ReadyPlanet.com


เส้นทางวัฒนธรรมชมพูทวีป(อินเดีย)เข้าอุษาคเนย์ สุวรรณภูมิ อยู่ตรงไหน? ไทย หรือ พม่า


วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11569 มติชนรายวัน


เส้นทางวัฒนธรรมชมพูทวีป(อินเดีย)เข้าอุษาคเนย์ สุวรรณภูมิ อยู่ตรงไหน? ไทย หรือ พม่า







(ซ้าย) หนังสือแผนที่ประวัติศาสตร์และแผนที่วัฒนธรรม ของ (สยาม) ประเทศไทย (ขวา) ตราดินเผารูปเรือสำเภา (นายเสรี นิลประพันธ์ เขียนลายเส้นจากรูปตราดินเผา)
ปรับปรุงจากหนังสือ

แผนที่ประวัติศาสตร์และแผนที่วัฒนธรรม ของ (สยาม) ประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

กองทุนแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ (Knowledge Dissemination Fund) พิมพ์ครั้งที่สอง 2551

www.sujitwongthes.com




มีข้อสงสัยที่อาจเป็นวัตถุดิบสำหรับข้อเขียนของคุณสุจิตต์ นั่นคือ

1.ศูนย์กลางสุวรรณภูมิที่เป็นแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-หลังการล่มสลายของอาณาจักรฟูนัน แถบนครปฐม-อู่ทอง มีการไหลเชื่อมโยงหรือรับอิทธิพล หรือวัฒนธรรมจากอินเดีย ผ่านพม่า (Thaton) หรือฝั่งตะวันตกของแหลมอินโดจีนมากกว่า

2.คณะธรรมทูตชุดที่ 8 พระโสณะและพระอุตตระในช่วง พ.ศ.234 สมัยพระเจ้าอโศกเข้าสุวรรณภูมิที่ Thaton หรือคาบสมุทรหรือแหลมอินโดจีนฝั่งตะวันตก

ความจริงก็ได้อ่านที่คุณสุจิตต์เขียนเรื่องพวกนี้มามาก ซื้อเอกสารตำราอ่านก็มาก แต่คล้ายๆ กับว่าไม่มีข้อสรุปเชิงหลักฐานจริง

ดำรง ลีนานุรักษ์ dumrongleen@gmail.com

เรือจากชมพูทวีป (อินเดีย) แล่นเลียบอ่าวเบงกอลถึงชายฝั่งทะเลอันดามัน ด้านตะวันออกของพม่า (ทางตะวันตกของไทย) แล้วควรจะจอดทางเมืองทวาย ขนสิ่งของสินค้าผ่านช่องเขาเข้าไทยทางด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) ไปเมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) นอกจากนั้นยังอาจแล่นลงไปจอดตามบ้านเมืองต่างๆ ตั้งแต่เขตพม่าถึงเขตไทย มีแสดงตำแหน่งไว้ในแผนที่ (จากหนังสือแผนที่ฯ ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2551 หน้า 31)

คำอธิบายทางประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่มี "หลักฐานจริง" ทุกเรื่อง ฉะนั้นหลายเรื่องต้อง "สันนิษฐาน" (ภาษาปากชาวบ้านว่า เดา) จากร่องรอยต่างๆ เท่าที่พบและเท่าที่รู้ในช่วงเวลาที่เขียนคำอธิบาย

กรณีอย่างนี้มีทั่วไปในงานของนักปราชญ์ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ

อนึ่ง คำอธิบายทางประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่จำเป็นต้องมี "ข้อสรุป" หรือ "ข้อยุติ" แต่ควรเปิดช่องกว้างๆ ไว้ให้ความคิดต่างของคนอื่นๆ มาเปรียบเทียบ แล้วผู้อ่านทั้งหลายตัดสินใจกันเองว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของใคร


ประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยมีปัญหาล้าหลังมากก็เพราะถูกครอบงำด้วย "ข้อสรุป" และ "ข้อยุติ" ของผู้มีอำนาจราชการทั้งในอดีตและปัจจุบันนั่นแหละ

จะตอบคำถามคุณดำรงตามลำดับเวลาในอดีต เริ่มจากเรื่องพระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์มาสุวรรณภูมิ แล้วเกิดรัฐทวารวดีเมื่อหลัง พ.ศ.1000

เรือเลียบชายฝั่งยุคแรกๆ ดูได้จากตราดินเผารูปเรือสำเภา พบที่เมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แสดงว่าคนยุคนั้นชำนาญเดินเรือเลียบชายฝั่ง และยืนยันถึงความเป็นรัฐลุ่มน้ำที่สัมพันธ์กับทะเลของบ้านเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี มีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง (นายเสรี นิลประพันธ์ เขียนลายเส้นจากรูปตราดินเผา)



ขึ้นฝั่งอันดามัน ทางเมืองทวาย

พระโสณะและพระอุตตระ ธรรมทูตของพระจ้าอโศก ตามตำนานมหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา) อาศัยเรือพ่อค้าจากชมพูทวีป (อินเดีย) เลียบอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน มาขึ้นฝั่งทางเมืองทวายในพม่า (อยู่ใต้เมืองสะเทิม หรือ Thaton สมัยนั้นยังไม่มีชุมชนบ้านเมือง) แล้วเดินบกผ่านช่องทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าเมืองกาญจนบุรีในไทย

(จากหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ ภาคพิสดาร, เล่ม 1, ดี.จี.อี.ฮอลล์ (A History of South-East Asia, D.G.E.Hall) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการแปล มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2549)

จะขอยกข้อความจากหนังสือแผนที่ประวัติศาสตร์และแผนที่วัฒนธรรมของ (สยาม) ประเทศไทย หน้าที่ 32 มาให้อ่านดังนี้

นักบวชในศาสนาพุทธ-พราหมณ์ อาศัยเรือสินค้าจากอินเดีย (ชมพูทวีป) เมืองใดเมืองหนึ่งทางฝั่งทะเลตะวันออก แล้วเลียบชายฝั่งอ่าวเบงกอล ผ่านบังกลาเทศและพม่า ตัดมาถึงฝั่งทะเลอันดามันบริเวณที่เป็นเมืองทวายหรือเมืองอื่นๆ ใกล้เคียง แล้วเดินบกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ (เขต จ.กาญจนบุรี) ลงลำน้ำแควน้อย-แควใหญ่ ต้นน้ำแม่กลองเข้ามาถึงบริเวณอ่าวไทยชายทะเลโคลนตม ที่ต่อมาคือลำน้ำท่าจีน และจะมีเมืองอู่ทอง หรือเมืองจรเข้สามพัน ราวหลัง พ.ศ.500 เป็นรัฐแห่งแรกใน (สยาม) ประเทศไทย


บริเวณลำน้ำท่าจีน-แม่กลอง มีชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณดอนตาเพชร (อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี) และอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) ที่ดอนตาเพชร-อู่ทอง นี่เอง ศาสนาพุทธจะแพร่หลายออกไปถึงที่อื่นๆ เช่น บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก, ลุ่มน้ำบางปะกง-พานทอง, ลุ่มน้ำชี-มูล, ลุ่มน้ำโขง ฯลฯ

นับแต่นี้ไป คือราวหลัง พ.ศ.500 ชุมชนบ้านเมืองในศาสนาผีที่รับพุทธ-พราหมณ์ จะเติบโตขึ้นเป็นบ้านเมืองใหญ่ แล้วมีพัฒนาการขึ้นเป็นรัฐขนาดเล็กบริเวณทะเลโคลนตมอย่างน้อย 2 แห่ง คือ บริเวณอู่ทอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในประเทศไทย และบริเวณออกแก้ว ปากน้ำโขงในประเทศเวียดนาม ที่ต่างรับอารยธรรมจากอินเดียและจีนเหมือนๆ กัน

บ้านเมืองและรัฐขนาดเล็กยุคนี้ยังไม่พบหลักฐานมีชื่อเรียกแท้จริงว่าอะไร? ที่เรียกอู่ทองกับออกแก้วเป็นชื่อสมมุติเรียกในปัจจุบันซึ่งไม่ใช่ชื่อจริงในอดีต ผู้คนพลเมืองดั้งเดิมเป็นใคร? ชนชาติเผ่าพันธุ์อะไร? ก็ไม่มีหลักฐานบอกได้ตรงๆ

แต่มีร่องรอยต่อเนื่องบอกได้ว่าล้วนเป็นบรรพชนทางสังคมและวัฒนธรรมของคนอุษาคเนย์ทุกวันนี้ รวมทั้งเป็นบรรพบุรุษ "คนไทย" ในประเทศไทยด้วย



ชายฝั่งอันดามัน พม่า-ไทย

หลัง พ.ศ.1000 หรือเข้าสู่ยุคทวารวดี เทคโนโลยีเดินเรือก้าวหน้ามากขึ้น มีเรือจากชมพูทวีป (อินเดีย) แล่นมาทางอุษาคเนย์ และโดยเฉพาะสุวรรณภูมิได้หลายทิศทาง

เลียบชายฝั่ง ตามที่เคยแล่นไปมาตั้งแต่ราว พ.ศ.1 แวะบ้านเมืองทางพม่า, ไทย

ข้ามทะเลอันดามัน ผ่านหมู่เกาะอันดามันกับหมู่เกาะนาควารี (นิโคบาร์) แล้วแยกเป็นสองทาง คือ

(1) ไปอ่าวพังงา ข้ามคาบสมุทรเข้าสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช และไปไทรบุรี ข้ามคาบสมุทรเข้าปัตตานี

(2) ไปเกาะสุมาตราและเกาะชวา

แต่บอกไม่ได้ว่ามาที่ไหนมากกว่าที่ไหน? เพราะดูเหมือนจะมากพอกัน จะยกข้อความจากหนังสือแผนที่ประวัติศาสตร์ฯ หน้า 34-36 มาดังนี้

การค้าโลกตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1000 ขยายตัวมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่า โดยเฉพาะอินเดียกับจีนฮั่นมีความต้องการแลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องทำโดยเส้นทางการค้าทางทะเลผ่านบริเวณสุวรรณภูมิ สะดวกมากกว่าเส้นทางการค้าทางบกที่รู้จักในชื่อเส้นทางสายไหม

สุวรรณภูมิเป็นผืนแผ่นดินที่เชื่อมโยงการค้าทางทะเลระหว่างอินเดียกับจีนฮั่น เพราะเทคโนโลยีต่อเรือทะเลยังมีประสิทธิภาพต่ำ เป็นได้แค่เรือเลียบชายฝั่งที่แล่นอ้อมช่องแคบมะละกายังไม่ได้ เลยต้องขนสินค้าเลียบอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน มาจอดทางชายฝั่งตะวันตกของสุวรรณภูมิ (บริเวณเมาะตะมะ, ทวาย ในพม่าทุกวันนี้) แล้วขนสินค้าผ่านช่องเขามาทางตะวันออก ถ่ายลงพาหนะที่อ่าวไทยไปถึงจีนที่กวางตุ้ง-กวางสี หรือมิฉะนั้นก็ขนถ่ายไปทางลุ่มน้ำโขงผ่านบริเวณอีสานและลาว

ในทางกลับกัน จีนฮั่นก็ขนสินค้ามาถ่ายลงเรือเลียบชายฝั่งไปยังอินเดียและตะวันออกกลาง

การค้าทางทะเลของอินเดียกับจีนฮั่น ผลักดันให้บ้านเมืองบริเวณสุวรรณภูมิทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะเติบโตขึ้นเป็นรัฐขนาดใหญ่จนเป็นอาณาจักรต่อไปข้างหน้า เช่น ในชวา ในพม่า ในลาว ในกัมพูชา ในเวียดนาม และในประเทศไทย รัฐเหล่านี้นับถือผี-พราหมณ์-พุทธ ปะปนกันก่อน แล้วจะเลือกเน้นศาสนาใดศาสนาหนึ่งในภายหลัง แต่ก็มีศาสนาอื่นปนอยู่ด้วย

ดินแดนประเทศไทยมีคาบสมุทรยื่นลงไปทางใต้ มีฝั่งทะเลทั้งทางมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเป็นจุดนัดพบเชื่อมโยงขนถ่ายแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ผลักดันให้มีพัฒนาการของรัฐต่างกันอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มใกล้ฝั่งทะเล กับกลุ่มห่างไกลฝั่งทะเล

รัฐเหล่านี้ล้วนเป็นรัฐเอกราช ต่างเป็นอิสระแก่กันโดยไม่มีศูนย์กลางแห่งเดียวแล้วแผ่อำนาจกว้างขวางไปทั่วประเทศ


คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม หน้า 20
วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11569 มติชนรายวัน


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-12 13:58:14


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2039198)

ขอบคุณสำหรับข้อมูล

ผู้แสดงความคิดเห็น gogo_f วันที่ตอบ 2010-02-25 20:53:09


ความคิดเห็นที่ 2 (2130715)

ว่าด้วยชมพูทวีป ศาสนาพุทธ พระเจ้าอโศก ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ยิ่งอ่านเอกสารหลายแหล่ง ยิ่งสนุก น่าค้นหา เมื่อคืนอ่าน ฝรั่งอุษาคเนย์ ของไมเคิล ไรท์ อีกรอบ เกิดจับความได้เลาๆ ที่นำไปสู่ข้อสันนิษฐานแบบเอะใจ (ยังมีหลักฐานไม่แข็งแรงพอ) ว่า

1. พระเจ้าอโศก กับเทวานัมปิยาโศกของอินเดีย เป็นคนเดียวกันหรือ เพราะ ไมเคิล ไรท์ กล่าวว่า (ถ้าจริง) อินเดียไม่มีชื่อพระเจ้าอโศก หรือพระเจ้าศรีธรรมาโศก มีแต่ชื่อ เทวานัมปิยาโศก 

2.  ไมเคิลไรท์กล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกมีแต่กล่าวถึงไว้อย่างเคารพในศรีลังกาและในไทย (กษัตริย์ของนครศรีธรรมราช) เท่านั้น 

3. ไมเคิลไรท์ กล่าวว่าพระเถระในทางเหนือในแคว้นล้านนาในสมัยโบราณ พูดถึงดินแดนทางใต้ล้านนาว่าเป็นชมพูทวีปตลอด นี่มิหมายความว่าดินแดนแถบนี้เป็นที่ก่อกำเนิดพระพุทธศาสนาดอกหรือ แม้ไมเคิลไรท์ จะอธิบายไว้ด้วยแล้วว่าโบราณท่านหมายถึงชมพูทวีปคือดินแดนที่มนุษย์อาศัยอยู่ (ซึ่งแยกจากดินแดนเทวดา นาค)  คือมิได้หมายถึงประเทศอินเดีย แต่ตรงนี้แหละที่บอกว่าเอะใจ โบราณท่านอาจจะไม่หมายอย่างนั้นก็ได้ นี้น  อินโดจีนอาจจะเป็นแหล่งกำนิดพระพุทธศาสนาจริง เพราะ หากอินเดียคือแหล่งกำเนิดทำไมร่องรอย ตำนานพระพุทธศาสนามีน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับร่องรอย ตำนานพื้นบ้านแถวนี้ โดยเฉพาะเเถวพม่า ภาคเหนือและอีสานของไทย  

4. เป็นที่ทราบกันทั่วว่าผู้ที่มาประกาศว่าศาสนาพุทธกำเนิดในอินเดียนั้น เป็นคนอังกฤษที่มาในยุคการล่าอาณานิคมและการครอบครองอินเดียเป็นอาณานิคม เมื่อ 100 ก่วาปีนี้เอง (พุทธศาสนามีมากว่าสองพันปีแล้ว- อย่างนี้เรียกว่า สะเออะได้ไหม) อย่าลืมว่าช่าวตะวันตกยุคนั้นชอบปันแต่งข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ของตนในทางใดทางหนึ่งจากรัฐบาลประเทศแม่ของตน  โดยการเขีนยรายงานการค้นพบต่างๆนานาๆ ซึ่งจริงบ้างผิดบ้าง เจตนาปั้นแต่งจับแพะชนแกะบ้าง โดยหาได้ตระหนักไม่ว่า เอกสารโบราณด้านพุทธศาสนานั้นมีมากมายในประเทศอินโดจีน เข้าทำนองคิดว่าคนพื่นเมืองเป็นคนไม่รู้จักสืบสานบันทึกประวัตศาสตร์ของตนไว้ แต่ก็นั่นแหละหนา นิสัยคนเอเชียรู้อะไรก็อมพะนำ ไม่พูดจาโต้ตอบ ไม่อยากย่ง ไม่สนใจ

5. ไมเคิลไรท์ บอกว่าพระเจ้านิสสังคะมังละ (ขออภัยถ้าเขียนชื่อผิด) กษัตริย์ครองลังกา น่าจะเป็นกษัตริย์เชื้อสายจากสยาม (เพราะกาลิงคะของอินเดียช่วงนั้นไม่ใช่ถิ่นที่นับถือพุทธ) กาลิงคะในจารึกนั้นน่าจะหมายถึงสยามมากกว่า ที่จะกล่าวต่อไปคือ จารึกนี้ เขียนว่าพระองค์เป็นโอรสพระเจ้าวิชัยแห่งกาลิงคะ (ซึ่งหมายถึงสยาม) ในดินแดนชุมพูทวีป ถิ่นกำเนิดพระศาสนา จารึกนี้น่าสนใจที่ควรศีกษาต่อไห้ถี่ถ้วน จะได้หาร่องรอยว่าชมพูทวีปอยู่ที่ไหนกันแน่ 

ที่กล่าวถึงไมเคิลไรท์ นี้ท่านเขียนไว้หลายบทความ เราอ่านอย่างค้นหาช่องว่างที่มีสันนิษฐานไว้แล้วว่าอินเดียไม่ใช่ดินแดนพุทธจึงเจอเบาะแสที่ว่านี้ ไม่ใช่พวกคลั่งชาติหรอกนะ แต่เป็นการสงสัยและสนุกที่จะติดตามสืบหาความจริงเพื่อจรรโลงทั้งวิชาการและความสนใจใคร่รู้เท่านี้นเอง

ผู้แสดงความคิดเห็น Sadhana วันที่ตอบ 2010-11-22 15:45:03


ความคิดเห็นที่ 3 (2235122)

ความคิดเห็นบน ก็ลองอ่านงานค้นคว้าที่เค้าตีพิมพ์และยอมรับก่อน ดีกว่าที่จะมาอ่านข้อสันนิษฐานของไมค์เคิลไรท์แล้วไปอินตามเค้า

ผมแค่เสนอแนะเฉยๆนะครับไม่ได้มีเจตนาว่าข้อสันนิษฐานที่คุณเห็นด้วยกับไมเคิลไรท์นั้น ผิด

แต่อยากให้มองในมุมกว้าง ถึงสิ่งที่นักวิชาการท่านอื่นค้นพบ แล้วจะทราบว่าเพราะอะไรทำไม สากลเค้าถึงยอมรับว่าอินเดียเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนา แล้วเผยแพร่ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คิดง่ายๆจีนนั้นเจริญกว่าบ้านเรามานับตั้งแต่บ้านเรายังเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์เสียด้วยซ้ำ แต่จีนนั้นเจริญจนเมืองต่างๆถ้าอยากเป็นที่รู้จักนั้นนต้องส่งบรรณาการไปที่จีน แต่จีนยังศัทธาพุทธศาสนาจนถึงขั้นต้องส่งสมนฑูตไปอินเดีย

ที่กล่าวมานั้น ก็มาจากหลักฐานที่เป็นจดหมายเหตุที่เขียนอยู่ร่วมสมัยที่ได้รับการพิสูจน์ทั้งทางด้านอักขระวิธีและทางวิทยาศาสตร์แล้ว และธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนักจีนเกี่ยวกับการบันทึกจดหมายเหตุนั้น จะบันทึกทุกอย่างที่ใกล้เคียวตามความเป้นจริงแม้ผู้นำทำผิดก็บันทึกตามจริงเช่นกัน นักวิชาการจึงให้ความเชื่อถือ

แล้วมุ่งที่จะศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียจากจดหมายเหตุจีนเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งจีนที่เจริญมาก่อนประเทศในแถบนี้นับพันกว่าปีก็ยังศัทธาพุทธศาสนาถึงขั้นส่งสมณฑูตเดินทางไปยังต้นกำเนิดและเดินทางเลยมายังบ้านเราและบันทึกเรื่องราวของผู้คนในแถบนี้มีชื่อเรียกเมืองต่างๆในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งก็มีนักวิชาการถอดชื่อมาไว้หมดแล้ว ดังนั้น ชมพูทวีปที่สงสัยนั้นคงไม่ใช่บ้านเรา

มีแต่ข้อสงสัยที่ว่าสุวรรณภูมิที่อยู่ที่ไหนต่างหาก ที่ยังไม่มีข้อสรุป

ผู้แสดงความคิดเห็น บ.ค.50 วันที่ตอบ 2011-11-29 17:47:24


ความคิดเห็นที่ 4 (4310196)

 ดูตามแผ่นที่แม่นำ้คงคาจากอินเดียจะไหลลงทะเลที่อ่าวเบงกอล บริเวณนี้เป็นเขตติดต่อบังคลาเทศ-พม่า(จิตตะกอง,ยะไข่) ในปัจจุบัน ในสมัยพระพุทธเจ้าทางที่สะดวกที่เป็นไปได้ที่จะออกไปเผยแพ่รศาสนา น่าจะเป็นการเดินเลียบไปตามฝั่งแม่นำ้ ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาที่เผยแพ่รมายังเอเซียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะผ่านเข้ามาจากแถบนี้ ก่อนที่พระเจ้าอโศกส่งสมณทูตออกเผยแพ่ร.

ผู้แสดงความคิดเห็น |ฅ. วันที่ตอบ 2019-05-27 14:01:08



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.