ReadyPlanet.com


สุนทรภู่:ในช่วงแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงสุนทรภู่ในช่วงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
มีความตอนหนึ่งว่า "พอถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ออกบวช เหตุที่จะบวชนั้นเล่ากันมาว่าเพราะหวาดหวั่นเกรง
พระราชอาญา ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองแต่รัชกาลก่อน" และทรงขยายความ
จากกลอนในนิราศภูเขาทองที่ว่า

          แต่เรานี้ที่สุนทรประทานตัว          ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ   
          สิ้นแผ่น นามตามเสด็จ                 ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย

     ว่า "คำของสุนทรภู่ที่กล่าวตรงนี้ ดูประหนึ่งว่าถึงรัชกาลที่ ๓ ถูกถอดจากที่ขุนสุนทรโวหาร น่าจะเป็นเช่นนั้นจริง"
และอีกแห่งกล่าวว่า "ครั้นเมื่อมาถูกถอดในรัชกาลที่ ๓ เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่มีพระองค์ใด
และท่านผู้ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผย ด้วยเกรงจะเป็นที่ฝ่าฝืนพระราชนิยม...สุนทรภู่ตกยาก สิ้นคิด
จึงออกบวช..."
     ประเด็นเรื่องสุนทรภู่ออกบวช ไม่มีผู้ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุน ต้องตกยาก สิ้นคิด เป็นเรื่องที่ผู้ศึกษา
ทางวรรณคดีกล่าวถึงอยู่เสมอ แม้จนทุกวันนี้ จึงเห็นสมควรจะได้ศึกษาวิเคราะห์ว่ามีความชัดแจ้ง
สมเหตุสมผลเพียงไรหรือไม่

     ก่อนอื่น ขอสรุปย่อเรื่องราวของสุนทรภู่ก่อนแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ คือ
     ในวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม สุนทรภู่เป็นข้าวังหลัง เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้วสุนทรภู่ได้ไปอยู่เมืองเพชรบุรี
จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๕๖ จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ในวังหลวง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุน
และหลวงสุนทรโวหารตามลำดับ ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่รุ่งเรืองและประทับใจสุนทรภู่มากที่สุด
     การได้ใกล้ชิดศูนย์อำนาจทำให้สุนทรภู่ได้รู้อย่างชัดแจ้งว่าหนทางเช่นนี้เท่านั้นที่จะนำมาทั้งยศถาบรรดาศักดิ์
บริวาร และทรัพย์อันเป็นความสุขทางโลกที่ข้าราชการปรารถนา
     ในสถานภาพเช่นนั้น เชื่อได้ว่าสุนทรภู่จะต้องเล็งหรือคาดหมายถึงผู้ที่จะสืบอำนาจเป็นเจ้าชีวิตองค์ต่อไป
และหาโอกาสใกล้ชิดฝากเนื้อฝากตัวเป็นการปูทางชีวิตของตนในภายหน้า
     ก็แหละในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้น ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์
คือองค์รัชทายาท ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ครั้งยังทรงผนวชได้มีพระราชหัตถเลขาถึงนาย ยี.ดับลยู.เอ็ดดี
ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ มีความตอนหนึ่งว่า "นามซึ่งสมเด็จพระชนกนารถของข้าพเจ้า คือ
พระเจ้าแผ่นดินสยามก่อนพระองค์เดี๋ยวนี้พระราชทานข้าพเจ้า แลได้จารึกลงไว้ในแผ่นทองคำนั้นคือ
เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติวงษ์ คำทั้งหมดนี้ คำต้นสามคำเท่านั้นเป็นคำซึ่งในเวลานี้ใช้กันในหนังสือสำคัญทางราชการมงกุฎ
แปลว่า เคราน์ นามซึ่งเรียกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ จึงแปลว่าเจ้าชายยศสูงแห่งมงกุฎ หรือเจ้าฟ้าผู้เป็นรัชทายาท"
(คำแปลของหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี) แม้ในหมู่ข้าราชการทั่วไปก็เชื่อเช่นนี้ ดังจะเห็นได้จากเอกสารร่วมสมัย
คือโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ของพระยาตรัง (พ.ศ. ๒๓๖๑)
ที่กล่าวถึงพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้ามงกุฎว่า

          ปางองค์อิศรเจ้า                   จอมกษัตร
     หวังหน่อนฤบดินทร์                  ธเรศท้าว   
     ให้สืบสิริพิพัฒน์                        พรราช   
     เรืองพระยศอคร้าว                   ครอบครองฯ
                               ฯลฯ
          บรมหน่อธิเบศไท้                ธิบดินทร์   
     พระเกียรติกฤตยขจายจร         เฟื่องฟ้า   
     ทั่วราษฎรยลยิน                        ดีทั่ว   
     แย้มนิยมถ้วนหน้า                    สนั่นหนาฯ
                               ฯลฯ
          เครื่องทรงประเสริฐพร้อม     ไพบูลย์   
     สำหรับกษัตรคง                         ครอบหล้า   
     ภิญโญวโรพูล    พระยศ             ยิ่งแฮ   
     เปนเอกอัคเจ้าฟ้า                      เฟื่องขจร ฯ

     ซึ่งเป็นนิมิตบอกว่า เจ้าฟ้าพระองค์นี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงหมายให้เป็นองค์รัชทายาทสืบราชสมบัติต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เจ้านายที่สนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎฯ มีหรือไม่และมีอำนาจเพียงไร? ต่อประเด็นนี้ คำตอบก็คือ
มีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งที่กำกับราชการฝ่ายมหาดไทยและวัง ทรงมีอำนาจเป็นที่เกรงพระทัยของเจ้านายและขุนนาง
คือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชาในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (พระราชมารดาของเจ้าฟ้ามงกุฎฯ)
ซึ่งเป็นเสาหลักในราชการในสมัยนั้น หากทรงมีพระชนม์ชีพอยู่จนถึงวันพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สวรรคต
การสืบราชสมบัติก็คงจะเป็นไปตามความคาดคิดของคนทั่วไปอย่างแน่นอน แต่พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕
ก่อนพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตสองปี
     นอกจากนั้นยังมีเจ้าฟ้าอีกพระองค์หนึ่ง ที่คนคาดคิดว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินคือ เจ้าฟ้าอาภรณ์
ปรากฏความจากจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีว่า "เจ้าฟ้ากุณฑล ประสูติเจ้าฟ้าอำภรณ์ ได้จตุรงคโชค
ไชยชนะสิ้นเสร็จ" เพราะเหตุการณ์ก่อนวันประสูติ นักโทษ พม่ากว่าสองร้อยก่อจลาจลแหกคุก ต้องปราบกัน
อยู่ถึงสองวัน พอราบคาบลงเจ้าฟ้าก็ประสูติพอดี ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ได้อธิบายไว้ว่า "คนทั้งปวงคงหวังกันว่า
เจ้าฟ้าพระองค์นี้คงจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในกาลข้างหน้า"
     ฉะนั้นเมื่อสุนทรภู่ฝักใฝ่อยู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และเจ้าฟ้าอาภรณ์ก็ได้มาเป็นศิษย์ จึงย่อมสร้างความมั่นใจเป็น
อย่างสูงยิ่ง ว่าอย่างไรเสียตนก็ต้องมีชีวิตใกล้ชิดศูนย์อำนาจต่อไปอย่างแน่นอน และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สุนทรภู่
สามารถแก้กลอนเสมือนเป็นการหักหน้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ดังที่ปรากฏอยู่ในประวัติสุนทรภู่
     ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงประเด็นที่ตั้งไว้ข้างต้นตามลำดับ
ออกบวชเพราะเกรงราชภัย
หรือเพราะตกยากสิ้นคิด?

     ต่อประเด็นนี้ ผมยอมรับได้เฉพาะเกรงราชภัยเท่านั้น เพราะมีข้อมูลน้อมนำให้คิดเห็นได้ ส่วนเรื่อง
ตกยากสิ้นคิดนั้นยังไม่พบข้อมูลที่มีเหตุผลอย่างเพียงพอ
     เรื่องเกรงราชภัยนั้น ขอนำเสนอเรื่องราวตอนพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ประชวร ซึ่งปรากฏหลักฐานที่เป็นเอกสาร
กล่าวคือ
     พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึง
การประชวรและสวรรคต มีความว่า
     "เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๘ แรม ๔ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๘๖ พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง
พระประชวร มีพระอาการให้มึนและเมื่อยพระองค์...มิได้ตรัสสิ่งใด แพทย์หลวงประกอบพระโอสถถวาย
ก็เสวยไม่ได้ต่อมา ประชวรอยู่ ๘ วัน ครั้นถึงวันพุธ เดือนแปด แรม ๑๑ ค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้ว ๔ บาท ก็เสด็จสู่สวรรคต"
     เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ได้ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ มีความตอนหนึ่งว่า "สมเด็จพระนั่งเกล้า
เจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกมาจากห้องที่สวรรคต เสด็จขึ้นพระที่นั่งอมรินทร์ฯ ซึ่งเต็มไปด้วยเจ้านายและข้าราชการ
ก็ไม่ได้ทรงทำอะไร นอกจากเสด็จขึ้นบนพระแท่นที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนเคยประทับ เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว
ก็ทรงหยิบพระแสงอาญาสิทธิ์วางบนพระเพลาเท่านั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านทรงรับราชสมบัติต่อไป
พวกเจ้านายและข้าราชการ ก็พร้อมกันถวายบังคมทั้งหมด เป็นอันรับรอง"
(ธรรมจักษุ ปี ๖๑ ฉบับ ๔ มหาปวารณา ๒๕๑๙)
     ในส่วนเจ้าฟ้าองค์รัชทายาท ซึ่งขณะนั้นดำรงอยู่ในสมณเพศ มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหนังสือลิลิตมหามกุฎ-
ราชคุณานุสรณ์ พระนิพนธ์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ความว่า เมื่อพระบรมชนกประชวร มีอำมาตย์เท็จ
ลอบอ้างพระบรมราชโองการให้เข้าเฝ้า เมื่อเข้ามาก็ถูกคุมพระองค์ไว้ในพระอุโบสถวัดพระแก้ว ๗ วัน ดังโคลงว่า

          เขาเชิญไปวัดแก้ว            มรกฎ อกอา   
     พัก ณ พระอุโบสถ                  ก่อนเฝ้า   
     หับทวารส่งทหารปด               เป็นรัก ขานา   
     ฉุกละหุกกลับรุกเร้า              รอบรั้ง ขังคุม พระเอย           
          กุมไว้ในโบสถ์สิ้น             สับดวาร พ่ออา   
     ไร้มิตรศิษย์บริพาร               พี่น้อง   
     คึกคักแต่พนักงาร                 สนมนิเวสะรักษ์ฤา
     คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง         จับมล้างพรางไฉน ฯ

     เนื้อความจากหลักฐานที่นำเสนอนี้ ไม่ตรงกับพระราชพงศาวดาร ที่ว่า "จึ่งอาราธนาพระสังฆราช
พระราชาคณะผู้ใหญ่มาแล้ว พร้อมด้วยพระบรมราชวงศานุวงศ์ต่างกรมและท่านเสนาบดีและข้าทูลละอองธุลี
พระบาทผู้ใหญ่ฯ ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดิน เห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
ทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน
พากันเข้าเฝ้า...เชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ" [ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ)] ซึ่งผมเห็นว่าหลักฐานจาก
ที่นำเสนอมาแต่ต้นหนักแน่นกว่า
     เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงได้รับการรับรองเรื่องสืบราชสมบัติแล้ว มีเรื่องราวปรากฏจากคำบอกเล่า
ของกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ (ต้นราชสกุล มหากุล) ความตอนหนึ่งว่า "แล้วจึงให้เชิญกรมขุนอิศรานุรักษ์กับ
พระจอมเกล้าฯ เข้าไป พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไป พอเห็นสวรรคตแล้วก็ทรงพระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสร
ก็เข้ากอดไว้ แล้วคลำดูที่จีวร กลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัย รับสั่งว่าขอชีวิตไว้
อย่าฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่า ท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทำอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น
ทำอย่างไรได้"  (อ้างใน โกวิท สีตลายัน, พระนั่งเกล้าฯ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๒)
     ในพระนิพนธ์ของ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย มีความอีกตอนหนึ่งว่า "ทูลถามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ว่ายังมีพระประสงค์ราชสมบัติอยู่อีกหรือไม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า ไม่มีพระราชประสงค์
และต้องการอยู่ในสมณเพศต่อไป"
     เรื่องราวในวันสวรรคตนี้ เข้าใจว่าสุนทรภู่อาลักษณ์ใกล้ชิดจะต้องทราบเรื่องเป็นอย่างดี และเป็นเรื่องฝังใจสุนทรภู่
ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อสุนทรภู่กล่าวถึงวันสวรรคตของท้าวสุทัศน์กับนางปทุมเกสรในเรื่อง พระอภัยมณี ท่านแต่งไว้ว่า
          เดือนแปดปีวอกตะวันสายัณห์ย่ำ          สิบเอ็ดค่ำพุธวันขึ้นบรรจถรณ์
          ฤกษ์อรุณทูลกระหม่อมจอมนคร          สองภูธรเธอสวรรคครรไล
     นอกจากนั้น เรื่องราวในประวัติศาสตร์ตั้งแต่กรุงเก่าจนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน
จะมีการฆ่าฟันล้างผลาญฝ่ายตรงข้ามเป็นจำนวนมาก และสุนทรภู่เองก็ถูกจัดเป็นฝ่ายตรงข้าม จึงต้องย่อมหวาดหวั่น
ตกใจเป็นธรรมดา และเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เอง ที่ทำให้สุนทรภู่ตัดสินใจบวชอย่างไม่ลังเล ดังที่ท่านบอกไว้ในเรื่อง
รำพันพิลาปว่า

          แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ                      บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
          เหมือนลอยล่องท้องทะเลอยู่เอกา          เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล

     ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนยิ่ง ว่าสุนทรภู่ออกบวชตั้งแต่ปีวอก(พ.ศ. ๒๓๖๗) อันเป็นปีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒
สวรรคต แม้จะบอกว่าบวชเพราะ "พิศวาสพระศาสนา" แต่เรื่องราวในช่วงทรงพระประชวร และวันสวรรคต
ย่อมต้องสร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงให้เป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ทูลกระหม่อมฟ้าที่หมายจะได้พึ่งพิงก็ยังเปลี่ยว
อย่างสุดจะมองเห็น จึงตัดสินใจเอาธงชัยพระอรหันต์เป็นที่พึ่ง คือออกบวชเพราะเกรงราชภัย มิใช่บวชเพราะ
ตกยากสิ้นคิดแต่ประการใด
     เมื่อบวชแล้วก็เดินทางไปต่างเมือง ดังที่ท่านกล่าวว่า "คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก ไปพิศศรีโลกลายแทง
แสวงหา"และ "ทางบกเรือเหนือใต้ท่องไปทั่ว จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน" เมื่อเห็นว่าเรื่องราวสงบลงแล้ว จึงได้
เดินทางกลับกรุงเทพฯ และอยู่จำพรรษาที่วัดราชบูรณะ ซึ่งแสดงได้อีกว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ มิได้กริ้ว
หรือถือโทษโกรธเคืองถึงกับถอดจากอาลักษณ์แต่ประการใด แต่เป็นเรื่องสุนทรภู่หวาดเกรงไปเอง เพราะหากทรงกริ้ว
หรือขัดเคือง ไฉนเลยสุนทรภู่จะกล้ากลับมาจำพรรษาที่กรุงเทพฯ
     อนึ่งในการเดินทางไปยังต่างจังหวัด มีบรรดาศิษย์ตามไปอุปัฏฐากมิได้ขาด ดังที่ท่านบอกว่า "ได้เห็นแต่ศิษย์หา
พยาบาล" ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนว่าท่านไม่ได้ตกยากอะไร การที่มีผู้ยกกลอนในนิราศภูเขาทองที่ว่า "เมื่อเคราะห์ร้าย
กายเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย" ไปขยายความเป็นเรื่องทุกข์ยากจริง ๆ ของท่านนั้น อย่าลืมว่าท่านกล่าวกลอนนี้
ในขณะอยู่ในเพศบรรพชิต เมื่อเป็นพระเป็นภิกษุขนาดไปไหนยังมีศิษย์ช่วยแจวช่วยพายไม่ได้ขาด จะไปเชื่อว่ายากจน
หรือตกยากได้อย่างไร
ประเด็นไม่มีเจ้านาย
หรือใครกล้าอุปการะโดยเปิดเผย
เพราะเกรงจะฝ่าฝืนพระราชนิยม

     ส่วนที่กล่าวว่า เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่มีพระองค์ใดและท่านผู้ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผย
ด้วยเกรงจะเป็นที่ฝ่าฝืนพระราชนิยมนั้น ก็ยังไม่พบหลักฐานอะไรที่พอจะสนับสนุนคำกล่าวข้างต้นนั้น กลับตรงกันข้าม
ปรากฏว่ามีเจ้านายหลายพระองค์ได้ เข้ามาอุปัฏฐากสุนทรภู่อย่างเปิดเผย และพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุญาต
ดังที่ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทที่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋วมาเป็นศิษย์ มีความตอนหนึ่งว่า

ด้วยเหตุว่าฝ่าพระบาทได้ขาดเสร็จ     โดยสมเด็จประทานตามความประสงค์
ทูลกระหม่อมยอมในพระทัยปลง        ถวายองค์อนุญาตเป็นขาดคำ
วันนั้นวันอังคารพยานอยู่                  ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ

     วันเดือนปีที่ระบุไว้นี้ เทียบสุริยคติตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๓๗๒ และเนื้อความก็มีความชัดเจนว่า
สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ประสงค์ให้พระราชโอรสคือเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์มาเป็นศิษย์ และพระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุญาต (ทูลกระหม่อมยอมในพระทัยปลง) หากทรงกริ้วถึงกับถอดสุนทรภู่จริง
แล้วจะยอมให้เจ้าฟ้าทั้งสองมาเป็นศิษย์ได้อย่างไร ซึ่งแสดงอย่างชัดแจ้งว่าไม่มีพระราชนิยมดังว่านั้นเลย
     นอกจากนี้ ในนิราศเมืองเพชรบุรี (พ.ศ. ๒๓๗๔) สุนทรภู่รับอาสาเจ้านายไปหาของประสงค์
(อนาถหนาวคราวอาสา เสด็จ) และการเดินทางก็อาศัยเรือหลวง (ส่วนเรือหลวงล่วงลับจะกลับไป) แสดงว่ามีเจ้านาย
พระองค์หนึ่งได้อุปการะสุนทรภู่อยู่แล้ว และหากสังเกตจากปีแต่งนิราศเมืองเพชร เจ้านายพระองค์ที่กล่าวนี้ก็คือ
พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (ประสูติ พ.ศ. ๒๓๕๕ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๗๘)
ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา และทรงผนวชพระในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ได้ "ทรงพระปรานีชักชวนให้ (สุนทรภู่)
มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ" ตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
     ยังมีเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงอุปการะสุนทรภู่อย่างเปิดเผย คือ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระธิดาพระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าฯที่ได้นิมนต์ให้ภิกษุสุนทรภู่ไปอยู่วัดเทพธิดา (อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี) และอยู่ที่วัดนี้ถึงสามพรรษาจนลาสึก
(โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด เคยโสมนัสในอารามสามวษา สิ้นกุศลผลบุญกรุณา) ปีขาลที่กล่าวนี้ คือปี พ.ศ. ๒๓๘๕
     ข้อมูลเรื่องราวและหลักฐานที่กล่าวมาจากผลงานของสุนทรภู่เอง แสดงว่าสุนทรภู่มิได้ถูกกริ้ว ถูกถอด สิ้นคิด
ต้องออกบวช และที่ว่าไม่มีเจ้านายพระองค์ใดกล้าอุปการะสุนทรภู่นั้นก็ไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องขยายความกันไป
จนเลยเถิด
     อย่างไรก็ตาม การที่สุนทรภู่ไม่ได้รับราชการตลอดรัชกาลที่สาม ได้เป็นอุปการคุณอย่างสูงต่อผลงานของท่าน
คือสามารถสร้างผลงานได้มากและมีอิสระ ไม่ถูกกรอบหน้าที่ราชการบังคับและครอบงำ งานของท่านจึงจับใจผู้คนได้มาก
ยิ่งกว่ากวีคนใด ๆ จนได้รับยกย่องอย่างสูง และเป็นกวีเพียงคนเดียวของไทยที่มีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายที่สุด
ในทุกรอบปีที่เวียนมาถึงวันคล้ายวันเกิดของท่าน
ว่าด้วยผลงานในระหว่างบวช
           
     สุนทรภู่ได้บวชในช่วงวัยทำงาน (ช่วงอายุ ๓๘ - ๕๖ ปี) จึงเชื่อได้ว่างานชิ้นใหญ่คือนิทานคำกลอน ก็คงจะมีอยู่
มากตอนที่ได้เขียนขึ้นในระหว่างบวช ในที่นี้ใคร่ขอกล่าวถึงผลงานของท่านที่ปรากฏชัดว่าได้เขียนสำเร็จลงในขณะดำรง
เพศบรรพชิต คือ

     ๑. นิราศภูเขาทอง เป็นผลงานชิ้นแรกในขณะบวช คุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้เสนอว่า
นิราศภูเขาทองแต่งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ โดยอาศัยหลักฐานจากกลอนในตัวเรื่อง ตอนเดินทางผ่านวัดเขมาฯ ที่ว่า
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง    พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน
     และบอกรายละเอียดความว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ฉลองวัดเขมาภิรตารามในปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐
(พ.ศ. ๒๓๗๑) การกล่าวถึงเพิ่งเลิกงานฉลองเมื่อสองวันก่อน จึงเป็นหลักฐานว่าสุนทรภู่ แต่งเรื่องนี้ในปีที่มีการฉลองนั้น

     ๒. เพลงยาวถวายโอวาท ปรากฏหลักฐานอยู่ในตัวเรื่อง ว่าได้แต่งในช่วงเข้าพรรษา เพราะออกพรรษาแล้วจะทูลลา
เจ้าฟ้าที่มาเป็นศิษย์ทั้งสององค์ "นิราศแรมไปไพรพฤกษา" และเจ้าฟ้าทั้งสองมาเป็นศิษย์ในระหว่างเข้าพรรษาเมื่อ
"ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ" (วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๒) เพลงยาวเรื่องนี้จึงแต่งในปี พ.ศ. ๒๓๗๒

     ๓. นิราศเมืองเพชร ดังได้เคยแสดงเหตุผลและหลักฐานมาแล้วว่าแต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔

     ๔. นิราศวัดเจ้าฟ้า แต่งในปีหนูพัดบวชเณร ก่อนนิราศพระแท่น สำนวนเณรกลั่น เพราะขณะแต่งหนูกลั่นยังไม่บวชเณร
ฉะนั้นนิราศวัดเจ้าฟ้าแต่งในปี พ.ศ. ๒๓๗๕

     ๕. นิราศพระแท่น ปรากฏหลักฐานจากเรื่องว่า เดินทางไปพระแท่น เมื่อ "ปีมะเส็งเพ็งวันอังคาร" ตรงกับวันที่
๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๕

     ๖. โคลงนิราศสุพรรณ ในตัวเรื่องว่า บรรดาลูกและลูกเลี้ยงร่วมเดินทางไปด้วย ลูกทุกคนอยู่ในวัยหนุ่มคะนอง
สึกจากสามเณรหมดแล้ว จึงควรแต่งหลังนิราศพระแท่น สถานที่แรกที่กล่าวถึงคือคลองมหานาค เช่นเดียวกับนิราศพระแท่น
ไม่มีเอ่ยถึงวัดเทพธิดาเลย จึงน่าจะแต่งก่อนสุนทรภู่ไปจำพรรษาที่วัดเทพธิดา (พ.ศ. ๒๓๘๒)

     ๗. กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในประวัติสุนทรภู่ ว่าได้ทราบจาก
พระยาธรรมปรีชา (บุญ) ซึ่งบวชอยู่วัดเทพธิดาพร้อม ๆ กับสุนทรภู่ ว่าสุนทรภู่แต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดา
(พ.ศ. ๒๓๘๒ - ๘๕)

     ๘. นิราศพระประธม แต่งในปี พ.ศ. ๒๓๘๔ บอกไว้ในตัวเรื่อง ตอนกล่าวถึงภรรยาที่ชื่อนิ่ม ชาวบางกรวย ว่า
"โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี" และในนิราศวัดเจ้าฟ้า (พ.ศ. ๒๓๗๕) ได้กล่าวว่าหนูตาบกำพร้าแม่และเพิ่งมาอยู่กับสุนทรภู่
เก้าปีหลังจากนั้นจึงตรงกับ พ.ศ. ๒๓๘๔

     ๙. รำพันพิลาป แต่งก่อนลาสิกขาบทในปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ ปรากฏในตัวเรื่องว่า "โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด เคยโสมนัส
ในอารามสามวษา" ปีขาลตรงกับ พ.ศ. ๒๓๘๕

     ๑๐. นิราศอิเหนา ไม่มีเนื้อความตอนใดบ่งบอกปีแต่ง เคยอ่านพบที่มีผู้กล่าวว่าสุนทรภู่แต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
หากเป็นจริงก็แสดงว่าได้แต่งก่อน พ.ศ. ๒๓๗๘ อันเป็นปีที่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์

     ดังได้กล่าวแล้ว ว่าวรรณกรรมประเภทนิทานคำกลอน ซึ่งต้องใช้เวลานานปีในการแต่ง จึงต้องมีอยู่หลายส่วนที่แต่ง
ในขณะดำรงเพศบรรพชิต แต่ที่ยกมาเพียงสิบเรื่องข้างต้นนั้นคือบรรดาวรรณกรรมที่แต่งสำเร็จในขณะบวช
และปรากฏหลักฐานให้คิดเห็นได้ จึงนำเสนอเพื่อจะได้วิเคราะห์วิจารณ์หาข้อยุติกันต่อไป

 
Image
        
     ช่วงแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ต้องออกบวชยึดเอาธงชัยพระอรหันต์เป็นที่พึ่ง
ด้วยเกรงราชภัย จวบจนสิ้นรัชกาลนี้ไป สุนทรภู่จึงได้กลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง
ในภาพคือพระพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหน้าลาน
พลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ
        
       
Image
             
กุฏิของสุนทรภู่ ที่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ
     
Image
    
ข้าวของเครื่องใช้ของสุนทรภู่จัดเก็บไว้ในกุฏิที่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ
        
          
Image
          
ข้าวของเครื่องใช้ของสุนรภู่จัดเก็บไว้ในกุฏิที่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ
          
              
Image
    
Image
        
ข้าวของเครื่องใช้ของสุนรภู่จัดเก็บไว้ในกุฏิที่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ
     
Image
          
     วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) สุนทรภู่กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ หลังจากที่ได้เดินทางไปต่างเมืองอยู่พักใหญ่
เพื่อรอให้เรื่องราวสงบลงจึงค่อยกลับมา
             
            
Image
        
วัดชิโนรส ริมคลองมอญ ที่เผาศพสุนทรภู่
คัดจาก http://www.sunthonphu.com



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-06-12 09:19:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1820334)
แย่มากไม่มีคำยากของสุนทรภู่หรือไง
ผู้แสดงความคิดเห็น ดอเก วันที่ตอบ 2008-08-16 13:30:36


ความคิดเห็นที่ 2 (2106956)

replica lv bags lv bags Shortly afterwards Josรฉ Enrique louis vuitton Factors to consider when choosing louis vuitton lv fake.

ผู้แสดงความคิดเห็น lilyrt (aero-at-msn-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-10 20:42:36



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.