนื้อหาสาระผ่าน
                    กระบวนการแห่งสำนึกคิดและการสืบค้นอยู่ในหลายเรื่องราว  นี่เป็นวิธีการสร้างสรรค์งานที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับการออกแบบในการนำเสนอประเด็นในแต่ละประเด็นให้สามารถมองเห็นกันได้อย่างรอบด้านและชัดเจน...หากผู้รับสารจะตื่นรู้...และมีข้อตระหนักในการหยั่งรู้ความเป็นไปในวัฏจักรแห่งสังคมที่สร้างรูปสร้างรอยที่แปลกใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นผลพวงที่ทั้งน่าชื่นชมและน่าอับอายของยุคสมัยนี้


                                                                                                                                                             6

                    ‘โชคชัย’ เปรียบดั่งนักสังเกตการณ์...เขามองเห็นและจับเอาสิ่งที่มองเห็นนั้นมาสานสำนึกให้เป็นบทกวีผ่านรูปแบบในเชิงการตีความ “เขียนกระดาษวาดละคร” ให้ออกมาเป็น ‘รูปฉายลายชีพ’รูปโฉมแห่งความเป็นบทกวีของ ‘โชคชัย’ จึงอยู่ในเงื่อนไขของการออกแบบภาพแต่ละภาพ...นัยของการแสดงสาระในแต่ละสาระ...ซึ่งได้ผลอย่างยิ่งมาแล้วจากรวมบทกวี ‘บ้านเก่า’ ที่สร้างชื่ออันโด่งดังให้กับเขาในลักษณะ ‘เล็กแต่งดงาม’...ไม่อาจปฏิเสธได้อีกว่า ‘โชคชัย’ มีความสามารถในเชิง ‘กลอน  กานท์’ แบบขนบจารีตในระดับฝีมือ...ซึ่งผู้ที่ศึกษาและได้เรียนรู้ในผลงานของเขาก็คงได้สัมผัส ‘รสแห่งวรรณคดี’ ทางด้านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ของเขามาแล้ว...เหตุนี้การทำงานของเขาจึงอยู่คาบเกี่ยวกันระหว่างรูปแบบเก่ากับรูปแบบที่ถูกออกแบบจัดวางใหม่ในการนำเสนอ...อยู่ระหว่างภาพแสดงของสังคมใหม่ในบทสะท้อนที่วิพากษ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ชอบมาพากล...เจตจำนงในการทำงานของ ‘โชคชัย’ ขยายกว้างขึ้นมาก  และอาจนับว่าเขาดำรงตนในฐานะกวี...ที่เขียนบทกวีมากที่สุดคนหนึ่งในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ‘รูปฉายลายชีพ’ ก็เป็นการรวมกวีนับจากปี พ.ศ.2545 มาจนถึงปัจจุบัน’...8 ปีแห่งการทำงานที่ต่อเนื่องและขยายฐานความคิดในการสร้างรูปแบบและเนื้อหาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด...ในความเป็นวิชาชีพ...นี่อาจนับเป็นสิ่งที่ดีงามสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเดินตามรอยในการสร้างสรรค์ผลงานของกวีสักคนหนึ่ง...โดยส่วนตัวผมเห็นถึงความตั้งใจในการทำงานของ ‘โชคชัย’ เสมอ  เห็นพร้อมๆกับท่วงทีของการอ่อนน้อมและถ่อมสุภาพ...บทกวีของ ‘โชคชัย’ นอกจากข้อประจักษ์ในเชิงรูปแบบ...ก็มีความอ่อนโยนในเนื้อหาที่มีประเด็นชวนวิพากษ์นี่แหละที่เห็นเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุด...ทั้งๆที่หลายๆเรื่องราวคือประเด็นปัญหาอันชวนก่นด่าด้วยท่าทีที่กระแทกกระทั้นแต่ ‘โชคชัย’ ก็เลือกที่จะสื่อสารความนัยทั้งหมดด้วยวิธีการอันประคับประคอง
                    “รูปฉายลายชีพ” ก็ตกอยู่ในกระบวนวิธีนี้...มาถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง...เราอาจสามารถพูดถึงพัฒนาการทั้งความเป็นกวีและทั้งความเป็นบทกวีของ ‘โชคชัย’ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ  แต่สำหรับรวมบทกวีเล่มนี้  และอีกหลายผลงานที่ต่อเนื่องมาจาก ‘บ้านเก่า’...แม้จะเห็นเจตนาที่ชัดเจนในการสร้างสรรค์  แต่รูปรอยที่ปรากฏออกมาโดยส่วนใหญ่กลับไม่คมชัดอย่างที่ควรจะเป็น... ‘รูปฉายลายชีพ’ มีองค์ประกอบในหลายสิ่งอย่างให้กวีได้แสดงฝีมือ...มีโครงสร้างที่ก่อตัวได้ดีแล้วในบทเริ่มต้น...มีสาระเนื้อหาที่สามารถนำไปสู่ประเด็นที่คมชัดและหยั่งเห็นอย่างลึกซึ้งได้ไม่ยาก...แต่ผลงานชิ้นนี้กลับไปไม่ถึงจุดสูงสุดที่ควรจะเป็น...ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะน้ำหนักของการสื่อสารทางด้านสำนึกคิดที่ควรจะเฉียบคมและหนักแน่นกลับบางเบาจนเกินไป...จนทำให้บทกวีหลายบทต้องขาดความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเชิงภาษาอารมณ์ที่งดงาม (Euphony) ไปอย่างไม่น่าเชื่อ  แม้จะมีการเน้นย้ำในการประพันธ์อยู่ในหลายบทตอนก็ตาม...การวางรูปแบบด้วยรูปรอยของหนังกระทั่งการสร้างวรรณรูปของการจัดวางตำแหน่งเนื้อความของบทกวีให้มีรูปทรงเป็นมิติของส่วนโค้งและบิดผลันไปตามรูปรอยระหว่างบรรทัดที่คล้ายดั่งโครงสร้างของแผ่นฟิล์มที่เกาะเกี่ยวกับหนามเตยและหมุนเวียนไปใน

                                                                                                                                                       7

แต่ละเฟรมภาพอาจนับเป็นเจตนาที่มุ่งหวังในทางที่ดี...แต่ผมกลับรับรู้ถึงว่ามันไม่ได้ให้อะไรเลยนอกจากความวกวนและรกเรื้อในทางการสร้างสรรค์  เพื่อความงามแห่งสัมผัสของความคิดจิตใจและอารมณ์
                    แต่ที่สำคัญที่สุดและน่าเสียดายที่สุด...ก็คือรวมบทกวีชุดนี้ขาด ‘อารมณ์ร่วม’ ในรสสัมผัสซึ่งถือเป็นนัยอันละเอียดอ่อนและล้ำลึกแห่งความเป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด...ผมไม่อยากจะคิดไปว่า...ความตั้งใจตลอดจนความหมั่นเพียรที่ ‘โชคชัย’ กระทำต่อเนื่องกันมาโดยตลอด...จะทำให้ผลงานของเขาที่เต็มไปด้วยประเด็นของเนื้อหาสาระตลอดจนนัยของการวิพากษ์ภาพแสดงทางสังคมและมนุษย์จะไม่ ‘ส่งสาร’ และ ‘สื่อสาร’ ด้วยตัวของมันเอง...ไม่จับใจและ ‘สะกิดใจ’...อย่างเงียบงันได้ถึงขนาดนี้
                    นี่คือ ‘ผลกระทบ’ ที่บังเกิดขึ้นในเชิงความรู้สึกแห่งประพันธกรรมที่ผมพยายามจะมองหาสาเหตุ...โดยไม่พยายามที่จะนำไปเปรียบเทียบในเชิงเพ่งพินิจกับผลงานเล็กๆที่ส่งผลกระทบใจได้อย่างจริงจังและจริงใจเมื่อในอดีต...แล้วผมก็ได้พบนัยบางสิ่งว่า...การพยายามทำค่าความหมายของศิลปะให้ขยายกว้างออกไป  ไม่ว่าจะเป็นด้วยรูปแบบและเนื้อหาในวงกรอบของการกระทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด...แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีโอกาสจะทำลายตัวตนของมันเองได้  ถ้ามันไม่ใช่...ตัวตนแห่งความเป็นจริงของความรู้สึกจริง (Real of Being)  “ภาพจำลองของอารมณ์ระงมเร้า...ยังจ้องเงาจำแลงที่แฝงจอ”
                    อย่างไรก็ดี...ผมถืออยู่เสมอว่า...เจตจำนงและผลลัพธ์ของการสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นคนละส่วนกัน  แม้จะอยู่ร่วมในผัสสะเดียวกันก็ตาม...แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็สามารถย้ำเตือนและบอกกล่าวแก่เราได้ว่า...ความคิดจิตใจและอารมณ์ของมนุษย์นั้นดำรงอยู่ได้ด้วยดุลยภาพแห่ง ‘รูปฉายลายชีพ’...ที่ไม่สามารถหลอกตาหลอกใจเราได้...เพียงเท่านั้น... “ความง่าย...งามและมีพลังอาจคือฉากแสดงที่สอดรับกันบนวิถีรวมแห่งการรับรู้อันลึกซึ้ง  หาใช่วิธีการแห่งนวัตกรรมใหม่ที่อาจนำพาทุกคนให้เข้าสู่มนตราของมายาคติดั่งนี้...ว่ากันว่า...วิถีคือประกายแห่งจิตที่ส่องแสงได้กระจ่างกว่าวิธีบนโลกแห่งสัจจะเสมอ                                                                                                                                     
                                                 “ประหนึ่งมือวิเศษร่ายเวทย์สั่ง
                                                   ให้ลูกโป่งทรงพลังเริ่มแปรเปลี่ยน
                                                   ขดความยาวเข้ารูปไร้ธูปเทียน
                                                    เป็นลูกหมาไม่ผิดเพี้ยนเปลี่ยนรูปทรง”


 (ขอขอบพระคุณอาจารย์ สกุล บุญยทัตย์ และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์)
 



ผู้ตั้งกระทู้ พ่อไข่นุ้ย (thara_num-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-08-18 09:32:56


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2099541)

โชคชัย บัณฑิต น่าจะเป็นกวีซีไรท์รอบที่ 2 นะครับ เป็นความคิดเห็นของผมเท่าที่ได้อ่านผลงานของอาจารย์โชคชัย ขอเอาใจช่วยครับ และขอให้กำลังใจผู้เข้ารอบทุกท่านมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลชนะเลิศทุกคน

ผู้แสดงความคิดเห็น มิตรรักนักกลอน วันที่ตอบ 2010-08-25 06:38:34


ความคิดเห็นที่ 2 (2100323)
in addition composition men"s handbag for sale the collection in retail louis vuitton handbags how is the choice of hope you are charming handbag design and durability women"s bags ensure material women"s gucci hats
ผู้แสดงความคิดเห็น citizen watches วันที่ตอบ 2010-08-25 21:19:19


ความคิดเห็นที่ 3 (2107596)

wefts costumes wigs using Asian material which comes wigs High quality wigs that look like clip on hair extensions short bob styles.

ผู้แสดงความคิดเห็น day (aquanaut-at-google-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:07:20


ความคิดเห็นที่ 4 (2111389)
discount ugg boots discount ugg boots ugg ugg mukluks cheap mukluks cheap womens boots womens boots
ผู้แสดงความคิดเห็น cartier watches วันที่ตอบ 2010-09-22 00:51:44


ความคิดเห็นที่ 5 (2120954)
jewelry jewelry louboutin louboutin ghd hair straighteners ghd hair straighteners dimond ring dimond ring
ผู้แสดงความคิดเห็น omega watch วันที่ตอบ 2010-10-20 20:15:40



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.