ReadyPlanet.com


มิตรภาพและน้ำใจ แด่ ศุขปรีดา พนมยงค์ รำลึก 100 วันการจากไปของทายาทผู้อภิวัฒน์


 

Double Click on image to Enlarge.
*******
 
มิตรภาพและน้ำใจ แด่ ศุขปรีดา พนมยงค์
.............
รายงาย โดย ธารา ศรีอนุรักษ์
           
“ศุข” คือ พูนศุข-วีรสตรี               
“ปรีดา” คือปรีดี-ศรีนวสยาม
“พนมยงค์” ตระกูลนี้ทุกผู้นาม      
เข้าแบกหามภาระราษฎร์ชูชาติไท
           (จากข้อความปกหลังหนังสือ มิตรภาพและน้ำใจ แด่ ศุขปรีดา พนมยงค์)
 
 
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 100 วันการจากไปของทายาทผู้อภิวัฒน์ ศุขปรีดา พนมยงค์ ทางญาติมิตรสหาย ได้ร่วมกันจัดพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานสตมวาร หรือทำบุญ 100 วันขึ้น ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดีฯ มีผู้มาร่วมแสดงออกถึงมิตรภาพและน้ำใจต่อทายาท “พนมยงค์” หลากหลายรุ่น-วัยด้วยกัน เป็นต้นว่า ศักดิชัย-
เครือพันธ์ บำรุงพงษ์, เชาว์-จินตนา เนียมประดิษฐ์, “นารียา”-กานดา วรดิลก, สุรพันธ์ สายประดิษฐ์, พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา, ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์, ชมัยภร แสงกระจ่าง, อาทร เตชะธาดา, ดำรง อารีกุล, รจนา โตสิตระกูล, จาตุรนต์ ฉายแสง, ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร, จุไททิพย์ ด่านตระกูล ฯลฯ
            โดยภาคเช้าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ 10 รูป ต่อด้วยการบรรยายธรรมเรื่อง “พุทธสังคมนิยมกับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน” โดยพระไพศาล วิสาโล-พระนักเขียนรางวัลศรีบูรพาที่ทำงานด้านอาสาพัฒนาสังคมมาตลอด และล่าสุดท่านได้รับรางวัลนักเขียน “นักเขียนรางวัลอมตะ”
            ภาคบ่ายเป็นการเสวนากึ่งวิชาการหัวข้อ “หลากสายธารประชาธิปไตยไหลบรรจบ” ผู้ร่วมเสวนามี ภุชงค์ กันทาธรรม, ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ปรีดา ข้าวบ่อ, ตัวแทนกลุ่ม “นิติราษฎร”-ปิยบุตร แสงกนกกุล และธิวัชร์ ดำแก้ว ผู้ดำเนินรายการ คือ ดร.อิทธิรุจน์ สุรเชษฐพงษ์
            บรรยากาศตอนเสวนาเป็นไปแบบอบอุ่น โดยอันดับแรกผู้ดำเนินรายการมอบหมายให้ ปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์มิ่งมิตร ผู้จัดพิมพ์ผลงานของคุณศุขปรีดา พนมยงค์ ทั้งสามเล่ม คือ โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, หวอเหงียนย้าป พี่ชายคนโตแห่งกองทัพเวียดนาม และ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง ได้พูดถึงจุดเริ่มแรกที่ได้รู้จักกับคุณศุขปรีดา พนมยงค์   
            เกี่ยวกับเรื่องนี้ บก.บห.สำนักพิมพ์มิ่งมิตรได้เอ่ยยกชื่อบุคคลที่เป็นต้นธารของการทำงานด้านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น สุภา ศิริมานนท์, กรุณา กุศลาสัย, สุวัฒน์ วรดิลก, ทวีป วรดิลก ฯลฯ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด รวมถึงทำงานร่วมกัน ทำให้มีการเชื่อมโยงในด้านทิศทางที่แน่นอน และเป็นเหมือนการไหลหลากของกระแสธารความคิดไปในทางทิศทางเดียวกัน และพอได้มาทำงานคลุกคลีกับทายาทผู้อภิวัฒน์ศุขปรีดา พนมยงค์ จึงง่ายและมีความสุขเพราะมีจุดยืน-อุดมการณ์ก่อเกิดจากต้นธารเดียวกัน
            ในส่วนของงานเขียนที่ยังค้างคา คือต้นฉบับ อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 จากปากคำของบิดา บก.บห.สำนักพิมพ์มิ่งมิตรกล่าวว่า มีด้วยกัน 7 ตอน บางตอนเนื้อหาเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว บางตอนยังไม่สมบูรณ์รอปรับปรุงแก้ไขอีกเล็กน้อย บางตอนมีเพียงชื่อเรื่อง จากนั้นได้พูดถึงการจากไปของทายาทผู้อภิวัฒน์ว่า โดยส่วนตัวถือว่าการสูญเสียครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลผู้ทำหน้าที่สานสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ, สูญเสียผู้เชื่อมโยงบุคคลและกลุ่มบุคคลได้มาพบปะกัน ฯลฯ  
            จากนั้นตัวแทนกลุ่ม “นิติราษฎร์” - ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้กล่าวถึงบทบาทในด้านการให้คำปรึกษาของทายาทผู้อภิวัฒน์ต่อกลุ่ม ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้ตนเองกับเพื่อนๆ อาจารย์-นักศึกษา ชาวธรรมศาสตร์ ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่มนิติราษฎร์ มีการนัดพบพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีทายาทผู้อภิวัฒน์มาร่วมด้วย สถานที่นัดพบคือร้านอาหารแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ คอยให้คำปรึกษา ตอบข้อซักถามจากสมาชิกของกลุ่มที่มักสอบถามเกี่ยวกับ เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475, เหตุการณ์กรณีสวรรคต ร. 8  รวมไปถึง ความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันบทสรุปจะเป็นไปในทางทิศใด
            ส่วนผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นที่เหลือต่างได้พูดถึงจุดเริ่มต้นการรู้จักกับทายาทผู้อภิวัฒน์ จนก่อให้เกิดความนับถือศรัทธายิ่งขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะนักศึกษาหนุ่มจากรั้วธรรมศาสตร์ - ธิวัธร์ ดำแก้ว ได้บอกว่าตนเองเจอกับทายาทผู้อภิวัฒน์ครั้งแรกในงานเข้าค่ายกิจกรรมประชาธิปไตยแห่งหนึ่ง ได้สัมผัสกับแววตาที่เปี่ยมด้วยเมตตา และพอมีโอกาสอ่านผลงานเขียนทั้งสามเล่ม รับรู้ถึงการต่อสู้เพื่ออธิปไตยของผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังได้พบกับศัพท์แปลกใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในหนังสือ เป็นต้นว่า ขวนขวายประชาชน หรือ ปะติกาน เป็นต้น
            กว่าสามชั่วโมงที่วงเสวนาได้นำผู้เข้าร่วมรับฟังไหลล่องไปกับกระแสความคิดซึ่งมีต้นธารมาจากจุดเดียวกัน จากรุ่นสู่รุ่น เปลี่ยนผ่านมาถึงปัจจุบัน หากมองย้อนทวนกระแสไประหว่างนั้นจะเห็นใบหน้าของนักต่อสู้มากมายผุดพรายขึ้นให้ย้ำคิด   กระแสธารประชาธิปไตยสายนี้กว่าเคลื่อนไหลมาถึงปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์มากมาย โดนกระทบกระแทกครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงขนาดบางยุคสมัยถูกอำนาจทมิฬสร้างทำนบเผด็จการขวางกั้น ทว่าถึงที่สุดแล้วก็มิอาจต้านทานพลังของกระแสธารได้
             ถึงวันนี้ แม้เหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองปัจจุบันดูผันผวนสับสน ชวนให้จินตนาการไปรูปแบบต่างๆ  แต่เอาเขาจริงแล้วเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ต่างสองสามเม็ดทรายที่แทบไม่มีค่าพอแก่การจดจำด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับเรื่องราวต่างๆ ที่กระแสธารนี้นี้เคยไหลผ่านพ้นมา.
 .............................

ตีพิมพ์ครั้งแรก จุดประกาย-วรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ ที่ 20 ก.พ. 2554



ผู้ตั้งกระทู้ พ่อไข่นุ้ย (thara_num-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-20 12:34:53


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.