ReadyPlanet.com


พี่น้องเหมือนแขนขา


ยายของผู้เขียนเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิต มักจะสอนผู้เขียนอยู่เสมอๆ ว่า  "เมียมิ่งเหมือนเสื้อผ้า พี่น้องเหมือนแขนขา" หมายความว่า สามีหรือภรรยารวมถึงเพื่อนพ้องบริวาร ฯลฯ นั้น เปรียบเสมือน เสื้อผ้า อันมีสีสันสวยงาม

เสื้อผ้าอันมีสีสันสวยงามเมื่อถึงคราวขาด แหว่ง วิ่น ไป (สลาย/สูญเสียไป) ก็ยังอาจจะหาซื้อใหม่ได้ไม่ยาก แต่ทว่า (พ่อแม่) พี่น้องผู้ซึ่งเปรียบเสมือน แขนขา มีความสำคัญต่อชีวิต หาก ขาดหาย  (สลาย/สูญเสียไป) ครั้นจะหาคนที่รักและหวังดีกับเราอย่างจริงใจ มาเติมต่อ(ความสัมพันธ์) นั้นยากแสนยากที่จะหามาแทนที่ได้


มนุษย์เรานี้ แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ก็ตรงที่มนุษย์มี ความกตัญญู (รู้คุณ) กตเวที (ตอบแทนคุณ) สัตว์เดรัจฉาน เมื่อพ่อแม่พี่น้องของมันชรา มันย่อมมิอนาทรร้อนใจ คอยเยียวยารักษาไข้ หรือคิดตอบแทนอุปถัมภ์  แต่มนุษย์หาได้เป็นเช่นสัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นไม่ ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงได้ชื่อว่า ผู้มี ใจสูง/ใจเลิศ/ใจดี/ใจงาม (มนะ+อุษยะ=มนุษย์) อันว่าการ กตเวทิตา (ตอบแทนคุณท่าน) นั้น ทำได้สองสถาน คือ


๑.อามิสบูชา แปลว่า บูชาด้วยอามิส  ได้แก่การนำสิ่งของไปสักการะไปบูชาบุคคลหรือสิ่งที่ควรบูชา เช่น ให้ข้าว ให้น้ำ ให้เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ตลอดถึงการดูแลปฏิบัติรับใช้ช่วยเหลือผู้มีพระคุณ ด้วยวัตถุสิ่งของและแรงกายของตน


๒.ปฏิบัติบูชา แปลว่า บูชาด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ การปฏิบัติตามคำสั่งสอนของผู้มีพระคุณ ด้วยความเต็มใจ ด้วยการประพฤติดีปฏิบัติชอบ กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์



สอดคล้องกับ พอ.นพ.พงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา ซึ่งได้เคยเล่านิทานเรื่องหนึ่งเอาไว้ ความว่า มีครอบครัวคนจีนครอบครัวหนึ่ง ต้องเลี้ยงดูพ่อที่อายุมากแล้ว ลูกชายไม่มีเวลาคอยดูแลพ่อ และต้องทำงานเลี้ยงลูกอีก 3 คน อยู่มาวันหนึ่ง เขาตัดสินใจนั่งสานเข่ง ในขณะนั้นเอง ลูกชายทั้งสาม ได้ถามผู้เป็นพ่อว่า พ่อสานเข่งไว้ใส่อะไร เขาตอบว่า สานไว้ใส่ปู่ ปู่แก่มากแล้ว พ่อไม่มีเวลาคอยดูแลปู่ พ่อจะนำเข่งที่สานไว้ใส่ปู่ไปทิ้งลงทะเล  ลูกชายทั้ง 3 คนเมื่อได้ฟังผู้เป็นพ่อพูด ก็บังเกิดความเห็นใจในผู้เป็นพ่อ ลูกชายคนโตจึงพูดกับพ่อว่า พ่อทิ้งปู่ลงทะเลได้ แต่พ่ออย่าทิ้งเข่งลงไปด้วยนะครับ พ่อจึงถามลูกว่าทำไมไม่ให้ทิ้งเข่งลงไปด้วย ลูกคนโตจึงตอบว่า พวกผมจะได้เก็บเข่งนั้นไว้ทิ้งพ่อ ตอนที่พ่อแก่เหมือนปู่น่ะครับ ผู้เป็นพ่อได้ฟังเช่นนั้น ก็นิ่งอึ้งไปสักพัก แล้วจึงคิดได้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกปฎิบัติตาม เขาจึงเลิกล้มความคิดที่จะทิ้งพ่อของเขาและหันมาดูแลพ่อของเขาด้วยดีเสมอมา


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากเรามีความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีพระคุณ ผลแห่งความกตัญญูกตเวทิตาคุณนั้นย่อมส่งผลต่อลูกๆ ลูกๆ ย่อมเห็นตัวอย่างที่ดี/หรือไม่ดี จากผู้ที่เป็นพ่อแม่


สอดคล้องกับ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 1 ที่ได้จารึกเอาไว้ว่า


“เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม”


จะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ท่านทรงเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ต่อ พระราชบิดามารดา รวมถึงพระเชษฐา เมื่อครั้งที่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชท่านเสวยพระกระยาหาร อันได้แก่ เนื้อเก้งเนื้อกวาง เนื้อปลา ส้มสุกลูกไม้ หมากพลูรสหวาน รสเปรี้ยว ท่านก็จะทรงระลึกนึกถึง  พระราชบิดามารดา คือทรงอยากให้พระราชบิดามารดา ของพระองค์ได้เสวยด้วย จึงทรงนำ พระกระยาหารเลิศรสนั้นๆ ถวายยัง พระราชบิดามารดา ของพระองค์ท่านเสมอๆ

เมื่อครั้งไปทำศึกสงคราม (ไปตีบ้านตีเมือง/ไปทั่งบ้านทั่งเมือง) ได้ช้าง ได้ม้า ได้บ่าวไพร่เป็นเชลยศึก ได้เงินได้ทอง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก็จะทรงนำมาเวนคืน ให้กับพระราชบิดามารดา อยู่เนืองๆ


เมื่อพระราชบิดามารดา เสด็จสรรคต พระองค์ก็ทรงปฏิบัติต่อพระเชษฐา เฉกเช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งที่ทรงปฏิบัติต่อพระราชบิดามารดา เมื่อพระเชษฐา เสด็จสรรคต จึงทรงบำรุงบำเรอความสุขนี้เพื่อตนเองด้วยเหตุนี้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงทรงเป็นตัวอย่างที่ดี ว่าด้วยเรื่องของความกตัญญูกตเวที

อนุสติที่ได้จาก ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในวรรคนี้ ทำให้ในยามที่ ผู้เขียน ได้กินอาหารอร่อยๆ ก็มักจะทำให้นึกถึง พ่อแม่พี่(น้อง) นั่นคือบังเกิดความ กตัญญู (ระลึกรู้คุณท่าน) ส่งผลกระตุ้นให้เกิดการ กตเวทิตา ตามมานั่นเอง ด้วยเหตุนี้การ ระลึกรู้คุณท่าน ในยามที่กินอาหาร ก็ดี รวมถึงการหมั่นพิจารณา อาหาเรปฏิกูลสัญญา  อยู่เสมอๆ ย่อมเป็น พลวัต สำคัญที่จะสามารถ ยกระดับจิตใจของเรา ให้ห่างไกลจากเหล่า สันดาน แห่งเดรัจฉาน สัตว์      

ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านทุกท่าน รวมถึงตัวผู้เขียนเอง ย่อมมีความกตัญญูกตเวที ด้วยกันทุกผู้ทุกคน แต่ในบางครั้งบางครา มาตรว่าบกพร่อง เนื่องด้วยภาระหน้าที่ ซึ่งหากเป็นไปได้ เราก็ควร พยายาม หาหนทางเพื่อให้ได้อยู่ดูแลปรนิบัติพัดวี ต่อผู้มีพระคุณของเรา จนถึงวาระสุดท้าย ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่มนุษย์พึงกระทำ (มนุษยธรรม) 



ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-28 13:53:13


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1843083)

ที่มา

http://gotoknow.org/blog/kelvin/211433

หรือที่

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao

ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-09-28 13:56:22


ความคิดเห็นที่ 2 (1843343)

 

 

เข้าใจหามาให้อ่านนะ...

 

ขอบคุณหลาย..เด้อค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ภัทราจิตร วันที่ตอบ 2008-09-29 08:54:32


ความคิดเห็นที่ 3 (1843459)

ขอบคุณค้าบ

ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-09-29 12:28:29



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.