ReadyPlanet.com


เส้นทางเดินของนาม จากสยามเป็นไทย-นามนั้นสำคัญมากฉะนี้หรือ?


ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

โรงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มหาวิทยาลัยธรรมธรรมศาสตร์

1

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482/1939 (หรือ 68 ปีมาแล้ว) รัฐบาลของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (ต่อมาสถาปนาเป็นจอมพล ป. ซึ่งเป็นปีกขวาของ “คณะราษฎร” และเป็นผู้พัฒนาให้เกิด “ระบอบอำมาตยาธิปไตย/อำนาจนิยมอันมีบรรดาจอมพลและพลเอกเป็นผู้นำ”) ได้ประกาศ “รัฐนิยม” ให้เปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย และ Siam เป็น Thailand” โดยให้เหตุผลด้วยหลักการของ“ลัทธิเชื้อ-ชาตินิยม” ว่า “รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมให้ใช้ชื่อประเทศ ให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชน”

 

 

2

ภายหลังการเปลี่ยนนามประเทศดังกล่าว รัฐบาลในสมัยนั้น ยังได้ดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อมให้มีการเปลี่ยนแปลงนามและชื่อต่างๆ อีกดังนี้

 

2.1---เปลี่ยนแปลงแก้ไข “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” โดยขอมติจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 3 ตุลาคม 2482

 

2.2---เปลี่ยนเนื้อร้องของ “เพลงชาติ” ซึ่งขุนวิจิตรมาตราแต่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2477

ซึ่งมีคำขึ้นต้นว่า

“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง

ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า”

และมีคำลงท้ายว่า

“เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย

สถาปนาสยามให้เทิดไทย ไชโย”

ให้กลายเป็นเนื้อร้องของ “กองทัพบก” (โดยหลวงสารานุประพันธ์ คนสนิทของจอมพล ป. เมื่อ 10 ธันวาคม 2482)

ซึ่งมีคำขึ้นต้นว่า

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน”

และมีคำลงท้ายว่า

“สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี

เถลิงประเทศไทยทวีมีชัย ไชโย”

 

2.3---เปลี่ยนและตัดเนื้อร้องกับทำนอง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” เมื่อ 26 เมษายน 2483 ให้สั้นลง เหลือเพียง “สังเขป” ดังนี้

“ข้าวรพุทธเจ้า

เอามโนและศิระกราน

นบพระภูมิบาล

บรมกษัตริย์ไทย

ขอบันดาล

ธ ประสงค์ใด

จงสฤษดิ์ดัง

หวังวรหฤทัย

ดุจจะถวายชัย

ชโย”

ทั้งนี้โดยตัดตอนกลางออก คือ

“เอกบรมจักริน

พระสยามินทร์

พระยศยิ่งยง

เย็นศิระเพราะพระบริบาล

ผลพระคุณ ธ รักษา

ปวงประชาเป็นสุขศานต์”

เนื้อและทำนอง “สังเขป” นี้ถูกใช้อยู่ 5 ปี และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จกลับจากสวิตเซอร์แลนด์ตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 5 ธันวาคม 2488 และโดยที่ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย/อำนาจนิยม-อันมีบรรดาจอมพลและพลเอกเป็นผู้นำ” ต้องตกจากอำนาจไป (ชั่วคราว) ทำนองและเนื้อร้องสมบูรณ์ก็ถูกนำกลับมาใช้ใหม่

 

2.4---ทำให้มีการเปลี่ยนนาม “พระสยามเทวาธิราช” เป็น “พระไทยเทวาธิราช” นามของเทพพิทักษ์กรุงสยามนี้ สามารถเปลี่ยนกลับมาได้ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับข้อความข้างต้น ทั้งยังเป็นนามที่มิได้มีการเขียนบํญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในประกาศกฏหมายอย่างเป็นทางการใดๆ จึงทำให้เปลี่ยนกลับได้โดยง่าย (ต่างกับนามของประเทศข้างต้น) อนึ่ง เนื่องจากในสมัยนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์ ดังนั้น จึงยังไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” เราจึงไม่มีตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนเป็น “ไทยมกุฎราชกุมาร” แต่อย่างใด

 

2.5---ทำให้มีการเปลี่ยนนามของ “สยามสมาคม” และ The Siam Society เป็นไปอย่างประดักประเดิดว่า “สมาคมค้นวิชาแห่งประเทศไทย” หรือ The Thailand Research Society อยู่ 5 ปีระหว่าง พ.ศ. 2485-2489 (1942-1946) “สยามสมาคม” เปลี่ยนกลับมาได้ก็ด้วยคำอธิบายเช่นเดียวกับกรณีของ “พระสยาม(ไทย)เทวาธิราช”

 

2.6---นอกจากนี้ รัฐบาลสมัยนั้นยังสามารถทำให้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทขนาดใหญ่ๆ เช่น “สยามกัมมาจล” เป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” เปลี่ยนจากภาษาอังกฤษว่า The Siam Commercial Bank เป็น The Thai Commercial Bank เมื่อ 27  มกราคม 2482 (มกราคมสมัยนั้น ถือเป็นเดือน 10 ยังไม่ใช่เดือนแรกของปีปฏิทิน จนกระทั่ง พ.ศ. 2484)

 

กรณีของธนาคารนี้จะแปลกกว่ากรณีอื่นๆ คือ เมื่อ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย/อำนาจนิยม” ไม่ได้เป็นรัฐบาลช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็มีการเปลี่ยนกลับ แต่เปลี่ยนกลับแบบ “พันทาง/ลูกผสม” (พ.ศ. 2489) คือเปลี่ยนเฉพาะในภาษาอังกฤษ ไม่เปลี่ยนในภาษาไทย ดังนั้น นามปัจจุบัน คือ “ธนาคารไทยพาณิชย์/The Siam Commercial Bank” ซึ่งเป็น “พันทาง/ลูกผสม” คล้ายๆกับกรณีของ "บริษัทปูนซิเมนต์ไทย" ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Siam Cement" และเคยเปลี่ยนเป็น"The Thai Cement" (พ.ศ.2482 แล้วก็เปลี่ยนกลับอีกใน พ.ศ. 2489)

 

2.7---อนึ่ง ควรแทรกไว้ในที่นี้ด้วยว่า “ระบอบอำมาตยาธิปไตย/อำนาจนิยมอันมีบรรดาจอมพลและพลเอกเป็นผู้นำ” กลุ่มเดียวกันนี้ ก็ได้เปลี่ยนนามของ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า The University of Moral and Political Sciences (UMPS) เป็น (สั้นๆเฉยๆ) ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ Thammasat University (TU) เมื่อปี พ.ศ. 2495 แล้วตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม (นรม. สมัยนั้น) เป็นอธิการบดี (แทนผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. ก็มีการตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เข้าเป็นอธิการบดีแทนอีกด้วย)

 

มธ. ถูกออก พ.ร.บ. ตราตรึงไว้กับชื่อใหม่นี้ เช่นเดียวกับนาม “ประเทศไทย” หรือ Thailand ที่มี “รัฐธรรมนูญ” ฉบับแล้วฉบับเล่าที่ร่างกันตามๆมาโดย “เนติบริกรและรัฐศาสตร์บริการ” ที่ปฏิบัติหน้าที่รับงานมาจาก “ระบอบอำมาตยาธิปไตย/อำนาจนิยมอันมีบรรดาจอมพลและพลเอกเป็นผู้นำ” ตราและตรึงไว้ไม่ให้กลับไปใช้นาม “สยาม” หรือ Siam เช่นกัน

 

 

3

 

หากจะวิเคราะห์เรื่องของนามนี้ ทั้งจากทางด้านวิชาการและทางด้านประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่รัฐบาลในสมัยนั้น ยกขึ้นมาอ้างว่าด้วยเชื้อชาตินั้น ไม่ถูกต้องตาม “ความเป็นจริง” และ “ข้อมูล” ทั้งนี้เพราะ “ประชาชน” ที่ประกอบกันขึ้นเป็น “พลเมืองของประเทศเรา” นั้น มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และอัตลักษณ์ วัฒนธรรม มีทั้งไทย ลาว คนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่ง (ชาติต่างๆ) แขก (ชาติต่างๆ) ลูกผสม/ลูกครึ่งต่างๆอีกมากมายกว่า 50 ชาติพันธุ์ ฯลฯ ฯลฯ

 

 

4

 

การเปลี่ยนนาม “สยาม” เป็น “ไทย” ครั้งนั้นได้สร้าง “ความสับสน” ระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “ผู้คน/ประชาชน” กับสิ่งที่เป็นนามของ “ดินแดน/ประเทศ” (peoples and land) ตัวอย่างที่พบเห็นเข้าใจผิดอยู่เป็นประจำ คือ Taiwan หรือ Thailand หรือไม่ก็ทำให้นามอันเป็น “สิริมงคล” เช่น สยาม หรือ Siam กลายเป็น “อัปมงคล” ด้วยการที่นักวิชาการสกุล “เชื้อ-ชาตินิยม/อำมาตยาธิปไตย” ลากการตีความและตัวสะกดเป็น “ศยาม” (ศ.ศาลา) ที่แปลว่า “ดำหรือคล้ำ” หรือตีความไปไกลว่าเป็น “ทาส” พร้อมทั้งกล่าวหาว่าเป็นคำที่ “ของ/เขมร” ตั้งไว้ให้ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย

 

แต่ทว่า คำว่า “สยาม” หรือ Siam นั้น เป็นคำโบราณเก่าแก่มาก อาจจะมากกว่า 1 พันปี (ก่อนตั้งกรุงสุโขทัย/อยุธยา/ล้านนา/ล้านช้าง ดังนั้นคำว่า “สยาม” ก็เก่าแก่กว่าสถาบันกษัตริย์หรือ “ระบอบราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5) ด้วยซ้ำไป และมีการนิยมใช้ออกเสียงเรียกนามนี้ต่างกันไป ดังเช่น

 

4.1--ไท (ที่ไม่มี ย.ยักษ์) กับลาว ออกเสียงว่า “ซำ หรือ ซัม” แปลว่าดินที่มีน้ำ

4.2--ไทย (ย.ยักษ์) ออกเสียงว่า “สยาม”

4.3--มอญ ออกเสียงว่า “เซ็ม”

4.4--เขมรออกว่า “เสียม/ซีม”

4.5--มลายูออกเสียงว่า “เสียม/เซียม”

4.6--พม่าออกเสียงว่า “ฉาน/ชาน”

4.7--จีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ้องและราชวงศ์เหม็ง ก็เราดินแดนของเราว่า “เสียน” หรือ “เสียม”

ดังนั้นในพระราชสารจากปักกิ่งก็จะเรียกเราว่า “เสียมล้อ”

4.8--เมื่อฝรั่งตะวันตกเข้ามา ก็รับคำนี้ไปจากมอญและมลายู ออกเสียงกันต่างๆนานา แต่ที่รับรองกันเป็นสากลมาหลายร้อยปี ก็คือคำว่า Siam นั่นเอง

 

ดังนั้น เราจะต้องไม่ “สับสน” ระหว่าง “ดินแดน/ประเทศ” land กับ “ผู้คน/ประชาชน” peoples อันหลากหลายที่อาศัยอยู่ในบ้านในเมืองนี้

 

 

5

 

ความสับสนดังกล่าว ยังมีผลในการทำลายประเพณีอันดีงามของนาม “ประเทศ” อันเก่าแก่และสง่างามของเรา กล่าวคือนามประเทศของเรา คำว่า Thai แล้วลงท้ายด้วย land นั้นดูเหมือนเป็น“หัวมังกุ-ท้ายมังกร” และ “ตามก้นฝรั่ง” ดังจะเห็นว่า นามประเทศที่ลงท้ายด้วย land จะมีส่วนใหญ่ก็ในทวีปยุโรปเจ้าอาณานิคมเท่านั้น (ประเทศเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องของ “ลัทธิชาตินิยม” Nationalism ที่กลายพันธุ์เป็น “เชื้อชาตินิยม” Racism หรือไม่ “ความรักชาติ” ถูกบิดเบือนให้กลายเป็น “ความคลั่งชาติ” บ้างก็มี) ประเทศเหล่านั้น ที่ลงท้ายด้วย land ก็มี เช่น

 

--ในทวีปยุโรป Poland, Switzerland, England, Scotland, Ireland, Finland, Netherlands ฯลฯ

--ในทวีปอเมริกา ไม่มีเลย

--ในทวีปอัฟริกามี Swaziland ประเทศเดียว (อดีตอาณานิคมอังกฤษ)

--ในทวีปออสเตรเลียก็มี New Zealand ประเทศเดียว เช่นกัน (อดีตอาณานิคมอังกฤษ)

--และในทวีปเอเชียมี Thailand ประเทศเดียว ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศของเราเพิ่ง “เกิดใหม่” และ/หรือเป็น “อดีตอาณานิคม” เพิ่งได้ “เอกราช” จากฝรั่ง

 

 

6

 

แม้จะมีปัญหาผิดฝาผิดตัวทางข้อมูล (ความเป็นจริง) ทางประวัติศาสตร์ ความลักลั่น ความประดักประเดิดดังกล่าวข้างต้น ทำไม ? รัฐบาลสมัยนั้นและรัฐบาลสมัยต่อๆมาของ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย/อำนาจนิยมอันมีบรรดาจอมพลและพลเอกเป็นผู้นำ” (รวมฝ่ายพลเรือน/ตุลาการด้วย) จึงทั้ง “เปลี่ยน” นามและหรือไม่ก็ทั้ง “รักษา” นามนี้ของ “ประเทศไทย” และ Thailand เอาไว้ คำตอบก็คือ

(หนึ่ง)                    การเมืองภายในและภายนอกประเทศ

(สอง)                    วาระซ่อนเร้นทางการเมือง

 

ในข้อที่หนึ่งว่าด้วยการเมืองภายในและภายนอกนั้น กล่าวย่อๆได้ว่าเมื่อ “คณะราษฎร” ยึดอำนาจปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากรัฐบาลของระบอบราชาธิปไตย (รัชกาลที่ 7) ได้แล้วนั้น รัฐบาลใหม่มีเจตจำนงที่จะสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ” ขึ้น แต่ก็ประสบปัญหา “ความไม่มั่นคงทางการเมือง” อย่างยิ่ง มีทั้งสิ่งที่เรียกว่าการรัฐประหารซ้ำ/ซ้อนอยู่ตลอดเวลา

 

(ดังจะเห็นได้จากการรัฐประหาร “ซ้อน”โดยรัฐสภา 1 เมษายน 2475 การรัฐประหาร “ซ้ำ” 20 มิถุนายน 2476 และ “ความพยายามที่จะทำรัฐประหารซ้อน” ที่กลายเป็น “กบฏบวรเดช” ตุลาคม 2476 ที่ความขัดแย้งได้กลายเป็นสาเหตุให้พระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ต้องสละราชสมบัติในปีต่อมา และ “ลี้ภัยการเมือง” อยู่ในอังกฤษจนสิ้นพระชนม์ชีพ)

 

ดังนั้นปีกขวาของ “คณะราษฎร” ซึ่งนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเสนอนโยบาย “ลัทธิชาตินิยม” ที่มีรูปแบบและแกนกลางอยู่ที่ “อำมาตยาธิปไตย” แต่จะอ้างและอิงกับสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชาตินิยม” ที่ทำให้ปีกซ้ายของ “คณะราษฎร” เอง ก็รับได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะมาแตกหักกันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ผลที่สุดแล้ว “ลัทธิชาตินิยม” รูปแบบนี้ ก็กลายพันธุ์เป็น “ระบอบอำมาตยาธิปไตย/อำนาจนิยมอันมีบรรดาจอมพลและพลเอกเป็นผู้นำ” นอกจากนี้ “ลัทธิอำมาตยาชาตินิยม” ดังกล่าว ก็ก่อตัวขึ้นในบริบทของการเมืองภายนอก ที่ลัทธินาซี/ฟาสซีสม์ กำลังผงาดขึ้นมาในเยอรมนี (ของฮิตเลอร์) อิตาลี (ของมุสโสลินี) และญี่ปุ่น (ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตและนายพลโตโจ) และรัฐบาลไทยสมัยนั้น ก็ดำเนินนโยบายการต่างประเทศ “ลู่ไปตามลม” ที่จะนำไปสู่การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในบั้นปลาย

 

กล่าวโดยย่ออีกครั้ง ก็คือว่า “วาระซ่อนเร้น” ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว รวมทั้งการเปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” จาก Siam เป็น Thailand ก็คือมาตรการที่จะต่อสู้กับ “คณะเจ้า” และ “ระบอบราชาธิปไตย” ที่มีอุดมการณ์หลักของ “ราชาชาตินิยม” ที่แม้จะสูญเสียอำนาจไป (ชั่วคราว) แต่ก็สามารถทำให้ “คณะราษฎร” ขาดความมั่นคงทางการเมืองได้

 

ในขณะเดียวกันว่า “วาระซ่อนเร้น” ของการยกย่องเชิดชู “ความเป็นไทย” “ชนชาติไทย” “เผ่าไทย” ก็คือการตอกย้ำอัตลักษณ์ “ไทย” ที่สามารถ “กดทับ” อัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ หรือชาติพันธุ์อื่นๆอันหลากหลายไปด้วยในตัวไม่ว่าจะเป็น ลาว คนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่ง (ชาติต่างๆ) แขก (ชาติต่างๆ) ลูกผสม/ลูกครึ่งต่างๆอีกมากมายกว่า 50 ชาติพันธุ์

 

ในกรณีนี้ ดูเหมือนว่าผู้ที่จะถูกกระทบอย่างหนักคือ “กฎุมพีจีน” ที่มีความสัมพันธ์และผลประโยชน์ร่วมอันดีเป็นเวลาช้านานกับ “คณะเจ้า” (เข้าทำนองคำพังเพยสำหรับบุคคลแห่งบารมีที่ว่า “ปีจอ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ลูกเจ้า หลานเจ๊ก”) ในยุคดังกล่าวและยุคต่อมาของการต่อต้านคอมมิวนิสม์ ชาวจีน (หรือคนไทยเชื้อสายจีน) จะถูกมาตรการและการปฏิบัติที่กดทับและกีดกันทั้งทางด้านกฎหมาย เศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมต่างๆนานา แต่ประวัติศาสตร์ไทยก็ “วกวน” และ irony ยิ่งนัก กล่าวคือผู้ก่อการ 2475 จำนวนไม่น้อยเลย รวมทั้งชนชั้นสูงชนชั้นปกครองไทย ต่างก็มีเชื้อสายจีน (หรือไม่ก็ประเภทลูกผสม “จปล.” หรือ “จปม.”) แต่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของตน ก็ต้องเล่นบท “รักเมืองไทย-ชูชาติไทย” และ “กดทับ-ปิดบัง-ซ่อน-แอบอัตลักษณ์” ของตนอย่างสุดๆ

 

 

7

 

นโยบาย “ลัทธิอำมาตยาชาตินิยม” ดังกล่าวนี้ แม้จะดูอ่อนๆ เป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของวัฒนธรรมในระยะแรก แต่ในที่สุดก็ “พัฒนา” ไปสู่ความแข็งกร้าวและรุนแรงที่ไม่สามารถจะ “กู่ให้กลับ” มาได้ กลายเป็น “คลั่งชาติ” และ “ลัทธิขยายดินแดน” Irredentism ที่ทั้งผู้นำในระบอบดังกล่าวปลุกระดมว่าเป็น “มหาอานาจักรไทย” (Pan-Thaiism) แอบ-อิง-และอ้าง “ลัทธิประชาชาตินิยม” สามารถปลุกระดมให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนชั้นกลางลุกขึ้นมาเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาล และในที่สุดกองทัพไทยก็บุกเข้าไปยึดครองดินแดนและผู้คนที่อยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่ง ดังกรณีทางประวัติศาสตร์ดังนี้

 

7.1--ยึดดินแดนจากอินโดจีนของฝรั่งเศส (กัมพูชาและลาว) เมื่อปี พ.ศ. 2483 หลังการเปลี่ยนนามประเทศเพียง 1 ปี (ยึดได้มาด้วยการสู้รบกับฝรั่งเศสและการไกล่เกลี่ยเข้าข้างไทยของญี่ปุ่น)

รวมทั้งยึดดินแดนจากอาณานิคมของอังกฤษโดยกองทัพญี่ปุ่นช่วยหนุนหลังปี 2485 รวมทั้งหมด ดังนี้

7.2--ยึดเสียมราฐ แล้วเปลี่ยนนามเป็น “จังหวัดพิบูลสงคราม”

7.3--ยึดพระตะบองและศรีโสภณ (ให้นายควง อภัยวงศ์รับมอบคืน ใช้ชื่อเดิม)

7.4--ยึดนครจัมปาศักดิ์ (จัมปาสักในลาว ใช้ชื่อเดิม แต่สะกดให้เป็นไทย)

7.5--ยึดไชยะบุรี (แล้วเปลี่ยนนามเป็นจังหวัดลานช้าง-ไม่มีไม้โท)

7.6--ยึดเมืองเชียงตุงและเมืองพาน (ในพม่า) แล้วเปลี่ยนนามเป็น “สหรัฐไทยเดิม”

7/7--ยึดกลันตัน ตรังกานู เคดะห์ ปะลิส (ในมลายู) แล้วเรียกเสียใหม่ให้เป็นไทยว่า “สี่รัฐมาลัย”

 

ดินแดนและผู้คนเหล่านี้ รัฐบาลไทยได้ส่งข้าราชการเข้าไปปกครองอยู่ระหว่าง 3-5 ปี แต่ต้องส่งคืนไปภายหลังที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2488 เราคงนึกกันไม่ออกว่าประเทศของเราจะเป็นอย่างไรในปัจจุบันนี้ คือ พ.ศ. 2550 นี้ (ที่เราเต็มไปด้วยปัญหาของ “สมานฉันท์” และ “ชายแดนจังหวัดภาคใต้”) หากญี่ปุ่นชนะสงครามครั้งนั้น และดินแดนตั้งแต่ “เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ ไซยะบุรี เชียงตุง เมืองพาน ตลอดจนกลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และปะลิศ” ยังคงขึ้นอยู่ในการยึดครองของ “ประเทศไทย” และ Thailand

 

 

8

 

สรุป นามประเทศของเราทั้ง “สยาม” และ “ไทย” เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร มีเส้นทางเดินมายาวไกล ยอกย้อน ซับซ้อน และสับสน มีทั้ง “วาระซ่อนเร้น” ที่เป็น “การเมือง” ทั้งที่เป็น “ราชาชาตินิยม” “อำมาตยาชาตินิยม (ที่ต่างก็มักอ้าง “ประชาชาตินิยม”) มีทั้งการนำมาใช้โดยอาจจะบริสุทธิ์ใจ กับการบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของหมู่คณะของตน ในบางครั้งสร้างปัญหาในระดับนานาชาติขึ้นได้อย่างเช่นในกรณีดินแดนประเทศข้างเคียง และในบางครั้งคำว่า “ไทย” ก็ถูก “ระบอบอำมาตยาธิปไตย/อำนาจนิยมฯ” รวมทั้งวาทกรรม “ราชาชาตินิยม”) นำมาใช้เป็นเครื่องมือและข้ออ้างในการปราบปรามผู้คน/ประชาชนภายในประเทศด้วยกัน ดังเช่นในกรณีของรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 หรือ กรณีของพฤษภาประชาธรรม 2535 (ไม่ใช่ทมิฬ) และ/หรือกรณีของ “กรือเซะและตากใบ”

 

ในฐานะนามของประเทศ (ดินแดน หรือ land) เรามีความจำเป็นที่จะต้องเลือกระหว่าง “สยาม” หรือ “ไทย” คงไม่มี “นาม” ไหนตายตัวหรือดีที่สุด แต่ “นาม” นั้นก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง บางครั้งเป็นเรื่อง “คอขาดบาดตาย” ดังที่เราได้เห็นมาแล้วในประวัติของการเปลี่ยนนามนี้ 68 ปีที่ผ่านมา

 

รัฐธรรมนูญฉบับ (ที่สอง) วันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ฉบับปรองดอง” ระหว่าง “คณะราษฎร” กับ “คณะเจ้า” ก็ใช้นามประเทศว่า “สยาม” และในการร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้ง แม้ว่านาม “สยาม” จะถูกยกเลิกไป ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็เคยอภิปรายในประเด็นที่จะเปลี่ยนนามประเทศเป็น “สยาม” อีก เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และฉบับ 2511

 

ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่กำลังร่างกันอยู่นี้ หรือฉบับอื่นๆ ที่จะต้องร่างกันต่อไปตราบเท่าที่ประเทศชาติของเรายังไม่มี “ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง การจะกลับไปใช้นามว่า “สยาม” และ Siam ก็จะเป็นการ “กลับบ้านคืนรัง” ที่เหมาะสมกับกาละและเทศะ และดูจะเป็นสิริมงคลยิ่ง

 

และดังนั้นอีกเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับ “ความเป็นจริงและความถูกต้อง” ทางเชื้อชาติ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม และตรงตาม “ข้อมูล” ทางประวัติศาสตร์ จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะให้ใช้นามประเทศว่า “สยาม” ในภาษาไทย และ Siam ในภาษาอังกฤษสืบไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ “หลักการของความปรองดอง สามัคคี สมานฉันท์ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ กับการยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และอัตลักษณ์วัฒนธรรม กับประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน”

 

 

9

 

ท้ายที่สุด เชื่อหรือไม่ว่าการเปลี่ยนนามประเทศ ที่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต คาราคาซังกันมาเป็นเวลานานกว่ากึ่งศตวรรษนี้ ครม. ชุดที่ทำให้เปลี่ยนนามดังกล่าว ได้นำเรื่องนี้เข้าประชุมเมื่อ 8พฤษภาคม 2482 โดยให้อยู่ใน “วาระจร” (ทำให้ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญใดๆ)

 

ในวันนั้น (8 พฤษภาคม 2482) ในการประชุม ครม. ผู้เข้าร่วมประชุมมีอาทิ เช่น

 

--นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นรม.

(ชื่อสกุลเดิมว่า “แปลก ขีตตะสังคะ” ได้บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิบูลสงคราม” เมื่อสร้างกระแสการเมืองของการเปลี่ยนชื่อและนาม ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อและสกุลว่า “แปลก พิบูลสงคราม” ต่อมามียศเป็นจอมพล และเริ่มธรรมเนียมการใช้ชื่อย่อว่า “ป. พิบูลสงคราม” โปรดสังเกตการนำบรรดาศักดิ์มาเป็นสกุล)

 

--หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

(ชื่อและสกุลเดิม “ปรีดี พนมยงค์” ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อมีกระแสการเมืองของการเปลี่ยนชื่อและนาม ได้กลับไปใช้ชื่อปรีดี พนมยงค์ตามเดิม และไม่เอาบรรดาศักดิ์มาเป็นสกุล)

 

--หลวงวิจิตรวาทการ

(ชื่อ/สกุลเดิม “กิมเหลียง วัฒนปฤดา” ได้บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงวิจิตรวาทการ” เมื่อร่วมสร้างกระแสการเมืองเปลี่ยนชื่อและนาม ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อและสกุลว่า “วิจิตร วิจิตรวาทการ” โดยเอาบรรดาศักดิ์มาเป็นสกุล แต่ภายหลังก็กลับไปใช้ “หลวงวิจิตรวาทการ” อีก)

 

--นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

(ชื่อ/สกุลเดิม “ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์” ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในระหว่างกระแสการเมืองเปลี่ยนชื่อ/สกุลได้หันไปใช้ว่า “ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” แล้วกลับไปใช้ “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์” อีก)

 

โปรดสังเกตว่า ครม. ชุดนี้ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนนามประเทศ ชื่อและนามอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของตนเองกลับไปกลับมาหลายต่อหลายครั้งด้วย ซึ่งน่าจะสะท้อนปัญหาของจิตวิทยาทางการเมืองของชนชั้นนำใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี)

 

ในวันเดียวกันดังกล่าวนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้อภิปรายด้วยทัศนวิสัยที่กว้างไกลไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ในแง่นโยบายการปกครอง เราคงลำบากใจบางอย่าง คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวเราพูดอะไร จะให้กินความส่วนรวมแล้ว ก็ใช้ว่า “สยาม” เขาอาจจะน้อยใจได้ ถ้าเราเลิกใช้ “สยาม” ใช้แต่ “ไทย” จะเกิดความรู้สึกว่า เอาพวกชาติอื่นออก เพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่า “สยาม” ก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ ถ้าเปลี่ยนไปอาจไม่ดูดพวกนี้มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้”

คัดจาก ประชาไท



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-06-29 09:47:24


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937366)

ผมเห็นว่าบทความนี้เหมาะจะเผยแพร่แบ่งปั้นเรียนรู้และอ่านกันอย่างสำรญทรัพย์นิรันดร์ ในวาระ75 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หากผิดพลาดประการใดขออภัยมาณ โอกาศนี้ด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้สื่อข่าวบ้านไพร วันที่ตอบ 2007-06-29 09:49:51


ความคิดเห็นที่ 2 (937367)
เห็นด้วยให้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนักกลอนแห่งสยามประเทศค่ะ
ผู้แสดงความคิดเห็น ศยามล วันที่ตอบ 2007-06-29 11:57:28


ความคิดเห็นที่ 3 (937368)
ผู้สื่อข่าวบ้านไพร ทำดีแล้ว ขอส่งกำลังใจมาเติมเพื่อให้ทำต่อไป
ผู้แสดงความคิดเห็น สุธีร์ พุ่มกุมาร วันที่ตอบ 2007-06-29 14:20:36


ความคิดเห็นที่ 4 (937369)
ผมชอบคำว่า สยาม มากกว่า ไทย รู้สึกว่ามันขลังกว่า
ผู้แสดงความคิดเห็น แดนไกลฯ วันที่ตอบ 2007-06-29 21:22:33


ความคิดเห็นที่ 5 (937370)

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างนี้ดี ใครมีทัศนะอย่างไรก็แสดงความคิดเห็นออกมาในเชิงเหตุผลส่วนใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยไม่เป็นไรทุกคนมีเหตุผลมีปัญญาธรรมและมีวิจารณญาณอย่าไปเที่ยวต่อว่าคนไม่เห็นด้วย หรือกลุ่มคนที่ไม่สนใจว่าอยู่ในกะลาครอบ มันไม่ถูกต้องเหมือนไปละเมิดสิทธิของเขา ส่วนผู้ที่เห็นด้วยก็แสดงความคิดเห็นได้โดยใช้ภาษาด้วยความสุภาพเรียบร้อย

ผู้แสดงความคิดเห็น สมาชิกสมาคมนักกลอน วันที่ตอบ 2007-07-01 09:41:50


ความคิดเห็นที่ 6 (937371)

ขอบคุณพี่สุธีร์ ปิยมิตรแห่งมิตรยิ่งครับ

24 มิถุนายน 2475 และ 2482 เปลี่ยนแปลงการปกครอง และชื่อประเทศ

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ



จากสยามเป็นไทย นามนั้นสำคัญไฉน? เป็นชื่อหนังสือเล่มบางๆ ของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2548) จะคัดเฉพาะสาระสำคัญมาสู่กันอ่านดังนี้

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482/1939 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 7 ปีของการปฏิวัติ หรือ "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475/1932" นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (ยศและบรรดาศักดิ์ในตอนนั้น) นายกรัฐมนตรีวัย 42 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งมาได้เพียง 6 เดือน ในบทบาทของ "ท่านผู้นำ" ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ก. ในภาษาไทย ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า "ไทย"

ข. ในภาษาอังกฤษ 1.ชื่อประเทศให้ใช้ว่า Thailand 2.ชื่อประชาชนและสัญชาติให้ใช้ว่า "Thai"

การเปลี่ยนนามประเทศในครั้งนั้น นับว่าเป็นการดำเนินการทางการเมืองที่วางแผนล่วงหน้าไว้อย่างรัดกุม กล่าวคือในวันเดียวกันรัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องอื่นๆ พร้อมกันไป เช่น

ลงนามในสนธิสัญญาใหม่กับมหาอำนาจต่างประเทศที่สำคัญๆ และกำหนดให้มีพิธีการแปลกใหม่คือ มีการเฉลิมฉลอง "วันชาติ"

ประกาศให้ "24 มิถุนายน" เป็น "วันชาติ" เป็นครั้งแรกและให้ถือเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย นี่ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่วันหยุดราชการจะมิใช่วันที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาหรือพระราชวงศ์ ดังที่เคยเป็นมาตลอดระยะเวลาก่อนหน้านี้

ในวันเดียวกันนั้นก็ยังมีการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน (ของรัชกาลที่ 5) อีกด้วยเช่นกัน นี่ก็เป็นอนุสาวรีย์ในความหมายสมัยใหม่แห่งแรก (ภายหลังอนุสาวรีย์ "ปราบกบฏ" 2476) ที่มิใช่เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์อย่างที่เคยเป็นมา (เช่น พระบรมรูปทรงม้า พระราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าฯ เชิงสะพานพุทธ)

ใน "คำชักชวน" (ซึ่งเอามาจากคำบรรยายทางวิทยุกระจายเสียงของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี "ลอย") ให้ใช้ชื่อใหม่ "ไทยแทนสยาม" ได้ให้เหตุผลว่า

"1.ไม่ตรงกับเชื้อชาติของพลเมืองซึ่งเปนไทย ทำให้ชื่อประเทศเปนอย่างหนึ่ง แลชื่อพลเมืองเปนไปอีกอย่างหนึ่ง

2.ทำให้คนไทยมีสัญชาติและอยู่ในบังคับต่างกัน กล่าวคือคนไทยในเวลานี้มีสัญชาติเปนไทย แต่อยู่ในบังคับสยาม

3.คำว่า "สยาม" มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องประการใดกับชนชาติไทย คำว่า "สยาม" เปนแต่เพียงชื่อเมืองเมืองหนึ่งซึ่งเปนที่ว่าการมณฑลของขอมที่ปกครองชนชาติไทยมาแต่โบราณกาล และเมื่อพระร่วงกู้อิสรภาพของไทยได้ก็ได้ยกเลิกคำว่าสยามเสีย

4.คำว่า "สยาม" แม้ในเวลานี้ก็ใช้กันแต่ในภาษาหนังสือ ส่วนในภาษาพูดโดยทั่วไปนั้นไม่ค่อยใช้

5.ชนชาติไทยเปนชาติที่มีสาขาใหญ่หลวงอยู่ในเวลานี้ สมควรจะเรียกชื่อประเทศให้สมศักดิ์ของเชื้อชาติไทย"

สยามกับไทย แปลว่าอะไร? หมายถึงอะไร? มีผู้ศึกษาค้นคว้าอธิบายต่างกันมากมายหลายหลาก แต่ที่ได้รับความเชื่อถือกว้างขวางที่สุดเป็นของจิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือความเป็นมาของคำสยาม, ลาว, และไทยฯ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519)

แต่ก็ยังไม่ยุติ และไม่จำเป็นต้องมีข้อยุติ ควรร่วมกันแสวงหาคำอธิบายความหมายต่อไปอีก

หน้า 34

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้สื่อข่าวบ้านไพร วันที่ตอบ 2007-07-02 03:02:47


ความคิดเห็นที่ 7 (2099828)
no surprise to those living in south louisiana that the tracks tendency is to revert to its original form of mudhole ugg classic cardy boots sale riders will find uggs ugg boot ugg boot
ผู้แสดงความคิดเห็น guess watch วันที่ตอบ 2010-08-25 17:22:07


ความคิดเห็นที่ 8 (2100377)
handbag online retailers under the circumstance of the choice of replica handbags men"s handbags you are to take selection as that louis vuitton ties fake bags for sale men"s gucci gifts lv handbags
ผู้แสดงความคิดเห็น citizen watch วันที่ตอบ 2010-08-25 21:43:55


ความคิดเห็นที่ 9 (2107401)

afro hair extensions hair weaves accessory today Just wigs Your fantastic appearance can not be clip on hair extensions revlon wigs.

ผู้แสดงความคิดเห็น must (panerai-at-google-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 10:10:03


ความคิดเห็นที่ 10 (2107837)

wallet for men replica handbags large for the tiny purse louis vuitton GuideWhether it marks the name of a louis vuitton handbags lv wallet for men.

ผู้แสดงความคิดเห็น link (yvette-at-msn-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:36:33



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.