ReadyPlanet.com


กาลเมื่อก่อนนั้นก็เป็นดินเป็นหญ้า เป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด


"กาลเมื่อก่อนนั้นก็เป็นดินเป็นหญ้า เป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด..." "Once long ago were earth, grass, sky and gods. Men and gods visited each other unceasingly..."

คอลัมน์ สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม

โดย อติภพ ภัทรเดชไพศาล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล




วง Thailand Philharmonic Orchestra

เรื่องเล่าในพงศาวดารล้านช้างที่ยกมาเป็นชื่อเพลงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่าผู้คนทั้งหลายล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกันแม้กระทั่งคนกับผี ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับเรื่องเล่าในสังคมไทยปัจจุบัน ที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ในสภาวการณ์ทีเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ

"กาลเมื่อก่อนนั้นก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด..." ประพันธ์โดย อติภพ ภัทรเดชไพศาล (สนับสนุนโดยสถาบันเกอเธ่)

บรรเลงโดยวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) ณ หอแสดงดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล

Gudni Emilsson, Conductor

Robyn Schulkowsky, Percussion

Reinhold Friedrich, Trumpet

(วันที่ 9 และ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2550)

บทเพลงนี้เป็นงานในลักษณะ collage ที่ผสมผสานบทเพลงสำคัญๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในสังคมไทยในช่วงระยะเวลา 50-60 ปีที่ผ่านมา บิดพลิกวิธีการนำเสนอ ตัดแบ่งเพลงเหล่านั้นออกเป็นส่วนย่อยๆ และดึงออกมาจากบริบทดั้งเดิม เพื่อทำลายความหมายและตั้งคำถามถึงวาทกรรมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังบทเพลงเหล่านั้น บทเพลงของหลวงวิจิตรวาทการหลายเพลงถูกนำมาตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทย และความหมายของคำว่าชาติที่เลื่อนไหลไปตามความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอำนาจต่างๆ ในสังคมไทย ผู้ประพันธ์ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับสังคม การ quotation ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการคัดลอกโน้ตเพลงเก่าๆ เท่านั้น แต่เป็นการดึงเอาความหมายและแนวคิดที่เชื่อมสนิทอยู่กับบทเพลงเหล่านั้นมาตีแผ่ บทเพลงต่างชนิดที่ถูกขยำรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นภาพใหญ่ที่สับสนแต่ในขณะเดียวกันก็ว่างเปล่า และเปิดพื้นที่ให้ผู้ฟังได้สร้างความหมายของมันขึ้นมาใหม่ตามแบบที่แต่ละคนเข้าใจ



"กาลเมื่อก่อนนั้นก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน

ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด..."


ความคิดแรกของการประพันธ์งานชิ้นนี้อยู่ที่การนำชิ้นงานต่างๆ มาผสมผสานในลักษณะของภาพตัดปะ (collage) โดยจงใจให้เกิดลักษณะที่ลักลั่น และปราศจากความเป็นเอกภาพในเชิงสุนทรียศาสตร์แบบเก่า รูปแบบกลายเป็นเครื่องถ่วงที่ต้องทำลายหรือล้อเล่น ดังนั้น จึงอาจพบลักษณะการหยอกล้อกับท่อนดนตรี

เช่น การวางตำแหน่งของท่อนจบมาอยู่ที่ท่อนต้นๆ เพลง หรือการวางเพลงเรียงกันอย่างสับสน พิลึกพิลั่น ลักษณะความเป็น orchestral work ที่ถูกทำให้พร่าเลือนในแบบ chamber music ในบางตอน เป็นต้น

บทเพลงที่เลือกมาใช้ในงานประพันธ์ชิ้นนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่คุ้นหูคนไทย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2490-2515 ประเด็นส่วนใหญ่ของเพลงเหล่านี้เป็นการปลุกใจให้รักชาติ ตามนโยบายรวมชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งส่งผลสืบเนื่องต่อมายาวนานแม้จะหมดสมัยของนายกรัฐมนตรีคนนี้แล้วก็ตาม)

กลุ่มนักดนตรีไทยบรรเลงจากด้านหลังเวที



เช่น เพลงรักเมืองไทย ตื่นเถิดไทย ที่ยกย่องความเป็นไทยว่าอยู่ที่ชาติเชื้อบริสุทธิ์ ตามแบบอย่างของลัทธิฟาสซิสต์ในขณะนั้น

เพลงเหล่านี้ นอกจากจะนำเสนอประเด็นว่าด้วยเชื้อชาติแล้วยังเชิดชูรัฐแบบราชาธิราช เห็นได้จากเพลงต้นตระกูลไทยที่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของละครเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.2498) การเลือกอ้างอิงเพลงเหล่านี้และบิดพลิกการเรียบเรียงเสียงประสานในแบบใหม่ รวมถึงการเรียงเพลงที่ลักลั่นอันทำให้เพลงเหล่านี้เหมือนถูกตัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ นั้น ก็คือการนำเสนอเพลงต่างๆ เหล่านี้ในบริบทใหม่

การที่เพลงเหล่านี้ถูกตัดแยกออกมาเป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆ นั้นมิใช่อะไรอื่น นอกจากการจับชิ้นงานแยกออกมาจากบริบทดั้งเดิม ทำให้มันสูญเสียความหมายแบบเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้ความหมายใหม่ๆ ได้ผุดบังเกิดขึ้น

ความหมายของความเป็นชาติถูกตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เมื่อเพลงชาติไทยถูกแปลงรูปและนำไปหลอมรวมกับเพลง Blue Danube ของ Strauss การกระทำเช่นนี้อาจเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมาย หรือดูหมิ่นสถาบันหลัก แต่เป็นวิธีเดียวที่จะตั้งคำถามหนึ่งได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

นั่นคือคำถามที่ว่า ชาติมีจริงหรือไม่? และวิพากษ์ต่อไปยังหัวข้อที่ว่า ความเป็นชาตินั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงวาทกรรม (discourse) ที่ถูกนำไปช่วงใช้โดยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้นเอง เพลงชาติในที่นี้จึงเปรียบเสมือนวาทกรรมของความเป็นชาติ ที่สามารถเปลี่ยนรูปเปลี่ยนความหมายไปได้เรื่อยๆ ด้วยปัจจัยของอำนาจ สังคม และวัฒนธรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่งตายตัว

ส่วนการตั้งวงดนตรีไทยไว้ภายนอกหอแสดงดนตรีนั้น เป็นการวิพากษ์วัฒนธรรมการฟังดนตรี เพราะการแสดงดนตรีเก็บเงินนั้นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมตะวันตก เป็นเรื่องของการแสดงออกทางชนชั้น สถานะของดนตรีพื้นเมืองกลับกลายมาเป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอกมากกว่าที่จะอยู่ข้างใน

ในอีกมุมหนึ่งก็เสียดเย้ยสถานะของดนตรีไทยในปัจจุบันที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของผู้คนและกลายมามีสถานะเสมือนวัตถุโบราณที่มีไว้แสดงให้ต่างชาติชมเท่านั้น

ในบางช่วงของเพลงมีเสียงตบเท้าของนักดนตรีในวงเป็นจังหวะเดินแถวทหาร ซึ่งคงไม่ยากต่อการจินตนาการนักในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นวันนี้

นอกจากเพลงปลุกใจแล้ว ยังมีการนำเสนอบทเพลงที่สำคัญๆ ในช่วงหลังจากนั้น ที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวของแนวคิดว่าด้วยศิลปะเพื่อชีวิตและเพื่อประชาชน ลัทธิคอมมิวนิสต์ การปราบปรามคอมมิวนิสต์และเหตุการณ์อื่นๆ เรื่อยมาจนถึงประเด็นการนำเพลงไทยเดิมมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่สำหรับวงดนตรีตะวันตกของกรมพระนครสวรรค์วรพินิจ (การเลือกใช้บทเพลงของกรมพระนครสวรรค์ฯ นั้นย่อมแสดงนัยยะบางอย่างเมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งจอมพลของท่านในขณะที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475)

Gudni Emilsson, Conductor (คนยืนขวามือ) และ Robyn Schulkowsky, Percussion (คนยืนซ้ายมือ)





เพลงที่ใช้ประกอบขึ้นมาเป็นงาน

สุดแผ่นดิน (หลวงวิจิตร?)

สดุดีมหาราชา (ชาลี อินทรวิจิตร, สมาน กาญจนผลิน และสุรัสน์ พุกกะเวส)

รักเมืองไทย (หลวงวิจิตร)

ต้นตระกูลไทย (หลวงวิจิตร) จากอานุภาพพ่อขุนรามฯ

ตื่นเถิดไทย (หลวงวิจิตร)

มหาอาณาจักรไทย (หลวงวิจิตร)

รักกันไว้เถิด (นคร ถนอมทรัพย์)

มาร์ชกองทัพบก (นารถ ถาวรบุตร)

แสงดาวแห่งศรัทธา (จิตร)

Marching to Georgia (Henry Clay)

คุณหลวง (Marching to Georgia ภาคไทย)

ใต้ร่มธงไทย (หลวงวิจิตร)

ผู้แทนไทย (คำรณ)

เดือนเพ็ญ (อัศนี)

แองเตอร์นาซิอองนาล (ปีแยร์ เดอเฌย์แตร์ Pierre Degeyter)

Blue Danube (J. Strauss)

เพลงชาติ (พระเจนดุริยางค์)

ทยอยนอก (ครูมีแขก/กรมพระนครสวรรค์ฯ)

Fur Elise (Beethoven)



วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทย

TPO Thailand Philharmonic Orchestra


วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra, TPO) เป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ บรรเลงเพลงคลาสสิค ได้ก่อตั้งขึ้นใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งวงดุริยางค์อาชีพขึ้นในประเทศไทย บรรเลงรองรับงานศิลปวัฒนธรรมระดับชาติและระดับนานานชาติ เพื่อสร้างคุณค่า รสนิยม พัฒนาศิลปวัฒนธรรม และสร้างเสริมรสนิยมของคนในชาติ เพื่อเป็นเครื่องหมายของความเจริญและยกระดับด้านศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาค สร้างผลงานดนตรีที่มีรสนิยมให้กับประชาชนชาวไทยและใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

ในด้านสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาฝีมือนักดนตรีของไทย คนในสังคมไทย สร้างความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และพัฒนาศักยภาพทางสมองของคนไทยโดยอาศัยดนตรี เพื่อถ่วงดุลการค้าในการนำเข้านักดนตรีและวงดนตรีจากต่างประเทศ เป็นการเปิดประเทศไทยเข้าสู่โลกกว้างในฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม และสามารถที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีภายในประเทศได้

ในด้านศักยภาพของมนุษย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพความสามารถทางดนตรีของคนไทย ให้งอกงามสู่เป้าหมายสูงสุดของอาชีพ เพื่อใช้ศักยภาพผลงานภายในประเทศ และพัฒนาศักยภาพดนตรีส่งออกที่เหลือไว้ขายศักยภาพและแสดงความเป็นเลิศด้านดนตรีให้กับนานาชาติ เพราะศักยภาพและความเป็นเลิศด้านดนตรีเป็น ทรัพยากร ซึ่งหากยิ่งใช้ศักยภาพก็จะยิ่งมีขึ้น

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทยเป็นเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาดนตรีและอาชีพดนตรี เพื่อให้นักเรียนดนตรีและนักดนตรีอาชีพ ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีหลักชัย และมีความภาคภูมิใจในอาชีพ

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทย (TPO) บริหารจัดการดูแลรับผิดชอบและดำเนินงานโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วงดนตรีได้รับการสนับสนุนงบประมาณครึ่งหนึ่งจากรัฐบาล ส่วนงบประมาณอีกครึ่งหนึ่ง เป็นความรับผิดชอบโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล



อติภพ ภัทรเดชไพศาล

อติภพ ภัทรเดชไพศาล เกิดเมื่อ พ.ศ.2514 จบการศึกษา Tashkent State Conservatory (Uzbekistan) เมื่อปี พ.ศ.2542 โดยศึกษากับ Professor FeLix Yanov-Yanovsky ในสาขาวิชาเอกการประพันธ์ดนตรี และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดผลงานการประพันธ์ดนตรี ซึ่งจัดขึ้นโดย Union of Composers แห่ง Uzbekistan ในปีเดียวกัน และในปีถัดมาได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดผลงานใน Competition for Young Composers ที่งาน Asian Music Festival ที่ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น อติภพมีผลงานการประพันธ์ออกแสดงในงานเทศกาลดนตรีต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่น ยูเครน เกาหลี นิวซีแลนด์ ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก และสหรัฐอเมริกา

นอกจากการประพันธ์ดนตรีแล้ว อติภพยังทำงานด้านวรรณศิลป์ และได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีหลากหลายโดยเฉพาะจากวรรณคดีไทย ได้เริ่มเขียนบทกวี เรื่องสั้น และเรื่องแปลในนิตยสารต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 มีผลงานบทกวีรวมเล่มเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2544 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดเรื่องสั้นรางวัล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปีเดียวกันนั้นเอง

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานการประพันธ์ที่สำคัญ

-กวีนิพนธ์สามบทของอังคาร กัลยาณพงศ์ for Orchestra

-ใบไม้ป่า- Symphony in 2 movements (มรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์) for Orchestra

-Miniature for Mezzo-soprano, Piano and Percussion (รางวัลชนะเลิศการประกวดผลงานการประพันธ์ดนตรี ซึ่งจัดขึ้นโดย Union of Composers แห่ง Uzbekistan)

-คำฉันท์สามฉันทลักษณ์ for sextet (รางวัลรองชนะเลิศจากการผลงานในประกวด Competition for Young Composers, Asian Music Festival ที่ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการคัดเลือกนำแสดงที่ Internationales Festival fur Musik unserer Zeit ที่ Saizburg ประเทศออสเตรีย โดย ASPEKTE New Music Ensemble ในปี พ.ศ.2547)

-ทางกลับคือการการเดินทางต่อ for Orchestra (แสดงครั้งแรกที่ Asian Music Festival ที่ Tokyo ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2546 โดยวง Tokyo Philharmonic Orchestra)

-Dreamscape no. 1 : Inside and Outside for Violin, Cello and Piano (ได้รับการคัดเลือกนำออกแสดงที่ International Youth Music Forum ที่ Ukraine ในปี พ.ศ.2544 และนำออกแสดงครั้งที่สองที่งาน Asian Music Millenium ที่ Seoul ประเทศเกาหลี ในปี พ.ศ.2545)

-The Noise (เสียง) for Septet, Narrator and Tape

-อิฐก้อนแรก (ระลึกโกมล คีมทอง) for Wind Ensemble and 2 Violins

- สังเวชสังวาส for Orchestra and Chanters

มติชนรายวัน หน้า 34 วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10884


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-12-29 15:52:50


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (938399)
การตลาดเชิงสังคม และดินหญ้าฟ้าแถน

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



การตลาดเชิงสังคม หรือ social marketing ไม่มุ่งหวังกำไร แต่มุ่งเผื่อแผ่แบ่งปันพร้อมเผยแพร่ความรู้และความคิดบางอย่างหรือหลายอย่างที่เห็นว่าดีและมีประโยชน์ให้แก่สาธารณชน เช่น คนไทยและความเป็นไทยก่อรูปแล้วมีพัฒนาการขึ้นบริเวณสุวรรณภูมิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง ไม่ได้อพยพหลบหนีใครมาจากไหน ฯลฯ

ประเด็นการตลาดเชิงสังคมนี้ ผมเพิ่งรู้จักชื่อเมื่ออ่านบทความในมติชน สุดสัปดาห์เรื่องการตลาดที่ไม่พัฒนาของการเมืองไทย ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จะขอคัดตัดเฉพาะที่สำคัญมาให้อ่านดังนี้

เราเคยชินกับการตลาดที่มุ่งขายสินค้าและบริการ เพราะเป็นส่วนใหญ่ของการตลาดที่เรารู้จักในโลกของบริโภคนิยม

แต่ที่จริงแล้วการตลาดไม่จำเป็นต้องมุ่งไปทางทำกำไรเพียงอย่างเดียว อันที่จริงแล้วองค์กรใดๆที่ต้องเกี่ยวข้องกับสาธารณะ ก็ล้วนจำเป็นต้องใช้การตลาดเข้าช่วยทั้งนั้น แม้แต่องค์กรศาสนาซึ่งต้องการเผยแผ่ธรรมะให้ถึงชาวบ้าน ก็ต้องใช้การตลาด และในความจริงก็ใช้กันมาแต่โบราณแล้ว

ชาติพันธุ์กลุ่มนี้มีบรรพชนเป็นคนสุวรรณภูมิดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว ต้องนับเป็นบรรพชนคนไทยสายหนึ่ง (บน) ตองเหลือง 100% : ชาวตองเหลืองแต่งกายด้วยชุดเตี่ยวดั้งเดิม ถ่ายภาพอวดบัตรประจำตัวประชาชน ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ 6 บ้านห้วยหยวก หมู่ 6 ต.แม่ขะนิง อ.เวียงสา จ.น่าน โดยจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 คน มาใช้สิทธิครบ 100% (ภาพและคำบรรยายจาก กรุงเทพธุรกิจ ฉบับจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2550 หน้า 11) (ล่าง) ตองเหลืองก็มา - นายอ้ายปา คนธพฤกษ์ อายุ 70 ปี นายลอง สุชนคีรี อายุ 46 ปี ผู้นำชนเผ่าตองเหลือง พาลูกบ้าน 50 คน ใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 6 บ้านห้วยหยวก ต.แม่ขะนิง อ.เวียงสา จ.น่าน เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. (ภาพและคำบรรยายจาก ข่าวสด ฉบับอังคารที่ 25 ธันวาคม 2550 หน้า 8)



พูดอีกอย่างหนึ่ง การตลาดเผยแพร่อะไรก็ได้นับตั้งแต่สินค้าไปจนถึงความคิด (อย่างที่เรียกกันว่าการตลาดเชิงสังคม-social marketing-ไม่ได้มุ่งหวังกำไร แต่อยากปลูกฝังความคิดหรือพฤติกรรมบางอย่างที่เห็นว่าดีให้แก่ผู้คน)

ข้อเขียน "มหา"ลัยนอกระบบ" ของ ลม เปลี่ยนทิศ ในไทยรัฐ (วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2550 หน้า 5) ควรร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยอ่านให้มากที่สุด เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมากไม่อ่านหนังสือ ไม่ว่าหนังสือวิชาการหรือหนังสือพิมพ์ จึงจะคัดตอนสำคัญๆ มาดังนี้

ระบบการศึกษาของไทยจึงล้าหลังลงไปเรื่อยๆ ปฏิรูปไม่ได้สักที จนวันนี้การศึกษาไทยเราแพ้ประเทศเวียดนามไปแล้ว

อาจารย์มหาวิทยาลัยบางกลุ่ม ก็อาศัยความเป็น "ข้าราชการ" ที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ความชอบไม่มีความดีไม่ปรากฏก็เอาไปหนึ่งขั้น มีการเอาเวลาราชการไปทำมาหากินส่วนตัวเป็นล่ำเป็นสัน

เรื่องที่อาจารย์มหาวิทยาลัยบางกลุ่ม "กลัว" และพูดผ่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางคนในสภาตอกย้ำตลอดเวลา คือกลัวจะต้องพ้นจากการเป็น "ข้าราชการ" ไปเป็น "พนักงานมหาวิทยลัย" ซึ่งจะต้อง "ถูกประเมินผลงาน" ทุกครึ่งปี เหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป จะทำงานสบายแบบข้าราชการเช้าชามเย็นชาม และเอาเวลาราชการไปทำมาหากินไม่ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ กลัวการเปลี่ยนแปลงสถานะของตัวเองนั่นเอง

มาตราสำคัญที่อาจารย์บางกลุ่มกลัวกันมากก็คือ บทบัญญัติให้ "มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่" ซึ่งจะประเมินตั้งแต่ "อธิการบดี" และ "หัวหน้าส่วน" ลงมา หากไม่มีผลงาน ไม่ผ่านการประเมิน ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง จะนั่งเกาะตำแหน่งไปเรื่อยๆ โดยไม่มีผลงานไม่ได้

สรุปแล้วก็คือ อาจารย์บางกลุ่มออกมาต่อต้านการออกนอกระบบไม่ใช่เพื่อกาศึกษา ไม่ใช่เพื่อมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพื่อนิสิตนักศึกษา แต่เพื่อสถานะของตัวเอง

อาจารย์อติภพ ภัทรเดชไพศาล แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล (กวีโคลงที่มีสำเนียงกำสรวล, ยวนพ่าย, ทวาทศมาส แต่สอนเพลงดนตรีตะวันตก แล้วประพันธ์เพลงเป็นอาชีพ) ส่งซีดีเพลงชื่อยาวๆ ว่า "กาลเมื่อก่อนนั้นก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด" (ข้อความนี้ยกจากพงศาวดารล้านช้าง) มาให้ฟัง

ผมฟังแล้วชอบอก ชอบใจ จนนิ่งอยู่ไม่ได้ ต้องตามขอสูจิบัตรและรายละเอียดต่างๆ มาพิมพ์ไว้ข้างล่างนี้ในพื้นที่สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม เพราะเป็นเพลงสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีเสียง "ทหารเดินสวนสนาม" เต็มแผ่นดินสุวรรณภูมิ ใครอยากฟังเพลงร่วมสมัยชุดนี้ ติดต่อที่อาจารย์อติภพ

มติชนรายวัน หน้า 34 วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10884



ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้สื่อข่าวบ้านไพร วันที่ตอบ 2007-12-29 15:54:03


ความคิดเห็นที่ 2 (938400)
เพลง กาลเมื่อก่อนนั้น ฯ ที่คุณสุจิตต์พูดถึงตอนท้ายบทความ ผมได้ลงไว้ให้ฟังให้ดูที่ blog นี้นะครับ คือ: http://www.oknation.net/blog/insanetheater/2007/12/17/entry-2 (อันนี้เป็น vdo file มีขนาดใหญ่มาก 200 mb) http://www.oknation.net/blog/insanetheater/video/17076 (อันนี้ file ขนาดเล็ก เป็น audio อย่างเดียว)
ผู้แสดงความคิดเห็น maddogsniche วันที่ตอบ 2008-01-02 10:24:10


ความคิดเห็นที่ 3 (1802302)
ดำฟะ
ผู้แสดงความคิดเห็น ICE (ICE_memmy-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2008-07-15 18:07:57


ความคิดเห็นที่ 4 (2106896)

louis vuitton mens wallet fake louis vuitton pocket on the back Added to this louis vuitton budget There are other categories replica gucci handbags gucci wallets.

ผู้แสดงความคิดเห็น johnson (betty-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-10 19:16:31


ความคิดเห็นที่ 5 (4044204)

จำได้เลยว่าตอนยังเป็นเด็กๆได้คิดเล่นแผลงๆกับเพื่อนโดยการเอากลอนสุนทรภู่ตอนเรียนมาใส่ทำนองแนวร็อคจากวงร็อคญี่ปุ่นในสมัยนั้น พอลองย้อนกลับมาคิดก็เกิดคำถามขึ้นในหัวว่า "ทำทำไม?" 555+แต่ก็แปลกดีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น rkk วันที่ตอบ 2016-07-11 17:20:36


ความคิดเห็นที่ 6 (4120860)

มาดู 5 อันดับวงร๊อคญี่ปุ่นกันดีกว่าว่ามีวงไหนโด่งดังในบ้านเราและต่างชาติกันบ้าง?

วงดนตรีของญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์สูง ซึ่งแค่หลับตาฟังซาวด์ก็พอจะแยกออกแล้วว่าเป็นเพลงของชาติไหน วงดนตรีที่ได้รับความนิยมในบ้านเราก็มีอยู่มิใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายหญิง หรือชาย มาแบบเดี่ยว เป็นคู่ เกิร์ลกรุ๊ป บอยแบรนด์ หรือแม้แต่สายร๊อค (ที่เรามักเรียกกันว่าเจร๊อค J-Rock)

เราไปดูกันดีกว่าว่า วงร๊อคญี่ปุ่นที่โด่งดังในบ้านเราตลอดกาล (ทั้งใหม่และเก่า) มีวงไหนกันบ้างไปดูกันค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น nippajrock วันที่ตอบ 2017-01-23 15:02:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.