ReadyPlanet.com


ฟังหูไว้หูกับ ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์


ฟังหูไว้หูกับ ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์ ดร.โสภณ พรโชคชัย มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย http://www.thaiappraisal.org Knowledge Is Not Private Property อาจารย์ชาวสหรัฐอเมริกาท่านนี้กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึง เพราะรัฐบาลไทยหวังใจให้มาชี้ช่องทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่ท่านเสนอจะสามารถนำไปใช้ได้จริง หรือจะพาเราเข้ารกเข้าพงหรือไม่ ลองมาพิจารณากันดู เมื่อวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2552 ผมได้ไปฟังท่านบรรยายที่กระทรวงการต่างประเทศ จึงขออนุญาตนำมาสิ่งที่ท่านเสนอมาแสดงความเห็นเพื่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมอุดมปัญญานี้ และเพื่อหาทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทยของเรา โต้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ประเด็นสำคัญที่อาจารย์ท่านนี้ยกขึ้นมากล่าวก็คือเรื่องตัวเลขดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Projects GDP) โดยกล่าวว่าดัชนีดังกล่าวไม่ใช่เครื่องชี้การเจริญเติบโตของประเทศ ข้อนี้ดูเป็น ‘แฟชั่น’ ที่ผู้รู้หลายคนที่แสดงตัวเป็นผู้ที่ ‘คิดต่าง’ พยายามมองเช่นนี้ แต่ปัญหาก็คือ ถ้าไม่ใช้ GDP จะมีดัชนีใดอีกที่สามารถชี้วัดแทนได้ อาจารย์ก็ไม่ได้กล่าวว่าควรเป็นดัชนีใด หรือไม่ได้ยืนยันว่า ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ (Gross National Happiness: GNH) เป็นดัชนีที่เชื่อถือได้ เพราะยังไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน ในความเป็นจริง การวัดความเจริญ ความมั่งคั่งหรือความสุขนั้น ไม่ใช่ดัชนีเดี่ยว แต่เป็นชุดของดัชนีที่นำมาใช้วัด เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ ดัชนีความสงบสุข (Peace Score) เป็นต้น ในการวัดการพัฒนาต่าง ๆ จึงต้องใช้หลาย ๆ ดัชนีมาวิเคราะห์ การจะหวังหาดัชนีเดี่ยวอันใดมาใช้แทนจึงเป็นไปไม่ได้ และการหวังใช้ GDP มาอธิบายทุกอย่าง ก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน ในที่นี้ผมได้ทดสอบความสัมพันธ์เชิงตัวแปรของดัชนีต่าง ๆ จากข้อมูลประมาณ 150 ประเทศพบว่า GDP มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรในการทดสอบการวิเคราะห์ถดถอย (Regression Analysis) กับตัวแปรสำคัญ ๆ เช่น - ดัชนีการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Corruption Index) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 77.54% - ดัชนีการถือครองสมบัติ (Physical Property Right) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 66.20% - ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 60.66% เป็นต้น ข้างต้นนี้แสดงว่า GDP เป็นดัชนีที่สะท้อนความเป็นจริงได้พอสมควรทีเดียว แต่จะให้เป็น ‘แก้วสารพัดนึก’ หรือหาดัชนีอื่นมาแทนคงไม่มี จับแพะชนแกะ ตอนที่อาจารย์ท่านนี้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ GDP เป็นดัชนีความเจริญเติบโตนั้น ท่านบอกว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวน ‘คนคุก’ สูงที่สุดในโลก จากข้อมูลของ http://hdrstats.undp.org/indicators/265.html พบว่า สหรัฐอเมริกามีคนคุกสูงถึง 738 คนต่อประชากร 100,000 คน สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 15 มี 350 คน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 32 มี 256 คน หากพิจารณาดูตัวเลขเพียงเท่านี้ก็อาจคล้อยตามอาจารย์ท่านได้ว่า สหรัฐอเมริกามี GDP สูง แต่สังคมไม่สงบเพราะมีคนคุกมาก แต่ในความเป็นจริง หากเรามาพิจารณาประเทศที่มีคนคุกจำนวนน้อยที่สุดในโลก จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศ ‘ด้อยพัฒนา’ และไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่น แองโกลา คองโก ซูดาน ชาด มาลี แกมเบีย อินเดีย ไนจีเรีย ฯลฯ มีใครอยากไปอยู่ประเทศเหล่านี้ไหม ความจริงที่พึงทราบประการหนึ่งก็คือ การกวาดเก็บอาชญากรไว้ในคุกย่อมดีกว่าปล่อยให้เดินเล่นอยู่บนถนนทั่วไป ผมจึงตกใจที่อาจารย์ท่านนี้กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อการสร้างคุกไม่ควรถือเป็นเครื่องวัดใน GDP ทั้งที่การก่อสร้างซึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างใด ๆ ก็ก่อให้เกิดการจ้างงาน แสดงผลิตภาพ และที่สำคัญเป็นกิจกรรมหนึ่งใน GDP ที่ทำให้เกิด “มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ภายในประเทศในระยะเวลา 1 ปีที่กำหนดไว้” นั่นเอง การส่งออกคือพระเอกต่างหาก ในขณะนี้ พอประเทศไทยส่งสินค้าออกไม่ค่อยได้ รัฐบาลก็มักจะคิดว่าเราน่าจะพึ่งตนเองมากกว่าการคิดจะส่งออกสินค้าซึ่งมีความผันผวนในตลาดของสินค้าอยู่เสมอ (โดยเฉพาะในยามที่เราอยากขายสินค้า) ดังนั้นเราจึงมุ่งส่งเสริมการใช้สอยภายในประเทศ อาจารย์ท่านนี้ก็เสนอแนะในทำนองเดียวกันนี้ แต่ผมเชื่อว่า แนวคิดข้างต้นนอกจากเป็นแบบ ‘กำปั้นทุบดิน’ แล้ว ยังอาจเป็นการ ‘เข้ารก เข้าพง’ เสียอีก ประเทศทั้งหลายอาศัยการส่งออกเป็นสำคัญ ถ้าใครขืนอยู่ ‘หัวเดียวกระเทียมลีบ’ ก็คงจะลำบากอย่างแน่นอน ประเทศมหาอำนาจก็รู้ ดังนั้นเขาจึงใช้การปิดล้อมทางเศรษฐกิจในการ ‘ปราม’ ประเทศเป้าหมาย เช่น อิหร่าน พม่าหรือเกาเหลีเหนือ เป็นต้น ประเทศที่เจริญขึ้นมาได้ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม จีน ล้วนแต่เป็นเพราะสามารถส่งออกสินค้า นำเงินตราเข้าประเทศ และนี่เองหน่วยงานเศรษฐกิจการคลังของแต่ละประเทศจึงพิจารณาตัวเลขการส่งออกและแนวโน้มของแหล่งตลาดต่างประเทศเป็นเครื่องชี้อนาคตทางเศรษฐกิจนั่นเอง การมุ่งเน้นการใช้สอยภายในประเทศ ยังมีความน่ากลัวสำคัญประการหนึ่งก็คือการดึงเอาเงินออมในอนาคตของประชาชนและของประเทศชาติโดยรวม ออกมาใช้จ่ายในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นี่อาจกลายเป็นการทำลายเศรษฐกิจแบบไม่มีวันฟื้นคืน กลายเป็นประเทศล้มละลายไปในอนาคตก็ได้ และนี่คือก็คือการเล่นแร่แปรธาตุของรัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาลกับตัวเลข GDP ให้ดูสูง ๆ จากผลของการใช้สอยภายในประเทศ และเป็นตัวบิดเบือนไม่ให้ GDP เป็นเครื่องชี้วัดที่ดีนั่นเอง วิเคราะห์วิกฤติเศรษฐกิจไม่ตรงจุด วิกฤติสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ใช่เกิดเพราะการไม่มีดัชนีหรือมาตรวัดเครื่องเตือนภัยเศรษฐกิจแต่อย่างใด ในสหรัฐอเมริกามีทั้งการวัดจำนวนบ้านที่เปิดใหม่ จำนวนบ้านที่สร้างเสร็จ การเปลี่ยนแปลงราคาบ้านรายเดือน ทรัพย์สินที่ถูกสถาบันการเงินยึดไว้ ฯลฯ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีมาตรการป้องกันปัญหาเท่าที่ควร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น การนี้อาจเป็นการสมคบคิดกันระหว่าง ‘แกงค์’ ธุรกิจรายใหญ่กับรัฐบาลก็ได้ ที่ผ่านมาเราเห็น ‘ขี้ฝรั่งหอม’ ทั้งที่ฝรั่งก็ไม่ได้มีมาตรฐานที่ดี และรัฐบาลของเขาก็ไม่ได้ดูแลอะไรให้ดีเลย ในที่ประชุมสุด G20 หรือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาตลาดการเงินโลก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ได้ประกาศร่วมกันว่า ต่อไปนี้ภาคการเงินต้องมีความโปร่งใส มีมาตรการที่เชื่อถือได้ดำเนินงาน เป็นต้น (www.g20.org/Documents/g20_summit_declaration.pdf) นี่แสดงว่าที่ผ่านมาประเทศตะวันตกไม่ได้มีมาตรฐานอะไรที่เป็นหลักประกันเลย ท่านทราบหรือไม่ว่า บริษัทจัดอันดับเครดิตใหญ่ ๆ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งครั้งหนึ่งมีเลห์แมนบราเธอร์ ซึ่งเจ๊งไปแล้ว รวมอยู่ด้วยนั้น บริษัทเหล่านี้ไปเที่ยวจัดอับดับให้คนอื่นทั่วโลก โดยไม่เคยมีหลักประกันใด ๆ ว่าถ้าจัดอันดับผิดจะต้องรับผิดชอบอย่างไร บริษัทใหญ่เหล่านี้มีไม่กี่แห่งทั่วโลก ดูคล้าย ‘แกงค์” ที่ไม่เคยมีใครแตะต้อง ผิดกับนักวิชาชีพอื่น เช่น หมอ วิศวกร ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ทนาย ฯลฯ ซึ่งต้องมีการประกันความผิดพลาดทางวิชาชีพ เป็นต้น ถ้าตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศต้องการความโปร่งใส คุ้มครองผู้บริโภคจริง และป้องกันการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทำไมจึงยังอนุญาตให้บริษัทมหาชนทั้งหลายแต่งตั้ง ‘กรรมการอิสระ’ (ซึ่งจริง ๆ แล้วอิสระหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย) กันเอง ทำไมปล่อยให้บริษัทมหาชน หาบริษัทตรวจบัญชี บริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน หรือบริษัทตรวจสอบต่าง ๆ กันเอง อย่างนี้เป็นการ ‘ปากว่า ตาขยิบ’ หรือไม่ ระวังธุรกิจสีเขียว อาจารย์ท่านแนะนำให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานซึ่งอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย หากวิสาหกิจใดทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น หรือทำให้เสียทรัพย์ เสียชีวิต อัยการของรัฐก็สามารถที่จะฟ้องร้องได้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาราชการส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นในแต่ละประเทศ อาจไม่ได้นำพา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้รับสินบนจากวิสาหกิจขนาดใหญ่ การรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และปล่อยโจรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป เมืองจำนวนมากในสหรัฐอเมริกามีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบายน้ำดีเยี่ยม น้ำเสียจากทุกบ้าน จะถูกต่อท่อไปบำบัดรวม ทำให้คูคลอง ทะเลสาบ และสภาพแวดล้อมสะอาด บางทีเมื่อเราคลั่งไคล้สิ่งแวดล้อมมาก บริษัทจัดการสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา อาจได้โอกาสส่งออกความรู้มาขายคนไทยอีกคำรบหนึ่ง มีตัวอย่างหนึ่งคือ ‘Smart Growth’ (www.smartgrowth.org) คือแต่ไหนแต่ไรมา สหรัฐอเมริกาใช้สอยทรัพยากรอย่างสุดสิ้นเปลือง เมืองขยายไปอย่างไร้ขอบเขต แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะประเทศของเขาร่ำรวย แต่ภายหลังนักวิชาการอเมริกันพบว่า เมืองทั่วสหรัฐอเมริกาซึ่งมีลักษณะเช่นนี้ ขาดประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ใครไม่มีรถก็เท่ากับพิการ ไปไหนไม่ได้ ก็เลยเกิดแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ ‘Smart Growth’ คือเน้นการสร้างความหนาแน่นในเมือง ให้คนเดินถึงสาธารณูปการต่าง ๆ ได้ ไม่เป็นการบุกรุกออกสู่พื้นที่เกษตรนอกเมือง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็นำแนวคิดนี้มาขายให้กับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศเหล่านี้ก็ดีใจ ได้แนวคิดใหม่อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ไม่เคยมีโอกาสใช้สอยที่ดินอย่างสุรุ่ยสุร่ายเช่นในสหรัฐอเมริกาเลย สร้างความโปร่งใสสำคัญที่สุด ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่มาก เงินจำนวนมหาศาลก็รั่วไหลไปในมือผู้มีอิทธิพลส่วนน้อย หนทางสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือ การอาศัยอำนาจรัฐที่เป็นธรรมในการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในประเทศ และขจัดความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน แนวทางการดำเนินงานก็ได้แก่: - การสร้างระบบตรวจสอบที่ดี ท้องถิ่นหนึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ดูแลการโยธาเพียง 5 คน แต่มีบ้านในท้องถิ่นนั้นนับหมื่นหน่วย ดูแลอย่างไรก็ไม่หมด และเกิดช่องโหว่ในการไปดูแลเฉพาะกรณีที่สามารถรีดไถเงินต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสำคัญ กรณีนี้ภาครัฐต้องสร้างกลไกการตรวจสอบที่ดีโดยการว่าจ้าง (Privatize) และมีการกำกับตรวจสอบผู้ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง - การมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด ในประเทศที่เจริญ ประชาชนกลัวกฎหมาย แต่ไม่กลัวตำรวจ แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอาจกลายเป็นตรงกันข้าม การลงโทษเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างนั้น เป็นสิ่งจำเป็น อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยดำเนินการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบน้อยกว่าประเทศหลายต่อหลายแห่ง เช่น ในจีน มีการยิงเป้าคนโกง เวียดนามก็เข้มงวดขนาดเอานักฟุตบอลล้มบอลติดคุก เป็นต้น - การนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ เช่น หวยเถื่อน เหล้าเถื่อน หรือบ่อนการพนันเถื่อน กรณีนี้จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รัฐบาลได้ภาษีมาบำรุงประเทศมากขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ มักเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเราอ้างตนเป็น ‘ฝ่ายธรรมะ’ จึงไม่ยอมให้เมืองพุทธนี้มีบ่อน มีหวยเสรีที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากเราฉุกคิดให้ดีตามทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) บางทีฝ่ายธรรมะกับอาชญากรเจ้ามือหวยเถื่อน เจ้าของบ่อนเถื่อน อาจเป็นพวกเดียวกัน เราจึงยังปล่อยให้มีบ่อน หวย มีสถานะเถื่อนหรือให้เป็นสีเทาเพื่อแสวงหาประโยชน์มิชอบกันเกลื่อนเมือง ย้ายไปอยู่ภูฏานกันไหม โดยสรุปแล้ว เมื่อเอ่ยถึงความสุข หลายคนบอกว่าภูฏานเป็นประเทศที่มีความสงบสุขกว่าไทย จนกลายเป็นประเทศ ‘ส่งออก’ แนวคิด GNH ไปแล้ว ผมจึงอยากถามว่า ท่านอยากย้ายถิ่นไปอยู่ (ไม่ใช่ไปท่องเที่ยว) ภูฏานหรือไม่ ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจ ลองมาดูข้อมูลเหล่านี้เสียก่อน (ข้อมูลเปรียบเทียบรายประเทศของ www.cia.gov) - ภูฏานมีขนาดพื้นดิน 38,394 ตร.กม. หรือประมาณ 8% ของประเทศไทย มีประชากรเพียง 1% ของประเทศไทยหรือ 691,141 คน แต่อัตราการเพิ่มเร็วกว่าไทยมากคือ ประมาณ 1.27% เทียบกับไทยที่มีอัตราเพิ่มเพียง 0.62% - อายุเฉลี่ยของประชากรภูฏานคือ 66.13 ปี ซึ่งต่ำกว่าของไทยที่มีอายุเฉลี่ยถึง 73.1ปี ที่สำคัญ จำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อ่านออกเขียนในภูฏานมีเพียง 47% เทียบกับไทยที่มีถึง 92.60% - ขนาดเศรษฐกิจของภูฐานเล็กเพียง 1% ของไทย แต่อัตราเงินเฟ้อคือ 4.9% ซึ่งพอ ๆ กับไทยคือ 5.5% แม้รายได้ต่อหัวของประชากรจะดูไม่ต่ำกว่าไทยนัก เป็นประมาณ 2/3 ของไทย แต่ในความเป็นจริงประชากรภูฏานที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีถึง 31.7% ในขณะที่ของไทยเป็นเพียง 10% เท่านั้น แสดงว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในภูฏานสูงกว่าไทยมาก - อัตราการว่างงานของชาวภูฏานก็ยังสูงกว่าไทยนับเท่าตัวคือประมาณ 2.5% ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 1.2% เท่านั้น ดูจากตัวเลขข้างต้น ยังไงคงมีคนจำนวนหนึ่งอยากไปแน่นอน อาจจะอยากบวชเป็นพระที่นั่น แต่คงเป็นคนส่วนน้อย (ที่ดวงตาเห็นธรรม) คนส่วนใหญ่คงไม่คิดจะไป เพราะติดขัดในเรื่องความสะดวกสบาย ความเจริญ และหลักประกันต่าง ๆ ซึ่งมีน้อยกว่าไทย ก็คงคล้าย ๆ กับคนไทยที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา พวกเขาส่วนมากดีใจที่ได้กลับมาเที่ยวเมืองไทย หรือบางคนที่แก่แล้วก็อาจอยากกลับมาตายบ้านเกิด แต่ถ้าจะให้คนไทยในสหรัฐอเมริกา ย้ายถิ่นกลับไทย มาอยู่ในสภาวะแวดล้อมอย่างไทย ๆ ลูกเต้าก็ต้องมาเรียนในโรงเรียนแบบไทย ๆ มาอยู่ในระบบสวัสดิการสังคมแบบไทย ๆ ที่แม้พวกเขาจะเสียภาษีน้อยกว่า ก็คงหาคนกลับมาแทบไม่ได้จริง ๆ ความเป็นสรวงสวรรค์ (Shangri-La) ของภูฏานและประเทศแถบนี้ คงเป็นเฉพาะตอนไปท่องเที่ยวหรือไปอยู่ชั่วคราวเป็นหลัก สวรรค์นั้นใคร ๆ ก็อยากไป แต่ติดปัญหาคือยังไม่อยากตาย และที่สำคัญที่สุดก็คือหลายคนยังมีความสุขกับการ ‘ชดใช้กรรม’ ในประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรานี้มากกว่า


ผู้ตั้งกระทู้ ดร.โสภณ พรโชคชัย :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-25 09:25:07


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4066303)

 อยากรู้ว่าที่ประเทศภูฏานนั้นมีการพูดบทกลอนอะไรแบบบ้านเราบ้างไหมคะพอดีจะเดินทางไปกับทัวร์ภูฏานพอดีเผื่อเป็นข้อมูลเวลาที่เราไปเจอพวกเขาที่นั่น

ผู้แสดงความคิดเห็น ทรายแก้ว วันที่ตอบ 2016-08-30 11:38:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.