ReadyPlanet.com


บทกวี เรื่องของน้องหม่อง ทองดี


เรื่องของน้องหม่อง ทองดี

 

1…เมื่อหนูเริ่มลืมตามาดูโลก

ธงไทยก็สะบัดโบกอยู่เหนือหัว

พ่อแม่หนูจำทิ้งถิ่นแผ่นดินตัว

ไฟสงครามลามทั่วจนกลัวภัย

 

  หนูกำเนิดอย่างคนไทยในสยาม

ในแดนดินถิ่นไทยงาม  จำความได้

หนูมองเห็นตัวตนเป็นคนไทย

เพียงเชื้อสายไทใหญ่ในก่อนกาล

 

เกิดเมืองไทยก็หวังอยู่คู่เมืองไทย

ไม่เคยคิดหลบหนีไปไกลจากบ้าน

ไม่ทำร้ายแผ่นดินไทยให้ร้าวราน

ไม่เคยก่อความร้าวฉานให้ประชา

 

หวังใช้เพียงมันสมองสองมือน้อย

  ไว้ค่อยค่อยสร้างสรรค์งานสานคุณค่า

สร้างชื่อเสียงด้วยสติและปัญญา

เพื่อเชิดชูหน้าตาประเทศไทย

 

อนิจจา ผู้ใหญ่เห็นเป็นปัญหา

หนูถูกเรียกว่าพม่า ใช่ไทยไม่

หนูน้ำตานองหน้า ด้วยเสียใจ

เหมือนหนูถูกขับไล่ ไม่น่าเป็น

 

ขอวิงวอนให้เมตตาอย่าผลักไส

เด็กอย่างหนู มีค่าไหม  โปรดได้เห็น

พิจารณาให้เข้าใจในประเด็น

เด็กดีเด่น ควรหรือขาด สัญชาติไทย?

                                        “ณ ปลายฟ้า”

 

2....หนูคือคุณค่าของแผ่นดิน

เป็นทรัพย์สินทางปัญญาแห่งยุคสมัย

หนูจึงอย่าสะทกสะเทือนใจ

กับผู้ใหญ่ที่ขาดพุทธิปัญญา

 

ผู้อ้างแต่ตัวบทของกฎหมาย

ผู้ทำเรื่องง่ายง่าย  ให้เป็นปัญหา

ผู้อ้างข้อขัดข้องอันค้างคา

ผู้ตีความรายมาตราเอาตามใจ

 

หนูผิดที่เกิดในประเทศนี้

บางอย่างที่ไม่น่าเกิด  ก็เกิดได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หนูต้องไป

สู่ความใฝ่ความฝันอันงดงาม

 

ไปเป็นตัวแทนประเทศไทย

ไปเด็ดดอกไม้ในดงหนาม

ไปชิงชัย ไปสร้างชื่อ ให้ลือนาม

ไปด้วยความสามารถของ หม่อง ทองดี

 

ซึ่งบทเพลงพร้องขับ วันกลับบ้าน

จะขับขานคอยหนูอยู่ที่นี่

ด้วยฝีมือทั้งหมดที่หนูมี

วันพรุ่งนี้จะเป็นของหนู เมื่อสู้มัน

                                         อัคนี  หฤทัย

ลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 51  ศุกร์ที่  11– พฤหัสบดี ที่ 17 กันยายน  2552

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้มาใหม่ :: วันที่ลงประกาศ 2009-09-13 22:13:56


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1983730)

ชื่นชมอัคคี หฤทัย งานกวีริพนธ์ของท่านสมเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์อย่างแท้จริง ยอดเยี่ยมรักษามาตรฐานมาตลอด

ผู้แสดงความคิดเห็น กวีซีฟู๊ด วันที่ตอบ 2009-09-14 06:26:56


ความคิดเห็นที่ 2 (1983793)

กลอนเรื่องนี้มีคนแต่ง 2 คนคือ "ณ ปลายฟ้า" กับ "อัคนี หฤทัย"
ใครสังเกตเห็นความต่าง ไหมครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น แทน วันที่ตอบ 2009-09-14 10:25:08


ความคิดเห็นที่ 3 (1984903)

เห็นนะ ความต่าง ....แต่...เป็นความแตกต่างที่สอดคล้องกันอย่างดี ต่างกันที่บทแรกคือบทขึ้นต้น บทที่ 2 เหมือนบทสรุป  ถ้าอ่านติดต่อกันเหมือนคนแต่งคนเดียวกัน เพราะรองรับความต่อเนื่องอย่างเหมาะเจาะทีเดียว หรือความเห็นที่ 2 เห็นตรงไหนก็ช่วยบอกอีกทีนะคับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ยังไม่เคยได้เป็นกวี (sassadee-gree-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-09-16 19:20:17


ความคิดเห็นที่ 4 (1984920)

คือ...สงสัยว่าเป็น ๒ คน ช่วยกันแต่งเรื่องเดียวกัน    หรือคนเดียวแต่ ๒ นามแฝงอ่ะครับ 

มันมีความต่าง ด้านสำนวน  ภาษา ลีลาการแต่ง ให้สังเกตได้มั้ยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น แทน วันที่ตอบ 2009-09-16 20:20:10


ความคิดเห็นที่ 5 (1985126)

บอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่ดูสำนวนแล้ว ใช้สำนวนเหมือนกันเลย  แบบตรงไปตรงมา ไม่มีเล่นคำ หรือศัพท์ยาก แบบอ่านง่ายๆ เยะเลย เหมือนคนเดียวกันจริงๆ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ยังไม่เคยได้เป็นกวี (sassadee-gree-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-09-17 13:08:21



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.