ReadyPlanet.com


มนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ปี 2550/จุดประกายวรรณกรรม


มนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ปี 2550

พรชัย จันทโสก : รายงาน jantasok@yahoo.com

สิ้นเสียงคำประกาศจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2550 ผลปรากฏว่ากวีนิพนธ์ชุด "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" ที่เป็นบันทึกภาพความเคลื่อนไหวในชุมชนเล็กๆ ของ "มนตรี ศรียงค์" สามารถขึ้นสู่ทำเนียบกวีซีไรต์คนล่าสุดไปตามความคาดหมาย

งานแถลงข่าวประกาศผลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 ณ ห้องแม่กลอง โรงแรมโอเรียนเต็ล โดยมี นิตยา มาศะวิสุทธิ์ ดำเนินการแถลงข่าวแทน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน เนื่องจากติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ

ทั้งนี้ กวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้ารอบ 8 เล่มสุดท้าย ได้แก่ 1.เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ 2.ที่ที่เรายืนอยู่ ของ อังคาร จันทาทิพย์ 3.ปลายทางของเขาทั้งหลาย ของ กฤช เหลือลมัย 4.แมงมุมมอง ของ พรชัย แสนยะมูล 5.ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ ของ อุเทน มหามิตร 6.ลงเรือมาเมื่อวาน ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ 7.โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของ มนตรี ศรียงค์ และ 8.หมู่บ้านในแสงเงา ของ โกสินทร์ ขาวงาม

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทย ล่ารายชื่อนักเขียนและบุคคลแวดวงวรรณกรรม 49 รายชื่อ ลงในแถลงการณ์ตรวจสอบคณะกรรมการซีไรต์รอบคัดเลือก ประกอบด้วยข้อคลางแคลงใจ 5 ประการ ได้แก่ 1.กรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน 2.มีการเล่นพรรคเล่นพรรค 3.กรรมการมีอคติและไม่เข้าใจกวีนิพนธ์ 4.กรรมการผูกขาดอำนาจ และ 5.กรรมการไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง

ส่วนคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์รอบสุดท้าย ประกอบด้วย ชมัยภร แสงกระจ่าง ประธานคณะกรรมการตัดสิน ศ.ดร.กุสุมา รักษมณี, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิมล แจ่มจำรัส และอดุล จันทรศักดิ์

ผลปรากฏว่าคณะกรรมการมีมติให้กวีนิพนธ์เรื่อง โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของ มนตรี ศรียงค์ เจ้าของฉายา "กวีหมี่เป็ด" ได้รับรางวัลซีไรต์ประเทศไทย ประจำปี 2550 โดยคำประกาศของคณะกรรมการตัดสินระบุว่า...

"โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของ มนตรี ศรียงค์ เป็นบันทึกภาพความเคลื่อนไหวในชุมชนเล็กๆ ผ่านดวงตาพิเศษของกวีด้วยมุมมองเฉพาะตัวที่โดดเด่น ผสมผสานกับการย้อนรำลึกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สามารถทำให้เรื่องที่เป็นรูปธรรมเหล่านั้นโยงไปสู่ภาพสังคมโดยรวมได้

มนตรี ศรียงค์ ประจักษ์ในสาระของชีวิตจากการงานที่เป็นจริงและผู้คนรายล้อม แล้วนำมาถ่ายทอดไว้ในบทกวีได้อย่างกลมกลืน มีชีวิตชีวา ศิลปะในการนำเสนออยู่ที่การสรรคำและการเรียบเรียงลำดับภาพความคิดด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์และชวนคิด"

หลังจบคำประกาศ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์คนแรกของประเทศไทย กล่าวด้วยว่า "การตัดสินครั้งนี้รู้สึกเหมือนเป็นตุลาการทางวรรณกรรม ซึ่งคำตัดสินที่ออกมาก็เหมือนคำวินิจฉัยกลาง โดยงานกวีของมนตรีถือเป็นสกุลใต้ ที่มีรูปแบบ กลวิธีการใช้คำเฉพาะ มีลักษณะพิเศษ ที่นำเสนอด้วยกลอนแปดของสุนทรภู่ แต่มีการเล่นจังหวะ ยักย้าย ไม่สัมผัสด้านสระ และเป็นสัมผัสด้านจังหวะ ถือเป็นกวีที่โดดเด่นเป็นพิเศษ เนื้อหายังแฝงไว้ด้วยปรัชญาธรรมะ โดยส่วนตัวชอบบทกวีชื่อ "แรมนราฯ" ที่กล่าวถึงปัญหาชายแดนภาคใต้ และยังชอบบทกวีชื่อ "มนต์รัก MSN" ที่สะท้อนความเป็นจริงในสังคม ซึ่งคนรุ่นใหม่น่าจะชอบและอ่านได้สนุก"

ด้าน จิระนันท์ พิตรปรีชา กล่าวว่า "บทกวีโลกในดวงตาข้าพเจ้า เป็นเรื่องของคนเล็กๆ ที่เขียนเล่าเรื่องเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึก ทำให้เราต้องอ่านด้วยความนับถือ กวีบ้านเรามีปัญหา ถกเถียงกันเรื่องกวีฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์ แต่เขาสามารถผสมผสานระหว่างกวีตามขนบและกวีสมัยใหม่ได้อย่างโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง"

ส่วน พิมล แจ่มจำรัส หรือ แคน สังคีต นักแปลชื่อดัง กล่าวว่า รางวัลนี้มีความผิดๆ ถูกๆ มาตั้งแต่ต้น แม้แต่คำว่าซีไรต์ เราก็ยังอ่านกันบิดๆ เบี้ยวๆ ซึ่งบทกวีที่เขาชอบก็ตกไปตั้งแต่รอบแรก จากกวีทั้ง 8 เล่ม จนกระทั่งมาถึงรอบสุดท้าย 3 เล่ม หนึ่งเล่มที่เขาชอบก็คือ "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" นั่นเอง

ขณะที่ อดุล จันทรศักดิ์ ประธานกรรมการคัดเลือกรอบแรก กล่าวว่า ยินดีน้อมรับคำวิจารณ์ต่อผลการคัดเลือกรอบแรกที่มีประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทยล่ารายชื่อแถลงการณ์ตรวจสอบคณะกรรมการรอบแรก แต่ขอยืนยันว่าตนอ่านหนังสือและทำงานอย่างหนัก การตัดสินงานศิลปะไม่มีบรรทัดฐาน เราอ่าน ซึมซับ และตัดสิน โดยไม่ได้ไปรู้จักกับตัวกวีทั้ง 8 คนเป็นการส่วนตัวแต่ประการใด

นอกจากนี้นายกของทั้งสองสมาคมคือ ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือฯ ยังกล่าวอีกว่า จะได้มีการจัดสัมมนาในเร็วๆ นี้ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการคัดสรรคณะกรรมการในการตัดสินรางวัลซีไรต์ปีต่อๆ ไปอีกด้วย

ปรากฏการณ์ดังกล่าว คนในแวดวงวรรณกรรมต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป 0

---------------------------------------

ชื่อเรื่อง... โลกในดวงตา

มนตรี ศรียงค์

--------------------------------

มนตรี ศรียงค์ กวีหนุ่มวัย 39 ปี ชาวอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2511 หลังจบมัธยมปลายได้เข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย ทั้งที่รักการอ่านการเขียนแต่กลับสอบตกวิชาร้อยกรองและวรรณวิจารณ์

เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ช่วงเวลานี้เองที่เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตในเมืองหลวงมากมาย แต่บังเอิญแม่ต้องเรียกตัวให้กลับบ้านมาช่วยกิจการหมี่เป็ดที่ร้านศิริวัฒน์ฯ ถนนละม้ายสงเคราะห์ หาดใหญ่ กระทั่งได้ประกอบอาชีพนี้ไปพร้อมกับการเขียนบทกวีมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เขาได้รับฉายาว่าเป็น "กวีหมี่เป็ด" นั่นเอง

ผลงานรวมบทกวีเล่มแรกของเขาคือ ดอกฝัน : ฤดูฝนที่แสนธรรมดา พิมพ์เมื่อปี 2541 และรวมบทกวีทำมือชุด การพังทลายของทางช้างเผือก เคยได้รับรางวัลพิเศษ "เซเว่นบุ๊คอะวอร์ด" เมื่อปลายปี 2549 ล่าสุดเขากำลังมีผลงานรวมเรื่องสั้นออกมาอีกเล่มหนึ่ง และรวมบทกวีชุด ดอกตะแบกเริ่มบาน ตีพิมพ์ออกมาเร็วๆ นี้

ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ก่อนหน้าที่ มนตรี ศรียงค์ จะรู้ด้วยซ้ำไปว่า โลกในดวงตาข้าพเจ้า จะทำให้เขาเป็นกวีซีไรต์ปี 2550

>ปัจจุบันกวีไม่ได้ไปตีกรอบว่าบทกวีจะต้องเป็นเรื่องสะท้อนสังคม

งานเขียนทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง นิยาย นิทานพื้นบ้าน อะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างมันรับใช้ปัจเจกมาตั้งแต่โบราณ มันสะท้อนภาวะสังคมตัวเองที่อยู่รอบๆ ออกมา มันเป็นงานเขียนปัจเจกอยู่ดี เพียงแต่ว่าปี 2550 ยุคทุนนิยมเข้ามาอย่างเต็มตัว ปัจเจกมันชัดขึ้นจนหลายคนรู้สึกว่านักเขียนรุ่นนี้เขียนเรื่องของตัวเองอยู่หรือเปล่า นักเขียนทุกคนเขียนเรื่องของตัวเอง แต่ต้องเขียนเรื่องที่ตัวเองรู้ เข้าใจ และมองเห็น นักเขียนหลับตาเขียนเรื่องของดาวพลูโตไม่ได้ เพราะไม่สามารถสร้างยานอากาศยิงตัวเองขึ้นไปบนดาวพลูโตได้

>กวีเล่มนี้เขียนถึงสิ่งที่อยู่รายรอบตัวเอง

ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับถนนหน้าบ้านของผมเอง จากเรื่องของถนนวกเข้ามาร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์ฯ อาชีพขายก๋วยเตี๋ยว ผมเขียนในเรื่องของผม รวมบทกวีเล่มนี้ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวที่มองเห็น เข้าใจ เพราะนักเขียนต้องเขียนในสิ่งที่เรารู้จัก ผมเป็นพ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยวเป็ด ผมก็ต้องเขียนถึงก๋วยเตี๋ยวเป็ด สมัยเตี่ยทำมาตั้งแต่ 40-50 ปี และผมเข้ามาสืบต่อเนื่องประมาณ 10 ปีได้ แต่ว่าเตี่ยสอนอะไรผมก็ไม่เอา พอโตมาเป็นวัยรุ่นผมก็เกเรไปเรื่อย ผู้ชายคงมีบ้างล่ะ

>เริ่มชื่นชอบบทกวีตั้งแต่เมื่อไร

ผมชอบมานาน จำได้ว่าผมชอบอ่านหนังสือ "ขวัญเรือน" ตอนอยู่ประถม ผมก็จะฉีกหน้านั้นมาแล้วก็เย็บแม็กรวมๆ ฉบับหนึ่งก็ใบหนึ่ง เดี๋ยวเตี่ยผมชั่งกิโลขาย กวีชิ้นหนึ่งของใครไม่รู้ผมจำชื่อไม่ได้ แต่ผมจำกวีบทนี้ได้จนถึงปัจจุบันเลยนะ "เอาเถิดถ้าพรุ่งนี้ของชีวิต มีแค่สิทธิผิดหวังประดังเท่า เมื่อทำดีดีไม่ได้กูไม่เอา จะตบเท้าหนีเผ่นไปเป็นโจร" ผมรู้แต่ว่าเป็นตำรวจเขียน จำชื่อไม่ได้ ผมจำติดใจมาจนถึงปัจจุบันนี้ พลังความอลังการของคำง่ายๆ นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำให้ผมชื่นชมและชื่นชอบถ่ายทอดเป็นบทกวี ตอนเรียนมัธยมต้น ม.1-2 แอบเขียนกลอนใส่สมุด สมัยนั้นถ้าผู้ชายไปเขียนกลอนนี่..โอ้โห..

>หมายถึงเป็นกลอนแบบไหน

มันต้องเป็นกลอนจีบสาวสิ และต่อมาเริ่มเขียนเอาจริงเอาจัง พอเพื่อนมาเห็นก็..ให้กูนะ เอาไปจีบสาว จากที่ไม่เคยจีบสาว จำได้ว่าเริ่มหลงเสน่ห์บทกวีจริงๆ น่าจะเป็นตั้งแต่เด็กๆ เลยนะ บทอาขยาน ชอบเสียงสัมผัส ชอบจังหวะของมัน "แมวเอ๋ยแมวเหมียว รูปร่างปราดเปรียวเป็นหนักหนา" หรือว่าอย่างที่แม่ท่องกลอนดอกสร้อยให้ฟังตั้งแต่เด็ก

>ส่วนหนึ่งได้อิทธิพลมาจากแม่ด้วย

มันได้อิทธิพลมาจากทุกภาคส่วน ตอนนั้นคือสมัยเป็นเด็กๆ มันยังอยู่ในการถ่ายทอดเล่าปากต่อปาก แม่ยังกล่อมลูกด้วยเพลงกล่อมเด็ก แม่ให้ผมนอนบนผ้าขาวม้าผูกด้วยเชือก เมื่อก่อนมือทำงานตีนดึงเชือก ตอนหลังชอบฟังเพลงลูกทุ่ง เพลงลูกทุ่งจะมีอิทธิพลมาก เวลานั่งถอนขนเป็ดเป็นร้อยตัว เปิดวิทยุทรานซิสเตอร์ไปด้วย บทกวีได้จากเพลงลูกทุ่งสูง สังเกตว่าเพลงลูกทุ่งจะไม่ใช้คำวิลิศมาหรา จะใช้คำง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นเพราะว่าผมมีคำน้อย ผมอับจนถ้อยคำ ผมจึงต้องพยายามทำคำธรรมดานี่แหละให้มันดูดีได้

>ชอบกวีคนไหนเป็นพิเศษ

ผมชอบ "แก้ว ลายทอง" บอกตรงๆ ว่าผมชอบในอารมณ์งานของ "แก้ว ลายทอง" แต่หลักๆ เลยคือชอบ "สุจิตต์ วงษ์เทศ" และ "ขรรค์ชัย บุนปาน" ที่เป็นงานในด้านอุดมคติก็เป็นของ "คมทวน คันธนู" แต่ว่างานของ "แก้ว ลายทอง" เป็นงานที่ผมนำมาศึกษา ชอบมาก ชอบน้ำเสียงเขา จากกลอนจีบสาวสมัยวัยรุ่นหันมาเขียนกวีสะท้อนสังคมมากขึ้นช่วงพฤษภาทมิฬ มันพลุ่งพล่าน งานชิ้นแรกส่งไปที่พี่พินิจ นิลรัตน์ ตอนนั้นคุมอยู่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ แต่ไม่ผ่าน เขียนไปเรื่อย พลังเยอะ เขียนทุกวันๆ

>คนอื่นมองอาจดูขัดแย้งที่คนทำอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดแต่มาเขียนบทกวี

นี่เป็นโอกาสดีที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าคนธรรมดาที่คุณเห็นเนี่ย บางครั้งเขามีอะไรบางอย่างที่พิเศษ คนมองคนด้วยกันให้เป็นคน คนเคารพคนคือคนเคารพตัวเอง มันเป็นอาชีพที่น่าแปลกนะ ขายก๋วยเตี๋ยว คนดูถูกฉิบหาย แปลกมากเลย ทั้งๆ ที่เงินเดือนคุณไม่พอกับค่าเบียร์ผมเลย

>รู้สึกไปเองหรือเปล่า

ไม่หรอก ผมโดนมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ลูกค้าบางคนที่มาร้านนะ เจ้าขุนมูลนายก็มีเยอะ สิ่งหนึ่งที่แม่บอกก็คืออดทนไว้ลูก นั่นเป็นวิถีของแม่ วิถีชาวบ้านบ้านนอก แม่บอกว่าถ้าเขาถุยน้ำลายใส่หน้า มึงต้องทนให้ได้นะ แต่ผมชกกลับ (หัวเราะ) หลายๆ อย่าง คนคนหนึ่งเติบโตแต่ละปีมันไม่ได้เติบโตมาโดยอาศัยอะไรเพียวๆ มันมีอะไรหลายอย่างเข้ามาผสมผสาน เข้ามากล่อมเกลา เข้ามาเป็นส่วนผสม จึงกลายมาเป็นคนที่ผ่านมาในแต่ละปี

มันอาจจะเปลี่ยนความคิดทีละเล็กทีละน้อย อาจจะเปลี่ยนบุคลิกทีละเล็กทีละน้อย จากไอ้เด็กขี้แยคนหนึ่งตอน ม.ต้น พอมา ม.ปลาย อาจจะเป็นหนุ่มวัยรุ่นกวนตีน ผ่านมาอายุยี่สิบกว่าๆ อาจจะเป็นหนุ่มสุขุม สามสิบปีเป็นอีกแบบ มันแล้วแต่ อย่ามองคนมิติเดียว คนมันมีหลายมิติ

>อาชีพนี้ทำให้ได้เจอผู้คนมากมายหลากหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ผมได้ฟังเรื่องราวหลายอย่าง น่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวร้านเดียวในเมืองไทยที่ลูกค้าเข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิต ผัวมีเมียน้อย ลูกเที่ยว บางทีพูดเรื่องการเมือง เขามาปรึกษาผมเลย พ่อค้าที่ดีต้อง เออ..เออ..เออ (หัวเราะ) แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามคุณเปลี่ยนสภาพจากลูกค้ากับพ่อค้ามาเป็นเพื่อนผม ผมจะบอกว่าลองดูอย่างนี้สิ เป็นยังไง ผมมองด้วยสายตาคนนอกจะกว้างกว่าคนที่เขาเจอปัญหา ฉะนั้นเวลาผมเจอปัญหา ผมคิดอะไรไม่ออก ผมก็จะหาคนอื่นมาช่วยมอง

>ภาพรวมของกวีชุดนี้ต้องการสะท้อนแนวคิดอะไรบ้าง

ผมแค่เขียนเรื่องของผม ผมเพียงแค่รู้จักร้านของผมดีกว่าคนอื่น รู้จักถนนละม้ายสงเคราะห์ดีกว่าคนอื่น ผมเขียนเรื่องที่ผมรู้ เรื่องที่ผมสัมผัส เรื่องที่ผมรู้สึก และเป็นเรื่องที่คนธรรมดาพูดกับคนธรรมดา ผมไม่มีคำอลังการ ไม่มีภาษาสวิงสวาย ผมพยายามใช้คำธรรมดา ใช้ภาษาสำนวนธรรมดาที่พูดคุยอยู่ประจำวันนี่แหละ มาจัดวางมาจัดตำแหน่งยังไงให้มันสวย ให้มันดูดีขึ้นมา

"โลกในดวงตาข้าพเจ้า" คือเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในดวงตาของผม ที่ผมเห็นผ่านสมอง ผ่านการคิด ดีหรือเลว ผมไม่รู้ ผมมีความสามารถเขียนได้แค่นั้น ในห้วงเวลานั้น ที่เหลือใครจะวิจารณ์ ได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัล ไม่ใช่หน้าที่ผม เป็นหน้าที่ของคนอื่นแล้ว คนจะวิจารณ์ว่าอย่างไร เป็นเรื่องของคนอื่นที่จะต้องมาพูดถึงงานของผม

>ถ้าเกิดมีคนวิจารณ์ว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ ธรรมดาๆ ที่ไม่ค่อยสำคัญอะไรมากนัก

เฉยๆ เพราะว่าผมเขียนเรื่องธรรมดาจริงๆ อย่างผมบอกว่าผมตื่นตั้งแต่ตีห้า ผมทำงานง่อกๆ จนถึงห้าหกโมงเย็น เวลาที่เหลือของผมคือพักผ่อน เล่นเน็ต หรือว่าอาจจะนั่งดื่มอะไรก็แล้วแต่ แล้วผมก็ต้องหลับนอนเพื่อที่จะรีบตื่นขึ้นมาอีกวันหนึ่ง ผมมีเวลาไม่เหมือนชาวบ้าน เวลาว่างของผมไม่มี เวลาว่างของผมก็คือวันหยุดร้าน เฉลี่ยคือประมาณสองวันต่อเดือน ในขณะที่ผมไม่มีเวลาเหมือนชาวบ้าน แต่ผมกลับเขียนงานได้เยอะ

>เอาเวลาไหนไปเขียน

เอาเวลาตอนขายก๋วยเตี๋ยวนั่นแหละ "พี่รับอะไรพี่ หมี่น้ำสองก้อน เป็ดหรือไก่พี่ ใส่ลูกชิ้นไหม เอาเลือดไหมพี่ โอเคครับ" แต่ในสมองของผมคิดแล้ว ผมมีประเด็นของผมอยู่ ผมลวกๆ เส้น ใส่ลูกชิ้น มีคนเสิร์ฟ จบไปแล้ววรรคหนึ่ง คิดไปเรื่อยๆ ผมใช้วิธีนี้ เมื่อก่อนผมทำเส้นเองนะ แต่เดี๋ยวนี้ลูกน้องผมทำ ผมนวดแป้งก็คิดไปๆ มันจะมีสมาธิ พอนวดแป้งปั๊บ คิดปั๊บ มันจะมีสมุด ปัญหาคือปากกาผมจะเขียนไม่ค่อยติดเพราะสมุดเปื้อนแป้ง ผมจะโกรธมาก แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องสั้นผมจะต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องมีเวลาให้กับมัน

>อย่างที่ทราบกันดีว่าบทกวีขายยาก ในฐานะกวีมีความรู้สึกท้อแท้บ้างไหม

ต้องถามว่าเขียนเพื่อรับใช้ใคร ผมไม่ใช่ขี้ข้าใคร ผมไม่ต้องรับใช้ใคร ผมเขียนรับใช้ตัวผมเอง ผมคิดอะไรอยู่ ผมอยากจะเขียนออกไปโดยจะสื่อเป็นบทกวี เรื่องสั้น หรือนวนิยาย อยู่ที่ความถนัด ฉันทลักษณ์หรือไม่ฉันทลักษณ์ ไม่สำคัญ ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณเขียนอะไรอยู่ และคุณพูดยังไงเด็กมันถึงไม่อ่านบทกวี กวีต้องตั้งคำถามตรงนี้กับตัวเอง ต้องเคี่ยวเข็ญกับตัวเองให้ได้ว่ากวีกำลังทำอะไรอยู่ พูดกับคนร่วมสมัยอย่างไร พูดเรื่องอะไร พูดด้วยน้ำเสียงแบบไหน

คำถามนี้กวีต้องตอบตัวเอง ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของคนอื่นจะต้องตอบ 0
http://www.bangkokbiznews.com/jud/wan/



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-09-02 11:25:15


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937822)
d
ผู้แสดงความคิดเห็น gr วันที่ตอบ 2007-11-17 14:00:10


ความคิดเห็นที่ 2 (955999)

อยากรู้เรื่องย่อวรรณกรรมยอดเยี่ยมปีนี้คะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น 403 วันที่ตอบ 2008-02-12 21:23:57


ความคิดเห็นที่ 3 (1782438)

กอลฟ์คนหล่อ   ไห้มีกลอนแปดนะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ไห้มีกลอนแปดนะครับ (kanjna-dot-20-at-sanook-dot-com)วันที่ตอบ 2008-06-23 17:14:20


ความคิดเห็นที่ 4 (1947720)
อยากได้เรื่องสั้นกวีซีไรต์ส่งงานครู
ผู้แสดงความคิดเห็น นักเรียนผู้น่าสงสาร วันที่ตอบ 2009-06-07 19:20:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.