ReadyPlanet.com


มลายูศึกษา


"ข้อตกลงใหม่" ระหว่างมลายูมุสลิม กับรัฐชาติไทย

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม




ตำรวจตระเวนชายแดน มว.ตชด.44023 ฉก.13 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนโรงงานยาสูบ 2 บ้านทำนบ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ถูกคนร้ายซุ่มยิงเสียชีวิต และลงมาใช้มีดฟันใส่ใบหน้าศพซ้ำ แล้วชิงอาวุธปืนหลบหนีไป ขณะขับขี่จักรยานยนต์ไปสืบหาข่าวบริเวณตลาดนัดใกล้เคียง (ที่มา : ห้องสมุดภาพมติชน)

ตัดทอนและปรับปรุงใหม่จากเรื่อง สู่ความเข้าใจและทางออก ของ เกษียร เตชะพีระ

พิมพ์ในหนังสือความรู้เที่ยงคืน ชุดที่ 4 มลายูศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ (อานันท์ ปันยารชุน คำนิยม) สำนักพิมพ์อมรินทร์ มิถุนายน 2550

เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ระลอกหลังสุดซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2547 สืบมาจนถึงปัจจุบันก่อให้เกิดคำอธิบายหลายอย่าง ทั้งจากฝ่ายตำรวจ ทหาร นักวิชาการ และนักการเมือง โดยนัยคำอธิบายแต่ละอย่างย่อมส่อว่าควรจะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรด้วย

เราทุกคนซึ่งแต่เดิมอาจไม่ได้สนใจมลายูมุสลิมในประเทศไทยเป็นพิเศษ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราอยากได้คำอธิบายที่เราพอใจ ครั้นเริ่มศึกษาก็พบว่าสังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพี่น้องที่เราอ้างว่าเป็น "เพื่อนร่วมชาติ" ของเราน้อยมาก และด้วยเหตุดังนั้นจึงทำให้โกรธแค้นเขาได้ง่ายมาก หรือในทางตรงกันข้ามคือรักเขาได้ง่ายมากเหมือนกัน ไม่ว่าเราจะมีทัศนคติต่อเขาอย่างไร ความเข้าใจต้องเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในท่ามกลางคำอธิบายที่ถูกผลิตขึ้นรอบตัวเราจำนวนมาก ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับคำอธิบายเหล่านี้อย่างไร

บทนี้ไม่ต้องการรวบรวมคำอธิบายซึ่งผลิตขึ้นทั้งในและต่างประเทศมาเสนอทั้งหมด แต่จุดมุ่งหมายคือต้องการสร้างเครื่องมือการคิดขึ้นมาชุดหนึ่ง สำหรับจัดหมวดหมู่และประเมินค่าคำอธิบายทั้งหลายที่มีมา (และอาจจะมีต่อไปอีกในอนาคต) ด้วยความหวังว่าจะเป็นเครื่องมือสำหรับใช้วิเคราะห์วิจารณ์คำอธิบายทั้งหลายได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นก็จะเสนอความเห็น โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวที่คล้ายกันกับของประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้ คืออยู่ในกลุ่มที่จัดว่าเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ในสังคมไทย เพื่อการเปรียบเทียบซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากอีกแง่มุมหนึ่ง

ร่างเค้าโครง"ข้อตกลงใหม่"ระหว่างมลายูมุสลิมกับรัฐชาติไทย

การต่อต้าน "ระเบียบใหม่" ที่รัฐบาลทักษิณสร้างขึ้นในชายแดนภาคใต้ มาปะทุระเบิดด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2547 นับแต่นั้นเหตุรุนแรงรายวันก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้เมื่อประกอบกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ย่อมเป็นสัญญาณบ่งบอกดีที่สุดว่า "ระเบียบใหม่" ของรัฐบาลทักษิณไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ในชายแดนภาคใต้ มากพอที่พวกเขาจะเลือกใช้ทั้งกระสุน และ/หรือบัตรลงคะแนนไปแสดงการคัดค้านต่อต้านมัน และก่อภาวะไร้ระเบียบที่รัฐอ่อนแอหรือกระทั่งล้มเหลว (failed state) ในการทำหน้าที่พื้นฐานที่จะปกป้องร่างกายชีวิต ทรัพย์สินของพลเมืองขึ้นมา

แผนที่ราชอาณาจักรสยาม หลัง พ.ศ.2300 หรือราว 250 ปีมาแล้ว จากต้นฉบับแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (กำลังพิมพ์เป็นเล่ม)



ในปรัชญาการเมืองเสรีนิยมคลาสสิค รัฐที่สูญเสีย consent หรือความยินยอมให้ปกครองของราษฎรไปได้ แต่ใช้ coercion หรือกำลังบังคับในการปกครอง ควบคุม และลงอาญาราษฎรถ่ายเดียวโดยสิทธิ์ขาดนั้น พูดให้ถึงที่สุดก็ไม่ต่างจากภาวะไม่มีรัฐหรือภาวะธรรมชาติ (stateless state or the state of nature) ที่ปราศจากอำนาจทางการที่สถิตยุติธรรม (want of a common judge with authority) และอาจเสื่อมถอยไถลไปสู่ภาวะสงคราม (the state of war) ซึ่งผู้คนใช้กำลังเข้าทำร้ายกันโดยปราศจากสิทธิ (force without right, upon a man"s person) ได้โดยง่าย

ถ้านี่คือภาพสะท้อนแนวโน้มสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ที่สมจริง ทางออกจากภาวะธรรมชาติที่เสมือนไร้รัฐเช่นนี้ ในทางทฤษฎีการเมืองก็คือการแสวงหาข้อตกลงหรือสัญญาประชาคมฉบับใหม่เพื่อสร้างอำนาจทางการอันชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับได้ขึ้นมาอีกครั้ง

แต่อะไรเล่าคือ "ข้อตกลงใหม่" (a new deal or modus vivendi) ที่จะทำให้ชุมชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวไทยชาติพันธุ์-ศาสนาต่างๆ ในรัฐและสังคมไทยต่อไปได้อย่างสมานฉันท์และสันติ

เพื่อพยายามหาคำตอบต่อคำถามข้างต้น ผู้เขียนได้อ่านและประมวลสรุปข้อคิดเห็นและเสนอแนะของบุคคล กลุ่มองค์กร และหน่วยงานราชการจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารทั้งสิ้น 24 ชิ้น ปรากฏผลการสรุปวิเคราะห์ข้อเสนอทางออกสำหรับปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ดังนี้คือ

สร้างชุมชนทางการเมืองขึ้นมาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

- ปลุกพลังชุมชนขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการแก้ปัญหา โดยมีฐานะเป็นภาคี ที่เสมอภาค อิสระ เป็นตัวของตัวเองกับภาครัฐในระดับพื้นที่

- เป้าหมายคือสร้างชุมชนทางการเมืองที่อิสระและหลากหลายทางวัฒนธรรม (a culturally diverse & autonomous political community) ที่รักสันติ สามารถแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งภายในได้เอง ดำเนินงานภายใต้กรอบสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อไปแก้ไขประดาความอยุติธรรม

- ชุมชนทางการเมืองดังกล่าวต้องมีสถาบันแทนตนในระดับพื้นที่ที่มีความสามารถทำงานได้อย่างหลากหลายและก็เข้มแข็งในการทำงานควบคู่ไปกับภาครัฐ

- ในการนี้มวลชนระดับหมู่บ้านเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชี้ขาดที่จะต้องเข้าถึง ช่วงชิง และปลุกพลังให้เข้าร่วมให้ได้

- ปัญหาหลักของภาครัฐได้แก่ความไม่แน่นอนของนโยบายแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งของผู้นำหน่วยงานราชการต่างๆ ด้วยเหตุผลทางการเมือง

เปลี่ยนเอกลักษณ์ไทยให้หลากหลาย

- ต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นทางการ (legal constitution) ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากมาตราต่างๆ ที่มีลักษณะโลกวิสัย (formal secularistic provisions) ในแง่ประกันความเสมอภาค หลากหลาย เปิดกว้างทางศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม

ประชาชนชาวไทยมุสลิมจาก อ.ธารโต จ.ยะลา กว่า 1 พันคน รวมตัวกันปิดถนนสาย 42 บริเวณหน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ส่งผลให้การสัญจรจากสายบ้านดอนยางไป อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และเข้าไป จ.ยะลา หยุดชะงักลง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ก่อนที่ม็อบชุมนุมจะสลายตัวที่หน้าคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และมัสยิดกลางปัตตานีในช่วงบ่ายวันเดียวกัน (ที่มา : ห้องสมุดภาพมติชน)



- ต่อ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" (cultural constitution หรือนัยหนึ่งแบบแผนวัฒนธรรมการเมืองไทยดังที่เป็นอยู่) ผลักดันแบบแผนปฏิบัติและการสร้างสถาบันแก้ไขข้อพิพาทจากเดิมซึ่งมีลักษณะวัฒนธรรมเดี่ยว (monocultural แบบไทยพุทธ) ให้เปลี่ยนไปในทิศทางพหุ-วัฒนธรรม (multicultural)

- เมื่อเทียบกับข้อตกลงทางวัฒนธรรม (cultural deal) ที่รัฐไทยเคยทำกับเจ๊ก โดยให้เจ๊กคงวัฒนธรรมจีนได้ในปริมณฑลชุมชนและส่วนตัว (community & private spheres) แต่ยอมรับวัฒนธรรมราชการไทยในปริมณฑลสาธารณะและทางการ (public & official spheres) นั้น ในกรณีมลายูมุสลิมภาคใต้อาจต้องขยับเส้นแบ่งให้วัฒนธรรมมลายูมุสลิมเคลื่อนจากปริมณฑลชุมชนและส่วนตัวเข้าไปสู่ปริมณฑลสาธารณะและทางการมากขึ้น อย่างน้อยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่และถือตนเป็นเจ้าของพื้นที่

- ปัญหานโยบายวัฒนธรรมของรัฐคือเน้นมิติศาสนาอิสลาม ละเลยมิติชาติพันธุ์มลายู และพุ่งเป้าเล่นงานปอเนาะ

การประคับประคองและปฏิรูปเศรษฐกิจชายแดนใต้

- ปัญหานโยบายเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมาคือมุ่งดึงคนมุสลิมเข้าเศรษฐกิจหลัก เน้นพื้นที่มีศักยภาพ แต่ละเลยพื้นที่ยากจน

- ถ้าหากข้อตกลงทางเศรษฐกิจ (economic deal) ที่รัฐไทยทำกับเจ๊ก คือเปิดกว้างให้เจ๊กพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม โดยรัฐเก็บภาษีและค่าเช่าเศรษฐกิจแล้ว ต่อมลายูมุสลิมพึงปรับเปลี่ยนเป็นสร้างเศรษฐกิจโดยรวมให้สมดุล โดยเปิดทางให้ชาวบ้านเลือกเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนาและวิถีชีวิตดั้งเดิมของตน

- เศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ซึ่งรับผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องจากภัยธรรมชาติและความไม่สงบ ขอให้ภาครัฐผ่อนปรนภาษี ตั้งกองทุนช่วยเหลือ และภาคธนาคารพาณิชย์ลดหย่อนผ่อนปรนดอกเบี้ย

คำนำ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ให้ความสนใจกรณีที่เกิดขึ้นอย่างมาก สมาชิกพากันหันไปศึกษาเรื่องของชาวมลายูมุสลิมในแง่มุมต่างๆ อันเป็นเรื่องที่พวกเราไม่ค่อยให้ความสนใจมาก่อน ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ได้ร่วมจัดกิจกรรมกับสถาบันวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นหลายครั้ง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังจัดกิจกรรมสานเสวนากับประชาชนในภาคใต้อีกหลายครั้ง บางครั้งก็นำเอาผู้นำชาวบ้านจากภาคเหนือ-อีสาน-กลาง ลงไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนในภาคใต้ ทั้งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้และนอกพื้นที่

พวกเราพบว่าเหตุการณ์ที่บานปลายขึ้นตลอดมานั้นเกิดจากการจัดการที่ไม่ประสีประสาของรัฐบาล ซ้ำเป็นความไม่ประสีประสาที่ไม่ต้องการการเรียนรู้ใดๆ อีกทั้งยังใช้งานเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีความสามารถ ด้วยเหตุที่ผู้นำรัฐบาลเต็มไปด้วยความหวาดระแวงทุกคนที่ไม่ใช่ "พวก" ของตัว สถานการณ์จึงเลวร้ายลงตลอดมา ผู้คนทุกฝ่ายต้องเสียชีวิตหรือบาดเจ็บลงโดยไม่จำเป็น ทรัพย์สินถูกทำลายเสียหายอีกมากมาย

ความเขลาของรัฐบาลนั้นเป็นไปไม่ได้ในสังคมที่รอบรู้ เพราะสังคมจะไม่ปล่อยให้รัฐบาลทำอะไรโง่ๆ อย่างนั้นได้นาน แต่ความล้มเหลวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการจัดการกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้มีฐานมาจากความไม่รู้และไม่ใส่ใจจะเรียนรู้ของสังคมไทยเอง ที่กล่าวนี้ไม่ต้องการจะโทษสังคมโดยไม่ชี้ให้เห็นเหตุปัจจัย ความไม่รู้และไม่ใส่ใจจะรู้เกี่ยวกับพี่น้องร่วมชาติที่เป็นชาวมลายูมุสลิมนี้เป็นสิ่งที่สังคมสั่งสมมาให้แก่ตนเองเป็นเวลานาน โดยการเรียนประวัติศาสตร์ของชาติที่บิดเบือน การสร้างวัฒนธรรมชาติที่ไม่เปิดพื้นที่อันเท่าเทียมกันแก่ความหลากหลายของประชากร การอบรมสั่งสอนให้หลงชาติพันธุ์ตนเองอย่างงมงาย ความลำเอียงที่นโยบายพัฒนาย่ำยีบีฑาคนเล็กคนน้อยในประเทศตลอดมา แต่สื่อและการศึกษากลับกล่อมให้คนหลับตาต่อความอยุติธรรมเหล่านี้ การบริหารรัฐกิจที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ ฯลฯ

ดังนั้นในทรรศนะของพวกเรา การแก้ปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถาวรคือการสร้างความรู้ให้แก่สังคม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเปิดสอนวิชา "มลายูศึกษา" ขึ้นเมื่อต้นปี 2549 ที่เชียงใหม่ โดยได้รับความกรุณาจากนักวิชาการหลายท่านจากสถาบันต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ด้วยความหวังว่าเนื้อหาดังกล่าวจะดึงความสนใจแก่ผู้ใฝ่รู้ที่เข้าร่วมศึกษากับเรา จนเกิดการศึกษามลายูศึกษาแพร่หลายขึ้นในประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคมเราได้นำเอาวิชา "มลายูศึกษา" ลงไปเปิดสอนที่ปัตตานี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จุดมุ่งหมายประการสำคัญที่ไปเปิดสอนที่ปัตตานีก็เพราะเราต้องการให้ประชาชนในปัตตานีที่สนใจได้รู้ว่า พวกเราหรือนักวิชาการที่เราเชิญมาสอนได้พูดถึงพี่น้องมลายูมุสลิมว่าอะไร หากมีข้อผิดพลาด เราจะได้มีโอกาสนำมาพิจารณาแก้ไข

หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากการสอนวิชา "มลายูศึกษา" ทั้งสองครั้งนั้น โดยนักวิชาการต่างๆ ที่ร่วมสอนได้กรุณาเขียนขึ้นเป็นบทความตามบทที่ท่านรับผิดชอบ

ผมในฐานะที่รับผิดชอบต่อวิชานี้เป็นผู้วางหลักสูตรโดยได้รับคำปรึกษาจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จุดมุ่งหมายของวิชาคือการปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมของชาวมลายู โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ของไทย แม้ว่าการวิเคราะห์เหตุการณ์ความรุนแรงอาจเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของหนังสือ เพราะเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ แต่เราเชื่อว่าแม้แต่ผู้ที่เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ก็จำเป็นต้องเข้าใจปูมหลังของสังคมมลายูด้วย ไม่ว่าในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือสังคม-เศรษฐกิจของสังคมมลายู

หน้า 34


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-08-10 09:14:22


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.