ReadyPlanet.com


หลากมิติหลายมุมมอง ในซีไรต์ 2550


หลากมิติหลายมุมมอง ในซีไรต์ 2550



เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กๆ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์,ที่ที่เรายืนอยู่ ของ อังคาร จันทาทิพย์,ปลายทางของเขาทั้งหลาย ของ กฤช เหลือลมัย,แมงมุมมอง ของ พรชัย แสนยะมูล,ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ ของ อุเทน มหามิตร,ลงเรือมาเมื่อวาน ของ ศิริวร แก้วกาญจน์,โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของ มนตรี ศรียงค์ และ

หมู่บ้านในแสงเงา ของ โกสินทร์ ขาวงาม

ทั้ง 8 เล่ม คือบทสรุปของกวีนิพนธ์ที่สามารถฝ่าฝันผู้เข้าร่วมชิงชัยกว่า 76 เล่ม ในสนามซีไรต์จนเข้ารอบตัดเชือกมาได้ โดยการพิจารณาและลงมติของประธานกรรมการคัดเลือกคือ อดุล จันทรศักดิ์ และกรรมการที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอีก 6 ท่านอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา,พินิจ นิลรัตน์,พิเชฐ แสงทอง, วชิระ ทองเข้ม,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สายวรุณ น้อยนิมิต และรองศาสตราจารย์ อวยพร พานิช

ชื่อชั้นของกวีแต่ละท่านคงไม่ต้องบรรยายอะไรให้มากความ เพราะล้วนแต่มีตัวตนที่ชัดเจนอยู่ในบรรณพิภพมานาน เว้นเพียงโกสินทร์ ขาวงาม ที่แม้จะเพิ่งมีผลงานรวมเล่มเป็นครั้งแรก แต่ก็ส่องประกายกวีไม่น้อยเลย

ประธานกรรมการอย่าง อดุล จันทรศักดิ์ เล่าให้ฟังว่าการตัดสินในปีนี้เข้มข้นน่าดู โดยจะแบ่งกันอ่าน 3 ครั้ง ครั้งละ 25 เล่ม แล้วจึงคัดออกมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาเสนอ ผ่านกระบวนถกเถียง และลงประชามติร่วมกัน โดยจะเน้นตรงความแหลมคมทางความคิดและฝีมือการเขียน จึงไม่แปลกที่ผลงานของศิริวรจะเข้ารอบถึง 2 เล่ม

"ผมก็สงสัยเนื่องจากทำงานกวีนิพนธ์มา ไม่เคยมีที่หนังสือโดยคนเขียนคนเดียวกันจะเข้ารอบทั้ง 2 เล่ม แต่คนที่เคยเป็นกรรมการรอบที่แล้วบอกว่าได้ เพราะปีที่แล้วงานของคุณประชาคม ลุนาชัย (เขียนฝันด้วยชีวิต และ กลางทะเลลึก) ก็เข้า 2 เล่ม เลยไม่มีข้อถกเถียงต่อ"

สังเกตว่างานส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิดปัจเจกบุคคล และไม่ค่อยมีบทกวีที่สะท้อนภาพรวมของสังคมที่กำลังเข้มข้นส่งเข้าประกวดมากนัก ซึ่งอาจทำให้หลายคนขัดอกขัดใจ เพราะมองว่าหน้าที่หนึ่งของกวีคือการสะท้อนสังคม

ตรงจุดนี้อดุลเห็นว่าเป็นการตีกรอบมากเกินไป เพราะแม้จะไม่แสดงความเห็นทางสังคมและการเมืองแบบตีแสกหน้า แต่ในความเป็นปัจเจกนั้นก็แฝงข้อคิดของชีวิตอยู่ร่ำไป

อีกประการหนึ่งอดุลเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านการเมืองยังสดใหม่อยู่ ทำให้กวีสร้างสรรค์งานเพื่อรวมเล่มไม่ทัน

"จริงๆ แล้วช่วงนี้การเคลื่อนไหวของสังคมแรงมาก ไม่ว่าทั้งคุณทักษิณจะกลับมาได้หรือเปล่า พล.อ.สพรั่ง เป็นวีรบุรุษหรือไม่ คตส.จะทำอะไร แต่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดหลังมีนาคมทั้งนั้น ซึ่งหมดเขตส่งงานแล้ว ทำได้อย่างมากก็หลังเหตุการณ์ 19 กันยายนสัก 3 เดือน"

และอีกเหตุผลคือเป็นเพราะหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำไปมา ทำให้เกิดอาการตันขึ้นในบทกวี

"อย่างเหตุการณ์ภาคใต้เขียนไม่กี่ชิ้นก็จบแล้ว ประเด็นซ้ำมาก มีประณามผู้ก่อการร้าย เขียนเพราะห่วงครูและเด็กๆ ในภาคใต้ พรุ่งนี้จะตื่นไปโรงเรียนทำไม อย่าออกไปให้เขาฆ่าเลย ยากมากที่จะเขียนได้ทั้งเล่ม"

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นปีที่มีบทกวีไร้ฉันทลักษณ์เข้ารอบมาถึง 2 เล่มคือ เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กๆ และฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ โดยอดุลให้เหตุผลว่าเป็นเพราะทั้ง 2 เล่มมีความถึงตามมาตรฐานของกวีนิพนธ์

"บทกวีไร้ฉันทลักษณ์เขียนง่ายแต่เขียนให้ดียากนะ เพราะไม่มีจังหวะของคำมาช่วยพาไปตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง เถียงกันเยอะว่าแต่ละเล่มถึงไหม ถึงในที่นี้คือฝีมือกวีที่มีคุณค่าและกระทบความรู้สึก" อดุลกล่าวยิ้มๆ

ซึ่งในประเด็นนี้กรรมการซีไรต์หลายสมัยอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา ก็เห็นว่าในอดีตที่กลอนไร้ฉันทลักษณ์มักจะตกรอบ หรือเข้าอย่างเต็มที่เพียงเล่มเดียวนั้น เป็นเพราะความนิยมในกลอนฉันทลักษณ์มีอยู่มาก และกลอนไร้ฉันทลักษณ์ที่เคยส่งมาก็ไม่ค่อยดีนัก แต่ปีนี้ส่งมาค่อนข้างเยอะ และมีพัฒนาการขึ้นมากในเรื่องของประเด็น การร้อยเรียงความคิด พลังจินตนาการ และถ้อยคำที่เลือกสรร

"อย่างเก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก ภาษาจินตนาการสวยมาก หรือฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ ถึงจะมีกลิ่นอายฝรั่งมาก แต่ให้พลังจินตนาการสูง อย่างแมงมุมมองของพรชัยคล้ายจะไร้ฉันทลักษณ์ แต่ก็ไม่ได้ไร้ เพราะมีจังหวะเสียงที่ลงตัว พรชัยส่งมาหลายครั้ง แต่ครั้งก่อนๆ มีบทเล่นมากเกินไป มาปีนี้ลงตัว เพราะในเรื่องของการเล่นคำ การเสนอความคิด จะเห็นความตั้งใจที่จะนำวรรณศิลป์ตรงนี้มาล้อ มาวิพากษ์วิจารณ์สังคม

แต่ก้มีกลอนไร้ฉันทลักษณ์บางเล่มที่เขียนดีมาก แต่ไม่เข้ารอบ เพราะรวมเล่มแล้วเรื่องล้นจนเบลอไปหมด กลายเป็นยำใหญ่ บ.ก.สำคัญมากในฐานะของการเลือกและการจัดเรียง อย่างเล่มของมนตรีจะเคลียร์มากตัดตอนอ่านไม่ได้เลยนะ เพราะเรื่องร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน" ดร.ธเนศชำแหละ เอ๊ย วิจารณ์บางเล่มให้เราฟัง

ส่วนที่มีบางคนสงสัยว่าการที่ซีไรต์ปีนี้ มีบทกวีที่คนอ่านไม่ต้องปีนกะไดอ่านให้เมื่อยเข้ารอบอยู่หลายเล่ม เกิดจากความตั้งใจของกรรมการที่ว่า อยากให้ซีไรต์เข้าถึงคนส่วนใหญ่ของสังคมหรือเปล่านั้น? ประเด็นนี้ ดร.ธเนศมองว่า...

"ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่รู้นะ แต่คิดว่ากรรมการพยายาม และกรรมการเองก็เป็นรุ่นใหม่ ความเห็นนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่ไม่กล้าฟันธง"

ด้านกรรมการแนวท้าชนทุกสถานการณ์อย่างพินิจ นิลรัตน์ ก็มองว่าบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่เข้ารอบมานั้น เป็นผลงานที่เน้นภาษากวี เล่นกับสัญลักษณ์ อุปลักษณ์ และจินตภาพอย่างมีจังหวะจะโคน

"เขากำหนดจังหวะด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่ระบายความรู้สึกส่วนตัว ขณะที่คนที่เขียนกลอนฉันทลักษณ์ แม้บางบทจะไม่เคร่งครัด แต่เราเห็นเลยว่าเขาช่ำชองพื้นฐานแล้วจนสามารถแหวกหรือปรับเปลี่ยนได้อย่างลงตัว"

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าซีไรต์หวังขยายกลุ่มคนอ่านหรือเปล่านั้น พินิจส่ายหน้าหวือ และยืนยันหนักแน่นว่าไม่เกี่ยวเลย เพราะซีไรต์ให้ความสำคัญกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องเอาใจประชาชนในวงกว้าง

โห ชัดเจนจริงๆ

ขณะที่ว่าที่ ดร.อย่างพิเชฐ ก็มีมุมมองที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นเสมือนการปลดแอกให้กับกวี หลังจากที่ผูกขาดกับความขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์มาแสนนาน

"งานหลายเล่มที่เข้ารอบ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลดกวีออกจากหอคอยขอบฟ้า และอันเชิญลงมาจากหิ้ง เพราะจะสื่อให้เห็นว่าเราสามารถเขียนกวีได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเกร็งไปกลัว หลายคนจะรู้สึกว่ากวีมันต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ คนที่เขียนกวีต้องเป็นกวีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ก็เลยมีความเกร็งกลัวที่จะเสพที่จะสร้าง ถึงกับมีคำพูดว่าถ้ากวีเดินผ่านมานักเขียนจะต้องลุกขึ้นและโค้งคำนับ วิธีคิดแบบนี้ยิ่งทำให้สังคมและคนทั่วไปถอยห่างจากกวีมากขึ้น"

ดุเด็ดเผ็ดมันจริงๆ

นอกจากนี้พิเชฐยังเห็นว่า ที่ปัจจุบันกวีนิยมเขียนกลอนเปล่าเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะบางครั้งกลอนฉันทลักษณ์ก็ไม่สามารถตอบสนองเรื่องราวทางสังคมหรืออารมณ์ใหม่ๆ ที่มีความขบถและต้องการจะแหกกรอบได้ แต่ที่ผ่านมาสถาบันวรรณกรรมบ้านเรา ยังไม่มีบทสรุปของคำว่ามาตรฐานบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ทำให้ไม่ค่อยพบบทกวีลักษณะนี้ในรอบลึกๆ ของเวทีต่างๆ ซึ่งต่างจากตอนนี้ที่บางสถาบันปรับตัวได้แล้วอย่างซีไรต์

และเมื่อเราลองถามถึงความพอใจถึงผลการตัดสินในครั้งนี้ พินิจ ซึ่งเคยสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยที่ความสุขของกะทิ ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งที่ตนก็เป็นหนึ่งในกรรมการคัดเลือกนั้น รีบยกมือขอพูดก่อนทันทีเลยว่า

"พอใจระดับหนึ่ง เพราะแน่นอนว่ากรรมการเจ็ดคนให้ชอบเหมือนกันทั้งแปดเล่มคงเป็นไปไม่ได้ ความชอบก็ต่างระดับกันอีก"

ฟังแล้วหลายคนอาจเริ่มรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ถ้าพินิจไม่ตบท้ายมาว่า

"แต่ถ้าปีนี้เขาหยิบว่าเล่มไหนได้รับรางวัลก็จะไม่ลุกขึ้นถาม เพราะถือว่ากรรมการตัดสินจะหยิบเล่มไหนขึ้นมาก็ได้ พร้อมที่จะรับเพราะเป็นมติของกรรมการที่เราส่งไป กรรมการต้องชอบอย่างมีหลักเกณฑ์ และต้องวางความชอบส่วนตัวไว้ ถ้าใครวิพากษ์วิจารณ์มาถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน"

แหม ได้ยินเสียงถอนหายใจดังเฮือกใหญ่ๆ หลายเฮือกเลยนะนี่

นี่แค่รอบแรกยังสนุกขนาดนี้ กว่าจะถึงเวลาประกาศผลช่วงปลายเดือนสิงหาคม คงจะมีเรื่องให้ลุ้นกันอีกเยอะเลย

มติชน เสาร์ 14 ก.ค. 50 หน้า 24



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-14 18:24:40


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2107236)

jessica simpson and ken paves short wigs affects the price-longer more wigs different oponions towards these blonde wig african american hair extensions.

ผู้แสดงความคิดเห็น cellini (noire-at-live-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 08:45:18



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.