ReadyPlanet.com


โคลงอธิบาย(จินดามณี)..


ไม่รู้ว่าจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่านะครับถ้าจะหยิบยกมาฝากกันมีโคลงอธิบายที่รวบรวมไว้ในหนังสือจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศได้แจกแจงวิธีเขียนโคลงไว้อย่างน่าสนใจจึงขอหยิบยกมาฝากไว้ ณ ที่นี้ให้เป็นที่รู้สำหรับการเขียนโคลง

โคลงอธิบาย

 ให้ปลายบทเอกนั้น            มาฟัด

ที่ห้าบทสองวัจน์                                  ชอบพร้อง

บทสามดุจเดียวทัด                               ในที่   เบญจนา

ปลายแห่งบทสองต้อง                        ที่ห้าบทหลัง ฯ

                                 ที่พินทุ์โทนั้นอย่า               พึงพินทุ์   เอกนา

บชอบอย่าควรถวิล                              ใส่ไว้

ที่พินทุ์เอกอย่าจิน                                ดาใส่   โทนา

แม้วบมีไม้                                              เอกไม้โทควร ฯ

                                 บทเอกใส่สร้อยได้              โดยมี  ........

แม้วจะใส่บทตรี                                   ย่อมได้

จัตวานพวาที                                         ในที่  นั้นนา

โทที่ถัดมาไซร้                                      เจ็ดถ้วนคำคง ฯ

                                 บทต้นทั้งสี่นั้น                    โดยใจ

แม้จะพินทุ์ใดใด                                  ย่อมได้

สี่ห้าที่ภายใน                                        บทแรก

แม้นมาทจักมีไม้                                   เอกไม้โทควร ฯ

                                 ลิขิตวิจิตรสร้อย                   สารสรร

คือวุตโตไทยฉันท์                                บอกแจ้ง

สถิตธนิตพันธ์                                      โคลงกาพย์

จบสำเร็จเสร็จแกล้ง                            กล่าวไว้พึงเรียน ฯ

                                 บทใดสอนโลกไว้               เปนฉบับ

อรรถแห่งครูอันลับ                             บอกแจ้ง

บกลัวบเกรงกลับ                              ปรมาท   ครูนา

ตกนรกไปแย้ง                                      ต่อด้วยยมบาล ฯ

ให้สังเกตที่ทำตัวเอนสีน้ำเงินและตีความในบทนั้นถี่ถ้วนจะเห็นว่าเหมือนผู้เขียนจะตั้งใจแสดงตัวอย่างประกอบโคลงอธิบาย

ตำแหน่งเอกโทนั้น ผิวผู้ใดจะทำโคลงให้ดูกระบวนดั่งนี้ ซึ่งผมจะขอยกเอาบทที่ผูกเป็นคาถาไว้มาเป็นตัวอย่าง

                                นวภาโว      ทสภาโว

    สิบเก้าเสาวภาพแก้ว       กรองสนธิ์

                                จตุตฺถิ      จนฺทุมณฺฑโล

จัทรมณฑลกล                      สี่ถ้วน

                                สุริโย     สตฺตกญฺเจว

สุริยเสด็จดล                          เจ็ดแห่ง

                                ทฺวาติงฺสผลโท     ภเวยฺย

แสดงว่าพระโคลงล้วน      เศษสร้อยมีสอง ฯ

สรุปก็คือเอกเจ็ดโทสี่นั่นเองครับส่วนตัวอย่างการลงเอกโทนั้นมีโคลงอมตะจากลิลิตพระลอที่นิยมยกตัวอย่างหรือบางคน(อย่างผม)ก็ท่องเอาเป็นสูตรสำเร็จเมื่อนึกจะเขียนโคลงดังนี้ครับ

                                 เสียงฦาเสียงเล่าอ้าง           อันใด   พี่เอย

เสียงย่อมยอยศใคร                              ทั่วหล้า

สองเขือพี่หลับใหล                             ลืมตื่น

สองพี่คิดเองอ้า                                    อย่าได้ถามเผือ ฯ

โคลงที่ยกมาข้างบนนั้นผมคัดมาจากที่รวบรวมในจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ แต่งโดยพระโหราธิบดีครั้งแผ่นดินพระเจ้านารายมหาราชจะเห็นว่าเป็นโคลงที่เขียนขึ้นในยุคเก่านั้นจะละในส่วนที่เป็นสัมผัสนอกโดยสิ้นเชิง

เอาละครับใหน ๆ ก็หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังแล้วจะไม่พูดถึงสัมผัสนอกก็กระไรอยู่ โดยมากโคลงในสมัยหลัง(รัตนโกสินทร์)จะมีการคล้องสัมผัสนอก ลองดูตัวอย่างนะครับ

 ศรุติ์สยามยศยิ่งด้าว             แดนนครินทร์  ใดเทียม

เพียงพ่างเอกอมรินทร์                        สฤษฏิ์สร้าง

ไตรรัตน์รุ่งมณีนิล                               นาทหนึ่ง พุทธภูมิ

รัตน์เลื่อมปราสาทกว้าง                      กว่าหล้าแลสรวง ฯ

 ปวงราษฎร์สุขสร่างพ้น     ภัยพาล  

ราชเกริกเกียรติภูบาล                          แผ่หล้า

เฉกฉัตรแผ่จรุงจาร                              แดนถิ่น

จึงรัฐจำรัสกล้า                                     ก่องหล้ามไหศวรรย์ ฯ

 

 สรรค์สุโขทัยดั่งแก้ว           มณีจิน ดาเฮย

ชนชื่นอยุธยายิน                            พร่างแพร้ว

สืบศกแห่งธนบุรินทร์                        ธ โปรด บูรณา

สู่รัตนโกสินท์แก้ว                               สว่างกล้าเรืองจรัล ฯ

ง่าย ๆ ก็คือคำท้ายของบทมาคล้องกับคำที่ หนึ่ง สอง หรือสามของบทต่อไปครับ

อันนี้เป็นงานที่ผมเขียนไว้เมื่อปีที่แล้วครับ(แหะ ๆ ใหน ๆ ก็หยิบยกมาซะยืดยาวจะไม่แสดงฝีไม้ลายมืออันอ่อนซ้อมก็กระไรอยู่)ดูดี ๆ จะมีสัมผัสซ้ำที่บทแรกก็ขออย่าได้เอาเป็นตัวอย่างนะครับอันนี้ผมอยากคงไว้เพื่อรสคำ จะได้อยู่ในระดับเดียวกัน-แต่ในทางตรงข้ามอาจมองว่าจนคำ ก็ได้นะครับ(ผู้ใดมีคำแนะนำโปรดชี้แนะด้วยครับ)

                แถมอีกหนึ่งสำหรับผู้รักจะฝึกฝนจนถึงขั้นเทพด้วยกลเม็ดเด็ดพรายร้อยแปดพันเก้า ไม่ว่าจะเป็น เสือซ่อนเล็บ, พันธวิสติการกระทู้, ชลาสังวาล, ทวารประดับ, ตรีเพชรทัณฑี, จัตวาทัณฑี, นาคพันธ์ ฯลฯ

ฝากไว้ให้อ่านเล่น ๆ อีกบทก่อนจากอันนี้ชื่อ พันธวิสติการกระทู้ ๒๐ ครับ

                                พี่  พบ รัก  ชู้      ช่าง              วิงวอน

                เยาว  สวาดิ   ครวญ คนึง นอน            แนบน้อง

                เจ้า     คลาศ  ป่วน    ถึง    สมร              เสมอหนึ่ง  เรียมนา

                หลบ  ภักตร์  อยู่      นาง  ข้อง              คึ่งแค้นฤาไฉน ฯ

ลองดูดี ๆ นะครับ - -           พี่ à เยาวà เจ้าà หลบ

                                                พบàสวาดิà คลาศà ภักตร์

                                                รักàครวญà ป่วนà อยู่

                                                ชู้ àคนึงà ถึงà นาง

                                                ช่างà นอนà สมรà ข้อง

                                                วิงวอนà แนบน้องà เสมอหนึ่งà คึ่งแค้นฤาไฉน

คิดได้ไง.......

ครับผู้ใดจะคิดเขียนโคลงประกวดแล้วก็ลอง ๆ ดูนะขอรับ สำหรับร้อยกรองออนไลน์ปีนี้ข้าน้อยก็ว่าจะลองงม ๆ ซาว ๆ กับเขาเหมือนกัน แล้วจะรออ่านร้อยกรองดี ๆ จากท่านขอรับ.

                                                                                                                              สมศักดิ์      บรรลุ

    บันทึก ๐๕ มิถุนายน ๒๕๕๑

๒๒.๓๔ น.

 



ผู้ตั้งกระทู้ นายโต่น :: วันที่ลงประกาศ 2008-06-06 07:04:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1766014)

เรียน  ท่านนายโต่น

 ผมมีความรู้สึกว่าท่านเป็นต้นกล้าของวงการนักปราชญ์  ทางวรรณคดี หรืองทางวรรณศิลป์   และทางกวี เช่น จินตกวี/สุตกวี/อรรถกวี/ปฏิภาณกวี  ในยุคปัจจุบัน และ/หรือ ในอนาคตอย่างแน่นอนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เสือไร้ลาย วันที่ตอบ 2008-06-06 08:41:06


ความคิดเห็นที่ 2 (1768497)

อย่ากระนั้นเลยท่านเสือไร้ลายข้าเพียงแต่แบ่งปันสิ่งที่ได้อ่านได้เจอมาเผื่อเป็นประโยชน์แก่ผองมิตร และด้วยความหวังว่าจะได้อ่านบทกวีดี ๆจากมวลมิตรขอรับ

ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น นายโต่น วันที่ตอบ 2008-06-09 15:21:09


ความคิดเห็นที่ 3 (1768807)

ดีครับ มีประโยชน์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ชอบมากเลย

ผู้แสดงความคิดเห็น นายโต วันที่ตอบ 2008-06-09 22:08:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.