ReadyPlanet.com


กรมหลวงวงษาฯบุคคลดีเด่นวรรณกรรณ


ยูเนสโกยกย่อง"กรมหลวงวงษาฯ"

ข่าววันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

      ที่กระทรวงวัฒนธรรม คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 
แถลงว่า ตามที่ วธ. ได้เสนอชื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทในวาระครบ รอบ 200 ปีประสูติปี 2551 โดยยูเนสโกได้ประกาศให้ประชาคมโลกร่วมเฉลิมฉลองพร้อมกันเพื่อเชิดชูเกียรติคุณในฐานะทรงเป็นบุคคลสำคัญที่มีผลงาน เป็นที่ยอมรับในระดับโลกคนที่ 18 ของไทย ทั้งด้านวรรณกรรม การศึกษา อาทิ หนังสือโคลงสุภาษิตจินดามณี นิราศประธม โคลงฤษีดัดตน ตำราสรรพคุณยาของกรมหลวงวงษาฯ การแพทย์ และการต่างประเทศ เป็นต้น 



ผู้ตั้งกระทู้ อิสรชน :: วันที่ลงประกาศ 2007-11-20 05:38:02


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (938145)

ความจริงยังมีกวีไทยในอดีตอีกหลายท่านที่สมควรเสนอชื่อให้ยูเนสโก้ประกาศยกย่องเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมของโลก

ผู้แสดงความคิดเห็น นักกลอน วันที่ตอบ 2007-11-20 13:05:22


ความคิดเห็นที่ 2 (938146)
ยูเนสโก ยกย่อง“กรมหลวงวงษาธิราชสนิท”

ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก


 ผลงานปรากฏในฐานะเป็นนักปราชญ์ กวี นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูต ด้านราชสกุลสนิทวงศ์ ร่วมกับ วธ.แถลงข่าวจัดงานเทิดพระเกียรติ 19พ.ย.นี้

  คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้สนับสนุนการเสนอพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท (ต้นราชสกุล
“สนิทวงศ์”)  ภายใต้โครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก ประจำปี 2551-2552 นั้น โดยในการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 34 ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยแผนงานและวิเทศสัมพันธ์มีมติรับรองให้ยูเนสโกร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ จำนวน 67 รายการ โดยมีพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ในวาระ ครบรอบ 200 ปีของการประสูติ รวมอยู่ด้วยในลำดับที่ 64 ทั้งนี้ วธ. ร่วมกับราชสกุล สนิทวงศ์ โดยมี พ.อ.(หญิง)ท่านผู้หญิงนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จะร่วมกันแถลงข่าวการเฉลิมฉลองพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เป็นบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก ในวันที่ 19 พ.ย.นี้
  
    “สำหรับผลงานที่ยูเนสโกเสนอในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 177  มีดังนี้ พระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงประสูติ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2351   สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2414 พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่สนับสนุนการสถาปนาสันติวัฒนธรรม โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของยูเนสโกในการส่งเสริมการสมานฉันท์ ในสังคม ความเข้าใจ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความสำเร็จในการเจรจาทางการทูตและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงเป็นที่รู้จักในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้นโยบายด้านการต่างประเทศโดยใช้วัฒนธรรมและสันติภาพ ทำให้ประเทศไทยสามารถทำสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ  ได้ และยังทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ที่มีผลงานด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และสมุนไพร ผลงานที่ปรากฏในฐานะเป็นนักปราชญ์ กวี นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูต ทำให้สถาบันการศึกษา ตลอดจนมูลนิธิต่างๆ ได้ยกย่องและเชิญกรมหลวงวงษาฯ เป็นสมาชิกขององค์กรดังกล่าวด้วย“ รมว.วัฒนธรรม กล่าว


ผู้แสดงความคิดเห็น ต่อแต้ม วันที่ตอบ 2007-11-21 00:17:48


ความคิดเห็นที่ 3 (938147)

ใช่ที่คุณสุวรรณ เอ่ยพระนามว่า เจ้าจางวางหมอ  หรือไม่ครับ

กรมศิลปากร.รวมวรรณคดีห้าเรื่อง(บทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ บทละครเรื่องอณรุทร้อยเรื่อง กลอนเพลงยาวเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ กลอนเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ และบทละครเรื่อง ระเด่นลันได).ศิลปบรรณาคาร.2511
ภาคผนวก เพลงยาวเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ (ตอนต้นเรื่อง) ความว่า

จะกล่าวถึงหม่อมสุดนุชนาฎ
เป็นข้าบาทพระราชวังบวรสถาน
เป็นหม่อมห้ามขึ้นระวางนางอยู่งาน
ครั้นเสด็จเข้าพระนิพพานล่วงลับไป
คิดถึงพระเดชพระคุณให้มุ่นหมก
แสนเศร้าเปล่าอกตกเป็นหม้าย
ได้เห็นแต่หม่อมขำคอยช้ำใจ
รักใครแนบข้างไม่ห่างทรวง
ครั้นอยู่มาก็นิรานิราศสถาน
ลงมาทำราชการพระวังหลวง
ก็ขึ้นระวางเป็นนางห้ามตามกระทรวง
แต่ใจห่วงถึงหม่อมขำนั้นร่ำไป
ครั้นพบพักตร์ก็ตักเตือนชวนเพื่อนขำ
ให้ลงมาทำราชการพระวังใหญ่
ครั้นหม่อมขำยินยอมลงพร้อมใจ
กำหนดนัดวันไว้จะลงมา
จะจรทางสาชลก็จนใจ
บ่าวไพร่ไม่มีพายขายหน้า
ให้อักอ่วนป่วนใจอยู่ไปมา
จะยาตราตามถนนก็จนใจ
เป็นคราวขัดจัดกันจะมาบก
ไปยืมม่านท้าวนกก็ไม่ได้
จะขึ้นวอจรลีไม่มีใคร
ก็สั่งให้ยืมผ้าละว้าลาว
ให้บ่าวถือสี่มุมแล้วคลุมเพลาะ
ก็ย่างเหยาะมาในระวางกลางผ้าขาว
ออกถนนคนผู้ดูเกรียวกราว
มาพบเจ้าจางวางหมอก็รอรั้ง

เจ้าจางวางหมอ คือ กรมหมื่นวงศาสนิท แล้วเลื่อนเป็น กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ใน รัชกาลที่ 4

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tao&month=09-2006&date=03&group=6&gblog=1
ทรงเป็นหมอถวายพระโอสถเจ้านาย

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-11-21 20:05:58


ความคิดเห็นที่ 4 (938148)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

โดย ข่าวสด วัน อังคาร ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 04:17 น.
คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com

เรียน น้าชาติ ผมขอทราบพระประวัติกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่ยูเนสโกยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก ขอขอบคุณน้าชาติครับ

บุญทอง บางบัวทอง

ตอบ บุญทอง

ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยแผนงานและวิเทศสัมพันธ์ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก-UNESCO ครั้งที่ 34 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-23 ตุลาคม 2550 ณ กรุงปารีส มีมติรับรองให้ยูเนสโกร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ จำนวน 67 รายการ โดยมีพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ในวาระครบรอบ 200 ปี วันประสูติ 2551 อยู่ในลำดับที่ 64

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้านวม ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือน 8 แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จ.ศ.1170 ตรงกับวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2351 ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาปราง (ใหญ่) จากราชินิกุลบางช้าง อันถือเป็นตระกูลสำคัญที่สืบทอดความรู้ทางแพทย์แผนไทย ทรงเป็นพระอนุชาในรัชกาลที่ 3 และทรงเป็นต้นราชสกุลสนิทวงศ์

ทรงเข้ารับราชการกำกับกรมหมอ ดูแลรักษาโรคภัยของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ทรงกำกับราชการมหาดไทย ว่าพระคลังสินค้า ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเมือง การศึกษาของราชอาณาจักรสยามจนสามารถทำให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ที่มีผลงานด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และสมุนไพร ทรงนักปราชญ์ กวี นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูต สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธ เดือน 10 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะเมีย โทศก ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2414 รวมพระชันษาได้ 63 ปี

ผลงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีดังนี้ ผลงานด้านวรรณกรรมและการศึกษา ได้แก่ นิราศพระประธม เพลงยาวสามชาย เพลงยาวกลบทสิงโตเล่นหาง พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตามพระราชบัญชาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือจินดามณีฉบับพระนิพนธ์กรมหลวงวงษาธิราชสนิท หรือประถมจินดามณี เล่ม 2

ผลงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ได้แก่ ตำราสรรพคุณยาสมุนไพรไทย จำนวน 166 ชนิด เป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ แจกแจง และวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับประกาศนียบัตรถวายเป็นพระเกียรติยศจากสถาบันการแพทย์ของยุโรป และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ชาวต่างชาติในสยามเรียกขานพระองค์ว่า The Prince Doctor อีกทั้งพระองค์ยังทรงจารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหิน บรรยายถึงการบำบัดโรคด้วยสมุนไพร และการออกกำลังกายในท่าต่างๆ ที่เรียกว่า ฤๅษีดัดตน ที่มีเรียงรายอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์

ส่วนผลงานด้านต่างประเทศ ได้แก่ สนธิสัญญาทางไมตรีจิตและพาณิชย์ระหว่างสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษและกษัตริย์สยาม หรือสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) เพื่อถ่วงดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจต่างๆ

ยูเนสโกยกย่องพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่สนับสนุนการสถาปนาสันติวัฒนธรรม โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของยูเนสโกในการส่งเสริมการสมานฉันท์ในสังคม ความเข้าใจ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความสำเร็จในการเจรจาทางการทูตและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ทำให้ทรงเป็นที่รู้จักในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะนโยบายด้านการต่างประเทศโดยใช้วัฒนธรรมและสันติภาพ ทำให้ประเทศไทย หรือสยาม ทำสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น นักกลอน วันที่ตอบ 2007-12-19 11:48:54


ความคิดเห็นที่ 5 (1923754)
วันพุธ เดือน10ขึ้น6ค่ำ มะเมีย โทศก ตรงกับ 31 สิงหาคม 2413 นะครับ ข้างบนไม่ถูกต้อง
ผู้แสดงความคิดเห็น นายไพศาล วันที่ตอบ 2009-04-07 12:31:22


ความคิดเห็นที่ 6 (4230346)

 ท่านบันทึกตำราสมุนไพรไว้อย่างไรบ้าง

ผู้แสดงความคิดเห็น Suthawee (Suthawee1201-at-gmail-dot-cok)วันที่ตอบ 2017-12-07 10:58:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.