ReadyPlanet.com


เพิ่มสะพานข้ามเจ้าพระยา ให้ธนบุรีพ้นคำสาป


 เพิ่มสะพานข้ามเจ้าพระยา ให้ธนบุรีพ้นคำสาป

พฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

 

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

 

ดร.โสภณ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 เสนอให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มนับสิบแห่ง เพื่อกระจายความเจริญไปฝั่งธนบุรี เพราะปัจจุบันด้อยกว่าฝั่งกรุงเทพฯ เหมือนถูกสาปไว้ โดยยกกรณีศึกษากรุงโซลและมหานครทั่วโลก แต่การเวนคืนต้องดำเนินการอย่างรับผิดชอบ โดยสร้างบ้านให้อยู่ใกล้เคียง
         

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอส้งหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า ในขณะที่การสร้างทางด่วน รถไฟฟ้ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากและเชื่อช้า เนื่องจากปัญหาการเมือง แนวทางหนึ่งในการพัฒนาเมือง ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและเศรษฐกิจก็คือ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพิ่มขึ้น โดยควรสร้างอีกอย่างน้อย 10 สะพาน เพื่อกระจายความเจริญ

  

ดร.โสภณ ยกตัวอย่างกรุงโซล ซึ่งเป็นเมือง อกแตกตั้งอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ก็มีสะพานข้ามแม่น้ำถึง 30 สะพาน ห่างกันทุก 2 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย ยิ่งถ้าเป็นในย่านใจกลางเมือง ยิ่งมีความถี่ในการสร้างสะพานประมาณทุก 1 กิโลเมตร ในขณะที่กรุงเทพมหานคร มีสะพานตั้งแต่ช่วงวงแหวนรอบนอกด้านเหนือถึงวงแหวนรอบนอกด้านใต้เพียง 20 สะพาน ถือว่าระยะห่างเฉลี่ยระหว่างสะพานคือ 4.32 กิโลเมตร ในเขตใจกลางเมืองตั้งแต่สะพานพระราม 6 ถึงสะพานภูมิพล 1 มีเพียง 12 สะพาน โดยมีระยะห่างของแต่ละสะพานถึง 1.9 กิโลเมตรหรือเกือบ 2 กิโลเมตร

การมีสะพานน้อยทำให้ความเจริญกระจายออกไปในแนวราบโดยเฉพาะฝั่งตะวันออก สังเกตได้ว่าราคาทาวน์เฮาส์ ระดับไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ยังมีอยู่บริเวณถนนประชาอุทิศ ที่ตั้งอยู่เพียงข้ามฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากเป็นในฝั่งตะวันออก อาจต้องไปหาซื้อไกลถึงมีนบุรี  ดังนั้นการมีสะพานข้ามแม่น้ำมากขึ้น ทำให้โอกาสที่ความเจริญจะกระจายไปในเขตใจกลางเมืองด้านตะวันตกก็จะมีมากขึ้น การพัฒนาก็จะหนาแน่นในเขตเมืองชั้นใน ไม่แผ่ไปในแนวราบมากนัก เปิดโอกาสให้ ชาวกรุงธนฯได้เดินทางสะดวกและถือเป็นการเปิดช่องทางและทำเลในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

ดร.โสภณ กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง และง่ายกว่าการสร้างทางด่วนหรือรถไฟฟ้า สำหรับการเวนคืน ก็เวนคืนพื้นที่น้อยกว่า  ดร.โสภณเสนอให้จ่ายค่าทดแทนการเวนคืนสูงกว่าราคาตลาดอีก 10% เพื่อกระตุ้นให้มีการเวนคืนโดยเร็ว และพัฒนาสะพานได้ทันท่วงที  อย่างไรก็ตามในการเวนคืน ทางราชการจำเป็นต้องประเมินค่าทรัพย์สินให้ถูกต้องตามราคาตลาด จะใช้ราคาเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่กรมธนารักษ์ จัดทำขึ้นไม่ได้

 

แผนที่แสดงสะพานข้ามแม่น้ำในกรุงโซล เกาหลีใต้

พื่นที่ที่ควรสร้างสะพานเพิ่มเติมในกรุงเทพมหานครได้แก่ บริเวณถนนสุโขทัย-ถนนจรัลสนิทวงศ์ 68, ถนนกรุงเกษม-ถนนจรัลสนิทวงศ์ 44, ถนนเจริญกรุง-ถนนทวีธาภิเษก (อุโมงค์), ถนนท่าดินแดง-ถนนราชวงศ์, ถนนสี่พระยา-ถนนเจริญรัถ, ถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร 27, ถนนเจริญกรุง-ถนนพระรามที่ 2, ถนนบางนา-ตราด-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ข้ามบางกระเจ้า) และ ถนนสุขุมวิท-ถนนสุขสวัสดิ์ (ปากน้ำ-บางปลากด)

อาจกล่าวได้ว่า นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว กรุงปารีส ยังมีสะพานข้ามแม่น้ำทุก 0.5 กิโลเมตร และมหานครสำคัญอื่น ๆ ล้วนมีสะพานข้ามแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้เมืองไม่พัฒนาไปในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง และทำให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเมืองอย่างเข้มข้นและไม่พัฒนาไปในแนวราบ ซึ่งทำให้สาธารณูปโภคต้องตามออกไปรอบนอกอย่างไม่สิ้นสุด เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรของประเทศ

อย่างไรก็ตามในการเวนคืนเพื่อการก่อสร้างต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ จ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ไม่ใช่จ่ายแบบต่ำ-ช้า (จ่ายต่ำ ๆ จ่ายช้า ๆ) และสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการย้ายไปที่อื่น ก็อาจพิจารณาสร้างห้องชุดความสูงขนาดกลางเพื่อให้ผู้ถูกเวนคืนได้ย้ายเข้าไปอยู่ โดยก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนการเวนคืน

 



ผู้ตั้งกระทู้ sopon :: วันที่ลงประกาศ 2013-02-21 13:27:49


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.