ReadyPlanet.com


ฉันทลักษณ์ ไม่ฉันทลักษณ์ ไม่ใช่ปัญหา แต่กวีน่าจะมีปัญหา


ไม่มีกรอบกรองคำก็งามได้                               อยู่แต่ใครจะไปถึงซึ่งได้ที่

เมื่อสำนึกลึกซึ้งถึงกวี                                         มีไม่มีฉันทลักษณ์ไม่รู้แล้ว

ลืมฉันทลักษณ์บ้างก็ได้/สุจิตต์ วงษ์เทศ

          กลอนเปล่า ใช่เปล่าหมด เปล่าปลดปล่อย       ใช่เปล่าถ้อย ทำนอง กรองอักษร

                สัมผัสคำไม่สำคัญนั้นแน่นอน                         สัมผัสใจให้ได้ก่อน จึง “กลอน” จริง

คำนำรวมกวีนิพนธ์ อมรา จรรยงค์/เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์       

 

                เหตุที่ผมต้องยกบทกวีสำนวนขอ 2 กวีรุ่นใหญ่ สุจิตต์ วงษ์เทศ และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มานั้นก็เพราะเมื่อวันอังคารที่ 17 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์วรรณคดีศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ และโรงแรมโอเรียนเต็ล ขอเชิญร่วม “พบปะนักเขียนที่ผ่านเข้ารอบรางวัลซีไรต์ปี 2550” จัดขึ้น

โดยกวีมา 5 คนด้วยกันขาดเพียง อุเทน มหามิตร และ กฤช เหลือละมัย เท่านั้น โดยเฉพาะ ศิริวร แก้วกาญจน์ (ขาประจำซีไรต์รายล่าสุดต่อจาก วัฒน์ วรรลยางกูร และ ประชาคม ลุนาชัย ซึ่งพี่ท่าน เข้ารอบสุดท้ายติดกันถึง 4 ปี จากงานเขียน 5 เล่ม แบ่งเป็น เรื่องสั้น 1 นวนิยาย 1 และ กวีนิพนธ์ 3 )

ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นปีพิเศษตั้งแต่มีรางวัลนี้ขึ้นมา 28 ปี โยเฉพาะปีนี้เป็นคิวของ กวีนิพนธ์ ซึ่งมีงานกวีนิพนธ์ประเภทกลอนเปล่า หรือ “กวีไร้ฉันทลักษณ์”  เข้ามาถึง 2 เล่ม คือ เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็ก ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ และฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ ของ อุเทน มหามิตร

กรณีนี้ ไม่แปลกอะไรมากนักเพราะ กลอนเปล่านั้น เข้าชิงถึง 2 เล่ม ทั้งๆ ที่ 28 ปีที่ผ่านมา ทะลุเข้ารอบสุดท้ายเพียง 2 เล่ม คือ "ของขวัญจากกาลเวลา" ของ มูฮัมหมัด ส่าเหล็ม ในปี 2532 และ "WAR เรามีพระเจ้าคนละองค์" ของ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ ในปี 2547

คำอะไรที่เพราะๆ งามๆ สื่อสารง่ายๆ อ่านแล้วโดนใจก็เป็น กวี เหมือนกันทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นในรูปแบบคำกลอนก็ได้ เพียงแต่ กลอนฉันทลักษณ์นั้นช่วยคำกรองคำให้ไพเราะมากกว่า สิ่งสำคัญเนื้อความที่สื่อสารนั้นให้อะไรกับคนอ่านมากน้อยแต่เพียงใด

มันจึงไม่ใช่เรื่อง “ชัยชนะ” ของกลอนเปล่า หรือ “ความอับเฉา” ของ ร้อยกรอง

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแบบเรียนที่ใช้กันทั้งประเทศนั้นเป็นวรรณคดีที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระและเป็น ร้อยกรอง เป็นส่วนมาก คนส่วนใหญ่จึงคุ้นชินอยู่กับรูปแบบที่เป็นกลอนฉันทลักษณ์

กลอน มีรากเหง้าเค้าเดิมมาจากคำคล้องจองในชีวิตประจำวันของกลุ่มชนตระกูลไทย-ลาว รวมทั้งกลอนลำนี้โดยทั่วไปเป็นกลอนร่ายคำต่อต่อคำส่งสัมผัสระหว่างวรรค และร่ายนี้เองก็เป็นกลอนแบบหนึ่ง มีเค้าต้นจากคำคล้องจองของผู้คนชนเผ่าเหล่ากอตระกูลไทย – ลาว ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ก่อนรับศาสนาจากชมพูทวีป เรียกกลอนร่ายหรือภาษาร่าย ถือเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของหมอผีหรือหมอขวัญ รวมทั้งกลอนที่ใช้ในพระราชประเพณี อย่าง โองการแช่งน้ำ เป็นต้น

ผมว่าควรทำความเข้าเรื่องนี้ให้แจ่มชัดเสียก่อน ส่วนกรณี “กลอนเปล่า” จะบอกว่าไม่ค่อยถูกยอมรับนั้น คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่กวีหลายคนรำพึงรำพันเชิงปรับทุกข์ว่า เวทีบ้างเวทีไม่รับกลอนเปล่าในการประกวด

ตรงนี้ ศิริวร แก้วกาญจน์ สำแดงให้เห็นว่า “ช่ำชอง” ทั้ง “กลอนเปล่า” และ “กลอนฉันทลักษณ์” ได้ปรากฏเด่นชัดในงานเขียนทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ซึ่งกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย

ส่วนกลอนเปล่า ยังไม่เป็นยอมรับในวงกว้างของกลุ่มนักฉันทลักษณ์นิยมนั้นเพราะความเติบโตมาคนละอย่าง สร้างดาวกันคนละดวง และเป็นเรื่องของ speck ใคร speck มัน 

เรื่องการยอมรับต้องใช้เวลาครับ กรณีถูกปฎิเสธนั้นไม่เพิ่งเกิด ผมขอคัดสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ในคำนำหนังสือ ขุนศึก ไม้ เมือเดิม แพรวสำนักพิมพ์ 2548  ในข้อย่อย สำนวนภาษากวีโวหาร ดังนี้

นิยายของ ไม้ เมืองเดิม เกือบทั้งหมดมีตัวละครส่วนมากเป็นไพร่บ้านพลเมืองสามัญชนบ้านนอก ที่เรียกกันภายหลังว่า “ลูกทุ่ง” ยุคแรกๆ จึงถูกเหยียดว่าใช้ภาษา “สำนวนไพร่” เพราะเต็มไปด้วยภาษาปาก กูๆ มึงๆ บางทีถูกกำหนดอย่างดูถูกว่า “สำนวนมึงวาพาโวย”

กรณีอย่างนี้ไม่ได้เกิดกับ ไม้ เมืองเดิมเป็นครั้งแรกและคนแรก แต่เคยเกิดมาก่อนแล้ว เริ่มจาก สุนทรภู่ เขียนนิราศและนิทานเป็นกลอนแปดส่งสัมผัสแพรวพราวก็ถูกเหยียดว่า กลอนตลาด เพราะไม่เข้าหู “ผู้ดี” ยุคนั้น

ทางดนตรีปี่พาทย์ก็เหมือนกัน เมื่อพื้นฐานการตีระนาดแบบดั้งเดิมต้องตีโยนๆ ห่างๆเพราะลูกระนาดทำจากไม้ไผ่บง (หรือไผ่ตง) ตีเร็วๆ ไม่ถนัด เนื่องจากผิวไม้ไผ่ไม่เรียบ ทำให้เกิดอาการหนืดครั้นหลังรัชกาลที่ 2 สังคมไทยคิดค้นลูกระนาดอย่างใหม่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะริด ฯลฯ แล้วประดิษฐ์ไม้ตีระนาดให้แข็งแรงกว่าเก่าหุ้มด้วยตะกั่ว หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) เลยตีระนาดได้เร็วและแรงระริกอ่อนไหว จนถูกด่าท่อว่าตีระนาดเหมือน หมาสะบัดน้ำร้อน

แต่หลังจากนั้นอีกนานจวบจนปัจจุบัน กลอนแบบสุนทรภู่ เป็นที่ยกย่องอย่างสูงว่าเป็น “มาตรฐาน” และตีระนาดเอกแบบหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เป็นที่ยกย่องกล่าวขวัญว่าเป็น “แบบฉบับ” ของดนตรีไทย ใครตีแบบเดิมถือว่ายังไม่ถึงขนาด

ไม้ เมืองเดิม ก็อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว เพราะทุกวันนี้สำนวนภาษาในนิยายกลายเป็น “มาตรฐาน” และ “แบบฉบับ” ของนิยายอิงพงศาวดาร นิยายประวัติศาสตร์ นิยายลูกทุ่ง ฯลฯ แม้บทละครโทรทัศน์ที่แต่งขึ้นใหม่ไม่ใช่งานประพันธ์ของไม้ เมืองเดิม ก็ต้องเล่นภาษาอย่างไม้ เมืองเดิม จนกลายเป็นศัพท์เฉพาะว่า “สำนวนไม้ เมืองเดิม”

ที่ตั้งข้อสังเกตว่ากวีนิพนธ์ทั้ง 8 เล่มที่เข้ารอบมานั้น ในแง่เนื้อหา ความคิด หรือธีมได้เปลี่ยนไปจากงานซีไรต์ยุคต้นๆ คือไม่มีการวิพากษ์สังคม แต่จะเป็นเรื่องค่อนข้างส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ระหว่างคน ไม่เหมือนอย่างงานตั้งแต่สมัย "เพียงความเคลื่อนไหว" ของ "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" หรือ นาฎกรรมบนลานกว้าง ของ "คมทวน คันธนู" ที่ค่อนข้างจะดุเดือด

โดยเฉพาะบางเล่มเขียน กวีการเมืองดีมาก กลับตกรอบ รวมทั้ง บางเล่มที่ไม่น่าจะผ่านเข้ามาโดยเอาเล่มอื่นๆ มาเปรียบเทียบแล้ว เล่มที่เข้ามาด้อยกว่ากับผ่านเข้าวิน พลันสิ้นเสียงประกาศผลกวีนิพนธ์ 8 เล่ม เข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัลซีไรต์ประจำ พ.ศ.2550 ก็เริ่มมีวงวิพากษ์พร้อมกับคำถามและความสงสัยกันไปต่างๆ นานา ว่าทำไมรุ่นใหม่ตบเท้าพาเหรดกันเข้ารอบ ในขณะที่กวีมือรางวัล รุ่นเก่ารุ่นใหญ่ ไฉนตกรอบอย่างน่ากังขา รวมทั้ง กรณี วงศ์อสัญแดหวา ของกรรมการคัดเลือกและตัวกวี!?

ก็เพื่อน พ้อง น้อง พี่ ในวงการแคบๆ แค่นี้เอง เรื่องแค่นี้ดูจะไม่เป็นธรรมต่อกวีนัก

(คัดเอาเฉพาะบงส่วน สยามรัฐรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. 2550 หน้า 10 รายงานวรรณกรรม / ใบบัวน้อย ลอยกลางบึง)



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-21 11:29:36


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937475)

แยกประเภทตัดสิน

ฉันทลักษณ์รางวัลหนึ่ง

ไร้ฉันทลักษณ์รางวัลหนึ่ง

น่าจะดี

หมาขี้เรื้อนจะได้ไม่เยี่ยวรดใส่กันไปมา

ผู้แสดงความคิดเห็น โอเคมั้ย วันที่ตอบ 2007-07-21 12:21:01


ความคิดเห็นที่ 2 (937476)

คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง เป็นคำประพันธ์ที่มีรูปแบบฉันทลักษณ์ เหมือนเป็นกฎเกณฑ์หรือกติกา กติกาฟุตบอล มวยไทย มวยสากล ยูโด ตะกร้อ วอลเล่ย์บอล ฯลฯ ถ้าเป็นเรื่องการแข่งขันก็ต้องถือกติกาครับจึงจะถูกต้อง แต่ถ้าไม่ใช่ประกวดแข่งขัน เช่น ฟุตบอลการกุศล ชกมวยโชว์ หรืออะไรที่ไม่ได้แข่งขัน จะไปกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไร ไม่มีใครท้วงติง เพราะเป็นความพึงพอใจร่วมกัน พูดถึงการประกวดกวีนิพนธ์ทุกระดับเกณฑ์การพิจารณาตัดสินไม่พ้นเรื่องของฉันทลักษณ์ การใช้ภาษา สำนวนโวหาร การใช้ถ้อยคำ ความคิดสร้างสรรค์ ก่อนการประกวดถ้าประกาศกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน เป็นที่รับรู้กันทั่วไป เหมือนเราตกลงกันว่าจะใช้กติกาอะไร้มาตัดสิน เป็นข้อตกลงร่วมกัน แล้วเราปฏิบัติตามเงื่อนไขกฏเกณฑ์ กติกา จึงจะเป็นการประพฤติชอบ ถูกต้องตามระบบระเบียบ สามัคคีธรรมก็จะเกิดขึ้นในวงการกวีนิพนธ์อันงดงามของพวกเรา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สาธุชน วันที่ตอบ 2007-07-21 18:25:53


ความคิดเห็นที่ 3 (937477)
ลองหาทุนจัดประกวดรางวัลเฉพาะฉันทลักษณ์โดยเฉพาะก็น่าจะดี เช่นประกวดวรรณกรรมยอดเยี่ยม "กวีโลก" เอาให้ใหญ่กว่าซีไรต์เลย  ลุงเสมอ  กลิ่นหอม ลองทดลองประกวดดูนะครับ น่าสนใจ
ผู้แสดงความคิดเห็น กวีซีบาย วันที่ตอบ 2007-07-21 18:47:59


ความคิดเห็นที่ 4 (937478)
ถูกต้องครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-07-23 08:18:53


ความคิดเห็นที่ 5 (937479)

เราประกวดบทกวีไม่ใช่เหรอ ไม่ใช่ประกวดร้อยกรอง หรือประกวดกลอน(อย่างเดียว) แล้วประเทศที่ไม่มีกลอน จะประกวดกวีอยังไง กวี Blank word แบบฝรั่งจะได้เป็นกวีซีไรต์มั้ยเนี่ย(ถ้าโอเรียนเต็ลเปิดโอกาสให้ส่งประกวด)

ผู้แสดงความคิดเห็น แต้วแร้ว วันที่ตอบ 2007-07-23 16:45:25


ความคิดเห็นที่ 6 (937480)
กวีนิพนธ์ 8 เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ 2550 (อ่านรายละเอียดที่มุมนักเขียนไทย)
ผู้แสดงความคิดเห็น ปก ๘ เล่มซีไรต์ วันที่ตอบ 2007-07-23 17:04:20


ความคิดเห็นที่ 7 (937481)
ฟันธง...ซีไรต์ปีนี้  ถ้าไม่ โกสินทร์  ก็กฤช  แค่ 2 คนนี้มีสิทธิ์5555555555555555555555555555555555
ผู้แสดงความคิดเห็น กวีซีบาย วันที่ตอบ 2007-07-23 17:23:33


ความคิดเห็นที่ 8 (937482)
ไม่หรอกครับ ผมว่ามีหลายเล่มที่น่าจับ ของ กฤช นั้น มีโอกาสเพราะดูภาพรวมแล้วจะดีกว่าเล่มอื่นๆ  ของ อังคาร จันทาทิพยื ก็ดีนะ รวมทั้ง ศิริวร แก้วกาญจนื และมนตรี ศรียงค์ ลองอ่านให้ครบทุกเล่ม ยกเว้น อุเทน มหามิตร หาอ่านยากครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น กวีซีบายซลูล วันที่ตอบ 2007-07-23 17:35:20


ความคิดเห็นที่ 9 (937483)
กวี "เพิ่น (โมโดส)"  มาแฮง ปีนี้ อิอิ
ผู้แสดงความคิดเห็น เซิงบ่อม ซอมเบิ่ง วันที่ตอบ 2007-07-24 18:27:14


ความคิดเห็นที่ 10 (2107165)

synthetic hair clip on hair extensions having wigs and makeovers wigs of course also find synthetic wigs in toupee short straight hair.

ผู้แสดงความคิดเห็น collec (air-at-live-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 07:53:50



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.