ReadyPlanet.com


โหยไห้หาครู (รักวัวไม่ผูก รักลูกไม่ตี?)


สืบเนื่องจากผู้เขียนเขียนแลกเปลี่ยนทรรศนะ ว่าด้วยเรื่อง การทำโทษเด็กนักเรียน กับคุณ ใบไม้ย้อนแสง @21577   ซึ่งได้แสดงทรรศนะเพื่อให้กำลังใจคุณครูอ๋อย ผู้ซึ่งสะเทือนใจเมื่อเห็นเพื่อนครูด้วยกันลงโทษเด็กนักเรียน ซึ่งคุณครูอ๋อย ได้เขียนบันทึกไว้ใน ฟูรกอล โว๊ะ....ค่ะครูขอโทษค่ะ.....



ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-28 14:10:58


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1843088)

ผู้เขียนเคยแสดงทรรศนะไว้ใน จดหมายถึงยัยพิณ @ 177836  ในทำนองที่คล้ายๆ กับกรณีข้างต้น ที่ว่า  “ทำไมคนที่รักกันถึงต้องทำร้ายกันด้วย?” 

นิโคโล มาเคียวเวลลี่ (
Niccolo Machiavelli) ก็คงเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเอง จึงได้แสดงทรรศนะของตนเองไว้ในหนังสือที่ชื่อ The Prince  ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ แปลเป็นภาคภาษาไทยในชื่อ เจ้าผู้ปกครอง มาเคียวเวลลี่ แสดงทรรศนะเอาไว้ความว่า



มนุษย์มีความระมัดระวังในการทำให้คนที่ทำให้ตนเป็นที่รักต้องขุ่นเคือง น้อยกว่าคนที่ทำให้ตนเป็นที่หวาดกลัวเพราะความรักนั้นคงรักษาไว้ได้ด้วยสายโซ่แห่งภาระผูกพัน แต่เนื่องจากความชั่วร้ายของมนุษย์ (ความรัก) จึงถูกตัดขาดได้ทุกโอกาสเพื่อผลประโยชน์ของตน แต่ความกลัวนั้นคงรักษาไว้ได้โดยความหวาดกลัวการลงโทษ

มาเคียวเวลลี่ มองโลกแบบตรงไปตรงมา เขามองว่า คนสองคนคบกัน (รักกัน) ก็ล้วน มุ่งหวังที่จะตักตวงผลประโชยน์ จากกันและกัน ภาษาการเมืองเขาเรียก ว่า กลุ่มผลประโยชน์ (Group Benefit) พอผลประโยชน์เริ่มหมดไป ความรักก็เริ่มจืดจาง ยังไม่เข้าใจใช่มะ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ใกล้ตัว ในครอบครัวก็ได้ พ่อและแม่ของเรา ท่านรักเรา และเราก็รักท่านใช่มะ แต่เราก็ต้องเคยเกเรกะท่านบ้าง เช่นเราอยากไปดูภาพยนตร์กับเพื่อน (เพราะเพื่อนมี ผลประโยชน์ ให้เรา ผลประโยชน์นั้นก็คือการที่เพื่อนออกเงิน ค่าชมภาพยนตร์ให้กับเรา) แต่พ่อแม่ซึ่งรักเราอย่างบริสุทธิ์ใจ ย่อมอยากให้เราอยู่กับบ้านอ่านหนังสือ ท่าน เลยออกคำสั่งห้าม ไม่ให้ไปดูภาพยนตร์ ถ้าพ่อแม่รักลูก แสดงความรักต่อลูก แต่ไม่ได้แสดง อำนาจ  ให้ลูกกลัว ลูกมีหรือจะเชื่อฟังพ่อแม่ (ถ้ามีก็คงน้อยคนล่ะ) ที่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ก็เพราะ ผลประโยชน์จากการชมภาพยนตร์ เข้ามาแทนที่ความรักของพ่อแม่ แต่ถ้าพ่อแม่ใช้อำนาจ (Power) หน้าที่ (authority) แห่งความเป็นพ่อหรือแม่ ขู่ลูกไปว่า ถ้ามึงไปโดนไม้เรียว (ฮา..ขอโทษที่ต้อง ขึ้น  มึง ขึ้นกู ใช้ มึง เพื่อให้เห็นว่า พ่อหรือแม่กำลังโกรธมาก) พอถึงจุดนี้ความรักของลูกที่มีต่อพ่อแม่อาจหมดไปแล้ว (ในขณะนั้น) แต่ความกลัวการถูกพ่อแม่ตี ยังคงอยู่ คนโบราณท่านจึงได้สอนลูกสอนหลานเอาไว้ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ซึ่ง ก็สอดคล้องพ้องกับแนวความคิดของ มาเคียว เวลลี่ นั่นเอง

แต่ในสมัยนี้ นักสิทธิมนุษยชน หรือพวกที่เรียกตนเองว่ากลุ่ม NGO (อ่านว่า โง่ หรือป่าวนะ?) ต่อต้านการใช้ความรุนแรง และย่อมมองว่า การใช้ความรุนแรงนั้น ไม่ใช่ทางออก ซึ่งก็จะขัดแย้งกับ หลักการณ์ว่าด้วยเรื่องของ พระเดชพระคุณ และขัดกับที่ มาเคียว เวลลี่ กล่าวเอาไว้ว่า
"กฎหมาย (บทลงโทษ) นั้น คือความชั่วร้ายที่จำเป็น"  

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ บทที่ว่า

นนฺโทปนนฺทภุชคํ   วิพุธํ มหิทฺธึ
ปุตฺเตน เถรภุชเค-   นทมาปยนฺโต
อิทฺธูปเทสวิธินา     ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุเต   ชยมงฺคลานิ

ถอดความได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจอมมุนี ทรงโปรดให้พระโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส ไปปราบนันโทปนันทนาคราช ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีให้แสดงฤทธิ์ทรมาน ให้สิ้นฤทธิ์ ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงเกิดมีแก่ท่าน (1)

จะเห็นได้ว่า แม้แต่พระพุทธองค์ ในบางครั้งก็ยังทรง จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้วิธีการ ทรมาน ผู้ที่มากด้วย ทิฐิมานะ ให้กลับมามีความคิดเห็นที่ถูกทาง แต่เราๆ ท่านๆ ไม่ได้ทรงคุณวิเศษดังเช่น พระพุทธองค์  และพระโมคคัลลานะ หากเลือกที่จะใช้วิธีการปราบ ผู้มีความรู้ผิด ผู้มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีการ ทรมานเพื่อทำลายทิฐิมานะนั้น ย่อมกระทำได้โดยยาก

ทว่าในบางครั้ง การปราบ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ทรมาน ให้สิ้นฤทธิ์  ก็ถือเป็น ความชั่วร้ายที่จำเป็น ดังเช่นที่ มาเคียว เวลลี่ กล่าวเอาไว้ ด้วยเหตุนี้เอง มาเคียว เวลลี่ จึงได้ฉายาว่าเป็น ปีศาจในคราบนักการเมือง

ความรักของพ่อแม่ก็ดี ความรักของครูบาอาจารย์ก็ดี ในบางห้วงบางเวลา ท่านก็อาจจะแสดงออกมาในรูปแบบของการ ทรมานทรกรรม หรือแสดงออกโดย การลงโทษตามโทษานุโทษ ซึ่งหากเป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง หรือระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง ผู้ที่ถูกลงโทษ ก็จะหวนระลึกนึกถึงเหตุการณ์ที่ตนเองถูกลงโทษ และย่อมที่จะสำนึกถึงความผิดของตน พร้อมๆ กันกับได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ตนกระทำนั้น ถือเป็นความผิด ส่งผลให้บังเกิดเป็นความหวาดกลัวต่อการถูกลงโทษ และย่อมไม่กล้ากระทำผิดซ้ำสอง อีกเป็นแน่แท้  

ถามว่าหากย้อนระลึกนึกกลับไปในอดีต หลายๆ ท่านย่อมจำชื่อครูผู้ที่ถือไม้เรียวตีเราได้ขึ้นใจ แต่เมื่อเรากลับไปหาครูผู้ที่ถือไม้เรียวตีเราอีกครั้ง  ไปกราบท่าน น้ำตาของเรากลับไหล่ปร่าอาบสองแก้ม น้ำตานั้นมิใช้น้ำตาแห่งความโกรธเคียดแค้น หากแต่เป็น น้ำตาแห่งความซาบซึ้ง ในรสแห่งไม้เรียวนั้นต่างหาก  

สอดคล้องกับโคลงกลอน : โหยไห้หาครู  ซึ่งประพันธ์โดย อัศนี พลจันทร (นายผี) เมื่อครั้ง ยังเป็นนักเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โคลงกลอนดังกล่าวปรากฎอยู่ในหนังสือ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปีที่ 13 ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2477  (อัศนี พลจันทร.รวมบทกวี,กรุงเทพฯ : สามัญชน,2540, พิมพ์ครั้งที่ 1)  เพื่อแสดงอาลัยความอาลัยรักแด่ คุณครูผู้จากไป ความว่า

โคลงดั้นวิวิธมาลี

ตกตะลึงทะลึ่งพรวด      ยืนงง
ยินข่าวครูจำลอง          ท่านม้วย
หัวใจตีบตันทรง-           กายไป่ อยู่เลย
ทรุดนั่งลงด้วยสิ้น-         หมดแรง

ซบหน้าลงสะอื้น            อาดูร
อัสสุเป็นเลือดแดง          ดุจ
ย้อม
เสียดจิตตจักเปรียบปูน   เข็มทิ่ม แทงนา
โศกเพราะเจตนน้อมน้าว ระลึกคุณ

จักกล่าวคุณท่านนั้น       ยากจริง
เพราะคุณท่านมีอดุลย    เทียบฟ้า
สอนศิษย์ไป่ประวิง          วิทยว่าง เว้นเพื่อน
ศิษย์ยึดท่างเพี้ยงหล้า     ยึดสวรรค์

รักศิษย์ท่านรักแท้          ใดเทียม เทียบฤา
เพื่อนรักท่านรักฉันท์-      พี่น้อง                   
รักชาติขัตตติยชาวเสียม รักยิ่ง รักนา            (เสียม=สะเหยียม/สยาม)
สมานรักไป่ให้ข้อง-         ขุ่นใจ

เพียรท่านเพียรรักเน้อ     ใครเสมือน ได้ฤา
เปรียบแมลงชักใย          ฤ
แม้น
แม้ว่าทุกขจักเฉือน         สุขภาพ ท่านฤา
ท่านก็ไป่แร้นแค้น           พากเพียร

เสียดายกิจที่ได้              หวังจะ ทำนา
กิจนี่หากจำเนียร            เนิ่นช้า
มิทันที่จะสะ-                  สางเสร็จ
ท่านก็ไปแล้วอ้า-            ใฝ่คะนึง

มหาสมุทรสุดลึกแล้ว       ฤา
เทียม
น้ำเนตรเข้าไหลปรึง        ปราดล้น
มหัศนีเข่นโลกเกรียม      แยะแยก ลงฤา (มหา+อัศนี/อัคคี=มหัศนี)
น้ำมูกข้าข้นแต้ม-           โลกคง

หวนคิดพุทธสาธกแล้ว    ค่อยคลาย โศกแฮ
แสนโศกล้านโศกปลง-     จิตต
ได้
รำลึกครุคุณวาย-            ว่างโศก อีกเพื่อน
รำลึกธรรมไห้ไจ้              จอดลง

บทส่งท้าย (โคลงสี่สุภาพ กลบทกระทู้นำบท)

คุณ ใครจักเท่าด้วย-        คุณครู เล่านา
ครู แหละผู้ค้ำชู-              ชีพให้
จำ ลองวิทย์ดำรู              สอนศิษย์
ลอง ศิษย์เกียจสิไม้-        จักรู้รสมือ

สกุล เราจะเฟื่องฟุ้ง-         ฟูขจร
เอี่ยม อ่าโอ่อาภรณ์          เฟื่องฟ้า
โอ ภาสวิทยบวร               เพราะยิ่ง เรียนนา
ภาศ- กรจรัสหล้า             เกียรติเฟื้อนฟูสกุล


โคลงที่เน้นแถบสีเขียวเอาไว้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า คุณครูของ นายผี นิยมลงโทษเด็กนักเรียน ด้วยการ ตีด้วยไม้เรียว "ลองศิษย์(ขี้)เกียจสิ (ก็ย่อมที่จะถูก) ไม้ (เรียวตีและย่อม) จักรู้รส (แห่งน้ำหนัก) มือ (ในการตีของครูท่านนี้)"

อ่านไปอ่านมา เขียนไปเขียนมา ทำให้ผู้เขียนนึกถึงในช่วงเวลาที่ ผู้เขียนโดน แม่ตี และแล้ว ผู้เขียนก็วิ่งไปฟ้องยาย  โดยฟ้องยายว่า "ยายไปตีแม่คืนหน่อย เพราะแม่มาตีกวิน" ถ้ายายตามใจหลาน รักหลานในทางที่ผิด ก็คงต้องทำตามคำขอของหลาน  แต่ยายท่านก็แค่พูดดีๆ กับแม่ของกวินว่า จะตีลูกก็ตีพอให้หลาบจำ อย่าใช้อารมณ์ เรื่องทั้งหมดก็มีเท่านี้ล่ะนา

ผู้แสดงความคิดเห็น kelvin วันที่ตอบ 2008-09-28 14:12:43


ความคิดเห็นที่ 2 (1843089)
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao

และ http://gotoknow.org/blog/kelvin/211462
ผู้แสดงความคิดเห็น kelvin วันที่ตอบ 2008-09-28 14:14:21



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.