ReadyPlanet.com


คิดเอวลำเภาเยาพดิพาลพัลลี


จากบทความ คุณเป็นต้นไม้แบบไหนกัน @190768  หลังจากที่ผู้เขียนได้อ่าน comment ของ คุณนายดอกเตอร์  ที่ว่า พี่ชอบเถาวัลย์ สวยออก ดูอ่อนช้อยด้วย


ทำให้ผู้เขียนนึกถึงค่านิยมของคนโบราณที่ปรากฎอยู่ใน สมุทรโฆษคำฉันท์ กวีได้เปรียบเปรยความงามของนางพินทุมดี ว่า มีเอวที่คอดกิ่วเหมือนดังเถาวัลย์


สมุทรโฆษคำฉันท์ บทนี้ ได้หยิบยกขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะว่าด้วยเรื่อง ฉันทลักษณ์ของ อินทรวิเชียรฉันท์ 11 ปรากฎอยู่ในบทความเรื่อง เจ็บแล้วจำคือคนเจ็บแล้วทนคือควาย (ควายคนรึคนควาย) @168820  

สมุทรโฆษคำฉันท์ เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยพระมหาราชครูรับกระแสพระราชดำรัสจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้แต่งในรัชสมัยของพระองค์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2199-2231)

พระมหาราชครู แต่งตอนต้นจนถึงตอนพระสมุทรโฆษพานางพินทุมดีไปแก้บนที่ศาลเทพารักษ์ แต่เนื่องจาก พระมหาราชครูได้ถึงแก่อนิจกรรม ดังนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อ จนถึงตอน ชิงนางระหว่างพระสมุทรโฆษกับรณาภิมุขพิทยาธร แต่ก็ยังไม่จบ เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็ตสวรรคตเสียก่อน  ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ ต่อจนจบเรื่องครบทั้ง 4 ตอน เมื่อ พ.ศ. 2392


สมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนพระสมุทรโฆษรำพันถึงนางพินทุมดี (สำนวนพระมหาราชครู) แต่งโดยอินทรวิเชียรฉันท์ 11  ผู้เขียนเลือกแปล โดยยึดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ออนไลน์ มีใจความดังนี้

 

 ๏อ้าแม่ผู้มีหน้า          คือศศิอันเรืองรอง
ราษตรีตระการสอง     สุข(ะ)เล่นดีศรี



ศศิ/ศศิน,/ศศี แปลว่า 'ซึ่งมีกระต่าย' คือ ดวงจันทร์.  (คนโบราณมองเห็นพื้นผิวดวงจันทร์ซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อว่าเหมือนรูปกระต่าย)

เธอผู้มีใบหน้า คือดวงจันทร์อันเรืองรอง
ยามราตรีอันงามตระการ สองเราหัวใจมีความสุข(เพราะ) เริงเล่น กรีฑารมย์ (make love)
จริงๆ ในคำประพันธ์ไม่ได้บอกว่าเล่น อะไร อาจจะเป็นการ เล่นจ้ำจี้ เล่นปูไต่ หรือ เล่นสกา ก็ได้เพราะบริบทในคำประพันธ์บอกไว้แต่เพียงว่า เล่นแล้วมีความสุขเล่นแล้ว ฤดีศรี (ทำให้ใจสดชื่น)

๏คิดเอวลำเภาเยา-     พ(ะ)ดิพาล(ะ)พัลลี
คิดนมกรรพุ่มนี-         รช(ะ)รัตน(ะ)เรียม
ผจง

เยาพดี/ยุพดี/เยาวดี/ยุวดี =เยาว์
พาล = สมัยภาษาโบราณแปลว่า อ่อน, เด็ก, รุ่น.
พัลลี/วัลลี/วัลย์=เถาวัลย์
กรรพุ่ม   (แผลงมาจาก กระพุ่ม) แปลว่า มือที่ประนม กรณีนี้คล้ายคำว่า  ประทุก แผลงเป็น บรรทุก ประจง แผลงมาจาก บรรจง นอกจากนี้เรายังสามารถอนุมานได้ว่าคำว่า ประยง(ค์) แผลงเป็น บรรยง(ค์) ซึ่งแปลว่า ทําให้งาม, ทําให้ดี  อักขรวิธีดังกล่าว เป็นอักขรวิธีในภาษาเขมร ซึ่งไทยรับมาอีกทอดหนึ่ง

คิดว่าเอวของเธอนั้นงาม (เอวขอดเหมือน) เถาวัลย์อ่อน (พาลพัลลี)
คิดว่าถันของเธอ เหมือนดอกบัว

นีรช=นีร(น้ำ)+ช (เกิด) ดังนั้น นีรช/นีรัช=ผู้เกิดในน้ำ จึงหมายถึงบัว
กรรพุมนีรัช= (คนโบราณมองว่า) ดอกบัวตูม มีลักษณะเหมือนมือคนยามประนมไว้ 
กวีใช้คำว่า เรียมผจง หลังคำว่า กรรพุมนีรัช ทำให้เรา เข้าใจได้อีกทางหนึ่งว่า พระสมุทรโฆษใช้มือจับดอกบัว (ถัน)  (เป็นการประพันธ์ที่ลึกล้ำจริงๆ)


๏คิดคิ้วคำนวณนวย     คือธนูอันก่งยง
ตรูตาตระบอก บง        บมิแล้วและติดใจ

คิดว่าคิ้วของนางพินทุมดี คิดคำนวณดูแล้ว คิดว่า ก่งเหมือนคันธนู
ตรู=งาม เช่น โฉมตรู=โฉมงาม
ตรา=ตรึง  
ตรูตรา=งามอย่างติดตรึง
ตรูตา=มีดวงตางาม
ตระบอก=ดอกไม้ กลีบดอกไม้
บง=มอง
ดวงตางดงามเหมือนดอกไม้ (เหมือนมีดอกไม้บานอยู่ในตา/ดวงตาสดชื่นแจ่มใส) บ่มิมีใครเหมือน มองแล้วติดใจ

๏คิดท้องสร(ะ)แทบพาง   นพ(ะ)โรม(ะ)เรืองไร
คิดแก้มสร(ะ)แหล้มใส      และตระศักดิ์สมบูรณ์ปราง


สรแทบ/สระแทบ   แปลว่าไม่นูน, ราบ.

สรแทบ-กรรพุม-สรแหล้ม ฯลฯ เป็นอักขรวิธีโบราณที่ ไม่ประวิสรรชนีย์ เพราะมีนัยยะสำคัญทาง นิรุกติศาสตร์ (philology) อธิบายได้ว่า เหตุที่โบราณราชกวี ไม่ประวิสรรชนีย์ ที่คำเหล่านี้ เพราะต้องการ ให้ออกเสียง อะ  แผ่วเบา ไม่เต็มเสียง ทว่า ในยุคปัจจุบัน ราชบัณฑิตยสถาน กลับกำหนดให้คำเหล่านี้ ประวิสรรชนีย์  (สระแทบ-กระพุม/กระพุ่ม/สระแหล้ม) ซึ่งย่อมทำให้ ออกเสียง อะ เต็มเสียง และเสียงไม่แผ่วเบา เหมือนอย่างคนโบราณ ก็เป็นได้

คิดว่า ท้องอันแบนราบ มีไรขนอ่อน (นพโรม/นพโรม/นวโลม/นวโรม=ขนใหม่/ขนอ่อน) อันเรืองรองงดงาม (ขนอ่อนสะท้อนแสงไฟ เรืองๆ ชมกันถึงรูขุมขนเลยจริงๆ)
ตระ=เตรียม,แถบ, แปลง
ศักดิ, ศักดิ์  น. อํานาจ, ความสามารถ,  กำลัง; ฐานะ/ฐาน
ตระศักดิ์= ในบริบทของคำประพันธ์ น่าจะหมายถึง ฐานแก้มทั้งสองแถบ) 


คิดว่า แก้มทั้งสองแถบ แฉล้ม/สระแหล้ม/สรแหล้ม สดใสสมบูรณ์

๏บุญใดนี้โททำ              และมานำไปสมนาง
บาปใดนี้หนอปาง           มาบำราส งางาม

บุญใดที่สองเรา (โท=สอง) ทำไว้ และนำให้(พี่) ได้เสพ สมกับนาง
บาปใดหนอ (อันข้า)ได้เคยทำไว้แต่ปางก่อน ทำให้ต้อง ปราศจาก หญิงผู้งดงาม  (จากนางอันเป็นที่รัก)
ปราศ แผลง เป็น บำราส/บำราศ
บำราศ  [บําราด] ก. หายไป, จากไป, พรากไป, ปราศจาก.

๏สุดท้าย เที่ยวหา        ทุกตำบลนาราม
บ พบ ธูทราม-              รักษ(ะ)ท้าว นิราสา


ทราม  [ซาม] ว. เลว , เสื่อม , ไหลอาบเป็นแห่ง ๆ เช่น เลือดไหลทรามลงตามขา.

พระสมุทรโฆษ ธ ทรงเที่ยวตามหานางพินทุมดีทั่วทุกตำบล (ในเมือง) ทั่วทุกราวป่า
พนาราม=ป่าอันรื่นรมย์
อาราม =วัด; สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์, ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน.


ก็ไม่พบนางพินทุมดี (ทรามรักษ์=เสื่อมจากการดูรักษาทะนุถนอม) ท้าวเธอ ทั้งสอง ต้อง นิราศ/นิราส/นิราสา =พลัดพรากกัน

ทรามรักษ์ เป็นคำที่พบใน กลบทถอยหลังเข้าคลอง (ร.3)  กวีใช้คำว่าทรามรัก(ษ์) ไว้ความว่า

"สงวนงามเจ้าทรามรักขอซักถาม ถามซักขอรักทรามเจ้างามสงวน"

หมายเหตุ

คำที่เน้นด้วยตัวอักษรสี เขียว สันนิษฐานว่า โบราณท่านถือว่าเป็น คำลหุ
คำว่า ผจง = ปทันตครุ
คำว่า รัตน(ะ) ต้องอ่าน รัด-นะ เพื่อให้ได้เสียงตามบังคับของ คณะฉันท์

ปล. คำฉันท์บทนี้มี บท อัศจรรย์ ปนอยู่ด้วย จึงทำให้อาจารย์ไม่ค่อยกล้าแปลให้ นิสิตนักศึกษาฟังตรงๆ  (ควรใช้วิจารณญาณในการชม ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำแก่บุตรหลาน)



ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-06-27 21:47:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2271713)

 แวะมาอ่าน

 

พิณ

ผู้แสดงความคิดเห็น พิณ วันที่ตอบ 2012-05-08 02:33:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.