ReadyPlanet.com


ตีกรับขับเสภา ที่วังท่าพระ เสียงมหัศจรรย์สุวรรณภูมิ


 
มติชน/วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10737

ตีกรับขับเสภา ที่วังท่าพระ เสียงมหัศจรรย์สุวรรณภูมิ


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




(ซ้ายบน) ครูแจ้ง คล้ายสีทอง

(ขวาบน) เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

(ล่าง) ขุนอิน โตสง่า

"เสภา" ยุคแรกสุดครั้งกรุงศรีอยุธยาหมายถึงพนักงาน เช่น เสภาดนตรี หมายถึงพนักงานบันลือบรรเลงดนตรีบำเรอเจ้านาย แล้วยังมีเสภามโหรีมีความหมายเดียวกัน แต่บรรเลงมโหรีบำเรอเจ้านาย เพราะคำว่า "ดนตรี" กับ "มโหรี" มีความหมายต่างกัน

ครั้นสืบมายุคกรุงธนบุรีต่อเนื่องถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ คำเสภามีความหมายเปลี่ยนไปเป็นเพลงดนตรีปี่พาทย์เท่านั้น เช่น นักดนตรีปี่พาทย์ไปบรรเลงประโคมงานใดงานหนึ่งจะพูดว่า "ไปทำเสภา" แต่เมื่อมีคนตีกรับขับเสภาจะเรียกว่า "ขับเสภา" ที่มีปี่พาทย์บรรเลงรับด้วย

ฉะนั้น ทั้งคนขับและคนประโคมปี่พาทย์จะถูกเรียกรวมๆ ว่า "คนเสภา" แล้วหมายรวมถึงผู้แต่งบทเสภาด้วย เช่น สุนทรภู่, ครูแจ้ง วัดระฆัง ฯลฯ เป็นคนเสภายุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

คนเสภาทุกวันนี้มีน้อยจนนับชื่อได้ง่ายๆ แล้วมักอาวุโสจึงได้รับยกย่องเป็นครูเรียกครูเสภา แม้จะมีคนเสภารุ่นใหม่ๆ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ อยู่บ้างก็มีน้อย และยังขาดประสบการณ์ ขาดโอกาสตีกรับขับเสภา เพราะไม่มีใครให้พื้นที่เล่นเสภา สื่อสาธารณะปิดกั้นเกือบทุกแห่ง แค่นี้ก็แห้งตายแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว คุณปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เลยมอบหมายให้คุณสุนันทา มิตรงาม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้มีสุดยอดเสภาสยามประเทศ โดยเชิญครูเสภาประเทศไทยมารวมกันทำเสภาครั้งใหญ่ขึ้นในบ่ายวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม ที่ท้องพระโรงและสวนแก้ว วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ท่าช้าง หน้าพระลาน) กรุงเทพฯ

คนเสภารุ่น "ครู" ของประเทศ เริ่มจากหัวแถวคือ แจ้ง คล้ายสีทอง (72) ศิลปินแห่งชาติ เรียงลำดับอายุลงไปถึงนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ (67) ศิลปินอาวุโส กับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (67) ศิลปินแห่งชาติ

ครูเสภาผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการและยังอยู่ในราชการกรมศิลปากร เรียงมาตั้งแต่ดวงเนตร ดุริยพันธุ์ (68), กัญญา โรหิตาจล (67), สมบัติ สังเวียนทอง (62), สมชาย ทับพร (59), จนอ่อนสุดคือ กำจรเดช สดแสงจันทร์ (41), ฯลฯ แล้วยังมีรุ่นใหม่ๆ อีกหลายคน

ขุนอิน (ณรงค์ฤทธิ์) โตสง่า เป็นคนเสภาสำคัญสืบสายตระกูลปี่พาทย์เสภา มาแต่ยุคอยุธยา-ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ยกวงปี่พาทย์ไปทำเสภาตามจารีตอย่างแข็งแรง และต้องทำเพลงมากกว่าในหนังเรื่องโหมโรงหลายเท่า คอปี่พาทย์จุใจอิ่มอกคราวนี้

สุดยอดเสภามีในท้องพระโรงวังท่าพระ แต่เชื่อมโยงเข้าสวนแก้วที่แวดล้อมท้องพระโรงเป็นบริเวณเดียวกัน ฉะนั้น จะนั่งในท้องพระโรงก็ได้ นั่งในสวนแก้วก็ดี มีแมกไม้ใบบังร่มเย็นเป็นสุข คุณภราเดช พยัฆวิเชียร รักษาราชการอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดที่ทางให้คนเสภาและคอเสภาไว้ครบถ้วนถึงขนาดเชื้อเชิญ "อาร์ติสต์" ละแวกหน้าพระลานมาฟังเสภาอุ่นหนาฝาคั่ง

เสภาต้องเปล่งเสียงเรียกว่าขับ ไม่เรียกร้อง เพราะขับเสภามีรากจากลาวสองฝั่งโขง เช่น ขับซอยอยศพระลอ, ขับทุ้มหลวงพระบาง ฯลฯ แล้วต้องมีกรับใช้ตีประกอบเป็นเสียงกรอดๆ มีรากจากกั๊บแก๊บสองฝั่งโขง แล้วเรียกคู่กันว่าตีกรับขับเสภาที่ประสมกลมกลืนได้อย่างวิเศษนัก

นี่เป็นคุณสมบัติมหัศจรรย์ของบรรพชนคนสุวรรณภูมิสืบแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนทุกวันนี้


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-08-03 15:08:37


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1768457)

อยากทราบวิธีการขยับกรับในการขับเสภามากๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น ครูน้อง วันที่ตอบ 2008-06-09 14:35:55



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.