ReadyPlanet.com


อังคาร :พระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท


หอมช่อบุปผชาติทาสอารมณ์

ลมโชยช่อบุหงาสุมาลี สีสวยระรวยมธุรสหอม
โรยกลีบร่วงเรณูนวลพร้อม นอบน้อมธรณีที่พรายแพรว

      หอมช่อแก้วนึกแก้วแววตา ชาติหน้าปรารถนานางแก้ว

สายหยุดสุดสายจนบ่ายแล้ว ยังไร้แววรุ้งมณีที่สุดรัก

      จำปีลืมเลือนวันเดือนปีจำแต่เทวีที่สูงศักดิ์

เต่าร้างอ้างว้างอกหนักนักจักเป็นเช่นหินผาจาบัลย์
      โลกจะระทดทุกข์เศร้าสร้อย ชะแง้คอยชาติไหนได้ดุจฝัน

มะลิวันถึงวันสลายสิ้นไกวัล ฉันคงเปล่าเปลี่ยวอยู่เดียวดาย

รำเพยเผยแง่งามรหัสลับ กับดาริการะยับระย้าเฉิดฉาย
สะบ้าจ่อมน้ำตาแล้วลาตาย พิษร้ายเสน่หาพร่าวิญญาณ

      ลมระรื่นชื่นหอมรสสุคันธ์ ขาดจอมขวัญมิ่งขวัญร้าวฉาน

ซ่อนกลิ่นหอมโฉมเนื้อนวลนาน ทรมานถึงปรโลกโศกเสียดาย

      สลัดไดละสละสลัดได้ สุดสลัดให้เสน่หาหาย

ลั่นทมจะตรมตรอมใจตายหมกไหม้ทุกข์ทุกเถ้าผงธุลี

      อบเชยเอ๋ยขอชมเชยที่ช้ำกินน้ำใต้ศอกได้หรอกชาตินี้
โศกเอ๋ยจะโศกซึ้งตรึงชีวี สุดที่เศร้าอกจะหนาวเย็น

      นางแย้มก่อนนี้น้องแย้มยิ้ม พริ้มพรายชม้ายให้ฝันเห็น

ราตรีดึกดื่นนี้ลำเค็ญ พี่มิรู้จะเป็นฤๅจะตาย

      บุนนาคหากแห้งแล้งบุญหลัง อย่าหวังเลยรักมักละลายหาย

พุทธชาดชาติหนึ่งพึงวอดวาย ชีวิตใต้ฝ่าเท้าเจ้าแก้วตา

      กาหลงเล่ห์พะวงหลงใหล ใฝ่เอื้อมดาววาววับระยับระย้า

นมตำเรียอ่อนเพลียชีวาซบซ่อนหน้าหวิวว้าอารมณ์

      สารภีพี่สารภาพผิดพลาด ทั้งชาติอเนจอนาถเจ็บแสบสาสม

ลำดวนจะด่วนม้วยด้วยลมลม แล้งแล้งแห้งเหี่ยวหัวใจ

      ถึงหอมบุหงาลดามาลย์จบฟ้าป่าหิมพานต์กว้างใหญ่

โลกแล้งเจ้าโศกเศร้าเสมอไป ตราบประลัยกัปกัลป์นิรันดร

(ลำนำภูกระดึง - อังคาร กัลยาณพงศ์)

http://www.geocities.com/bot_kawee/p1-lumnum.htm

เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
เสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. 2336
(ตอนต้นขาดหายไปหาไม่ได้ คงเป็นเรื่องชมพระนครศรีอยุธยา) 
 

    ๏ ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร  ทุกถิ่นฐานบริบูรณ์หนักหนา
อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา  เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี 
ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน  รวยรื่นเป็นสุขเกษมศรี 
ไม่เห็นเช่นว่าจะเป็นถึงเพียงนี้  มาเยินยับอัปรีย์ศรีศักดิ์คลาย 
ทั้งถนนหนทางอารามราช  มาวินาศสิ้นสุดสูญหาย 
สารพัดย่อยยับกลับกลาย  อันตรายไปจนพื้นปัถพี 
เมื่อพระกาฬจะมาผลาญดังทำนาย  แสนเสียดายภูมิพื้นกรุงศรี 
บริเวณอื้ออลด้วยชลธี  ประดุจเกาะอสุรีลงกา 
เป็นคันขอบชอบกลถึงเพียงนี้  มาเสียสูญไพรีอนาถา 
ผู้ใดใครเห็นจะไม่นำพา  อยุธยาอาภัพลับไป 
เห็นจะสิ้นอายุพระนคร ให้อาวรณ์ผู้รักษาหามีไม่
เป็นป่าหญ้ารกดังพงไพร  แต่จะสาบสูญไปทุกทิวา
คิดมาก็เป็นน่าอนิจจัง ด้วยกรุงเป็นที่ตั้งพระศาสนา 
ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา  ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ
ก็ทลายยับยุ่ยเป็นผุยผง  เหมือนพระองค์เสด็จดับสังขาร 
ยังไม่สิ้นศาสนามาอรธาน  ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป 
เสียดายพระนิเวศน์บุรีวัง  พระที่นั่งทั้งสามงามไสว (1) 
ตั้งเรียบระเบียบขั้นเป็นหลั่นไป  อำไพวิจิตรรจนา 
มุขโถงมุขเด็จมุขกระสัน  เป็นเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา 
เพดานในไว้ดวงดารา  ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน 
ที่ตั้งบัลลังก์แก้วทุกองค์  ทวารลงอัฒจันทร์หน้าฉาน
ปราบพื้นรื่นราบดังพระลาน  มีโรงคชาธารตระการตา
ทิมดาบคดลดพื้นกำแพงแก้ว  เป็นถ่องแถวยืดยาวกันหนักหนา
เป็นที่แขกเฝ้าเข้าวันทา ดั่งเทวานฤมิตประดิษฐ์ไว้ 
สืบทรงวงศ์กษัตริย์มาช้านาน  แต่บุราณแล้วไม่นับพระองค์ได้ 
พระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่ข้างใน  มีสระชลาลัยชลธี 
ชื่อที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์  ที่ประพาสมัจฉาในสระศรี 
ทางเสด็จเสร็จสิ้นสารพันมี  เป็นที่กษัตริย์สืบมา 
ก็สูญสิ้นศรีมลายหายหมด  จะปรากฏสักสิ่งไม่มีว่า 
อันถนนหนทางมรรคา  คิดมาก็เสียดายทุกสิ่งอัน 
ร้านเรียบเป็นระเบียบด้วยรุกขา ขายของนานาทุกสิ่งสรรพ์ 
ทั้งพิธีปีเดือนทุกคืนวัน  สารพันจะมีอยู่อัตรา 
ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมสุข  แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา 
ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา  อยุธยาจะสาบสูญไป 
จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว  ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส
นับวันแต่จะยับลับไป  ที่ไหนจะคืนคงมา
ไป่ปรากฏเหตุเสียเหมือนดังนี้  มีแต่บรมสุขา 
ครั้งนี้มีแต่พื้นพสุธา อนิจจาสังเวชทนาใจ 
ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไท  เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา 
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ  ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา  จะตั้งแต่งเสนาธิบดี 
ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน  จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี 
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี  จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา 
เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ  เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
เสียทั้งตระกูลนานา  เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร 
สารพัดจะเสียสิ้นสุด  ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน
จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร  เหมือนหนอนเบียนให้ประจำกรรม 
อันจะเป็นเสนาธิบดี  ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์ 
ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น  ป้องกันปัจจาอย่าให้มี 
นี่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่  เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระทาสี 
เหตุภัยใกล้กรายร้ายดี  ไม่มีที่จะรู้สักประการ
ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที  มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน 
ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน  เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป (2) 
ถึงเพียงนี้ละไม่มีที่กริ่งเลย  ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้ 
ศึกมาชิงล่าเลิกกลับไป  มิได้เห็นจะฝืนคืนมา 
จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่  ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา 
ครั้นทัพเขากลับยกมา  จะองอาจอาสาก็ไม่มี 
แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ  จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่ 
ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี เมืองยับอัปรีย์จนทุกวันฯ
    ๏ เหตุเสียกรุงศรีอยุธยา เหมือนคำที่ว่าไม่เสกสรร 
ชะล่าใจเคยได้แต่ครั้งนั้น  จึงประชิดติดพันแต่นั้นมา 
แตกยับกลับไปก็หลายหน คิดกลจะลวงให้หลงหา
แต่งคนให้ถือหนังสือมา  เจรจาความเมืองเป็นไมตรี 
ทำไว้แต่พอให้รอรั้ง  ขยับยกเข้ามาตั้งตะนาวศรี 
จะเดินมั่นกันติดทางตี  ทำนองที่จะคิดให้ชิดไว้ 
เห็นจะผ่อนโยธาอาหาร มันคิดการมิให้ใครสงสัย 
จะนิ่งอยู่ดูเบาเอาใจ  เห็นเหตุภัยจะเกิดการมา
จะเร่งลัดตัดคิดมันเสียก่อน บั่นรอนอย่าให้ทันแน่นหนา 
จำจะคิดให้ผิดแต่ก่อนมา เป็นทัพหน้านาวายกไป 
ตามทางทะเลไปสงขลา จะขุดพสุธาเป็นคลองใหญ่ 
ให้เรือรบออกประจบเอาเมืองไทร (3)  ปากใต้ฝ่ายทะเลให้พร้อมกัน 
จึงจะยกไปตีเอามะริด  จะปิดปากน้ำเสียให้มั่น 
ทัพเรือมันจะพลอยเข้าช่วยกัน  จะตีบั่นเกยทัพให้ยับไป 
รบไหนจะให้ยับลงที่นั่น  แต่กึ่งวันไม่ให้ทนทานได้ 
จะทำการครั้งนี้ให้มีชัย จะไว้เกียรติให้สืบทั้งแผ่นดิน 
มันทำเมืองเราก่อนเท่าใด  จะทดแทนมันให้หมดสิ้น 
มันจิตอหังการ์ทามิฬ  จะล้างให้สุดสิ้นอย่าสงกา 
การเสร็จสำเร็จลงเมื่อใด  ซึ่งคิดไว้ขอให้สมปรารถนา 
แม้นมิได้ก็ไม่กลับคืนมา จะเห็นเมืองพม่าในครั้งนี้ 
เกรงกริ่งอยู่แต่ข้างทัพบก  จะไม่ยกหักได้ให้ถึงที่ 
เกลือกมันกั้นตัดทางตี  จะตัดที่เสบียงอาหารไว้ 
ไม่สมคะเนให้เรรวน  ทำป่วนไม่หักเอามันได้ 
เท่านี้ดอกที่วิตกใจ  จะทำให้เสียการเหมือนทวาย 
เมื่อชนะแล้วกลับแพ้ให้แชไป  จึงเสียชัยเสียเชิงไม่สมหมาย 
พากันหนีแต่ไม่มีอันตราย ถ้าเสียหายอย่างอื่นไม่เป็นไร
อันกรุงรัตนอังวะครั้งนี้ฤา จักพ้นเนื้อมืออย่าสงสัย 
พม่าจะมาเป็นข้าไท  จะได้ใช้สร้างกรุงอยุธยา
แม้นสมดังจิตไม่ผิดหมาย จะเสี่ยงทายตามบุพเพวาสนา
จะได้ชูกู้ยกนัครา สมดังปรารถนาทุกสิ่งอัน 
ถ้าเสร็จการอังวะลงตราบใด จะพาใจเป็นสุขเกษมสันต์ 
อ้ายชาติพม่ามันอาธรรม์  เที่ยวล้างขอบขัณฑ์ทุกพารา 
แต่ก่อนก็มิให้มีความสุข  รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา
แต่บ้านร้างเมืองเซทั้งวัดวา ยับเยินเป็นป่าทุกตำบล
มันไม่คิดบาปกรรมอ้ายลำบาก  แต่พลัดพรากจากกันทุกแห่งหน
มันเหล่าอาสัตย์ทรชน  ครั้งนี้จะป่นเป็นธุลี 
เพราะเหตุบาปกรรมมาซ้ำเติม  จะพูนเพิ่มให้ระยำยับยี่ 
ด้วยทำนายว่าไว้แต่ก่อนมี  เหมือนครั้งมอญไปตีเอานัครา 
คือหงส์มาหลงกินน้ำหนอง  เหตุต้องเมืองมอญหงสา
ตัวนายอองไจยคือพรานป่า คิดฆ่าหงส์ตายจึงได้ดี 
คือพม่ามาตีเอามอญได้  ก็สมในทำนายเป็นถ้วนถี่ 
ยังแต่พยัคฆ์เรืองฤทธี  จะกินพรานที่ยิงหงส์ตาย 
บัดนี้ก็ถึงแก่กำหนด  จะปรากฏโดยเหตุเป็นกฎหมาย 
ทัพเราเข้าต้องคำทำนาย  คือเสือร้ายอันแรงฤทธา 
จะไปกินพรานป่าที่ฆ่าหงส์  ให้ปลดปลงม้วยชีพสังขาร์ 
แล้วมีคำทำนายบุราณมา ว่าพม่าจะสิ้นซึ่งรูปกาย 
ถ้าผู้ใดใครเห็นให้เขียนไว้  จึงจะได้ประจักษ์สืบสาย 
เห็นเป็นเหตุต้องเหมือนคำทาย อังวะจะฉิบหายในครั้งนี้ 
ถ้าพร้อมใจพร้อมจิตช่วยคิดการ  จะสำราญทั่วโลกเกษมศรี 
นี่จนใจสิ่งไรก็ไม่มี  เห็นทีจะตะพายไปตามจน 
จะไปได้ฤามิได้ยังไม่รู้  จะเสือกสู้ไปตามขัดสน
ถ้าสุดคิดผิดหมายที่ผ่อนปรน ก็จะบนบวงสรวงแก่เทวา 
เดชะเทเวศร์ช่วยอวยชัย  ที่คิดไว้ขอให้สมปรารถนา 
ตั้งแต่สวรรค์ชั้นกามา ตลอดจนมหาอัครพรหม
ขอจงมาช่วยอวยพรชัย  ที่มาดไว้ให้ได้ดังประสงค์ 
จะดลใจไทยกรุงให้นิยม  ช่วยระดมกันให้สิ้นศึกเอยฯ 
 
http://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/nirat_2336.htm



ผู้ตั้งกระทู้ กวินทรการ :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-23 21:57:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937487)
นับว่า ลำเนาภูกระดึง ถอยหลังลงคลอง ไปได้ไกลมากๆๆ อย่างน้อยๆก็ประมาณรัชกาลที่ 1

5555
ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-07-23 21:59:56


ความคิดเห็นที่ 2 (937488)

ลำนำภูกระดึง นั้น ถือเป็นปัจจุบัน จงอย่าเอาปัจจุบันไปตัดสินอดีต ส่วนที่ว่าหายไปที่ท่านมหากวีกวินทรากรว่านั้นส่วนบทไหนช่วยแจ้งด้วยเพราะบทนี้นักโบราณคดีใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงมากที่สุด "เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
เสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. 2336
(ตอนต้นขาดหายไปหาไม่ได้ คงเป็นเรื่องชมพระนครศรีอยุธยา) "

ผู้แสดงความคิดเห็น ไพร่ วันที่ตอบ 2007-07-23 23:19:13


ความคิดเห็นที่ 3 (937489)

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจ คำว่า "มหากวีกวินทรากร" ซะก่อนนะครับ
กวินทรากร มาจากคำว่า กวี+อินทร+อากร

กวี+อินทร =กวีผู้ยิ่งใหญ่
อากร เป็นคำ สกถรรถ ลง สกรรถ เพื่อให้เป็นวิเสสนะ (คำคุณศัพท์ขยายนาม)
เช่น ประชา+อากร =ประชากร ความหมายก็ยังแปลว่า ประชา เช่นเดิม
กวินทร+อากร=กวีผู้ยิ่งใหญ่

ฉะนั้น ไม่ต้องใส่ คำว่า มหาลงไปอีกนะครับ เดี๋ยวคนจะพิมพ์ มหา ผิด เป็น หมา ได้ 555

นักวิชาการ หลายท่านยกย่องว่า คุณ อังคาร กัลยาณพงศ์ แต่งกลอนแปด ได้มีลีลาเฉพาะตน  แหกขนบ ไม่เคร่งฉันทลักษณ์
ข้าพเจ้าศึกษามาน้อย ก็เหลือบไปเห็นงาน "เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. 2336
(ตอนต้นขาดหายไปหาไม่ได้ คงเป็นเรื่องชมพระนครศรีอยุธยา) " จากเวปไซต์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ   ก็เกิด แปลกใจขึ้นมาว่า
ชะรอยท่านอังคารจะไม่ได้มีลีลาแปลกใหม่ซะแล้วเพราะก่อนหน้าโน้น เช่นในสมัยรัชกาลที่ 1  โบราณราชกวีก็มีลีลาเช่นนี้

กลอนแปดมีการพัฒนาอย่างถึงที่สุดโดยเริ่มมีการใช้กลบท กลอักษรต่างๆ การที่ท่านอังคาร หรือนักกลอน ท่านอื่นๆหันมาไม่เคร่งฉันทลักษณ์
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่น่าตื่นเต้น  เพราะเป็นปรากฎการณ์ ถอยหลังลงคลอง  หรือบางคนก็เรียกสูงสุดสู่สามัญ ตามหลักพระไตรลักษณ์
(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา : ไม่เที่ยง ทนอยู่ได้ยาก ไม่มีตัวตน)  ฉะนั้น การจะยกย่องท่านอังคาร ก็ควรจะยกย่อง นิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ด้วยเพราะพระองค์ท่านมีลีลากลอน ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-07-24 09:00:46


ความคิดเห็นที่ 4 (937490)

แก้ สกถรรถ ที่ถูกคือ สกรรถ

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-07-24 09:02:24


ความคิดเห็นที่ 5 (937491)

ลักษณะกวีนิพนธ์ของ ท่านอังคาร นั้นเป็นลีลาแบบของโบราณ ซึ่งนิยมใช้ในกรุงศรีอยุธยา แบบปัจจุบันที่นิยมนั้นถือขนบตามแบบสุนทรภู่ ส่วนอังคารนั้นใช้ลีลาเก่า อย่างได้ใน เพลงยาวพยากรณ์ หรือ เพลงยาว หม่อมพิมเสน

ครับ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วรรณคดีโบราณนั้นเขียนขึ้นขับร้อง เช่นกลอนบทละคร กลอนเสภา จึงเรียกเพลงยาว สมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์จึงมิใช่วรรณคดีเพื่อการอ่านอย่างลีลากลอนสุนทรภู่

ผู้แสดงความคิดเห็น มหา สุรารินทร์ วันที่ตอบ 2007-07-24 09:43:52


ความคิดเห็นที่ 6 (937492)

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ชอเดชะ กับ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม มีที่ใช้ต่างกัน
        ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ  ใช้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ 
     
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ใช้กับผู้ที่ไม่มีชวิตแล้ว ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลว่า ผู้ที่ไม่มีชีวิต ย่อมไม่มีเดช (ให้คุณให้โทษกับใครไม่ได้แล้ว)

                          ขอแสดงความนับถือ
                                พิกกาจู้

ผู้แสดงความคิดเห็น พิกกาจู้ วันที่ตอบ 2007-07-24 15:57:42


ความคิดเห็นที่ 7 (937493)

ขอบคุณครับ

รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-07-24 16:35:40


ความคิดเห็นที่ 8 (937494)

พิกกาจู้ ไม่น่าจะใช่เชื้อพระวงศ์

กวินทรากร อย่าใช้ราชาศัพท์เป็นเล่น

จะพานเสียจริตคนมีภูมิรู้

ที่อุตส่าห์หลงนับถือในภูมิปัญญา

ผู้แสดงความคิดเห็น ขี้กลากจะกินหัว วันที่ตอบ 2007-07-24 21:45:28


ความคิดเห็นที่ 9 (937495)

ขอบคุณครับๆ ทุกๆความหวังดี

เจตนา จะเปิดประเด็น เกี่ยวกับ ลีลาการแต่งกลอน แบบฉบับ อังคาร กัลยณพงศ์ ว่าในสายตาของผม ไม่เห็นจะแปลกใหม่ตรงไหนเลย หลงใหลได้ปลื้มอะไร กันนักหนาหนอ เจตนาที่สองเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการกวีของ พระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ก็เท่านั้นน่ะครับ คราวนี้

ปัญหามันมีอยู่ว่า

กลอนสมัยใหม่พยามใช้คำง่ายๆ แต่เรียงลำดับประโยคให้มันแปลกๆ ผิดวากยสัมพันธ์ออกไป (อาจเป็นการลบปมด้อย เรื่องความเจนจัดเรื่อง อักขรวิธี เสริมปมเด่นเรื่อง การใช้ประโยคที่พิสดาร)ยกตัวอย่างเช่น ...........

แม่น้ำรำลึก ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

......................แล้วจะมาอธิบายต่อวันหลังครับ




ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-07-24 22:07:38


ความคิดเห็นที่ 10 (937496)
    เห็นพ้องกับ "กวินทรากร" และเพื่อสนับสนุนความเห็น ขอนำเรื่องมาประกอบดั่งนี้..
   นักเรียนหญิงมัธยม ๔ มาถามว่า รู้จักกวีชื่อนี้หรือไม่ ตอบว่าเรารู้จักเขา..คือ(ที่คอลัมนิสต์เรียกขานว่า)กวี ประเภทสันทัดในเรื่องการเขียนบทกวีโดยไม่ยึดติดกับฉันทลักษณ์ หากแต่เขามีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวถึง ทางโรงเรียนได้เชิญตัวมาเป็นวิทยากรแนะความรู้ในเรื่องการเขียนบทกวี ครั้นนักเรียนถามความเข้าใจในเรื่องฉันทลักษณ์ สัมผัสเลือนและชิงสัมผัสเป็นอย่างไร กวีไม่ยอมตอบ
    การจักได้รับสมยานาม กวี ควรมีความจัดเจนแม้แต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับ กวี...
    เมื่อก้าวเข้าสู่บรรยากาศโรงเรียน มีความศรัทธา เคารพ ยกย่อง พร้อมจะมอบให้ ไม่ว่าผู้นั้นจะบรรยายเรื่องอะไร ถ้ามาในฐานะวิทยากร
     กวีซีไรต์ทั้งในอดีตและในอนาคต ! ทุกท่าน
เตรียมตัวพร้อมแค่ไหน ? หากจักก้าวเข้าสู้รั้วโรงเรียนในฐานะผู้นำความรู้ไปมอบให้พวกเขา
     ข้อความทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่พาดพิงถึงกรรมการคัดเลือกหรือตัดสินรางวัล รางวัลซีไรต์..
ผู้แสดงความคิดเห็น พิกกาจู้ วันที่ตอบ 2007-07-25 13:38:30


ความคิดเห็นที่ 11 (2107146)

replica lv mens bag louis vuitton handbags they also look incredibly good on louis vuitton with all types of outfits A less replica louis vuitton replica men bags.

ผู้แสดงความคิดเห็น elijah (frances-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 07:34:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.