ReadyPlanet.com


สังคายนา "ภาษาไทย" ก่อนเด็กรุ่นใหม่พูดเพี้ยน !


สังคายนา "ภาษาไทย" ก่อนเด็กรุ่นใหม่พูดเพี้ยน !
27 กรกฎาคม 2550 00:05 น.
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งภาษาไทยได้ถูกต้อง ชัดเจนตลอด ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะทำนุบำรุงภาษาไทยให้ดำรงอยู่คู่กับคนไทย ทรงเป็นแบบที่ดี เราเป็นคนไทยรักชาติ รักแผ่นดิน
 ต้องดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ต้องระลึกเสมอภาษาไทยเป็นภาษาของชาติ เป็นสมบัติของชาติที่มีค่ายิ่งใหญ่ ต้องรัก ถนอม และหวงแหนภาษาแม่ ต้องระลึกเสมอว่า คนไทยมีหน้าที่ต้องกวดขันในการพูด การเขียน การอ่านให้ถูกต้อง คนไทยทุกคนจะต้องทำให้ภาษาไทยสะอาดบริสุทธิ์"
 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ภาษาไทยบนแผ่นดินไทย" ตอนหนึ่งในการเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาระดับชาติเรื่องการแก้วิกฤติภาษาไทย ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม
 การจัดงานดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ สมาคมครูผู้สอนภาษาไทยแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ราชบัณฑิตยสถาน และสำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติ ระดมความเห็นของผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติภาษาไทย เพื่อนำผลการสัมมนาประกอบการร่างแผนแม่บทภาษาไทยแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรี
 หลังมีการวิจัยพบเด็กไทยมีปัญหาออกเสียงภาษาไทย โดยสถาบันรามจิตติร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม วิจัยพบทัศนคติและพฤติกรรมการใช้ภาษาไทยของกลุ่มวัยรุ่นเมื่อปี 2548 พบว่า เด็กร้อยละ 43.9 ยอมรับว่าออกเสียงควบกล้ำไม่ชัด ร้อยละ 24.4 ท่องตัวอักษร ก-ฮ ไม่ได้ ร้อยละ 32 สะกดคำในภาษาไทยผิดเป็นประจำ ร้อยละ 42.8 มีปัญหาในการนึกคำ ภาษาที่สละสลวยไม่ออก ร้อยละ 56.5 มีปัญหาในการนึกประโยคยาวๆ และร้อยละ 53.9 มีปัญหาวิชาเรียงความ นอกจากนี้ยังมีเด็กไทยร้อยละ 36 ชอบชื่อเล่นเป็นภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย และร้อยละ 35.2 ชื่อร้านเท่ๆ ต้องเป็นชื่อฝรั่ง
 รวมทั้งปรากฏการณ์คนอีสาน เห่อตั้งชื่อเป็นฝรั่ง โดยผลสำรวจชื่อเล่นของเด็กอีสาน มีผลต่อการใช้ภาษาไทยในพื้นที่เทศบาลจังหวัดขอนแก่น ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น (สวจ.) จากแบบสำรวจ 3,000 ชุด ได้รับคืน 2,828 ชุด คิดเป็นร้อยละ 94.26 พบว่ามีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทย 1,531 คน คิดเป็นร้อยละ 54.13 ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ 1,297 คน คิดเป็นร้อยละ 45.87 ชื่อยอดนิยมภาษาไทย คือ "เล็ก" ส่วนชื่อยอดนิยมภาษาอังกฤษ คือ "บอล" ขณะที่ชื่อ บุญมี บุญมา บุญสี บุญตา ทองคำ คำสี คำสา คำ เลือนหายไป รวมทั้งคำว่า บักหำน้อย คำเรียกแทนชื่อเด็กผู้ชาย และคำว่า "อี" นำหน้าคำ เช่น "อีพ่อ อีแม่" ก็หายไปเช่นกัน
 ไม่นับพฤติกรรมการ โห่ไล่การแสดงสรภัญญ์ เพราะอยากฟังดนตรีสมัยใหม่ สะท้อนความล้มละลายทางวัฒนธรรม โดย รศ.อุดม บัวศรี นักปราชญ์ด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) บอกว่า เคยพบคณะการแสดงสรภัญญ์ ขับขานเพลงปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ถูกคนอีสานรุ่นใหม่โห่ไล่ห้ามแสดง เพราะอยากจะดูดนตรีแทน สร้างความเสียใจให้แก่คณะผู้แสดงจนถึงกับร่ำไห้ เสียดายที่ลูกหลานคนรุ่นใหม่ไม่สนใจ ภาษาอีสานปัจจุบันจึงเพี้ยนไป เช่น คำว่า สิไป เป็น จะไป เป็นต้น ไม่มีใครแต่งวรรณคดีประเภทร้อยกรอง เช่น วรรณกรรมผญา ยาซ่วง โตงโตย ภาษิตต่างๆ เป็นต้น
 เด็กเหนือเมิน "อู้คำเมือง" อีกปรากฏการณ์ที่ตอกย้ำเด็กรุ่นใหม่ลืมภาษาถิ่น งานนี้ ศ.เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ปี 2549 ในฐานะนักวิชาการด้านภาษาล้านนาและศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ออกมาระบุว่า เด็กภาคเหนือรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปีพูดคำเมืองไม่ได้แถมพูดภาษากลางก็ไม่ชัด
 "แหลงใต้" ภาษาท้องถิ่นบรรพบุรุษภาคใต้ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ภาคใต้อายที่จะพูดภาษาถิ่นสื่อสารกันในกลุ่มเพื่อนด้วยมองว่า เชย ประสบการณ์ตรงที่ "วีระ โรจน์พจนรัตน์" ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ถึงกับหวั่นวิตกเป็นห่วงการแสดงหนังตะลุง มโนราห์ เพลงบอก ฯลฯ จะสูญสิ้น
 "แอ๊บแบ๊ว" จุดกระแสภาษาไทยเพี้ยน โดย วัฒนะ บุญจับ นักวิชาการฝีปากกล้า กรมศิลปากร ออกมาระบุว่าเกิดแฟชั่นการใช้ภาษาไทย ที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าแอ๊บแบ๊ว พูดจาล้อเลียนจนกลายเป็นเรื่องตลกขำๆ สุดท้ายกลายเป็นภาษาพูดติดปาก นำมาใช้ในชีวิตประจำวันแบบผิดๆ เหมือนการผันคำเล่นสมัยก่อน เช่น หนึ่งคึง สองคอง สามคาม เป็นต้น หากมองผิวเผินในฐานะนักภาษา นับว่าเป็นวิวัฒนาการทางภาษา หากปล่อยให้เด็กพูดไม่ชัดนำไปใช้ไม่รู้ว่าผิด เป็นเรื่องที่อันตรายมาก
 "แอ๊บแบ๊ว" เห็นในเวทีประกวดนักร้องรายการเรียลิตี้ต่างๆ ที่ผู้เข้าประกวดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ออกสำเนียงตามฝรั่ง ทุกคำของภาษาไทยเหมือนมีตัว CH กำกับอยู่ เช่น เธอ เป็น เชอ, ฉัน เป็น ชั้น, ใจ เป็น จัย เป็นต้น ออกเสียง จ เป็น ช หรือ ท เพี้ยน เช่นคำว่า ทั้ง เป็น ชั้ง
 ปรากฏการณ์ดังกล่าว พล.อ.เปรม ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงภาษาไทยเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่ไม่ใช่จงใจ ถ้าถามเด็กสมัยนี้ตอบว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องวิวัฒน์ ภาษาไทยต้องพัฒนาให้ดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น คำว่า "สามัญ" ออกเสียง "สามั้ญ" เขาจะยิ้มและพอใจว่าเก๋ดี
 พล.อ.เปรม ชี้ให้เห็นว่าภาษาไทยมีความละเอียด ลึกซึ้ง ไวยากรณ์ หลายคำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต บางคำเขียนอย่างหนึ่งอ่านอย่างหนึ่ง บางคำอ่านได้ 2 อย่าง บางคำใช้ไม้ไต่คู้กำกับ บางคำก็ไม่มี สมัยเรียนคำว่า "เพ็ชร" มีไม้ไต่คู้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี เพื่อนที่เป็นนักปราชญ์บอกว่าคำว่า "เพ็ชร" ถ้าไม่มีไม้ไต่คู้ต้องอ่านว่า "เพชอน" นับว่าภาษาไทยมีเสน่ห์มาก ผันได้ 5 เสียง คนต่างชาติบอกว่าไพเราะมาก
 พล.อ.เปรม ยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า ปัจจุบันภาษาไทยผิดเพี้ยนไปมาก การพูด อ่านออกเสียง การสะกด การการันต์ การใช้คำเปลี่ยนแปลงไปมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความห่วงใยและเคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา ทำให้ฟังดูแปลก สมาคมครูภาษาไทยฯ น่าจะให้ความสนใจกับพระราชกระแสรับสั่งและนำไปแก้ไขเรื่องดังกล่าว
 การที่เยาวชนไทยนิยมพูดคำสแลง เช่น แอ๊บแบ๊ว ชิว ชิว และร้องเพลงเหมือนคนปวดไตนั้น รศ.ดร.วรากรณ์  สามโกศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มองว่า เป็นเพราะพูดภาษาไทยไม่ชัด ไม่มีคำควบกล้ำ เช่น "ปลาบปลื้ม" เป็น "ปาบปื้ม"  "ปรับปรุง" เป็น "ปับปุง" การแก้ปัญหาต้องสร้างความภูมิใจในความเป็นไทย ปลูกจิตสำนึกรักภาษาไทย ส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ให้พ่อแม่สอนภาษาท้องถิ่นตั้งแต่เล็กๆ เมื่อรู้ภาษาท้องถิ่น ภาษากลางก็ได้เปรียบ ไม่เสียโอกาสในการทำงาน ส่วนการออกเสียงวรรณยุกต์ผิดนั้น พ่อแม่และครูต้องสอนให้เด็กออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน
 ขณะที่ ผอ.ศูนย์ภาษาไทยสิรินธรและอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ปราณี กุลละวณิชย์  เห็นว่าต้องสอนให้เด็กเข้าใจธรรมชาติของภาษา ทั้งภาษาทางการและภาษาท้องถิ่น จะแก้ปัญหาได้มาก ควรส่งเสริมการอ่านหนังสือที่ดีๆ ถ้าเป็นไปได้กระทรวงศึกษาธิการ น่าจะบรรจุการพูด-เขียนคำเมือง ศึกษาวรรณคดี และประวัติศาสตร์ล้านนาไว้ในหลักสูตรท้องถิ่น ส่งเสริมให้เป็นวิชาบังคับเลือกเรียนตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน (ป.1-ม.6) ถึงอุดมศึกษา
 ส่วนภาษาถิ่นอีสานนั้น รศ.อุดม บัวศรี บอกว่า อยากให้อนุรักษ์ คำว่า "หำ" เอาไว้เพราะถือเป็นคำสากลในภาษาอีสาน ภาษาถิ่นอีสานมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มีความเข้าใจว่า ภาษาอีสานเป็นภาษาไม่สุภาพ เช่น คำว่าขี่ (คนอีสานจะออกเสียงว่าขี้) ขี่เกี้ยม (จิ้งจก) บักหำ หำน่อย (เด็กน้อย) เป็นต้น จะช่วยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ลืมรากเหง้าของตนเองได้
 ศ.กิตติคุณกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตด้านภาษาไทยและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กไทยใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนแก้ได้ ด้วยการส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือและวรรณคดีให้มากๆ รวมถึงให้อ่านวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สำคัญพ่อแม่ต้องสอนให้เด็กรู้ว่าเวลาไหนควรพูดภาษากลาง และเวลาไหนควรพูดภาษาท้องถิ่น เพื่อให้เด็กใช้ภาษา 2 กลุ่มให้เป็นประโยชน์
 ทว่า "ครูลิลลี่" กิจมาโนจญ์ โรจนทรัพย์ ติวเตอร์วิชาภาษาไทยขวัญใจวัยรุ่น กลับเห็นต่างว่าการที่วัยรุ่นไทยใช้ภาษาไทยแบบแอ๊บแบ๊วไม่ผิด เพราะใช้สื่อสารระหว่างเพื่อนในกลุ่ม เพื่อสร้างรอยยิ้ม สร้างสีสัน ไม่อยากให้โทษเด็กว่าทำให้ภาษาไทยวิบัติ เพราะวิวัฒนาการเกิดขึ้นได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์
 "ไม่ห่วงภาษาไทยจะวิบัติ แต่ห่วงการนำไปใช้ของเด็กและเยาวชนมากกว่า หากขาดสติหรือไม่รู้จักกาลเทศะก็จะเกิดอันตราย เช่น นำไปใช้ในการเขียนข้อสอบ นำไปเขียนหนังสือที่เป็นทางการ อยากให้รัฐบาล หน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน พ่อแม่ ครู ช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่เด็ก ควรชี้แนะเมื่อเด็กพูด" ครูลิลลี่ กล่าว
 จะว่าไปแล้วภาษาเป็น "ไดนามิก" มีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา สำคัญว่าการนำมาใช้ เหมาะสมหรือไม่ เหนือสิ่งอื่นใด "ภาษาไทย สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ" ต้องรักษาไว้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งการพูด อ่าน เขียน และปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้คุณค่า รู้คุณของแผ่นดิน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องปลูกฝังตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษา เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติและความถูกต้องของภาษาไทยนั่นเอง
 ทีมข่าวโต๊ะการศึกษา : เรื่อง
 สุกล เกิดในโกศล / ศูนย์ภาพเนชั่น : ภาพ
 -----------------------
 ล้อมกรอบ 1
 พูดยังไงถึงเรียกว่า "แอ๊บแบ๊ว"
 จากการค้นหาความหมายของคำว่า "แอ๊บแบ๊ว" ทางอินเทอร์เน็ตพบว่า นอกจากจะเป็นที่นิยมในหมู่เด็กและเยาวชนทั่วไปแล้ว ยังมีอิทธิพลมาสู่ภาษาเขียนในอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก มีการตั้งกระทู้คำถามให้ชาวเวบไซต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแฟชั่น "แอ๊บแบ๊ว" น่ารัก หรือดัดจริตจนเกินงาม ที่สำคัญได้พบความหมายของอาการแอ๊บแบ๊วในเวบไซต์สืบค้นลักษณะเดียวกับเวบไซต์ "วิกิพีเดีย" หรือสารานุกรมเสรี ที่ชื่อ อันไซโคลพีเดีย หรือไร้สาระนุกรมพีเดีย http://th.uncyclopedia.info/wiki สรุปใจความว่า
 "แอ๊บแบ๊ว" กำลังนิยมในหมู่วัยรุ่นตอนนี้ เช่นคำว่า กระแดะ เป็นคำที่ได้ถูกบันทึกลงในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และเป็นที่ฮือฮามาก ซึ่งใน "ไร้สาระนุกรมพีเดีย" ยังระบุเคล็ดลับ "แอ๊บแบ๊ว" อีกว่า เป็นอาการทางจ(ริ)ตชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นในเพศหญิงช่วงแรกสาวเป็นต้นไป แต่ตอนนี้เริ่มลุกลามในผู้ชาย กะเทย และเพศใกล้เคียง มีอาการควบคู่ไปกับการแสดงออกทางอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่
 1.ดวงตา จากที่เคยมีลูกตาขนาดปกติไม่ว่าขนาดใดก็ตามคนที่ "แอ๊บแบ๊ว" จะมีดวงตากลมบ้องแบ๊ว เกิดประกายวิบวับขึ้นมาอย่างหาสาเหตุไม่ได้ (สันนิษฐานว่าเป็นที่มาของคำว่าแอ๊บแบ๊วนั่นเอง) ถ้านึกภาพไม่ออก แนะนำให้ไปดูเอ็มวีเพลง ปู ของเนโกะจั๊มพ์ โดยเฉพาะภาพตอนสองสาวเล่นกับกล้อง นั่นแหละคืออาการแอ๊บแบ๊ว
 ส่วนอุปกรณ์เสริมความแบ๊วในข้อนี้ ได้แก่ ที่ดัดขนตา มาสคาร่า และอายไลเนอร์ ที่จะช่วยขับให้ตาแบ๊วขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เดี๋ยวนี้มีคอนแทคเลนส์ประเภทเพิ่มขนาดลูกตาดำด้วย อวัยวะข้างเคียงที่จะมีผลกระทบคือ คิ้ว ที่จะเลิกขึ้นนิดๆ หัวคิ้วจะหดเข้าหากัน ทำให้คนแอ๊บแบ๊วมีสีหน้าดูสงสัย ไร้เดียงสาอยู่ตลอดเวลา
 2.แก้ม แก้มป่องเป็นอาการแอ๊บแบ๊วอันดับสองที่ขาดไม่ได้ ลำพังคนที่แก้มป่องเป็นธรรมชาติถือเป็นโชคดี แต่สำหรับคนที่แก้มตอบ โหนกปูด กรามสองข้างทำมุมฉากซึ่งกันและกัน จะได้เห็นอาการพยายามอมลมไว้ในปาก แล้วดันกระพุ้งแก้มให้ป่องออกมาจนกระทั่งดูน่าหยิกเล่น คนที่แอ๊บแบ๊วจนชำนาญขนาดแก้มที่ป่องกำลังดีดูน่ารัก แต่สำหรับแอ๊บแบ๊วมือใหม่หลายคนพลาดแก้มป่องเป็นปลาทองรักเร่
 3.ปาก สาวแอ๊บแบ๊วจะถูกกำหนดให้มีริมฝีปากบนบางๆ แล้วยกเชิดขึ้นจนเห็นฟันคู่หน้านิดๆ แบบ "อั้ม" พัชราภา แตงโม "เมย์" พิชญ์นาฏ  กิ๊บซ่า กิ๊บซี่ เกิร์ลลี่ เบอร์รี่ และดาราอีกเป็นสิบคน ที่ถ่ายรูปลงหนังสือกี่เล่มๆ ก็ทำปากแบบเดิมได้ตลอดเวลา ส่วนริมฝีปากล่างขณะแอ๊บแบ๊วนั้นมีข้อบังคับว่า ห้ามเผยอออกมาจนห้อยย้อย แต่ต้องเกร็งไว้นิดๆ เบะคางให้ดูคล้ายแอบงอนใครมา ทีเด็ดคือต้องยิงมุมปากให้เบี้ยวไปข้างที่ถนัดข้างใดข้างหนึ่งพอประมาณหน้าแบ๊วที่ออกมาจะดูแก่นเซี้ยวแสนซน และทำให้แอบคิดไปเองได้ว่า "ตอนนี้เราหน้าเหมือนโฟร์แล้วล่ะตะเอง..." อย่าลืมรักษารูปปากไว้ตลอดเวลาที่พูดคุยด้วยนะคะ เสียงที่ออกมาจะได้อ้อมแอ้ม พูดไม่ชัด
 4.เสียง เสียงเป็นอาการทางกายภาพข้อสุดท้ายของการแอ๊บแบ๊ว เสียงมาตรฐานการแอ๊บแบ๊วคือเสียงเล็กๆ อู้อี้นิดๆ อ้อนหน่อยๆ และทำอย่างไรก็ได้ให้ผิดอักขระวิธีให้มากที่สุด เช่น  ใช่ไหม เป็น ชิเมะ? ชิป้ะ? ชิม้า คือว่า เอ่อ เป็น คึ่ บั่บ คึ่แบ๊บ เอิ่ม อึ่มมม อะไรน่ะ เป็น อึ่หล่ายอ้ะ? เป็นต้น ส่วนตัวอย่างประโยคการพูดแอ๊บแบ๊ว เป็น "ฮั้ย ! สัสดีแกร..มะได้เจ๊อกึนนานม๊ากกก คิดถึ่งซูดซู๊ดดด ไปกินค๊าวที้ ซึ่หย่ามกึนเมะ เด๋วพี๊..ชายเราป้ะส่งแหละ"
 สุดท้ายเวบไซต์ดังกล่าว ยังบอกวิธีฝึก “แอ๊บแบ๊ว” ง่ายๆ คือยืนหน้ากระจก ฝึกทำหน้าให้แบ๊วที่สุด แล้วลองอ่านข้อความเหล่านี้อัดเสียงใส่เทปเอาไว้ ถ้าเปิดฟังแล้วรู้สึกอยากกระโดดถีบตัวเองเมื่อไร แสดงว่าคุณผ่านการ "แอ๊บแบ๊ว" ระดับเบสิกได้แล้ว
 ----------------
 ล้อมกรอบ 2
 คลอดพจนานุกรมคำใหม่ปลายปี
 ราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำ "พจนานุกรมคำใหม่ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งมีทั้งคำใหม่ คำสแลง หรือสำนวน ที่ใช้จนติดปากใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งคำที่เคยบรรจุไว้ในพจนานุกรม ฉบับมาตรฐานแล้ว แต่ปัจจุบันใช้ในความหมายที่แตกต่างออกไปก็จะนำมาบรรจุไว้ในพจนานุกรมคำใหม่ พร้อมให้ความหมายใหม่ด้วยประมาณ 1,000 คำ เตรียมจัดพิมพ์เผยแพร่ในปลายปี 2550 นี้
 ขอบเขตการเก็บคำศัพท์ใหม่แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.คำที่เกิดขึ้นใหม่ เนื่องจากปรากฏการณ์ใหม่ สิ่งที่เป็นที่รู้จักใหม่ๆ เช่น ไข้หวัดนก อัลไซเมอร์ สึนามิ เด็กแว้นซ์ จอแบน หวยออนไลน์ เศรษฐกิจฟอง สบู่ การเมืองธนกิจ กาวใจ สปา องค์กรอิสระ
 2.คำที่มีอยู่แล้วแต่มีการใช้ในความหมายใหม่ เช่น แห้ว กลับลำ ไขก๊อก จัดฉาก เหยี่ยวข่าว เว้นวรรค กระบอกเสียง ฟอง สบู่แตก ใส่เกียร์ว่าง 3.คำที่มีการขยายคำใหม่ เช่น ขำ-ขำกลิ้ง ขำแตก เมา-เมาปลิ้น แหง-แหงแก๋ 4. คำที่พจนานุกรมเก็บไว้แล้ว แต่ขาดตัวอย่างการใช้ ซึ่งทำให้เข้าใจความหมายไม่ ชัดเจนพอ เช่น หักคอ เพลียใจ
 5.สำนวนหรือวิธีการเปรียบเทียบที่ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับมาตรฐาน เช่น น้ำผึ้งพระจันทร์ ซึ่งเป็นคำที่ใช้นานกว่า 10 ปีแล้ว ดาวค้างฟ้า กระทบไหล่ กรวดในรองเท้า กระโปงบานขาสั้น ล้วงลูก สะกิดต่อมฮา ลมบ่จอย นกน้อยในไร่ส้ม 6.สำนวนที่มีความหมายใหม่ เช่น เล่นจ้ำจี้  เจ้าโลก เจ้า จำปี 7.คำเลียนเสียง คำแสดงท่าทาง หรืออารมณ์ เช่น หวือ หวา อึมครึม อึ้งกิมกี่ เสียว
  8.คำภาษาต่างประเทศที่ใช้ กันมาก เช่น อัลบั้ม โกอินเตอร์ คาราโอเกะ โค้ช รับจ๊อบ ดีท็อกซ์ เม้าส์ จัมโบ้ และคำที่ยืมภาษาจีน เช่น โละ อั่งเปา ล่องจุ๊น 9.คำเก่า คำธรรมดา คำหลง ที่ยังไม่ได้เก็บในพจนานุกรมฉบับ พ.ศ.2542 เช่น กันเหนียว ข้ามชาติ เสือปืนไว และ 10.คำวัยรุ่น คำภาษาปาก ซึ่งมีความหมายและมาจากที่ต่างๆ เช่น เฝ่ย นิ้ง ตึ๋งหนืด ตึ้บ ตุ๋ย ติงต๊อง


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-28 08:23:06


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937541)
ดีคับ
ผู้แสดงความคิดเห็น fu8y[lo6dfh;p วันที่ตอบ 2008-01-31 11:36:19


ความคิดเห็นที่ 2 (1755811)

มะเห็นรุเรื่องเลย

ผู้แสดงความคิดเห็น คนนั้นเเละ วันที่ตอบ 2008-05-26 19:41:54


ความคิดเห็นที่ 3 (1797712)

บริการรับทำเว็บไซต์
เว็บไซต์ส่วนตัว เว็บบริษัท เว็บร้านค้า เว็บขายสินค้า
โปรโมชั่นพิเศษเพียงแค่ 3,600 บาท
ฟรีโดเมนเนม ฟรีเว็บโฮสติ้งตลอดอายุการใช้งาน
ติดต่อที่ 108studio.com
หรือที่เบอร์ 02-934-9081

ผู้แสดงความคิดเห็น meello วันที่ตอบ 2008-07-09 18:12:21


ความคิดเห็นที่ 4 (1798754)
รักใครบางคน
ผู้แสดงความคิดเห็น tassana วันที่ตอบ 2008-07-10 21:45:35


ความคิดเห็นที่ 5 (1802789)
เด็กโง่เท่านั้นที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้ภาไทยให้ถูกต้อง !!!!!
ผู้แสดงความคิดเห็น เด็กฉลาด ชาติเจริญ วันที่ตอบ 2008-07-16 12:03:29


ความคิดเห็นที่ 6 (1807198)
แหม  ดีเหมือนกานน้า     คิคิคิคิคิคิคิคิ
ผู้แสดงความคิดเห็น 123แฮ่ วันที่ตอบ 2008-07-24 17:21:48


ความคิดเห็นที่ 7 (1835129)
vpkdwfh4kKk
ผู้แสดงความคิดเห็น เขาไม่แคร์ (bodzal-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2008-09-10 20:39:07


ความคิดเห็นที่ 8 (1839988)
เพลงกล้อมเด็ก
ผู้แสดงความคิดเห็น รักเด็ก (googpo-at-fdsa-dot-com)วันที่ตอบ 2008-09-22 09:51:22


ความคิดเห็นที่ 9 (1839989)

เจ้ รัก ฝน

ผู้แสดงความคิดเห็น รักฝน (nono-at-cvdf-dot-com)วันที่ตอบ 2008-09-22 09:53:40


ความคิดเห็นที่ 10 (1876005)
ดีมากเลยค่ะจะได้เป็นแบบอย่างให้กับยุคปัจจุบัน
ผู้แสดงความคิดเห็น โบ นรา เชิงเขา (bo_456-at-windowslive-dot-com)วันที่ตอบ 2008-12-12 20:16:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.