ReadyPlanet.com


เบื้องหลังคดีกบฎ "เจ้าฟ้าเหม็น" โอรสพระเจ้าตากถูกสำเร็จโทษโดยรัชกาลที่๒สิ้นพระชนม์ด้วยท่อน


(โดย ฑีพัตรยศ สุดลาภา teapatyost341455@hotmail.com)

เบื้องหลังคดีกบฎเจ้าฟ้าเหม็น รัชทายาทพระเจ้าตาก ปมกำจัดราชวงศ์กรุงธนบุรี

เจ้าฟ้าเหม็น โอรสพระเจ้าตาก หลานรัชกาลที่ ๑ ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ ๒ เบื้องหลังคดี “กาคาบฟ้อง” คดีกบฎเจ้าฟ้าเหม็น

และถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ในข้อหากบฎ เมื่อพุธศักราช ๒๓๕๒ หลังจากรัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคตเพียง ๗ วัน

วัดอภัยทาราม ริมคลองสามเสนซึ่งเป็นอนุสรณ์ของ “เจ้าฟ้าเหม็น” กว่าสองศตวนนษที่หลักฐานเกี่ยวกับวัดอภัยทายาราม หรือ วัดมะกอก ริมคลองแสนแสบ ไกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่เจ้าฟ้าเห็นรัชทายาทพระเจ้าตากสินทรงสถาปนาไว้เก็บรักษาไว้อย่างเงียบอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ และคงเงียบอีกนาน ถ้าคุณ บุญเตือน ศรีวรพจน์ จากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ไม่พบหลักฐานชิ้นนี้

เพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตปฏิสังขรณ์ วัดอไภยทาราม จึงเป็นเอกสารสำคัญที่บ่งบอกถึงบุญบารมีของเจ้าฟ้าเหม็น ในฐานะพระเจ้าหลานเธอ”องค์โปรด” ที่ไกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นมากกว่า “เจ้าฟ้านอกพงศาวดาร” ที่เอกสารกล่าวถึงพระประวัติ รวมกับสำนวนคดีที่เป็นกบฎอยู่เพียงน้อยนิดในพระราชพงสาวดาร

และกว่าสองทศวรรษที่บุญบารมีของเจ้าฟ้าเหม็นทรงสร้าง ถูกยกให้เป็นของผู้อื่น.......?

“วัดอภัยทายาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดมะกอก” ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕ ตรอกวัดมะกอก ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๗๒ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือติดกับคลองสามเสน ทิศใต้ติดกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทิศตะวันออกติดกับชุมชนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทิศตะวันตกติกับโรงพยาบาลพระมงกุฎ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ ผู้สร้างวัดคือ สมเด็จพระขัตติยาภาคีกรมขุน หมายถึง พระราชนัดดาองค์สำคัญ เดิมมีนามว่า”ทองอิน” แล้วได้เป็นพระยาสุริยอภัยและได้การรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าทองอิน ต่อมาได้ทรงกรมเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ ๑

วัดอภัยทายารามได้รับพระราชทานพระวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๒.๖๔ เมตร โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีด้วย”

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (โอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กรมพระราชวังหลัง ทรงเป็น “ตาอยู่” หรือ? กรมพระราชวังหลังมามีบทบาทเกี่ยวข้องกับวัดอภัยทายารามได้อย่างไร ที่อ้างมาทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากหนังสือ /ประวัติทั่วราชอาณาจักรเล่ม ๒ จัดพิมพ์เผยแพร่โดยกรมศาสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ทราบมาว่าทางกรมการศาสนาจะมีแบบฟอร์มส่งให้ทางวัดเป็นผู้กรอกข้อมูลและส่งกลับมายังกรมตามระบบราชการ ดังนั้นวัดจะต้องเขียนประวัติส่งให้กรมศาสนาจัดพิมพ์ดูจะเป็นข้อสังเกตที่ตั้งไว้เมื่อเกิดการสับสนสงสัยในประวัติการสถาปนาวัดอภัยทายาราม (หมายเหตู สับสนเพราะรู้ข้อมูลมากขึ้น)

ประเด็นข้อสงสัยคงจบไม่ต้องคิดมากถ้าท่านเจ้าอาวาสวัดอภัยทายาราม พระครูอภัยพิริยกิจ (บุญรอด ปิยวณ.โณ) อายุ ๙๑ ปี พรรษา ๖๐ มิได้บอกว่า “ประวัติวัดเอาข้อมูลมาจากไหนไม่ทราบ... ไม่เคยได้ยิน” แล้วประวัติวัดอภัยทายารามฉบับกรรมการศาสนาได้มาจากสำนักประวัติศาสตร์ใดแน่ กรมพระราชวังหลังถูกอ้างพระนามด้วยเหตใด หรือเจ้าฟ้าเหม็นจะถูกลืม?

อดสงสัยอยู่ไม่น้อยเหมือนกันว่าเจ้าเหม็นทรงตั้งพระทัยเช่นไรถึงทรงปฎิสังขรณ์วัดล้างปลายคลองสามเสน แต่เมื่อพิจรณาความเป็นมาของคลองสามเสนนี้เป็นคลองที่มีความเก่าแก่ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งวัดและชุมชนในคลองเนื่องจากมีการกล่าวถึงแล้วเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงปฎิสังขรณ์วัดเก่าสัยเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือ วัดโบสถ์สามเสน

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คลองสามเสนคงจะเป็นเส้นทางคมนาคมค้าขายที่สำคัญมากเส้นหนึ่ง เนื่องจากมีปรากฎชื่อคลองสามเสนอยู่ในแผนที่ของ John Crowford ที่เขียนขึ้นในราว พ.ศ. ๒๓๖๗ แสดงให้เห็นว่าตลอดลำคลองมีการตั้งถิ่นฐานมานานอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเกิดชุมชนใหม่ๆขึ้น เป็นระยะ ด้วยความยาตามระยะทางประมาณ ๑๒.๙๕ กิโลเมตรของคลองสามเสนทอดผ่ายหลายพื้นที่จากปากคลองในย่านสามเสนทางทิศเหนือของกรุงเทพ ฯ ไปสู่ทิศตะวันออกผ่านเขตพญาไท ไปบรรจบกับคลองแสนแสบในเขตห้วยขวาง ได้พบว่ามีวัดตั้งอยู่เป็นระยะทั้งสองฝั่งตลอดถึง ๘ วัด เรียงลำดับตั้งแต่ปากคลองติดแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงเขตห้วยขวางมีดังนี้

๑ วัดประสาทบุญญาวาส (วัดขวิด)ตามประวัติดังกล่าวตั้งขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๖

๒ วัดโบสถ์สามเสน สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. ๒๒๕๑

๓ วัดอัมพวัน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๕

๔ วัดสุคันธาราม (วัดใหม่) สร้างในสมัยรัชกาลที่๕ ราว พ.ศ. ๒๔๕๐

๕ วัดจอมสุดาราม (วัดพรายงาม หรือวัดไทรงาม) สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ราว ปีพ.ศ.

๒๓๙๐

๖ วัดอภัยทายาราม (วัดมะกอก) สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐

๗ วัดทัศนารุณสุนทริการาม (วัดสะพาน หรือวัด ตะพาน) สร้างในสมัยกรุงธนบุรีประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๒๐

๘ วัดป่า ตั้งห่าจากวัดจอมสุดา และวัดอภัยทายาราม แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏแล้ว

วัดทั้งหมดเป็นวัดราษฎร์ มีลักษณะเป็นวัดของชุมชน

เนื่องจากตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนราษฎร ในส่วนของอายุสมัยหากเชื่อว่าวัดทั้งหมดถูกตั้งขึนตรงตามปีที่ระบุข้างต้นจริง แสดงว่ามีวัดและชุมชนในคลองแถบนี้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเมื่อตั้งกรุงธนบุรี สืบเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้มีการสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวเฉพาะรูปแบบศิลปกรรมวัดอภัยทายารามส่วนใหญ่จะได้รับการซ่อมขึ้นใหม่จนแทบไม่เหลือเคล้าเดิม โดยพระอุโบสถถที่สร้างใหม่บนฐานอุโบสถหลังเก่า ตั้งแต่ สมัย พ.ศ. ๒๔๘๙ มีรายนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างอุโบสถมากราย เฉพาะรายสำคัญคือคณะรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

พระครูอภัยพิริยกิจท่านบอกว่าทางวัดอภัยทายารามมีจารึกลายรดน้ำเขียนตัวอักษรโบราณบนแผ่นไม้สักขนาดใหญ่ บอกถึงประวัติการสร้างและฉลองวัด ซึ่งได้ย้ายมาจากผนังอุโบสถหลังเก่าด้านในตรงกับพระพุทธรูปประธาน ถออดออกมาติดไว้

ยังผนังด้านทิศตะวันตกของพระอุสถหลังใหม่ใกล้องค์พระประธาน

แผ่นไม้สักโบราณจารึกเขียนลายรดน้ำแผ่นนี้สำคัญมาก เมื่อพิจรณาจากข้อความที่จารึก คือ “เพลงยาวเจ้าฟ้า กรมขุนกระษัตรานุชิตปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม” ฉบับสมบูรณ์ข้อมูลเดียวกัน ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกคำกลอนกับที่คุณ บุญเตือน ศรีวรพจน์ ถอดความจากสมุดไทย

อุโบสถหลังเก่าท่านพระครูอภัยพิริยกิจ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเล่าว่า

“ อุโบสถหลังเก่าไม่เป็นอุโบสถที่เป็นหลังคาซ้อนชั้นแบบหลังคาอุโบสถหลังใหม่ มีหลังคาพาไลทั้งด้านหน้าหลัง ลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งหน้าบันจำมาได้ว่าป็นอย่างไร ภายในอุโบสถเขียนรูปพนมเต็มทั้งผืน บานหน้าต่างด้านในเขียนสีเป็นภาพกอบัวหลากสีด้านนอกเขียนลายรดน้ำ ส่วนบานประตูเขียน ลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง

ช่วงที่จะก่ออุโบสถใหม่ท่านอาจารย์ (อดีตเจ้าอาวาสวัดอภัยทาราม พระครูอภัยพิริยกิจ( (แม้น โฆสิโต) พ.ศ.๒๔๗๗-๒๕๑๗ บอกว่าจะเปลี่ยนบานประตูเป็นการสลักไม้แทน แต่อาตมาเรียนท่านว่าลายรดน้ำรูปเซี่ยวกางเปฟ็นมงคลอยู่แล้ว และดูแลรักษาง่ายกว่าไม้สลัก ท่านอาจารย์เห็นด้วย จึงให้ช่างซ่อมแซมตายลายเซี่ยวกาง เดิม ส่วนพระพุทธรูปประธานเป็นของเก่าแก่ตังแต่สร้างวัด

ประตูพระอุโบสถหลังเก่าแต่เดิมมีเพียง ๓ ประตูคือ ด้นหน้าอุโบสถที่หันหน้าออกไปทางทิศเหนือริมคลองสามเสน มี ๒ ประตู ส่วนด้านหลังมีเพียงประตูเดียว ตรงกลางผนังหลังองค์พระพุทธรูปประธาน ประตูหน้าต่างได้ถออดของเก่าออกมาซ่อม เขียนลายรดน้ำใหม่ตามเดิม ทำเพิ่มเพียงประตูอีกสองบาน

ใบเสมาทั้งแปดทิศเป็นของเก่า ทำเพียงฐานขึ้นมาใหม่ แทนฐานเก่าที่ปูนหมดสภาพ เจดีประจำมุมก็บูรณะให้ดีขึ้น อุโบสถหลังใหม่นั้นสร้างบนตัวฐานเดิมของอุโบสถหลังเก่าที่ทรุดโทรมลงมากแล้ว โดยก่อนจะสร้างอุโบสถหลังใหม่ได้มีการบูรณะอุโบสถหลังเก่ามาแล้วหลายครั้ง”

หลวงพ่อเจ้าอาวาสยังเล่าประวัติวัดสืบต่อกันมาต่อจากคนรุ่นปู่ของท่านว่า “สมัยรัชกาลที่๕ วัดอภัยฯ มีพระอยู่องค์เดียว คือ หลวงตาแสง รัชกาลที่ ๕ เสด็จมาเป็นการส่วนพระองค์ มาขึ้นเรือที่ท่าน้ำวัด หลวงตาแสงก็ไปรับเสด็จพระองค์ท่าน พระองค์ท่านก็ถามว่ามีอยู่กี่องค์ ทูลว่ามีองค์เดียว ท่านก็เลยตรัสว่า “อยู่วัด รักษาวัดไว้นะ” และประธานราชทรัพย์ให้ ๖๐ บาท” ความนี้อาจจะเป็นเรื่องจริงในรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประพาสคลองสามเสนในปี พ.ศ.๒๔๔๒

มีอีกเหตุการสำคัญจากคำที่ไม่มีบันทึกไว้ และอาจเป็นจุดเปลี่ยนของวัดอภัยทายารามในสมัยรัชกาลที่ ๖ คือ “ช่วงนั้นรัชกาลที่๖ ทรงขยายวังพญาไทให้ใหญ่ขึ้นทราว่ามีเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ (เป็นเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ ๗และใครอีกจำไม่ได้มาดูพื้นที่วัด และเห็นตัวหนังสือในอุโบสถ ก็เลยไปทูลรัชกาลที่ ๖ ท่านก็บอกว่าที่เรามีเยะแยะไม่เป็นไร ก็เลยไม่ได้มีการผาติกรรม”

ส่วนชื่อวัดอภัยทายารามที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดมะกอก หลวงพ่อว่าอาจมาจากบริเวรนี้ในอดีตมีต้นมะกอกอยู่มาก คงเป็นดอนมะกอก เมื่อหลวงพ่อเป็นเด็กยังคงว่ายน้ำเล่นในคลองสามเสนกับเพื่อน ริมคลองกจะมีต้นมะกอกน้ำขึ้นอยู่เยอะ พอผลสุขก็จะตกลงน้ำว่ายเก็บกันสนุกสนาน แต่เดี่ยวนี้ไม่มีต้นมะกอกแล้ว

คำบอกเล่าของพระครูอภัยพิริยกิจ ประเด็นที่สำคัญคือ ประวัติการสร้างวัดอภัยทายารามที่ผู้เฒ่าผู้แก่แถววัดเล่าสืบต่อกันมา “วัดนี้สร้างขึ้นโดยพระโอรสพระเจ้าตาก นามเจ้าฟ้าอภัย มีเรื่องเล่าแต่ไม่ปรากฏชัด เจ้าฟ้าอภัยเคยคิดจะชิงเมืองพระเจ้าแผ่นดิน คือ รัชกาลที่ ๑ ถึงสองครั้ง เพราะว่าตอนนั้นข้าราชบริวารพระเจ้าตากมีอยู่มาก ครั้งแรกประชุมลี้พลปรึกษาหารือกันแต่ก็ไม่ได้คิดการอะไร ครั้งที่สองทราบถึงรัชการที่ ๑ ก็ไม่ได้ทรงใช้กำลังประหัตประหารแต่อย่างไร เพราะคนโบราณเชื่อว่าลูกเพื่อนก็เหมือนลูกเรา เจ้าฟ้าอภัยขอลุแก่โทษได้มาสร้างวัดนี้ถวาย รัชกาลที่ ๑ พระราชทานชื่อวัดว่า วัดอภัยทามริการาม แปลว่าอภัยให้กับวงศ์อริราชศรตรู เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นวัด อภัยทายาราม สมัย จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งหมายถึงอภัยให้กับวงศ์ญาติ”

น่าสนใจมากว่าหลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านก็มิได้ทราบ เรื่องราวเกี่ยวกับกบฏเจ้าฟ้าเหม็น แต่ทำไมท่านเล่าได้เหมือนกับเป็นจริง เห็นภาพที่ขาดหายไปในหน้าประวัติศาสตร์ที่คงต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ และเรียกร้องความชัดเจนแม้เป็นเพียงประวัติศาสตร์บอกเล่า หรือจะปล่อยให้ผ่านเลยไปเป็นเพียงอนุสรณ์สถาน “เจ้าฟ้าเหม็นที่ถูกลืม”

 

เพลงยาว “อนุสรณ์สถาน” เจ้าฟ้าเหม็น

เจ้าฟ้าเหม็นหรือเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติแต่พระมารดาซึ่งเป็นพระธิดาของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อปีกุน พุธศักราช ๒๓๒๒ ครั้นสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้เปลี่ยนเป็นเจ้าฟ้าอไภยธิเบศ เมื่อพุธศักราช ๒๓๒๖ แล้วสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เมื่อพุธศักราช ๒๓๕๐ และถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ในข้อหากบฎ เมื่อพุธศักราช ๒๓๕๒ หลังจากรัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคตเพียง ๗ วัน

เจ้าฟ้าเหม็นเป็นพระราชนัดดา “องค์โปรด” ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ดังจะเห็นได้จากคราวที่สถาปนาเป็น “ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุน” เมื่อพุธศักราช ๒๕๕๐ โปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระนามลงในสุพรรณบัฎใช้แผ่นทองคำที่มีน้ำหนักมากกว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอองค์อื่นๆ ทั้งเป็นทองเนื้อ ๘ เสมอด้วยสุพรรณบัฎของกรมพระราชวังบวรฯ การใช้เนื้อทองที่ต่างกันจารึกพระนามนั้น เป็นการแบ่งชนชั้นของเจ้านายที่ได้รับการสถาปนาอย่างชัดเจน กระนั้นเรื่องราวของเจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์พระองค์นี้ก็ได้หาว่าปรากฎในพงศาวดารและเอกสารต่าง ๆ มากนัก แม้อนุสรณ์สถานที่พระองค์ได้สถาปนาไว้จะมีอยู่ แต่กลับไม่มีใครรู้จัก และอนุสรณ์สถานแห่งนั้นย่อมมีส่วนในการสิ้นบุญวาสนาของพระองค์ด้วย

เอกสารที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกิจสำคัญของเจ้าฟ้าเหม็นที่จะเสนอในข้อเขียนนี้คือ เพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตปฏิสังขรณ์วัดอไภทาราม ต้นฉบับเรื่องนี้เป็นเอกสารสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร แต่งเป็นเพลงยาว ๑๘๙ คำกลอน เนื้อหาว่าด้วย กรมขุนกระษัตรานุชิตทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม ปลายคลองสามเสน เมื่อจุลศักราช ๑๑๖๐ (พุทธศักราช ๒๓๔๑ ) ใช้เวลาก่อสร้างอยู่นานถึง ๘ ปี จึงสำเร็จและมีการฉลองกันอย่างมโหราฬในจุลศักราช ๑๑๖๘ (พุทธศักราช ๒๓๔๙ ) เพลงยาวดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงผู้แต่ง และปีที่แต่ง เริ่มต้นว่า

สุริย์วารอาสุชมาสี

กาฬปักษ์ทวาทัศมี

ปีมะเมียสัมฤทธิศกประมาณ

สมเด็จพระขัตติยาภากรมขุน

กระษัตรานุชิตสุนทรไพศาล

ประฌามน้อมอัญชลิตกฤษดาญ

ถวายกฐินทานสงฆ์สังวรครอง

ในอารามที่ปลายซองคลองสามเสน

เห็นบริเวณเป็นแขมคาป่าร่องหนอง

ไม่รุ่งเรืองงามสง่าด้วยแก้วทอง

ไร้วิหารห้องน้อยหนึ่งมุงคา

คำประพันธ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า แต่งขึ้นตั้งแต่หลังจากที่เจ้าฟ้าเหม็นได้ “ทรงกรม” แล้ว ในที่นี้สันนษฐานว่าข้าในพระองค์ผู้ใดผู้หนึ่งแต่งขึ้นเฉลิมพระเกีรยติที่คราวที่ได้ “ทรงกรม” ลีลากลอนเป็นปรากฏข้อนข้างอิสระ คล้ายกับกลอนในสมัยรัชกาลที่ ๑ เรื่องอื่น ๆ เช่น เพลงยาวพระราชนิพนธ์และนิพานวังหน้า สาระในคำประพันธ์ข้างต้นนั้นสรุปได้ว่า “เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินที่วัดปลายคลองสามเสน เมื่อ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๖๐ “และเสด็จฯทรงก่อฤกษ์อุโบสถในเดือนยี่ ปีเดียวกัน

เสนาสนะที่ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาขึ้นใหม่ประกอบด้วย อุโบสถก่ออิฐถือปูน เครื่องบนทำเป็นรูปพรหมพักตร์แท่นช่อฟ้า เทพพนมแทนหางหงส์ หน้าบันรูปนกยูง บานประตูเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยงกาง ผนังเขียนจิตกรรมลายก้านแย่ง พระประธานนั่งสมาธิมีพระอัครสาวกซ้ายขวา กำแพงแก้วมีประตู ๔ ด้าน ตรงมุมเจดีย์ด้านละองค์ ด้านทิศใต้ของอุโบสถมีเจดีย์ใหญ่ นอกกำแพงแก้วมีศาลาท่าน้ำ ๒ หลัง หอไตร กุฎีสงฆ์ หอระฆังและเสนาสนะต่างๆ ครบบริบูรณ์ ตัวอย่างความในเพลงยาวที่กล่าวถึงอุโบสถ เช่น

สัณฐานทรงทรงสร้างเป็นอย่างตึก

สูงพิฦกลอยน้ำประจำสนาม

แท่นช่อฟ้าหน้าพรหมจำรัสงาม

ตามลำยองทองทาบกระจังเรียง

ต่างเศียรนาคนั้นเทพพนมหัตถ์

โฉมสวัสดิ์ดังจะหยัดแย้มเสียง

ทรงสร้อยเทริดสังวาลวรรณกรรเจียกเคียง

รัดเอวเรียงสายรัตน์วไลกร

“ขอเป็นพระชนะเป็นมารได้บัลลังก์” หมายถึง ขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งตามคติไทยถือว่าผู้ที่อยู่ในสถานะดังกล่าวมีแต่ในพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น เหตุนี้กระมังเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๑ เจ้าฟ้าเหม็นจึงถึงกาลอวสาน

ถึงจุลศักราช ๑๑๖๓ ( พุทธศักราช ๒๓๔๔) ตัวอุโบสถเสร็จแล้ว อยู่ในการก่อส้างเสนาสนะอื่น ๆ พระบาทสมเด็จพระพทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จ ฯ ผุกพัทธสีมา ด้วยกระบวนพพยุหยาตราทางชลมารค

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสององค์

ผู้ทรงธรรม์อันสถิตมหาสถาน

ก็เสด็จด้วยราชบริพาร

กระบวนธารชลมารคมหึมา

ถึงประทับพลับพลาอาวาสวัด

ดำรัสการที่จะสืบพระศาสนา

สะท้านเสียงดุริยสัทโกลา

กาหลดดนตรีประโคมไชย

การก่อสร้างทุกอย่างสำเร็จบริบูรณ์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๑๖๘ (พุทธศักราช ๒๓๔๙) ขนานนามว่าวัดอไภยทาราม ตามพระนามของผู้ทรงสถาปนา เจ้าฟ้าอไภธิเบศ จัดงานฉลองอารามอย่างยิ่งใหญ่

พันร้อยหกสิบแปดปีขาล

กำหนดกาลกิจฉลองเสร็จประสงค์

คู่นาวีศรีแย่งสุวรรณผจง

จงกลทรงพู่ผ้าหน้าดาวทอง

ฝีพายสวมเสื้อหมวกศรีสักหลาด

ลำพาหนาสน์พระที่นั่งนั้นทั้งสอง

บรรทุกบาตรแลกาสาผ้าไตรครอง

เรือพายชักชักประคองสองคู่เคียง

ฝ่ายหน้าข้าราชการในกรมแห่

พร้อมกลองแตรปี่พาทย์หวาดหวั่นเสียง

เรือนางเหล่ามโหรีมี่สำเนียง

ขับเรียงลำตามไปในหลังชล

กระบวนแห่คราวนั้นใช้คนถึง ๒.๐๐๐ นิมนต์พระสงฆ์มาร่วมงาน ๑.๗๐๐ รูป ประกาศพระบารมีว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่น่าจับตามอง มีงานฉลลอง ๗ วัน ๗ คืน ตั้งศาลาทาน ๑๐ แห่ง บริจาคยาจกวณิพกถ้วนหน้า มหรสพกลางคืนประกอบด้วยละครในเล่นเรื่องอิเหนา หนัง ๒ โรง หุ่น ๒ โรง นอนหอกนอนดาบ โตล่อแก้ว หกคะเน ไต่ลวด เล่นเพลง จุดดอกไม่เพลิงนานาชนิด

แต่คืนวันที่หนึ่งถึงที่เจ็ด

แม้นเอาเพชรขึ้นไปปรายรายเวหา

แสนทะนานก็ไม่ปานแสงไม้ระทา

พลุลั่นเลื่อนลอยฟ้าแลเลือนดาว

จะเห็นได้ว่ามหรสพต่างๆ ในงานสมโภชเป็นของหลวงทั้งหมด แสดงบารมีของผู้เป็นเจ้าของงาน ซึ่งอยู่ในฐานะของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ “ องค์โปรด” มหรสพกลางวัน มีละครในเล่นเรื่องอิเหนา มีมวยทั้งชายและหญิง ประทานรางวัลอย่างไม่อั้น

ทิ้งรางวัลแล้วร้องเรียกมวยผู้หญิง

ดูขันจริงทำแสยะแบะแบอย่าง

เอาหมัดสั้นตีถองถูกปากคาง

เลือดไม่แดงเหมือนน้ำฝางอย่างมือชาย

กอดคอฟัดสลัดล้มลงทั้งคู่

ผ้าบังอยู่จึงไม่เห็นเป็นเบี้ยหงาย

ถึงให้ทองก็ควรที่มิเสียดาย

จึงเรียกเงินท้ายที่นั่งให้รางวัล

วันสุดท้ายตั้งบายศรีเงิน บายศรีทอง บายศรีแก้ว เวียนเทียนสมโภชรอบพระอุโบสถ ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนับตั้งแต่สร้างกรุง ถ้าไม่นับงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ หลังจากสมโภชวัดอไภทารามแล้ว ปีต่อมา รัชกาลที่ ๑ ก็โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าฟ้าอไภยธิเบศเป็น “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต”

ตอนสุดท้ายของเพลงยาวสมโภชวัดอไภยทาราม ผู้ประพันธ์ทิ้งปริศนาไว้น่าคิดคือ

เมื่อฉลองมีเทศน์ยี่สิบแปดกัณฑ์

เลี้ยงพระสงฆ์พันเจ็ดสิบสาม

เงินร้อยสามสิบชั่งสิ้นพองาม

แจกจำหน่ายตามอย่างบัญชี

คิดทั้งสร้างแลฉลองเข้ากันเสร็จ

เป็นเงินร้อยเก้าสิบเบ็ดช่าง

ขอเป็นพระชนะเป็นัมารได้บัลลังก์

จะนำสัตว์ไปยังนิพพานเอย ฯ

“ขอเป็นพระชนะเป็นมารได้บัลลังก์ “ หมายถึงขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งตามคติไทยถือว่า ผู้ที่อยู่ในสถานะดังกล่าวมีแต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น เหตุนี้กระมังเมื่อสิ้นรัชการที่ ๑ เจ้าฟ้าเหม็นจึงถึงกาลอวสาน

(โดย นาย ฑีพัตรยศ สุดลาภา teapatyost341455@hotmail.com



ผู้ตั้งกระทู้ ฑีพัตรยศ สุดลาภา บ้านโป่ง :: วันที่ลงประกาศ 2008-03-28 20:15:16


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1142787)

ขอบคุณครับที่ได้นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน พระราชประวัติของพระ

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้เฒ่า วันที่ตอบ 2008-03-30 18:35:47


ความคิดเห็นที่ 2 (1142796)
ขอบคุณครับที่ได้นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน พระราชประวัติของพระเจ้าตากสินมหาราชยังมีข้อมูลการศึกษา ค้นคว้า พิมพ์เผยแพร่ออกมาน่าสนใจมาก
ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้เฒ่า วันที่ตอบ 2008-03-30 18:37:32


ความคิดเห็นที่ 3 (1477199)

เป็นสิ่งที่ดีมากที่ได้มีความรู้เพิ่มในเรื่องของประวัติและกลอนที่ไพเราะในอดีต

ผู้แสดงความคิดเห็น คนชอบอ่าน วันที่ตอบ 2008-05-07 15:10:59


ความคิดเห็นที่ 4 (2030203)

ยังไม่เข้าใจครับ เพราะเหตุใดทำไมจึงสิ้พระชนม์

ผู้แสดงความคิดเห็น นักประวัติยังเยาว์ วันที่ตอบ 2010-01-31 15:36:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.