ReadyPlanet.com


ดอกทอง


 http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao

นิราศกวางตุ้ง ซึ่งแต่งโดย พระยามหานุภาพ เมื่อครั้งเดินทางไปเมืองกวางโจว (กวางเจา) พ.ศ.2324 พระยามหานุภาพ พาดพิงถึง หลวงราไชย ว่าได้ติดโรคผู้หญิง (กามโรค) จากหญิงคณิกา จนต้องเก็บตัวไม่กล้าออกพบผู้ใด เนื้อหาในกลอนบทนั้นมี ความว่า

“ที่ภักดีโดยการก็งานเปลือง
ไม่ยักเยื้องกริยาเหมือน “ราไชย”
เมื่อท่านยุกรบัตรหาปรึกษาของ
ก็ปิดป้องโรคาไม่มาได้
เอาอาสัจที่วิบัตินั้นบอกไป
พะวงใจอยู่ด้วยรักข้างลักชม
อีดอกทองราวทองธรรมชาติ
พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม
เสน่หาส่าลมขึ้นเต็มตัว”

คำว่า "ดอกทอง" เป็นคำหยาบ ใช้ด่าว่าผู้หญิงที่มีพฤติกรรมสำส่อน นอนกับผู้ชายไม่เลือกหน้า แต่ถ้าผู้ชายทำพฤติกรรมแบบเดียวกันมักได้รับคำชมว่าเป็น "ชายชาตรี" คำว่า "ดอกทอง" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า: ดอกทอง น. หญิงใจง่ายในทางประเวณี (เป็นคำด่า). คำว่า ดอกทอง ภาษาบาลี ใช้ว่า สุวรรณมาลี แต่เมือพิเคราะห์ นาง "สุวรรณมาลี" ในเรื่องพระอภัยมณี ก็ไม่ได้มีพฤติกรรมดอกทอง

ธนเชษฐ์ วิสัยจร (อักษรศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ในนามปากกา เชษฐภัทร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อรรถาธิบาย คำว่า ดอกทอง ความว่า

ดอกทอง เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า คำว่า "หลกท่ง" แปลว่า แดงเหมือนเหล็กเผาไฟ/อวัยวะเพศร้อน ก็ว่า ใช้บริภาษลูกสาวหรือหลานสาวที่แสดงกิริยาม้าดีดกะโหลก ซึ่งก็มีทั้งด่าแบบเอ็นดูตามแบบคนจีน และด่าแบบเอาจริงเอาจัง

เกวลิน วรุณโสภณ นักวิชาการศึกษา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ (คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ให้ทรรศนะที่ขัดแย้งว่า คำว่า หลกท่ง น่าจะเป็นคำทับศัพท์ที่คนจีนแต้จิ๋วยืมไปจากไทยคำว่า "ดอกทอง" หากแปลกลับเป็นภาษาจีน จะได้คำว่า "กิมฮวย ซึ่งจะไม่ได้มีความหมายเป็นคำด่า แต่หมายถึง "ดอกไม้สีทอง หรือ ดอกไม้ทองคำ" ดังนั้น คำ "ดอกทอง" นี้จึงอยู่เฉพาะบริบทสังคมไทย-จีนแต้จิ๋วเท่านั้น

ทว่า เมื่อพูดถึงดอกทอง ข้าพเจ้านึกถึงทรรศนะของ รศ. ยุพร แสงทักษิณ (อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดี ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณปัจจุบัน เกษียร อายุราชการแล้ว) ท่านได้อรรถาธิบายที่มาของคำว่า ดอกทอง ไว้ในหนังสือชื่อ รุ้งอักษร :เส้นสายสีแสงแห่งภาษาและวรรณคดี รศ. ยุพร แสงทักษิณเชื่อว่า สีแดงนี้ เป็นสัญลักษณ์ของพระแม่กาลี หรือ กาลิกา (กาลราตรี) ภาคของพระแม่กาลี นี้พระนางเป็นเทวีที่มีผิวพรรณดำสนิท มีวรกายอ้วนใหญ่ปล่อยผม สยายยาว ประบ่ามิได้รวบขึ้นรัดเกล้าไว้ พระแม่กาลี มี ๑๐ แขน มีอาวุธร้ายถืออยู่ในทั้ง ๑๐ มือนั้น และที่ริมฝีปากยังมีเลือดไหลหยดเป็นทางยาว และประดับเครื่องแต่งองค์อาภรณ์ไปด้วยสังวาลสายที่ร้อยไว้ด้วยมือ คนที่ตัดมาจากการฆ่าอีกทั้งยังมีงูตัวใหญ่ร้อยคาดองค์ดั่งสังวาลเช่นกัน มือหนึ่งใน ๑๐ มือของเจ้าแม่กาลีนี้ได้ถือหัวกระโหลกบ้าง บางแห่งก็ว่าไว้ว่าถือหัวยักษ์ชื่อ มาธูอสูร ซึ่งตัดใหม่มีเลือดหยดเป็นรอยไหลเป็นทาง ซึ่งตำนานกล่าวไว้ว่าพระกาลีได้ต่อสู้อย่างดุเดือดกับมาธูอสูร ที่เคยได้รับพรจากพระศิวะว่าให้มีชีวิตเป็นอมตะ หากเลือดมาธูอสูรตกลงถึงพื้นดินก็จะเกิดเป็นอสูรอีกมากมายไม่สิ้นสุด ดังนั้นพระศิวะจึงได้ประทานวิธีให้พระแม่กาลีได้ดื่มเลือดอสูรทุกครั้งโดยที่ยังไม่ทันได้ตกลงถึงพื้นดิน มาธูอสูรจึงถึงแก่ความตายในที่สุด เหตุนี้ปางที่ดุร้ายอย่างพระแม่ทุรคาและพระแม่กาลีจึงกลับเป็นที่นิยมบูชากันมาก เพราะเชื่อว่าทรงพลังอำนาจในการให้พรผู้บูชา ถ้าผู้ใดบูชาจนพระนางพอพระทัยก็จะประทานพรมากมาย พระแม่กาลีในภาคนี้มีความดุร้ายเหี้ยมโหดเป็นยิ่งนัก โปรดที่จะเสวยเลือดและเห็นคนถูกฆ่าตายเพื่อบูชายัญ เชื่อกันว่าหากจะให้พระแม่กาลีลดความโหดร้าย ต้องประกอบพิธีตันตระขึ้น พิธีตันตระคือพิธีการเสพสังวาสหมู่เพื่อถวายสักการบูชาพระแม่กาลี พระแม่จะโปรดมากและจะหยุดความดุร้ายลงได้ชั่วคราว พิธีตันตระ ปฏิบัติโดย ให้หมู่ชายหญิงผู้ศรัทธา ปสาทะ เข้าโบสถ์หรือที่อันรโหฐานแล้วปิดไฟให้มืดมิด จากนั้นให้ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงค่อย ๆ เอื้อมมือคลำไขว่คว้าหากันหากคลำได้ถูกคู่นั้นก็จะต้องเสพสังวาสกันโดยมิเลือกว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือแม้แต่พ่อแม่พี่น้องกันก็ต้องกระทำการสมสู่กัน ในคัมภีร์โบราณเล่าว่ายิ่งถ้าเป็นแม่เป็นลูก เป็นพ่อเป็นลูก หรือเป็นพี่น้องกันหากได้เสพสังวาสกันในพิธีตันตระนี้ก็จะทำให้ได้บุญมาก เพราะพระแม่กาลีจะโปรดปรานมากเป็นพิเศษ

พระแม่กาลี ต่อมาอาจถูกใช้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำส่อน (ข้าพเจ้าอนุมานว่า ภายหลังคำว่า กาลี ถูกใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริภาษผู้หญิงที่ประพฤติตนสำส่อน ว่า กาลี/กระหรี่ ก็เป็นได้)

สำหรับ คนอินเดียตอนใต้ในสมัยก่อน จะร้อยดอกชบาเป็นพวงมาลัยสำหรับสวมคอนักโทษ ที่จะถูกประหารชีวิต และเมื่อมีพิธีสรงสนานเจ้าแม่กาลี จะมีดอกชบา ลอยน้ำรวมกับหญ้าแพรก ใบมะตูม

จดหมายเหตุลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam) ซึ่งเป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2230 โดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ได้บันทึกไว้ว่า “หญิงคนเดียวมันทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งก่อนแล้วหญิงนั้นมาทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งเล่า ชู้ก่อนมันฟันแทงชู้หลังตายก็ดี ชู้หลังมันฟันแทงชู้ก่อนตาย ก็ดี ท่านว่าเป็นหญิงร้าย ให้ทวนมัน 30 ที แล้วให้โกนศีรษะหญิงนั้นเป็นตะแลงแกง ทัดดอกชะบา สองหูขึ้นขาหย่างประจาน 3 วัน ในบางกรณีก็จะร้อยดอกชบาเป็นพวงมาลัยสวมคอหญิงชายที่ทำชู้ นั้นด้วย และยิ่งถ้าผู้หญิงที่เป็นราชบาทบริจาริกกาของพระมหากษัตริย์ ลอบมีชู้จะถูกให้ลอบสังวาสกับม้า และให้ประหารชีวิต หรือสั่งให้เสือขบ สำหรับกรณีทั่ว ๆ ไป สามีอาจขายภรรยาที่คบชู้ไปเป็นโสเภณี ส่วนชายชู้ซึ่งถือว่าเป็นจำเลยที่ทำผิดร่วมกันกลับได้รับโทษที่เบากว่าผู้หญิงที่กระทำผิด

ในกฎหมายตราสามดวง หรือประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 เป็นกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้คณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตจำนวน 11 คน นำตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาทำการชำระครั้งใหญ่ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2348 ได้ ระบุโทษในการมีชู้ของเมีย คือสามีสามารถฆ่าชายชู้และเมียตัวเองได้โดยไม่ต้องรับโทษใด ๆ และสามีมีสิทธิยึดทรัพย์ทั้งหมดของภรรยา หรืออาจใช้วิธีการประจานโดยกฎหมายอนุญาตให้เอาปูนเขียนใบหน้าเมียที่มีชู้ เอาดอกชบาแดงทัดสองหูและร้อยเป็นมาลัยใส่ที่ศีรษะและคอ แล้วให้คนตีฆ้องนำหน้าประจานไปทั่ว

ทว่า รศ. ยุพร แสงทักษิณ กลับปักใจอีกทฤษฎีหนึ่งที่ว่า คำว่า ดอกทอง น่าจะมาจากคำผวน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับเอกสารประกอบการสัมนาวิชาการเรื่อง วัฒนธรรมพื้นบ้านเพชรบุรี แนวคิดบางประการในการศึกษาคติชนวิทยา วันที่ 10 กันยายน 2533 ณ วิทยาลัยครูเพชรบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ สายแสง ผู้เชี่ยวชาญด้านคติชนวิทยา (folklore studies) แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ไอ้อรรถธิบายเกี่ยวกับเรื่องคติชนวิทยาไว้ความว่า คนไทยไม่ชอบอะไรที่ขัดตาหรือมีความหมายส่อไปทางอวัยวะเพศ แม้แต่คำธรรมดาที่ผวนกลับมาเกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศก็ยังคงต้องหลีกเลี่ยง ตัวอย่าง เช่น

ผักบุ้ง หลีกเป็น ผักทอดยอด
ถั่วงอก หลีกเป็น ถั่วเพาะ
ดอกกะทือ ดอกทอง หลีกเป็น อีดอก

หรือแม้แต่คำไม่ผวนได้แต่ส่อลักษณะบางประการก็จำต้องเปลี่ยน เช่น

ไม้ตีพริก เปลี่ยนมาจาก สากกระบือ
ปลาหาง เปลี่ยนมาจาก ปลาช่อน

ทั้งนี้เพราะทั้ง สากและปลาช่อน มีลักษณะอันส่อความหมายข้างเคียงไปเป็นอย่างอื่นได้ ในเรื่องของการหลีกคำเทียบเคียงกับอวัยวะเพศนั้น บางครั้งก็ทำอย่างสลับซับซ้อนจนหาที่มาได้ยาก นักนิรุกติวิทยาหลายคนจึงหันมารใช้วิธีการทางพื้นบ้านเข้าช่วยในการวินิจฉัยคำ ยกตัวอย่างคำว่า เฒ่าหัวงู คำนี้ข้าพเจ้าเสนอความคลี่คลายไว้ที่พิษณุโลกหลายปีแล้วเช่นกัน ก็ยังไม่มีผู้ท้วงติง คาดว่าน่าจะมีในการนำเสนอครั้งนี้ คำว่า เฒ่าหัวงู แยกได้เป็น เฒ่า และหัวงู คำว่าเฒ่า ไม่จำเป็นต้องหาความหมาย ส่วนคำว่า หัวงู เป็นคำที่ชวนสงสัย หัวงู เป็นคำผวนมาจาก หัวงัวถึงตอนนี้จำจะต้องย้อนกลับไปถึงปริศนาของศรีธนญชัยที่ว่า อะไรเอ่ย รีรีเหมือนใบพลูมีรูตรงกลางข้าง ๆ มีขนคำตอบของปริศนานี้ คือ หูงัว แต่ความหมายเทียบเคียงของ หูงัว คืออะไรก็พอจะทราบกันอยู่ ถ้าไม่ทราบก็คงไม่ใช่ผู้มีธุรกิจทางคติชนวิทยา เฒ่าหัวงู น่าจะหมายถึง เฒ่าหูงัว ในเชิงความหมายเทียบเคียง



(ดอก)ทองกวาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma (Lam.)Taubert
วงศ์: LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่อสามัญ: Bastard Teak, Bengal Kino, Flame of the Forest[1]
ชื่ออื่นๆ: กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อิสาน)



ชบา
(ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus syriacus L.; Hibiscus chinenis DC. ) เป็นไม้ในสกุล Hibiscus ที่มีความผันแปรทั้งรูปทรงของใบ ลำต้น และดอกมาก ตลอดจนปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย จากความสวยงามของดอกทำให้ได้รับสมญาว่า Queen of Tropic Flower หรือ ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน

ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าคำว่า ดอกทอง(กวาว) และดอกชบา ซึ่งมีสีแดง คนโบราณใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสำส่อน ความกาลี พระยามหานุภาพ จึงใช้คำว่า ดอกทอง เป็นสัญลักษณ์ในการเหยียดหยามนางคณิกา ดังกลอนบทที่ว่า

“อีดอกทองราวทองธรรมชาติ
พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม
เสน่หาส่าลมขึ้นเต็มตัว”


สำหรับคำว่า อุปทม ที่ปรากฏอยู่ใน นิราศกวางตุ้ง คือ กามโรค ชนิดหนึ่ง ในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา อุปทม ( อุปทังสโรค) แบ่งออกได้ ๔ จำพวกดังนี้

1. อุปทม เกิดเพราะการอักเสบ เนื่องด้วยเสพเมถุนกับสตรีที่ยังไม่มีระดู ข่มขืน กระทำชำเรา ด้วยความกำหนัด สตรีเพศพรหมจารี บุรุษข่มเหงเอาด้วยกำหนัดยินดี ซึ่งสตรีเป็นเพศพรหมจารี นั้น มิรู้รสกำหนัดยินดี ด้วยเปรียบประดุจดังช้างสารตัวใหญ่เข้าไปอยู่ในโพรงอันแคบแล้วจะได้คิดว่าเจ็บปวดนั้นหามิได้ ครั้นออกจากช่องแคลแล้ว กระทำให้เจ็บปวดต่างๆ คือ ให้องค์กำเนิดช้ำนัก เดาะ เป็นหนอง เป็นโลหิตไหลออกมาตามช่องทวารเบาของตนเอง ได้รับความเจ็บปวดเวทนายิ่งนัก คือ ให้แสบร้อน ปัสสาวะไม่สะดวก ให้ลำช่องปัสสาวะบวมขึ้น แล้วก็เป็นหนองไหลออกมาตามช่องทวารเบา

2. อุปทม เกิดเพราะเสพเมถุนกับหญิงแพศยาเป็นกาลกิณีสำส่อน ด้วยกามตัณหา เป็นอาจิณ ( หญิงสัญจรโรค หรือหญิงโสเภณี) เนื่องจากสตรีนั้นคบชู้สู่ชายมาก และช่องสังวาสนั้น ช้ำชอกด้วยกิเลส กามตัณหาเป็นนิจ ด้วยเหตุที่ทวารที่ชุ่มด้วยลามกตัณหานั้น ครั้นชายไปร่วมประเวณีด้วยสตรีนั้น ก็กระทำให้บังเกิดซึ่งโรคสมมุติว่า อุปทม โดยกำลังที่ชุ่มนั้นลำราบดุจน้ำใบไม้ น้ำหญ้าเน่า และมีผู้ไปย่ำน้ำนั้น ก็กัดเอาเปื่อยพังไป เกิดทุกข์เวทนา เป็นอันมาก

3. อุปทม เกิดเพราะโทษดานและกระษัยกล่อน และกาฬมูตร มักเกิดขึ้นตั้งแต่สะดือลงไปถึงหัวเหน่า เรียกว่า โรคสำหรับบุรุษ บังเกิดแก่บุคคลบริสุทธิ์มิได้มักมากในทางกามตัณหา คือสมณะ ภิกษุ สามเณร ภิษุณี พราหมณ์ทั้งหลาย อันมีศีลอันบริสุทธิ์ ไม่ได้เสพเมถุน กับมาตุคามเลย โรคนั้นก็บังเกิดขึ้น ด้วยโทษดานและกระษัยกล่อน ทำให้แสบร้อน ปัสสาวะมิได้ รับประทานยาถูกก็หายไป แล้วกลับเป็นอีก หลายครั้งหลายหน ครั้นนานเข้ามักกลาย เป็นหนอง บุพโพโลหิตไหลออกมาทางช่องทวารเบา ให้เจ็บปวดต่างๆ ผู้ใดเป็นดังกล่าวมานี้ เรียกว่า โรคบุรุษ จะได้เป็นอุปทม นั้นหามิได้

4. อุปทมเกิดเพราะนิ่ว บุรุษกลายเป็นคชราช มักเกิดที่ปลายองค์กำเนิด แล้วลามเข้าไปในช่องปัสสาวะ องค์กำเหนิดบวมขึ้นแล้วแข็งเข้าเป็นดาน ถ้าสตรี ออกมาแต่ทวารครรภ์เป็นดังดาก สมมุติว่า ดากโลหิต นั้นหามิได้ คือ อุปุทังสโรค ดังกล่าวมานี้ นานเข้าก็ลามมาถึงหัวเหน่า กระทำให้โลหิตเป็นลิ่ม เป็นแท่งออกมา บางทีปลายดากขาดออกมาเหม็นคาวนัก บางทีเป็นหนอง เป็นโลหิตออกมา ให้ปวดหัวเหน่า และท้องน้อย ดังจะขาดใจโรคดังกล่าวมานี้เป็น อติสัยโรค รักษามิได้ ถ้าจะรักษา ก็รักษายาก อุปทม เป็นกามโรคส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้อาจมีมะเร็ง เนื้องอกร่วมด้วย เช่น นิ่วเนื้ออุปทม (คชราช) เป็นเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ ในองคชาติ นอกจากนี้ยังมีโค ไส้ด้วน ไส้ลาม จัดอยู่ในกลุ่มอุปทมนี้ ซึ่งก็น่าจะคิดถึงมะเร็งไว้ด้วย ( จาก ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม เล่ม ๒ โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หน้า ๑๒-๑๘) เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้



ผู้ตั้งกระทู้ กวินทรากร :: วันที่ลงประกาศ 2007-08-17 10:52:58


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937646)

แก้ข้อสันนิษฐานใหม่

ข้าพเจ้าจึงขอสันนิษฐานว่า

ข้อ 1. คำว่า ดอกทอง(กวาว)/ทองธรรมชาติ  และดอกชบา ซึ่งมีสีแดง คนโบราณใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสำส่อน ความกาลี

ข้อ 2. คำว่าดอกทอง นี้ ด้านคติชนวิทยา เป็นคำผวน ซึ่งถูกเทียบเคียงกับอวัยวะเพศผู้ชาย  ดอกทอง ผวนได้ว่า ดองถอก "เกี่ยว(ดอง)กับอวัยะเพศชายที่ถูก(ถอก)"

ฉะนั้นคำว่า ดอกทอง จึงเป็นทั้ง คำผวน  และแสดงภาพสีแดง สีแห่งพระแม่กาลี  ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงเอ่ยคำว่า ดอกถอก เพื่อใช้บริภาษ หญิงที่ประพฤติตนสำส่อนทางเพศ ดังที่จะเห็นตัวอย่างได้จาก กรณี พระยามหานุภาพ  ใช้คำว่า ดอกทอง ในเชิงรเหยียดหยามนางคณิกา และ หลวงราไชย  ดังกลอนบทที่ว่า

“อีดอกทองราวทองธรรมชาติ
พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม
เสน่หาส่าลมขึ้นเต็มตัว”

 

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-08-17 11:18:55


ความคิดเห็นที่ 2 (937647)

อธิบายต่อนะครับ ดอกทอง ใน นิราศกวางตุ้งของพระยามหานุภาพ (ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) คำว่า ดอกทอง นั้น มาจาก คำว่า กิมท้อ ภาษา เจ๊ก - จีน แปลว่า กิม - ทอง ท้อ - ดอก เป็น ชื่อเรียก ผู้หญิง

ส่วน โสเภณี นั้น คือ หญิงงามเมือง

สังคมภายหลังเรียกต่อๆ กันในความหมายใกล้เคียง

เช่น เรียก ซ่องสำเพ็ง ในกรุงศรีอยุธยานั้นเรียก สถานรับชำเราให้แก่บุรุษ

คำ ภาษา มีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่แน่นอน 

แต่เรื่องภาษา หรือ วิชา นิรุกติศาสตร์ นับตั้งแต่ พระยาอนุมานราชธน ถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ หมด ไม่มีคนวิชาการคนไหน อธิบายเรื่องคำที่ใช้รากภาษาร่วมอธิบาย มักยึดเอาบาลีทั้งหมด

น่าเสียดาย ครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น มหา วันที่ตอบ 2007-08-17 14:04:32


ความคิดเห็นที่ 3 (937648)

ข้อความข้างต้นนี้พิจารณาก่อนตั้งกระทู้ได้ไหมว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่านมากน้อยเพียงใดผู้เขียนดูทรงภูมิความรู้แต่เรื่องราวดูจะไม่จำเป็นสำหรับผู้ได้อ่านเท่าใดนักโดยเฉพาะเยาวชนหาอะไรที่สร้างสรรมาลงดีกว่าดูแล้วหยาบโลนไม่สมควรทำ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น คนหวังดี วันที่ตอบ 2007-08-18 00:27:34


ความคิดเห็นที่ 4 (937649)
เห็นด้วย
ผู้แสดงความคิดเห็น หวัง วันที่ตอบ 2007-08-18 11:54:25


ความคิดเห็นที่ 5 (937650)

ประกวดบทกวีร่วมสมัย ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“กาพย์กลอน...สอนคุณธรรม ตามแนวพระราชดำรัส”

(สำหรับนิสิต นักศึกษาและบุคคลทั่วไป)

จะหมดเขต ๓๑ สิงหาคมนี้ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานการประกวดฯ โทร. ๐ ๒๒๕๔ ๖๘๙๕-๗ โทรสาร ๐ ๒๖๕๐ ๗๗๓๘ หรือที่เว็บไซต์ศูนย์คุณธรรม www.moralcenter.or.th และ www.moralcenter.com

ผู้แสดงความคิดเห็น ฝากเพื่อน วันที่ตอบ 2007-08-18 11:59:02


ความคิดเห็นที่ 6 (937651)
หลกท่ง ไม่น่าจะเป็นภาษาจีน แต่เป็นคำทับศัพท์ เช่นเดียวกับอีกหลายคำ เป็นต้นว่า หลักผี้(ราชบุรี) หมั่งก๊ก(บางกอก) ขุกท่ม(นครปฐม) คนจีนในเมืองไทยเข้าใจว่าเป็นภาษจีน เหมือนที่คนไทยเข้าใจว่า "รับประทาน" "เสด็จพระราชดำเนิน" "บวชพระ"เป็นภาษาไทย
ผู้แสดงความคิดเห็น พิกกาจู้ วันที่ตอบ 2007-08-18 16:38:57


ความคิดเห็นที่ 7 (937652)

1.ขอบคุณท่าน มหาฯ +พิกกาจู้ ครับที่กรุณาให้ความรู้เสริม ขอบคุณๆ :-) เสียดายผมไม่ได้ติดคุกแบบจิตร ภูมิสักดิ์  เลยไม่ได้เรียนภาษาจีนแบบฟรีๆกับ พานซานหลิน เรียนภาษา ชาวเขาขาวดอย ยอันยังเหลือเค้าแห่งรากเหง้าของ ภาษาไทย


2.ขอบคุณ คนหวังดี+หวัง  ที่กรุณาเข้ามาเตือนครับ ที่ผมรวบรวมเขียนไว้ ยอมรับว่าหยาบโลน แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมเราไม่สามารถปฏิเสธความจริงในเรื่องนี้ได้ 

 

3.ขอบคุณ ฝากเพื่อน  ที่อุตส่าห์เอาข่าวมาบอก เมื่อเร็วๆนี้ "ครูใหญ่โรงเรียนเล็ก"  ก็ชวนให้ส่งอยู่เหมือนกันครับ กำลังจดๆจ้องๆอยู่ คิดว่ารางวัลนี้เขาจ้องแจกอยู่แล้วครับ อย่างน้อยๆ ถ้าไม่ได้รางวัลชนะเลิศ ก็น่าจะติด 80 ผลงานที่เอาลงตีพิมพ์รวมเล่ม ไม่รู้จะส่งกันถึง 80 ผลงานหรือเปล่า -_-""

 

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-08-18 20:26:25


ความคิดเห็นที่ 8 (937653)

คุรพูดเยี่ยงนั้นไม่เรื่องเสียดายว่าไม่ได้ติดคุกอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์

สิ่งความรู้ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้นั้น ตอนอยู่ภายนอก ค้นคว้า สึกษา อย่างจริงจัง และให้เกียรติ ต้นความรู้ ไม่ใช่สักแต่ลอกๆ แล้วเอามาตัดปะ

การติดคุกแล้วเขียนหนังสือนั้นเป็นความรู้ที่ถูกสั่งสมมาก่อนระยะเวลาหลายปี จึงถ่ายทอดออกมาเป็นระบบระเบียบ

ขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย จะได้ไม่คลาดเคลื่อน สื่อสารกันผิดๆ

ด้วยหวังดี

ผู้แสดงความคิดเห็น มหา วันที่ตอบ 2007-08-19 13:27:46


ความคิดเห็นที่ 9 (937654)

   กวินทรากร  และท่านมหา  ต่างเป็นผู้นำสารที่ดี เป็นผู้เสียสละที่น่ายกย่อง ชาวเราทุกคนแอบขอบคุณอยู่ในใจ จริงใจ
   อ่านโดยไตร่ตรองแล้ว ยังไม่พบถ้อยคำสำนวนที่ส่อไปในทางชักชวนให้ฉุนเฉียว ตรงกันข้าม การเสพสารที่กวินทรากรส่งมาฉบับนี้ เป็นการเสพอย่างมีความสุข
                    วานท่านมหาโปรดใคร่ครวญ

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พิกกาจู้ วันที่ตอบ 2007-08-19 16:37:36


ความคิดเห็นที่ 10 (937655)
หลกท่ง ไม่น่าจะเป็นภาษาจีน แต่เป็นคำทับศัพท์ เช่นเดียวกับอีกหลายคำ เป็นต้นว่า หลักผี้(ราชบุรี)

เมืองราชพรี เป็นภาษาปาก หมายถึง จังหวัด ราชบุรี   

คิดว่า  หลักผี้ ทับศัพท์มาจาก ราชพรี อีกทีหนึ่ง จำคำว่า ราชพรี ได้ขึ้นใจเพราะเคยอ่าน งานเรื่อง "ความเปลี่ยนแปลง" ของนายผี แล้วสะดุดตรงคำว่า ราชพรี

ซึ่งผมยังท่องจำฉันท์ 11 บทนั้นได้ ความว่า

พระริบเอาราชพรี.....คือบุรีอันเกรียงไกร
จักริบหัวใจใจ..........ก็ประจักษ์บ่จำนน

เป็นสำนวนที่คมคายจริงๆ ยึดได้แต่เมืองแต่ไม่สามารถยึดใจชาวเมืองได้

ครั้งแรก คิดว่าคำว่า ราชพรี ป็นคำเดียวกับราชพลี (สละเลือดทุกหยาดเป็นพลี) ตอนหลังถึงได้มาทราบว่า เป็นชื่อเรียกเมือง ราชบุรี ในภาษาปากของคนสมัยก่อน นายผีแต่งฉันท์เรื่องนี้ เพื่อกลาวถึงเรื่องต้นตระกูลของตน ต้นตระกูลของนายผีคือ พระยาพล เดิมชื่อนายจันทร์  เคยรบกับ พม่าจนได้ชัยชนะ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รั้งเมืองกาญจนบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตัดแปะเท่านี้ก่อนเดี๋ยวจะโดนบ่น 555



ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-08-19 19:41:11


ความคิดเห็นที่ 11 (937656)
แก้ๆๆ สมองไวกว่ามือ
(สละเลือดทุกหยาดเป็นราชพลี)
ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-08-19 19:42:34


ความคิดเห็นที่ 12 (937657)

ได้ความรู้ดีออก...ค่ะ

ขนาดเป็นผู้หญิง..คิดว่าโอเคนะคะ

ศึกษาเรื่องภาษา..อย่าไปคิดว่าหยาบหรือโลน

ผู้แสดงความคิดเห็น อัญชัญขาว วันที่ตอบ 2007-08-22 00:20:51


ความคิดเห็นที่ 13 (2072342)

เป็นไปได้ไหมว่าคำว่าดอกทองมาจากคำว่าดอกคำใต้

เสนอเล่นๆครับ มั่วเอา

ผู้แสดงความคิดเห็น จอร์จ วันที่ตอบ 2010-06-08 12:54:49


ความคิดเห็นที่ 14 (2107145)

lv fake bags louis vuitton bags than a wallet to very large louis vuitton there are already scouting for chanel handbags louis vuitton handbags shoulde.

ผู้แสดงความคิดเห็น super (kate-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 07:33:15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.