ReadyPlanet.com


SWOT Analysis + The Johari-Window


SWOT Analysis + The Johari-Window


ผู้เขียนขอเล่าเรื่องเมื่อครั้งที่ ผู้เขียนโทรศัพท์ไปคุยกับลุงเวทย์ เพื่อขออนุญาตนำกลอน ดัด (จริต นิสฺสัย) ของลุงเวทย์มาเขียนสอดแทรกไว้ในบันทึก ซึ่งลุงเวทย์ก็ยินดี ผู้เขียนได้สนทนากับลุงเวทย์เรื่อง Kevin Carter ช่างภาพสารคดี ชาวแอฟริกาใต้ ผู้ถ่ายภาพ นกอีแร้งซึ่งกำลัง ยืน รอจะกินเด็กผู้หญิงชาวแอฟริกันผู้ซึ่งกำลังจะตาย ต่อมานาย Carter ถูกวิจารณ์ว่าวันนั้นเขาทำเพียงไล่นกแร้งไป แต่ไม่ช่วยพาเด็กหญิงคนนี้ไปส่งยังศูนย์ช่วยเหลือที่อยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร (@ 207685) เมื่อลุงเวทย์ฟังผู้เขียนเล่าจบ ลุงเวทย์ก็ได้ยกข้อเตือนใจจาก  เพลงยาวถวายโอวาท ที่แต่งโดย สุนทรภู่ ที่ว่า


จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด             ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย
ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด               เพียรจงได้ดังประสงค์คงจะดี

ลุงเวทย์บอกว่า สุนทรภู่สอนเอาไว้ว่า ถ้าจะฆ่าก็ต้องฆ่าให้ตาย ถ้าจะช่วยก็ต้องช่วยให้รอด (ทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำให้ถึงที่สุด)

ผู้เขียนเก็บมานั่งพิจารณาตามแล้วเห็นว่า ก็คงจริงอย่างที่ลุงเวทยว่า นั่นคือการที่เราจะช่วยเหลือใครสักคน ย่อมต้องช่วยเหลือให้เขารอดพ้นจาก ปากเหยี่ยวปากกา (รวมทั้งปากของนกอีแร้งด้วย) ไม่ใช่ช่วยแค่ ไล่นกเหยี่ยว นกกา (รวมทั้งนกอีแร้ง) แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น แต่ไม่ได้ช่วยพาเด็กหญิงผู้น่าสงสารไปส่งโรงพยาบาล (ไม่ได้ "ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย"/ไม่ได้ช่วยให้ถึงที่สุด

สำหรับ เรื่องการ "จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด" นั้นคงหมายถึง การจะบีบคั้น ใครสักคนหนึ่งให้ตายจากอัตตภาพเดิม (ตายแล้วเกิดใหม่/กลายเป็นคนใหม่) คงต้องพยายามบีบคั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาผู้นั้นจะตายจากอัตตภาพเดิม (จำเป็นต้องละความสงสารไว้ชั่วขณะ และถ้าจะฆ่าให้ตายจากอัตตาภาพเดิม ก็ต้องทำให้ถึงที่สุด)  นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนคิดได้ หลังจากการสนทนากับลุงเวทย์


อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียน ได้สนทนากับลุงเวทย์ก็คือเรื่อง ว่าด้วย ทิฐิมานะ เรื่องมีอยู่ว่า ลูกศิษย์ของลุงเวทย์ผู้หนึ่งมี ทิฐิมานะในการแต่งกลอน ไม่ยอมแก้ไขในสิ่งที่ผิด ผลสุดท้ายลูกศิษย์คนอื่นๆ ก้าวหน้า และประสบผลสำเร็จบนเส้นทางนักกลอน คือได้รับรางวัลจากการประกวดติดไม้ติดมือ ยกเว้นก็แต่ลูกศิษย์ผู้มากด้วยทิฐิมานะผู้นั้น เพราะลูกศิษย์ผู้มากด้วยทิฐิมานะผู้นั้นย่ำอยู่กับที่ ไม่ยอมแก้ไขในสิ่งที่ผิด  ลุงเวทย์ย้อนถามผู้เขียนว่า "เต๋าลองทายซิว่า ลุงเป็นคนนิสัยอย่างไร จากที่รู้จักกับลุงมา" ผู้เขียนก็ตอบไปว่า "ดูลุงเป็นคนใจเย็นนะครับ" ลุงเวทย์ตอบว่า "ใช่ตอนนี้ลุงเป็นคนใจเย็น แต่เมื่อก่อนลุงเป็นคนใจร้อนมากๆ ถ้าไม่พอใจอะไร สิ่งนั้นอาจจะแหลกคามือ แต่เมื่อลุงตระหนักรู้ได้ว่าความใจร้อนของลุง ถือเป็น จุดอ่อน ของลุง ลุงก็ต้อง ทำการแก้ไขปรับปรุงตัวลุงเอง เพราะลุงไม่อยากให้ จุดอ่อนของลุง คือความใจร้อนนี้ ถูกศัตรูหรือผู้ที่ไม่หวังดีนำมาเป็นเครื่องมือทำร้ายลุงในภายภาคหน้า"

สิ่งที่ลุงเวทย์สอนไว้ทางโทรศัพท์ นั้นคงจะหมายถึงการทำSWOT Analysis ให้กับตัวเอง แต่การทำ SWOT Analysis โดยตนเองเพื่อตนเอง (พิจารณา จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค) ย่อมจะเห็นภาพที่ไม่ถูกต้องชัดเจนนัก

ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของ นักจิตวิทยาที่ชื่อ โจเซฟ ลุฟท์ และแฮรี่ อิงแฮม (Joseph Luft and Harry Ingham)  ซึ่งได้เสนอทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี่ : แบบลายเส้นของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (The Johari-Window : graphic Model of Awareness in Interpersonal Relation)  เอาไว้ว่า



       1. บริเวณเปิดเผย หมายถึงบริเวณพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกอย่างเปิดเผย เป็นพฤติกรรมเจตนาที่บุคคลแสดงออกแล้วรู้ว่าตนเองแสดงพฤติกรรมอะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไรให้บุคคลอื่นรับรู้พฤติกรรมและเจตนาของเรา ในขณะเดียวกันเราก็รับรู้พฤติกรรมและเจตนาของผู้อื่นด้วย ถ้าหากบุคคลมีความสนิทสนมกันมากขึ้น บริเวณจะเปิดกว้างขึ้น หมายถึงบุคคลจะมีปฎิกิริยาโต้ตอบต่อกันและมีการเปิดเผยจริงใจต่อกันมากขึ้น


          2. บริเวณจุดบอด หมายถึงบริเวณ บริเวณที่พฤติกรรมที่ตนแสดงออกโดยไม่รู้ตัว ไม่มีจุดมุ่งหมาย และไม่มีเจตนาที่จะแสดงออกไป แต่บุคคลอื่นสามารถสังเกตเห็นได้ การที่บางคนพูดหรือแสดงการกระทำบางอย่างโดยไม่รู้ตัวจะทำให้เสียบุคลิกภาพ อาจทำให้คนอื่นเบื่อหน่ายและไม่พอใจได้


          3. บริเวณซ่อนเร้น หมายถึงบริเวณที่มีพฤติกรรมลึกลับ เป็นพฤติกรรมหรือความรู้สึกนึกคิดบางอย่างที่บุคคลเก็บซ่อนไว้ในใจไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ ตนเองเท่านั้นที่รู้ เช่น ความรู้สึกไม่ดีต่อคนอื่น พฤติกรรมในส่วนนี้มักจะเป็นพฤติกรรมภายใน ได้แก่ความจำ การรับรู้ ความคิด บุคคลจะไม่แสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา เพราะต้องการปิดบัง แต่อาจจะแสดงพฤติกรรมอย่างอื่นกลบเกลื่อน


          4. บริเวณมืดมน หมายถึง เป็นบริเวณที่พฤติกรรมหรือความรู้สึกบางอย่างที่บุคคลแสดงออกโดยไม่รู้ตัว ตนเองไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจมาก่อน และบุคคลอื่นไม่เคยรู้ไม่เคยสนใจมาก่อนเช่นกัน พฤติกรรมในส่วนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ขึ้นมาได้ เช่น บุคคลบางคนมีกิริยามารยาทเรียบร้อย สุภาพเรียบร้อย สุขุม เยือกเย็น แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน พฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้จึงเกิด (1)

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าการทำ SWOT Analysis โดยตนเองเพื่อตนเอง ก็ยังมีความสำคัญอยู่บ้าง ทั้งนี้ต้องอาศัยการตักเตือนชี้แนะจากผู้อื่นด้วย การตักเตือนชี้แนะจากผู้อื่น นั้นเปรียบเสมือนกระจกวิเศษบานใหญ่ที่อาจจะส่องให้เห็นพฤติกรรมด้านมืด หรือด้านที่เราเองก็มองไม่เห็นมาก่อน (โอม! กระจกวิเศษบอกข้าเถิดใครงามเลิศในปฐพี?


พูดถึงเรื่องกระจกวิเศษทำให้ผูเขียน นึกถึงนิทาน สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ที่ว่า สโนว์ไวท์ (Snowwhite) หญิงสาวแสนสวย ที่ต้องหลบซ่อนตัวจากแม่เลี้ยงใจร้าย จนได้พบคนแคระที่แสนดีทั้งเจ็ด แต่ราชินีผู้เป็นแม่เลี้ยงใจร้าย ยังคงริษยาและเคียดแค้นที่สโนว์โนท์มีรูปร่างหน้าตาสวยสะพรั่งกว่าเธอ ราชินีใจร้ายจึงปลอมตัวเป็นหญิงแก่มาหลอกให้สโนว์ไวท์ กินแอปเปิ้ลอาบยาพิษ จนหลับไหลไม่ได้สติ กระทั้งเจ้าชายรูปงามได้เดินทางมาพบเธอ และช่วยคลายมนต์สะกดให้กับเธอ

สโนว์ไวท์=บุคคลผู้ใสซื่อ(บื้อ)บริสุทธิ์
แม่มดใจร้าย/แม่เลี้ยงใจร้าย/ราชนินีใจร้าย
=ทุรชน
คนแคระทั้งเจ็ด=กัลยาณมิตร
แอปเปิ้ลอาบยาพิษ=โลกียสุข บนโลก ซึ่งฉาบทาด้วยพิษ มีความงดงาม ยวนยั่วให้อยากลิ้มลอง
หลับไหล=ความลุ่มหลงจ่อมจม เวียนวนอยู่กับความโศกเศร้าอันเปรียบเสมือนฝันร้าย ทั้งยังรวมถึงความลุ่มหลงอยู่กับสุข แห่งโลกียะ บนโลก
เจ้าชายขี่ม้าขาว=การเข้าถึงไตรสรณคมน์ (การน้อมนำพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นที่พึ่งที่ระลึก)

เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์เข้าถึงไตรสรณคมน์ ความผาสุขย่อมเกิดมีแก่มนุษย์ผู้นั้น มนุษย์ผู้นั้น ย่อม เป็นผู้รู้ คือแจ้งในโลกย์ โดยไม่ต้องพึ่งหน้าต่างโจฮารี่  เป็นผู้ตื่น คือไม่หลับไหลลุ่มหลงอยู่กับโลกียสุข เป็นผู้เบิกบาน คือเป็นผู้รื่นเริงท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ แปลว่า ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
ความสุขอื่น หรือก็คือโลกียสุข อันได้แก่ ความสุขในการดูหนังดูละคร ความสุขในการเข้าสังคม ความสุขในการมีคู่รัก ความสุขในการมีลาภยศสรรเสริญ ฯลฯ นี้ไม่เทียบเท่ากับสุขอันเกิดจาก ความสงบ (สงบกาย สงบใจ)  

ย้อนกลับมาพูดถึงกลอนของสุนทรภู่ท่อนที่ว่า "ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด เพียรจงได้ดังประสงค์คงจะดี" นั้นคงจะหมายถึง บางสิ่งบางอย่างที่สมควรตัด ก็จำเป็นต้องตัด โดยใช้ความเพียรพยายามในทางที่ชอบ  (ในทางที่ชอบ ไม่ได้หมายความว่า ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ แต่หมายถึง ทำในสิ่งที่ ชอบธรรม/ถูกต้อง ซึ่งตนเองอาจจะไม่ชอบในระยะแรกๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำให้เป็นนิสัย) และยังอาจจะหมายถึง  เมื่อเรา "จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด" แต่สิ่งนั้นกลับมิวายวอด ก็ดี หรือเมื่อเรา "ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย" คือ หวังจะช่วยให้รอด แต่ช่วยแล้วกลับไปไม่รอด ก็ดี เช่นนี้แล้ว เราสมควรใช้ความเพียรพยายามในการตัดใจ  (ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด เพียรจงได้ดังประสงค์คงจะดี)  นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนวิเคราะห์ได้จากกลอนเพลงยาวถวายโอวาท ที่แต่งโดย สุนทรภู่ เมื่อครั้งที่ได้สนทนากับลุงเวทย์  เมื่อวานก่อนโน้น...



ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-17 10:22:33


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1838021)
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao
ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-09-17 10:23:43


ความคิดเห็นที่ 2 (1840075)

 

 

 

....อ่ะนะ...รับทราบ....จ้า

สาธุ....นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ภัทราจิตร วันที่ตอบ 2008-09-22 12:41:35



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.