ReadyPlanet.com


ดัด (จริต นิสฺสัย)



 

303254714525 
กลอน         : ดัด  
แต่งโดย     : เพิ่มบุญ (เสริมศักดิ์) เปลี่ยนภู่ (นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,เนติบัณฑิตไทย)  
นามปากกา : เวทย์ 
หนังสือชื่อ   : ข้างกองไฟ ( สำนักพิมพ์พรศิวะ, กรุงเทพฯ.พิมพ์ครั้งแรก  2547 . 116 หน้า)




อะไรที่เราทำอยู่ซ้ำซาก                 มักฝังรากกลางจิตติดนิสัย
ยิ่งปล่อยนานตรึงแน่นแก่นหทัย      ก็เรียกใหม่สั้นสั้นว่าสันดาน
วิธีฝึกอบรมบ่มความคิด                 อย่าเผลอผิดเพียงให้นั่งฟังโวหาร
ยิ่งผ่านหูรู้มากยิ่งยากนาน              กลับดื้อด้านอวดดีมากมีมา

หากเมื่อในวัยเยาว์ลืมเกลาขัด         ต้องฝืนดัดไม้แก่แก้ปัญหา
ตามแบบดึกดำบรรพ์ภูมิปัญญา       ท่านสอนว่าทำได้โดยไฟลน
โดยอาศัยไฟจ่อพอให้ร้อน              ดัดให้อ่อนทีละน้อยค่อยเห็นผล
เปรียบแนวทางแก้ไขนิสัยคน           หากผ่อนปรนปล่อยปละจะเสียการ

ต้องบังคับเคี่ยวเข็ญอยู่เป็นนิจ         ย้ำจนติดนิสัยวินัยทหาร
ความเคยชินเลื่อนชั้นเป็นสันดาน     ถึงเนิ่นนานแน่นอนไม่คลอนแคลน
อย่าแค่เพียงเลี้ยงดูอุ้มชูลูก             ควรฝังปลูกให้ดีงามตามแบบแผน
อย่ามัวรอราชการท่านทำแทน         เพราะคุกแน่นแทบล้นด้วยคนเลว



เนื้อหาของกลอนบทนี้ ตรงกับสำนวน ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ลุเวทย์เสนอว่า หากจะดัดไม้แก่ ก็ให้ใช้ไฟลน แล้วจึงค่อยๆ ดัด (ใช้กับกรณีของไม้ไผ่) เช่นเดียวกันกับ การจะดัดนิสัย ผู้ใดผู้หนึ่ง ลุงเวทย์เสนอว่า ไม่ควรที่จะปล่อยปะละเลยพฤติกรรม ที่ไม่ดี/ที่กระทำผิด ของบุคคลผู้นั้น ให้ กระทำไม่ดี/กระทำผิด ซ้ำๆ ซากๆ จนกลายเป็น อุปนิสัย/สันดาน  (และพัฒนาจาก อุปนิสัย กลายเป็น อธิวาสนา ในที่สุด)  


สอดคล้องกับ หนังสือ อุปลมณี หน้าที่ 298 ซึ่งได้บรรยายความเอาไว้ว่า หลวงปู่ชาเล่าให้ฟังถึง พระอาจารย์ทองรัตน์ หลวงปู่ชาตอนฝึกออกปฏิบัติเที่ยวธุดงค์อยู่นั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปกราบท่านอาจารย์ทองรัตน์ด้วยได้ยินชื่อเสียง (ไม่เคยพบกันมาก่อน) เมื่อไปกราบท่าน ท่านอาจารย์ทองรัตน์ทักทายว่า " ชา มาแล้วหรือ" ซึ่งแปลกมากเพราะไม่เคยพบกันมาก่อนเลย!!!ท่านกล่าวไว้ว่า "คนเรานั้นเป็นคนเหมือนกันจริง แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด ในด้านของพฤติกรรม เพราะเหตุปัจจัยที่ผ่านเข้ามาสร้างเป็นจริตนิสัยนั้นต่างกัน เมื่อทำอะไรบ่อย ๆ เข้ารวมเป็นนิสัย  ทำซ้ำบ่อย ๆ มากขึ้นกลายเป็นอุปนิสัย (นิสัยที่แน่นอนหรือสันดาน) อุปนิสัยก็ยิ่งพอกพูนเป็นเรื่องอธิวาสนา คือเป็นพฤติกรรมประจำตัวที่แก้ไม่ได้ ผู้ที่จะแก้อธิวาสนาได้ มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น แม้นพระอรหันต์ก็ไม่สามารถแก้อธิวาสนาได้" (1)

สอดคล้องกับศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ซึ่งอรรถาธิบาย ว่าด้วยเรื่อง นิสัย อุปนิสัย (อธิ) วาสนา ไว้ในหนังสือพิมพ์มติชน (รายวัน) คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ ความว่า  ในทางพระพุทธศาสนา (อธิ)วาสนามิใช่เรื่องดีนัก ว่ากันว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงละ(อธิ)วาสนาได้พร้อมทั้งกิเลสทั้งปวง พระอรหันต์นั้น ละได้แต่กิเลสเท่านั้น ไม่สามารถละ(อธิ)วาสนาได้"  ในแวดวงผู้ศึกษาพระพุทธศาสนามีอยู่ 2 เรื่อง ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลของ(อธิ)วาสนา เรื่องแรก พระปิลินทวัจฉะ ท่านรูปนี้เป็นพระอรหันต์แต่มีคำพูดติดปากว่า "วสลิ" (ไอ้ถ่อย) พบใครจะถามว่า "ไปไหนมา ไอ้ถ่อย" สบายดีหรือ "ไอ้ถ่อย" อย่างนี้เสมอ คำพูดถึงจะฟังดูหยาบแต่จิตใจท่านมิได้หยาบไปด้วย ท่านพูดด้วยจิตเมตตา เป็นคำพูด "ติดปาก"ท่าน แก้ไม่หาย ชาวบ้านรู้อะไรเป็นอะไรก็ไม่ถือสา ยกให้ท่าน ทางศาสนาเรียกว่า ท่านเป็น "ปาปมุต" (คนเขาไม่ถือกัน) พระปิลินทวัจฉะ คงเหมือนกับหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ เมืองโคราช ด้วยท่านติดคำพูดว่า "กู" "มึง" เวลาสนทนา หลวงพ่อคูณนั้นเป็นที่รู้กันว่าท่านมีเมตตามาก การพูด การกระทำของท่าน "ปริสุทฺโธ" (บริสุทธิ์) สมฉายา ท่านพูด "กู" "มึง" กับใครเขาก็ไม่ถือว่าเป็นคำหยาบ กลับฟังแล้วน่ารักเสียอีกตรงข้าม ถ้าหลวงพ่อคูณท่านเปลี่ยนมาพูดไพเราะกับใครเข้า ใครคนนั้นคงตกใจ นึกว่าหลวงพ่อด่าแน่นอน  ย้อนมาพูดถึงพระปิลินทวัจฉะต่อ วันหนึ่งท่านเห็นพ่อค้าคนหนึ่งขับเกวียนบรรทุกดีปลีผ่านมา จึงถามว่า "บรรทุกอะไรมา ไอ้ถ่อย" ชายคนนั้น พอได้ยินก็ฉุนกึกทันที พระอะไร(วะ) พูดจาไม่เข้ารูหูคน จึงตะโกนตอบด้วยเสียงขุ่นๆ ว่า "บรรทุกขี้หนู เว้ย ไอ้ถ่อย"เขาขับเกวียนไปเรื่อยๆ หารู้ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับดีปลีของตน พอถึงตลาดนัดกลางเมือง ก็จอดเกวียนเตรียมขนดีปลีลงมาขายก็เบิกตาด้วยความตกใจสุดขีด ดีปลีได้กลายเป็นขี้หนูหมดเลย !ประชาชนมุงดูด้วยความประหลาดใจ คนพิเรน (ไม่มี ทร การันต์นะครับ) อะไรวะเอาขี้หนูมาขาย เจ้าหนุ่มเจ้าของดีปลีทำอะไรไม่ถูก ยืนเซ่ออยู่ตั้งนาน เล่าเรื่องราวให้ประดา"แขกมุง" ทั้งหลายฟัง ชายคนหนึ่งในกลุ่มชนนั้นกล่าวว่า เขา (ชายหนุ่ม) คงล่วงเกินพระอรหันต์เข้าแล้ว จึงเกิดเรื่องเช่นนี้ ทางที่ดีควรไปกราบขอขมาท่านเสียไม่รอช้า เขากลับไปขอขมาท่าน ท่านยิ้ม กล่าวว่า "ไม่เป็นไร ไอ้ถ่อย อาตมายกโทษให้" เมื่อเขากลับมา ขี้หนูได้กลับเป็นดีปลีตามเดิม  อีกเรื่องหนึ่ง พระสารีบุตรอัครสาวก ว่ากันว่าท่านมีอารมณ์ศิลปิน หรือถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็ว่าท่านมีอารมณ์โรแมนติคมิใช่น้อย คือเวลาท่านพบสถานที่สวยงาม ท่านคล้ายจะ "ลืมตัว" ไปพักหนึ่ง วันหนึ่งท่านเดินทางผ่านป่าแห่งหนึ่ง พร้อมภิกษุจำนวนมาก เห็นลำธารใส ไหลเย็น ผ่านโขดหิน กลางป่าเขาลำเนาไพรอันร่มรื่น ท่านกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ พระสงฆ์ที่ติดตามเห็นเช่นนั้นก็ไม่สบายใจ แต่ไม่กล้าพูดอะไร เพียงแต่นึกตำหนิในใจว่า พระอัครสาวกผู้ใหญ่อะไร ทำไมทำอย่างนี้ ไม่เหมาะสมเอาเสียเลย เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระภิกษุเหล่านั้นคิดอะไรอยู่ จึงตรัสกับพวกเธอว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราทราบว่าเธอคิดอย่างไรกับสารีบุตร สารีบุตรทำอย่างนั้น มิใช่เพราะ "ติด" ในความสุนทรีย์ของบรรยากาศแห่งภูมิประเทศที่เธอพบเห็นดอก หากแต่เป็น "วาสนา" ของเธอ" พระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ในอดีตกาลอันไกลโพ้น พระสารีบุตรเคยเกิดเป็นลิงติดต่อกันหลายร้อยหลายพันชาติ มาชาตินี้จึงติด "วาสนา" ของลิงมา คือชอบโลดเต้นเมื่อดีใจ (อธิ)วาสนา ถือเป็นเป็นวิบากแห่งกรรมที่ทำสืบเนื่องยาวนานจน "ติด" ตัวไม่รู้กี่อสงไขยกัป  ติดจนแกะไม่ออก แม้ว่ากิเลสตัณหาจะละได้ดังกรณีพระอรหันต์ แต่ "สิ่ง" ที่ว่านี้กลับละไม่ได้ ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นบางคนจึงมี (อธิ)วาสนา แปลกๆ แก้ไม่หาย ดังพระปิลินทวัจฉะ พระสารีบุตร เป็นต้น (2)


จะเห็นได้ว่ากลอน ของลุงเวทย์ ท่อนที่ว่า "อะไรที่เราทำอยู่ซ้ำซาก มักฝังรากกลางจิตติดนิสัย ยิ่งปล่อยนานตรึงแน่นแก่นหทัย  ก็เรียกใหม่สั้นสั้นว่าสันดาน"  นั้นเลือกใช้คำง่ายๆ แต่กินใจความลึกซึ้ง ทั้งยังแฝงไว้ด้วย ปรัชญาทางพุทธศาสนาที่สูงส่ง อนุสติจากการอ่าน บทกลอนของลุงเวทย์ สรุปได้ดังนี้

1.ควรกระทำความดีให้เป็นนิสัย ->อุปนิสัย(สันดาน) ->อธิวาสนา เพราะเมื่อทำความดีจนถึงขั้น อธิวาสนา แล้วความดีนั้นย่อม ติดตามตัวผู้กระทำความดีไปทุกภพทุกชาติ

2.ในทางกลับกันหากกระทำความเลวจนเป็นนิสัย ->อุปนิสัย(สันดาน) ->อธิวาสนา แล้ว อธิวาสนา แห่ง ความเลวที่ได้กระทำนั้นย่อม ติดตามตัวผู้กระทำความเลวไปทุกภพทุกชาติ (เลวเสมอต้นเสมอปลาย) แม้นแต่พระอรหันต์ ก็มิสามารถ แก้ไขให้ได้

3.แม้นเราจะยังเป็นปุถุชน แต่ถ้าหากเราระลึกรู้ ว่า สิ่งที่เราทำนั้น เลว /ไม่ดี เมื่อระลึกรู้ได้ดังนี้แล้วเรา พยายามปรับปรุงแก้ไข มิให้ การกระทำ เลว/ไม่ดี นี้มิให้กลายเป็น นิสัย->อุปนิสัย(สันดาน) ->อธิวาสนา เพราะหากปล่อยปละละเลยพฤติกรรม เลว /ไม่ดี
นี้ให้กลายเป็น อธิวาสนา ย่อมที่จะต้องรอให้สำเร็จ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เสียก่อน จึงจะสามารถ แก้ไข/ละ/วาง อธิวาสนา แห่งความ เลว/ไม่ดี นี้ลงได้  ซึ่งกว่าจะสำเร็จ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ  เป็นพระพุทธเจ้า ย่อมต้องใช้เวลาและความเพียรพยามอันยาวนานหลายอสงไขย อีกทั้งยังถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ  


4. โคลงโลกนิติบทหนึ่ง กล่าวเอาไว้ความว่า

ไม้ค้อมมีลูกน้อม      นวยงาม
คือสัปบุรุษสอนตาม     ง่ายแท้
ไม้ผุดังคนทราม         สอนยาก
ดัดก็หักแหลกแล้        ห่อนรื้อโดยตาม ฯ


โบราณท่าน คงตระหนักรู้อยู่แก่ใจว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก แต่ถึงกระนั้นไม่แก่ก็ยังสามารถที่จะดัดได้โดยอาศัย การเอาไฟลนให้ร้อนเสียก่อนแล้วจึงทำการดัด ทว่า ไม้ผุ นั้น ไม่สามารถที่จะดัดได้เลย หากใครดันทุรังนำไม้ผุ มาทำการดัด ก็ย่อมรังแต่จะหักลงเท่านั้น  การดัดนิสัยคน ก็เช่นเดียวกัน ควรเริ่มต้นอบรมบ่มนิสัยกันตั้งแต่ยังเล็กๆ เพราะถ้าปล่อยให้โต ให้แก่ เสียแล้ว จะดัด จะง้างนิสัย  ย่อมจะกระทำได้ยาก ผู้ประเสริฐย่อมทำตนประดุจไม้อ่อน คือโอนอ่อนต่อความดี และแข็งกระด้างต่อความชั่ว ที่สำคัญก็คือเราไม่ควร ทำตนให้เหมือนไม้ แก่ๆ ผุๆ เพราะถือเป็นสิ่งที่ไร้ค่า  


5.ด้วยเหตุผล ทั้ง 4 ข้อดังที่ได้อรรถาธิบายมาข้างต้น เราจึงควรรีบแก้ไข นิสัยเสีย ที่อาจจะมีอยู่ในตัวเรา ให้กลายเป็น นิสัยดี พร้อมทั้งอาศัยความเพียรพยามพัฒนา นิสัยดี นี้ให้เป็น อธิวาสนาดี ในที่สุด ถามว่าเมื่อกระทำแล้ว ผลดีได้กับใคร ผลดีนั้นก็ย่อมตกอยู่กับตัวของท่านผู้อ่านเอง มิใช่หรือ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้



ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-11 17:58:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1835668)
http://gotoknow.org/blog/kelvin/207717
ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-09-11 18:22:35


ความคิดเห็นที่ 2 (1835878)

หรืออ่านได้ที่ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao

ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-09-12 09:15:15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.