ReadyPlanet.com


เค้าอดีตราชบุรี


เค้าอดีตราชบุรี
24 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 06:00:00
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่
พระปรางค์วัดมหาธาตุ ภายในโถงยอดปรางค์มีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่สมัยต้นอยุธยา
มณฑลราชบุรีเคยเป็นหัวเมืองใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ครอบคลุมอาณาเขต 5 จังหวัด
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์นำมาซึ่งการแสวงหาหลักฐานและข้อมูลความรู้ ทว่าคำตอบที่ได้ในเรื่องหนึ่งๆ อาจไม่ใช่ข้อสรุปประการเดียว ภารกิจของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลมานาน 45 ปี ก็เป็นการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อให้คนหมู่ใหญ่ได้ใช้อ้างอิง โดยรับฟังข้อมูลและคำตอบที่แตกต่างหลากหลาย จากสถาบันทางประวัติศาสตร์แห่งอื่นๆ เช่นกัน
วาระขึ้นกับรัฐบาล
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่
ตำหนักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
 ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยคนปัจจุบัน เผยว่าใน พ.ศ.2505 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยขึ้น โดยมีวาระสำคัญคือการต่อสู้เรื่องเขาพระวิหารที่เป็นประเด็นขัดแย้งกับกัมพูชา ประธานกรรมการฯ คนแรกคือพระยาอนุมานราชธน
 "ตอนนี้ผมเป็นประธานกรรมการฯคนที่ 5 ครับ ถ้ารัฐบาลมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เราก็จะเป็นผู้ค้นคว้าให้ แล้วแต่ว่าเขาจะปรึกษามาหรือไม่ พวกเราพยายามเขียนตำรามาเพื่อให้คนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ เคยมีคนคัดค้านว่าไม่ควรทำ คล้ายๆ ว่าจะทำให้คนอื่นไม่กล้าเขียน ซึ่งในความเป็นจริงแต่ละสถาบันสามารถทำได้ จุฬาฯ เกษตรฯ ธรรมศาสตร์ หรือหน่วยงานไหนๆ ก็ควรค้นคว้าประวัติศาสตร์ของตัวเองจะได้เจริญรุ่งเรืองไป แต่อย่างน้อยต้องมีฉบับหนึ่งที่อ้างอิงได้ ไม่จำเป็นว่ากรรมการชำระประวัติศาสตร์เขียนแล้วคนอื่นเขียนไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น"
 ดร.ประเสริฐ บอกด้วยว่าตำแหน่งนี้ไม่มีวาระ ขณะนี้ตนอายุเกือบ 90 ปีแล้วยังคงทำหน้าที่นี้อยู่
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่
สองผู้อาวุโส (ซ้าย) อ.จุลทัศน์ พยัคฆรานนท์ และ ม.ร.ว.ศุภวัตย์ เกษมศรี
 "เดิมกรรมการชุดนี้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วโอนมาที่กระทรวงศึกษาธิการ ตอนนี้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เขาก็ฝากงานส่วนใหญ่ไว้ที่กรมศิลปากร ซึ่งมีผู้แทนเป็นกรรมการด้วย"
 อาจารย์จุลทัศน์ พยัคฆรานนท์ วัย 75 ปี ผู้รอบรู้ด้านไทยศึกษา หนึ่งในกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย เล่าว่าภารกิจของคณะกรรมการฯ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะกำหนดวาระเรื่องใดให้ศึกษาค้นคว้า
 "ขณะนี้เราแบ่งการทำงานเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นการชำระข้อมูล กลุ่มที่สองเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ มีทั้งคณะอนุกรรมการพระราชกรณียกิจรายวันรัชกาลที่ 5 คณะอนุกรรมการหมายรับสั่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีคุณชายศุภวัตย์ เกษมศรี เป็นประธาน คณะอนุกรรมการสมุดภาพประวัติศาสตร์ ผมเป็นประธาน คณะอนุกรรมการศิลาจารึก คณะอนุกรรมการเขียนประวัติศาสตร์สุโขทัย ท่านอาจารย์ประเสริฐ เป็นประธาน อนุกรรมการเขียนประวัติศาสตร์อยุธยา ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นประธาน อนุกรรมการเขียนประวัติศาสตร์ธนบุรี รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์ เป็นประธาน และอนุกรรมการเขียนประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ คุณชายศุภวัตย์เป็นประธาน"
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่
วัดโขลงสุวรรณคีรี ส่วนหนึ่งของโบราณสถานเมืองคูบัว
 คณะอนุกรรมการแต่ละชุดจะแต่งตั้งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ตามความชำนาญเฉพาะเรื่อง
 "ปัญหาคือการทำงานของเราไม่มีความต่อเนื่องเพราะขึ้นกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลล้มก็ล้มด้วย กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ก็กินเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ตั้งมาใหม่ก็อาจล้มอีก งานทุกเรื่องจึงช้า ขณะนี้งานพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 5 เสร็จแล้ว ในส่วนของภาค รศ.112 แต่ปีนี้ยังไม่มีงบจัดพิมพ์ แม้แต่จะนัดประชุมกรรมการกันทีก็ติดขัด ตอนนี้ต้องหยุดเพราะงบหมด คงเริ่มได้ใหม่หลังเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน บางครั้งเราต้องจัดประชุมกันเองเพื่อให้งานเดิน อาศัยห้องประชุมของกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์บ้าง จดหมายเหตุแห่งชาติบ้าง หอสมุดแห่งชาติบ้าง สลับกันไป"
 ความกังวลของนักวิชาการอาวุโสผู้นี้ยังเลยไปถึงการส่งไม้ผลัดให้กับนักวิชาการรุ่นใหม่
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่
เรือประจำตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
 "พวกเราทำงานด้วยใจ แต่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่เสียมาก เราจำเป็นต้องสร้างนักวิชาการรุ่นใหม่มารับช่วงต่อ ตอนนี้ก็พอมีบ้าง ที่อยากเสนออีกเรื่องคืออยากให้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโบราณขึ้นอีกชุดหนึ่ง ทำเรื่องเทคโนโลยีสมัยโบราณโดยเฉพาะ"
ลงพื้นที่เมืองโบราณ
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่
ตราสุริยมณฑลบนเก๋งเรือ
 ต้นเดือนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ หลายชุดเลือกลงพื้นที่สำรวจจังหวัดราชบุรี โดยมี อ.จุลทัศน์ เป็นวิทยากรหลัก และมีคณะนักวิชาการอาวุโสอย่าง ม.ร.ว.ศุภวัตย์ เกษมศรี รองประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และ รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์ นายกสมาคมประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเดินทางด้วย
 คณะเดินทางเริ่มต้นเยี่ยมชมวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี อ.จุลทัศน์ อธิบายความเป็นมาของบริเวณโดยรอบวัดว่าเป็นเมืองโบราณระยะที่สอง
 "ที่นี่เป็นบริเวณเมืองเก่า ศิลปวัตถุบอกให้รู้ว่าน่าจะเก่าก่อนสมัยอยุธยา โดยเฉพาะกำแพงศิลาแลงและใบเสมาเดิม รูปลักษณ์คล้ายศิลปะลพบุรีหรือศิลปะขอม น่าจะอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนองค์พระมหาธาตุเจดีย์นั้นเป็นสกุลช่างเมืองเพชรบุรีนี่เอง พระวิหารหลวงศิลปะต้นอยุธยา องค์ปรางค์เป็นลักษณะอยุธยา เดิมเมืองระยะที่หนึ่งอยู่ที่เมืองคูบัวอายุสมัยทวารวดี เมื่อเมืองที่หนึ่งหมดระยะแล้วจึงย้ายมาที่นี่"
 ต่อมามีการเปลี่ยนเมืองสู่ระยะที่สามตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง เป็นที่ตั้งป้อมค่ายในสมัยรัชกาลที่ 2 ครั้นล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 5 จึงย้ายเมืองมาทางฝั่งขวาของแม่กลองเป็นเมืองระยะที่สี่ในปัจจุบัน
 อ.จุลทัศน์ อธิบายลักษณะทางศิลปะต่อว่าระเบียงประจำพระธาตุที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่แต่ละห้องระหว่างเสา เรียกว่าพระระเบียง มีทั้งแบบระเบียงเหลี่ยมและระเบียงกลม ส่วนใหญ่คนมักเข้าใจผิดเรียกว่า "ระเบียงคด" ซึ่งไม่มีความหมาย มีแต่คำว่า "คดระเบียง" หมายถึงช่วงเสาที่หักข้อศอก
 ระหว่างเดินวนรอบพระธาตุนั้น คณะอนุกรรมการฯ บางคนสังเกตเห็นฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่พระระเบียงด้านทิศใต้ จารึกชื่อของนายผี-อัศนี พลจันทร์ ชาวราชบุรี แสดงว่ามีการนำอัฐิของนายผีมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระองค์นี้
 บนยอดปรางค์ประธานนั้นมีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน อายุประมาณกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นเรื่องราวของพระมหาสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่บัดนี้ลายจิตรกรรมเลือนไปมากแล้ว
 "ผมมาดูเมื่อ 10 ปีก่อนยังเห็นลายชัดอยู่ น่าเสียดายมากถ้ามันจะจางหายไป ช่างโบราณใช้สีจากดินแดงเทศให้สีน้ำตาลอมแดง สีขาวนวล สีดำ และสีครามอมเขียวจากมะกอก เรารู้สมัยเพราะตอนต้นอยุธยายังไม่ติดทอง พอปลายอยุธยาถึงนิยมติดทอง ด้านหลังของภาพพระพุทธรูปแต่ละองค์มีต้นไม้ไม่เหมือนกัน เป็นต้นไม้ประจำพระพุทธองค์ที่ตรัสรู้ มีเรือนแก้วอยู่ด้านหลัง"
 คณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปชมค่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ตั้งเมืองระยะที่สาม จากนั้นเยี่ยมชมเมืองโบราณคูบัว เมืองระยะที่หนึ่ง
 เมืองคูบัวอยู่ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันไปทางทิศใต้ 5 กิโลเมตร เป็นเมืองในสมัยทวารวดี มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 2,000 เมตร เช่นเดียวกับเมืองโบราณแห่งอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย เช่น เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี และเมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี
 บริเวณเมืองโบราณทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง มีเนินดินโบราณสถานรวม 44 แห่ง เป็นฐานเจดีย์ที่สร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน การขุดแต่งทางโบราณคดีที่ผ่านมาพบภาชนะดินเผารูปพระโพธิสัตว์ เทพ นาค ครุฑ คนธรรพ์ ยักษ์ รากษส คนแคระ สิงห์ ช้าง ม้า เป็นต้น โดยเฉพาะเศียรพระโพธิสัตว์ดินเผาที่แสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูง คล้ายคลึงกับภาพเขียนในถ้ำอชันตาของอินเดีย นอกจากนี้ยังพบรูปพระโพธิสัตว์ในท่าตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) ทรงศิราภรณ์ และเครื่องประดับอื่นๆ เช่นเดียวกับประติมากรรมในศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะ ที่พบในถ้ำอชันตาและถ้ำเอลโลราในอินเดีย
 บรรดาเนินดินโบราณสถานเหล่านี้ พุทธสถานที่โดดเด่นและสูงใหญ่ที่สุดคือวัดโขลงสุวรรณคีรี ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองคูบัว
ตามรอยท่านช่วง บุนนาค
 อ.จุลทัศน์ นำคณะอนุกรรมการฯ สำรวจประวัติศาสตร์จากจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อ้างถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้รับราชการใต้เบื้องพระยุคลบาทถึง 5 แผ่นดิน (พ.ศ.2351-2425) ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 5
 เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ริมแม่น้ำแม่กลอง ตัวอาคารเคยใช้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดมาก่อน และได้เปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2531 ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในราชบุรี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุจากเมืองโบราณบ้านคูบัว วัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ เช่น ลาวโซ่ง กะเหรี่ยง ลาวพวน และการผลิตโอ่งราชบุรี
 บริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารเก่าแก่ 2 ชั้น เคยเป็นตำหนักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในช่วงบั้นปลายชีวิต
 ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้รายละเอียดว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้มีส่วนร่วมในการอัญเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 อัญเชิญวชิรญาณภิกขุขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับเลือกจากที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินทั่วราชอาณาจักรระหว่าง พ.ศ.2411-2416 เมื่อพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วงเวลานี้ท่านไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญอีก แต่ชอบออกไปตรวจราชการตามหัวเมืองต่างๆ และพำนักอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นเวลา 9 ปี และถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ.2425 รวมอายุได้ 75 ปี
 เครื่องใช้ส่วนตัวของท่านที่ยังคงหลงเหลือเป็นหลักฐาน ได้แก่ เรือประจำตำแหน่งพร้อมเก๋งเรือ 3 ลำ อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ตัวเรือลำหนึ่งเก็บไว้ที่ลานวัดบ้านซ่อง ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี อีกสองลำเก็บไว้ใต้ถุนศาลาการเปรียญไม้ขนาดใหญ่ที่ผุพังไม่แพ้กัน ส่วนเก๋งเรือสองหลังอยู่บนศาลาการเปรียญเก่า
 สภาพศาลาริมแม่น้ำขนาดใหญ่โตนี้บ่งชี้ถึงสถานะของวัดเมื่อครั้งอดีต ปัจจุบันถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ด้วยทางวัดไม่มีงบประมาณมาปรับปรุงบูรณะ
 อ.จุลทัศน์เล่าว่าเรือประจำตำแหน่งของท่านช่วงเป็นเรือเหวดโบราณ ลักษณะเป็นเรือหัวใบมีดโกน มี 4-6 แจว แต่เดิมตรงกลางลำเป็นที่ตั้งเก๋งเรือ ด้านหน้าเก๋งมีตรา "สุริยมณฑล" ประจำตำแหน่ง ลักษณะเป็นรูปหน้าคนอยู่ในวงรัศมีพระอาทิตย์
 "ในจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 5 เคยพูดถึงเรือของสมเด็จเจ้าพระยาฯ บอกว่าท่านบริจาคพวกเครื่องถ้วยชามให้กับวัดบ้านซ่อง ท่านมาวัดนี้บ่อย เรือของท่านก็เก็บไว้ที่วัดนี้ ประมาณ พ.ศ.2525 ผมมีโอกาสมาสำรวจครั้งแรก ใช้เวลา 3 ปีถึงตามพบ เสียดายว่ามันผุพังเกือบหมดแล้ว"
 การสำรวจพื้นที่ท้องถิ่นจากหลักฐานจดหมายเหตุผ่านพ้นไปอีกวาระหนึ่ง คณะอนุกรรมการฯ ในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ยังคงมีภารกิจอื่นๆ ที่ต้องติดตามต่อ เพื่อนำมาเรียบเรียงเป็นประวัติศาสตร์ฉบับอ้างอิงได้สำหรับสาธารณชน
ยุวดี มณีกุล/นสพ.กรุงเทพธุรกิจ


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-30 11:08:07


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937550)

ขอบคุณในการนำสิ่งดี ๆมาแชร์

แบ่งปัญความรู้
ผู้แสดงความคิดเห็น เทาแดง วันที่ตอบ 2007-07-30 13:08:16


ความคิดเห็นที่ 2 (937551)

ขอบคุณในการนำสิ่งดี ๆมาแชร์

แบ่งปัญความรู้
ผู้แสดงความคิดเห็น เทาแดง วันที่ตอบ 2007-07-30 13:08:16


ความคิดเห็นที่ 3 (1815579)

หาประวัติวัดโขลงสุวรรณคีรี 

 

หาประวัติวัดโขลงสุวรรณคีรี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เค้ก (c-dot-a-dot-k-dot-e_cake-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2008-08-07 17:33:34



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.