ReadyPlanet.com


ขุนนางกรมท่าขวา พ่อค้ามุสลิม ควบคุม"การค้า"ทะเลอันดามัน ให้ราชอาณาจักรสยาม


ขุนนางกรมท่าขวา พ่อค้ามุสลิม ควบคุม"การค้า"ทะเลอันดามัน ให้ราชอาณาจักรสยาม

คอลัมน์ สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม

ปรับปรุงและตัดทอนจากบทสรุปของ จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




คำนำผู้เขียน ในการพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2546

แม้เรื่องราวเกี่ยวกับขุนนางสยามจะมีผู้ศึกษาค้นคว้าไว้มากพอสมควร แต่ก็ยังเป็นการศึกษาภายใต้กรอบวิชาการและหลักฐานเอกสารอันจำกัด ยิ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของขุนนางต่างชาติด้วยแล้วก็ยังมีน้อยมาก เท่าที่มีอยู่ยังเน้นการศึกษาเป็นรายบุคคลทำให้ไม่อาจมองเห็นภาพต่อเนื่องเพียงพอที่จะอธิบายความเคลื่อนไหวภายในหน่วยงานหรือ บทบาทของกลุ่มการเมืองเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน

ผลงานเรื่อง "ขุนนางกรมท่าขวา" เรียบเรียงมาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "บทบาทและหน้าที่ของขุนนางกรมท่าขวาในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2153-2435)" ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2544

งานวิจัยได้ขยายขอบเขตการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันขุนนางในระบบราชการสยาม โดยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรที่บริหารงานและความเคลื่อนไหวภายในกรมท่าขวา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รวบรวมขุนนางตลอดจนผู้ชำนาญการชาวต่างชาติเอาไว้ในสังกัดเป็นจำนวนมาก

เรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาเกือบ 300 ปี สะท้อนความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ของหน่วยงานที่มีกิจกรรมอันสลับซับซ้อนที่สุดหน่วยงานหนึ่ง ทั้งยังช่วยให้เกิดแนวความคิดและมุมมองใหม่ๆสำหรับการศึกษาบทบาทหน้าที่ของขุนนางกลุ่มต่างๆ ที่มิได้ยึดโยงอยู่เฉพาะกรอบความคิดทางการเมืองเพียงส่วนเดียว แต่ยังขยายขอบเขตไปสู่ความเข้าใจในเชิงเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งกระบวนการปรับตัวภายในกลุ่มขุนนางสยามกลุ่มต่างๆ อีกด้วย

ในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง การค้าของสยามในมหาสมุทรอินเดียเติบโตขึ้นมาก พ่อค้ามุสลิมโดยเฉพาะพ่อค้ามุสลิมเชื้อสายอินโด-อิหร่าน เข้ามามีบทบาทต่อการค้าต่างประเทศของสยาม โดยเป็นผู้ดำเนินการค้าทางทะเลระหว่างเมืองท่าในมหาสมุทรอินเดียกับเมืองท่าฝั่งตะวันตกของสยาม คือ ทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งกลายเป็นตลาดการค้าสำคัญในเขตอ่าวเบงกอลที่เชื่อมโยงไปสู่การค้าในเขตอ่าวไทย และทะเลตะวันออก พ่อค้ากลุ่มนี้ยังเป็นผู้เชื่อมโยงการค้าในแถบฝั่งตะวันออกเข้ากับฝั่งตะวันตกของสยาม

ประกอบกับในช่วงเวลานั้นราชสำนักของอิหร่าน และรัฐมุสลิมในอินเดีย ก็พยายามขยายอิทธิพลทางการค้าและการเมืองสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้ามุสลิมจำนวนหนึ่งเข้ามารับราชการในฐานะผู้ชำนาญการด้านการค้า การคลัง ภาษีอากรและการเดินเรือ ทำให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในราชสำนักสยาม แต่เมื่อถึงในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ขุนนางกรมท่าขวากลับมีบทบาทด้านการค้าที่ลดลงไปมาก เนื่องจากการค้าฝั่งตะวันตกซบเซาลงจากปัจจัยภายในและภายนอก ในขณะที่การค้ากับจีนกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ขุนนางกรมท่าซ้ายและชาวจีนมีบทบาทสูงต่อการค้าต่างประเทศของสยาม

แม้ว่าการค้าฝั่งตะวันตกจะกลับมามีความสำคัญอีกครั้งในรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เส้นทางการค้าได้เปลี่ยนไปใช้เมืองท่าในแหลมมลายูเป็นเส้นการค้าหลัก โดยมีพ่อค้าเอกชนชาวตะวันตก และชาวจีนเป็นผู้ประกอบการ บทบาทของขุนนางกรมท่าขวาที่มีต่อการค้าต่างประเทศของสยามจึงลดลง

จะเห็นได้ว่าบทบาทด้านการค้าของขุนนางกรมท่าขวาแปรผันไปตามกระแสการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ขุนนางกรมท่าขวาจะพยายามปรับตัวเพื่อดำรงบทบาทด้านนี้เอาไว้แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากการค้าต่างประเทศมีปัจจัยจากสถานการณ์ภายนอกที่สลับซับซ้อนและไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด



ในขณะที่การค้าต่างประเทศเป็นบทบาทที่ควบคุมได้ยาก แต่บทบาทด้านการติดต่อกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะในส่วนการควบคุมกำลังพลกลับเป็นกิจกรรมที่ขุนนางกรมท่าขวาประสบความสำเร็จอย่างสูงในการบริหารจัดการ ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ขุนนางกรมท่าขวาเข้ามาเล่นการเมืองและสามารถขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่องอยู่ในระบบราชการสยาม บทบาทเกี่ยวกับการควบคุมกำลังพลมุสลิมในสยามเป็นประเด็นที่ยังไม่เคยมีการอธิบายมาก่อน

ผลงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าประชาคมมุสลิมในสยาม แม้จะเป็นกลุ่มกำลังพลต่างชาติที่มีบทบาทสูง แต่คนกลุ่มนี้มิได้มีความเป็นเอกภาพเนื่องมาจากมีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ นิกายศาสนา ภาษา และสังคมวัฒนธรรม ราชสำนักสยามได้อาศัยประโยชน์จากขุนนางมุสลิมเชื้อสายอินโด-อิหร่านสายตระกูลเฉกอะห(มัดซึ่งเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดและมีผลประโยชน์ร่วมกับราชสำนักในการบริหารจัดการด้านกำลังพลมุสลิม และชาวต่างชาติให้

ในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง มุสลิมเชื้อสายอินโด-อิหร่านมีบทบาทสูงมากเนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นฐานพระราชอำนาจทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองให้กับสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระนารายณ์ ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ยังมีความสัมพันธ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับกลุ่มผู้มีอำนาจในอิหร่านและรัฐมุสลิมในอินเดียซึ่งช่วยสนับสนุนให้คนเหล่านี้มีความสำคัญอยู่ในราชสำนักสยาม

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มมุสลิมอื่นๆ อย่างมุสลิมเชื้อสายจามและมลายูซึ่งเป็นประชาคมมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในสยามแล้วจะเห็นได้ว่า มุสลิมกลุ่มจามและมลายูกลับมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจและการเมืองน้อยกว่า เนื่องจากมุสลิมกลุ่มจามและมลายูเป็นพวกที่อพยพลี้ภัยเข้ามา หรือถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นเชลยสงคราม ไม่มีฐานอำนาจเพียงพอจะสนับสนุนให้ขึ้นมามีบทบาท อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพน้อยในการเล่นการเมืองเมื่อเปรียบเทียงกับกลุ่มอินโด-อิหร่านสายตระกูลเฉกอะหมัดที่มีความเป็นนักการเมืองสูง

เมื่อถึงสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้ทรงสนับสนุนขุนนางมุสลิมเชื้อสายอินโด-อิหร่านสายตระกูลเฉกอะห (มัดในกรมท่าขวา ให้มีบทบาทในการควบคุมประชาคมมุสลิมกลุ่มจามและมลายู เนื่องจากขุนนางสายตระกูลเฉกอะห (มัดเป็นกลุ่มขุนนางที่ใกล้ชิดและทรงไว้วางพระราชหฤทัย ขุนนางสายตระกูลเฉกอะห (มัดในกรมท่าขวาได้กลายเป็นบุคลากรสำคัญที่ราชสำนักสยามใช้ในการควบคุมกำลังพลมุสลิมในเขตวงราชธานีสืบเนื่องต่อมาจนถึงในรัชกาลที่ 4 บทบาทในการควบคุมประชาคมมุสลิมจึงเริ่มถูกท้าทายจากการต่อต้านของมุสลิมเชื้อสายจามและมลายู

มุสลิมเชื้อสายจามและมลายูในช่วงเวลานี้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นจากในสมัยอยุธยาเนื่องจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของมุสลิมเชื้อสายจามและมลายูในบังคับของชาติตะวันตก คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่มีอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านศาสนาโดยได้นำเอาแนวคำสอนของศาสนาอิสลามตามแบบนิกายสุหนี่ใหม่เข้ามาเผยแพร่ในหมู่มุสลิมเชื้อสายจามและมลายูในสยาม

มุสลิมในบังคับต่างชาติได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มของมุสลิมเชื้อสายจามและมลายูในสยามจนเป็นผลให้คนเหล่านี้มีพลังเพียงพอจะเรียกร้องการปกครองชุมชนซึ่งเท่ากับเป็นการต่อต้านอำนาจปกครองของราชสำนักที่ผ่านทางกลุ่มขุนนางกรมท่าขวา แม้ข้อเรียกร้องจะได้รับการปฏิเสธจากราชสำนัก แต่กระแสต่อต้านในหมู่มุสลิมเชื้อสายจามและมลายูที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ก็เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายควบคุมประชาคมมุสลิมในเวลาต่อมา

นอกจากการอธิบายประวัติศาสตร์ที่เป็นประเด็นหลักที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผลงานเรื่องนี้ยังได้ตอบคำถามและเพิ่มเติมประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกหลายประเด็น ได้แก่ การอธิบายถึงจุดเริ่มต้นและที่มาเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มขุนนางสายตระกูลบุนนาคซึ่งมีพัฒนาการมาจากการเล่นการเมืองของบรรพบุรุษที่เป็นมุสลิมเชื้อสายอินโด-อิหร่าน การอธิบายถึงพลวัตที่เกิดขึ้นในหมู่ขุนนางต่างชาติและศักยภาพของขุนนางต่างชาติกลุ่มต่างๆ รวมทั้งกระบวนการดูดกลืนชาวต่างชาติเข้าสู่ระบบบริหารราชการสยามด้วยการใช้กลไกของกฎหมาย ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และการให้ผลประโยชน์ตอบแทนด้านต่างๆ ดังกรณีตัวอย่างของขุนนางมุสลิมเชื้อสายอินโด-อิหร่านสายตระกูลเฉกอะห (มัดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นขุนนางชาวพุทธโดยสมบูรณ์ในฐานะกลุ่มขุนนางสายตระกูลบุนนาค

ผลงานเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายแบ่งแยกปกครองประชาคมต่างชาติโดยให้ชาวต่างชาติกลุ่มน้อยที่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐเป็นผู้ปกครองประชาคมต่างชาติกลุ่มใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นจากการที่ราชสำนักสยามส่งเสริมให้มุสลิมกลุ่มที่นับถือนิกายชีอะห์ซึ่งเป็นมุสลิมกลุ่มน้อยในสยามเป็นผู้ปกครองพวกนิกายสุหนี่ในสยาม ประเด็นที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะได้มีการศึกษาและอภิปรายอย่างกว้างขวางเพื่อขยายมิติการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในโอกาสต่อไป

สุดท้ายนี้ เรื่องราวของ "ขุนนางกรมท่าขวา" ได้สะท้อนถึงภาพความสลับซับซ้อนของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่มีมุมมองอันหลากหลายและเต็มไปด้วยเหตุปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอันจะเป็นบทเรียนสำหรับผู้คนยุคปัจจุบันได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจตนเองและภาวการณ์ต่างๆ รอบตัวมากยิ่งขึ้น



วารสารอักษรศาสตร์

ฉบับแขกไทย-แขกเทศ ข้ามเขตความรู้

ปีที่ 36 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2550)

จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ บรรณาธิการประจำฉบับ



บทบรรณาธิการ


ในบรรดาชนต่างชาติต่างภาษาในสังคมไทย "แขก" จัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีความหลากหลายมากที่สุด เหตุเพราะสังคมไทยได้จัดแบ่งแยก "แขก" แตกแขนงออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิลำเนา หรือนิกาย อันที่จริงคำว่า "แขก" แต่เดิมนั้นมีความหมายในเชิงให้เกียรติเพราะแขกคือผู้มาเยือนและเป็นผู้ซึ่งเจ้าบ้านทั้งหลายพึงให้การต้อนรับ แต่กาลเวลาและอวิชชาทำให้คำว่า "แขก" แปรเปลี่ยนไปในทางที่แบ่งแยกหรือดูหมิ่นดูแคลน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนในสังคมไทยขาดความรู้ความเข้าใจตัวตนของ "แขก" จึงมองว่าคนเหล่านี้แปลกแยกแตกต่าง ทั้งที่โดยความเป็นจริงไม่ว่าไทย จีน มอญ ลาว หรือแขกต่างก็เป็นสมาชิกในสังคมที่มีส่วนสร้างบ้านสร้างเมืองมาด้วยกันทั้งสิ้น

คำว่า "แขก" ในสังคมไทย หมายถึงชนต่างชาติซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางดินแดนฟากตะวันตกของไทยซึ่งไม่ใช่ประเทศแถบตะวันตก ภายหลังก็รวมเอาบรรดามุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ในกลุ่มสมาชิกของ "แขก" ด้วยเหตุนี้ "แขก" จึงเป็นกลุ่มประชาชาติใหญ่โตซึ่งประกอบไปด้วยแขกที่ไม่ได้นับถืออิสลามอย่างแขกพราหมณ์ แขกอาร์มิเนีย และแขกซิกข์ กับแขกที่นับถืออิสลามหรือมุสลิม เช่น แขกจาม แขกชวา แขกมลายู และแขกเจ้าเซ็น เป็นต้น

หากพิจารณากันด้วยความเป็นธรรมแล้วจะเห็นว่าสังคมไทยรับเอาความรู้และภูมิปัญญาจากแขกมาตั้งแต่ยุคต้นของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา ศาสนา ความเชื่อ ศิลปกรรม ไปจนถึงภูมิความรู้อื่นๆ เช่น การรับพุทธศาสนาและภาษาบาลีจากแขกอินเดีย เมื่อถึงสมัยที่อิสลามรุ่งเรืองในเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวสยามได้ติดต่อค้าขายกับแขกเปอร์เซีย อินเดีย อาหรับ ชวา มลายู จาม ฯลฯ วัฒนธรรมแขกเข้ามาผสมกลมกลืนกับภูมิปัญญาเดิมของไทยก่อเกิดผลผลิตทางวัฒนธรรมหลายอย่างเป็นมรดกตกทอดจนคนรุ่นหลังต่างเข้าใจผิดว่าวัฒนธรรมเหล่านั้นเป็นของไทยแท้มาแต่เดิม

การที่แขกกลุ่มต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยร่วมกันในสังคมไทย ก่อให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความหลากหลาย และการยอกรับในความหลากหลายซึ่งดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน

วารสารอักษรศาสตร์ฉบับ "แขกไทยแขกเทศข้ามเขตความรู้" คือภาพสะท้อนความรู้เกี่ยวกับ "แขก" ในแง่มุมต่างๆ ครอบคลุมเรื่องราวของแขก (ในเมือง) ไทย และแขก (ในเมือง) เทศโดยนักวิจัยและนักวิชาการผู้สนใจศึกษาเรื่องของแขกต่างชาติต่างภาษาทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ

บทความทั้งแปดเรื่องน่าจะให้มุมมองและทรรศนะใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของ "แขก" ในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นแขกในเมืองไทยหรือแขกในเมืองเทศ ความรู้เหล่านี้แม้จะเป็นส่วนน้อยนิดในกระแสธารแห่งภูมิปัญญา แต่ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับสังคมไทยซึ่งจะหวนกลับมาพิจารณาความรู้ของกลุ่มชนที่มีความใกล้ชิดสังคมไทยมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ขอขอบคุณผู้เขียนทุกท่านที่กรุณาสละเวลาและใช้ความอุตสาหะ กลั่นกรองความรู้มอบเป็นวิทยาทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวารสารฉบับนี้จะช่วยขยายขอบฟ้าแห่งพุทธิปัญญาและช่วยสร้างความเข้าใจอันดีในสังคมปัจจุบันที่กำลังถวิลหาสันติภาพและภราดรภาพอันยั่งยืน



ขุนนางกรมท่าขวา

"ขุนนางกรมท่าขวา" เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของขุนนางต่างชาติ โดยเฉพาะขุนนางมุสลิมในระบบราชการไทย โดยอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกิจกรรมหลักของขุนนางกรมท่าขวาใน 2 ส่วน คือ กิจกรรมการค้าและการติดต่อกับชาวต่างชาติ และชี้ให้เห็นว่าขุนนางกลุ่มนี้มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ ศาสนา และการต่างประเทศและการควบคุมกำลังพลชาวต่างชาติ ทั้งยังศึกษาวิเคราะห์กระบวนการด้านการค้าของไทย การควบคุมชาวต่างชาติกลุ่มต่างๆ รวมทั้งพลวัตที่เกิดขึ้นในหมู่ขุนนางต่างชาติที่มีความต่อเนื่องยาวนานกว่า 200 ปี

จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์

สถ.บ.(เกียรตินิยม) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ศศ.ม.(สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สนใจหนังสือวิชาการของคณาจารย์และนิสิตบัณฑิตศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โปรดติดต่อ โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 0-2218-4888 โทรสาร 0-2218-4899

หรือ

ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร.0-2218-7000 โทรสาร 0-2256-4441

มติชน หน้า 33 วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10793



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-09-30 11:46:40


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.