ReadyPlanet.com


เหล้าเถื่อนใครมั้งใกล้ชิม..เมาอ่ะ


                                                   เหล้าเถื่อน

      

       หนึ่งหมื่นจรอกแสนบท    ประชันประชดขันแข่ง

ถอดใจมิเสแสร้ง                   มิเท่าค่าเหล้าจอกเดียว

ปุจฉาเหตุไฉน                     ศรัทธาใหญ่ไหลกรากเชี่ยว

ครรลองล่องคดเคี้ยว              อัตตาแค่บ่มเนิ่นนาน

ไวน์ดีราคาแพง                    นั้นแตกต่างแหล่งถิ่นฐาน

สุดท้ายถ้าถามมาร                จ่ายแต่น้อยนั้นล่ะดี

เปลือกนอกตรองเอาเถิด         ใครประเสริฐผ่องโสภี

อย่าวัดแค่ดีกรี                     เศษธุลีเท่าผุยผง

เหล้าแพงกับเหล้าเถื่อน          แฝงย้ำเตือนให้ไหลหลง

เงินมีก็ยังคง                       กินเหล้าแพงลืมเหล้าเถื่อน

เงินน้อยแค่เหล้าต้ม              ที่หมักบ่มไม่นานเดือน

ความเมาเป็นดังเพื่อน            เหล้าป่าเท่าวิสกี้

หลี๋ไป๋เมามีสาม                   เทพสุราพล่ามทุกที่

เมาซ่านทุกดีกรี                   กว่าหลี๋ไป๋เมาทุกคืน

จันทราส่องสว่าง                  รักลาร้างอันขมขื่น

เดินเป๋ยิ้มระรื่น                    เมาเย้ยจันทร์กระต่ายหมาย

วิสัชนานะ                          ยูโรกำลังจะฉาย

ยกจอกลาสหาย                   ตื่นตอนสายค่อยพ้อกันฯ

 

ขอน้อมคารวะจากใจ

ทรชนบ้านนอก



ผู้ตั้งกระทู้ ทรชนบ้านนอก :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-20 01:33:45


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2281310)

น้ำไหล ใช้ไม้มลาย

หลงใหล ใช้ไม้ม้วน ครับ

 

 

 

(สิบอกให่ อิอิ) 

ผู้แสดงความคิดเห็น ราศีพิจิก วันที่ตอบ 2012-06-20 11:41:30


ความคิดเห็นที่ 2 (2281345)

ขอคารวะครับท่านครู ราศิพิจิก

ข้าผู้น้อยท่อง

"ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อมิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัวหูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยงยี่สิบม้วนจำจงดี"

 

แต่ไม่มีคำว่า ใหลหลง นะขอรับ

พอข้าพเจ้าพิมพ์ผ่านโปรแกรม WORD

ระบบจะขีดเส้นสีแดงซึ่งหมายถึงว่าพิมพ์ผิดนะขอรับ

ข้าผู้น้อยก็เลยงงๆ ลองถามเทพเจ้ากุ๊กกู๋ ก็จะเห็นพิมพ์

เป็นไหลหลงนะขอรับท่านครู

 

ขอน้อมคารวะจากใจ

"ทรชนบ้านนอก"

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทรชนบ้านนอก วันที่ตอบ 2012-06-20 14:42:16


ความคิดเห็นที่ 3 (2281396)

 ท่านราศีพิจิกไม่ผิดหรอก

ขอถามท่านทรชนฯ ก่อน คำว่าไหลหลง ของท่านมาจากที่ใด ใช่เป็นการกลับคำจากคำว่า หลงใหล หรือไม่ มีความหมายเดียวกันรึเปล่า ถ้าใช่มันก็ควรเป็นไม้ม้วน ถูกแล้ว แต่สาเหตุที่ท่านไปเซิร์ซในไมโครซอร์ฟเวิร์ดไม่เจอ เนื่องจากคำว่า ใหลหลง(ที่ควรเป็น)เป็นการกลับคำตามภาษาบทกวี ซึ่งในพจนานุกรมมันไม่มี มันจึงแยกคำว่า "ไหล" คำนึง กับ "หลง" อีกคำนึง มันก็เลยขึ้นตัวแดงฟ้องว่า "ใหลหลง" นั้นมันเขียนผิด

แต่ที่เห็นในบทกวีที่ท่านเขียนนั้น  แฝงย้ำเตือนให้ไหลหลง

"ไหล" ในที่นี้ ถ้าแปลตามตรงตัวแล้วมันให้ความหมายที่ประหลาดมาก เพราะคำว่า "ไหล" ที่เป็นไม้มลาย เค้าใช้กับการเคลื่อนตัวของๆเหลว(ส่วนใหญ่จะหมายถึงน้ำ)

 

ดังนั้นผมขอฟันธงตามท่าน ราศีพิจิก แหละครับ ว่ามันต้องใช้ไม้ม้วน ส่วนท่านอื่นว่ายังไง ก็อยากจะฟังความเห็นเหมือนกันครับ ^^

ผู้แสดงความคิดเห็น กระบี่ใบไม้ วันที่ตอบ 2012-06-20 18:55:41


ความคิดเห็นที่ 4 (2281444)

เคยใช้คำสลับที่แบบนี้เพราะอยากใช้ในสมัย ๆ แรกที่หัดเขียนกลอน

เมื่อส่งให้ครูอ่านก่อนนำไปเผยแพร่ ครูสอนแบบถามนิ่ม ๆ ว่า ถ้าใช้แบบที่พจนานุกรมใช้ ยังได้ใจความแบบที่ต้องการสื่อหรือไม่

มาทบทวนใหม่ ใช้แบบไม่สลับที่ ยังได้ใจความและไพเราะ มั่นใจได้ว่าถูกต้องตามพจนานุกรม

จึงจดจำเรื่องที่ครูสอนไว้นี้ ถือเป็นหลักในการใช้คำมาตลอด

คุยเรื่องนี้แล้วก็คิดถึงครูมาก

ระลึกถึงความเมตตาและพระคุณเสมอ

 

 

 

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ภูสุภา(ศิษย์มีครู) วันที่ตอบ 2012-06-21 06:10:36


ความคิดเห็นที่ 5 (2281571)

คุณทรชนบ้านนอกครับ ผมต้องขออภัยนะครับที่ชี้แจงสั้น ๆ เพราะนึกว่าเข้าใจแล้ว แต่จากที่อ่านดูคำอธิบายของคุณแล้ว เห็นว่าคุณไม่เข้าใจแม้แต่ตัวเอง คุณไม่เข้าใจว่าคุณใช้ "ไหลหลง" เพราะอะไร? แถมอาจคิดได้ด้วยว่าคุณไม่รู้ว่า "ไหลหลง" มีความหมายอย่างไร



คุณท่องยี่สิบม้วนจำจงดีได้ คุณใช้โปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์ได้ คุณค้นกุเกิ้ลได้ แต่คุณกลับไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำได้

ผมลองคิดแบบทื่อ ๆ เอา คุณเอาคำว่า "ไหล" กับคำว่า "หลง" มาสร้างคำใหม่

"ไหล" ถึง ๔ ความหมาย คือ ชื่อปลา (ปลาไหล) ๑ ส่วนของพืช (หางไหล) ๑ ชื่อโลหะ (เหล็กไหล) ๑ และ กริยาการเคลื่อนที่ไปของของเหลว (น้ำไหล) ๑

"หลง" เป็นกริยา มี ความหมายคือ สําคัญผิด ๑ มัวเมา ๑ พลัดที่ ๑ หาทางออกไม่ได้ ๑ ตกค้างอยู่ ๑ มีความจำเลอะเลือน ๑ และเป็นการเรียกเสียงที่แผดดังผิดปรกติในดนตรี ๑

ดังนั้นจึงต้องเป็นอาการ "ไหล" ที่มี "หลง" เป็นคำขยาย

แต่บริบทการใช้ "เหล้าแพงกับเหล้าเถื่อน แฝงย้ำเตือนให้ไหลหลง เงินมีก็ยังคง กินเหล้าแพงลืมเหล้าเถื่อน"

มิได้เกี่ยวกับคำว่า "ไหล" เลย แต่เกี่ยวกับคำว่า "หลง" แน่ จึงเข้าใจว่า คุณหมายถึง "หลงใหล" แล้วสลับคำเป็น "ใหลหลง" แล้วสะกดเป็น "ไหลหลง" อย่างที่ใช้กันผิด ๆ ในเน็ต

จึงไม่น่าใช่การสร้างคำใหม่จากคำว่า "ไหล" + "หลง"

ผมจึงยกให้รู้แค่ว่าที่ถูกต้องคือ "หลงใหล" เพราะคำที่จะใช้ ณ จุดนั้นในกลอนคือ "หลง" ไม่ใช่ "ไหล"

ทีนี้พออ่านคำให้การ เอ๊ย คำชี้แจงของคุณแล้ว กลับเห็นจุดบกพร่องเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

๑. คุณไม่เข้าใจคำว่า "ไหลหลง" ดังนั้นจึงผิดหลักการแต่งกลอน ผู้แต่งต้องเข้าใจคำที่ตนเองใช้อย่างดี ต้องเป็นายของคำ ไม่ใช่ให้คำพาไป

๒. คุณท่องยี่สิบม้วนได้ แต่คุณกลับไม่รู้จักนำมาใช้ ให้ถูกต้อง ผิดหลักการอ่านกลอน กลอนที่ท่องได้ต้องเข้าใจทุกคำ และความหมายตลอดถึงการตีความถึงจะใช้ได้

๓. คุณเชื่อการสะกดคำของเวิร์ด ทั้งที่เวิร์ดไม่ใช่พจนานุกรม ซึ่งย่อมไม่มีคลังคำมากเท่าพจนานุกรม และหากคุณเผลอไปกด add บางคำที่สะกดผิด มันจะรับคำผิด ๆ เข้าไปในพจนานุกรมภายในตัวของมันด้วย คุณเชื่อคำในกุเกิ้ล ทั้งที่กุเกิ้ลไม่ใช่พจนานุกรม และคนสะกดผิดกันเป็นล้าน ๆ คำ มันก็กลายเป็น top searched นั่นคือคุณใช้แหล่งที่มาของคำผิดที่ เพราะพจนานุกรมควรเป็นเอกสารแรก ๆ ที่อ้างอิง จากนั้นค่อยเป็นวรรณกรรมเก่า ที่เคยมีใช้มาและปราชญ์รับรองว่าถูกต้อง 


การสลับคำสำหรับนักกลอนมือใหม่ (บางทีก็มีเก่าทำซึม) ไม่ใช่เรื่องน่าส่งเสริม เพราะผิดหลัก และความหมายเพี้ยนในบางที ทั้งที่สองคำมีความหมายเหมือนกัน แต่หากจับสลับตำแหน่งกันกลับผิดไปมากโข เช่น

หนทาง - ทางหน (ทางหน ผมนึกถึงถนนที่หมุนได้)
หุนหัน -หันหุน (หันหุน ผมนึกถึงการหันไปหนึ่งหุนหรือ 1/2นิ้ว)
สวยงาม - งามสวย (งามสวย ผมนึกถึงงามตอนแดดแก่ๆ)
แน่นหนา - หนาแน่น (ลงกลอนแน่นหนา, ผู้คนชุมนุมอย่างหนาแน่น)

หลงใหล - ใหลหลง (ใหลหลง ไม่มีความหมาย)

ฯลฯ

หลายคำอาจใช้ได้ เช่น เกี่ยวข้อง - ข้องเกี่ยว, ขมขื่น - ขื่นขม ทั้งนี้ต้องดูเป็นคำ ๆ ไป ดังนั้นจึงไม่แนะนำสำหรับมือใหม่ ส่วนมือเก๋านั้นเขารู้ดีว่ากำลังทำอะไร เป็นความสามารถเฉพาะตน ไม่ควรเลียนแบบ

หากคุณตอบมาว่าเหล้าไหลหลงทางไปลงกระเป๋าเจ๊ก ผมก็คงไม่แย้งมา เพราะคุณเล่นคำอย่างมือเก๋า

(นะสิบอกใหม่ อิอิ) 

ผู้แสดงความคิดเห็น ราศีพิจิก วันที่ตอบ 2012-06-21 16:48:13


ความคิดเห็นที่ 6 (2281580)

 โอ้โห ระดับท่านอาจารย์จัดเต็มเลย จริงอย่างที่ท่าน ภูสุภา และท่านราศีพิจิกว่า นั่นแหละครับ ปกติการกลับคำแม้ไม่ใช่ข้อกำหนดห้ามอะไร แต่บรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายมักจะไม่ส่งเสริมให้ทำ อาจจะด้วยเหตุผลดังนี้

          1.สื่อความหมายผิด 

          2.สร้างความเคยชินที่ไม่ดีในการใช้คำ เพราะกวีที่ดี คือนายของภาษา การเลือกถ้อยคำที่เหมาะสมมาใช้ก็เป็นหน้าที่ของกวีเช่นกัน แต่ถ้ากวีท่านนั้นเลือกการกลับคำให้ได้สัมผัสที่ตัวเองต้องการโดยไม่พยายามหาคำอื่นที่เหมาะสมกว่ามาใช้ กวีท่านนั้นก็จะกลายเป็นคนที่ขาดความพยายาม และกลายเป็นคนที่ขาดที่ขาดการพัฒนาไปในที่สุด

 

สำหรับผมแล้ว ถ้าการกลับคำนั้นถ้าไม่ทำให้บริบทในถ้อยความที่จะสื่อนั้นเสียหายและผู้อ่านสามารถอ่านแล้วเข้าใจตรงกันได้โดยตลอด ผมก็คิดว่าไม่น่าจะเสียหายอะไรมาก(แนวคิดที่ผมยึดถือมาโดยตลอดคือภาษาควรมีการเติบโตและคลี่คลายได้) แต่ถึงอย่างนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผมเองก็ไม่สนับสนุนให้กลับคำเช่นกัน(ยกเว้นคำที่กลับและใช้ได้ทั่วไปตามที่ อ.ราศีพิจิกยกมา)

 

สรุปแล้วก็คือท่านทรชนฯ ต้องเพิ่มการพัฒนาความละเอียดในการเลือกใช้ถ้อยคำเพิ่มขึ้นนะครับ เพราะบทกวีมีจำนวนถ้อยคำน้อย จึงสามารถมองเห็นได้ง่าย และการใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องจะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ทั้งตัวผู้ประพันธ์และงานที่ประพันธ์ด้วย

 

ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

 

 

 

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น กระบี่ใบไม้ วันที่ตอบ 2012-06-21 18:25:11


ความคิดเห็นที่ 7 (2281606)

ขอร่วมเป็นกำลังใจในคุณทรชนนะครับ  โดยส่วนตัวผมเองก็เพิ่งเริ่มเขียนกลอนจริงจังมาเมื่อไม่ถึงสองปีนี้  มักใช้คำผิด ๆ ถูก ๆ เสมอ ดังที่ปรากฏใน นางสงกรานต์ปีมะโรง และยังมีบทอื่น ๆ อีกหลายบท เพราะบางครั้งปล่อยให้อารมณ์พาไป โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องทางภาษานัก  ผมเชื่อว่าการเรียนรู้จากความผิดพลาดคือสิ่งที่เป็นธรรมดาสำหรับผู้มีความพยายามปรับปรุงตนเอง เพราะไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด  แต่เมื่อมีผู้รู้ชี้ช่องให้ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่สามารถเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น ต้องขอขอบพระคุณ คุณราศีพิจิกและท่านอื่น ๆ  สำหรับความรู้อันเป็นเหมือนดังเข็มทิศให้เหล่ากวีมือใหม่อย่างผมและผู้ร่วมทางทุกคนได้เดินตามได้ถูกต้อง     มีคำคมชวนให้คิดว่า  ความเร็วและทิศทางต้องสัมพันธ์กัน จึงสามารถไปสู่เป้าหมายได้โดยไม่เสียเวลาหลงทาง

ป.ล.  ยังรอผลงานของคุณอยู่นะครับ 

จากปุณณมี  มิตรทรชน คนบ้านนอก

ผู้แสดงความคิดเห็น ปุณณมี วันที่ตอบ 2012-06-21 20:02:44


ความคิดเห็นที่ 8 (2281737)

 ขอคารวะทุกท่านครู

 

ขอบพระคุณทุกท่านครูที่ให้คำชี้แนะ และหายไปหลายวัน ไม่ได้เข้ามาชี้แจงในกระทู้ต่อ ก่อนอื่นต้องขอตอบคำถามท่านกระบี่ใบไม้ก่อนนะครับว่า ไหลหลง  ผมเอามาจาก บทกลอนเปล่า  ร่องรอยใจที่ไหลหลง  ของท่านอาจารย์สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา จากนิตยสารธรรมะออนไลน์ รายปักษ์  ขอคัดย่อมาบางส่วน

“ตามร่องรอยใจที่ไหลหลงไปเรื่อยๆ
ใจก็จะตื่นขึ้น ๆ เบิกบานขึ้น ๆ
จนทิ้งความเจ็บปวดความเศร้าออกไป
เหลือเพียงความทรงจำที่ไม่อาจทำร้ายใจได้อีก

       ผู้น้อยขอชี้ท่านครูราศีพิจิกดังนี้

              1 .เจตนาแรกในบทกวีนี้ ผมต้องการให้มีความหมายว่า หลงใหล จริงขอรับ แต่ว่าสัมผัสไม่ลงต่อบทกลอน จึงสลับคำ แต่พอสลับคำ ใหลหลง เป็นคำที่ไม่มีความหมายและในเวิร์ดนั้นจะเป็นคำที่ผิด ผู้น้อยเลยลองหาคำว่า “ไหลหลง” ในกูเกิ้ล ก็มีคำอธิบายการใช้คำว่า “ไหล” นี้อยู่และการใช้คำนี้ และทดลองค้นหาไปเรื่อยเพื่อที่จะดูว่ามีท่านอาจารย์ใดใช้คำว่า “ไหลหลง” บ้างและก็ได้อ่านกลอนเปล่าของท่านอาจารย์ สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา นะขอรับ ดังนั้น

                   2. เหล้า เมรัย เบียร์ ซึ่งเป็นของเหลว “ไหลหลง” จึงน่าจะเป็นคำที่ให้ความหมายดีมากกว่า “ใหลหลง”

"เหล้าแพงกับเหล้าเถื่อน แฝงย้ำเตือนให้ไหลหลง

 เงินมีก็ยังคง    กินเหล้าแพงลืมเหล้าเถื่อน"

                   ซึ่งในความหมายของบทนี้ก็คงมีความหมายในตัวเองเหมือนที่ท่านครูราศีพิจิก ว่าไม่เหล้าดีเหล้าเถื่อน ถ้าลุ่มหลงหลงใหล กับสิ่งนี้ ยังไงต้องหมดเงินอยู่ดี และไหลเทเข้ากระเป๋าเจ๊ก อย่างท่านว่านะขอรับ

 คริ คริ คริ

 ขอน้อมคารวะจากใจ

“ทรชนบ้านนอก”

 
ผู้แสดงความคิดเห็น ทรชนบ้านนอก วันที่ตอบ 2012-06-22 13:50:14



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.