ReadyPlanet.com


คำนิยมหนังสือ 7 เล่ม เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ 2555


 

เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง
แดนอรัญ   แสงทอง
 
                “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” เป็นเรื่องราวการเรียนรู้ความทุกข์จากความลุ่มหลงและความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ความผูกพัน ชนชั้นวรรณะ และเพศสถานะ ผ่านเรื่องเล่าอย่างมีอุเบกขาของ กีสาโคตมีเถรี ในวาระสุดท้ายแห่งชนม์ชีพ ท่ามกลางหมู่ภิกษุณีและสิกขมานาที่แวดล้อม ณ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ชมพูทวีป
                เรื่องเล่าเน้นการถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยลำดับ ด้วยภาษาอันกอปรด้วยวรรณศิลป์ ลดความกระเพื่อมไหวทางอารมณ์ มุ่งคืนสติสู่ผู้ถูกเล่า ผู้เล่า และผู้อ่านเรื่องเล่า ให้พินิจพิจารณาตรวจสอบจิตใจของตนและหาอุบายจัดการกับอารมณ์อันเป็นทุกข์ไปพร้อมกัน
                “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” จึงเป็นมากกว่าเรื่องเล่าที่มีวรรณศิลป์ หากแต่เป็นพื้นที่แห่ง “ความกรุณา” ที่ให้โอกาสมนุษย์ได้แบ่งปันประสบการณ์ทางอารมณ์ เรียนรู้การข้ามผ่านอารมณ์อันไม่พึงประสงค์จากพุทธตำนาน   และใช้ปัญญาปรับทิศทางของอารมณ์เพื่อก่อเกิดผลเชิงบวกต่อชีวิต
 
 
คนแคระ
วิภาส ศรีทอง
 
                นวนิยายที่สำรวจเข้าไปในจิตใจมนุษย์ ณ จุดที่อยู่ลึกที่สุด ดำมืดที่สุด ดินแดนที่แม้กระทั่งมนุษย์ผู้นั้นก็อาจไม่รู้มาก่อนถึงการมีอยู่ของมัน ทั้งๆ ที่มันครอบครองพื้นที่มหาศาลของจิตใจเอาไว้
                วิภาส ศรีทอง นำเสนอเรื่องราวแห่งโลกปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนไปด้วยความไร้เหตุผล สิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างปราศจากคำอธิบาย ไม่มีศีลธรรมจรรยาใดๆ กำกับควบคุม มีแต่เพียงจิตใต้สำนึกที่เป็นแรงผลัก และสั่งให้กระทำสิ่งที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็รู้ว่าเป็นอาชญากรรม ในขณะที่ผู้อ่านตื่นตระหนกต่อสิ่งที่ตัวละครกระทำ ตัวละครก็ตื่นตะลึงต่อการกระทำที่มาจากเบื้องลึกในตัวเองเช่นกัน นี่คือการค้นพบด้านมืดที่ซ่อนอยู่ อันนำไปสู่ความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งแปลกใจ ตื่นเต้น หดหู่ และอื่นๆ อีกมากมาย
                เหตุการณ์การลักพาตัวคนแคระมากักขังไว้ในนวนิยายเรื่องนี้ ไม่เพียงเป็นเครื่องทดสอบจิตสำนึกของตัวละครเท่านั้น ยังเป็นเครื่องวัดมาตรฐานคุณธรรมในจิตใจผู้อ่านด้วย สุดท้ายหลายคนอาจค้นพบว่า เราก็ไม่ต่างจากตัวละครในเรื่องนี้ ที่มีด้านมืดอันน่ากลัวซ่อนเร้นอยู่ เราปรารถนาที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของมัน แต่สิ่งที่เราทำได้กลับมีเพียงการจ้องมองมันราวสิ่งแปลกปลอม โดยรู้ชัดแจ้งว่า นี่คือส่วนหนึ่งในชีวิตที่เรามิอาจปฏิเสธได้
 
 
 
 
 
 
 
 
ในรูปเงา
เงาจันทร์
 
เป็นเรื่องราวความรักความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่างพ่อกับลูกชาย โดยมีเจ้าดอกรุงรัง วัวทโมนตัวร้ายและหญิงสาวอีกนางหนึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ นวนิยายเรื่องนี้ประกอบสร้างขึ้นด้วยองค์ประกอบที่แตกต่างจนคล้ายเป็นคู่ตรงข้าม แต่ก็สามารถผสมผสานกันอย่างกลมกลืน เรื่องราวเรียบง่ายจึงได้รับการเสกสรรให้กลายเป็นงานวรรณกรรมอันงดงาม คล้ายภาพวาดที่เต็มไปด้วยมิติแสงเงาอันซับซ้อน อ่อนไหว และมีเสน่ห์ชวนติดตาม
น้ำเสียงในการเล่าเรื่องอ่อนหวานราวกับกำลังเล่าเรื่องรักพาฝัน แต่เนื้อหาที่นำเสนอนั้นกลับหน่วงหนัก ถึงขั้นสั่นคลอนความเชื่อมั่นศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ "เงาจันทร์"ตั้งคำถามต่อความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างพ่อกับลูก ยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับเจ้าพลิ้วลูกชายลึกซึ้งงดงามมากเท่าใด ก็ยิ่งเปิดโปงให้เห็นชัดเท่านั้นว่า เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเดรัจฉานนั้นแสนบาง เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ต่างก็ล้วนถูกผลักดันด้วยสัญชาติญานดิบเถื่อน มิได้ผิดแผกจากกันแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้ นำเสนอผ่านเส้นทางความสัมพันธ์ที่ดำเนินคู่ขนานกันไป ระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ และระหว่างสัตว์กับสัตว์ ซึ่งเต็มไปด้วยสัญญะให้ตีความได้ไม่รู้จบ
ถ้อยคำพรรณนาคัดสรรอย่างประณีต แล้วบรรจงจัดเรียงให้ได้รสอันอ่อนละมุน แต่กระนั้น ถ้อยคำที่นุ่มนวลนั้นกลับทรงพลังและมีอำนาจกระทำต่อผู้อ่านอย่างรุนแรง ราวกับผู้อ่านเป็นหุ่นที่ผู้เล่าเรื่องจะชักเชิดให้รู้สึกอย่างไรก็ได้ตามแต่จะตวัดปลายนิ้ว ทั้งอิ่มเอิบสุขเศร้าได้ภายในถ้อยอักษรบรรทัดหนึ่ง แล้วกลับหวาดหวั่น ทุกข์กังวลในอีกไม่กี่บรรทัดถัดมา และในบางคราก็แทบจะรอนร้าวราวจะขาดใจตามตัวละครไปเสียให้ได้
กล่าวได้ว่า ในรูปเงา” แม้จะเป็นเพียงนวนิยายที่นำเสนอโศกนาฏกรรมของคนธรรมดาสามัญ หากแรงกระทบต่อผู้อ่านนั้นยิ่งใหญ่ลึกซึ้งไม่น้อยไปกว่าละครโศกนาฏกรรมคลาสสิกของตะวันตกเลยทีเดียว
 
 
รอยแผลของสายพิณ
สาคร พูลสุข
 
            ประดุจตัวหนังตะลุงที่ถูกชักเชิด ชีวิตคล้ายถูกควบคุมด้วยมือที่มองไม่เห็น ให้ก้าวเดินไปตามเส้นทางชีวิตที่มีแต่ความหม่นเศร้า ครอบคลุมด้วยเงาดำแห่งชะตากรรม และการกระทำของมนุษย์ด้วยกันผู้มีอำนาจเหนือกว่า บางคนคอยกำกับชีวิตผู้อื่น ประหนึ่งนายหนังผู้กำหนดเรื่องราวของเหล่าตัวละคร หากแต่พร้อมกันนั้น โดยไม่ทันรู้ตัว เขาก็กลายเป็นหนึ่งตัวละครที่โลดแล่นไปตามบทบาท อย่างมิอาจขัดขืนเช่นกัน
                นี่คือประวัติศาสตร์เล็กๆ แห่งท้องถิ่นที่ใกล้จะถูกลืมเลือน เมื่อกาลเวลาล่วงผ่าน จากยุครุ่งโรจน์แห่งอาณาจักรกระเบื้องโบราณ ค่อยๆ ย่างเข้าสู่ยุคแห่งความร่วงโรย เก่าโทรม และถูกทอดทิ้ง ถึงแม้ตัวละครทั้งหมดจะข้ามมาจากอดีต หากแต่พวกเขาก็ได้บอกเราให้รู้ถึงความจริงแห่งชีวิต ที่ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ธาตุแท้ของมนุษย์ก็ไม่เคยเปลี่ยน และนี่เองที่นำพาทุกคนให้ร่วงตกสู่หลุมตมแห่งโศกนาฏกรรม
                “รอยแผลของสายพิณ” คือนวนิยายสั่นสะเทือนอารมณ์ ที่เล่าผ่านเรื่องราวของผู้หญิงสามรุ่น เป็นเสมือนภาพสะท้อนว่าชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง ผสมผสานด้วยสุขทุกข์คลุกเคล้า และหลากหลายอารมณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งสุดท้าย ทั้งหมดก็เหลือแต่เพียงความว่างเปล่าเท่านั้น
เรื่องเล่าในโลกลวงตา
พิเชษฐศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์
 
                “เรื่องเล่าในโลกลวงตา” เป็นนวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงภาวะจิตใจของมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยความรักและความแค้น จนนำไปสู่หนทางของการต้องไปตัดกรรม เพื่อให้กรรมนั้นสิ้นสุด
                แต่สุดท้าย เมื่อการเดินทางจบลง จึงค้นพบว่าความคลั่งแค้นต่างหากที่บดบังดวงตา ไม่ให้มองเห็นดอกไม้ที่หยั่งรากฝังลึกอยู่ในดวงใจตั้งแต่ครั้งเก่าก่อน และได้เรียนรู้ว่าโลกเอาบางสิ่งไปเพื่อให้อีกสิ่งหนึ่งตอบแทน ไม่มีใครจะครอบครองทุกสิ่งได้เสียหมด ชีวิตเป็นเพียงความครู่คราว ดั่งแสงดาวกระพริบหนึ่งครั้ง ทว่ารอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ยังผลิบานเสมอในที่มันก่อเกิด
                ในนวนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ผ่านตัวละครและเหตุการณ์ด้วยภาษาอันงดงาม  จนเห็นภาพเคลื่อนไหว รวมถึงได้ยินเสียง ทั้งยังได้รสและกลิ่นอย่างครบครันน่าติดตามอย่างยิ่ง
 
 
โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า
ศิริวร แก้วกาญจน์
 
                                มนุษย์ล้วนมีเรื่องราวแห่งความขัดแย้งบาดหมางเกิดขึ้นอยู่กับใจ...บนแผ่นดินแห่งความผิดบาปที่เร้นลึกทุกสิ่งดำเนินต่อเนื่องกันมา เป็นบาดแผลแห่งชะตากรรมอันไม่รู้จบ...เป็นความโศกเศร้าที่สื่อสะท้อนถึงโลกแห่งความหมายที่เป็นอันตราย...เหตุนี้ประวัติศาสตร์ในด้านหนึ่งของชีวิตดั่งนี้จึงถูกจารึกไว้ด้วยทัศนะเชิงคติ กระทั่งกลายเป็นสงครามแห่งเจตจำนงที่ซ้อนซับ” ในเชิงสาระเนื้อหา นวนิยายเรื่องนี้...คือผลรวมแห่งการสืบค้นถึงสถานการณ์อันเป็นวิกฤต ระหว่างสัมพันธภาพแห่งชาติพันธุ์อันชิดใกล้กับรอยแตกร้าวของสัญชาตญาณที่แปลกต่าง...ห่างไกลที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า...ซ้ำแล้วซ้ำเล่า... นี่คือวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยพลังแห่งมโนสำนึกของผู้เขียน ที่รังสรรค์ขึ้นจากข้อเท็จจริงของสถานการณ์... ด้วยการผสานทักษะฝีมือในเชิงเปรียบเทียบ ผ่านกระบวนทัศน์แห่งการคิดวิเคราะห์และความงดงามแห่งศิลปะของการประพันธ์อันหยั่งลึกในทางจิตวิญญาณของการรับรู้อันเป็น คุณค่าร่วมกัน
                “ชะตากรรมเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดา...เช่นเดียวกับอนาคต...ไม่มีคำอธิบายอื่นใดที่ดีไปกว่านี้...เว้นแต่ปาฏิหาริย์”
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ลักษณ์อาลัย
อุทิศ เหมะมูล
 
                “ลักษณ์อาลัย” เป็นนวนิยายขนาดยาวที่โดดเด่นทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบ และกลวิธีนำเสนอ ประกอบสร้างตัวบทขึ้นจากการปะทะสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเล่าที่หลากหลาย ทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับชนชั้นสูง และคนธรรมดาสามัญ สะท้อนเงื่อนปมสำคัญที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก พี่กับน้อง ภายใต้ร่างแหเรื่องเล่าที่ถักทอขึ้นเป็น “ตัวตน” ของแต่ละคน ตัวตนที่พร้อมจะถูกอธิบาย ตีความ บิดผัน ปรุงแต่ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็น “ความจริง” แต่ละชุด แผกต่างออกไปตามมุมมองหรือจุดประสงค์ของผู้เล่า ลักษณ์อาลัยแสดงให้เห็นว่าตัวตนของแต่ละคนถูกประกอบสร้างขึ้นโดยเรื่องเล่า ทั้งจากที่เล่าด้วยตนเอง หรือจากปากคำของคนอื่น จนกล่าวได้ว่าคนอื่นมีชีวิตอยู่ในเรื่องเล่าของเรา และเราก็มีชีวิตอยู่ด้วยเรื่องเล่าของคนอื่น ผลัดกันถักทอก่อรูป ผิด ถูก ดี เลว คละปะปนกันไปในน้ำเนื้อแห่ง “ความเป็นมนุษย์” ที่ล้วนโลดแล่นไปในลักษณาการต่าง ๆ ทั้งโดยโหยหาอาลัย หรือแม้แต่ไม่อยากจดจำ
                ในด้านกลวิธี นักเขียนเล่นล้อกับมโนทัศน์ “เรื่องจริง-เรื่องแต่ง” ในวรรณกรรม เช่น การใช้ชื่อตัวละครเอกว่า “อุทิศ” ซึ่งเป็นชื่อของนักเขียนเอง ตลอดจนการหยิบยกเอาตำนานและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ (ที่ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง) มาเล่าเป็นเรื่องคู่ขนาน ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงวรรณกรรมรักพาฝันร่วมสมัยสไตล์เกาหลีซึ่งแพร่หลายอยู่ในหมู่นักอ่านวัยรุ่นไทย ด้วยน้ำเสียงพิเคราะห์ใคร่ครวญ ถอดรื้อให้เห็นสัญนิยม (convention) ของวรรณกรรมแนวนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านขบคิดถึงความสอดคล้องกับเรื่องเล่าแนวอื่นๆ ที่ดำเนินไปแทบจะไม่แตกต่างกัน จนท้ายที่สุดได้ชี้ชวนให้ทำความเข้าใจไปได้อีกชั้นว่า ขึ้นชื่อว่า “เรื่องเล่า” แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าตามขนบวรรณกรรมแนวใดก็ตาม ย่อมมีสัญนิยมที่เป็นกรอบครอบอยู่เพียงไม่กี่แบบเท่านั้น เมื่อถอดรื้อให้เห็น เราก็จะพบว่า รูปแบบการเล่าเรื่องที่ดูแตกต่างจนสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายสร้างสรรค์ นิยายรักพาฝัน ตำนานประวัติศาสตร์ อัตชีวประวัติ หรือเรื่องเล่าส่วนบุคคล แท้จริงแล้วยืนอยู่บนกรอบวิธีคิดในเชิงศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง (narratology) ที่ไม่ผิดแผกแตกต่างในเชิงโครงสร้างมากนัก
                กลวิธีสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การให้เรื่องเล่าอื่น ๆ สะท้อนโต้ตอบ (echo) กับเรื่องเล่าหลักเพื่อสื่อความหมายเชิงลึกที่เรื่องเล่าหลักไม่จำเป็นต้องพรรณนาหรืออธิบาย กลวิธีเช่นนี้ยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดสหบท (intertextuality) ที่เชื่อว่าตัวงานวรรณกรรมหรือเรื่องเล่าเป็นเสมือนผืนผ้าที่ถักทอขึ้นมาจากเส้นใยแห่งวาทกรรม (discourse) หรือ ตัวบท (text) ทางสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากนวนิยายที่ส่งเข้าร่วมประกวดรางวัลซีไรต์ปีนี้ พบว่าแนวคิดเรื่องสหบทนั้นเป็นกระแสที่จะได้รับความสนใจจากนักเขียนไทยอย่างกว้างขวางในอนาคต
                กลวิธีที่ดีเด่นเช่นนี้ส่งผลต่อเนื้อหาของเรื่องที่ผู้เขียนสามารถสะท้อนความตื้นลึกหนาบางของความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าใครครวญยิ่ง “คน” ใน “ลักษณ์อาลัย” จึงเต็มไปด้วยความซับซ้อนคลุมเครือ มีดีและไม่ดี (ตามมาตรฐานสังคม) แตกต่างกันออกไปในคนคนเดียวกัน ไม่มี “เอกบุคคล” ที่มีเจตจำนงเสรี แต่เป็น “คน” ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากเรื่องเล่าที่หลากหลาย นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดคำถามมากกว่าที่จะป้อนคำตอบ ซึ่งเป็นท่าทีของวรรณกรรมแบบหลังสมัยใหม่ที่เชื่อว่าสามารถกระตุ้นให้วรรณกรรมไทยรุ่นใหม่มีความน่าสนใจยิ่งขึ้นต่อไป
                                       


ผู้ตั้งกระทู้ คนชายข่าว :: วันที่ลงประกาศ 2012-07-27 20:53:05


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2297498)

ปัญหาคือวรรณกรรมที่ถูกยกย่องว่าดีเลิศแห่งยุคสมัย คือการถ่ายทอดเรื่องราวง่ายๆในสังคม ที่ถูกนักประพันธ์เจ้าปัญหา นำมาตีความเสียจน

เกิดเงื่อนปม และสร้างมิติซับซ้อนให้กับปรากฎการณ์พื้นๆจนเกินจำเป็น จนเรื่องที่อ้างว่าเป็นวรรณศิลป์ หรือวรรณกรรม กลายเป็นปรัชญา

นิพนธ์ ที่ถูกชี้นำโดยทัศนะส่วนตัวของคนเขียนประหนึ่งว่าเป๊นผู้บรรลุ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นอันตรายมากกว่าเป็นประโยชน์ และจะต้องเน้นการ

นำเสนอให้อ่านยากและเข้าใจยากเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์คว้ารางวัล จนกระทั่งกลายเป็นหนังสือที่ขายไม่ออก หาคนอ่านได้น้อย คุณค่าของ

งานพวกนี้กลายเป็นเรื่องของการได้ตีตรารางวัลบนแผ่นปก มีคำนิยมจากผู้มีเครดิตทางสังคมอยู่ด้านใน  และนำไปเก็บไว้ในห้องสมุด

ของสถาบันการศึกษา(ชั้นนำ) จนฝุนเขรอะ รอให้นักศีกษาที่เรียนทางด้านนี้มาหยิบไปทำการบ้านส่งอาจารย์ เสร็จแล้วก็ใม่ได้สนใจมันอีกเลย

หรือไม่ก็ไปอยู่ในตู้โชว์ของบางบ้านเพื่อแสดงตัวว่าเป็นปัญญาชนทั้งๆที่ไม่เคยเปิดอ่าน นี่หรือ ความหมายของวรรณกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง

ที่องค์กรทางวรรณกรรมยกย่อง และให้รางวัล  ได้เวลาแล้วหรือยังที่ควรกำหนดความหมายของวรรณกรรมที่มีคุณค่าในมุมมองใหม่ โดยให้

เป็นเรื่องที่คนทั่วๆไปอ่านได้อย่างมีอรรถรส ให้คุณค่าทางปัญญาที่คนระดับกลางๆรับได้โดยไม่ต้องเครียดหรือขมวดคิ้วเวลาอ่าน สามารถอ่าน

เพื่อการพักผ่อนได้ ไม่มีมิติทีซับซ้อนหรือลุ่มลึกเกินไปจนมึนงง ต้องไอ คิว 180 เท่านั้นจืงจะเข้าใจ (บางครั้งก็ยังเคยสงสัยว่าคนเขียนเองจะ

อธิบายสิ่งที่ตัวเองสื่อได้หรือไม่) และควรมีความงามในถ้อยคำภาษาชวนติดตาม สามารถดีงให้คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมาอ่านแล้วกลายเป็น

คนที่หลงไหลหนังสือ และควรเป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวขวัญก่อนส่งเข้าประกวด เพื่อเป็นเครื่อยืนยันถึงคุณค่าที่แท้จริง แล้วค่อยมาประทับ

ตรารางวัลให้ ไม่ใช่คนสนใจหนังสือเล่มนี้เนื่องจากได้รับรางวัล ถ้าไม่ได้รับรางวัลจะไม่มีคนรู้จักเลย อย่างนี่เรียกว่าคุณค่าจัดตั้ง หรือการ

บังคับว่าหนังสือเล่มนี้ต้องมีคุณค่าโดยใครก็ไม่รู้เพียงกลุ่มเดียว ถ้าเป็นอย่างที่ข้าพเจ้านำเสนอ เชื่อว่า วรรณกรรมที่ถูกยกย่องให้ได้รับรางวัล

จะเป็นหนังสือที่ขายดีสมรางวัล ได้ทั้งราคาและคุณค่า คนเขียนได้กำลังใจ คนอ่านมีความสุข สำนักพิมพ์อยู่ได้  เกิดวัฒนธรรมการอ่านที่แพร่

หลายและสืบทอด และเกิดสังคมที่ดีงามขึ้นในที่สุด หรือใครเห็นเป็นอย่างอื่น

ผู้แสดงความคิดเห็น กาหลง วันที่ตอบ 2012-08-30 13:04:08



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.