ReadyPlanet.com


ศรีศักร วัลลิโภดม - ล้อม เพ็งแก้ว 2 เสาหลัก วิชาการ 2 รางวัล ครูของแผ่นดิน


 
จาก นสพ.มติชนรายวันฉบับวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10726

ศรีศักร วัลลิโภดม - ล้อม เพ็งแก้ว 2 เสาหลัก วิชาการ 2 รางวัล ครูของแผ่นดิน




ในแวดวงประวัติศาสตร์สังคม และรวมความไปถึงงานด้านมานุษยวิทยา ต้องยอมรับว่านักวิชาการที่ทำหน้าที่เป็น ครูของแผ่นดิน ในลำดับต้นๆ ที่ชื่อมักได้รับการกล่าวถึงและอ้างอิงอยู่ตลอดเวลา มีไม่มาก

หนึ่งในนั้นคือ "รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม" นักวิชาการมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งปีนี้ได้รับรางวัลนักวิชาการดีเด่น รางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ (Fukuoka Asian Culture Prizes) ประจำปี 2550

รางวัลที่มอบให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะผลงานที่จรรโลงและสร้างสรรค์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย ก่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าวัฒนธรรมเอเชีย และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาค

ที่ผ่านมามีคนไทยที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว 4 คน คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ถวัลย์ ดัชนี

อาจารย์ศรีศักร ได้รับการยกย่อง ในฐานะ...

"นักมานุษยวิทยาและโบราณคดีที่ศึกษาประเทศไทยและบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" งานของท่านเป็นการเชื่อมโยงความรู้ความชำนาญด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์และคติชนวิทยา โดยใช้แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ก่อให้เกิดมุมมองและข้อค้นพบใหม่ ที่ฉีกแนวออกไปจากการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติและพงศาวดาร และมีคุณูปการอย่างสูงต่อความเข้าใจ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนอีกคนอาจารย์ "ล้อม เพ็งแก้ว" ผู้ที่ไม่เพียงคนเมืองเพชรเท่านั้นที่ยกย่องเป็นผู้รู้ เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่รอบรู้อย่างลึกซึ้งทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม

ทั้งยังเป็นคณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ปรึกษาของศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี

แม้ว่าอาจารย์ล้อมจะเกษียณตั้งแต่ พ.ศ.2535 แต่ปัจจุบันยังคงพำนักอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี อ่านหนังสือ ศึกษาเรื่องราวในท้องถิ่นอยู่เรื่อยไป และยังทำหน้าที่เป็นครูสำหรับผู้ที่ใฝ่รู้ทุกคน

ปีนี้ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มอบ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยวิทยา เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติคุณทางวิชาการ ในฐานะที่ อาจารย์ล้อม เป็นทั้งนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อชุมชน เป็นนักอนุรักษ์ และนักต่อสู้ ใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ท้องถิ่น ประเทศชาติ

บทความและข้อเขียนของอาจารย์ล้อมเป็นประโยชน์มหาศาลไม่เพียงต่อท้องถิ่นเพชรบุรี แต่ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งคณาจารย์และนักศึกษายังได้ใช้ผลงานเขียนของท่านเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงในการศึกษาการเรียนการสอนการวิจัยทางด้านมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด

นอกจากนี้ท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษในรายวิชาทั้งระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท

จึงนับเป็น 2 บุคคลแห่งปีที่เป็นเสาหลักทางด้านวิชาการของไทย

หน้า 33


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-23 11:10:05


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.