ReadyPlanet.com


เอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต


เอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



มีความเคลื่อนไหว เร่งขับเคลื่อนผลักดันให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน กระตุกต่อมคิดพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยมิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ที่คาดหวังว่าจะเป็นทางออกทางหนึ่งของการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ (ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 17-วันพุธที่ 19 สิงหาคม 2552 หน้า 4)

ในข่าวไม่ได้บอกว่าจะขับเคลื่อนผลักดันอย่างไร?

มีแต่ระบุหน่วยงานเกี่ยวข้องเรื่องนี้ คือสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ สบร. (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ที่มีหน่วยงานในความดูแล เช่น มิวเซียมสยาม, TCDC, TK Park

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy จะสำเร็จได้ก็ต้องมีสิ่งอื่นเป็นพื้นฐานก่อน คือความคิดสร้างสรรค์

ความคิดสร้างสรรค์จะมีได้ดี และตลอดรอดฝั่งยั่งยืนยาวนานนิรันดร ต้องมีพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมอย่างดีและมีคุณภาพ

"ตลาดพลู" ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่หลวงเมืองเขียนจากความทรงจำ เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งในแง่วิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในย่านตลาดพลู โดยเฉพาะเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงเมืองได้เล่าถึงผู้คนจากพระนครอพยพหนีภัยจากการทิ้งระเบิด มาหลบภัยในสวนย่านฝั่งธนฯ หลวงเมืองยังบรรยายภาพถึงตลาดพลูและชุมชนรอบๆ เมื่อ 70 กว่าปีก่อนให้เราเห็นอย่างแจ่มชัด

ตลาดพลู โดย หลวงเมือง ราคา 140 บาท วางตลาดแล้ว


พื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมอย่างดีและมีคุณภาพแน่นหนา ก็ด้วยความรู้ทางเสรีศาสตร์ หรือ Liberal Arts (ตามคำแปลและความหมายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์) ที่ประกอบด้วย ประวัติศาสตร์, อักษรศาสตร์, วรรณคดี, ศิลปกรรม, ร้องรำทำเพลง, ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง ตามแต่ยุคสมัยไหนกำหนดอะไร

แหล่งความรู้เสรีศาสตร์สำคัญมากๆ คือ ห้องสมุด และมิวเซียม ซึ่งเป็นที่รู้กันมานานนับศตวรรษว่าสองอย่างนี้ในเมืองไทยยังไม่สมบูรณ์ เข้าคติ "ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา" มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมอำมาตยา-อาณานิคม ที่ตอบสนองผู้ดีมีตระกูลและคนชั้นนำเป็นสำคัญ โดยไม่เห็นหัวรากหญ้าสามัญชนชาวบ้าน

ด้วยเหตุนี้เอง "ระบอบทักษิณ" จึงสร้างใหม่ในนามองค์รวมว่า สบร. หวังจะให้เกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ลงสู่รากหญ้านั่นแหละ

แต่แล้วกลายเป็น "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง" เพราะเนื้อหาของ สบร. ยังอยู่ในวัฒนธรรมอำมาตยา-อาณานิคม เหมือนสิ่งเก่าๆ ที่เคยตำหนิติฉินเขา ส่วนรูปแบบทันสมัยขึ้น เพราะมีเงินมากกว่าหน่วยงานเก่าเท่านั้นเอง เลยล้างผลาญสิ้นเปลืองมากกว่า แต่ได้งานไม่คุ้ม และนั่งทอดหุ่ยอยู่ส่วนกลางไม่เคลื่อนไหวลงไปถึงรากหญ้าในท้องถิ่น

ในยามอัตคัด ผมเห็นว่าต้องให้ความสำคัญต่อเนื้อหามากกว่ารูปแบบ ถ้ามีเงินมากพอจะให้ความสำคัญเสมอกันได้ก็ดี แต่ทุกวันนี้ให้ความสำคัญต่อรูปแบบมากกว่าเนื้อหา เลยสร้างสรรค์อะไรไม่ได้ หรือได้เล็กๆน้อยๆ?ไม่เป็นถ้อย?ไม่เป็นขน

เนื้อหาสำคัญที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ คือเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และภูมิประเทศ เช่น แม่น้ำลำคลอง, ภูเขา, ทุ่งราบ, ฯลฯ เพราะประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย มีแต่ราชวงศ์ และสงคราม ไม่มีสังคม

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็คือประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมที่มีพลังสร้างสังคมมั่นใจให้เกิด Creative Thailand

กรุณาอย่าลืมว่าความคิดสร้างสรรค์จะมีได้ แล้วยั่งยืนยาวนานไปในอนาคตได้ ก็ด้วยพื้นฐานความรู้หนักแน่นในแนวทาง "อดีตรับใช้ปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต" จึงขอให้กำลังใจ สบร. เอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต

ความรู้เหล่านั้นจะกระจายไปสู่สาธารณชนอย่างแท้จริงได้ก็ด้วยความรักและศรัทธาต่อกิจกรรมแบ่งปันแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ทุกรูปแบบอย่างกว้างขวางเท่านั้น ไม่ใช่ทำตามระบบขุนนาง "หัวนอก หัวหงอก หัวดำ" ราชการใหม่อย่าง ทุกวันนี้

หน้า 20 วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11490 มติชนรายวัน



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-25 16:40:13


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.