ReadyPlanet.com


ร้อยกระทู้หมื่นโคลง


กลบทกระทู้นำบท

ร้อย.....กรอง กองละร้อย..........หลายกอง
กระทู้..กระเท่เร่ลอง.................รับไว้
หมื่น...เม็ดกรวดทรายทอง........ถมเพชร(ะ) รัตน์ฤา
โคลง...กระดูกร้องไห้................เหือดสิ้นศิลปวรรณ

คำไขอธิบายโคลง

บทร้องกรอง นั้น แปลว่า บทประพันธ์ที่ต้องผ่านทั้งการ(ร้อย)เรียงคำ และการกลั่น (กรอง) ถ้อยคำอย่างดียิ่ง มิใช่หรือ?
ผิว่าคำประพันธ์นั้น มักง่าย (มัก ภาษาลาวแปลว่า ชอบ มักง่ายแปลว่า ชอบง่ายๆ ทำให้ผ่านๆ) ขาดการ กลั่นกรอง และร้อย เรียงซึ่งถ้อยคำ ให้ดีแล้ว อีกทั้งหวังแต่งเอาปริมาณนับร้อยๆ (100) บทเพื่อโชว์เสียว โชว์สาว บทประพันธ์นับร้อยๆนั้น ก็ไม่ต่างจาก กองขี้หมา กองหิน กองทรายนับร้อยๆกองฉะนี้

ร้องกรอง กับ ร้อยกอง (100กอง) เห็นความเหมือนที่แตกต่างหรือยังครับ

คราวนี้แม้ปัญหามันมีอยู่ว่าในกองขี้หมา กองกรวด กองทราย ก็อาจจะมีเพชรปนอยู่บ้าง (เป็นอุปมา หมายถึงอาจมีคนที่แต่งคำประพันธ์ ห่วยๆแต่ก็มีส่วนที่เด่นหรือดีอยู่บ้าง) แต่ก็หายากนะครับต้องมองแล้วมองอีกบางทีต้องเอาไม้เขี่ยๆ แต่เมื่อเราสำนึกได้ว่ามันคือกองขี้นี่นะ เราคงไม่พิสมัยที่จะเอาไม้ไปเขี่ยๆ นานนักว่ามั้ยกั๊บ มีก็คนบ้าอย่างผมนี่ล่ะที่กำลังเขี่ยกองขี้หมาอยู่ อี๊ หยะแหยง

คราวนี้ลองมาคิดเล่นๆ กันดูสิครับพี่น้องว่า อติเต (อดีต) โบราณราชกวี (บัดนี้กลายเป็นผีกันหมดแล้ว) สู้คิดค้นพัฒนากลบท กลอักษร ขึ้นมา เมื่อครั้งกระโน้น แต่ต่อมาก็กำลัง เสื่อมทรามลงไปทุกทีๆ (อนิจลักษณ์) เพราะบรรดาละอ่อนผู้ซึ่งรู้เท่าไม่ถึงการ พาลโฉเก นำกลบทกลอักษร มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริภาษกันบ้าง (รู้สึกจะเข้าตัว) นำกลบทกลอักษรามาสำเร็จความใคร่ใส่บทกวีบ้าง เอามาพูดจ้าเพ้อเจ้อ มะเมอฝัน ลั้นลา กันบ้าง ฯลฯ ไม่มีแก่นสารมีแต่กระพี้ นี่มันช่างน่า สมเพชบวกเวทนา สักเพียงใดหนอ ผีปู่ผีตาที่เหลือแต่โครงกระดูก ท่าน คงกำลังนั่งร้องไห้เป็นโศลกฉันท์อยู่ในป่าช้าเป็นแน่ เมื่อคำว่า วรรณศิลป์ หรือ ศิลปวรรณ ได้เหือดแห้งไปสิ้นแล้ว เอย

ปล.ปกติผมไม่ค่อยเขียนคำไขอธิบายโคลงเพราะถือว่าเป็นการดูถูกคนอ่าน

http://www.tao.bloggang.com



ผู้ตั้งกระทู้ กวินทรากร :: วันที่ลงประกาศ 2007-04-06 21:32:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (936932)

แนวคิดนี้ ถูกคิดขึ้นเพราะ ผู้เขียนได้สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบัน มีวัยรุ่นผู้พิสมัยในบทกวีอยู่ไม่น้อย อีกทั้งชอบแต่งคำประพันธ์  แต่ทว่ากลับนำคำประพันธ์ ไปสืบสานแบบผิดๆ เช่นนำของสูงไปทำให้ต่ำ อาทิ นำโคลง-ฉันท์-กาพย์-กลอน  แต่งโต้กันแบบเอาฮา เอามัน  ไร้แก่นสาร ถ้าเป็นต้นไม้ก็เป็นประเภทไม้ล้มลุก (ไม่มีแก่น) ซึ่งนับว่าน่าเป็นห่วงพอๆ กับกรณีไม่มีผู้สืบสาน

คำประพันธ์ก็คล้ายกับกระบี่ มี สองคม (ถ้าดาบน่าจะมีคมเดียว) กระบี่หากอยู่ในมือโจร ก็มีไว้ใช้ฆ่าคน ทำร้ายคน หรือบังคับ หลอกล่อคนไปสู่อบาย

ในอนาคตอันใกล้อาจมีกวีผู้หนึ่งประพันธ์ ฉันท์ 11 ฉันท์ 14 ฉันท์ 19 ฯลฯ บรรยายฉากการมีเซ็กส์แบบสวิงกิ้ง ฯลฯ หรือแต่งโคลงสี่  ชักชวนให้คนทำอัตตวินิบาตกรรมหมู่

คำประพันธ์ก็คล้ายกับปืน ถ้าอยู่ในมือตำรวจ ก็เอาไว้รีดไถคนเอ้ย เอาไว้พิทักษ์สันติราษฎร์ - - *
ในอนาคตอันใกล้ อาจจีกวีผู้หนึ่งฉันท์ 11 ฉันท์ 14 ฉันท์ 19 ฯลฯ บรรยายพระธรรมคำสอน ทำให้คนหันหน้าเข้าหาพระธรรม หรือชักชวนให้มวลชนทำความดี ละเว้นความชั่ว เป็นต้น ฉะนั้น ใครที่คิดจะเป็นกวี จึงถือว่ามีหน้าที่สำคัญ และควรเริ่มต้นแบบมีแก่นสารนับแต่บัดนี้


ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-04-08 20:54:06


ความคิดเห็นที่ 2 (936933)

เห็นด้วยกับท่าน กวินทรากร เพราะปัจจุบัน คนรุ่นหลังไม่รู้ค่าของภาษาไทย ไม่รู้ค่าของวรรณศิลป์ โคลงเป็น วรรณศิลป์ชั้นสูงของครู ที่กลั่นถ้อยร้อยโคลงออกมาเป็น "กวี" แต่เด็กรุ่นหลังนำไปเป็นเครื่องสำเร็จความใคร่ท่างอารมณ์ กันอย่างสนุกสนาน อวดสมองอวดขี้เท่ออันต่ำทราม ซึ่งกันและกัน

      ขอเสียทีเถิดควรสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ฝากไว้ในแผ่นดินนี้ของพ่อบ้าง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เห็นด้วย (กวอนทรากิน) วันที่ตอบ 2007-04-08 23:21:06


ความคิดเห็นที่ 3 (936934)


สวัสดีครับ
ผ่านมาได้อ่านจึงขอมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นครับ
ผมเห็นอย่างนี้ครับ

"รูปแบบ" ของงาน "ร้อยกรอง" ว่าไปแล้วก็คือ "พาหนะ" ที่จะนำ "สาร" ไปถึงที่ใดสักแห่ง อาจจะเป็นตัวเรา หรือสาธารณะโดยทั่วกัน 

"รูปแบบ" ของ "ร้อยกรอง" เราเรียกรวม ๆ ว่า "ฉันทลักษณ์"
แปลกันแบบง่าย ๆ ว่า "รูปลักษณ์" ที่เรา "ชื่นชอบ"

เหตุผลประการหนึ่ง ของการคงอยู่หรือไม่คงอยู่ ของสิ่งเหล่านี้ ด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมขึ้นอยู่กับว่า เรายังชื่นชอบในรูปลักษณ์เช่นว่านั้นหรือไม่

ที่ปรากฏรูปตกทอดมาถึงปัจจุบัน ก็เป็นเพราะ "รูปแบบ" ของ "ร้อยกรอง" เช่นว่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เรายังชื่นชอบอยู่ (จำแนกได้หลายกรณี เช่น ชื่นชอบในการเขียน , ชื่นชอบในการอ่าน และ ฯลฯ)

ประการสำคัญ คือ "ทัศนคติ" ในการมองครับ

ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมองอย่างกว้างหรืออย่างแคบ หรือเราจะมองอย่างลึกหรือตื้นเขิน
เราจะอธิบายกรณี "ของสูง" และ "ของต่ำ" อย่างไร นี่อาจจำเป็นต้อง "นิยาม" ความหมายให้ชัดเจนครับ

เป็นความจริงครับ ที่ "ร้อยกรอง" คือ ทั้ง "ร้อย" และ "กรอง" หากทว่า การ "ร้อย" และ "กรอง" อาจไม่ได้มีความหมายประการเดียวว่า ต้องมี "แก่นสาร" เป็นบทสรุปตายตัวเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
เพราะความจริงเป็นได้อีกมากมายหลายประการ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะ "ร้อย"และ "กรอง" เพื่อส่งสารอย่างไร และเพื่ออะไร

และนี่ก็อาจกลับมาสู่ "วิวาทะ" เจ้าปัญหา เช่นว่า ศิลปเพื่อศิลป กับศิลปเพื่อสังคม ได้อีกเช่นกัน

ประเด็นคือ ถ้า "รูปแบบ" ของ "ร้อยกรอง" เป็น "ของสูง" ที่ไม่ควรถูกทำให้ต่ำ โดยความไร้สาระ โดยความฮาเฮ โดยความหยาบของเนื้อหาทางเพศ และ ฯลฯ

ถ้าเช่นนั้น เราจะตอบ "รูปแบบ" ความงามในรสวรรณคดีชั้นยอด เช่น "ลิลิตพระลอ" ได้เช่นใด
เราจะตอบ "รูปแบบ" ความงามในรสวรรณคดี แบบ "รามเกียรติ์" ที่มีนัยทางการเมือง ของชนชั้นอำนาจ และมีเนื้อหาอันชวนสงสัยถึงวิถีปฏิบัติ ของ "ฝ่ายดี" ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ "ฝ่ายร้าย" และในหลาย ๆ กรณีร้ายกว่าอย่างมากอย่างไร
เราจะตอบความงามตาม "รูปแบบ" ของงานราชสำนัก ที่มีไว้เพื่อรับใช้และตอบสนองต่อรสนิยมเฉพาะได้อย่างไร
เราจะตอบความงาม กับภูมิปัญญาพื้นถิ่น เช่น "สรรพลี้หวน" อย่างไร
เราจะตอบความงาม อย่าง "โองการแช่งน้ำ" อย่างไร
เราจะตอบความงาม อย่าง "นิราศหนองคาย" ที่บันทึกความเหลวไหลเหลวแหลก ในวงการเมืองชั้นสูงอย่างไร

ความจริงประการหนึ่ง ที่ยากต่อการปฏิเสธ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างงาน "ร้อยกรอง" กับ "สังคม" ครับ
เราไม่อาจแยกตัวเอง ออกมาโดยเอกเทศจากสังคม และมุ่งเน้นอยู่กับความงามตามแบบตายตัว โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมได้

ผมเห็นด้วยครับ ที่ใครที่คิดจะเขียนงาน "ร้อยกรอง" (โดยไม่จำเป็นต้องคิดหรือปรารถนาสถานะความเป็นกวี) จำเป็นต้องมีหน้าที่และควรมีแก่นสาร
หากทว่า หน้าที่และแก่นสาร อาจไม่จำเป็นต้องสรุปให้มีลักษณะ "ตายตัว-ตึงตัว" กระทั่งถึงขั้นว่า ถ้าไม่ใช่ดังที่ว่านี้ ก็ไร้ค่า ไม่มีคุณค่า และน่าหยามเหยียดอย่างยิ่ง

สิ่งเหล่านี้ จะยังคงอยู่หรือไม่ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ต้องมีความงามในความหมายใดความหมายหนึ่งเพียงลำพัง หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปมากน้อยแค่ไหน
และก็ไม่ได้ด้วยการผลักไสหรือกีดกัน หากแต่ต้องเข้าไปอยู่ร่วมกับยุคสมัย เพื่อปรับและเปลี่ยน ให้ไปด้วยกันกับยุคสมัย

ความจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ศิลปะคือด้านสะท้อนของอารมณ์ ความรู้สึก พร้อม ๆ กับการสะท้อนเหตุและผล ของมนุษย์

มนุษย์ย่อมมีทั้งอารมณ์และเหตุผล คละเคล้าปะปนอยู่ในตัวตนของมนุษยชาติ

ไม่แปลกนี่ครับ ถ้าคนเขียนงาน "ร้อยกรอง" ซึ่งมีอารมณ์อ่อนไหว เพ้อครวญอยู่กับความรักหวามไหว วันหนึ่ง จะลุกขึ้นมาเขียนงานวิพากษ์สังคมการเมืองอันเลวร้าย หรือแม้กระทั่งการเขียนงาน เพื่อส่ง "แก่นแท้ของธรรม" จากการบรรลุด้วยสัจธรรมของความรัก

และก็ไม่แปลกเช่นกัน ถ้าคนเขียนงาน "ร้อยกรอง" ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์โดยแนบแน่นกับสังคม-การเมือง และแม้กระทั่งเข้าใจได้ดีถึง "ธรรม" อันมีอยู่ เพื่อส่งสารถึงการปรับใช้ จะได้เขียนงานประมาณ อกหักพร่ำเพ้อครวญคร่ำ หาสาระจับต้องเหตุผลได้ยาก

ตัวอย่างคงมีให้เห็นได้โดยหลากหลาย ทั้งกวีในอดีต และกวีร่วมสมัย ตลอดจนคนที่เขียนงานร้อยกรองรุ่นใหม่ ๆ ครับ

มนุษย์มีอารมณ์ ความรู้สึก มีเหตุมีผล และมีอื่น ๆ อีกมากมาย ในตัวตนคนหนึ่ง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องปฏิเสธมัน เพื่อแสดงเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ต่อสาธารณะ

อะไรที่อยู่กับที่ ไม่เรียนรู้เพื่อเข้าใจหรือพยายามจะเข้าใจ ก็อาจตายจากไปได้ง่าย ๆ ครับ

เราอยากได้ "ร้อยกรอง" ที่ยังคงอยู่แบบ "ตายตัว-ตึงตัว" และสมบรูณ์ในความหมายใดความหมายหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพื่อเก็บมันไว้ในที่ที่สูงส่ง และไว้ให้ชนรุ่นหลังมายืนชมชี้ชวนว่า นี่เป็น "ของดี" ที่เราเคยมีอยู่ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
หรือว่า เราอยากได้ "ร้อยกรอง" ที่ยังคงอยู่ และเราติดตามมันอย่างรู้เท่าทัน อยู่ด้วยกับมัน ทั้งโดย "แบบ" โดย "ลักษณ์" ที่ชื่นชม และยังเป็น "พาหนะ" ที่นำสารพัด  "สาร" ไปสู่ทั้งตัวเราและสาธารณะได้

เมื่อโลกไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ ให้เราแยกแยะแบบ "ขาว" และ "ดำ" ได้ง่าย ๆ ไม่ได้มีแค่ "ความดี" กับ "ความชั่ว" แต่มีแบบคละเคล้าปะปน และซับซ้อนมากขึ้น ที่เราต้องคิดก็คือ เราจะอยู่ร่วมกับมันอย่างไร และจะรักษาดุลยภาพของมันอย่างไร

ขออนุญาตเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองครับ แหะ แหะ มีบางส่วนที่เห็นด้วย และบางส่วนที่เห็นแย้งต่างมุม คงไม่ว่ากระไรนะครับ

ด้วยมิตรไมตรีครับ
สวัสดีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น นายทิวา วันที่ตอบ 2007-04-08 23:30:38


ความคิดเห็นที่ 4 (936935)

สักคืนหรือ สองคืนก่อนไม่แน่ใจ ได้นั่งคุยกับ ผู้ที่สนใจเขียนแนวลำนำ (ขอเรียกว่า ลำนำนะครับ ด้วยคำ กวี ดูใช้กันเลอะเทอะยังไงไม่รู้)

ก็ได้เรียนรู้เป็นลำดับว่า เริ่มจากชอบ ถามชอบอะไร ตอบชอบเพราะมันกินใจ ถาม กินใจที่ไหน คำไหน ตอบมาว่า อ่านแล้วตรงอารมณ์ ความรู้สึก

อันนี้ผมไม่สรุป ว่าเพราะอารมณ์ รัก เหงา เศร้า สาวหนุ่ม แต่เห็นได้ว่า ผู้ที่สนใจในปัจจุบัน จับบทลำนำ ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งผมเห็นเป็นปกติ

ด้วยส่วนมากมีความชอบเฉพาะบท มิได้แสดงออกถึงขั้นสนใจใฝ่ศึกษา เพียงคิดเอาตามอารมณ์แล้วเลียนแบบให้ได้ดั่งใจ

ผู้ที่ให้ความสนใจเช่นนี้ เป็นนิมิต อันดี ของวรรณลำนำ ที่หลายท่าน เพ้อพก เพ้อพร่ำ ว่า มิอยากให้เหือดแห้งตามแรง นิยายเน่าน้ำเน่า อะไรเทือกนั้น

ด้วยอนุสติ ที่แวบๆ วาบๆ ก็เชื่อว่าผู้ที่อึดอัด อัดอั้น กระชั้นลมปราณ เป็นสายธารแห่งบุราณกวินทร ปารถนาแรงกล้า กับศรัทธาเปี่ยมล้น ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  

แต่หากสิ้นผู้ชื่นชอบ ก่อน ไหนเลยจะเกิด ผู้ที่สนใจ และใส่ใจได้พัฒาการความรอบรู้ มักต้องอาศัยหลากปัจจัยประกอบ สิ่งแรกคือเวลา ความใฝ่รู้กับเวลา ย่อมเดินคู่กันไป ก็คงต้องให้เวลากัน ส่วนจะอดรนทนไม่ได้อย่างใดนั้น บุราณอย่าง สรรพลี้หวน ยังได้รับการยกย่องจาก บรรณกวี และสถิยในศิลปคาร เป็นอนุรักษ์ลำนำคำนี้ไม่มีสิ้น ดอก..

ไมตรีวิจิตร ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วลี.. วันที่ตอบ 2007-04-09 14:55:56


ความคิดเห็นที่ 5 (936936)

เรื่องเด็กสมัยใหม่นำกวี(หมายจำกัดความโดยองค์รวม)ไปใช้ที่ต่ำตอบโต้ ตรงนี้อย่าไปถือสาเลยครับ ลองมองว่าเขาสามารถนำของต่ำไปไว้ในที่สูงได้หรือเปล่า ตรงนี้เป็นเชิงชั้นทางวรรณศิลป์ของแต่คน

แต่เชื่อครับว่า กวีนิพนธ์ นั้นมีมหินธานุภาพในตัวบทกวี แต่เสียดายว่าคนเขียนกวีบ้างส่วนเขียนกวีด้วยความไม่เคารพในบทกวี เพื่อมองเห็นปัยหาที่ควรจะได้โดยส่วนตัว (หรือที่เรียกว่าจิตำนึกทางการเมือง) ตรงนี้น่าเสียดายครับ ยิ่งมีช่ำชองในเชิงลีลาแต่กลัไม่สร้างสรรค์ผลงานด้วยยิ่งน่าเสียดาย

นี่แหละ ความตายของตัวผู้เขียนบทกวีโดยแท้ อันนี้เรามาคุยกันดีกว่าว่าจะทำอย่างไรให้บรรยายกาศวรรณคดีมีชีวิตชีวาจะดีหรือเปล่าครับ

ขอร่วมเสนออย่างสร้างสรรค์

ผู้แสดงความคิดเห็น มหา สุรารินทร์ วันที่ตอบ 2007-04-10 09:34:01


ความคิดเห็นที่ 6 (936937)

แต่เยาวชนทุกคนก็ไม่ได้ใช้ภาษาในทางต่ำๆ นะครับ

ผมล่ะ หนึ่งคนที่เชื่อว่า ผมนำฉันทลักษณ์ของกาพย์กลอนมาใช้ในทางที่ถูก และไม่ได้สร้างความต่ำให้กับมันนะครับ  ผมเขียนบทกลอนก็มาจากความรู้สึกนึกคิด  ไม่เคยใช้มันเพื่อกระทำการสนุกสนานเลยครับ

....จากใจเยาวชนคนหนึ่ง

ผู้แสดงความคิดเห็น แดนไกล ไลบีเรีย วันที่ตอบ 2007-04-11 06:07:53


ความคิดเห็นที่ 7 (936938)
ไม่เห็นน่ากลัว ถ้าจะมีคนเอารูปแบบร้อยกรองไปเขียนในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ภาษาย่อมมีความเปลี่ยนแปลงตามผู้ใช้ ถ้าเราไม่ชอบ ก็คัดค้าน อย่างที่ทำอยู่นี้ หากคิดว่า ไม่ควรเอารูปแบบสูง มาใส่ของต่ำ ก็อาจคิดได้ว่า ฉันท์ ซึ่งเป็นรูปแบบอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรใช้เขียนบทสังวาส ดังนั้นเราต้องประนามกวีโบราณหลายท่านทีเดียว หรือหากรูปแบบโคลงไม่ควรติดเรต X ก็ต้องเซนเซอร์พญาตรังกันยกใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องกลัวความหลากหลาย ถึงอย่างไร สิ่งที่ไม่ดีจริง ก็จะถูกลืมไปในระยะยาว
ผู้แสดงความคิดเห็น วิษณุ วันที่ตอบ 2007-04-11 15:13:03


ความคิดเห็นที่ 8 (936939)

กำหนดกฎเกณฑ์กติกามารยาททั้งหลาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติกันไว้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พัฒนาการทั้งหลายทั้งปวงจึงอยู่ในวัฏจักรของงานกวีนิพนธ์ คน สมัยก่อนคนไทยนุ่งห่มแบบไทยกาลต่อมาก็ต้องนุ่งห่มตามสมัยนิยมไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนหลุดโลกไป ผมเคยเห็นคนเขียนร้อยกรองคมๆเผยแพร่อยู่ตามห้องน้ำรูปแบบฉันทลักษณ์ถูกต้อง เนื้อหาสาระดี โวหารการเขียนใช้ได้ อาจบกพร่องไปบ้างตรงการใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมแต่เมื่ออ่านแล้วเราเห็นว่าใช้ได้ บางตัวอย่างก็เคยนำไปสอนเด็กๆ ให้รู้จักฉันทลักษณ์ของร้อยกรองดังกล่าว โดยสอนจากง่ายไปหายาก สอนจากประสบการณ์เดิมเชื่อมโยงเป็นองค์ความรู้ใหม่ นำโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ที่คุ้นเคยมาสอนให้เขารู้จักองค์ประกอบของวรรณศิลป์ที่ดีงาม เหมือนเรายกตัวอย่างเสือปล้น โจรร้าย อย่างตี๋ใหญ่ เสือฝ้าย เสือมเศวร สอนให้เด็กๆจำแนกแยกแยะได้ว่าผิดชอบ ชั่วดี เป็นอย่างไร การนำฉันทลักษณ์มาใช้ผิดประเภท ผิดคตินิยมตามแบบครูก็เช่นกัน มันนำมาสั่งมาสอนกันได้  ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณสมาคมนักกลอนและผู้สนใจที่เปิดโอกาสและใช้เวทีแห่งนี้แสดงความคิดเชิงสร้างสรรค์ ปราชญ์ทะเลาะกัน กวีถกเถียงกัน น่าฟัง น่าอ่านครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สาธุชน วันที่ตอบ 2007-04-12 05:35:11


ความคิดเห็นที่ 9 (936940)
สมัยเด็กๆจำได้ว่าอ่านลิลิตพระลอตอน ม.3 มาถึงบทของพระเพื่อนพระแพง ขนาดดิฉันเป็นเด็กตอนนั้นยังรู้สึกเลยว่า ทำไมเธอทั้งสองนี่ถึงได้ ...ขนาดนั้น ประมาณว่าบ้าผู้ชาย เป็นเอามากเหลือเกิน ฯลฯไม่สมควรเอาอย่าง ไม่ต้องห่วงค่ะ เด็กๆพอมีความคิด ใครจะไปอ่านเพื่อเอาอย่าง เพราะตอนหลังตายหมดล่ะคะ อิอิ
ผู้แสดงความคิดเห็น ปลา วันที่ตอบ 2007-04-12 10:52:18


ความคิดเห็นที่ 10 (936941)
เข้ามาอ่านด้วยความสนใจ คนตั้งกระทู้นี้ "คับแคบ" จริง ๆ เพราะแค่วรรณศิลป์ก็ยังตีความเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เผื่อใจถึงคนอื่น ๆ คับแคบจริง ๆ
ผู้แสดงความคิดเห็น ใจกว้างบ้างนะน้อง วันที่ตอบ 2007-04-12 15:59:13


ความคิดเห็นที่ 11 (936942)

 ลิลิตพระลอ ที่นายผีบริภาษว่าเป็นหนังโป๊ประจำราชสำนักสยาม นะหรือครับ อิๆ บางคนก็ว่าประดับเพชรแพรวพราว บางคนก็ว่าเป็นแค่ กรวดทราย  ในพื้นบรรณพิภพ ในพื้นบรณพิภพก็ย่อมมีทั้งเพชรทั้งกรวด ใครจะสำนึกสำเหนียกว่าเป็นอะไรก็ย่อมขึ้นอยู่กับ มโนมยจักษุ และ  อัชฌัตติกญาณ (intuitionism) ขอแต่ละคน เรื่องนี้เป็น ปัตจัตตัง อธิบายได้ยากครับ และที่ว่า โครงกระดูก ร้องไห้ นี่ก็ หมายความว่า หัวเราะร่าน้ำตารินไงครับ หวังว่า ปีนี้ รางวัลกวีซีไรต์ จะประดับเพชรนะครับ ไม่ใช่ เอาก้อน กรวด มาทำหัวแหวน แบบปีก่อนๆ อิๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-04-12 21:12:46


ความคิดเห็นที่ 12 (936943)

ปล. เรื่องของจิตใจ นั้นมีทั้ง   (คับ)แคบ แต่ (ลุ่ม) ลึก 

บ้างก็ กว้าง(ขาง) แต่ ตื้น(เขิน) 


จิตฺเดน นียติ โลโก
จิตฺเตน ปริกิสฺสติ
จิตฺตสฺส เอกธมฺมสฺส
สพฺเพว วสมนฺวคู

โลกอันจิตนำไป
อันจิตย่อมเสือกไสไป
โลกทั้งหมดเป็นไปตาม
อำนาจของธรรมอย่างเดียว คือจิต
(ส.ส. ๑๕/๖๒/๕๑)

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-04-14 20:07:36


ความคิดเห็นที่ 13 (936944)

พอเข้าใจแล้วล่ะ
ตราบเท่าที่ใจยังไม่เปิดกว้างสำหรับคนอื่น
กระทั่งความคิด วิธีคิด รวมถึงจิตใจก็ยังคับแคบเช่นนี้
มันไม่ใช่เรื่องของความคับแคบแต่ลุ่มลึก
หรือกว้างขวางแต่ตื้นเขิน อย่างที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น
นั่นเป็นเพียงเหตุอ้าง การไม่ยอมรับคนอื่นต่างหาก

ใจที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา
คิดแต่เพียงว่า ดี เก่ง แน่กว่าคนอื่นๆ
แต่ทำไมใครๆ มองไม่เห็น ไม่ยอมรับ
แทนที่จะพิจารณาว่า เป็นเพราะใครๆ มองไม่เห็น
หรือเพราะ ตนเอง "คิดเอาเอง" ว่า ดี เก่ง แน่กว่าคนอื่น
และหมายให้คนรอบข้างยอมรับ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริง
ถ้ายังเป็นแบบนี้ก็จะ ดี เก่ง แน่ อยู่ในกะลาของตัวเองเท่านั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น ใจกว้างบ้างนะน้อง วันที่ตอบ 2007-04-15 10:47:31


ความคิดเห็นที่ 14 (936945)
ระบบโรงเรียน ทำลายวรรณคดี(ไทย)

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ



บ้านเมืองประเทศชาติที่ก้าวหน้าทางทุนนิยม ล้วนให้ความสำคัญงานช่างศิลปะทั้งมวล เช่น วรรณคดี ดนตรี วาด-ปั้น ฯลฯ งานช่างศิลปะเหล่านี้ไม่ได้แยกจากสังคมอยู่โดดๆ ลอยๆ แต่เกี่ยวข้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประวัติศาสตร์สังคม (ความเป็นมนุษย์) ที่หล่อหลอมด้วยเศรษฐกิจ-การเมืองยุคนั้นๆ

คนอเมริกันผู้นำทุนนิยมตะวันตกกำหนดให้คนหนุ่มสาวเยาวชนต้องเรียนวรรณคดีสำคัญๆ ทั้งของอเมริกันเองและของโลก ตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย (ไฮสคูล) คนญี่ปุ่นผู้นำทุนนิยมตะวันออกก็ทำอย่างเดียวกัน ฉะนั้นคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันและชาวญี่ปุ่นรู้จักคุ้นเคยวรรณคดีสำคัญๆ ของตนและของคนอื่นในโลก

วรรณคดีเป็นคำผูกขึ้นเมื่อไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง โดยแปลจากคำฝรั่งว่า literature ต่อมามีผู้ผูกคำใหม่อีกว่า วรรณกรรม เพื่อให้หมายถึงงานแต่งหนังสือร่วมสมัยด้วย ฉะนั้นโดยภาพรวมแล้วทั้งวรรณคดีและวรรณกรรมมีรากจาก literature ของฝรั่งคำเดียวกัน และตั้งใจจะให้มีความหมายเดียวกัน แต่สังคมไทยจับแยกกันเอง

วรรณคดีไทยไม่เป็นที่นิยม เพราะวิธีคิดและวิธีทำใน "ระบบโรงเรียน" ที่มีเหตุเกี่ยวข้องกันหลายอย่าง เริ่มแต่ให้ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง (แต่เรียกอาขยาน) มีแต่วรรณคดีราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อยุธยา-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์) ไม่มีของลุ่มน้ำอื่นและเผ่าพันธุ์อื่น ให้ความสำคัญแต่ร้อยกรองโดยไม่มีร้อยแก้ว เช่น นิทาน ตำนาน พงศาวดาร กฎหมาย จารึก ฯลฯ

นอกจากยกแต่วรรณคดีร้อยกรองของราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังแยกตัวเองออกไปอยู่โดดๆ ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมและเศรษฐกิจการเมืองของยุคสมัยนั้นๆ เลยอธิบายไม่ได้ว่ากวียุคนั้นแต่งขึ้นมาทำไม? สะท้อนสังคมอย่างไร? ฯลฯ

ที่สำคัญคือชอบจินตนาการว่าเป็นตัวแทนของ "คนไทย" ทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วคนทั่วไปอ่านหนังสือไม่ออก ฉะนั้นจึงไม่มีคนทั่วไปเคยอ่าน จะมีก็แต่คนชั้นสูงในราชสำนักที่อ่านออกเขียนได้ (ซึ่งไม่มากนัก) แต่ก็ไม่ใช่ "คนไทย" ทั้งหมด หากมีทั้งลาว มอญ เขมร พม่า เวียดนาม จาม จีน จนถึงมลายู ฯลฯ

ถ้าคนส่วนใหญ่จะรู้เรื่องวรรณคดีบ้างก็รู้จาก "ฟัง" ด้วยหู ไม่ใช่ "อ่าน" ด้วยตาอย่างทุกวันนี้ คือฟังผู้รู้นักบวชสวด-เทศน์ กับฟังพวกหมอลำ-ช่างขับ ผ่านการละเล่นต่างๆ

จะเห็นว่าระบบโรงเรียนนั่นแหละทำลายการเรียนรู้วรรณคดีไทยอย่างธรรมชาติ ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ก็อย่ามาบ่นบ้าด่าทอคนรุ่นใหม่ไม่อ่านวรรณคดีไทย แต่ชอบอ่านวรรณคดีตะวันตก-ตะวันออก (ที่ไม่ใช่ไทย)

ผมเห็นว่านอกจากจะต้อง "รื้อ" วิธีคิดกับวิธีทำทางวรรณคดีไทยดังบอกมาแล้ว ยังต้องขยายแวดวงวรรณคดีให้กว้างกว่าไทย แต่ไกลถึงเพื่อนบ้านสุวรรณภูมิจนถึงโลกด้วย เช่น เรื่องพญาพานฆ่าพ่อที่นครชัยศรี มีรากจากเทพปกรณัม อิดีปุสของกรีก เป็นต้น


ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้สื่อข่าวบ้านไพร วันที่ตอบ 2007-04-17 10:29:32


ความคิดเห็นที่ 15 (936946)
พญาครุฑรุดล้ำทั่ว.............ฉิมพลี
ฤทธิทัศนวิถี......................ซึ่งกว้าง
ภายในกะลาก็ดี..................ครุฑเหลือบ..เห็นฤา
กบคะนองพร้องอ้าง...........อวดแล้วควรเฉลียว

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-04-17 10:32:09


ความคิดเห็นที่ 16 (2107105)

louis vuitton mens wallet replica replica louis vuitton bags with all types of outfits A less louis vuitton Bourke are sought after Dooney gucci replica chanel bags.

ผู้แสดงความคิดเห็น ellie (john-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 07:00:11


ความคิดเห็นที่ 17 (2147792)

 

วันนี้วันดี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น วางบาง วันที่ตอบ 2011-01-24 20:52:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.