ReadyPlanet.com


การบำบัดด้วยบทกวี


บำบัดด้วยบทกวี

        ท่านทราบหรือไม่ว่าบทกวีสามารถนำมาบำบัดปัญหาสุขภาพจิตได้ เพราะมันอยู่ในสาขาหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก

        การแพทย์ทางเลือกเป็นสาขาหนึ่งในการบำบัดสุขภาพ ที่อยู่นอกเหนือจากการแพทย์แผนปัจจุบัน ปัจจุบันมีผู้นิยมบำบัดด้วยหลักการแพทย์ทางเลือกมากขึ้น เพราะมันตอบสนองความต้องการบางอย่างในจิตใจได้ดีกว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน

       การแพทย์ทางเลือกแบ่งออกเป็นสาขาย่อยต่างๆมากมาย เช่น ดนตรีบำบัด สะกดจิตบำบัด หัวเราะบำบัด ศิลปะบำบัด เป็นต้น การบำบัดด้วยบทกวีก็จัดเป็นหนึ่งในการบำบัดตามหลักการแพทย์ทางเลือกด้วยเช่นกัน

       บทกวีบำบัด หรือการบำบัดด้วยบทกวี คือการให้ผู้ป่วยได้อ่านบทกวีหรือเขียนบทกวีระบายความในใจออกมา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หวาดกลัว เป็นต้น การอ่านและการเขียนบทกวี จะทำให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกที่เก็บกดไว้ในส่วนลึกของจิตใจออกมา ทำให้เกิดการตระหนักรู้ เข้าใจตนเองมากขึ้น และมองเห็นทางออกของปัญหานั้นๆ

 

ประวัติความเป็นมาของบทกวีบำบัด

       

        ถึงแม้ว่าการบำบัดด้วยบทกวีจะทำกันเป็นรูปแบบจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ เพราะมันเป็นผลพวงของการพัฒนาศิลปะในยุคใหม่ แต่จริงๆแล้วมนุษย์รู้จักบำบัดด้วยบทกวีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้ว เช่นการสวดมนต์ การสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธ์ด้วยการร้องรำทำเพลง ซึ่งมีอยู่ในชนเผ่าต่างๆมากมาย

          ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน สัญลักษณ์ งูพันคบเพลิง เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งการบำบัดรักษาโรคของกรีก นั่นก็คือ เทพเจ้า Asclepius ซึ่งเป็นบุตรของเทพ Apollo ซึ่งเป็นเทพแห่งศิลปะ บทกวีและการบำบัดรักษาโรค

         มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าในคริสศักราชที่ 1 แพทย์ชาวโรมันผู้หนึ่งชื่อว่า Soranus ได้บำบัดผู้ป่วยของเขา ด้วยการให้แสดงบทละครและเขียนบทกวี และในเทพนิยายปรัมปรา Oceanus ได้บอกกับ Prometheus ว่า “ ถ้อยคำคือผู้บำบัดจิตใจ”

         ในปี 1751 Benjamin Franklin ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลเกี่ยวกับจิตเวช ชื่อ Pennsylvania Hospital ซึ่งที่นี่มีการบำบัดผู้ป่วยด้วยการให้ผู้ป่วยได้อ่านและเขียนบทความ โดยผู้ที่เริ่มต้นกิจกรรมดังกล่าวก็คือ Benjamin Rush ซึ่งเป็นบิดาของวงการจิตเวชอเมริกัน และนำสิ่งที่ผู้ป่วยเขียนตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Illuminator ซึ่งการบำบัดแบบนี้แพร่หลายมากในระหว่างปี 1960-1970

        Sigmund Freud นักจิตวิเคราะห์คนแรกของโลกเคยกล่าวไว้ว่า “บทกวีช่วยเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไข้ได้”

        นักจิตวิทยาหลายๆท่านเช่น Carl Jung , Adler ได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า วิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆจากบทกวีมากมาย

         ปี 1950  Eli Greifer ซึ่งเป็นเภสัชกร , ทนายความ ,นักกวี เริ่มกิจกรรมการบำบัดด้วยบทกวีในโรงพยาบาล Creedmore State Hospital ที่นิวยอร์ค และที่ Cumberland Hospital ในเมือง Brooklyn ในปี 1959 ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยทีมจิตแพทย์ซึ่งประกอบด้วย Dr. Jack  Leedy และ Dr. Sam Spector

        ปี 1969 Dr. Leedy, Gil Schloss,และ Ann White ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมบทกวีบำบัด ( The

Association for Poetry Therapy.) และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนก็ให้ความสนใจกับการบำบัดด้วยบทกวีมากขึ้น มีการนำบทกวีเข้ามาช่วยในการทำจิตวิทยาบำบัดแบบกลุ่มอย่างแพร่หลาย

       ปี 1970 Arthur Lerner , Ph.D. ได้จัดตั้งสถาบันบทกวีบำบัด ( Poetry Therapy Institute )

ที่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และเขาได้เขียนหนังสือ Poetry in the Therapeutic Experience

ขึ้นมาในปี 1976

       ปี 1980 มีการจัดประชุมระดับประเทศเป็นครั้งแรกของผู้ที่ทำงานในด้านบทกวีบำบัด มีการกำหนดแนวทางสำหรับการฝึกอบรมและการให้ประกาศนียบัตร สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักกวีบำบัด ซึ่งในเวลาต่อมาได้บัญญัติชื่อสำหรับการฝึกอบรมนี้ว่า the National Association for Poetry Therapy (NAPT Guide to Training, 1997)

 

บทกวีสามารถบำบัดปัญหาจิตใจได้อย่างไร ?

       ถ้อยคำต่างๆในบทกวี ผ่านการกลั่นกรองออกมาจากส่วนลึกของจิตใจ ผ่านกระบวนการของความคิด อารมณ์ ความรู้สึก มีทั้งทุกข์ สุข เสียใจ ดีใจ เศร้า เหงา ปิติ อิ่มเอม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถ้อยคำในชีวิตประจำวันไม่สามารถทำได้ลึกซึ้งขนาดนี้ บทกวีส่วนใหญ่มีความงดงามในเชิงศิลปะ เพราะมีคำสัมผัส จึงให้ความไพเราะ  มีความกระชับ ถ้อยคำไม่มาก ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก่อให้เกิดจินตนาการได้กว้างไกล ดังนั้นการเขียนหรืออ่านบทกวีจะกระตุ้นให้เกิดการระบายความรู้สึกต่างๆในจิตใจออกมาได้อย่างพรั่งพรู ทำให้ได้ปลดปล่อยสิ่งที่อัดอั้นคั่งค้างอยู่ในใจออกมา ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย สบายใจ

        การอ่านบทกวีที่ผู้อื่นเขียน ถ้าเนื้อหาใกล้เคียงกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ จะทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจ ว่าอย่างน้อยๆก็ยังมีคนที่เข้าใจปัญหาของเรา หรืออย่างน้อยๆเราก็ยังมีเพื่อนร่วมทุกข์ ที่มีชตากรรมแบบเดียวกับเรา ทำให้เราไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวอีกต่อไป

        การทำจิตวิทยาบำบัดแบบกลุ่ม โดยนำบทกวีเข้ามาช่วยบำบัด จะได้ผลที่ดีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้สมาชิกในกลุ่มได้เขียนบทกวีของแต่ละคน หรือช่วยกันคิดช่วยกันเขียน เสร็จแล้วนำบทกวีที่ได้มาอ่าน และแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกที่มีต่อถ้อยคำต่างๆในบทกวี การบำบัดจะเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การมาเข้ารวมกลุ่ม ทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกอบอุ่น มีที่ยึดเหนี่ยว การช่วยกันคิดช่วยกันเขียน ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กัน การแสดงความคิด ความรู้สึกต่อถ้อยคำของบทกวี ทำให้

แต่ละคนเข้าใจตัวเองและคนอื่นๆมากขึ้น เกิดการมองย้อนเข้าไปในปัญหาของตัวเอง เปรียบเทียบกับปัญหาของผู้อื่น ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เกิดความคิดใหม่ๆ เกิดการตระหนักรู้ เกิดความเข้าใจ และในที่สุดจะมองเห็นทางออกของปัญหา มีการให้กำลังใจกัน ปลอบใจกัน ก่อให้เกิดพลังบำบัดอย่างมหาศาล กล่าวกันว่าการเขียนและการอ่านบทกวี จะกระตุ้นให้จิตใจสงบ และทำให้ใต้สำนึกเปิดออก เพื่อนำถ้อยคำในบทกวี ลงไปแก้ไขปมปัญหาทีอยู่ในจิตใต้สำนึก

        ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของถ้อยคำอ้างอิงที่พูดถึงประโยชน์ของบทกวีในการบำบัดสุขภาพจิตใจ

Charles Angoff (Lerner, 1994) บทกวีเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงคนเราเข้าด้วยกัน ทำให้แต่ละ

คนได้สัมผัสกับประสบการณ์ชีวิตของผู้อื่นผ่านบทกวี ถ้อยคำและเสียงสัมผัสที่ไพเราะของบทกวีจะ

กระตุ้นให้ทุกๆคนเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใจได้ง่ายขึ้น

Myra Cohn Livingston (Lerner, 1994) บทกวีคือตัวเชื่อมประสานร่างกายให้เข้ากับอารมณ์และสติปัญญา มันจะกระแทกเข้าไปถึงส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เกิดการย้อนประสบการณ์ในอดีตขึ้นในใจอีกครั้ง บกวีเหมือนเสียงเรียกที่เหนี่ยวนำให้จิตใจสร้างจินตนาการใหม่ๆขึ้นมา และมันก็เหมือนหน้าต่างบานหนึ่งที่เปิดออกให้แสงสว่างส่องเข้ามาในใจที่เมื่อก่อนเหมือนห้องมืดอับแสง

Stephen Dobyns (Dobyns, 1997) อารมณ์ของบทกวีจะจับจิตจับใจคนได้ง่ายมาก บทกวีจะช่วยให้เราได้สำรวจตัวเอง และปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมา จังหวะและท่วงทำนองของบทกวีจะช่วยหยุดยั้งความคิดที่สับสนวุ่นวาย แล้วทดแทนด้วยความสงบในจิตใจ

Leedy (1985 ) บทกวีที่คล้องจองกับเรื่องราวในใจของเรา จะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เจ็บปวดอยู่คนเดียว เพราะนักกวีเองก็มีความรู้สึกเหมือนเรา เขาจึงถ่ายทอดอารมณ์ออกมาเป็นถ้อยคำได้ ทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วม มีเพื่อนร่วมชตากรรม ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป

Meerloo (1985 ) ท่วงทำนองของบทกวีสามารถดึงความคิด ความรู้สึกของคนอ่านจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ทำให้ผู้นั้นตระหนักรู้ในความรู้สึกที่เคยทำให้เจ็บปวด หมดแรงหรือพ่ายแพ้ ทำให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหา ถ้อยคำเสริมสร้างในบทกวีจะลงลึกสู่ระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวในใจ ไปช่วยบำบัดปัญหา  ทำให้ผ่อนคลายและเกิดพลังขึ้นอีกครั้ง

 จากชมรมจิตวิทยาสมาธิ

www.medihealing.com

ท่านที่สนใจการอบรมเรื่องบทกวีบำบัดโปรดเข้ามา

แสดงความจำนงค์ในบอร์ดนี้

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ภก.พงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา (medihealth2003-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2008-08-09 06:45:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1816492)

เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ ท่านใดจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็เชิญได้เลยขอบคุณครับภก.พงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา

ผู้แสดงความคิดเห็น สมาคมนักกลอนฯ วันที่ตอบ 2008-08-09 08:12:16


ความคิดเห็นที่ 2 (1816701)

ผมในฐานะนักจิตวิทยา ที่มีประสบการณ์ในการบำบัด

สุขภาพจิตผู้ป่วยมามากมาย และได้ศึกษาเรื่องบทกวี

บำบัดมาตลอด เพราะผมชอบเขียนบทกวีมาตั้งแต่

ตอนเป็นเด็ก ผมจึงทราบว่าบทกวีช่วยให้

ผมและผุ้ป่วยหายทุกข์ หายเครียด สร้างความหวังกำลังใจให้ผมและผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

 ผมมองเห็นว่าสมาชิกของสมาคม

นักกลอนส่วนใหญ่มีความถนัดในการเขียนบทกวี หรือ

มีใจรักในบทกวี ผมจึงอยากจะจัดคอร์สอบรมเรื่อง

การบำบัดปัญหาสุขภาพจิตด้วยบทกวี ให้กับสมาชิก

ของสมาคมนักกลอน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำ

บทกวีบำบัดให้เป็นรูปธรรม และแพร่หลายในสังคมไทย

ให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า บทกวีนอกจมีความงดงาม

ในทางวรรณศิลป์แล้ว ยังใช้เป็นศาสตร์

การบำบัดแบบแพทย์ทางเลือกได้ด้วย ดังนั้นผมอยาก

ทราบว่ามีสมาชิกของสมาคมนักกลอนท่านใดสนใจจะ

รับการอบรมเรื่องบทกวีบำบัดบ้าง ผมอยากทราบ

จำนวนคร่าวๆว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้กำหนด

โปรแกรมการอบรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้

รับความรู้ในเรื่องจิตวิทยาการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุข

ภาพจิต ปัญหาชีวิต และได้ฝึกการนำบทกวีมาช่วย

เหลือผู้ที่มีปัญหา ขอบคุณครับ

เภสัชกรพงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา

ชมรมจิตวิทยาสมาธิ www.medihealing.com

ผู้แสดงความคิดเห็น เภสัชกร พงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา วันที่ตอบ 2008-08-09 15:19:59


ความคิดเห็นที่ 3 (1816930)


การบำบัดด้วยบทกวีที่ว่านั้น
ต้องมีฉันทลักษณ์"ไหม"โปรดไขขาน
เป็นรูปแบบอย่างใดในเนื้องาน
ขอวอนท่านตอบด้วยช่วยชี้แจง

กลอนแปดหรือ-กลอนเปล่า-เล่าคะท่าน
ผู้ร่วมสานข้อความใช้นามแฝง
หรือต้องบอกชื่อจริงสิ่งเคลือบแคลง
โปรดแถลงคำข้อพอเป็นแนว

ผู้แสดงความคิดเห็น รจนา U.S.A. วันที่ตอบ 2008-08-10 02:30:18


ความคิดเห็นที่ 4 (1816949)

จะเป็นกลอนแปด หรือกลอนเปล่าหรือโคลง ฉันท์

กาพย์ อะไรก็ได้ที่มีถ้อยคำไพเราะ ลึกซึ้ง ชวนให้เกิด

ความรู้สึกประทับใจ ซาบซึ้งใจ ใช้ได้หมด ผู้มีส่วนร่วม

ไม่ต้องบอกชื่อจริงก็ได้ ใช้นามแฝงได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เภสัชกร พงศ์ปกรณ์ วันที่ตอบ 2008-08-10 07:25:45


ความคิดเห็นที่ 5 (1817284)

เสียเงินค่าอบรมหรือเปล่าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงหนม วันที่ตอบ 2008-08-11 04:43:22


ความคิดเห็นที่ 6 (1817285)

ผมจะติดต่อกับท่านนายกสมาคมนักกลอน ว่าจะจัด

ในนามร่วมกันระหว่างสมาคมและชมรมจิตวิทยาสมาธิ

คงจะไม่เก็บค่าอบรมหรอกครับ สำคัญว่าจะมีผู้สนใจ

มากน้อยแค่ไหน เพราะยังไม่มีใครมาแสดงความเห็น

ผู้แสดงความคิดเห็น เภสัชกรพงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา วันที่ตอบ 2008-08-11 05:33:57


ความคิดเห็นที่ 7 (1817300)

สนใจครับ สนใจจะเข้ารับการอบรม ถ้ามีรายละเอียดมีโครงการเมื่อไรแจ้งให้ทราบด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชอบกลอน วันที่ตอบ 2008-08-11 07:42:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.