ReadyPlanet.com


เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์


เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์




มีข่าวว่ารัฐบาลกำลังเตรียมเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมสิ่งที่เรียกกันว่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรืออุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์

ประเทศไทยจะมีศักยภาพด้านนี้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ตามตัวเลขของคณะกรรมาธิการการค้าและการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNCTAD) ในปี 2548 ประเทศไทยส่งออกสินค้าและบริการที่จัดว่าเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นที่ 17 ของโลก มีมูลค่า 4,323 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าเม็กซิโก, โปแลนด์และเดนมาร์ก และสูงกว่าอาเซียนทุกประเทศซึ่งไม่ติด 20 อันดับแรกเลย

อย่างไรก็ตาม คำนิยามว่าอะไรคือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์นั้นอาจไม่ตรงกันทีเดียวนัก คำนิยามของ UNCTAD นั้นง่ายตรงไปตรงมา เพราะต้องการใช้ในการวัด ฉะนั้น UNCTAD จึงจัดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ไว้เป็นสี่กลุ่มใหญ่ ได้แก่ การแสดงออกซึ่งมรดกทางวัฒนธรรม, ศิลปะ, สื่อ และการสร้างสรรค์ที่เอาไปใช้งาน (เช่น สถาปัตยกรรม, การโฆษณา ฯลฯ) ดูเหมือนรัฐบาลไทยก็ใช้นิยามของ UNCTAD เป็นเกณฑ์

คำนิยามนี้จะว่าผิดก็ไม่เชิงทีเดียว แต่มีข้อบกพร่องที่แคบเกินไป จนกระทั่งทำให้การสร้างสรรค์ใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมดูไม่ใช่การสร้างสรรค์ แท้จริงแล้ว คนที่คิดแปลงเครื่องท้ายเรือให้มีหางยาว เพื่อเหมาะแก่การเดินทางบนทางน้ำที่มีสวะและผักตบลอยเต็ม รวมทั้งอาจตื้นเขินเป็นบางแห่ง ได้สะดวก ก็เป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง และก่อให้เกิดทั้งสินค้า, บริการและการจ้างงานตามมาอีกมากมาย นี่ก็เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่นเดียวกับสามล้อและตุ๊กๆ

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งออก (มากนัก) จึงไม่มีตัวเลขให้ UNCTAD นำไปคำนวณเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้เท่านั้น

ข้อบกพร่องที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของนิยามแบบนี้ก็คือ การสร้างสรรค์แบบ UNCTAD ไม่มีฐานทางสังคมมากนัก เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลทางศิลปะ ที่จะสร้างสรรค์ (หรือใช้การสร้างสรรค์) มาพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการ และด้วยเหตุดังนั้นรัฐบาลที่อยากสร้างสรรค์เศรษฐกิจแบบนี้ จึงมุ่งส่งเสริมปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะที่มีแววหรือมีกำลัง จะสร้างสรรค์หรือใช้การสร้างสรรค์มาผลิตสินค้าและบริการ คนอื่นๆ ในสังคมก็เป็นได้เพียงผู้บริโภคเท่านั้น

เช่น เอาเงินมาแจกนักสร้างภาพยนตร์ที่รัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถส่งออกได้ คนอื่นก็ได้แต่นั่งรอดูหนังเรื่องนั้น

นิยามเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของจอห์น เฮากินส์ (John Howkins) คุรุคนสำคัญคนหนึ่งที่สร้างแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาอธิบายการผลิตของโลกยุคใหม่ มีความหมายกว้างกว่านั้นและส่อไปถึงการสร้างฐานทางสังคมให้แก่การสร้างสรรค์ด้วย

เขาบอกว่าการสร้างสรรค์ทางศิลปะหรือด้านอื่นใดทั้งสิ้น ย่อมต้องใช้สติปัญญาเหมือนกัน และทั้งหมดนี้ "ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลในการฝัน, ในการคิดสะเปะสะปะ, ในการคิด, ในการท้าทาย, ในการเถียง, และในการสร้างสิ่งใหม่ขึ้น การสร้างสรรค์ก่อให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นฐานให้แก่วัฒนธรรม แท้จริงแล้ว ที่ไหนซึ่งไม่มีความหลากหลาย ที่นั่นย่อมไม่มีวัฒนธรรม"

ฉะนั้น แม้ว่าการสร้างสรรค์เป็นเรื่องของปัจเจก แต่ปัจเจกไม่ได้ลอยอยู่บนฟ้า ต้องยืนอยู่บนสังคมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ด้วย ไม่ใช่เอื้อแต่ตอนปลาย คือเมื่อสร้างสรรค์แล้ว ก็มีคนซื้อต่อไปทำสินค้า-บริการขายเอากำไร แต่ต้องเอื้อมาแต่ต้นคือ มีบรรยากาศที่ทำให้คนกล้าฝัน, กล้าคิดสะเปะสะปะ, กล้าคิดเอง, กล้าท้าทาย, กล้าเถียง กล้าแตกต่าง

ฐานของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นสังคมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ควรมองแคบๆ แต่เพียงการสร้างตลาดให้แก่สินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์เท่านั้น มิฉะนั้นแล้วเงินสองหมื่นล้านบาทจะถูกละลายไปกับการอุดหนุนบุคคลต่างๆ ที่มีกำลังจะเข้าถึงงบประมาณ ในขณะที่สังคมไทยก็ยังเซื่องๆ ต่อไป ไม่กล้าคิดสร้างสรรค์อะไรมากไปกว่าที่รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

(ซ้ำสิ่งที่ถือว่าเป็นมรดกของบรรพบุรุษยังถูกนิยามไว้แคบมากเสียอีก)

สรุปให้เป็นรูปธรรมกว่านั้นก็คือ เราจะใช้เงิน 20,000 ล้านบาทอย่างไร? เราควรลงทุน (ทั้งเงินและอื่นๆ ซึ่งยากกว่า) เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าลงทุนไปกับบุคคลที่อ้างว่าสามารถผลิตสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ได้

ยกตัวอย่างจากวิธีนิยามของ UNCTAD ได้ดังนี้

ในกลุ่มเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม อย่าคิดถึงแต่ภูมิปัญญาในการสานกระบุงตะกร้าเพียงอย่างเดียว ต้องคิดต่อไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการหาวัสดุ, เวลาของผู้ผลิตซึ่งหมายถึงผลผลิตที่ต้องมีตลาดรับซื้อในราคาที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิต, รวมทั้งต้องคิดถึงใจของผู้ผลิต ที่ไม่โดนหนี้ลนก้นพอที่จะคิดลวดลายแปลกใหม่จากของเดิมได้ด้วยเป็นต้น

ห้องสมุดที่เก็บเอกสารเก่า, พิพิธภัณฑ์, นิทรรศการ ต้องไม่คิดถึงการทำเงินเพียงด้านเดียว แต่จุดมุ่งหมายสำคัญก็คือให้การเรียนรู้แก่คนไทย ส่วนเรียนรู้แล้วจะเกิดการสร้างสรรค์ต่อไปอย่างไรก็อย่าห่วง เพราะวิถีแห่งการสร้างสรรค์ของแต่ละคนนั้นสลับซับซ้อนเกินกว่าใครจะวางแผนล่วงหน้าให้คนอื่นได้

สนับสนุนการสร้างสรรค์ทางศิลปะนั้น ต้องรวมถึงสนับสนุนการคิดอย่างอิสระด้วย การตั้งคำถามกับ "วัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีของไทย" เป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ในการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะอยู่ในจิตรกรรม, แฟชั่น, นวนิยาย, ละคร หรืออื่นใดก็ตามที อย่าลืมสิ่งที่เฮากินส์พูด วัฒนธรรมคือความหลากหลาย ไม่มีความหลากหลายก็ไม่มีวัฒนธรรม

ในกลุ่มสื่อของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การลงทุนหลักจากเงิน 20,000 ล้านบาท คือทำให้คนไทยได้มีโอกาสอ่านหนังสือ, มีรสนิยมการดูหนัง, ละครทีวี, การแสดง, การขับร้อง, ดนตรีที่หลากหลายมากขึ้น, ฯลฯ

ไล่ลงไปถึงระบบการศึกษาของเราเอง สนับสนุนให้คนคิดต่างทำต่างหรือไม่ หรือตรงกันข้าม คือพยายามกล่อมเกลาให้คนคิดและทำให้เหมือนกัน ภายใต้การควบคุมและกำกับของผู้มีอำนาจ

สรุปง่ายๆ ก็คือคิดอะไรในเชิงสถาบันให้มากกว่าเชิงบุคคล อย่าห่วงว่าจะได้ผลตอบแทนจากเงิน 20,000 ล้านบาทคืนมาจากตัวเลขการส่งออกซึ่งสินค้าและบริการอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์เป็นเงินเท่าไร

ถ้าไม่หลอกกันแล้ว ไม่มีใครคำนวณได้ถูกหรอก เพราะไม่มีใครรู้ว่า การสร้างสรรค์ที่อยู่เบื้องหลังสินค้าและบริการนั้นๆ มาจากไหน ที่มั่นใจได้ก็มีอยู่ทางเดียวคือทำให้สังคมไทยเป็นสังคมเชิงสร้างสรรค์ การคิดสิ่งใหม่ การทำสิ่งใหม่ การคิดต่างทำต่าง ถึงไม่ได้รับผลตอบแทนทันที ก็ไม่ถูกลงโทษ แต่กลับได้รับแรงจูงใจเพิ่มขึ้นให้ทำต่อไป

การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนามีความสำคัญแก่ทุกคน แม้แต่ซาเล้งเก็บของเก่า ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาได้รับการส่งเสริมให้ทำ R&D หรือไม่ และเมื่อสนใจจะทำแล้วได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสังคมมากน้อยเพียงไร

หน้า 6 วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11524 มติชนรายวัน




ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-05 22:56:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1991775)

เราไม่เคยได้มีโอกาสเข้าห้องสมุดเลยเป็นเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งมี TK Park  มาเปิดที่ศูนย์การค้าที่ไปบ่อยๆ จนตอนนี้ได้อ่านหนังสืออีกหลายเล่มมาก เพราะยืมกลับมาอ่านที่บ้านได้ครั้งละสี่เล่มเป็นเวลาสองสัปดาห์

ร้านหนังสือมีทั่วไปที่ไหนก็มี ไปนั่งอ่านที่นั่นไม่สบาย ยืมกลับไม่ได้ต้องซื้อกลับเสียเงิน

หอสมุดแห่งชาติมีหนังสือมากมายกว่าที่ไหนๆ นั่งอ่านสบาย แต่ไปไม่ถูก ไกลมาก

ข้อแตกต่างเล็กๆน้อยๆ ข้อดีข้อด้อยของแต่ละแห่งแต่ละวิธีการ ไม่ต้องพูดว่า ทำไมไม่ไปที่นั่นล่ะ ทำไมไม่อ่านที่นี่ล่ะ ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้  ปัจจัยเหล่านี้ต้องสรุปให้ได้ว่า แล้วในที่สุดได้อ่านหรือเปล่า เท่านั้นเอง

ถ้าในที่สุดคนจำนวนมากก็ได้อ่าน และได้ประโยชน์ แปลว่า การลงทุนนั้นคุ้มค่า  ไม่ว่าลงทุนแพงเท่าไหร่ ก็คุ้มค่าเงินภาษี ขอบคุณ TK Park

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เสือสิงห์กระทิงแรด วันที่ตอบ 2009-10-06 00:00:14


ความคิดเห็นที่ 2 (2107528)

replica louis vuitton travel handbags louis vuitton still cost in the thousands of louis vuitton dark gold are the best to match louis vuitton travel bags replica louis vuitton wallets for men.

ผู้แสดงความคิดเห็น jonathan (june-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:02:48



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.