ReadyPlanet.com


ตำนานชื่อ "จังซีลอน" The Legend of Junkceylon ปูมเมืองภูเก็ต Phukej ?s Almanac


ตำนานชื่อ "จังซีลอน" The Legend of Junkceylon ปูมเมืองภูเก็ต Phukej ?s Almanac

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม

โดย ประสิทธิ ชิณการณ์




(ซ้าย) แผนที่สยามโดยฝรั่งเศส สะกด Junsalam (กลาง) แผนที่ของ Jodocus Hondius (ค.ศ. 1563-1612) นักเขียนแผนที่ชาวดัตช์ สะกดชื่อ Junsalam (ขวา) พระสารสาสน์พลขันธ์ (G.E. Gerini) ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร กล่าวถึงเยรินีว่า "ท่านเป็นผู้ที่สนใจด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา เป็นผู้สร้างความรู้แบบบูรณาการ นอกเหนือไปจากความรู้ด้านการทหาร ด้านแผนที่โบราณ ฯลฯ สมควรเป็นแบบอย่างแก่คนไทยว่าคนต่างชาติยังเอาใจใส่ค้นคว้าไทยคดีศึกษาในด้านต่างๆ แต่ละด้านล้ำลึกยากที่จะหานักวิชาการไทยเทียบเทียมได้"
คัดจากภูเก็ตภูมิ PHUKET SCAPE รายสามเดือน (ปีที่ 3 ฉบับที่ 1) เมษายน-มิถุนายน 2552

สุนัย ราชภัณฑารักษ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เขียนไว้ในหนังสือเรื่องภูเก็ต (พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ พ.ศ.2517 หน้า 62) ว่า

"...ชื่อถลางนั้นปรากฏเป็นครั้งแรกในภูมิศาสตร์ของปโตเลมี ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราว พ.ศ.700 ว่าการเดินทางจากไคร้เส (Chryse คือ สุวรรณภูมิ) ลงทางใต้ไปยังแหลมทอง (Golden Khersonese คือ แหลมสะการามาเซ็น หรือแหลมมลายู) จะต้องผ่านแหลมจังซีลอน (Junk Ceylon) เสียก่อน...แหลมจังซีลอนนี้ก็คือ แหลมสลาง หรือแหลมถลางนั่นเอง..."

นักศึกษาหลายท่านในหลายสมัยได้ช่วยกันวิเคราะห์ วิจัย สันนิษฐาน แม้กระทั่งช่วยกันเดาว่า คำว่า Junk Ceylon นี้มีรากศัพท์หรือที่มาอย่างไร

ผู้มีความรู้ภาษามลายูอยู่บ้างช่วยให้ความเห็นว่า เนื่องจากเกาะถลางหรือ Junk Ceylon สมัยโบราณ เป็นจุดสำคัญที่เรือสำเภา (Junk) ซึ่งใช้ใบแล่นมาจากประเทศตะวันตกจะต้องผ่านเพื่อไปสู่แหลมมลายู ฉะนั้นชาวมลายู (ซึ่งเป็นเจ้าทะเลยิ่งกว่าใครอื่นในสมัยโบราณ) จึงเรียกเกาะถลางว่า ยงซีลัง (Jong Silang) ซึ่งหมายถึง จุด หรือสถานที่ ชุมทาง หรือทางผ่านของเรือเดินสมุทร ซึ่งส่วนใหญ่คือเรือสำเภาที่ชาวมลายูเรียก ยง (Jong) และชาวอังกฤษเรียก จังก์ (Junk) ที่แล่นจากฝ่ายตะวันตกมาสู่ฝ่ายตะวันออก

ฝรั่งถ่ายทอดสำเนียงภาษามลายูจากยงซีลัง (Jong Silang) มาเป็นจังซีลอน ปรากฏตามแผนที่โบราณที่ได้นำมาพิพม์ประกอบไว้แล้ว แม้ว่าแผนที่โบราณฉบับนั้นจะเขียนว่า Junkseilon แต่ในที่สุดแล้วชาวอังกฤษชวนกันเขียนเป็น Junkceylon มาตราบเท่าทุกวันนี้

ส่วนฝรั่งเศสซึ่งมีอดีตอันใกล้ชิดกับเกาะถลางไม่แพ้ใครอื่น เรียก Jong Silang หรือ Junk Ceylon ว่า ยองสะลัม (Jonsalam) ปรากฏตามหลักฐานประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่าด้วยสนธิสัญญาการค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2332 ข้อ 6 ความตอนหนึ่งว่า

"...สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่ พระราชทานให้กุมปันหญีฝรั่งเศสไปตั้งซื้อขายในเมืองถลางบางคลีก็ดี..."

ซึ่งในสนธิสัญญาภาคภาษาฝรั่งเศสใช้ข้อความว่า

"...Le Roy de Siam accorde a la Compagne residence a Jonsalam..."

(สนธิสัญญาและความตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พิมพ์เผยแพร่เมื่อธันวาคม 2511)

(ซ้าย) Junkseilon (คัดจากแผนที่ประดิษฐ์ในนิทรรศการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง) (ขวา) แผนที่โลกที่สร้างขึ้นจากหนังสือ Geographia อันมีค่ายิ่งของปโตเลมี ในปี ค.ศ. 1482


จากสนธิสัญญาฉบับนี้ นักศึกษาได้รับรู้ว่าเกาะถลางสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ทางกรุงศรีอยุธยาเรียกว่าเมืองถลางบางคลี และชาวฝรั่งเศสเรียกว่า ยองสะลัม (Jonsalam)

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ (G.E.Gerini) ชาวต่างประเทศผู้ตั้งใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เกาะถลางอย่างจริงจังได้เขียนหนังสือ Historical Retrospect of Junkceylon Island วิเคราะห์เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์เกาะถลาง (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ได้จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพ พระยอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) เมื่อ พ.ศ.2510) ก็ได้ ใช้ชื่อเกาะถลางในภาษาอังกฤษว่า Junkceylon

แม้ว่าจะเคยมีนานาชาติเรียกและเขียนชื่อเกาะถลางในสำเนียงอื่น ซึ่งมีลักษณะแตกต่างออกไปตามสายพันธุ์ภาษาของแต่ละท้องที่ที่ต่างกัน แต่ก็ไม่เคยปรากฏชาวต่างประเทศเชื้อชาติไหน หรือสัญชาติใดๆ อุตริเขียนชื่อเกาะถลางเป็นภาษาอังกฤษว่า Jungceylon แม้แต่ครั้งเดียว... คำว่า Jungceylon จึงไม่ใช่ชื่อเฉพาะของเกาะถลางสมัยโบราณอย่างแน่นอน

ดังนั้น ชื่อเกาะถลางที่ถูกต้องควรจะเป็น Junkceylon หรือจะเขียนเป็น JUNKCEYLON ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด



ทอดสมอ Drop Anchor

การที่เมืองมะละกาและจอร์จทาวน์บนเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลกโดยองค์กรยูเนสโกเมื่อกลางปีที่แล้วคือสัญญาณอันหนึ่งว่า ทิศทางการพัฒนาในด้านการท่องเที่ยวของที่นั่นกำลังเปลี่ยนแปลงไปอีกคุณภาพหนึ่ง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปีนังในฐานะบ้านพี่เมืองน้องของภูเก็ตมาแต่อดีตสองร้อยปีนั้น เราควรร่วมแสดงความยินดีและเรียนรู้อย่างยิ่ง

ดังเช่นที่ภูเก็ตได้เคยเรียนรู้เรื่องการทำแร่ดีบุกจนมีความสำเร็จมาแล้ว

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับเมืองที่มีเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเช่นภูเก็ตนั้นมีความหมายยิ่งกว่าปีนัง เพราะชาวภูเก็ตไม่มีอาชีพอื่นที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยว (หรือการทำแร่ในอดีตยุคเหมืองแร่) เป็นทางเลือกมากนัก เราไม่มีเกษตรกรรม ไม่มีอุตสาหกรรม มีการพาณิชยกรรมเพียงส่วนน้อย รวมทั้งเรายังไม่มีมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ หรือแม้แต่สถาบันการอาชีพที่มีประสิทธิผลและตรงตามความต้องการหลักๆ ของท้องถิ่น ซึ่งเหล่านี้ปีนังล้วนมี

บทเรียนยี่สิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของภูเก็ตมีความอ่อนไหวต่อวิกฤตทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก เกิดขึ้นทีไรก็กระทบทีนั้น ไม่มากก็น้อย อาทิ วิกฤตการ์อ่าวเปอร์เซีย โรคซาร์ส (SARS) วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง หายนะตึกเวิลด์เทรด โรคหวัดนก วิกฤตการณ์ทางการเมืองจนนำไปสู่การปิดสนามบินภายในประเทศ และวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกในปัจจุบัน


ดังที่หลายภาคส่วนเริ่มตระหนักแล้วว่า ฟ้าสวย ทะเลใส โรงแรมใหญ่ สรรพอาหาร สถานบันเทิง สำหรับเมืองท่องเที่ยวที่โลกคุ้นเคยแห่งนี้คงจะไม่พอเสียแล้ว การที่ภูเก็ตจะเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ เป็นเมืองนานาชาติ หรือกระทั่งเป็นเมืองสามัญที่มีความปกติสุขโดยไม่ต้องยึดโยงขึ้นกับนานาชาติอย่างมากนั้น เราต้องเร่งสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นรากเหง้าที่มีคุณค่าของเราเองให้ปรากฏ จำเป็นต้องกลับไปเรียนรู้จากอดีตก็ต้องทำ พร้อมไปกับแสดงให้อาคันตุกะที่มาจากต่างแดนได้รู้จักเนื้อหาสาระของความเป็นภูเก็ต

ในส่วนของแหล่งการเรียนรู้และสถานที่แสดงกิจกรรมของท้องถิ่นที่มีคุณค่านั้น นิมิตหมายก็คือ ภูเก็ตกำลังสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้น มีการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เดิม เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมหรือข้อมูลความรู้ประกอบ ทั้งภาครัฐและเอกชน นั่นก็คือ ภูเก็ตกำลังขยับตัวไปสู่เมืองที่มีสถานที่แห่งการเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยมีพิพิธภัณฑ์เป็นทัพหน้า ดังเช่นกระบวนงานหนึ่งที่ปีนังได้ดำเนินการมาจนประสบความสำเร็จในฐานะเมืองมรดกโลก

ภูเก็ตภูมิขอเชิญชวนทุกท่านที่ผูกพันกับภูเก็ตมามีส่วนร่วมกันทำให้เกาะแห่งนี้มีพัฒนาการไปสู่ความยั่งยืน

บรรณาธิการบริหาร



ความเป็นมาพิพิธภัณฑ์

ก่อนจะเปลี่ยนชื่มาเป็น ?โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว? นั้น แรกสร้างเสร็จเมื่อปี 2477 อาคารรูปทรงขึงขังหนักแน่นหลังนี้ขึ้นป้ายชื่อว่าโรงเรียนภูเก็ตฮัวบุ๋น ทำพิธีฉลองเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ตุลาปีเดียวกัน

เป็นยุคที่สามของสถานที่อันเป็นโรงเรียนจีนเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดภูเก็ต นับจากเริ่มการเรียนการสอนยุคแรกเมื่อปี 2453 ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นศาลเจ้า ณ ที่แห่งเดียวกันนี้ ซึ่งได้มีการปลูกสร้างอาคารโรงรียนชั้นเดียวขนาด 6 ห้องเรียนขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2469 โดยที่ร่องรอยของอาคารโรงเรียนในยุคที่สองนั้นยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ที่ผนังปูนด้านหลังของอาคารในยุคต่อมาตราบจนปัจจุบัน

เมื่อโรงเรียนย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่บนถนนวิชิตสงครามเป็นที่เรียบร้อยในปี 2538 หกสิบปีแห่งความอึกทึกภายในบริเวณและอาคารเก่าแก่แห่งนี้ก้หมดไป กลายเป็นสถานที่พบปะของครู ศิษย์เก่าและมิตรสหายในบรรยากาศอันสงบ

หนึ่งในหัวข้อการสนทนาคือเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวจีนในภูเก็ต พร้อมกันนั้น คณะกรรมการมูลนิธิกุศลสงเคราะห์ (ล้อกเซี่ยนก๊ก) ผู้อุปถัมภ์โรงเรียนได้มีการพิจารณาการทำประโยชน์ในอาคารภายใต้อุดมคติและหลักการของคณะผู้ก่อตั้งโรงเรียน ได้แก่ การดำเนินการจะต้องมีคุณค่าในทางการศึกษา สามารถสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่น และสามารถเลี้ยงตัวได้โดยไม่เป็นธุรกิจหรือการแสวงผลำไร

ราวปี 2544 ได้มีดำริที่จะทำอาคารนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวจีนโพ้นทะเลที่เกี่ยวโยงกับภูเก็ต กระทั่งมีการออกแบบทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นในปี 2545 (โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต) แต่ไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากแบบที่ออกมาเป็นโครงการค่อนข้างใหญ่ต้องใช้งบประมาณมาก

โครงการพิพิธภัณฑ์ถูกกระตุ้นเร้าอีกทางด้วยการที่หลายภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ตต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในตัวเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่มักอยู่แต่เฉพาะแหล่งพักผ่อนตามชายหาด

การเสริมสร้างกิจกรรมและปรับปรุงสถานที่ต่างๆในตัวเมืองจึงค่อยๆเกิดขึ้นนับแต่ช่วงหลังปี 2545 เป็นต้นมา ผู้ที่มีส่วนร่วมและมองเห็นคุณค่าของความรู้จากอดีตจึงได้ช่วยกันหาข้อสรุปความเป็นไปได้ในการทำพิพิธภัณฑ์ขึ้น ณ สถานที่อดีตโรงเรียนแห่งนี้อีกครั้ง นำเสนอไปยังประธานมูลนิธิฯ จนได้รับการอนุมัติให้เริ่มการปรับปรุงอาคารและพื้นที่โดยรอบเป็นพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวในต้นปี 2549 มีการมอบหมายคณะทำงานหลายกลุ่มให้เริ่มดำเนินการทันที ตั้งแต่งานก่อสร้าง งานตกแต่งซ่อมแซม งานออกแบบนิทรรศการ งานถ่ายภาพ งานคัดปรับปรุงภาพเก่า และงานวิชาการ

นิมิตหมายก็คือ คณะกรรมการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตัดสินให้พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2551 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ

เมื่อการดำเนินการพิพิธภัณฑ์ระยะที่ 1 แล้วเสร็จลงในปีนี้ มูลนิธิฯ จึงให้ถือฤกษ์วันฉลองเปิดอาคารเมื่อ 74 ปีที่แล้ว ให้วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการให้ทราบว่า พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวได้จุติขึ้นแล้ว เพื่อจะงอกงามเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและทุกคน เป็นสถานที่ท่องเทียวเชิงวัฒนธรรมของเมือง

หรือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่มีความหมายต่อวิถีชีวิตชาวจีนโพ้นทะเลแห่งภูเก็ต

บรรณาธิการ I สิงหาคม 2551

หน้า 20



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-28 13:54:16


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.