ReadyPlanet.com


สื่ออักษรกลอน " กลบท " – 3


( ตัวอย่างกลอนกลบท )

เบญจพรรณห้าสี

      หยาดหยดเย็นเยี่ยมเยือนเป็นเพื่อนขวัญ    พงพีพันธุ์พฤกษ์ไพรอาบไอฉ่ำ

ชวนชิดเชยชื่นชมสมใจจำ                               พรูพรำพร่ำเพลงพาในราตรี

แรกรักเรารู้รสหมดปัญหา                                หวังไว้ว่าวันวานผ่านวิถี

สุดสิ้นสิ่งสร้างสรรค์พอกันที                           เมื่อไม่มีเมฆมาฟ้ามีดาว

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ฟ้ามีดาว”

-  เป็นกลอน ๘ หรือ กลอน ๙ ได้

-  พยางค์ที่หนึ่งถึงพยางค์ที่ห้าของทุกวรรค จะต้องใช้สัมผัสอักษรเหมือนกันทั้งหมดทุกวรรค  เช่น

   หยดหยาดเย็นเยี่ยมเยือน,   พงพีพันธุ์พฤกษ์ไพร,   ชวนชิดเชยชื่นชม,   พรูพรำพร่ำเพลงพา   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔  เช่น  ขวัญ-พันธุ์,   ปัญหา-ว่า  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรคที่ ๒  เช่น  ใจจำ-พรำพร่ำ,  พอกันที-ไม่มี  เป็นต้น

 

 

ครอบจักรวาล

      ยศตำแหน่งขันแข่งกันแต่งยศ                   หายสิ้นหมดเมื่อชีวันพลันดับหาย

รายถูกปลดยศกระชากก็มากราย                    มียศหมายไม่หลงใจให้มากมี

สรรเสริญคู่นินทาท่านว่าสรร                           ที่รู้กันทั่วไปในทุกที่

ดีก็ด่าชั่วก็ด่าว่าไม่ดี                                        ตายเป็นผีก็ไม่พ้นจนวันตาย

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สรรเสริญ-นินทา เป็นเรื่องธรรมดา”

-  เป็นกลอน    หรือกลอน ๙ ได้

-  พยางค์แรกกับพยางค์สุดท้ายในวรรค ต้องใช้ให้เหมือนกันทุกวรรค  เช่น  ยศ-ยศ,   หาย-หาย,

   ราย-ราย,   มี-มี,   สรรเสริญ-ว่าสรร,   ที่-ที่,   ดี-ดี,   ตาย-ตาย  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒ เช่น  แต่งยศ-หมด,   ว่าสรร-รู้กัน  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔ เช่น  มากราย-หมาย,   ไม่ดี-ผี   เป็นต้น

 

 

 

 

 

๑๐

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

หงส์คาบแก้ว

      หงส์คาบแก้วแก้วสวยงามงามเลิศหรู         เพลินบินอยู่อยู่บนฟ้าฟ้าสดใส

ผ่านม่านเมฆเมฆมากมีมีทั่วไป                        เพลิดเพลินใจใจมั่นหมายหมายเมียงมอง

สุดเขาสูงสูงสุดยอดยอดใหญ่ยิ่ง                      ที่พักพิงพิงเพื่ออยู่อยู่อาศัย

ชีพยืนยังยังต้องบินบินให้ไกล                                    มุ่งหวังให้ให้ถึงที่ที่เป็นธรรม

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “หงส์เหิรฟ้า”

-  เป็นกลอน ๙ ทั้งหมด ทุกวรรค

-  ในวรรคแบ่งช่วงไว้สามช่วง ช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงท้าย  ทุกช่วงมีสามพยางค์

-  พยางค์ท้ายช่วงแรกในวรรคต้องใช้ให้เหมือนพยางค์แรกของช่วงกลาง  เช่น  แก้ว-แก้ว, อยู่-อยู่  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายช่วงกลางในวรรคต้องใช้ให้เหมือนพยางค์แรกในช่วงท้ายในวรรค  เช่น  งาม-งาม,  ฟ้า-ฟ้า   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๒  เช่น  เลิศหรู-อยู่,  ยิ่ง-พักพิง  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๔  เช่น  ทั่วไป-ใจ,   ไกล-ให้  เป็นต้น

ฟักพันร้าน

      แต่งก่อ ต่อกลอน ตอนกล้าแต่ง                 ฝังราก ฝากแรง แฝงรักฝัง

ดังหมาย ได้มี ดีมากดัง                                                คนชู คู่ชัง ครั้งชอบคน

ยากแท้ ยังทำ ย้ำที่ยาก                                     ฝนมา ฝ่ามาก ฝากมองฝน

ทนไป ไทป้อง ท่องปากทน                             ตามแก่ง แต่งกล ตนก่อตาม

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ฝังราก ยากยุ่ง”

-  เป็นกลอน ๗ ทั้งหมด ทุกวรรค

-  การแบ่งช่วงในวรรค  ช่วงแรก ๒ พยางค์ ช่วงกลาง ๒ พยางค์ ช่วงท้าย ๓ พยางค์

-  ท้ายพยางค์ช่วงแรกในวรรคไปสัมผัสสระพยางค์แรกช่วงกลางในวรรค  เช่น  ก่อ-ต่อ,   ราก-ฝาก  เป็นต้น

-  ท้ายพยางค์ช่วงกลางในวรรคไปสัมผัสสระพยางค์แรกช่วงท้ายในวรรค  เช่น  กลอน-ตอน,   แรง-แฝง  เป็นต้น

-  พยางค์แรก  พยางค์ที่สาม พยางค์ที่ห้า และพยางค์สุดท้ายที่เจ็ด ใช้สัมผัสอักษร เช่น  แต่ง-ต่อ-ตอน-แต่ง  เป็นต้น

-  พยางค์แรกในวรรคกับพยางค์สุดท้ายในวรรค ต้องใช้เหมือนกัน เช่น  แต่ง-แต่ง,    ฝัง-ฝัง  เป็นต้น

-  พยางค์ที่สอง พยางค์ที่สี่ และพยางค์ที่หกในวรรค ใช้สัมผัสอักษร  เช่น  ก่อ-กลอน-กล้า,   ราก-แรง-รัก  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สี่ในวรรค ๒  เช่น  แต่ง-แรง,   ยาก-มาก  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สี่ในวรรค ๔  เช่น  ดัง-ชัง,   ทน-กล   เป็นต้น

ข้อคิดเห็น  - กลบทนี้มีข้อบังคับมาก แต่งยาก ควรประยุกต์ปรับปรุงเปลี่ยนสัมผัสสระในช่วงต้นวรรค อนุโลมให้ใช้สัมผัสอักษรได้

๑๑

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

งูกลืนหาง

                    อย่ามัวฝัน หมั่นหา อย่ามัวฝัน                 วันคืนหาย ไม่กลับหัน วันคืนหาย

            เกิดแล้วตาย ได้กำเนิด เกิดแล้วตาย                 ใฝ่ความดี มีใจหมาย ใฝ่ความดี

            ใฝ่ความรู้ ชูชัย ใฝ่ความรู้                                 สู่วิถี ที่ควรสู้ สู่วิถี

            วันเดือนปี เปลี่ยนแปรผัน วันเดือนปี               ปราชญ์ชี้ย้ำ ทำความดี ปราชญ์ชี้ย้ำ

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “อย่ามัวฝัน”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สามพยางค์ช่วงแรกของวรรคต้องเหมือนสามพยางค์หลังของวรรค   เช่น  อย่ามัวฝัน-อย่ามัวฝัน

  วันคืนหาย-วันคืนหาย,   เกิดแล้วตาย-เกิดแล้วตาย,   ใฝ่ความดี-ใฝ่ความดี   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒   เช่น  มัวฝัน-มลายผัน   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๔   เช่น  เกิดแล้วตาย-ใจหมาย   เป็นต้น

 

 

นกกางปีก

                    เมื่อมีทุกข์  ทุกข์มี มีธรรมไว้                    เอาใจใส่  ใส่ใจ ไม่คิดสั้น

            สุขกับทุกข์  ทุกข์กับสุข เคล้าคลุกกัน              ต้องฝ่าฟัน  ฟันฝ่า พยายาม

            เมื่อมีสุข  สุขมี ได้ดีเด่น                                   ไม่หลงเต้น  เต้นหลง เข้าดงหนาม

            เมื่อมีทุกข์  ทุกข์มี เสื่อมศรีทราม                      ไม่หยาบหยาม  หยามหยาบ สร้างบาปกรรม

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สุขกับทุกข์ เป็นเรื่องธรรมดา”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- มีการสลับกลับพยางค์ในช่วงต้นวรรคทุกวรรค  เช่น   มีทุกข์-ทุกข์มี,   ใจใส่-ใส่ใจ,   สุขกับทุกข์-ทุกข์กับสุข,   ฝ่า 

  ฟัน-ฟันฝ่า,  เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒   เช่น   ไว้-ใส่,   ดีเด่น-หลงเต้น   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔   เช่น   กัน-ฝ่าฟัน,   ทราม-หยาบหยาม   เป็นต้น

 

 

 

 

 

๑๒

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

คุลาซ่อนลูก

                    เขาด่าเรา  อย่าให้เรา ลืมตัวเต้น                เขายั่วเล่น  อย่าให้เล่น ย้อนยั่วเขา

            เขายอยก  อย่าให้ยก จนตัวเบา                         เขาโกรธเรา  อย่าให้เราโกรธเขาเลย

            มีน้ำใจ  อย่าให้ใจ ไร้เหตุผล                             เขาเผลอตน  อย่าให้ตน ต้องเผลอเผย

            เราไม่ชั่ว  อย่าให้ชั่ว เหมือนเขาเลย                  ถ้าอยากเอ่ย  อย่าให้เอ่ย คำหยาบคาย

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “อย่าเผลอตามความชั่ว”

- เป็นกลอน ๙ ทั้งหมด ทุกวรรค

- พยางค์ที่สามกับพยางค์ที่หกต้องใช้เหมือนกัน (กลอน ๘ ใช้สามกับห้า) เช่น  ด่าเรา-ให้เรา,  ยั่วเล่น-ให้เล่น เป็นต้น

- ช่วงกลางวรรคทุกวรรคจะต้องใช้พยางค์เหมือนกัน  เช่น  อย่าให้เรา,   อย่าให้เล่น,   อย่าให้.. เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามของวรรค ๒  เช่น เต้น-ยั่วเล่น,   เหตุผล-เผลอตน   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔  เช่น  เบา-โกรธเรา,   เลย-เอ่ย   เป็นต้น

 

ถอยหลังเข้าคลอง

                        หมากัดคน  ทนสุด  หยุดไม่บ่น               บ่นไม่หยุด  สุดทน  คนกัดหมา

            จริงหรือบ้า  ว่าคนกัด  ขัดเขี้ยวคา                   คาเขี้ยวขัด  กัดคนว่า  บ้าหรือจริง

            ยิ่งแรงร้าย  หมายกล่าว  ข่าวขยาย                   ขยายข่าว  กล่าวหมาย  ร้ายแรงยิ่ง

            แจงจ้องจริง  ยิ่งขุ่นเคือง  เรื่องอ้างอิง              อิงอ้างเรื่อง  เคืองขุ่นยิ่ง  จริงจ้องแจง

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “คนกับหมา”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- แบ่งช่วงในวรรคเป็นสามช่วง ช่วงหน้าสามพยางค์   ช่วงกลางสองหรือสามพยางค์   ช่วงหลังสามพยางค์   ทุก

  พยางค์จะต้องสลับกลับพยางค์ทุกพยางค์ติดต่อไป   เช่น  หมากัดคน-คนกัดหมา,   สุดทน-ทนสุด,   หยุดไม่บ่น-

  บ่นไม่หยุด,   จริงหรือบ้า-บ้าหรือจริง,   ว่าคนกัด-กัดคนว่า,   ขัดเขี้ยวคา-คาเขี้ยวขัด   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒  เช่น ไม่บ่น-สุดทน,  ขยาย-กล่าวหมาย  เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๔  เช่น เขี้ยวคา-คนว่า,  อ้างอิง-ขุ่นยิ่ง  เป็นต้น


ผู้ตั้งกระทู้ สุดาวดีศรีสุนทรอักษรศิลป์ (R-Cha-Nai-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-11 05:42:56


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2107867)

hairpieces and wigs remi human hair Gaga fairy has already wigs chemicals and probably dyed in short wigs glued hair extensions.

ผู้แสดงความคิดเห็น james (malcolm-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:41:06



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.