ReadyPlanet.com


เคล็ดพิชากานต์ แห่งยุค สมัยใหม่


วิเคราะห์

บทกวีการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า พ.ศ. 2548

นาฬิกาสงคราม : วิสุทธิ์ ขาวเนียม

นาฬิกาสงคราม นวัตกรรมของหื่นห่ามเหี้ยมกระหาย

เข็มเวลาจากกระดูกของคนตาย แกว่งลูกตุ้มกะโหลกร่ายเพลงเปลวไฟ

เพียงหยดเลือดหยดแรกแตกดอกสี ก็เริ่มต้นมิคสัญญียุคสมัย

สรวงสวรรค์รักละมุนอบอุ่นไอ ล่มสู่ใจกลางเล่ห์อเวจี

บุปผชาติช้ำชอกทิ้งดอกหอม ปวงผึ้งภู่อยู่ถนอมเตลิดหนี

พิราบรำพันพิราบอาบผงคลี ธารภูทุ่งรุ้งสีสะท้านตรม

คู่ตาทารกสะทกตื่น หวาดแต่เสียงเปรียงปืนระเบิดขรม

ละอองกลิ่นดินประสิวในพลิ้วลม สะกดข่มอนาคตอันงดงาม

พลเมืองแห่งแดนดินคลุ้งกลิ่นศพ เปลี่ยนวิถีสุขสงบมาแบกหาม-

แต่ซากชีพซีดซูบหลากรูปนาม ฝังกลบดินก่อนย่ำยามหนอนเยี่ยมเยือน

โลกศานติตกแตกแหลกสลาย โลกของเหตุการณ์ร้ายยิ่งกลายเคลื่อน

ประวัติศาสตร์ฉบับเลือดเดือดปีเดือน ถูกเขียนขึ้นบนสันเขื่อนหยาดน้ำตา

นาฬิกาสงครามกระดิกเข็ม การต่อสู้ยิ่งข้นเข้มการเข่นฆ่า

ใจประเทศโบราณสะท้านชะตา รอช่วงล่วงลาความเรืองไร

เมื่อสงคราม (งานฉลองของภูตผี) นำมาซึ่งมิคสัญญียุคสมัย

พลเมืองกลางคาวกลิ่นศพสิ้นใจ ก็เคว้งคว้างร้างไร้หวังตระการ

กลางเกลียวคลื่นขื่นทุกข์ที่รุกทบ เพลงสงครามสนามรบอันเหี้ยมหาญ

กระหึ่มกลบเพลงบุปผาระย้าบาน ทั้งกลบสิ้นแก่นสาร “ประชาธิปไตย”

 

กลอนบทนี้มีโวหารโดนเด่นอยู่สามประการ (หรือจะเรียกรวมๆว่า กวีสมัยใหม่มีเครื่องมือหากิน 3 อย่าง ก็ท่องยุทธจักรได้แล้ว) นั่นก็คือ

1.บุคคลาฐิษฐาน (Personification).

2.สัญลักษณ์ (SYMBOL)

3.อติพจน์ (hyperbole)

 

1. บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต (Personification). บุคลาธิษฐาน มาจาก คำว่า บุคคล+อธิษฐาน คืออธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล หมายถึง ภาพพจน์ที่กล่าวถึงสิ่งไม่มีชีวิตกระทำกริยาอย่างมนุษย์ เช่น วรรคที่ว่า

"เข็มเวลาจากกระดูกของคนตาย แกว่งลูกตุ้มกะโหลกร่ายเพลงเปลวไฟ"

(อันที่จริงควรใช้คำว่า "ร้องเพลงเปลวไฟ" จะเหมาะกว่า

เพราะการ ใช้คำว่า ร่าย จะไปรับสัมผัสกับคำว่าตาย ซ้ำยังส่งสัมผัส เลือนไปถึง คำว่าไฟ ด้วย

 

ประยงค์ อนันทวงศ์ อรรถาธิบายถึง สัมผัสเลือน ไว้ในหนังสือ กลอน และวิธีการเขียนกลอน ความว่า

สัมผัสเลือน หมายถึงสัมผัสที่อยู่ใกล้กันหลายคำ จนทำให้เลอะเลือนไปหมด เช่น

“โอ้เจ้าพวงบุปผามณฑาทิพย์ สูงลิบลิบเหลือหยิบถึงตะลึงแหงน"

หรือ

”แม้เธอเป็นดอกฟ้าน่าถนอม เหล่าชายล้อมอยู่พร้อมพรั่งดังฝูงผึ้ง”

คำว่า ลิบลิบ กับ หยิบ และ ล้อม กับ พร้อม เป็นสัมผัสรับได้ทั้งนั้น ก็คือทำให้สัมผัส เลือน ไป บางท่านว่า สัมผัสเลือน หมายถึง การสัมผัสคำที่ 3 และ 5 ในวรรครับและส่ง

ประยงค์ อนันทวงศ์ ยังได้อรรถาธิบาย เกี่ยวกับ การส่งสัมผัสกลอน ในกรณีอื่นๆ ผู้เขียนคิดว่ามีประโยชน์จึงขอเสริม ไว้อีกสักหน่อย ความว่า

สัมผัสซ้ำ หมายถึงคำที่เหมือนกันมาซ้ำกันในสัมผัสนอกของกลอนบทเดียวกัน เช่นว่า

“ถ้าฉันเป็นนักกลอนกระฉ่อนชื่อ คนนับถือทั่วหล้าพากล่าวขวัญ

ฉันคงคุยฉอดฉอดตลอดวัน คงมีมีขวัญที่จะฝันเสกสรรกลอน”

สัมผัสซ้ำ ในที่นี้อยู่ที่คำว่า ขวัญ ซ้ำนั่นเอง

สัมผัสแย่ง คือคำที่มีเสียงสระตัวเดียวกันมาตัดหน้าแย่งสัมผัสตามฉันทลักษณ์ไปก่อนอย่างเสียมารยาท เช่น

“เป็นนักเรียนไม่พอริก่อรัก มันดีนักหรือไฉนใคร่ขอถาม

ถ้ามันงาม หรือทำให้ เรียนได้ความ ก็น่าตาม ใจดู อยู่เหมือนกัน

แต่รู้กัน ความจริง มันไม่เหมาะ เพราะรักเกาะ เรียนก็อ่อน หย่อนเหหัน

ดีไม่ดี อาจดับลับ ชีวัน จึงสำคัญ คิดให้หนัก เถิดนักเรียน”

คำว่า งาม ไปแย่งกับคำว่า ความ ทำให้กลอนดูประหลาดไป เพราะเวลาอ่านจะลงคำว่า งาม ก่อน เป็นการแย่ง ความ ไปอย่างหน้าด้านๆ เช่นเดียวกับ เพราะ ที่แย่งสัมผัสกับ เหมาะ ก่อน เกาะ

พูดถึงเรื่องข้อห้ามเรื่องการส่ง สัมผัส กลอน สมัยนี้ จะเคร่งครัดก็เฉพาะในงานประกวดกลอนสดเท่านั้น นักเลงกลอนสดรุ่นใหม่ ถึงกับเกาหัวแกร็กๆ ถามข้าพเจ้าว่า พี่ๆ กวีซีไรต์ ยุคใหม่เขาแต่งกลอนไม่เน้นเรื่องสัมผัส แล้วทำมัยกรรมการประกวดกลอนสด ท่านหักคะแนน เรื่องสัมผัสเลือน ละพี่ ถ้าเชื่อกรรมการประกวดกลอนสด ก็จะไม่ได้เป็นกวีซีไรต์ ใช่หรือไม่ครับ เอ่อๆๆ คือว่า .....

วกกลับเข้ามาเรื่อง บุคลาธิษฐาน ในสมัยก่อนกวีใช้ บุคลาธิษฐาน ในวงแคบๆ ส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาเช่น เมื่อจะกล่าวถึง พระพุทธเจ้ามีชัยชำนะต่อพญามาร ก็กล่าว ไว้เป็น วสันตดิลกฉันท์ ความว่า

พาหุงสะหัสสะมะภินิม..............มิตะสาวุธันตัง

คิริเมขะลัง อุทิตะโฆ..................ระสะเสนะมารัง

ทานาทิธัมมะวิธินา ...................ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะ เม...................ชะยะมังคะลานิ

แปลความได้ว่า

เมื่อครั้ง พญามารเนรมิตแขน 1,000 แขน ถืออาวุธในมือ

ขี่ช้างคิริเมขละ สะพรึบพร้อมด้วยกองทัพอันน่าสะพรึงกลัว

พระจอมมุนีทรงชนะด้วยทานบารมีเป็นต้นอันชอบธรรม

ด้วยพระเดชนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

พญามาร ในที่นี้ก็คือ กิเลส ความฟุ้งซ่าน ความท้อถอย ในจิตใจ ของพระพุทธองค์

แต่กวี ได้บรรยาย ถึง กิเลส ให้ดูประหนึ่งว่ามี ชีวิต จึง ฉะนั้น พมามาร ในที่นี้ จึงเป็นเพียงแต่การใช้ บุคลาธิษฐาน ของกวีนั่นเอง

2.สัญลักษณ์ (SYMBOL)

"บุปผชาติช้ำชอกทิ้งดอกหอม ปวงผึ้งภู่อยู่ถนอมเตลิดหนี"

บุปผชาติ เป็นสัญลักษณ์ ของความสงบสุข

ปวงผึ้ง เป็นสัญลักษณ์ของประชาชน

ถ้าเป็นลีลา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็จะบรรยายทำนองว่า

ในหญ้ารกนั้นมีทาง เปลี่ยวอ้างว้างไร้คนเดิน

ทากน้อยจึงทาเงิน เป็นเงางามวะวามไว้

รอว่าสักวันหนึ่ง ซึ่งตะวันอันอำไพ

จะเกรี้ยวกราดและฟาดไฟ ประลัยหญ้าลงย่อยยับ

เมื่อนั้นแหละเงินงาม รวีวามจะตามจับ

เพชรผกายจะฉายวับ ขับเงินยวงแห่งช่วงทาง

และทากน้อยจะถมเนื้อ เพื่อภาวะแห่งผู้สร้าง

ระเหิดหายละลายร้าง อย่างเคยเคยทุกคราวครั้ง

ทางนั้นจึ่งปรากฏ ทอดไปจรดที่ใจหวัง

ตราบใดที่หญ้ายัง ก็บังใจที่ไขว่คว้า

การเกิดต้องเจ็บปวด ต้องร้าวรวดและทรมา

ในสายฝนมีสายฟ้า ในผาทึบมีถ้ำทอง

มาเถิดมาทุกข์ยาก มาบั่นบากกับเพื่อนพ้อง

อย่าหวังเลยรังรอง จะเรืองไรในชีพนี้

ก้าวแรกที่เราย่าง จะสร้างทางในทุกที่

ป่าเถื่อนในปฐพี ยังมีไว้รอให้เดิน ฯ

(เพียงความเคลื่อนไหว :เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

 

ทาก เป็น สัญลักษณ์ ของนักศึกษาที่เข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในสมัยนั้น

หญ้า เป็น สัญลักษณ์ ของ อำนาจเผด็จการ

"การเกิดต้องเจ็บปวด ต้องร้าวรวดและทรมา"

การเกิดต้องเจ็บปวด เป็นสัญลักษณ์ ของลัทธิคอมมิวนิสต์

หมายความว่า การเกิดขึ้นของลัทธิคอมมิวนิสต์ เหมือนดั่ง ผู้หญิงคลอดลูก ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ต้องเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสเป็นตายเท่ากัน

แต่เมื่อ ลูกคลอด แล้วอยู่รอดเป็นทารก เมื่อใด ผู้เป็นแม่ก็จะพบแต่ความสุข ลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นเพื่อปลดปล่อยมวลชนผู้ทุกข์ยากให้เท่าเทียมเป็นอิสระ

เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะพบแต่ความสุขแต่ก่อนที่จะคลอดลัทธิคอมมิวนิสต์จำต้องแลกมาด้วยการเสียเลือดเนื้อของคนในชาติ นั่นเอง

นอกจาก อัศนี พลจันทร หรือที่เรารู้จักท่านในนามปากกาว่า นายผี ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ชอบใช้สัญลักษณ์

ฟังอะไร

สงฆ์ชราเรืองพรตพริ้ง...............เพรางาม

ขึ้นสู่หอระฆังขาน-......................ย่ำแล้ว

เสียงระฆังคั่งอาราม...................ไพเราะ..เรื่อยแฮ

หมาหมู่หอนเจื้อยแจ้ว..................สอดจริง

สามเณรหนุ่มน้อยขึ้น (คึ่น)................หอระฆัง

ยามค่ำย่ำคือลิง..............................ย่ำล้อ

ระฆังลูกเดียวดัง.............................ด้อยลูก..ลั่นฮา

หมาหมู่หอนเจื้อยฮ้อ.......................เห่าแถม

ภิกษุซึมเซ่อขึ้น................................ดั่งเขา

ย่ำระฆังดั่งแกม................................เก่งบ้า

ฟังเสียงระฆังเดา..............................ดูออก..ไฉนเฮย

หมาหมู่หอนเจื้อยฮ้า..........................น่าหวัว

ใคร่รู้ใครขึ้นย่ำ...................................ค่ำยาม..นี้ฤา

ผิบ่แลเห็นตัว......................................ตรึกไซร้

ฟังเสียงหมู่หมางาม............................ละพ่อ

ฟังระฆังคุ้นให้....................................แจ่มเห็น

สัญลักขณ์ ที่ใช้

คนย่ำระฆัง=ผู้นำประเทศ

การย่ำระฆัง=รูปแบบ/วิธีการปกครอง

เสียงระฆัง=ผลแห่งการปกครอง

หมา=ประชาชน

นายผี ได้ ด่ากราดไว้ ว่า ไม่ว่าใครขึ้นตีระฆัง หมาก็หอนรับทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้ว่าใครตีระฆัง ต้องหัด ฟังเสียงระฆังให้คุ้นหูไว้ นั่นเอง

3.อติพจน์ (hyperbole) แปลว่าพูดโม้เกินจริง

จากกลอนนาฬิกาสงคราม วิสุทธิ์ ขาวเนียม ได้ใช้อติพจน์ ไว้ความว่า

"ประวัติศาสตร์ฉบับเลือดเดือดปีเดือน ถูกเขียนขึ้นบนสันเขื่อนหยาดน้ำตา"

สันเขื่อนหยาดน้ำตา จัดเป็นอติพจน์ เพราะน้ำตาคนเราคงไม่มากมายอะไรขนาดที่จะต้องใช้เขื่อนมากักเก็บไว้

จับใจความได้ว่า วิสุทธิ์ ขาวเนียม พูดโม้ในกลอนไว้นั่นเอง

หรือใน โคลงนิราศนรินทร์ ใช้อติพจน์แสดงถึง ความรักของกวีไม่มีวันจืด จาง แม้ทุกสิ่งรวมทั้ง โลกนี้ทุกอย่างจะสูญสลายไปหมด ดังความว่า

เอียงอกเทออกอ้าง อวดองค์ อรเอย

เมรุชุบสมุทรดินลง เลขแต้ม

อากาศจักจารผจง จารึก พอฤา

โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม อยู่ร้อนฤาเห็น

ตราบขุนคิริข้น ขาดสลาย แลแม่

รักบ่หายตราบหาย หกฟ้า

สุริยจันทรขจาย จากโลก ไปฤา

ไฟแล่นล้างสี่หล้า ห่อนล้างอาลัย

เป็นการพูดโม้ว่า จะเทหัวใจออกมาให้ดูบ้างล่ะ (เอียงอก เท ออกอ้าง)

เอาเขาพระสุเมรุเป็นปากกา เอาน้ำในมหาสมุทรแทนน้ำเขียน อักขรเลขา แต้มลงในห้วงอากาศ (ใช้อากาศแทนกระดาษ) ก็ยังเขียนบรรยายคามรักที่มีต่อนางไม่หมดสิ้น

ต่อให้ขุนเขาถล่ม

สวรรค์ชั้นฟ้าทั้ง หก ในฟากฟ้า (ฉกามาพจร) มลายหายไป

ไม่มีดวงอาทิตย์ดวงจันทร์

ไฟประลัยกัลป์ เผามอดหมดทั้ง อบายภูมิสี่ ก็ไม่มีวันหมดความคิดถึง โม้เก่งจริงๆ อิๆ

 

จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่า

กลอนสมัยใหม่พยามใช้คำง่ายๆ แต่เรียงลำดับประโยคให้มันแปลกๆ ใช้บุพบท และสันธาน อย่างฟุ่มเฟือย

เช่น

นวัตกรรมของหื่นห่ามเหี้ยมกระหาย

ละอองกลิ่นดินประสิวในพลิ้วลม

ก็เคว้งคว้างร้างไร้หวังตระกา

นี่ละกระมังที่เขาเรียกว่าว่าภาษากวี หมัยใหม่

นอกจากนี้กวีสมัยใหม่ยังลบปมด้อย ว่าด้วยเรื่อง อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ โดยเสริมปมเด่น ว่าด้วยเรื่อง

บุคคลาฐิษฐาน (Personification) สัญลักษณ์ (SYMBOL) และอติพจน์ (hyperbole) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มาเป็นเครื่องมือในการหากิน

พอพูดมาถึงตอนนี้ผมกำลังสงสัยว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุที่มา กลอนลีลาสมัยใหม่ แบบนี้มันคุ้นๆ ตา พิกลๆ

โอ้ อ้า....................คิด ออกและ

และแล้วผมก็ได้ข้อสมมติฐานที่ว่า กวีสมัยใหม่ มีกลอนเรื่อง พระมะเหลเถไถ ของคุณสุวรรณ เป็น Idol แน่ๆเลยเชียว เพราะลีลา ภาษา คล้ายกันมั่กๆ ยกตัวอย่างเช่น

บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ ผู้แต่ง คุณสุวรรณ

๏ ช้าปี่ เมื่อนั้น

พระมะเหลเถไถมะไหลถา

สถิตย์ยังแท่นทองกะโปลา

ศุขาปาลากะเปเล

วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก

มะเหลไถไพรพรึกมะรึกเข

แล้วจะไปเที่ยวชมมะลมเต

มะโลโตโปเปมะลูตู

ตริแล้วพระมะเหลจึงเป๋ปะ

มะเลไตไคลคละมะหรูจู๋

จรจรัลตันตัดพลัดพลู

ไปสู่ปราสาทท้าวโปลา ฯ๖คำฯ เพลงช้า

๏ ร่าย ครั้นถึงจึงเข้าตะหลุดตุด

ก้มเกล้าเค้าคุดกะหลาต๋า

มะเหลไถกราบไหว้ทั้งสองรา

จึงแจ้งกิจจามะเลาเตา

ด้วยบัดนี้ตัวข้ามะเหลเถ

ไม่สบายถ่ายเทกะเหงาเก๋า

จะขอลาสองราหน้าเง้าเค้า

เที่ยวมะไลไปเป่าพนาวัน ฯ๔คำฯ

๏ เมื่อนั้น

ท่านท้าวโปลากะปาหงัน

กับนางตาลากะปาลัน

ได้สดุบตรุบหันมะเลเท

มะลอกทอกบอกว่าจะลาไป

พนาปำทำไมจะไพล่เผล

มะเลอเตอเป๋อเปื้อนเที่ยวเชือนแช

จึงตรัสห้ามมะเหลเถมะเลทา

เจ้าอย่าไปไชเชกะเปลู

จงเอ็นดูพ่อเถิดมะไหลถา

พระมะเหลไถเฝ้ามะเลาชา

ก็จำให้ลูกยามะลาปอง ฯ๖คำฯ

http://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/maley.htm

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สั้นๆได้ใจความว่า กวีสมัยใหม่ ยังหูหนาตาเร่อ อยู่มาก ซ้ำร้ายยังยโสโอหัง มืดบอดมิจฉาทิฐฐิ เพราะได้เดินตามรอยที่กวีสมัยก่อนอยู่ต้อยๆ แต่ปากกลับร้องตะโกนว่าอย่างทรนงตนว่า กูนี่ล่ะสมัยใหม่ ได้สร้างสรรบทกวีแห่งยุค ขึ้นมาแล้ว ไม่ซ้ำรอตีนใคร อา......โอ อนิจจา

What the *** ,Thai poets are suck!

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้



ผู้ตั้งกระทู้ กวินทรากร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-25 19:39:08


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937521)
พยามแก้คำผิด ติดตามอ่านได้ที่

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao
ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-07-25 19:45:51


ความคิดเห็นที่ 2 (937522)
จริงๆแล้วจะหยิบเอา แม่น้ำรำลึก มาวิพากษ์ แต่ไม่มีหนังสือเพราะหนังสือ เล่มนั้นผมเขวี้ยง(ขว้าง+เหวี่ยงออกนอกหน้าต่างไปนานแล้ว) ก็เลยหยิบงานอื่นที่ใกล้เคียงมาวิพากษ์แทน เพราะสมัยนี้กลอนที่ได้รางวัลก็ ลีลาแบบนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงล่ะครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-07-26 16:53:32


ความคิดเห็นที่ 3 (937523)

ท่านกวินทรากรครับ

ลองวิจารณ์หนังสือ 8 เล่มที่เข้ารอบปีนี้หน่อย  เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อย

ผมยังไม่ได้อ่าน 2 เล่ม คือ ของศิริร  ที่ว่าเก็บความเศร้า ฯ และของอุเทฯ ที่ว่าสวรรค์อะไรนั่นแหละ

ผู้แสดงความคิดเห็น กวีซีบาย วันที่ตอบ 2007-07-26 17:34:31


ความคิดเห็นที่ 4 (937524)
จะพยาม ครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2007-07-26 21:35:28


ความคิดเห็นที่ 5 (937525)

ไม่เห็นคุณกวินฯจะวิเคราะห์อะไรในบท "นาฬิกาสงคราม" เลย ก็เห็นเขียนเรื่องที่เขารู้ ๆ กันอยู่แล้วทั้งนั้น  ทราบไว้ด้วยนะครับว่า   การจะวิเคราะห์วรรณกรรมอะไรนั้น  คุณต้องเอาตัวบทเป็นที่ตั้ง  แล้วใช้ความคิดวิจารณญาณของคุณแยกแยะออกมาว่ามีอะไรบ้างในงานชิ้นนั้น  นี่คุณแค่บอกว่า  งานชิ้นนี้มีเด่นอยู่สามประการคือ  บุคลาธิษฐาน  สัญลักษณ์  และอติพจน์  ใคร ๆ ก็รู้ครับ   แล้วมายกตัวอย่างโน่นนี่ที่ไม่เกี่ยวกับตัวบท "นาฬิกาสงคราม" เลย   ทำให้ผมรูสึกผิดหวังกับคำว่า "วิเคราะห์บทกวีการเมือง" ที่คุณจั่วหัวไว้อย่างมาก 

ยิ่งไปกว่านั้น คุณยังมีความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับสัมผัสเลือน  คุณเสนอแนะให้ใช้คำว่า "ร้อง" แทนคำว่า "ร่าย" เพราะ คำว่า "ร่าย"  จะไปรับสัมผัสกับคำว่า "ตาย"  และส่งสัมผัสเลือนไปยังคำว่า "ไฟ" ตามที่คุณอ้างนั้น  เป็นการให้เหตุผลที่ผิดพลาดอย่างมาก  คำว่า "ร่าย" รับสัมผัสกับคำว่า "ตาย" ก็ถูกต้องอยู่แล้ว  แต่คำว่า "ร่าย" ไม่อาจส่งสัมผัสเลือนไปยังคำว่า "ไฟ" ได้  เพราะคำว่า "ไฟ" ประสมด้วยสระ ไ- ซึ่งเป็นเสียงสั้น ( มาจากเสียง -ะ รวมกับเสียงพยัญชนะท้ายคือ -ย )  ซึ่งจะไม่สัมผัสกับคำว่า "ร่าย" ซึ่งเป็นสระเสียงยาว ( สระ -า สะกดด้วยตัว ย ในมาตราแม่เกย ) อย่างแน่นอน  ฉะนั้น  ร่าย กับ ไฟ จึงไม่เป็นสัมผัสเลือนต่อกันล้านเปอร์เซนต์  ผู้รู้ทุกท่านยืนยันได้ในประเด็นนี้  ความเข้าใจคลาดเคลื่อนตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าข้อเขียนของคุณไม่น่าศรัทธาเสียแล้ว

คำว่า "ร่าย" ในวรรคที่ ๔ ของบทที่ ๑ นี้นะครับ  ผู้เขียนเขาใช้ถูกต้องแล้ว  เพราะมันต้องรับสัมผัสกับคำว่า "ตาย" ซึ่งเป็นคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓    ครูเคยสอนว่า  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓  จะสัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ในวรรคที่ ๔  แต่หากวรรคนั้นมี ๙ คำ  ก็ขยับไปสัมผัสกับคำที่ ๖ ได้  เพราะเป็นจังหวะตก ของการอ่านแบบ ๓-๓-๓ นั่นเอง ( แกว่งลูกตุ้ม-กะโหลกร่าย-เพลงเปลวไฟ )  หากจะเปลี่ยนไปเป็นคำว่า "ร้อง" ตามที่คุณเสนอ  ผมเกรงว่าสัมผัสตรงนั้นจะหายไป  ผิดฉันทลักษณ์โดนยกออกแน่นอน  ซึ่งผมคิดว่าคนที่เรียกร้องฉันทลักษณ์อย่างคุณกวินฯก็คงรับไม่ได้เช่นกัน

สุดท้าย  คุณใช้ความคิดเห็นส่วนตัวในการสรุปว่าลีลากลอนของคนสมัยใหม่มาจากเรื่องพระมะเหลเถไถ  และประเมินค่าว่ากวีรุ่นใหม่หูตามืดบอดนั้น  ผมคิดว่า  คนที่มืดบอดก็คือคนที่ใช้ความคิดตัดสินคนอื่นอย่างปราศจากเหตุผลเช่นคุณนั่นแหละ  เพราะผมมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องพระมะเหลเถไถกับแนวกวีสมัยให่อย่างที่คุณยกเมฆเอา  คุณไม่ให้เหตุผลแล้วจู่ ๆ ก็มาสรุปอย่างนี้  นักวิชาการที่ไหนก็รับไม่ได้ทั้งนั้นแหละ  คุณต้องพิสูจน์ข้อเขียนของคุณให้ชัดเจนกว่านี้  ก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป   คุณต้องอุดช่องโหว่ข้อเขียนของคุณให้ได้  ซึ่งช่องโหว่บางอย่างก็ไม่ได้เกิดจากความเห็นต่างของผู้อ่าน แต่เกิดจากข้อมูลของคุณบกพร่องเอง  ฉะนั้น  หวังคุณจะเปิดใจรับคำชี้แนะนี้  และไม่มีอคติต่อกัน  

ผมไม่อยากเห็นคนที่มืดบอดมิจฉาทิฐิเป็นตัวคุณกวินฯเอง  และไม่อยากเห็นบทวิจารณ์หนังสือรอบสุดท้ายซีไรท์ทั้ง ๘ เล่มที่คุณจะเขียนขึ้นโดยปราศจากเหตุผลที่น่าเชื่อถือ  และเปี่ยมด้วยอคติที่คุณมีต่อรางวัลนี้    

ผู้แสดงความคิดเห็น โชติช่วง ชวาลา วันที่ตอบ 2007-08-02 19:24:51


ความคิดเห็นที่ 6 (1765204)

เห็นด้วยกับคุณโชติช่วง ชวาลาครับ

เราจะตัดสินว่ากวีสมัยใหม่เป็นเช่นนี้ทุกคนไม่ได้เพราะคุณยกตัวอย่างมาแค่คนเดียว

จริงๆ แล้วคุณควรกลับไปอ่านงานเก่าๆ ให้ดีกว่านี้ก็จะดี อ้อ ตำรากลอนที่ยกมานะ (ของท่านประยงค์) เชื่อถือได้แค่ไหน ดูเหมือนคุณจะยึดเป็นตำราของการตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างเลยนะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทวนคม ธนูคัน วันที่ตอบ 2008-06-05 11:51:50


ความคิดเห็นที่ 7 (1765207)

อ้อ แล้วความรู้เรื่องสัมผัสเลือนที่ว่ามานะ ก็แสดงให้เห็นจุดบอดและทัศนะอันเป็นอคติของบทวิจารณ์นี้ด้วย แล้วไหนจะที่จั่วหัวมา พิชากานต์ แปลว่าอะไร ที่รักของความรู้เหรอ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทวนคม ธนูคัน วันที่ตอบ 2008-06-05 11:54:49


ความคิดเห็นที่ 8 (2056931)

เข็มเวลาจากกระดูกของคนตาย แกว่งลูกตุ้มกะโหลกร่ายเพลงเปลวไฟ

เข็มเวลาจากกระดูกของคนตาย แกว่งลูกตุ้มกะโหลกร่ายเพลงเปลวฟาย

ร่าย และ ไร่ ต่างกันที่เสียง สั้น ยาว ก็จริง แต่ส่งสัมผัสด้วยกลอน  อาย/ไอย์ ครับ เวลาอ่านออกเสียงดังๆ ก็ ทำ(ทัม/ทาม)  ให้สัมผัสเลือน ได้ย์/ด้าย ครับ

เข็มเวลาจากกระดูกของคนตาย แกว่งลูกตุ้มกะโหลกร่ายเพลงเปลวฟาย(ไฟย์)

การที่ผมเสนอให้ย์/ห้าย ใช้ย์/ช้าย คำว่า ร้อง แทนคำว่า ร่าย นั้น เป็น การประเทียด (สัพยอก) น่ะครับ ก็ ในย์/นาย เมื่อ กลอนนี้แต่งแบบ กลอนลูกผีครึ่ง ลูกคนครึ่ง แบบว่า จะเป็นกลอนแปด (กลอนเก้า) ก็ ไม่ย์/ม่าย ใช่ย์/ช่าย กลอนบทละคร ก็ ไม่ย์ /ม่าย เชิง  จำนวนพยางค์ตาม ใจย์/จาย ฉันแบบนี้ จะไม่แคร์ ทำ/ทาม ไมย์/มาย เรื่อง การส่ง สัม/สามผัส

พิชากานต์ นี่ก็ เป็นการประเทียด ครับ เพราะจะเรียกว่าคำประพันธ์แบบนี้เป็น กานท์ ก็เป็น กานท์กลายพันธ์ กระดากปาก กลอนสมัยใหม่ ผมว่า สำนวนสำเนียง  อ่านทะแม่งๆ แปร่งๆ หู เหมือนกลอนพระมะเหเถไถ จริงๆ นาค้าบบบบบบ

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2010-04-21 22:49:11


ความคิดเห็นที่ 9 (2056935)

*** แก้ ร่าย และ ไร่ แก้เป็น ร่าย และ ไฟ

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2010-04-21 23:04:22


ความคิดเห็นที่ 10 (2056942)

พระมะเหลเถ ใช้คำที่ไม่มีความหมาย เป็นส่วนมาก มีวากยสัมพันธ์ ที่พิสดาร  มีสัมผัสแพรวพราว ที่ประดิดขึ้นจะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ก็สามารถเดินเรื่องให้คนอ่านเข้าใจได้

ส่วนกลอนสมัยใหม่ๆ ก็เช่นกัน สัมผัส ก็แพรวพราว อ่านยาก ใช้วากยสัมพันธ์ แบบแปลกๆ เช่นกัน

กลอนสมัยใหม่ ก็นิยมแต่งแบบกลอนบทละคร ผมก็เลยตั้งข้อสังเกต ว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก พระมะเหลเถ อ่านเทียบกันแล้ว ยังไม่เห็นความเหมือน  หรือครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2010-04-21 23:22:53


ความคิดเห็นที่ 11 (2058493)

น่าเศร้า

 

ที่สังคมไทย มีผู้วิจารณ์ มากกว่า ผู้สร้างสรรค์

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เล่นเอาเถิดเจ้าฬ่อ วันที่ตอบ 2010-04-25 22:34:53


ความคิดเห็นที่ 12 (2061761)

เก่งจริงก็ส่งผลงานที่แสนจะดีเลิศของตัวเองไปประกวดบ้างสิ เก่งนักไม่ใช่เหรอ อย่าดีแต่เอาปากไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเขา ขอร้อง ไม่สร้างสรรค์อย่าทำลาย งานของทุกคนย่อมมีข้อดีข้อเสียเป็นสัจธรรม คนเราก็ไม่ต่างกันมีดีก็ต้องมีเสียปะปนกันเป็นธรรมดา ถ้าคุณคิดว่าความคิดตัวเองดีเลิศพอที่จะไปตัดสินคนอื่นว่าดีหรือไม่ดี อย่าเสียเวลาไปวิพากษ์งานคนอื่นเลย ป่านนี้คงได้ซีไรต์ไปแล้วมั้ง มิยักกะเห็นคนเก่งขนาดนี้ได้รางวัลอะไรกะเค้า น่าเวทนาจริงๆ ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าของผลงานจงสร้างสรรค์ผลงานดีๆต่อไป มีจุดยืนของตัวเอง อย่าสนใจปากหอยปากปู ปากตำแยเลยนะ เสียเวลา

ผู้แสดงความคิดเห็น ใครคนหนึ่ง วันที่ตอบ 2010-05-06 22:02:43


ความคิดเห็นที่ 13 (2375376)

แหม อ่านแล้วดีจัง ขอขอบพระคุณความรู้จากทุกๆท่านนะท่านนะ
ปาดขอแชร์ไปอ่านศึกษาต่อที่เฟส "ศรีปาด" บนเฟสบุ๊คนะท่าน
หากคุณอาคุณพี่ท่านใด มีโอกาสว่างๆ ปาดขอกราบเรียนเชิญไปชมเพจศรีปาดที่เฟสบุ๊คบ้างนะท่านนะ
จะตำหนิหรือวิจารณ์อย่างใดก็ได้ ปาดขอน้อมรับเพื่อประโยชน์ในการศึกษางานเขียนแบบนักเรียนกลอน นะท่านนะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ศรีปาด วันที่ตอบ 2013-06-23 02:50:05



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.