ReadyPlanet.com


เขื่อนขวดน้ำ


 

  น้ำเอ๋ยน้ำท่วม  
โดนกันอ่วมอรทัยทั่วไปหนา
กลุ่มจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยา
รวมแล้วน่าจะถึงสามสิบเมือง
     ธรรมดาน้ำย่อมไหลลงที่ต่ำ
จะไปกักน้ำไว้ไม่ถูกเรื่อง
ต้องปัดเบี่ยงทางน้ำที่นองเนือง
ให้ไหลเยื้องเลี่ยงหนีเขตนิคม
      แต่ผมเกิดความคิดว่าอันน้ำนั้น
ถ้าเอามันใส่ขวดไว้ไม่ให้ล้ม
มันก็จะไม่ไหลไปเที่ยวจม
เราระดมขวดใช้แล้วมาใส่มัน
     หรือว่าผลิตขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ
ขนาดเหมาะยี่สิบลิตรที่ฮิตนั่น
ที่เขาใช้เป็นถังตั้งคว่ำขนาดนั้น
พอเหมาะกันไม่หนักมากเกินไป
      เอาไปรอรินใส่อยู่ใต้เขื่อน
ไม่ต้องเลื่อนโยกย้ายไปที่ไหน
จัดสถานที่ใกล้กันอยู่ไม่ไกล
เอาขวดเรียงตั้งไว้ไม่ไหลนอง
       คิวบิกไร่จุได้หกหมื่นสี่พันลูกบาศก์เมตร
คิดสรรพเสร็จพันไร่หกสิบสี่ล้านที่ฉันจ้อง
เท่ากับที่เขื่อนปล่อยหนึ่งวันอันจำลอง
น้ำไม่ต้องไหลเอ่อเท้อต่อไป
        แต่ว่ามันตั้งไว้อยู่กับที่
ถึงคราวมีแห้งแล้งที่แห่งไหน
ก็ค่อยขนน้ำขวดนี่ยังไง
ขนเอาไปแก้แล้งแหล่งกันดาร
        เท่ากับเรามีเขื่อนน้ำใหญ่อยู่ในขวด
เอาไว้อวดชาวโลกเขาย่อมกล่าวขาน
ว่าแปลกดียังงี้ก็มีด้วย..เอ้อพิสดาร
แต่ว่ามันทำได้หรือไม่เท่านั้นเอง
       ถ้าต้นทุนขวดน้ำลูกละสิบบาท
เผื่อเหลือขาดเอาไว้ไม่ตรงเผง
ก็ประมาณค่าขวดสิบสามล้านเท่านั้นเอง
ไม่ต้องเกรงงบประมาณจะบานปลาย
        ทั้งไม่มีผลต่อระบบนิเวศน์
โปรดสังเกตไม่ต้องทำเขื่อนขนาดใหญ่
เพียงแต่มีสถานที่ที่ว่าไว้
สักสองสามหมื่นไร่ก็ได้นา
       เท่ากับเขื่อนใหญ่นั้นอันเป็นแม่
ได้เผื่อแผ่ผลิตลูกเขื่อนใช่แล้วหนา
เอาไว้สำรองใส่น้ำถ้าล้นมา
ก็เอามาเก็บไว้ไม่ไหลนอง
       อุตสาหกรรมผลิตขวดย่อมทำได้
อีกโรงงานบรรจุไซร้ทำได้คล่อง
ต่อท่อจากใต้เขื่อนเลยฉันเคยมอง
เขาทดลองบรรจุด้วยระบบสายพาน
        ประสิทธิภาพวันละเป็นล้านลิตร
แต่ถ้าคิดคิวบิกเมตรเอาพันหาร
ตั้งเป็นหลายสายผลิตก็เบิกบาน
กลายเป็นงานระดับชาติควรจัดทำ
       ต่อไปชาวนาไม่ต้องมาน้ำตาตก
ชาวบ้านไม่ต้องยกของหนีเป็นที่ระส่ำ
อุตสาหกรรมเคยเสียหายได้จดจำ
ไม่ต้องทำพนังทรายอีกต่อไป
      อันที่จริงพนังทรายก็ยี่สิบลิตร
แต่ถ้าคิดถุง+ทราย+ขนจะราคาหลาย
กั้นพนังคราวนี้เงินใช้ไปเท่าไร
ก็ราคาใกล้ใกล้กันถ้าสร้างแทน
       อีกทั้งไม่ต้องฟื้นฟูความเสียหาย
ไม่วุ่นวายเยียวยาประชาแสน   (เป็นแสน)
ต่างก็ทำงานไปไม่ขาดแคลน
ควรวางแผนต่อไปปีใหม่มา
     เรื่องเขื่อนขวดนี้ควรทำระดับชาติ
เขื่อนจังหวัดเขื่อนตำบลกันเลยหนา
มีเล็กบ้างใหญ่บ้างตามท้องนา
ฝนก็ตกมาให้แล้วควรรับและซับไว้
     อีกไม่ต้องสร้างเขื่อนกันอีกแล้ว
เห็นว่าแถวแก่งเสือเต้นนะจะคิดใหม่
ดูดจากคลองใส่ขวดเลยเชยทำไม
เอาตั้งไว้ขนาดไหนก็ได้นา
      สรุปท้ายอย่าให้ไหลลงทะเลไปเปล่าเปล่า
ควรจะเอาใช้ประโยชน์เกษตรหนา
ปลูกเต็มที่ไม่ต้องกลัวภัยแล้งจะมา
เพิ่มอัตราผลผลิตกันหลายตันต่อปี
     ผ่ายการเมืองเท่านั้นจะทำได้
ผมยังไงก็แค่คิดติดอยู่ที่
จะมีใครนำเอาไปใช้วิธี
รูปธรรมจึงจะมีที่ว่าเอย


ผู้ตั้งกระทู้ ประมุข :: วันที่ลงประกาศ 2011-10-22 06:46:53


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2226990)

1 คิวบิกไร่ เท่ากับขวดตั้งเรียงกั้นขึ้นไป 100 ขวด กว้างและลึกอีกประมาณ 200 ขวด

แนวตั้ง ขวดลูกล่างสุด ถ้ารับน้ำหนักได้ 2 ตัน แล้วไม่แตก ก็ทำได้เลย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ประมุข วันที่ตอบ 2011-10-22 06:55:28


ความคิดเห็นที่ 2 (2227026)

.

ชอบใจคุณประมุขแฮะ ไม่รู้ว่าคิดได้ไง แต่ลองคิดตามดูแล้วก็เข้าท่าดี แล้วก็มีทางเป็นไปได้เสียด้วยสิ

ต้องลองเปรียบเทียบดูกับงบประมาณในการสร้างเขื่อนหนึ่งเขื่อนใช้กี่หมื่นล้านบาท

ถ้าสร้างเขื่อนขวดน้ำอย่างคุณประมุขว่าจะต้องใช้กี่หมื่นล้าน

เขื่อนเดิมที่มีอยู่ก็ใช้เก็บน้ำไว้ผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนขวดนี้ใช้กระจายเก็บน้ำไว้ตามที่ต่างๆ

ส่วนเรื่องที่ว่าจะใช้ที่เก็บที่ไหนเท่าใด ก็อาจจะต้องพิจารณาดูไอ้ที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่เก็บ

อาทิเช่นริมถนนสายต่างๆ  อะไรแบบนี้เป็นต้น ใครคิดอะไรได้ก็ลองต่อยอดกันออกไป

แล้วขวดแต่ละใบนั้นจะตั้งตากแดดไว้ได้นานไหม หรือไม่อย่างไร ก็ต้องคิดกันให้ละเอียดด้วย

คิดให้รอบๆ ด้านและคิดให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าทำได้หรือไม่ได้

บางทีอาจจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ก็เป็นได้นะ....

 

เรื่องบางเรื่องมองดูแล้วมันอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าลองคิดดูกันให้ดีแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้

ดูเรื่องของโทรศัพท์ก็ยังได้ สมัยก่อนนั้นต้องใช้ใช้สาย แต่ปัจจุบันไร้สายก็ยังเป็นไปได้แล้ว

เหล็กหนักเป็นสิบเป็นร้อย ตันยังทำให้ลอยน้ำได้ หรือบินบนฟ้าก็ยังได้และเป็นไปแล้ว

แนวความคิด "นอกกรอบ" แบบที่คุณประมุขเสนอมานี้ ถ้าลองช่วยกันคิดช่วยกันทำ บางทีประเทศไทยเราอาจจะลืมเรื่องของ "ความแห้งแล้ง" ไปได้เลยนะเนีย

เขื่อนใหม่ไม่ต้องสร้างอีกแล้ว เพราะสร้างไปก็ไปทำลายธรรมชาติ เปลี่ยนวิธีคิดจากการสร้าง "เขื่อนปูนซิเมนต์" มาเป็น "เขื่อนขวดน้ำ" แบบที่คุณประมุขว่า คิดดูให้ลึกๆ ดีๆ อาจจะอยู่ในวิสัยที่จะทำได้เลยก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนจะคิดให้ลึกได้แค่ไหน

.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ส.พิณแก้ว วันที่ตอบ 2011-10-22 11:44:14


ความคิดเห็นที่ 3 (2227167)

ขอบคุณคุณ ส.พิณแก้ว

ต่อไปนักวิชาการ ที่ออกมาวิพากษ์ ต้องจัดการน้ำให้ไหลไปทางโน้น ไหลไปทางนี้

ปริมาณน้ำเท่านั้นเท่านี้ จะท่วมกี่เมตร จะท่วมกี่วัน ก็จะเป็นเรื่องที่เชยไปแล้ว

ฟังดูตอนนี้ก็น่ารำคาญเต็มที ที่สุดก็ท่วมกันทั่วหน้า

ผมว่าถ้าประเทศเราเริ่มทำเป็นประเทศแรก ต่อไป ประเทศอื่น ๆ ก็จะต้องเอาเป็นแบบอย่าง

ไม่เว้นประเทศจีน

ช่วยกันผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ประมุข วันที่ตอบ 2011-10-23 05:59:11


ความคิดเห็นที่ 4 (2228564)

 

                            วันที่ 31 ตุลาคม 2554
เรื่อง เสนอแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยแก้มลิงขวดน้ำ
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
                ด้วยปีนี้ประเทศเราประสพปัญหาน้ำท่วมหนักสุดเป็นประวัติการ เนื่องจากการผันแปรของโลก
มีปัจจัยจากพายุที่เกิดจากมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นหลัก กระผมมีความคิดการป้องกันปัญหาน้ำมาก ใคร่เรียนต่อ ฯพณฯ ดังนี้
                จากโครงการพระราชดำริ สร้างแก้มลิงของพระเจ้าอยู่หัวนั้นดีอยู่แล้ว กระผมขอเสริมให้ทำกิจกรรมแก้มลิงขวดน้ำ โดยใช้ขวดน้ำขนาด 20 ลิตร วางเรียงกันทางราบ และทางสูง ประมาณ 1 ลูกบาศก์ไร่จะเก็บน้ำไว้ได้ 64,000 ลบ.ม. ถ้าเนื้อที่ 1,000 ไร่ ก็จะได้ปริมาณ 64,000,000 ลบ.ม ซึ่งเท่ากับปริมาณที่เขื่อนปล่อยน้ำยามฉุกเฉิน 1 วัน ถ้าต้องการสต๊อกไว้ 10 วัน ก็ใช้เนื้อที่ 10,000.-ไร่
                  การดำเนินการ
1.     สร้างโรงงานผลิตขวดน้ำ ตั้งอยู่ใกล้เขื่อน เพื่อไม่ต้องขนไกล
ปริมาณขวดที่ใช้ 30,000.-ล้านขวด (โดยเอกชน)
2.     สร้างโรงงานบรรจุน้ำ ตั้งอยู่ใกล้เขื่อน (โดยเอกชน)
3.     จัดหาสถานที่เก็บตั้งขวด ไม่ไกลจาก ข้อ 2.
      งบประมาณที่จะใช้
1.     ค่าขวดน้ำ ประมาณ ลูกละ 10 บาท    เป็นเงิน 300,000,-ล้านบาท
2.     ค่าบรรจุ+ค่าขนย้าย+ค่าจัดเรียง ชวดละ 10 บาท เป็นเงิน 300,000.- ล้านบาท
                                                      รวมงบประมาณ ที่ใช้ 600,000,-ล้านบาท
                ข้อมูลทางเทคนิค ขวดน้ำที่วางเรียงตั้งขึ้นไปประมาณ 100 ลูก ขวดลูกล่างสุด
ถ้ารับน้ำหนัก 2 ตัน แล้วไม่แตก ก็ดำเนินการได้เลย แต่ถ้ามีปัญหาก็ต้องออกแบบขวดน้ำใหม่
หรือลดความสูงลง เพิ่มเนื้อที่ทางราบแทน
                การบริหารจัดการ
การผลิตชวดน้ำนั้น ดำเนินการโดยเอกชน
ส่วนการบรรจุนั้น อาจแตกออกมาให้ภาคประชาชนระดับชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา
ที่อยู่ริมแม่น้ำเป็นผู้บรรจุและจัดเก็บก็ได้ โดยมีองค์กรท้องถิ่นคอยควบคุมดูแล สามารถดำเนินการ
ได้ทุกจังหวัด
                  ประโยชน์ที่ได้รับ
เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำมาก ซึ่งอาจจะเกิดภัยน้ำท่วมได้
เพื่อให้เป็นแก้มลิงที่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วย โดยนำน้ำไปแจกฟรีกับชาวไร่ชาวนา
ที่เพาะปลูกพืชไร่เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด น้ำไม่ไหลลงทะเลไปเปล่าเปล่า
               สุดท้ายนี้ กระผมหวังว่าโครงการดังกล่าว จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้มาก
เมื่อคิดถึงความเสียหาย ที่ต้องเยียวยา ฟื้นฟู แก่ผู้ประสพอุทกภัย และต้องชดเขยค่าเสียหาย
แก่ภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นเงินนับหลายแสนล้านบาทอยู่แล้ว สู้สร้างแก้มลิงขวดน้ำตามที่เสนอนี้
จะดีกว่า ประชาชนก็ไม่ต้องเสียเวลาสู้กับภัยน้ำท่วมหลายเดือน และประชาชนจะได้มีกิจกรรม
เกี่ยวกับการสต๊อกน้ำไว้โดยทั่วทุกหัวระแหง และอาจเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประเทศต่าง ๆ อีกด้วย
กราบเรียนมาทราบ ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณา
ผู้แสดงความคิดเห็น ประมุข วันที่ตอบ 2011-10-30 09:46:08


ความคิดเห็นที่ 5 (2228566)

           เพลงแก้มลิงขวดน้ำ

    น้ำเอ๋ยน้ำท่วม
โดนกันอ่วมทั่วไปแล้วหนา
จะป้องกันน้ำท่วมปีหน้า
..จะป้องกันน้ำท่วมปีหน้า
ฝนเทลงมาใส่ขวดตั้งไว้
..ฝนเทลงมาใส่ขวดตั้งไว้
 
        น้ำขวดหนึ่งยี่สิบลิตร
      เรียงกันชิดชิดเนื้อที่หนึ่งไร่
      เรียงซ้อนกันหลายชั้นขึ้นไป
      ..เรียงซ้อนกันหลายชั้นขึ้นไป
       หนึ่งลูกบาศก์ไร่เท่ากับหกหมื่นคิวเมตร
        ..หนึ่งลูกบาศก์ไร่เท่ากับหกหมื่นคิวเมตร
 
                ถ้ามีเนื้อที่พันไร่
        จะได้แค่ไหนคิดให้สรรพเสร็จ
        หกสิบล้านมิใช่ความเท็จ
         ..หกสิบล้านมิใช่ความเท็จ
        นับเป็นคิวเมตรเท่าเขื่อนปล่อยเลยหนา
....นับเป็นคิวเมตรเท่าเขื่อนปล่อยเลยหนา
 
           ขวดน้ำคือแก้มลิงใหญ่
     เก็บไว้แจกจ่ายชาวประชา
     แก้ภัยแล้งเมื่อเยือนมา
     ....แก้ภัยแล้งเมื่อเยือนมา
      ต่อไปชาวนาไม่ต้องอกตรม
.     ...ต่อไปชาวนาไม่ต้องอกตรม
 
         น้ำเอ๋ยน้ำท่วม
       ร่วมใจแก้กันได้สม
       น้ำไม่ไหลนองน้องไม่ต้องจม
       ...น้ำไม่ไหลนองน้องไม่ต้องจม
       ขอเพียงระดมใส่ขวดเก็บไว้
       ....ขอเพียงระดมใส่ขวดเก็บไว้
           
 แต่งโดย ประมุข
ผู้แสดงความคิดเห็น ประมุข วันที่ตอบ 2011-10-30 10:02:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.