ReadyPlanet.com


สื่ออักษรกลอน " กลบท " – 5


๑๗

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

ดำเนินนางสระ

                    แข่งขัน  กันก่อน  แล้วสอนสั่ง                เผลอพลั้ง  ครั้งเครียด  อย่าเสียดสี

            เรียนรู้  ชูชั้น  หมายมั่นมี                                  ช่วยชี้  จี้จับ  ไปปรับปรุง

            จดจำ  คำครู  สานหมู่มิตร                               จงจิต  คิดคั้น  หมายมั่นมุ่ง

            เผื่อแผ่  แลล้อม  พร้อมพยุง                             เพิ่มพุ่ง  รุ่งเรือง  ไม่เคืองใคร

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “แข่งแล้วสอน”

- เป็นกลอน ๗   (แบ่งวรรคเป็นสามช่วง  ––  พยางค์)

- สองพยางค์ช่วงหน้าใช้สัมผัสอักษรทุกวรรค  เช่น  แข่งขัน,  เผลอพลั้ง,  เรียนรู้,  ช่วยชี้,  ควรคุณ,  จงจิต  เป็นต้น

- สองพยางค์ช่วงกลางใช้สัมผัสอักษรทุกวรรค  เช่น  กันก่อน,  ครั้งเครียด,  ชูชั้น,  จี้จับ,  บุญบาน,  คิดคั้น   เป็นต้น

- การใช้สัมผัสใน ช่วงกลางกับช่วงท้ายของวรรค ใช้สัมผัสสระพยางค์ที่สี่ (ข้ามพยางค์ที่ห้า) ไปสัมผัสพยางค์ที่หก

  ทุกวรรค  เช่น  ก่อน-สอน,  เครียด-เสียด,  ชั้น-มั่น,  จับ-ปรับ,   ครู-หมู่,  คั้น-มั่น,  ล้อม-พร้อม,  เรือง-เคือง  เป็นต้น  

- สองพยางค์ช่วงท้ายใช้สัมผัสอักษรทุกวรรค  เช่น  สอนสั่ง,  เสียดสี,  มั่นมี,  ปรับปรุง,  หมู่มิตร,  มั่นมุ่ง  เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สองของวรรค ๒  เช่น  สั่ง-พลั้ง,   หมู่มิตร-จิต   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สองของวรรค ๔  เช่น  มั่นมี-ชี้,   พยุง-พุ่ง   เป็นต้น

 

ตรีเพชรพวง

                    มือหยุดชอนช่อนช้อน ย้อนแยกหา          ขว้างโคลนปาป่าป้า โผล่มาเห็น

            แกร้องวาว่าว้า ไม่น่าเป็น                                 เลิกขว้างเลนเล่นเร้น ควรเว้นทำ

            แดดเริ่มรอนร่อนร้อน ตอนสิ้นบ่าย                  หยุดวุ่นวายว่ายไว้ ยังไม่ค่ำ

            อย่าปรานีนี่นี้ แกชี้นำ                                       จงรีบจำจ่ำจ้ำ จับปูปลา

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ป้าบัญชาการ”

- เป็นกลอน ๘ หรือ กลอน ๙ ได้

- พยางค์ที่สามสี่ห้าของทุกวรรค ใช้สัมผัสสระและจัดรูปวรรณยุกต์เรียง ๓ ระดับ คือ สามัญ (ไม่มีรูป)-เอก-โท

  จัดเรียงไปตามลำดับหรือกลับย้อนก็ได้  เช่น  ชอน-ช่อน-ช้อน  หรือ  ช้อน-ช่อน-ชอน,   ปา-ป่า-ป้า  หรือ

  ป้า-ป่า-ปา,   วา-ว่า-ว้า,   เลน-เล่น-เร้น,   รอน-ร่อน-ร้อน   เป็นต้น

-  พยางค์สุดท้ายของวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามของวรรค ๒  เช่น  หา-ปา,  บ่าย-วาย   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามของวรรค ๔  เช่น  เป็น-เลน,  นำ-จำ   เป็นต้น

ข้อคิดเห็น  กลอนกลบทนี้มีข้อบังคับให้ใช้เสียงสามัญ-รูปวรรณยุกต์เอก-โท ยากต่อการสื่อความ ควรตัดรูปวรรณยุกต์ออกจะง่ายขึ้น

๑๘

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

ม้าเทียมรถ

                    ม้าเทียมรถกลดกั้นวรรณวิจิตร                วิจิตรพิศคิดหมายได้ศึกษา

            ศึกษางามตามคำพระสัมมา                             สัมมาชี้ทีท่าอย่าลูบคลำ

            ลูบคลำด้วยมายาพาติดข้อง                              ติดข้องต้องปรุงแต่งแหล่งเพลินพร่ำ

            เพลินพร่ำหมายหลายหลากยากจดจำ              จดจำปราชญ์ฉลาดย้ำหยุดเวียนวน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ราชรถของพระเจ้าปเสนทิโกศล” *

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สองพยางค์ของท้ายวรรคทุกวรรค นำไปใช้เป็นสองพยางค์ตอนต้นของวรรคต่อไปทุกวรรค ติดต่อกันไปตลอด

  สำนวนกลอน  เช่น  วิจิตร-วิจิตร,   ศึกษา-ศึกษา,   สัมมา-สัมมา,   ลูบคลำ-ลูบคลำ,   ติดข้อง-ติดข้อง   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามของวรรค ๒ เช่น  วิจิตร-พิศ,   ข้อง-ต้อง   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าของวรรค ๔ เช่น   สัมมา-ค่า,   จดจำ-ย้ำ   เป็นต้น

ข้อคิดเห็น  ในพุทธประวัติ ครั้งหนึ่งภิกษุปุถุชนพากันไปตื่นลูบคลำราชรถคันใหม่ของพระราชา มีผู้มาทูลแจ้งพระพุทธเจ้าว่า ภิกษุ

ภิกษุเหล่านั้นไม่สำรวม จึงตรัสพระคาถาว่า “โลกนี้งามวิจิตรประดุจราชรถที่มีผู้ปรุงแต่ง คนเขลาติดข้องอยู่  ผู้มีปัญญา ไม่ติดข้อง”

 

 

เทพชุมนุม

                    ไม่เข้าใจแจ้งจัดจึงขัดข้อง                                   จับตาจ้องมองหมายไม่ได้ผล

            ขาดครูเพิ่มเสริมสานการกลอนกล                  ต้องดิ้นรนค้นคว้ามาคะเน

            อ้างจำเป็นเว้นไม่กล่าวขาน                             จะเสียงานการกรองต้องหันเห

            จึงเดาทางสร้างไว้ไม่ลังเล                               ถ้าโฉเฉเชิงช่อขออภัย

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ยังไม่แจ้งรู้จริง”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- ได้พยายามสังเกต ดูกลอนตัวอย่างแล้ว ยังไม่เข้าใจข้อกำหนดแน่ชัด โปรดพิจารณาตามที่เห็นควร กลอนกลบท

  “เทพชุมนุม” นี้ นิยมเป็นกลอนแปดมาตรฐาน อาจมี ๙ พยางค์ได้ ใช้คำสัมผัสสระตรงตัวตลอด ไม่โลดโผน  

 - พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒  เช่น   ข้อง-จ้อง,   ขาน-งาน   เป็นต้น

 - พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔  เช่น   กล-ดิ้นรน,   ลังเล-โฉเฉ   เป็นต้น  

 ข้อคิดเห็น ตัวอย่างกลบทนี้ แสดงความไม่รู้แจ้งของผู้ประพันธ์ ที่นำมากล่าว เพื่อให้ครบถ้วนตามตำรา ถ้ามีสิ่งไม่ถูกต้อง ผู้มีปัญญา 

โปรดให้อภัย  และชี้แนะให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สนใจต่อไป

 

๑๙

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

คมในฝัก

                    สมสิ่งสร้าง  สร้างสิ่งสม คมในฝัก           ชักเมื่อใช้  ใช้เมื่อชัก เข้าหักหาญ

            เก่งไม่กลัว  กลัวไม่เก่ง อย่าเบ่งบาน                  รานรุกเขา  เขารุกราน พาลหาภัย

            รู้ความซ่อน ซ่อนความรู้ ดูทีท่า                       กล้าแล้วเก่ง เก่งแล้วกล้า อย่าหวั่นไหว

            จำต้องทำ  ทำต้องจำ มุ่งนำชัย                         ใช้เชิงหมาย  หมายเชิงใช้ ในฉับพลัน             

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ซ่อนคม”

- เป็นกลอน ๙

- สามพยางค์แรกของวรรค ต้องนำไปสลับกลับกันแล้วใช้ในสามพยางค์ต่อไป (พยางค์ที่สี่ห้าหก)   เช่น

  สมสิ่งสร้าง-สร้างสิ่งสม,  ชักต้องจำ-จำต้องชัก,   เก่งไม่กลัว-กลัวไม่เก่ง,   รานรุกเขา-เขารุกราน   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่หกของวรรค ๒  เช่น  ฝัก-ชัก,   ทีท่า-แล้วกล้า   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่หกของวรรค ๔  เช่น  บาน-รุกราน,   ชัย-ใช้   เป็นต้น         

           

           

พยัคฆ์ข้ามห้วย

                    วิสัยเสือเมื่อได้เห็นเป็นลายเสือ                วิสัยหมูดูเป็นเหยื่อเมื่อเห็นหมู

            เขี้ยวหมูชูขู่เสือเพื่ออวดชู                                 สันดานพาลหาญสู้ไม่รู้พาล

            เสือซ่อนเกลียดเหยียดหมูดูน่าเกลียด                น่าสงสารพาลเสนียดเสียดสงสาร

            เสือรำคาญพาลหมูท้า น่ารำคาญ                      จึงหลีกไปไม่ระรานเดินผ่านไป

 

ข้อสังเกต         ชื่อสำนวนกลอน  “เสือเบื่อหมู”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- พยางค์ที่สามในวรรคต้องนำไปใช้ซ้ำในพยางค์ท้ายวรรค  เช่น  วิสัยเสือ-ลายเสือ,   วิสัยหมู-หมู,   ชู-อวดชู,

  สันดานพาล-รู้พาล,   ซ่อนเกลียด-น่าเกลียด,   แสนสงสาร-เสียดสงสาร,   รำคาญ-อยู่รำคาญ,   ยิ้ม-ยิ้ม   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรค ๒  เช่น  เสือ-เนื้อ,  เกลียด-เสนียด  เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรค ๔  เช่น ชู-สู้,   รำคาญ-พบพาน  เป็นต้น

 

 

 

 

๒๐

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

ตรีประดับ

                    นาร้อน แรงแหล่งแล้ง น้ำแห้งหาย           ยายวุ่น วายว่ายว้าย ควายไปไหน

            ชื่อไอ้ ทุยทุ่ยทุ้ย อีมุ่ยอีไม                                 หลุด เลนเล่นเร้นไป ไม่กลับมา

            ยายโม โหโห่โห้ ไอ้โก๋แก่                                  เรื่องของ แกแก่แก้  รีบแลหา

            ตาไป คลองคล่องคล้อง กองเชือกคา               ควายที่ หาห่าห้า มาเล่นน้ำ

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ยายโกรธตา”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- มีการใช้สัมผัสอักษรในพยางค์ที่สามสี่ห้า  เช่น  แรงแหล่งแล้ง,   วายว่ายว้าย,  ทุย-ทุ่ยทุ้ย,   เลน-เล่น-เร้น  (ถ้าจะใช้

  อักษรแทน เช่น สอน-ซ่อน-ซ้อน หรือจะกลับกัน เช่น ซ้อน-ซ่อน-สอน,   เร้น-เล่น-เลน  ก็ทำได้ เป็นต้น)  การใช้ 

  สัมผัสอักษรนี้ อาจแทนในพยางค์ที่สองสามสี่ได้ เช่น (ดูในผลงาน)   เลน-เล่น-เร้น   (ร กับ ล)  เป็นต้น  

- มีข้อบังคับให้ใช้วรรณยุกต์สามัญ (ไม่มีรูป มีเสียง) – รูปวรรณยุกต์เอก และรูปวรรณยุกต์โท เช่น   แก-แก่-แก้, 

   คลอง-คล่อง-คล้อง,   หา—ห่า-ห้า   เป็นต้น

- กลอนกลบท “ตรีประดับ” นี้คล้ายกลอนกล “ตรีเพชรพวง” ผู้ประพันธ์ไม่เข้าใจแจ้งชัด โปรดพิจารณาตามสมควร

ข้อคิดเห็น  กลอนกลบท “ตรีเพชรพวง” และ “ตรีประดับ” เหมือนกันที่การใช้วรรณยุกต์เอก-โท เป็นข้อบังคับ ยากต่อการสื่อความ

ควรประยุกต์ปรับแต่งโดยตัดรูปวรรณยุกต์ออกไป แต่ให้คงพยางค์ทั้งสามมีสัมผัสอักษรตามที่กำหนดไว้ จะทำความยากให้ง่ายขึ้น

โปรดดูตัวอย่างการประยุกต์ โดยคิดข้อกำหนดขึ้นใหม่ ในภาคผนวก ชื่อกลอนกลบท “ตรีประทีปทอง” 

 

ก้านต่อดอก

                    ไม่รู้แจ้ง จริงว่า อย่าสู่รู้                            ไตร่ตรองดู ด้วยจิต คิดก่อนสอน

            เพียรพอเริ่ม รู้แท้ แม้อ่อนกลอน                       อาจเริ่มจร สอนย้ำ คำที่ดี

            ฉันทลักษณ์ กักกั้น ท่านห้ามข้าม                    อย่าหลงลาม เลยหัว มัวลี้หนี

            ตามรอยครู รู้เลิศ เชิดชีวี                                  รักเสรี มีตา อย่ามัวตัว

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “อย่ารู้ก่อนสอน”

- เป็นกลอน ๘  (เรียงพยางค์ (คำ) ในวรรค  –– ๓)

- สองพยางค์สุดท้ายของวรรคทุกวรรค ต้องใช้คำสัมผัสสระ เช่น   สู่รู้,   ก่อนสอน,   อ่อนกลอน,   ที่ดี   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒  เช่น  รู้-ดู,   ข้าม-ลาม   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔  เช่น   กลอน-จร,   ชีวี-เสรี   เป็นต้น


ผู้ตั้งกระทู้ สุดาวดีศรีสุนทรอักษรศิลป์ (R-Cha-Nai-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-11 05:46:30


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2107613)

wefts hair weaves nice to wear wigs without wigs wide range of quality and prices with wigs hair pieces human hair clip on extensions.

ผู้แสดงความคิดเห็น ration (june-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:10:27


ความคิดเห็นที่ 2 (2185870)

ร้ท้าเเพพพั่ดดดด้เดดดำกาก้าพ่ะนพนาดก่เวสสสสสสสสสสสสะรนีพร่ะสกกรรรรรรรรรรรรดาเกดาเมหฟหกด่าสวฟหหกกกกกกก

ผู้แสดงความคิดเห็น ดี วันที่ตอบ 2011-06-12 12:54:34



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.