ReadyPlanet.com


ประชาภิวัฒน์ "ผ่าทางตันปัญหาการเมือง"


ประชาภิวัฒน์ ผ่าทางตันการเมือง

ข่าววันที่ 4 มกราคม 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

วรรณกรรม

บูรพา โชติช่วง

ประชาภิวัฒน์

ผ่าทางตันปัญหาการเมือง

            หน้าศิลปวัฒนธรรม-วรรณกรรม เลือกเอาหนังสือ “ประชาภิวัฒน์ ผ่าทางตันปัญหาการเมือง” เขียนโดย ทองแถม นาถจำนง ขึ้นปักษ์แรกศักราชใหม่ 2552 เหมาะกับยุคสมัยเหตุการณ์ทางการเมืองของบ้านเมืองในปัจจุบัน และแลไปข้างหน้า

ทองแถม นักเขียนที่มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในแง่วิเคราะห์สังคมการเมืองและวัฒนธรรม กับในส่วนงานแปลจีนโบราณเป็นไทยและนักกวี ในแวดวงวรรณกรรมไทยรู้จักชื่อนี้ดี งานเขียนในเล่มนี้มองการเมืองในทัศนะไม่มีการเมืองเก่าหรือการเมืองใหม่ มีแต่ “การเมืองดีงาม” “การเมืองแบบพอดีพอร้าย” กับการเมืองเลว

เขาถ่ายทอดอุดมคติการเมืองที่ควรจะเป็นคือการเมืองดีงาม หรือ “ธรรมาธิปไตย” หมายถึงชี้ขาดอยู่ที่เนื้อหา มิได้ชี้ขาดอยู่ที่รูปแบบ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ อันเป็นพื้นฐานของระบบสังคม รูปแบบและเนื้อหาของการเมือง องค์การของรัฐ และของกลไกรัฐ ฯลฯ ถูกกำหนดจากรูปแบบและเนื้อหาของระบบเศรษฐกิจ

“การเมืองใหม่” “ประชาภิวัฒน์” จุดประกายมาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมประท้วงเรียกร้องทางการเมือง การปราศรัยในระหว่างชุมนุมมีผู้ใช้คำว่า “การเมืองใหม่” ขึ้นมา และมีผู้ใช้คำว่า “ประชาภิวัฒน์” ซึ่งตามความคิดส่วนตัวของผู้เขียนมองว่ายังเป็นแค่ “ประชาภิวัฒน์-ฉบับชั่วคราว” หรือ “ฉบับเค้าโครง” เท่านั้น แต่หนทางการประชาภิวัฒน์อย่างแท้จริงแล้วนั้น อยู่ที่การตัดสินใจของมวลมหาประชาชนไทยในกาลข้างหน้า

นักเขียนท่านนี้ออกตัวในหนังสือเล่มนี้ว่า “ข้อคิดต่างๆ ในงานเขียนเล่มนี้ ยังมีจุดอ่อนด้อยอยู่ ส่วนความดีนั้นให้อยู่กับผู้ริเริ่มการประชาภิวัฒน์” อีกทั้งหนังสือเล่มนี้เป็นการ “โยนกระเบื้องล่อหยก” เป็นแนวคิดเฉพาะหน้า เพื่อตอบโจทย์ทางสังคมเฉพาะหน้า ที่เปรียบเสมือน Dead Lock ของสังคมไทยขณะนี้คือ “ประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้ง” 

ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย!

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทองแถมกล่าวไว้ “ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ไปเสียทุกอย่าง ประชาธิปไตยที่มีอายุ 76 ปี ก็คือตัวอย่างชัดเจน” คำเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช “ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบ ความจริงยังมีข้อบกพร่อง แต่เมื่อมีข้อบกพร่องก็มิได้หมายความว่าจะยกเลิกไป ไม่เอากัน ความจริงระบอบนี้ผ่านการลองถูกผิดมานานเป็นพันๆ ปี ก็น่าจะยังใช้ได้ต่อไป ดังนั้นสิ่งที่ควรจะปรับตัวคือประชาชนเอง”

ที่สำคัญที่สุดคือประเทศเราได้เรียนรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะกรองเอาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาเฉพาะที่เป็นคนดี และสุจริตจริงใจ ออกมาเสียจากนักการเมืองซึ่งมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว และไม่แยแสเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น กับสังคมไทย

            ช่วงเวลา 75 ปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยผ่านบทเรียนอันเจ็บปวดมาไม่น้อย คำปราชญ์ว่า จงเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ แต่ประสบการณ์จริงทางสังคมกลับแสดงให้เห็นว่า “ประวัติศาสตร์สอนเราว่า เราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์” ดังนั้นการพัฒนาจิตใจประชาธิปไตย เป็นโจทย์ใหญ่ของประชาภิวัฒน์ จุดสำคัญเราต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจด้านกลับ หรือปฏิบท(Paradox) ของประชาธิปไตย

            เสียงข้างมากที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม การปกครองทุกวันนี้ตั้งแต่ระดับชาติลงไปจนถึงระดับ อบต. รู้สึกว่าจะแก่ “คณะปลิโพธ” เกินไปจริงๆ คือความเห็นแก่พรรคพวก ถือทิฐิของพวกตนเป็นอารมณ์อย่างเดียว “การปกครองของเสียงข้างมากที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม” นั้นน่ากลัวมาก เพราะคนมักจะติดยึดกับรูปแบบ เลือกตั้งไปแล้ว ผู้แทนฯ ที่ตนเลือกไป จะไปทำเรื่องอะไรอย่างไร ก็ปล่อยเขา จะโกงจะกินกันวินาศสันตะโร ก็ปล่อยเขา ความโน้มเอียงแบบคณะปลิโพธ เห็นแก่พรรคพวกเท่านั้น ก็หนักหนาสาหัสกว่ายุคๆหนๆ

            ในทัศนะสังคมเปิดกับประชาธิปไตย เขามองว่า “อำนาจรัฐไม่ควรตกอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเด็ดขาด อำนาจรัฐควรเปลี่ยนมือได้ และถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นการเปลี่ยนที่ไม่รุนแรง และเว้นช่วงระยะให้ห่างกันพอสมควร

รัฐบาลชุดเก่าอาจถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลชุดใหม่ ที่นโยบายแตกต่างออกไปได้ แต่รัฐบาลและนโยบายชุดใหม่นี้เป็นเพียงทางเลือกทางหนึ่งของคนในสังคม อีกทั้งรัฐบาลก็ต้องพร้อมที่จะออกไปเพื่อเปลี่ยนอำนาจให้รัฐบาลชุดอื่นต่อไป”

เหตุ “นักการเมืองทำให้คนเบื่อการเมือง” ที่จริงแล้วสถานการณ์บ้านเมืองไทยนั้น ได้พิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับนักการเมืองกันมาหลายครั้งแล้ว เพียงแต่ราษฎรมักจะลืมๆ ไป ยังนิยมเลือกนักการเมืองแบบเดิมๆ มาเป็นผู้แทนราษฎร ปัญหาบ้านเมืองไทยขณะนี้ ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาของนักการเมืองที่ได้สร้างปัญหาทิ้งไว้

อย่าตัดตอนมองแค่เรื่องวุ่นๆ ในปี พ.ศ.2551 บ้านเมืองที่เป็นอย่างนี้ ต้องโทษนักการเมืองเป็นตัวหลัก คุณสมบัติที่ดีของนักการเมือง ซึ่งนรชนคนเดียวเขาต้องการนั้นก็มิได้สูงส่งวิเศษวิโสอะไรเอย ขอเพียงแค่เป็นคนเหมือนสามัญชนคนดีทั่วๆ ไปในสังคมเท่านั้นก็พอ

แม้แต่ข้อเรียกร้อง “การเมืองใหม่” ของกลุ่มพธม. ก็ยังเน้นแต่เรื่องการคัดสรรคนดีเข้ามาใช้อำนาจบริหารบ้านเมือง มิได้เน้นความสำคัญไปที่การปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

            รากเหง้าความวุ่นวายทางการเมืองในสังคมไทยขณะนี้ มาจากการที่พลเมืองจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐ ซึ่งมีรูปธรรมเป็นรัฐบาล จนมวลชนเข้าไปชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่ยืดเยื้อ

            ทว่าไปแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลยุคทักษิณมาจนถึงรัฐบาลสมัคร พลเมืองจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐ แม้ว่าจำนวนคนที่เชื่อมั่นต่อรัฐจะมีจำนวนมากกว่าจำนวนคนที่ไม่เชื่อมั่นหลายล้านคน ซึ่งก็ไม่อาจตัดสินได้ว่าพลังด้านใดมีความเหนือกว่าอย่างเด็ดขาด แต่จำนวนพลเมืองที่ขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐจำนวนขนาดนี้ ก็ย่อมทำให้การเมืองการปกครองขาดเสถียรภาพอย่างที่เห็นกันอยู่ตำตา ดังนั้นรัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น

            ทองแถม ยกคำของขงจื๊อสอนไว้เมื่อพันห้าร้อยปีมาแล้วว่า หลักการสำคัญที่สุดของการเมืองการปกครองคือ 1 เสบียงอาหารเพียงพอ 2 กองทัพเข้มแข็งพร้อมเพรียง 3 ราษฎรมีความเชื่อมั่นต่อรัฐ อย่างไรก็ดีหากจำเป็นต้องยอมละเมิดละทิ้งหลักการไปข้อหนึ่งนั้น ขงจื๊อตอบว่า ควรสละเรื่องการอุดหนุนกองทัพไปก่อน และให้ข้อคิดว่า “ความเชื่อมั่นต่อรัฐ” สูงกว่าชีวิตเสียอีก คือเสบียงอาหาร

            การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยหลายปีมานี้ จะสร้างความเสียหายบอบช้ำแก่สังคมไทยมาก แต่เราก็หวังเห็นอนาคตที่ใสสว่างอยู่ข้างหน้า เพราะเมื่อการต่อสู้ยุติลงไม่ว่าจะด้วยหน ทางใด ผลที่เกิดขึ้นคือความตื่นตัวทางการเมือง ความเข้าใจทางการเมืองจะสูงขึ้นมาก ทำให้การเมืองถูกกำกับตรวจสอบมากขึ้น จนอาจถึงขั้นยกระดับคุณภาพให้ดีขึ้นได้อีกขั้นหนึ่ง

            ในแง่ “งานวัฒนธรรมกับการเมือง” วัฒนธรรมในความหมายกว้างๆ ก็คือวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั้งในปัจจุบัน และเรื่องที่สืบทอดประเพณี ตลอดไปจนถึงคติความเชื่อ คำนิยมต่างๆ เมื่อมองเศรษฐกิจของคนไทยในอดีตมีรากฐานสำคัญที่สุดมาจากการทำนาลุ่ม ดังนั้นวัฒนธรรมทุกด้านที่งอกเงยขึ้นในสังคมไทยจึงเกี่ยวพันกับการผลิตคือทำนาลุ่ม จากจุดนี้เห็นได้ง่ายว่าวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากรากฐานวิถีการผลิตคือเศรษฐกิจ

            เมื่อวิถีการผลิตปรับเปลี่ยนไป วัฒนธรรมก็เปลี่ยนแปลงไปมากมาย วิถีการผลิตระบบทุนนิยมเติบโตขยายตัวในเมืองไทย ทุกวันนี้เรายากจะฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวนาสมัยโบราณ หรือแม้แต่กระทั่งวิถีชีวิตสมัยไอ้ขวัญ-อีเรียม เราจำเป็นต้องยอมรับว่า เมื่อไปไถนา ก็ต้องเอาโทรศัพท์มือถือไปด้วย

            วัฒนธรรมชนชั้นกลางในเมือง กลายเป็นวัฒนธรรมแบบตะวันตกไปเยอะ เพราะระบบการศึกษาของไทยสร้างคนให้เป็นเช่นนั้นมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว อย่างไรก็ตามมรดกวัฒนธรรมไทยก็ยังติดตัวคนไทยอยู่มาก

            “ทั้งวัฒนธรรมตะวันตก และวัฒนธรรมไทย ไม่มีอะไรดีสมบูรณ์เหมาะสมไปทุกแห่งและทุกยุคสมัย เช่น ในสังคมประชาธิปไตยนั้นสมาชิกต้องมีขันติธรรม ประชาธิปไตยจึงจะยั่งยืนสถาพรในจุดนี้ สังคมไทยยังต้องปรับปรุงสร้างพลเมืองให้มีขันติธรรมสูงขึ้น

ปัญหาหลักในทางการเมืองระดับโลกขณะนี้คือ แนวคิดการดำเนินการทางการเมืองจะต้องสร้างเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเปิดกว้างเหลือล้นกับมิติทางวัฒนธรรมที่ปิดตายและแตกแยกกันอยู่ แต่ยังไม่มีรัฐบาลประเทศใดสำเหนียกถึงปัญหานี้

รูปธรรมที่การเมืองการปกครองไทยเผชิญอยู่ก็คือ ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถ้าวงการเมืองไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านวัฒนธรรม ต่อไปก็จะมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เหล่านี้เป็นต้น ในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นชนชั้นนำก็ดูเหมือนจะอับจนหนทางคลี่คลายปัญหา เพราะไม่รับรู้ว่าวัฒนธรรมมีความสำคัญอย่างไรในทางการเมือง”

ที่ร่ายมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหา “ประชาภิวัฒน์ ผ่าทางตันปัญหาการเมือง” จำนวน 246หน้า อ่านแล้วในแง่คิดและมุมมอง หนังสือเล่มนี้เป็นการรำลึก 32 ปี หกตุลา พร้อมกับคำนำโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สนใจหาอ่านได้ตามร้านหนังสือชั้นนำ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แม่โพสพ โทร.0-2883-5340

 
  รูปประกอบข่าว


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวสมาคมนักกลอน :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-04 09:19:14


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1883503)
อ่านแล้วครับผลงานคุณภาพของอาจารย์ทองแถม นาถจำนง กวี นักคิด นักเขียน นักแปล เจ้าของนามปากกา โชติช่วง นาดอน บรรณาธิการสยามรัฐรายวันและอุปนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
ผู้แสดงความคิดเห็น แฟนนักกลอน วันที่ตอบ 2009-01-04 09:23:34


ความคิดเห็นที่ 2 (1887044)

สงสัย คำว่า "โลกาภิวัตน์" กับคำว่า "ประชาภิวัฒน์" ทำไมเขียนคำว่า "ภิวัตน์" ไม่เหมือนกัน ใครรู้ช่วยตอบด้วย ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้สนใจ วันที่ตอบ 2009-01-13 00:39:19



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.