ReadyPlanet.com


ล้วงลึกเจาะใจ(ว่าที่)ซีไรต์


 
มติชน/วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10738

ล้วงลึกเจาะใจ(ว่าที่)ซีไรต์




สัปดาห์ที่แล้ว เราได้ล้วงลึกเจาะใจ (ว่าที่) กวีซีไรต์ไปแล้ว 3 ท่าน และในวันนี้ถึงคราของกวีอีก 4 ท่านที่จะมาเปิดเผยตัวตนให้ได้เห็น โดยขอเรียงตามลำดับอาวุโสก็แล้วกัน

คนแรกเริ่มที่น้องเล็กสุดอย่างอุเทน มหามิตร จะว่าไปแล้วอุเทนก็ไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวงวรรณกรรมซะทีเดียว เพราะเคยตีพิมพ์ผลงานรวมเรื่องสั้น ภวาภพ หนังสือเด็ก คือ นิทานอิสระ และยังเคยได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทกวีนิพนธ์จากผลงาน ใกล้กาลนาน ในมหกรรมหนังสือทำมือ ซึ่งจัดโดยเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย

และในวันนี้อุเทนก็ได้ก้าวสู่รอบสุดท้ายของสนามใหญ่ ด้วยกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ ในรูปเล่มของหนังสือทำมืออย่าง ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์

อาจเป็นเพราะอุเทนเรียนจบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานของอุเทนจึงมีกลิ่นอายของพู่กันและแปรงสีระบัดระบายให้เห็นถึงจินตภาพอันงดงาม ซึ่งอุเทนมองว่าเป็นความปกติระหว่างภาพและภาษา

"อะไรที่ขุดจากจิตนาการมากๆ จะสื่อสารยาก ผมเลยเขียนที่มาที่ไปของงานแต่ละชิ้น คล้ายๆ สเก๊ตช์ภาพก่อนลงเฟรม ก็ยังเป็นภาษาหวือหวาผสมกระท่อนกระแท่นแบบของผมอยู่ดี แต่สถานการณ์ดีขึ้นนะครับ โดยเฉพาะลำดับขั้นการเล่าจากต้นไปจนถึงตอนจบ การหมุนเวียนของจินตนาการก็ไหลคล่องขึ้น

พอเรียนจบก็เริ่มอ่านวรรณกรรมมากขึ้น และพบวิชาองค์ประกอบศิลป์ที่พูดถึงทัศนธาตุทางศิลปะ กับองค์ประกอบทางวรรณกรรมอย่างการเดินเรื่อง มันไม่ต่างกันเลย ผมเริ่มเห็นจุดเชื่อมที่ร้อยเกี่ยวระหว่างกันมากขึ้น ไม่รู้สึกยากอีกแล้ว"

หนังสือทำมือของอุเทนนอกจากจะโดดเด่นในภาษาและเนื้อหาแล้ว รูปเล่มของเขายังแสดงให้เห็นถึงความตั้งอกตั้งใจ และประณีตในทุกความรู้สึก อุเทนเล่าว่า ถึงแม้เขาจะมีงานกวีนิพนธ์ออกมาหลายเล่ม แต่ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักในแวดวงกว้างมากนัก เพราะจะทำมือออกมาครั้งละประมาณ 20-30 เล่ม

"ยื่นเสนอสำนักพิมพ์ก็จะถูกปฏิเสธอย่างสุภาพทุกที อาจเพราะเป็นงานประเภทกวีนิพนธ์ และผมก็ไม่ค่อยรู้จักใครด้วย เขียนมาได้หลายเล่มแล้วผมก็เลย เอาวะ! จะส่งงานเข้าประกวดเหมือนชาวบ้านทำกันจริงๆ ก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เรื่องประกวด ไม่รู้เขาเอาอะไรมาชี้วัดนอกจากรสนิยมของกรรมการ ก็เริ่มต้นที่งานอินดี้บุ๊ค"

ในสายตาของอุเทนแล้ว เขามองว่า สนามกวีในปัจจุบันช่างน้อยยิ่งนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรื่องสั้น อุเทนเสนอว่าควรเปิดพื้นที่ที่มั่นคงเป็นหลักแหล่งให้กวีนิพนธ์บ้างก็น่าจะดี

ด้านกวีที่ดูแล้ว (แอบ) โหด แต่ที่จริงจิตใจอ่อนโยนอ่อนไหว อย่างอังคาร จันทาทิพย์ ระยะเวลากว่า 15 ปีบนเส้นทางสายกวี ได้หล่อหลอมและเคี่ยวกรำให้อังคารถูกจับตามองในฐานะมือโคลงสมัยใหม่ ที่สามารถนำขนบฉันทลักษณ์ที่เข้มขรึมขลังอย่างโคลง มาผสานกับแนวคิดและมุมมองร่วมสมัยในโลกยุคใหม่ได้อย่างลงตัว

และในวันนี้กวีนิพนธ์เล่มที่ 3 ของเขา ที่ที่เรายืนอยู่ ก็ได้ไปยืนในรอบสุดท้ายของซีไรต์

"ในแง่ของการเขียนโคลงก็หมายถึงการท้าทายเหมือนกัน ท้าทายฝีมือของตัวเอง ท้าทายกับงานของรุ่นเก่าว่าเราทำได้ถึงไหม เพราะเราติดใจจังหวะจะโคนของมัน แต่เราหนีงานขนบภาษาโครงสร้างแบบเดิม ให้มันสดใหม่แปลก" อังคารกล่าวยิ้มๆ ตามสไตล์

อังคารมองว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่เคยเป็นเรื่องราวของเทพเจ้าหรือสิ่งสูงส่ง แต่ปัจจุบันความศักดิ์สิทธิ์คือความธรรมดาของมนุษย์

"กวีนิพนธ์ตอนนี้ คือเอาภาพของคนทั่วไปตามท้องถนนไปนำเสนอ เพราะงั้นความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตคือความท้อระทมสะเทือนใจ ในแง่ของความเป็นมนุษย์ เป็นมา 10 กว่าปีแล้ว เหมือนกับพยายามเอาลงจากความยากมานานแล้ว ด้วยการเอาเรื่องธรรมดาสามัญใส่เข้าไป แต่กรอบของฉันทลักษณ์อยู่ที่ว่าใครจะใช้ ใครจะดิ้น ใครจะสรรหานี่คือจุดเด่นที่พอที่จะบอกได้ว่าใครนำเสนอได้ดีกว่ากัน"

ถึงหลายคนจะมองว่าระยะเวลา 15 ปีกับงาน 3 เล่มดูจะน้อยไปสักนิดนั้น แต่เจ้าตัวก็ขอยืนยันว่า งานทั้ง 3 เล่มคือความพอดี เพราะทุกเล่มได้ผ่านการเคี่ยวกรำกลั่นกรองอย่างเต็มที่แล้ว ถึงจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างแต่ก็ไม่เคยมั่วซั่วในการนำเสนอ ซึ่งกรณีนี้นั่นอังคารมองว่า สามารถโยงเกี่ยวกับรางวัลซีไรต์ได้เป็นอย่างดี

"เราไม่ได้มีวิธีคิดแบบจ้องฟันซีไรต์ เป็นจังหวะเวลาของมัน ถ้า 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ชิ้นงานที่พอดีก็ไม่พิมพ์ ไม่อยากพิมพ์งานเพื่อซีไรต์อย่างเดียว มันดูสาธารณ์เกินไป ในกรณีนี้สามารถเป็นคำถามได้ว่าถ้างานคุณไม่ชัวร์ คุณพิมพ์ออกมาทำไม อย่าเผางานเพราะมันไม่ให้ประโยชน์กับใครเลย"

ในปีนี้มีข้อสังเกตหนึ่งคือกวีที่เข้ารอบจะเป็นกวีรุ่นหนุ่มทั้งหมด ซึ่งต่างจากที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เล็กๆ น้อยๆ ตามมานั้น อังคารบอกกับเราว่า เขาเองก็งงเหมือนกันว่าจะซีเรียสกันไปทำไม

"เราเข้าใจว่าระยะเวลาของการทำงานอาจไม่ได้สอนใครให้ฉลาดขึ้น หรือโง่ลง ประเด็นที่สำคัญคือเนื้องาน ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นชิ้นงานของคนหนุ่มจะปราศจากความสง่างาม ต้องถามต่อว่า คนหนุ่มกลุ่มนี้เขามีระยะเวลาของการทำงานพอสมควร มีความต่อเนื่อง และมีคุณภาพพอสมควรหรือเปล่า" อังคารย้อนถามกลับมา

ด้านกวีหนุ่มที่เพิ่งจะได้รับรางวัลศิลปาธรสดๆ ร้อนๆ ในปีนี้ ศิริวร แก้วกาญจน์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คอซีไรต์คุ้นหน้าคุ้นชื่อกันดี กับการสร้างสถิติใหม่ในเข้ารอบซีไรต์ 5 เล่ม ใน 4 ครั้งติดต่อกัน! และครั้งนี้เขาได้พาผลงานอันเป็นที่รัก 2 เล่มที่แตกต่างเข้ารอบพร้อมกันคือ เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก ซึ่งเป็นกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ และลงเรือมาเมื่อวาน

ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีซีไรต์ในครั้งนี้ ที่มีบางประเด็นพุ่งเป้ามาที่ตัวเขาโดยตรงว่าทำไมถึงเข้ารอบ 2 เล่มนั้น ศิริวรมองว่า

"การเข้ารอบไม่เข้ารอบมันขึ้นอยู่กับกรรมการ ผมมองว่า มันไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นช่วงจังหวะพอดีที่ในรอบสามปีนี้ผมมีบทกวีอยู่สองสามเล่ม ซึ่งเป็นการออกผลงานตามปกติของผม บังเอิญว่าสองเล่มที่เข้ารอบนี้ ผมนึกสนุกอยากจะส่งซีไรต์ ผมก็เลยส่ง"

ศิรวรเห็นว่า ถ้าตัดสินใจจะกระโจนเข้าสู่สนามแล้ว จะต้องยอมรับและเคารพกติกาให้ได้ แม้ว่าใน 4 ปีหลังนี้เขาจะมีงานส่งทุกปีในทุกประเภท แต่ศิริวรก็ยืนยันว่าไม่ใช่การเร่งผลิตงาน ทว่า เป็นช่วงจังหวะเวลาที่พอดี

"ใครที่ว่านี่ถ้าไม่มีอคติอื่นลองเช็คเวลาทำงานได้เลยว่าเราทำงานเดือน 2 เดือนเพื่อรวมเล่มหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วเวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยนะ คุณจะเขียนในเดือนเดียวก็ได้ ถ้าคุณมีศักยภาพเพียงพอ ระยะเวลาการทำงานไม่ได้บอกว่าคุณทำงานมา 10 ปีแล้วจะดีกว่าคนทำงาน 1 เดือนแล้วพิมพ์ แต่อย่างน้อยผมและเพื่อนๆ ผมไม่หยาบกับการทำงานของตัวเอง"

ส่วนข้อสังเกตที่ว่ากวีนิพนธ์ในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดนั้น ศิริวรพยักหน้าเห็นด้วยทันที และเล่าว่า

"เมื่อก่อนเชื่อกันว่ากวีนิพนธ์เป็นแหล่งรวมของคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ ระยะเวลายาวนานหลายศตวรรษก็ยิ่งทำให้กวีนิพนธ์ยิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราก็เชื่อกันต่อมาว่ากวีนิพนธ์ต้องอยู่บนหิ้งบูชาแตะต้องไม่ได้ ทรรศนะอย่างนี้จะทำให้คนทั่วไปรู้สึกเกรงกลัวกับการปรากฏขึ้นของกวีนิพนธ์

เพราะฉะนั้น เมื่อวันหนึ่งสังคมมันเปลี่ยน ยุคสมัยรายละเอียดเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องพึมพำบทกลอนศักดิ์สิทธิ์เพื่อติดต่อกับเทพอีกแล้ว ความหมายตรงนี้จึงเคลื่อนเปลี่ยน กลายเป็นการสื่อสารความหมายกับคนร่วมสมัย กวีนิพนธ์จึงต้องรับใช้ตอบสนองยุคสมัยที่เปลี่ยนไป"

ความเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดแรงปะทะบางประการขึ้น ซึ่งศิริวรมองว่าเป็นเพราะการคลี่คลายจากขนบแบบเก่าเป็นการสั่นสะเทือนพื้นที่ความเชื่อเดิม ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี

"แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ ก็ย่อมปะทะกับสิ่งที่มีอยู่เดิมอยู่แล้วไง การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ถ้าไม่มีแรงปะทะต่างหากคือสิ่งที่ต้องวิตกกังวลว่าคืออะไร การปะทะคือสิ่งที่ดีมาก" ศิริวรกล่าวด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง

และเวทีประกวดนี้เอง ก็เป็นมาตราวัดการคลี่คลายหรือการเคลื่อนเปลี่ยนพัฒนาการ ของวรรณกรรมแต่ละยุคแต่ละสมัยว่า ออกจากมุมเดิมมากน้อยเพียงใด

"ประเด็นคือเชื่อว่าคนเขียนหนังสือ คงไม่กังวลเรื่องพวกนี้ เพราะเราต้องไปข้างหน้าอยู่แล้ว ใครจะเกาะกุมเรื่องขนบไม่ขนบ ก็เป็นเรื่องของปัจจเจก กลอนเปล่า ฉันทลักษณ์ ขนบไม่ขนบ ไม่ใช่ประเด็น มันอยู่ที่ว่าคุณมีมุมมองใหม่ๆ ที่จะมาบอกเล่าหรือเปล่าล่ะ"

ศิริวรมักจะถูกโจมตีด้วยเรื่องราวที่ไร้สาระในโลกไซเบอร์อยู่บ่อยครั้ง เมื่อมีชื่อของเขาปรากฏในการเข้ารอบรางวัลต่างๆ แล้วเป้านิ่งในที่สว่างอย่างเขารู้สึกอย่างไรกัน

"ไม่เป็นไร เรารู้ตัวว่าทำอะไรอยู่" เขากล่าวยิ้มๆ ก่อนที่จะอธิบายว่าเขาเจอแรงปะทะนี้ มาตั้งแต่เขาเพิ่งย่างเท้าเข้ามาในชุมชนวรรณกรรม เมื่อมาถึงวันนี้สิ่งที่ทำคือแยกแยะว่าการโจมตีนั้นมาด้วยกำลังหรือปัญญา

"ไม่แปลกที่คุณไปยืนอยู่กลางจัตุรัสหรือ 4 แยก คนจะมองเห็นมากกว่าตรงหลืบซอกมุม ผมจะเอาพละพลังตรงนี้มาแปรเป็นงาน พวกคุณๆ ทั้งหลายที่มารุมด่าโดยไม่ปรากฎตน ทำให้ผมรู้ว่าต้องค้นคว้าทำงานอีกมากมาย เปิดพื้นที่ให้ความรู้ของเรา"

ไม่ว่าปีนี้จะได้หรือไม่ได้ซีไรต์ ก็ไม่ใช่ปัญหาของศิริวร เพราะเขาไม่ได้ทำงานมุ่งหวังรางวัล แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธรางวัล เป้าหมายของเขาคือทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพัฒนางานต่อไป

ด้านกฤช เหลือลมัย พี่ใหญ่สุดที่พาผลงานซึ่งเคี่ยวกรำมานานอย่าง ปลายทางของเขาทั้งหลาย ซึ่งเป็นผลงานรวมเล่มเล่มแรกเข้ารอบมาได้ ก็มองสภาวะกวีในขณะนี้ว่า ไม่เคยหยุดนิ่งเหมือนที่หลายๆ คนคิด แต่กลับขยายกว้างมากขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในสื่อไซเบอร์

"มันกว้างขวางไพศาลมากๆ กว้างกว่าที่เขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยซ้ำ แถมยังหลากหลายกว่าสิ่งที่พวกผมเขียนสนุกด้วยนะ เขาเขียนโชว์เย็นนี้ก็มีคนแลกเปลี่ยนติชมกลับมามากมาย เป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่ผมไม่คุ้นนัก"

กฤชยังย้อนถามกลับมาด้วยว่าคนที่คิดว่ากวีตายแล้วนั้น จะต้องตอบให้ได้ว่าคำว่าตายคืออะไร ซึ่งในความเห็นของกฤชนั้น อาจจะถูกตีความในความหมายที่ผู้เขียนคาดไม่ถึงก็ได้ ซึ่งถือเป็นการตายเพื่อเกิดใหม่

"น่าจะดีด้วยซ้ำ เพราะถ้าคนอ่านไม่ตีความอะไรเลย บอกแต่ว่าพี่ๆ เขียนอะไรมาล่ะ ลองอธิบายให้ผมฟังหน่อยสิ ซึ่งตรงนั้นน่าเสียใจมากกว่า"

แต่ที่กฤชเข้าใจนั้น เขามองว่าคำว่าตายแล้วคือไม่มีปฏิกิริยาหรือไม่มีการตอบสนองต่อสังคม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้นั้น กฤชมองว่าสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรก คือตัวของผู้สร้างงานนั้นเอง

"ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่างานกวีนิพนธ์ต้องการความสามารถความรอบรู้ ความพินิจพิเคราะห์ในการอ่านสูงกว่าสื่ออื่นๆ พออ่านยากปั๊บ คนสนใจก็ต้องน้อยลง อีกข้อคือถ้าคนผลิตผลงานไม่สามารถผลิตงานที่ไปถึงและทันผู้อ่านได้ มีแนวโน้มที่จะวนเวียนกับขนบ การเล่าเรื่อง มุมมองแบบเดิมๆ มันก็จะตัน"

ส่วนที่ปีนี้มีกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์เข้ารอบถึง 2 เล่มนั้น กฤชมองว่าเป็นความหลากหลายของการแสดงออก ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่าฉันทลักษณ์เป็นเสมือนอาวุธต่างชนิดกัน และกลอนเปล่าก็เป็นอีกอาวุธที่ทรงพลังมาก

"ผมอยากเขียนกลอนเปล่าให้ดีๆ ด้วยซ้ำ แต่ก็ยังทำไม่ได้ กลอนเปล่ามีศักยภาพที่สูงมาก เคยอ่านบางบทแล้วอึ้งไปเลย"

และทั้ง 2 สัปดาห์ คือความในใจของว่าที่ซีไรต์ทั้ง 7 คน ส่วนใครที่จะก้าวสู่ชัยชนะในซีไรต์ครั้งนี้นั้น ช่วงบ่ายของวันที่ 28 สิงหาคมต้องรอลุ้นกันอีกที

หน้า 24


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-08-04 23:26:43


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.