ReadyPlanet.com


สื่ออักษรกลอน " กลบท " - 2


(ตัวอย่างกลอนกลบท )

เจ้าเซ็นเต้นต้ำบุด

      หรีดหริ่ง กริ่งร้อง ครองคืนค่ำ                   ฟ้าฉ่ำ เดือนฉาย สายน้ำสอง

รวมกัน  พลันกว้าง ทางสีทอง                         โสมส่อง ผ่องสม ชมชื่นชวน

เดือนหงาย หมายงาม ตามใจต่อ                      เฝ้ารอ ขอรัก หักใจหวน

ไม่มา พาหม่น ทนคร่ำครวญ                           รัญจวน ชวนใจ ไปหมายปอง

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สายน้ำสีทอง”

-  เป็นกลอน ๗ ทั้งหมด ทุกวรรค

-  การแบ่งพยางค์ในวรรค ช่วงแรกมีสองพยางค์   ช่วงกลางมีสองพยางค์   ช่วงหลังมีสามพยางค์

-  พยางค์ที่สองในวรรคต้องไปสัมผัสอักษรกับพยางค์ที่สี่ในวรรคนั้น  เช่น  หริ่ง-ร้อง,   ฉ่ำ-ฉาย   เป็นต้น  

-  พยางค์ที่สี่ในวรรคต้องไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าของวรรคนั้น  เช่น  ร้อง-ครอง,   ฉาย-สาย  เป็นต้น  

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สองในวรรค ๒  เช่น  ค่ำ-ฉ่ำ,    ต่อ-รอ  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สองในวรรค ๔  เช่น  ทอง-ส่อง,  ครวญ-รัญจวน  เป็นต้น        

นารายณ์ประลองศิลป์

      อย่าเบ่งเก่ง อย่าบ้ากล้า อย่าเบือนกล่าว       มีข่าวคราว มาขานค้าน ไม่ขัดข้อง

คิดเห็นเป็น ค้นหาป่า คืนให้ปอง                     เหมือนมองทอง เมื่อมีที่ มากมีทาง

ตั้งจิตคิด ต้องจำคำ ตามใจเคร่ง                       เมื่อเพ่งเล็ง มีพร้อมล้อม ไม่พลาดล่าง

ป่าเราเก่า ป้องรู้กู้ เป็นแหล่งกลาง                     โครงสร้างวาง คอยใส่ไว้ คงสืบวัน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “คืนป่าให้ชุมชน”

-  เป็นกลอน ๙ ทั้งหมด ทุกวรรค   แบ่งเป็นสามช่วง ช่วงละสามพยางค์

-  พยางค์แรกในวรรคช่วงต้น  ช่วงกลาง  และช่วงท้ายในวรรค  ใช้คำเดิม หรือสัมผัสสระ เช่น   อย่า-อย่า-อย่า,   

   มี-มา-ไม่,   คิด-ค้น-คืน,   เหมือน-เมื่อ-มาก,  ตั้ง-ต้อง-ตาม,  เมื่อ-มี-ไม่,  ป่า-ป้อง-เป็น,  โครง-คอย-คง    เป็นต้น

-  พยางค์ที่สองในวรรค ช่วงแรก  ใช้สัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค  เช่น  เบ่ง-เก่ง,   ข่าว-คราว,  เป็นต้น      

-  พยางค์ที่ห้าในวรรคช่วงกลาง ใช้สัมผัสสระกับพยางค์ที่หกในวรรค  เช่น  บ้า-กล้า,   ขาน-ค้าน,   เป็นต้น

-  พยางค์ที่สอง ที่ห้า และที่แปด ใช้สัมผัสอักษร  เช่น  เบ่ง-บ้า-เบือน,   ข่าว-ขาน-ขัด,    เห็น-หา-ให้   เป็นต้น 

-  พยางค์ที่สาม ที่หก และที่เก้า  ใช้สัมผัสอักษร  เช่น  เก่ง-กล้า-กล่าว,  คราว-ค้าน-ข้อง, เป็น-ป่า-ปอง, เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายในวรรค ๑-๒ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค ๓-๔  เช่น  กล่าว-คราว,  ปอง-ทอง  เป็นต้น    

ข้อคิดเห็น – ควรปรับการใช้สัมผัสสระในช่วงแรกและช่วงกลางของวรรค เช่น เบ่ง-เก่ง, บ้า-กล้า เป็นสัมผัสอักษรได้ เพื่อลดความยากในการแต่ง พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อปรับเป็นสัมผัสอักษรแล้ว จะไม่ทำให้ระดับเสียงขาดความไพเราะไปกว่าเดิมเท่าใดนัก

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

พระจันทร์ทรงกรด

      ไหว้พระดี  ดีย่อมได้  เมื่อไหว้พระ             มั่นหมายบุญ บุญไม่ละ จะมั่นหมาย

ผ่อนคลายเครียด เครียดร้อน ให้ผ่อนคลาย      ดับทุกข์ลับ ลับหาย ได้ดับทุกข์

กุศลสร้าง สร้างเถิด เกิดกุศล                            เป็นสุขมาก มากล้น ผลเป็นสุข

เคล้าคลุกกรรม กรรมชั่วดี มีเคล้าคลุก              พากเพียรชอบ ชอบปลุก สุขพากเพียร

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สร้างกุศลผลเป็นสุข”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สองพยางค์แรก ต้องเหมือนสองพยางค์สุดท้ายของวรรคนั้น   เช่น  ไหว้พระ-ไหว้พระ,  มั่นหมาย-มั่นหมาย,  

   ผ่อนคลาย-ผ่อนคลาย,    ดับทุกข์-ดับทุกข์  เป็นต้น

-  พยางค์ที่สามกับพยางค์ที่สี่  ต้องใช้คำซ้ำ  เช่น  ดีดี,    บุญ-บุญ,   เครียดเครียด,   ลับ-ลับ,   สร้างสร้าง   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรค ๒  เช่น  พระ-ละ,   กุศล,-มากล้น  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรค ๔  เช่น  คลาย-หาย,   คลุก-ปลุก  เป็นต้น   

 

อักษรสังวาส

    ร่ำคำนึงถึงกามความใฝ่ใคร่                         ยังฝังใจให้เพ้อพะวงหลง

ดูรู้จักเพียงพอก็จงปลง                                                ไม่ใหลหลงถ้าสงสัยให้ลองตรอง

กามความใคร่มีให้ควรชวนชื่นมื่น                   พอต่อตื่นชื่นใจไม่ต้องหมอง

ร่านพล่านไปไฟจะลนคนจ้องมอง                  มั่นครรลองจะครองสุขทุกข์หายคลาย

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “เพลงกาม”

-  เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สองพยางค์หน้าของทุกวรรค ใช้สัมผัสสระ  เช่น   ร่ำคำ,   ยังฝัง,   ดูรู้,   ไม่ไหล,   กามความ,   พอต่อ   เป็นต้น

- สองพยางค์ท้ายของวรรคทุกวรรค  ใช้สัมผัสสระ  เช่น  ใฝ่ใคร่,   วงหลง,   จงปลง,   ลองตรอง,    ชื่นมื่น,   

   ต้อง-หมอง,    จ้อง-มอง,    หาย-คลาย,   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑  ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๒  เช่น  ใคร่-ใจ,  ชื่นมื่น-ชื่น  เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓  ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๔  เช่น  ปลง-หลง,  มอง-ครรลอง  เป็นต้น

 

 

 

 

(ตัวอย่างกลอนกลบท )

ธงนำริ้ว

      เรื่อยเรื่อย ล่องลำน้ำยามเย็นย่ำ                   รินริน ฉ่ำสายชลล้นหลากไหล

แว่วแว่ว เสียงนกกาพาเพลินใจ                       ร่ำร่ำ ไรรอนแรงแสงสุรีย์

พรูพรู ลมพัดชื่นแพรคลื่นพลิ้ว                       พรายพราย ริ้วแลระยับจับแสงสี

ฝันฝัน ฝากจากใจให้คนดี                               วันวัน นี้มีเวลามองฟ้างาม

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สายชล-สนธยา”

-  เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

-  สองพยางค์แรกของทุกวรรค ต้องใช้คำซ้ำตลอดทุกวรรค  เช่น  เรื่อยเรื่อย,    รินริน,    แว่วแว่ว,    ร่ำร่ำ,  

   พรูพรู,   พรายพราย,    ฝันฝัน,    วันวัน,   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๒  เช่น  เย็นย่ำ-ฉ่ำ,  พลิ้ว-ริ้ว  เป็นต้น   

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๔  เช่น  เพลินใจ-ร่ำไร,  คนดี-วันนี้  เป็นต้น 

 

 

วิสูตรสองไข

      เฉลิมฉลอง ครองสุข สนุกสนาน                สมัครสมาน มวลมิตร สนิทสนม

อย่าบ่นอย่าว่า ด่าใคร ไม่ชื่นไม่ชม                   พอเหมาะพอสม สิ่งหมาย ได้หน้าได้ตา

อะลุ่มอล่วย ช่วยกัน ให้มั่นให้เหมาะ                พินิจพิเคราะห์ ความดี มีคุณมีค่า

จะติดจะตรึง ซึ้งใจ ไม่สร่างไม่ซา                    จะเพลินจะพา พ้องเพื่อน มาเยือนมายล

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สมานฉันท์”

-  เป็นกลอนกลบทที่มีจำนวนพยางค์มากที่สุดถึง ๑๐ พยางค์  (อนุโลมให้เป็นกลอนแปดมาตรฐานได้)

-  สี่พยางค์แรกและสี่พยางค์หลังในวรรค  จัดเป็นกลุ่มคำ ใช้คำควบกล้ำ หรือคำสี่พยางค์ที่มีคำซ้ำเป็นแกนหลัก

   เช่น  เฉลิมฉลอง,   สนุกสนาน,   สมัครสมาน,   สนิทสนม,   อย่าบ่นอย่าว่า,   ไม่ชื่นไม่ชม,   พอเหมาะพอสม,  

  ได้หน้าได้ตา,   อะลุ่มอล่วย,   ให้มั่นให้เหมาะ,   พินิจพิเคราะห์   มีคุณมีค่า  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สี่ของวรรค ๒  เช่น  สนาน-สมาน,   ให้เหมาะ-พิเคราะห์  เป็นต้น 

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สี่ของวรรค ๔  เช่น  ไม่ชม-พอสม,  ไม่ซา-จะพา  เป็นต้น 

 

 

 

( ตัวอย่างกลอนกลบท)

เสือซ่อนเล็บ

      ดอกไม้บาน หวานจิต พิสมัย                     เย้ายวนใจ ให้หา มาสุขสม

ดอกไม้อยู่ คู่ภมร ร่อนเริงรมย์                          ได้ดอมดม ชมไป ไม่เคลื่อนคลาย

คราวหมดดอก ออกเห็น เป็นลูกผล                 แต่งเต็มต้น ล้นหลาม ตามมุ่งหมาย

พันธุ์ไพรพง คงไว้ ไม่กลับกลาย                     เมื่อดอกไม้ ร่ายมนต์ ดลใจปอง

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “มนตร์ดอกไม้”

-  เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

-  การแบ่งช่วงในวรรค  ช่วงแรกสามพยางค์ ช่วงกลางนิยมสองพยางค์ ช่วงท้ายสามพยางค์

-  พยางค์ท้ายช่วงแรกไปสัมผัสสระกับพยางค์แรกของช่วงต่อไป  เช่น บาน-หวาน,  จิต-พิศ,  ใจ-ให้,    เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๒  เช่น  พิสมัย-ใจ,   ผล-ต้น   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๔  เช่น  รมย์-ดม,   กลาย-ดอกไม้  เป็นต้น

ข้อคิดเห็น  -  กลอนกลบทนี้  เป็นกลอนแปดที่สมบูรณ์งามพร้อม สัมผัสตรงตัว ไม่อนุโลมให้มีการใช้ตำแหน่งสัมผัสสระแทน

 

นาคบริพันธ์

      เรื่องเล่าบอกออกพรรษาน่าฉงน                 ถึงวันดีมีคนค้นคำไข

พญานาคมากหลายได้บั้งไฟ                            จุดพลุส่งตรงขึ้นไปจากบาดาล

บูชาองค์ทรงพิสุทธิ์พระพุทธเจ้า                      จากแม่โขงโยงยาวกล่าวสืบสาน

ในหนึ่งปีมีหนึ่งวันท่านยืนกราน                     เรื่องที่เห็นเป็นตำนานผ่านเวลา                      

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “บั้งไฟพญานาค”

-  เป็นกลอน ๘ หรือ กลอน ๙ ได้

-  พยางค์ที่สามในวรรคต้องไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สี่ในวรรคนั้น  เช่น  บอกออก,   ดี-มี,  นาค-มาก,

   ส่ง-ตรง,   องค์-ทรง,   โยง-โขง,   ปี-มี,   เห็น-เป็น   เป็นต้น  

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒  เช่น  ฉงน-คน,   พระพุทธเจ้า-ยาว  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒  เช่น  บั้งไฟ-ไป,   ยืนกราน-ตำนาน  เป็นต้น 



ผู้ตั้งกระทู้ สุดาวดีศรีสุนทรอักษรศิลป์ (R-Cha-Nai-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-11 05:40:35


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.