ReadyPlanet.com


ประทีปแห่งปัญญา


 

 

                     ประทีปแห่งปัญญา
 
                      ประทีปทองส่องทางสร้างโลกฝัน
                        สายสัมพันธ์สืบสานคู่การสอน
                        ชี้ทางถูกปลูกปัญญาเอื้ออาทร
                        เมินคำค่อนลบหลู่อยู่เดียวดาย
                               ด้วยไฟฝันวันที่ชีวีกล้า
                        ถึงชีพล้าไม่ท้อต่อจุดหมาย
                        เสรีสิทธิ์ศรัทธาที่ท้าทาย
                        มิเสื่อมคลายอุดมการณ์ประสานรอย
                               หอมความซื่อบริสุทธิ์จุดเริ่มต้น       
                        เพียงแรกยลแววใสไม่ท้อถอย
                        บทเรียนที่พวกเขาเฝ้ารอคอย
                        จึงค่อยค่อยลีลาทุกนาที
                              ปลูกความรู้คู่ตนผลประจักษ์
                        ซึ้งตระหนักน่านิยมสมศักดิ์ศรี
                        สอดคล้องกับเหตุผลเป็นคนดี
                        สมกับที่วาดหวังตั้งใจมา
                              ประทีปทองส่องทางสร้างชนบท
                        ภาพปรากฏแสงสีมีคุณค่า
                        ปลูกความรู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา
                        การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน
 
                           วิวัฒน์ บัตรเจริญ

  

 



ผู้ตั้งกระทู้ วิวัฒน์ บัตรเจริญ :: วันที่ลงประกาศ 2012-05-04 14:57:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2270981)
 "ปลูกความรู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา
  การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน"


งดงามเปี่ยมความหมายมากครับ ^^b
 
ผู้แสดงความคิดเห็น กระบี่ใบไม้ วันที่ตอบ 2012-05-04 15:05:35


ความคิดเห็นที่ 2 (2270996)

สวัสดีครับ

ง่ายง่าย แต่ โค้ม...คม ครับ

ผมชอบวรรค การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน

ถ้าจำไม่ผิดผมเคยอ่านบทวิจารณ์ของอ.วานิช  จรุงกิจอนันต์ ท่านว่า "จะดูว่าใครมีฝีมือหรือไม่ มีแค่ไหน ให้ดูวรรคสุดท้ายหรือบทสุดท้าย.."

แต่ผมว่า ถ้าคนมองโลกในแง่ร้ายมาอ่าน/เห็นวรรค การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน คงบอกว่า ไม่จริง!!มันอยู่ในอุดมคติ ผมก็เคยเถียงกับเพื่อน มันบอกว่า ถ้าเท่ากัน ทำไมบางคนได้เรียน บางคนไม่ได้เรียน บางคนได้เรียนที่ดีๆ สถาบันดังๆ ยังไม่พอ จบมาที่ทำงานถามว่า จบจากที่ไหนอีก เอาสถาบันมาสร้างเงื่อนไขอีก  ผมก็บอกว่า อ่าว..หมายถึง มีโอกาสที่ทุกคนจะได้รับโอกาส แต่ว่า ใครจะคว้ามันได้ก็อีกเรื่อง ลูกชาวนาจนๆ ขยัน ตั้งใจ อดทน ได้เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ว่าฯ ร่ำรวย เยอะแยะไป ไอ้พวกเรียนที่ดีๆ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ จบมาตกงานก็ถม ...สรุปวันนั้นก็ไม่ได้ข้อสรุปอะไร (พามานอกเรื่อง คนละเรื่องเดียวกันซะหลายบรรทัดแหนะครับ แหะๆ)

-ความดี+ความรู้ ไม่มีใครเอาไปได้

ร.ศ. 

ผู้แสดงความคิดเห็น รัตนโกสินทร์ศก วันที่ตอบ 2012-05-04 15:38:39


ความคิดเห็นที่ 3 (2270997)


 

"ปลูกความรู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

 

  การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน"

.......

ขอแย้งนิด แย้งหน่อย คงไม่ว่า

“การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน” นั้นจริงหรือ

แสงประทีปแห่งปัญญาศรัทธาฤา

ที่เห็นคือต่างชั้นทุกชั้นชน

 

แสงประทีปแห่งปัญญางดงามยิ่ง

สะท้อนจริงส่องสร้างด้วยเหตุผล

แต่ท้ายสุดยังขัดแย้งแห่งกมล

มิหลุดพ้นความเทียมเท่าเท่าเยี่ยงไร

 

เห็นมีเงินมีทองกองท่วมหัว

ปลูกฝังทั่วต้นมารยาแถสาไถ

ออกดอกผลเป็นกระดาษที่บางใบ

แลนั่นไซร้ ใบอะไร หนอครับครู

 

ขอน้อมคารวะจากหัวใจ

หากผิดพลาดอันใดอย่าอดสู

หาญบังอาจวาดคำวายไม่น่าดู
แต่หาใช่ใจหยามหลู่นะครูเอย

ฯลฯ

ขอน้อมคาวระ

"ทรชนบ้านนอก"

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทรชนบ้านนอก วันที่ตอบ 2012-05-04 15:40:29


ความคิดเห็นที่ 4 (2271052)

 

                                 

                                   ขอขอบคุณ คุณกระบี่ใบไม้ คุณรัตนโกสินทร์ศก และคุณทรชนบ้านนอก ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนครับ

                                   ผมเขียนงานจากประสบการณ์และนี่คือที่มาของสองวรรคสุดท้าย สำนวนกลอน "ประทีปแห่งปัญญา"

                     ที่ว่า  " ปลูกความรู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา  การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน "  จากการที่ไปสอนหนังสือครั้งแรกในชนบท

                     ได้เห็นภาพชีวิตซื่งนึกไม่ถึงว่าชีวิตของมนุษย์ (ในมุมหนึ่ง) จะเป็นเช่นนี้  ความยากไร้ทั้งปัจจัยสี่และสิ่งแวดล้อมที่

                     ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต  แต่ได้เห็นแววตาที่ใสซื่อ บริสุทธิ์ซึ่งมานั่งรายเรียงอยู่ต่อหน้า  สามปีหกเดือนที่มีชีวิต

                     อยู่ที่ชนบท  ในที่สุดต้องจากมาด้วยภาระหน้าที่  ภาพอดีตจึงยังฝังอยู่ในความรู้สึกลึกๆ

                                   คุณทรชนบ้านนอก ครับ  ในบทกลอนวรรคสุดท้าย ที่ว่า " การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน "  ในทัศนะ

                     ของผมนั้น  หมายความว่า ขอบเขตของการศึกษาที่รัฐได้วางรากฐานไว้ว่า  คนไทยทุกคนจะต้องเรียนจบชั้น

                     ป.๖ (สมัยนั้น)  เสมอกันหมดไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท แล้วแต่ว่าใครจะไปเรียนพิเศษก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

                     ผมเก็บแนวคิดนี้มาสรุปไว้ตอนท้าย

                                    ขอบคุณท่านทั้งสามครับ            

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น วิวัฒน์ บัตรเจริญ วันที่ตอบ 2012-05-04 19:09:53


ความคิดเห็นที่ 5 (2271333)

 สิ่งที่อยากพูด คนอื่นก็เขียนไปแล้ว แหะๆ

"การศึกษาเท่ากันทุกชั้นชน" ผมว่ามันตะหงิด ๆ อยู่นิดหน่อย

อย่างที่หลายความเห็นว่าไว้ อันที่จริงสิทธิ์ตามกฎหมายกำหนดไว้ก็จริง แต่ในชนบทยังสอนกันอย่างไร้ประสิทธิภาพ (ขออภัยครูบาอาจารย์ทั้งหลายนะครับ) คนจบ ป.ุ6 (ปัจจุบัน ม.3) อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้บวกเลขไม่เป็น นับว่าด้อยกว่า พ่อ-แม่ที่จบแค่ ป.4 มาก (วัดจากประสบการณ์  ไม่ได้วิจัย) การขยายการศึกษาภาคบังคับจึงยังเป็นแค่การขยายเวลาให้คนโง่อยู่ในโรงเรียนนานขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ทำให้มีการศึกษามากขึ้นเลย สมัยก่อนเด็กจบ ป.4 มีคุณภาพมาก เพราะหากสอบไม่ผ่าน จบไม่ได้ บางคนเรียนจนเป็นเด็กโข่ง จนเด็กรุ่นลูกเรียนทัน อับอายมากเลยต้องเอาไก่ไปให้ครูแลกกับการยอมให้จบ ป.4 สมัยก่อนเด็กจบ ป.4 เป็นแรงงานช่วยพ่อแม่ทำนาทำไร่ แต่สมัยนี้ ต้องอยู่ต่อในโรงเรียนจนจบ ม.6 ไม่ทำงาน ทำนาไม่เป็น ทำงานบ้านไม่เป็น เป็นแต่ขี่มอ"ไซค์ไปรับสาวไปแว้นซ์กัน ท้องป่องตั้งแต่ ม.ต้น แล้วก็หลบไปหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นสถานการณ์เก่าในรูปแบบใหม่ ที่แรงงานจากชนบทไม่มีที่ให้หวนกลับไปแล้ว เพราะทำนาไม่เป็น

แต่เอาเถอะ เป็นเป้าหมายที่ครูบาอาจารย์อยากไปให้ถึง ให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างน้อยผ่านภาคบังคับ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ครับ 

ขอบคุณที่นำกลอนดี ๆ มาเผยแผ่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ราศีิพิจิก วันที่ตอบ 2012-05-06 11:42:24


ความคิดเห็นที่ 6 (2271360)

 

                           

                     นึกถึงคุณ ราศีพิจิก และรอความคิดเห็นอยู่พอดี  ชอบอ่านทัศนะของแต่ละท่านซึ่งก็เสนอ

           ความคิดเห็นที่ผมถือว่ามีคุณค่ายิ่ง  ที่จริงได้ติดตามงานของพวกเรามาโดยตลอดเพืยงได้อ่านผล

           งานเท่านั้นแต่ยังมิได้พูดคุยถึงกัน  เมื่อรู้จักกันทางโลกอักษรและได้โต้ตอบกันก็เป็นนิมิตหมายที่ดี

                     ขอบคุณที่เสนอแนวคิดที่มีค่ายิ่ง  รอผลงานชิ้นใหม่ของคุณอยู่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วิวัฒน์ บัตรเจริญ วันที่ตอบ 2012-05-06 14:24:19


ความคิดเห็นที่ 7 (2271484)

แวะเยี่ยมด้วยรักนะครับ

อันที่จริงโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันทุกคนครับ

ส่วนองค์กรแห่งรัฐจัดให้ในแต่ละประเทศไม่เท่ากันครับ

ความทะยานอยากของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันครับ

ฉะนันความสนใจใฝ่รู้ของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน

ความรู้ทั้งหลายรอคอยผู้ใฝ่รู้เท่าเทียมกัน

ส่วนมากอยากรู้เรื่องคนอื่น สิ่งอื่น

ไม่ชอบที่จะเรียนรู้ตัวเอง

จึงทำให้คนไกลจากตัวเองไปเรื่อย

มัวเดินตามกระแส

เลยหลงทาง

คิดเล่นๆ นะครับ

คุณวิวัฒน์

ผู้แสดงความคิดเห็น ปรัชญ์ วลีพร (naimit-at-thaimail-dot-com)วันที่ตอบ 2012-05-07 08:20:41


ความคิดเห็นที่ 8 (2271499)

 

 

                         ขอบคุณครับ 

                  นานาทัศนะถือว่าแลกเปลี่ยนกันทำให้เกิดปัญญา  ยินดีที่มาเยี่ยมครับ

                  ชื่นชมผลงานของคุณปรัชญ์ วลีพร อยู่เสมอ  นับถือครับ

         

ผู้แสดงความคิดเห็น วิวัฒน์ บัตรเจริญ วันที่ตอบ 2012-05-07 09:49:37



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.