ReadyPlanet.com


เขียนบทความประชันกับ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ว่าด้วยเรื่องมา(ร)ยาคติ (Mythologies)


กาฝากเถาวัลย์+ต้นไม้ :

ศาสนาพุทธ สอนว่า จงเห็นตัณหา ๓ (๑. กามตัณหา ๒. ภวตัณหา ๓.วิภวตัณหา) เหมือนเถาวัลย์ที่พันต้นไม้ แล้วที่สุดต้นไม้ก็จะตาย จงรีบตัดรากเถาวัลย์นี้ด้วยปัญญาเถิด

 
สุนทรภู่ คงได้รับอิทธิพลทางความเชื่อนี้ แล้วนำมา สอดแทรกไว้ในพระอภัยมณีคำกลอน ตอนเมื่อพระฤๅษีสอนสุดสาคร หลังถูกชีเปลือยผลักตกหน้าผา เอาม้ามังกรและไม้เท้ากายสิทธิ์ไป ไว้ความว่า
 
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์        มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวจนเลี้ยวลด   ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

จะเห็นได้ว่า สุนทรภู่ (คนโบราณ) ท่านเปรียบเทียบ จิตใจมนุษย์นั้น คด(โกง) เหมือนเถาวัลย์ เถาวัลย์นี้ก็คือ ตัณหา ๓ ภายในจิตใจมนุษย์นั่นเอง ฉะนั้น เถาวัลย์ จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทน ตัณหา ภายในจิตใจมนุษย์แต่ต่อมา เถาวัลย์ ถูกใช้ในความหมายที่ขยายกว้างขึ้น โดยนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงซึ่งขาดความอบอุ่นที่พยามเกาะเกี่ยวพัวพัน กับผู้ชาย เพื่อแสวงหาแสงสว่าง(ความอบอุ่นให้กับชีวิต) ดังตัวอย่างประโยคที่ว่า

"ความคดโค้งของเถาวัลย์ ความไหวของใบหญ้า ความนุ่มของดอกไม้ ความระยับของแสงแดด น้ำตาของหมอก เอาสิ่งเหล่านี้มาผสมกันเข้า ได้ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ผู้หญิง"

ผู้ชายผู้ซึ่งถูกเถาวัลย์(ผู้หญิง) พัวพันเกาะเกี่ยว นั้นก็ต้องระวัง เพราะพระผู้มีพระภาคท่านตรัสเตือนไว้ว่า จงเห็นตัณหา ๓ (๑. กามตัณหา ๒. ภวตัณหา ๓. วิภวตัณหา) เหมือนเถาวัลย์(ผู้หญิง) ที่พันต้นไม้(ผู้ชาย) แล้วที่สุดต้นไม้ก็จะตาย จงรีบตัดรากเถาวัลย์นี้ด้วยปัญญาเถิด

นกแร้ง+นกกระยาง :

๏ ยางขาวขนเรียบร้อย    ดูดี
ภายนอกหมดจดสี          เปรียบฝ้าย
กินสัตว์เสพปลามี           ชีวิต
เฉกเช่นชนชาติร้าย        นอกนั้นนวลงาม ฯ
 
๏ รูปแร้งดูร่างร้าย          รุงรัง
ภายนอกเพียงพึงชัง      ชั่วช้า
เสพสัตว์ที่มรณัง            นฤโทษ
ดังจิตสาธุชนกล้า          กลั่นสร้างทางผล ฯ

โคลงโลกนิติสองบทนี้ สอนว่าด้วยเรื่องการมองคนว่า ไม่ควรมองคนที่รูปลักษณ์ภายนอก โดยเปรียบเทียบว่าคนที่ผิว ขาวๆ อวบๆ สวยๆ หล่อๆ สีผิวราวกับขนของนกกระยาง มีอากัปกริยาเชื่องช้านุ่มนวล  แต่ทว่าจิตใจของเขาผู้นั้นอาจจะโหดร้ายทารุณ คือไม่งดงามเหมือนรูปกายภายนอกก็ได้ (นกกระยางกินปลาขนาดเล็กในแม่น้ำเป็นอาหาร จึงต้องเคลื่อนไหวช้าๆ :นกกระยางใจคอโหดร้าย กินปลาเป็นๆ) ส่วนคนที่มีรูปร่างน่าตา น่าเกลียด น่ากลัว ตัวดำๆ เหมือนนกอีแร้ง กระโดดไปกระโดดมา มีอากัปกริยากระโดกกระเดก แต่ทว่าเขาผู้นั้น อาจจะเป็นผู้ที่มีจิตใจที่ดีงาม (นกอีแร้งกินแต่ซากสัตว์ ไม่กินสัตว์ที่มีชีวิต มีอากัปกริยากระโดกกระเดก แต่นกอีแร้งก็เป็นนกที่มีจิตใจที่ดีงามเพราะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเหมือนนกกระยาง) 

โคลงโลกนิติสองบทนี้ สอนว่าไม่ควรตัดสินคนเพียงเพราะเห็นว่า ขาวๆ อวบๆ สวยๆ หล่อๆ กริยามารยาทแช่มช้า แล้วด่วนตัดสินว่าเขาผู้นั้นเป็นคนดี ซึ่งในความเป็นจริง คนที่ขาวๆ อวบๆ สวยๆ หล่อๆ มีกริยามารยาทอันแช่มช้านี้ก็อาจจะเป็นได้ทั้งคนดี และคนเลว เช่นเดียวกันกับคนที่มี รูปชั่ว ตัวดำ มีอากัปกริยาที่กระโดกกระเดก ก็อาจจะเป็นได้ทั้งคนดี และคนเลวด้วยได้ด้วยเช่นกัน

ในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค กล่าวไว้ว่า ทุชฺชาโน สมโณ ทุชฺชาโน พรฺาหฺมโณ แปลว่า สมณะรู้ได้ยาก พราหมณ์ก็รู้ได้ยาก การที่จะ รู้ว่าใครคือสมณะ หรือเป็นพราหมณ์ที่แท้นั้น ต้องอยู่ใกล้ชิดนานๆ ด้วยเหตุนี้ การที่จะดูคน ว่าดีหรือเลว จึงดูได้ยากเพราะต้องใช้เวลา (หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน) แล้วอะไรล่ะที่ดูได้ง่าย  ในคัมภีร์ อรรถกถา อังคุตนิกาย กล่าวไว้ว่า  กุทฺธา นาม สุวิชานา โหติ ธรรมดาว่าคนที่โกรธแล้ว เป็นผู้ที่ใครๆ ก็รู้ได้โดยง่าย (คนโกรธมี อาการหน้าแดง คิ้วขมวด ตาแข็งกร้าว พอมองเห็นก็รู้ว่าโกรธนั่นเอง) สรุปได้ว่า ความโกรธนั้นดูง่ายเพราะปิดยาก ส่วนความดี ความเลว นั้นดูได้ยาก   แต่ถึงกระนั้น นกกระยางก็ดี นกอีกแร้งก็ดี ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ในเชิง สัญญวิทยา (semiology) เท่านั้น ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่เป็น มา(ร)ยาคติ (Mythologies)

ขวา+ซ้าย :

ขวาซ้ายนั้นเป็นสมมติบัญญัติ อันเกิดจากการมองเห็นภาพบนเรตินาในตาของเรา ขนาดของภาพบนเรตินาเป็นส่วนกลับของระยะห่างของวัตถุ  ภาพใกล้ ๆ ตาจะมองเห็นรายละเอียดได้มากกว่า ภาพที่อยู่ไกลๆ ฉะนั้นก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าภาพที่เห็นนี้ อะไรอยู่ซ้าย อะไรอยู่ขวา ควรที่จะพิจารณาให้ทราบแน่ชัดเสียก่อนว่า ภาพที่เห็นนี้ หยาบ  หรือ ละเอียด (ซึ่งจะทำให้ท่านผู้อ่านทราบได้ว่าท่านอยู่ใกล้ หรืออยู่ไกลจากสถานกาณ์ที่มองเห็น) ข้อสำคัญในการมองก็คืออย่าให้ เส้นผมบังภูเขา


ที่มาของบทความ : 

ผู้เขียนยืนมองเห็น นกกระยาง กำลังจะหาที่เกาะยังยอดต้นงิ้ว  อันว่าต้นงิ้วต้นนี้ ก็กำลังจะถูกเถาวัลย์ เกาะเกี่ยวผูกพัน อีกไม่นานต้นงิ้วต้นนี้ ก็คงจะลำบาก ส่วนนกกระยางก็คงจะอดตาย เพราะต้นงิ้วย่อมไม่ใช่ที่พำนักอันเกษมของนกกระยาง ผู้เขียนมองเห็นสถานการณ์ดังกล่าว แล้วก็อยากที่จะปีนต้นงิ้ว เอ้ย อยากเอาก้อนหินปาไล่นกกระยาง และอยากเอามีดไป ฟันรากเถาวัลย์ เพื่อช่วยต้นงิ้ว แต่พิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ก็เกิดปัญญา และตระหนักรู้ได้ว่า สัตว์โลกนั้นย่อมเป็นไปตาม(ยถา)กรรม จึงได้แต่นำมาเขียนเป็นบทความ เพื่ออธิบายในเชิง สัญญวิทยา (semiology)  ที่มีลักษณะเป็น  มา(ร)ยาคติ (Mythologies)



ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-08-30 15:46:36


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1835881)
ที่มา http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao
ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-09-12 09:17:06



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.