ReadyPlanet.com


สวรรค์ชั้นเจ็ด


ที่ทำงานข้าพเจ้าอยู่ชั้นเจ็ด บางครั้งก็คิดเลยเถิดไปว่า นี่เราอยู่สวรรค์ชั้นเจ็ด หรือเปล่านะนี่ ฮา....มีความสุขสบายซะจริงๆ เจียว ทว่าต้องคอยลุ้นว่าจะได้ขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์บนสวรรค์ จริงๆ วันไหน  ก็ลิฟท์เจ้ากรรมน่ะสิ มักจะค้างอยู่เรื่อย แต่โชคดีไม่เคยติดอยู่ในลิฟ์หรอกนะ แต่ว่า คงต้องเจอเข้าสักวัน  

พอพูดถึงเรื่องสวรรค์ชั้นเจ็ดคำนี้ จัดเป็น อติพจน์ (hyperbole) เป็นคำพูดที่พูดเกินจริง ทำใมนะหรือ ก็เพราะสวรรค์ในทางพุทธศาสนา อรรถกถาจารย์ท่านว่ามีแค่หกชั้น เท่านั้น ในนิราศนรินทร์ มีกล่าวถึงสวรรค์ทั้งหกชั้นฟ้า (ฉกามาวจร) ไว้ความว่า

 

                                เอียงอกเทออกอ้าง                อวดองค์  อรเอย
                        เมรุชุบสมุทรดินลง                        เลขแต้ม
                        อากาศจักจารผจง                        จารึก  พอฤา
                        โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม                     อยู่ร้อนฤาเห็น

 

  • (เอาดาบตัดร่างกายให้เป็นสองซีก)แล้ว เอียงส่วน อก เพื่อเท เอาหัวใจออกมาให้ อรอนงค์ ได้ดู

  • เอาเขาพระสุเมรุ เป็นปากกา เอาน้ำในมหาสมุทร เป็นหมึก ใช้เขียน อักขรเลขา

  • เอาท้องฟ้าอากาศ เป็น กระดาษ ข้าจักจารจารึก ความรักที่ข้ามีต่อนาง

  • แม่คุณ แม่โฉมงามของพี่ ยามนี้ถึงคราว (ทุกข์)ร้อน (เกิดสงคราม) ต้องไกลห่างและไม่เห็นกันแล้วนะเจ้า

                        ตราบขุนคิริข้น                             ขาดสลาย  แลแม่
                        รักบ่หายตราบหาย                       หกฟ้า
                        สุริยจันทรขจาย                           จากโลก  ไปฤา
                        ไฟแล่นล้างสี่หล้า                         ห่อนล้างอาลัย
                                                                   
               

  • ถึงภูเขา ในโลกนี้  จะ มลายหายไป

  • และถึงสวรรค์ทั้งหกชั้นฟ้า (จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี) จะมลายหายไป แต่ความรักของพี่บ่ได้เหือดหายไปจากเจ้าสักนิดเลย

  • ถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ จะมลายหายไป จากโลกนี้
  • ถึงไฟประลัยกัลป์มาเผาผลาญ ให้ทั้งสี่หล้า (จัตุราบาย/อบาย(ภูมิ)ทั้งสี่ คือ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสูรกายภูมิ ) ต้องมลายหายไป ความรักความอาลัยที่พี่มีต่อเจ้าไม่มีวันที่จะเหือดหายเลย

 

วิเคราะห์จากความเชื่อเรื่อง ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก นายนริทรธิเบศร์ น่าจะได้แนวความคิดนี้มาจากวรรณคดีเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำ สำหรับ ลิลิตโองการแช่งน้ำ มีหลายชื่อเรียก เช่น โองการแช่งน้ำ, ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า หรือ โองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา ในที่นี้ผู้เขียนจะขอเรียกว่า โองการแช่งน้ำ

โองการแช่งน้ำ ป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ของไทย นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกัน ว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่นักวิชาการบางท่าน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าวรรณคดีเรื่องนี้น่าจะแต่งขึ้นอย่างน้อยก็ในสมัย พระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงสถาปนาเมืองอโยธยา

โองการแช่งน้ำ กล่าวถึงเหตุการณ์ โลกประลัยด้วยไฟ ไว้ความว่า

 

นานา อเนกน้าว เดิมกัลป์       :จะขอกล่าวถึงเรื่องต่างๆ เมื่อครั้ง ปฐมกัป (เดิมกัลป์)
จักร่ำ จักราพาฬ เมื่อไหม้       : จะกล่าวร่ำร้อง บอกถึงคราวเมื่อ จักรวาล ถูกไฟไหม้
กล่าวถึง ตระวันเจ็ด อันพลุ่ง   :จะกล่าวถึง ดวงตะวัน อันลุกพลุ่ง มีเจ็ดดวง
น้ำแล้งไข้ ขอดหาย ฯ            : น้ำแห้งแล้ง แห้งขอด เหือดหายไปจากโลก 
เจ็ดปลา มันพุ่งหล้า เป็นไฟ     : ปลาใหญ่เจ็ดตัวต้องตาย ไขมันของปลาลุกเป็นไฟ
วะวาบ จัตุราบาย แผ่นขว้ำ     : ไฟไหม้ลุกวาบๆ ไปถึง จตุระ+อบาย (อบายภูมิทั้งสี่)
ชักไตรตรึงษ์ เป็นเผ้า             : ไฟทำลายสวรรค์ชั้น ไตรตรึงษ์/ดาวดึงส์ เป็นผงเผ้า
แลบ่ล้ำ สีลอง ฯ
                     : แสงแห่งไฟนั้นเรืองลอง บ่มีแสงไฟใด สีสว่างล้ำกว่าแสงนี้


เพราะมี ตระวันเจ็ด(ดวง) อัน (ลุกไหม้) พลุ่ง (พล่าน) ดังนั้น น้ำ จึง แล้ง ไข้ ขอดหาย ทวีปทั้ง 7 เกิดโกลาหล เพราะ หินเหลวร้อนพุ่งปะทุสู่ท้องฟ้า คนโบราณเชื่อว่า ใต้เปลือกโลกมีปลา ตัวใหญ่ชื่อปลาอานนท์ หนุนเปลือกโลกอยู่ ที่จริงปลาอานนท์ นี้ก็คือเปลือกโลกของทวีปต่างๆนั่นเอง

โองการแช่งน้ำ นี้ น่าจะได้รับความเชื่อมาจาก ศาสนาพุทธ ที่ว่าด้วยเรื่องโลกถูกทำลายโดยไฟประลัยกัลป์    ความเชื่อนี้ปรากฎอยู่ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง/เตภูมิกถา ที่ว่าด้วยเรื่อง โลกถูกทำลายโดยไฟประลัยกัลป์  ไฟจะทำลายภพภูมิต่าง ๆ 14 ภพภูมิ คือ

1.     ภพอบายทั้งสี่ คือ นรก เปรต อสุรกาย

2.       ภพมนุษย์

3.       ภพสวรรค์ทั้งหก คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี

4.       ภพของพรหมที่ได้ปฐมฌาน ๓ คือ พรหม ปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา และมหาพรหมา

 

ฉะนั้นในโองการแช่งน้ำที่ว่า "ชักไตรตรึงษ์ เป็นเผ้า"    จึงเป็นการกล่าวทีjผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะไม่เพียงแต่สวรรค์ชั้น ไตรตรึงษ์  จะถูกเผาไหม้  หากแต่สวรรค์ชั้น มหาพรหมา ซึ่งสูงกว่าชั้น ไตรตรึงษ์ ก็ยังต้องถูกเผาด้วย นี่จึงถือเป็นความบกพร่องผิดพลาดในข้อที่หนึ่ง

 

ผู้เขียนอนุมานได้ว่า (พราหมณ์)ผู้แต่ง โองการแช่งน้ำ ถึงจะเป็นผู้ที่มีความรู้  แต่ก็ยังอรรถาธิบายบกพร่อง ผิดพลาด ในหลายที่ ยกตัวอย่างเช่น  โองการแช่งน้ำ ในวรรคที่กล่าวถึง พระอิศวร ก็กลับมีการนำคุณสมบัติของพระอินทร์เข้าไปปนอยู่ด้วย ดังนี้

 

" โอมพระ บรเมศวราย :โอมพระอิศวร
ผาย ผาหลวง อะคร้าว : ผู้ผึ่งผายอยู่ ณ เขา ไกรลาศ (ผาหลวง) อันงดงาม
ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก :ขี่วัวเผือกเป็นพาหนะ วัวเผือกนี้ชื่อ อศุภราช
เอาเงือกเกี้ยวข้าง :เอางู ทำเป็นสร้อยสังวาล (คำว่าเงือก โบราณ ใช้แปลว่างู )
อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น :ใช้พระจันทร์เป็นปิ่นปักผม
ทรงอินทร ชฎา :ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงสวมชฎา
สามตาพระแพร่ง :ผู้มีสาม ตา แยกออกมา (ที่พระนลาฎ=หน้าผาก )
แกว่งเพชรกล้า :กวัดแกว่งเพชร (พชร/วชร/วัชร=สายฟ้า) เป็นอาวุธอย่างแกร่งกล้า
ฆ่าพิฆนจัญไรฯ"
:ทำลายร้างความจัญไร

 

พระยาสัจาภิรมย์ กล่าวถึงประวัติของพระอิศวร และพระอินทร์ ไว้ในหนังสือเรื่อง เทวกำเนิด หน้า 2 ถึงหน้า 20  ความว่า

พระอิศวร ใน   คัมภีร์ยัชุรเวท อ้างว่าพระอิศวรมี กายสีแดง ส่วนในคัมภีร์ อถรรพเวท ว่ามีกายสีดำ มีสามตา ตาที่สามนี้อยู่ตรงพระนลาฏ (หน้าผาก) มีรูปพระจันทร์ครึ่งซีกอยู่เหนือตาดวงที่สามนั้น เกศามุ่นเป็นชฎารุงรัง มีประคำ กะโหลกหัวคนคล้องที่ศอ (ศอ=คอ) มีสังวาลเป็นงู ศอศรีนิล นุ่งหนังเสือ หนังกวาง หรือหนังช้าง บางปางก็เปลือย จึงมีสมญานามว่า ทิคัมพร (นุ่งฟ้า) สถิตอยู่บนเขาไกรลาศ ในเทือกเขาหิมาลัยทางทิศตะวันตก บางคาบชอบอยู่ตามสุสานป่าช้า มีภูติเป็นบริวาร จึงมีอีกนามว่า ภูเตศวร (ภูต+อิศวร=นายของเหล่าภูตผี) มีอาวุธ คือ ตรีศูล ชื่อ ปินาก ทรง ธนูชื่อ อชคพ ทรงคทา ยอดหัวกะโหลกชื่อ ชัฏวางค์ บางคาบก็ทรงบ่วงบาศ พาหนะของเธอ คือโคอศุภราชเผือกผู้

ส่วน ประวัติของพระอินทร์ มีอยู่ว่า รูปร่างพระอินทร์ในยุคไตรเภทว่า ผิวกายเป็นสีแสด หรือสีทอง แต่ในชั้นหลังว่าสีนวล แต่ของเราว่าสีเขียว จะมีที่มาอย่างไรยังค้นไม่พบ รูปเขียนต่างๆแม้จะมาจากอินเดียก็เขียนเป็นสีเขียว คงไม่ใช่พวกเรามาเปลี่ยนสีพระอินทร์เอาเอง เธอมีแขนยาวมากและเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างใจนึก โปรดถือ วัชระ (สายฟ้า) เป็นอาวุธ มีรถทองเทียมด้วยม้าสีแดง ชื่อวิมานหรือเวชยันต์ มีม้าสีขาวสำหรับทรงสีขาวชื่อ อุจไฉศรพ เมืองสถิตเรียกว่า อมราวดี ในเทวภูมิ ชื่อว่าเมืองตรัยตรึงษ์

 

จะเห็นได้ว่าเพชร เป็นอาวุธของพระอินทร์ การที่ (พราหมณ์)ผู้แต่ง โองการแช่งน้ำ กล่าวอ้างว่า เพชรเป็น อาวุธของพระอิศวร  นี่จึงถือเป็นความบกพร่องผิดพลาดในข้อที่สอง

สาเหตุใดที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ หลงผิดไปว่า พระอินทร์ และพระอิศวรเป็นเทพเจ้าองค์เดียวกัน เรื่องนี้ต้องพึ่งบารมี พระยาสัจจาภิรมย์ (สัค ศรีเพ็ญ) ผู้เขียนตำรา เทวกำเนิด

วาทกรรมหลักที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและสับสนระหว่างคุณสมบัติของพระอินทร์และพระอิศวรนั้น อาจเป็นเพราะสมัยก่อนไม่มีตำรับตำราไว้ค้นคว้า การถ่ายทอดจึงมีลักษณะเป็นการถ่ายทอด แบบ วรรณกรรมมุขปาฐะ (Mouth to mount) เอ้ยภาษาอังกฤษน่าใช้ว่า Oral Literature

อีกทั้งคนไทยมีนิสัยเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพื่อใช้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงถือตามกันมาโดย ไม่ได้ดูถึงข้อ เท็จจริง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวนีย์ พระแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องพระอินทร์และพระอิศวรไว้ ว่า

คำว่า อีศวร นั้นคนไทยมักพูดออกเสียง พยัญชนะนาสิก ว่า อินสวน อาจทำให้จำสับสนระหว่างพระอิศวร กับพระอินทร์ก็เป็นได้ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ คนไทยในสมัยก่อนมีความผูกพันกับพระอินทร์มากกว่า พระอิศวร โดยดูได้จาก วรรณคดีในสมัยโบราณ จะมีพระอินทร์อยู่ในเรื่องเสมอๆ แต่ว่าพระอิศวรนั้นกลับไม่ค่อยปรากฏกายอยู่ในวรรณคดีโบราณเท่าใดนัก


ซึ่งสอดคล้องกับ จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ใน หนังสือเรื่อง บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย ภาคผนวก ชีวิตและงานของ ปิกัสโซ หน้า 260 ความว่า

 ชาวไทยแต่โบราณนับถือศาสนาพุทธ รู้จักเทวดาตามเรื่องในชาดกบ้าง ในพระสูตรบ้าง เทวดาใหญ่ที่สุดตามความสำนึกของหนังสือชาดกในพระสูตรคือพระอินทร์ เมื่อเอ่ยถึงสวรรค์คนไทยต้องนึกถึงพระอินทร์ ก่อนใครหมด สำนวนพูดของเราจึงมีว่า “ต่อให้พระอินทร์ลงมาเขียวๆ ก็ไม่เชื่อ” หรือปริศนาคำทายเรามีว่า “เขียวเหมือนพระอินทร์ บินเหมือนนก ศรปักอก นกก็ไม่ใช่” (ตอบว่าแมลงทับ) วรรณคดีเก่าๆ ของเรา เทวดาที่ลงมาเกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือ พระอินทร์ เช่น เรื่องยอพระกลิ่นกินแมว เรื่องสังข์ทอง มีพระอินทร์มายุ่มย่าม เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ที่แพร่หลายมากก็มีพระอินทร์


ใน โคลงกำสรวลสมุทร/กำสรวลศรีปราชญ์/นิราศนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็น โคลงนิราศสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นโคลงที่โด่งดัง และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง นับแต่โบราณกาลมา ถือได้ว่าเป็นโคลงต้นแบบของนิราศคำโคลงเรื่องอื่นๆ

แต่เดิมเชื่อกันว่าผู้แต่งคือ ศรีปราชญ์ (มีชีวิตอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ) แต่งคร่ำครวญถึงคนรัก เมื่อคราวถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช แต่ทว่านักวิชาการในปัจจุบันได้วิเคราะห์เส้นทางการเดินเท้าและเส้นทางการเดินเรือที่เอ่ยไว้ในโคลงกำสรวล พบว่าเป็น เส้นทางสายเก่าต้องเดินทางอ้อมและต้องเสียเวลามาก  ถ้าโคลงกำสรวลแต่งในสมัยพระนารายณ์มหาราชจริง ก็ไม่ควรที่จะใช้เส้นทางสายเก่าให้เสียเวลาในการเดินทาง อีกทั้งคำศัพท์ที่ใช้ในโคลงกำสรวลเป็นภาษาที่เก่ากว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นักวิชาการในปัจจุบันจึงสันนิษฐานว่า ผู้แต่งกำสรวลสมุทรน่าเป็น พระเยาวราช (ในสมัยอยุธยาตอนต้น) ผู้นิพนธ์โคลง ทวาทศมาส

สำหรับโคลงกำสรวลที่เอ่ยนามพระอินทร์ ไว้นั้น มีใจความว่า



โฉมแม่จักฝากฟ้า                     เกรงอินทร หยอกนา
อินทรท่าน เทอกโฉมเอา            สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน                     ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤขัดเจ้าหล้า                        สู่สม สองสมฯ

*เทอก=เทิก

จะเห็นได้ว่าพระอินทร์เป็นเทพเจ้าที่คนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันมีความผูกพันธ์ใกล้ชิดมากกว่าพระอิศวร สาเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างพระอินทร์และพระอิศวรใน โองการแช่งน้ำ

นอกเรื่องไปเสียไกล วกกลับมาพูดถึง เรื่องสวรรค์ชั้นเจ็ดที่เป็นอติพจน์ และความเชื่อที่ว่า โลกมนุษย์จะพินาศเพราะถูกไฟประลัยกัลป์เผาผลาญ 

ในทางพุทธศาสนา  ไฟ น้ำ ลม ที่จะมาทำลายโลกถือเป็น บุคคลาฐิษฐาน  (Personification) อย่างหนึ่ง

 ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่จะมาล้างผลาญโลก นี้ก็ก็คือ โทสะ ราคะ โมหะ นั่นเอง 

 

สิ่งที่ทำลายโลก                                                กิเลสในใจมนุษย์

       ไฟ              <----------------------------------------------->       โทสะ

      น้ำ                <----------------------------------------------->      ราคะ

      ลม                <----------------------------------------------->      โมหะ

           

 จากข้อเขียนข้างต้น ผู้อ่านคงพอที่จะทราบแล้วว่า ไฟ (โทสะ) นั้นสามารถทำลายภพภูมิต่าง ๆ ได้ถึง 14 ภพภูมิ ลำดับต่อไปคือ การทำลายล้างโดยน้ำ (ราคะ)  น้ำจะทำลายภพภูมิต่าง ๆได้มาก ถึง 17  ภพภูมิ คือ

1.        ภพอบายทั้งสี่ คือ นรก เปรต อสุรกาย

2.        ภพมนุษย์

3.        ภพสวรรค์ ทั้งหก

4.        ภพของพรหมที่ได้ปฐมฌาน 3 

5.        ภพของพรหมที่ได้ ทุติยฌาน 3 คือ พรหมปริตตาภา พรหมอัปปมาณาภาและพรหมอาภัสสรา

 

        ส่วนการทำลายภพภูมิ โดยลม (โมหะ)  ลม จะทำลายภพภูมิต่าง ๆ  20 ภพภูมิ คือ 

1.        ภพอบายทั้งสี่ คือ นรก เปรต อสุรกาย

2.        ภพมนุษย์

3.        ภพสวรรค์ ทั้งหก

4.        ภพของพรหมที่ได้ปฐมฌาน 3 

5.        ภพของพรหมที่ได้ ทุติยฌาน 3

6.        ภพของพรหมที่ได้ตติยฌาน 3 คือ พรหมปริตตสุภา พรหมอัปปมาณสุภา  และพรหมสุภกิณหา

 

 ภพภูมิต่างๆ ที่กล่าวถึงนี้ ก็ถือเป็น บุคคลาฐิษฐาน  (Personification) เช่นเดียวกัน ภพภูมิต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ก็คือจิตใจฝ่ายต่ำ ไปจนถึงจิตใจฝ่ายสูง จิตใจฝ่ายต่ำก็คือความคับข้องหมองใจ จิตใจฝ่ายสูงก็คือ ความสุข ความสดชื่นเบิกบาน  นั่นเอง

เมื่อใดก็ตาม ที่จิตใจเราถูก อารมณ์แห่ง เเปลวไฟโทสะ อารมณ์แห่ง สายน้ำราคะ และ อารมณ์แห่ง สายลมโมหะ เข้าครอบคลุมเสียแล้ว สวรรค์ในอก นรกในใจ ก็คงถูกทำลายและถูกแทนที่ด้วย โทสะ ราคะ โมหะ นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ลมโมหะ คือสิ่งที่สามารถทำลายภพภูมิแห่งจิต ให้กระเจิดกระเจิง พังพินาศย่อยยับได้มากที่สุดถึง 20 ภพภูมิ อรรถกถาจารย์กล่าวอรรถาธิบายไว้ว่า เป็นเพราะ


เปลวไฟแห่งโทสะ นั้น เกิดง่าย ดับง่าย ยกตัวอย่างเช่น ยามเมื่อเราโกรธเกลียด ใครสักคนหนึ่ง เราย่อมไม่สามารถที่จะโกรธเกลียด เขาผู้นั้นได้ข้ามวันข้ามคืน  ถ้าเขาผู้นั้น เข้ามาขอโทษขอโพย ความโกรธเกลียดนั้นอาจจะทุเลาเบาบางไป


สายน้ำแห่งราคะ นั้น เกิดยาก และก็ดับยาก ยกตัวอย่างเช่น  (ตัณหา)ราคะ อาศัยความรักความพึงพอใจและกามารมณ์เป็นที่ตั้ง เกิดขึ้นได้ยาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะคงอยู่นาน คงอยู่ได้มากกว่า สิบปี ยี่สิบปี  (เช่น ฉันมีความรักให้เธอและรอเธอมาตั้ง  10 ปีแล้วนะ) ก็เฝ้ารอ เฝ้าคอย กันต่อเธอแม่คุณ.... ถ้า(ตัณหา)ราคะ นี้เกิดขึ้น ต้องใช้เวลาในการเยียวยารักษา และดับได้ยาก

สายลมแห่งโมหะ นั้น  เกิดยากและดับยากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น    เมื่อใดก็ตามที่ เราหลงใครสักคน จนหน้ามืดตามัว ต่อให้เอาช้างมาฉุดก็ฉุดไม่อยู่ และหลงกันข้ามภพข้ามชาติทีเดียว (เกิดชาตหน้าฉันใด ก็ขอเจอเธออีก) เวลาเกิดความหลงขึ้นจิตใจ สรวงสวรรค์ ชั้นพรหมปริตตสุภา พรหมอัปปมาณสุภา  และพรหมสุภกิณหา ก็ถูกทำลายให้ย่อยยับลง ยามสายลมแห่งโมหะ (ความลุ่มหลง) ก่อตัวขึ้นเมื่อใด ยากที่สุดที่จะทำให้สายลมแห่งความลุ่มหลงนี้สงบลง

สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ สุขทุกข์ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย วันนี้ท่านจงถามใจตัวเองดูสักนิดเถิดว่า ใจของท่าน กำลังขึ้นสวรรค์ หรือตกนรก หรือว่ากำลังประสบกับ สภาวะ  ไฟ  น้ำ ลม เข้ามาก่อกวนจิตใจ  

 

 

หนังสืออ้างอิง
กรมศิลปากร. กองโบราณคดีและประวัติศาสตร์.วรรณกรรมสมัยอยุธยา.กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง
กรุ๊พ,๒๕๒๙.
จันทร์จิรายุ รัชนี,หม่อมเจ้า.กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์. พระนคร : แพร่พิทยา, ๒๕๑๑.
จิตร ภูมิศักดิ์.บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย ภาคผนวก ชีวิตและงานของ ปิกัสโซ.กรุงเทพมหานคร :
ศตวรรษ,๒๕๒๓.
สัจจาภิรมย์.พระยา อ้างใน สัคค์ ศรีเพ็ญ.เทวะกำเนิด.พระนคร :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
๒๕๐๗. 

http://gotoknow.org/blog/kelvin/169894



ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-03-09 16:40:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (988445)

แก้ไข บุคคลาฐิษฐาน  (Personification)

ที่ถูกควรเป็น  สัญลักษณ์ (SYMBOL)

ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-03-10 08:42:00


ความคิดเห็นที่ 2 (992469)

***เราหลงใครสักคน จนหน้ามืดตามัว ต่อให้เอาช้างมาฉุดก็ฉุดไม่อยู่ และหลงกันข้ามภพข้ามชาติทีเดียว (เกิดชาติหน้าฉันใด ก็ขอเจอเธออีก) ****

ถ้ามองแบบคนมองโลกแง่ดี
เรา"รัก" เขาค่ะ
รักแบบไม่หวัง"รัก" หรือ อะไร ตอบแทน

มีจริงนะ อาจไม่ตลอดเวลา ห้วงหนึ่งของเวลาที่มีพอ ความคิดถึงก็ขยับเลื่อนไหลมาแทนที่
ได้ยินเสียงเขาสักนิด..รอยยิ้มของเขา(ที่พอจำได้) จะผุดพรายขึ้นมาทันทีในความทรงจำ
คำบางคำที่เขา(แกล้ง)พูดไม่ชัด เราได้ยินก็อดอมยิ้มไม่ได้
สำนวนบางสำนวน ตลกสำหรับคนอื่นหรือเปล่า..ไม่รู้...แต่ตลกสำหรับเรา
เสียงเพลงอีกเล่า นานเพียงใดก็ไม่..ลืม


สวรรค์อยู่ในอก ขอตัดคำว่า"นรกอยู่ในใจ " ออกไปค่ะ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น พิณ วันที่ตอบ 2008-03-12 23:03:41


ความคิดเห็นที่ 3 (992997)

ขอบคุณนะ  พิณ 

รักแบบไม่หวัง"รัก" หรือ อะไร ตอบแทนมีจริงนะ อาจไม่ตลอดเวลา ห้วงหนึ่งของเวลาที่มีพอ ความคิดถึงก็ขยับเลื่อนไหลมาแทนที่ได้ยินเสียงเขาสักนิด..รอยยิ้มของเขา(ที่พอจำได้) จะผุดพรายขึ้นมาทันทีในความทรงจำ

เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  

คิดถึงนะ ขอบคุณที่แวะมาทัก

ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-03-13 10:29:08


ความคิดเห็นที่ 4 (1684867)

 สวรรค์ชั้น 7 เป็นอติพจน์จริงหรือ?

สวรรค์ชั้น 7 นั้นเป็นสำนวนที่คนไทยยืมสำนวนฝรั่งว่า be in seventh heaven มาใช้นะครับ

สวรรค์ตามคติฝรั่งมีจำนวนแตกต่างไปตามแต่ละนิกายและลัทธิ แต่สวรรค์ชั้น 7 ในสำนวน be in seventh heaven นี้จำเพาะหมายถึงสวรรค์ในคติความเชื่อของลัทธิไสยเวทของฝรั่งที่เรียกว่า แคบบาลา (Cabala - Kabbalah) ที่ถือว่าเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุดอันอุดมด้วยความสุขนะครับ ไทยยืมสำนวนฝรั่งมา ดังนั้นสวรรค์ชั้น 7 จึงไม่ได้หมายถึงฉกามาพจร หรือ ฉกามาวจร ( พ-ว แผลงสลับกันได้ อันไหนก็ไม่ผิดหรอกครับ) อย่างที่คุณอธิบายนะครับ เป็นคำอุปมาครับ ไม่ใช่อติพจน์ ก่อนสรุปว่าเป็นอติพจน์ น่าจะค้นคว้าที่มาที่ไปหน่อยนะครับ

อ้างอิง

1. คำแปล Seventh Heaven - The American heritage collage dictionary, third edition หน้า 1248

2. คำอธิบายเกี่ยวกับ สวรรค์ชั้น 7

 1. ในคัมภีร์บาบิโลเนียนทาลมุด ของศาสนายูดาย ที่เป็นต้นกำเนิดของลัทธิไสยเวทแคบบาลา

 - http://www.sacred-texts.com/jud/t05/ere01.htm

 2. ใน Louis Ginzbergม The Legends of the Jews By  [1909]

- http://www.sacred-texts.com/jud/loj/loj103.htm

ผู้แสดงความคิดเห็น อินทุกร วันที่ตอบ 2008-05-16 18:35:55


ความคิดเห็นที่ 5 (1902033)


5555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555
ผู้แสดงความคิดเห็น พะเ555555555555555555 วันที่ตอบ 2009-02-15 17:00:27


ความคิดเห็นที่ 6 (2107185)

jon renau wigs hair extensions seem more voluminous wigs provide you a long lasting hair-do short wigs front wigs.

ผู้แสดงความคิดเห็น allison (doris-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 08:06:56


ความคิดเห็นที่ 7 (4137358)
The Federal Government has no place in this debate. It is entirely a States issue. Why isn’t Obama doing what he should be doing, as in balance the Federal budget! He has accomplished nothing of note during his time in office other than spend a bunch of our money on bad ideas like Solyndra. What a loser. bulgari bijoux imitation http://www.top-bulgari.ru/fr/
ผู้แสดงความคิดเห็น bulgari bijoux imitation (fxawrca-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2017-02-15 16:21:37



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.