ReadyPlanet.com


อยุธยายศล่มแล้ว


อยุธยายศล่มแล้ว

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม




ภาพลายเส้นสภาพปรักหักพังโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุง (ภาพจาก HENRI MOUHOT Travels in Siam, Cambodia and Lao 1858-1860.)
ตัดทอนมาปรับปรุงจากคำนิยมของ อาจารย์ธิดา สาระยา

เขียนให้หนังสือ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310

ของ สุเนตร ชุตินธรานนท์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ.2552

ภาพประกอบและคำอธบายภาพได้จากหนังสือเล่มนี้ พิมพ์ครั้งที่ 8 ราคา 125 บาท




งานเขียนทางประวัติศาสตร์เรื่อง สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310 : ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง ของอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ มีปฏิสัมพันธ์กับการเสนอของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ท่านแรก คือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเสนอไว้ในพระนิพนธ์ ไทยรบพม่า ว่า

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นั้น เป็นเพราะไทยอ่อนแอมีการแตกแยกกันภายในมาช้านานแล้ว ทางพม่าเองเมื่อแรกยกกองทัพล้ำแดนเข้ามาก็มิได้ตั้งใจตีไทยอย่างจริงจัง เข้ามาในลักษณะกองโจรปล้นสะดมกวาดต้อนผู้คนมากกว่า พม่าเห็นไทยอ่อนแอก็รุกล้ำเรื่อยมาจนกลายเป็นสงครามใหญ่ กองทัพพม่าที่เข้ามาก็ไม่ชำนาญภูมิประเทศเท่าใดนัก ซึ่งถ้าทางไทยเข้มแข็งก็อาจรบพุ่งขับไล่พม่าออกไปได้โดยไม่ยาก

พระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปรับเชื่อถือกันเรื่อยมา โดยเฉพาะเรื่องความอ่อนแอของเมืองไทยสมัยนั้นกลับเป็น "ปัญหาประวัติศาสตร์" อันมีผู้หยิบยกนำไปขยายและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ

จนกระทั่งไม่นานมานี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนงานตีพิมพ์เป็นเล่ม โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมภายใต้ชื่อเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ตรงข้ามกับความเห็นของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็คือ ศ.ดร.นิธิเห็นว่า

การที่พม่าส่งกองทัพมาตีเมืองไทยสมัยนั้นไม่ใช่มาแบบกองโจรเพื่อปล้นสะดม ครั้นเห็นไทยอ่อนแอก็เลยรุกล้ำเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา หากเป็นสงครามที่พม่าตั้งใจจะทำลายกรุงศรีอยุธยาให้พินาศ ให้ราชอาณาจักรแตกสลายโดยสิ้นเชิง มีการตระเตรียมกำลังและวางแผนกันอย่างดีแล้ว หลักฐานที่แสดงความประสงค์และการเตรียมการของพม่านั้น ปรากฏเด่นชัดในพงศาวดารอันนักประวัติศาสตร์ไทยละเลยเสียนั้นเอง

(ซ้าย) การฝึกปรือการรบประชิดตัวของทหารพม่า (ขวา) ภาพแสดงพลเดินเท้าของพม่า ซึ่งเป็นกำลังรบหลักที่พม่าใช้ในการตีกรุงศรีอยุธยา


ขณะเดียวกัน ศ.ดร.นิธิก็เสนอว่า ที่ทางไทยประสบความพ่ายแพ้จนเสียกรุงนั้น มิใช่เรื่องการอ่อนแอทางทหารแต่เพียงอย่างเดียว หากเป็นเรื่องการขาดระบบในการป้องกันบ้านเมืองโดยตรง พร้อมกันนั้นก็อธิบายและวิเคราะห์การเสื่อมสลายของระบบการป้องกันตนเองว่า เริ่มเสื่อมและหมดประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง



ขัดกรมดำรงฯ

งานค้นคว้าของ อ.สุเนตรเรื่องนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของ ศ.ดร.นิธิ ในเรื่องที่ว่า การส่งกองทัพของพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ไม่ใช่มาแบบกองโจรดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอไว้ หากมีแผนและเตรียมการอย่างดี ทั้งสองท่านก็อ้างพงศาวดารพม่ายืนยันและประเมินความเชื่อถือได้ของข้อมูลแล้วเช่นกัน

แย้งนิธิ

แต่ทว่า อ.สุเนตรแลเห็นสิ่งที่แตกต่างไปจาก ศ.นิธิว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีระบบป้องกันตัวที่ดี

อ.สุเนตรวิเคราะห์หลักฐานจากพงศาวดารพม่าที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อพม่ายกกำลังมา ไทยต้านสู้อย่างเข้มแข็ง กว่าจะตีได้ พม่าต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ทำให้อาจแย้งได้ว่าหากไม่มีระบบการป้องกันตัวที่ดีแล้วคงไม่สามารถต้านพม่าอยู่นานกว่า 1 ปี อาจารย์สุเนตรเสนอว่าการที่พม่าสามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้นเพราะพม่ามียุทธวิธี มีความชำนาญด้านภูมิประเทศ อีกทั้งเตรียมตัวสำหรับทำสงครามมาดีกว่า มีการวางแผน เตรียมกำลัง เสริมกำลัง ตัดกำลัง พร้อมที่จะทำสงครามระยะยาวนานได้ดีกว่าไทย



วิชาการก้าวหน้าสง่างามในความขัดแย้ง

เนื้อหาสาระงานเขียนประวัติศาสตร์เรื่องนี้ของ อ.สุเนตร จึงมุ่งที่จะให้รายละเอียดและการวิเคราะห์เกี่ยวกับการสงครามเกือบทุกแง่มุม จนผู้อ่านแลเห็นภาพพจน์ทั้งในด้านยุทธศาสตร์การเดินทัพ เส้นทางเดินทัพ ตลอดจนขั้นตอนต่างๆ ในการยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยก่อนๆ จนกระทั่งสงครามครั้งเสียกรุงคราวสุดท้ายอย่างชัดเจน นำมาซึ่งความรู้ความเข้าใจเรื่องความมุ่งหมายของสงคราม การทำสงคราม และผลของสงครามแตกต่างไปจากเรื่องราวใน ไทยรบพม่าอย่างมากมาย

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า งานชิ้นนี้จะลบล้างงานบุกเบิกของสมเด็จท่านเกี่ยวกับสงครามไทย-พม่าแต่อย่างใด เพราะทัศนคติของนักประวัติศาสตร์อาชีพในปัจจุบันคือการหามุมมองใหม่ให้แก่ประเด็นและปัญหาในประวัติศาสตร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อคิดเห็นและความรู้บนพื้นฐานของการตีแผ่ข้อมูลหลักฐานอย่างมีระเบียบวิธีโดยไม่จำเป็นต้องหาข้อยุติ

(บน) ชัยภูมิที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีแม่น้ำเป็นปราการธรรมชาติล้มอรอบ ยากแก่การโจมตี (ภาพเขียนสีน้ำมันกรุงศรีอยุธยา วาดโดย โยฮันเนส วิงโบนส์ เขียนในราวปี พ.ศ. 2208) (ล่าง) ภาพทหารม้าของพม่า ซึ่งเป็นกองทหารที่พม่านำมาใช้รบเมื่อเข้าตีกรุงศรีอยุธยา


การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดสามารถศึกษาหรือนำเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มาเสนอให้เห็นภาพรวมทั้งหมดอย่างถูกต้องทุกแง่ทุกมุมได้ แต่ละท่านต้องอาศัยความถนัดในสิ่งที่ตนสนใจ อาจเป็นแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งมาศึกษาแล้วพยายามสร้างความสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นภาพรวม

การแตะต้องปัญหาทั้งหมดจากแง่มุมที่ต่างกันนี้เอง เป็นเหตุให้มีการวิเคราะห์และตีความแตกต่างกัน การรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์จึงต้องรับทราบทั้งความขัดแย้งและความสอดคล้องในการเสนอผลงานและหลักฐานข้อมูล

ฉะนั้น งานเขียนของ อ.สุเนตร จึงมีคุณค่าแก่การศึกษาประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เกื้อกูลให้เกิดความรับรู้ใหม่ ท่ามกลางการขัดแย้งในเรื่องดีงาม



ข้อขัดแย้ง เรื่องกรุงแตก

เห็นจะไม่ต้องกล่าวต่อไปว่า ความอ่อนแอของกรุงศรีอยุธยานั้นมีอยู่อย่างแน่นอน และเป็นเหตุสำคัญทีเดียวที่ทำให้เสียกรุงแก่พม่า

ในเรื่องเช่นนี้ อ.สุเนตรได้ประเมินข้อมูลและหลักฐานทางฝ่ายไทยประกอบอยู่เหมือนกัน แม้จะเน้นหนักที่พงศาวดารพม่าระบุว่าทางไทยสู้รบอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะที่จริงแล้ว ข้อเสนอของ อ.สุเนตรสัมพันธ์กับความคิดของ ศ.ดร.นิธิ ที่เห็นว่าทางฝ่ายไทยขาดระบบในการป้องกันตัวเอง โดยที่ อ.สุเนตรกลับมองเห็นว่า การสู้รบของไทยต่อพม่าอย่างเข้มแข็งแสดงถึงระบบการป้องกันตัวเองที่มีอยู่แล้วเป็นอย่างดี แต่พ่ายแพ้ทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ซึ่งพม่ามีความเข้าใจมีประสบการณ์เหนือกว่า

ในการนำเสนอปัญหา อ.สุเนตรได้พยายามคลี่คลายเรื่องราวอันเป็นปัญหาในประวัติศาสตร์ไทยนี้ โดยตีแผ่หลักฐานทางฝ่ายพม่าอย่างละเอียดอันเป็นจุดเด่นของงานซึ่งยังไม่เคยมีผู้ใดทำอย่างเจาะจงมาก่อน ผู้เขียนตั้งประเด็นอันจะกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าต่อไปสำหรับการมองปัญหาเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยแสวงหาคำตอบผ่านการทำความเข้าใจสถานการณ์ในประวัติศาสตร์ของพม่า และพยายามเทียบเคียงกับสถานการณ์ทางฝ่ายไทย

นอกจากนั้น ผู้เขียนได้ตั้งแง่มุมมองให้กว้างขึ้น ใส่ใจกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์พม่าอันมีผลต่อลักษณะการทำศึกสงคราม ความคิดเบื้องหลัง และความมุ่งมั่นในการสร้างยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอันมีผลชี้ขาดถึงชัยชนะ

ผู้เขียนบันทึกไว้ว่า "แต่สิ่งที่นักการทหารไทยคาดไม่ถึงและไม่มีทางจะคาดถึงคือ พม่าได้ปรับยุทธศาสตร์การตีพระนครเสียใหม่ โดยไม่ยอมให้สภาพทางธรรมชาติมาเป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการทางทหารเช่นที่เคยเป็นมา" แสดงให้เห็นว่าทำเลอันได้เปรียบของกรุงศรีอยุธยาที่ทำให้ไทยตั้งรับศึกรอน้ำหลากมาขับไล่พม่าไปเมื่อหน้าน้ำไม่มีผลบีบบังคับพม่าให้ถอยกลับอีกต่อไป

ขณะเดียวกันผู้เขียนก็โต้แย้งผลงานของนักวิชาการที่มีมาก่อนว่า ทางฝ่ายไทยนั้นมิได้อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม ภาพสงครามช่วงสุดท้ายของอาณาจักรอยุธยาไม่ได้ไร้ทิศทาง แต่มีการเตรียมการและวางแผนรัดกุม

แง่มุมมองเช่นนี้จึงเปิดปัญหาต่อไปว่า "ความเสื่อม" ซึ่งเคยเชื่อว่า "เป็นลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ทางสังคมการเมืองสมัยอยุธยาตอนปลาย" และสัมพันธ์กับการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมของระบบ การจลาจลในสังคม ความวุ่นวายทางจริยธรรม เหล่านี้คือเงื่อนไขที่เพียงพอหรือหาไม่ในการมองเพื่อเข้าใจปัญหาประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้



อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้อยู่เพียงหาข้อยุติว่าใครเป็นผู้ถูกต้องในเรื่องนี้ หากทว่าคำอธิบายจากประวัติศาสตร์ที่เราต้องการเปิดเผยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐาน เพื่อให้ได้ซึ่งคำตอบกระตุ้นความคิดและภูมิปัญญาของผู้อ่านเป็นสำคัญด้วย เพราะเรารู้อยู่ว่าเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาในประวัติศาสตร์นั้นเกิดมาแล้วทั้งสิ้น ขาดอยู่เพียงคำอธิบายให้เข้าซึ้งถึงตัวปัญหาเท่านั้น

ข้าพเจ้าเชื่อว่าผลงานของ อ.สุเนตรนี้ได้ตอบสนองความต้องการทางปัญญาแก่ผู้อ่านที่สนใจใคร่รู้อยู่มากทีเดียว

หน้า 20



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-27 15:47:31


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.