ReadyPlanet.com


โคลงกระทู้ อีโรติก อีกสักหน


โคลงกระทู้ อีโรติก

อี.....โก้เกิดก่อเก้าะ             ด้วยอิฐ
โร....จนาการตฤษณ์           ดับได้
ติ......สรณติกิจ-                 ฉาเกลศ
.......รณาธิปให้                ตื่นรู้ธรรมเสมอ


อภิธานศัพท์

เก้าะ อ่านว่า ก็

อิฐ (Id หรือ libido) หมายถึง กิเลส ตัณหา และความโลภ ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

อีโก้ (Ego) หมายถึง การสนองความต้องการของ อิฐ

ติสรณติกิจฉาเกลศ=ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) หมายถึง ศีลธรรมจรรยา และระเบียบประเพณีของสังคม หรือเป็นมโนธรรมที่อยู่ในจิตของแต่ละบุคคล อันเกิดจากการเลี้ยงดูอบรมของครอบครัวและสังคม สามารถแยกออกได้ว่าอะไรคือ ความถูกต้องและเป็นสิ่งดีงาม อะไรควรหรือไม่กระทำ จึงทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมทั้งอิฐและอีโก เพื่อให้อีโกประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในทำนองคลองธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่ปฏิบัติตามที่จิตเรียกร้องทุกอย่าง

ติสรณ/ไตรสรณะ=ที่พึ่งสามประการ (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)


ติกิจฉา=การเยียวยาแก้ไข

เกลศ=กิเลส

ติสรณติกิจฉาเกลศ=กิเลสเยียวยาได้ด้วยที่พึ่งสามประการ (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)


โรจนาการตฤษณ์ = ความกำหนัดในกามคุณ  ที่มีอาการรุ่งโรจน์


โรจนาการ=โรจน+อาการ(อาการรุ่งโรจน์ )

ตฤษณา=เงี่ยน   [ตฺริดสะหฺนา] (แบบ) น. ความปรารถนา, ความอยาก, ความดิ้นรน. 
 (ส.; ป. ตณฺหา).

เงี่ยน ในปัจจุบันเป็นคำที่ไม่ภาพ มักใช้พูดถึง กามคุณ และยาเสพย์ติด  สุนทรภู่ ใช้คำนี้ ใน นิราศเมืองแกลง ไว้ความว่า


“ป่าแสมแลเห็นอยู่ริ้วริ้ว           ให้หวิวหวิววาบวับฤทัยไหว
จะหลบหลีกเข้าฝั่งก็ยังไกล      คลื่นก็ใหญ่โยนเรือเหลือกำลัง
สงสารแสงแข็งข้อจนขาสั่น      เห็นเรือหันโกรธบ่นเอาคนหลัง
น้ำจะพัดปัดตีไปสีชัง               แล้วคุ้มคลั่ง งี่ยน ยาทำตาแดง”


กรณาธิป=แปลแบบอ้อมๆ หมายถึง ใจ มาจาก กรณ+อธิป

กรณ/กรณี [กะระ-, กอระ-] น. คดี, เรื่อง, เหตุ, เช่น ในกรณีนี้ = ในเรื่องนี้.
(ป., ส. กรณี ว่า ที่เป็นเหตุกระทํา).

อธิป, อธิป [อะทิบ, อะทิปะ, อะทิบปะ] น. พระเจ้าแผ่นดิน, นาย, หัวหน้า,
ผู้เป็นใหญ่, มักใช้พ่วงท้ายศัพท์ เช่น นราธิป ชนาธิป, แต่เมื่อนํา
หน้าคําที่ขึ้นต้นด้วยสระ มักใช้ อธิบ เช่น นราธิเบศร์ นราธิเบนทร์.
(ป., ส.).

ฉะนั้น กรณาธิป =หัวหน้าแห่งเหตุ ทุกเหตุเกิดที่ใจ ใจจึงได้ฉายาว่า กรณาธิป

อีโรติก/erotic [ADJ]
Meaning: ซึ่งกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
Related: ซึ่งกระตุ้นกำหนัด
Syn: amatory; aphrodisiac; erogenous


ตามตำรา Hesiod จักรวาลเริ่มต้นจากความว่างเปล่า มีเทพชื่อ เคออส ( Chaos ) แปลว่าความว่างเปล่า ก็อย่างชื่อ ว่างเปล่าจริงๆ ทั้งจักรวาลไม่มีอะไรเลยจากนั้น เคออส ก็ให้กำเนิด ไกอา หรือ กายยา หรือจิอา ( Gaia ) ซึ่งแปลว่า ดิน (รากศัพท์ของ Geo) ทอร์ทารัส ( Tartarus ) ซึ่งแปลว่า นรก และ อีรอส ( Eros ) ซึ่งแปลว่า ตัญหา (รากศัพท์ของ Erotic)


เนื้อหาโคลงกระทู้ อีโรติก

อรรถาธิบายไว้โดยใช้หลักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ของ ซิกมุนต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่ว่า


(erotic) --> Id---> Ego --> Super ego


โคลง กระทู้ อีโรติก แต่งโดยแฝงนัยะกระทบกระเทียบ  กวีนิพนธ์ (Poem) ในปัจจุบัน ว่า ไม่เคร่งในฉันทลักษณ์ (prosody/Super ego)  เปรียบเสมือนผู้(หญิง)ที่นิยม นุ่งน้อยห่มน้อย/อฉันทลักษณาภรณ์  (erotic)

อฉันทลักษณ์ =อ+ฉันทลักษณ์
อฉันทลักษณาภรณ์=อฉันทลักษณ+อาภรณ์

เมื่อสังคม มองว่าพฤติกรรมของ ผู้(หญิง)ที่นิยม นุ่งน้อยห่มน้อย/อฉันทลักษณาภรณ์  เป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นศิลปะ เป็นความงาม (the beautiful) ความดี (the good) ความจริง (the true)


อฉันทลักษณาภรณ์ (erotic) จึงทำให้เกิด ตฤษณาการ ( S.E.A. Write /Id or libido) เมื่อ เกิด ตฤษณาการ   จึงทำให้เกิด วัฒนธรรมการแต่งกายแบบนุ่งน้อยห่มน้อย/กลอนเปล่า (Blank Verse/ego) ฟูเฟื่องขึ้น เพื่อตอบสนองต่อ Id


ทว่าในชีวิตมนุษย์ปุถุชนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่ร่วมกับ อิฐ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาอาศัย อีโก้ ในการดำเนินชีวิต

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อร่างกายของเราหิว ต้องการอาหาร  (id บังเกิด) สมองของเราก็จะสั่งการให้เราหาอะไรกิน (ego บังเกิด)  แต่การจะได้มาซึ่งอาหารเพื่อประทังความหิวนั้น สมองของเรามักจะตระหนักรู้ว่า ต้องดำเนินไปโดยไม่ผิดศีลธรรม ไม่ลักขโมย ไม่แย่งชิงจากผู้อื่น ไม่โกหกเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหาร (Super ego บังเกิด)  ที่สำคัญก็คือ เราไม่ควรหลงมัวเมาในรูป และรสแห่งอาหาร การกินนั้นต้องเป็นไปเพื่อดำรงอัตภาพ จึงจะถือว่าเป็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง สมบูรณ์ 

ในชีวิตมนุษย์ อิฐ (Id) ที่มนุษย์ต้องเผชิญอยู่บ่อยๆ ก็คืออิฐว่าด้วยเรื่อง กิน กาม และเกียรติ   อิฐสามก้อนนี้เราควรบริหารจัดการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง   มิฉะนั้นเราอาจจะโดนอิฐสามก้อนนี้ล้มทับจนได้รับบาดเจ็บก็เป็นได้ 

 **ขออภัยท่านผู้อ่าน ที่ต้องใช้คำ ไม่สุภาพ ** 



ผู้ตั้งกระทู้ กวินทรากร :: วันที่ลงประกาศ 2008-04-20 15:34:52


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.